G. Greene's "The Quiet American"


ประโยคหนึ่งที่เราชอบมากจาก The Quiet American คือ
Sooner or later...one has to take side. If one is to remain human.

ชวนให้นึกถึงอีกคำพูดคลาสสิก
If you don't stand for something, you'll fall for anything.

มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่เลือกข้าง การตระหนักรู้ในทางเลือกของตน มีคุณค่ายิ่งกว่าการปฏิเสธที่จะไม่เลือกทางใดเลย

หยิบ The Quiet American ขึ้นมาอ่านแบบลังเลนิดหน่อย เราชอบหนังปี 2002 ของฟิลิป นอยซ์มาก กลัวว่าถ้าไม่ใช่หนังสือเทียบไม่ติด ก็จะดีเกินไปจนเราชอบหนังน้อยลง อ่านจบแล้วก็โล่งอก เพราะสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าทั้งหนังและหนังสือดีกันคนละแบบ ต้องชื่นชมฟิลิป นอยซ์ที่เลือกเฉพาะบางแง่มุมของหนังสือมาตีความ (ชวนให้นึกถึง ไอ้ฟัก ที่ผู้กำกับเลือกนำเสนอเรื่องราวซึ่งคุ้นเคยกันดีออกมาในอีกรูปแบบที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน)

The Quiet American ฉบับภาพยนตร์โรแมนติกแบบเศร้าๆ ความสัมพันธ์รักสามเส้าระหว่างฟาวเลอร์ ไพล์ (ชาวอเมริกันผู้เงียบขรึม) และฟุง (นวลอนงค์ในรูปถ่ายข้างบน) ถูกขับให้เด่นชัดกว่าในนิยาย ฟาวเลอร์ที่รับบทโดยไมเคิล เคนดูแก่ชรามากๆ จำไม่ได้แล้วว่าบทพูดนี้มีในหนังหรือเปล่า แต่ที่ประทับใจเราสุดๆ คือ ขณะที่ไพล์ตำหนิฟาวเลอร์ว่าต้องการเก็บฟุงเอาไว้ปรนเปรอความสุขส่วนตัว โดยไม่เคยคิดเชิดชู ตบแต่งหญิงสาวให้สมน้ำสมเนื้อ ฟาวเลอร์สวนกลับว่า รอให้ไพล์แก่ชราเท่าตัวเขาก่อน แล้วจะรู้ว่าความรักที่เกิดจากความเห็นแก่ตัว เกิดจากความปรารถนาไม่ต้องการใช้ชีวิตอย่างเดียวดายมันลึกล้ำสักเพียงใด

ฉบับหนังสือจะเน้นไปที่ประเด็นการเมืองมากกว่าในหนัง ฟาวเลอร์คือตัวแทนของสหราชอาณาจักร ไพล์คือตัวแทนของสหรัฐอเมริกา ฝ่ายแรกแก่ชรา ผ่านบทเรียนชีวิตมามากมาย ถ้าเลือกได้ ขอไม่ยุ่งเกี่ยวกับสงครามใดๆ ส่วนฝ่ายหลังเป็นชาติเจ้าอาณานิคมน้องใหม่ เพิ่งประกาศความเป็นเจ้าโลกในสงครามโลกครั้งที่สอง และเชื่อว่าตัวเองจะไม่ทำความผิดแบบเดียวกับรุ่นพี่ คนอเมริกาปฏิบัติการล่าอาณานิคมภายใต้สโลแกนแผยแพร่ประชาธิปไตยไปยังประเทศโลกที่สาม เพราะหนังสือเน้นไปที่ฟาวเลอร์และไพล์ ฟุงเลยเหมือนเป็นแค่ตัวประกอบ ฟาวเลอร์ในหนังสือเองก็ดูไม่แก่ชราเท่าไมเคิล เคนด้วย เคนดูเหนื่อยล้าอยู่ตลอดเวลา แต่ฟาวเลอร์ในหนังสือช่างเจ๊าะแจ๊ะเจรจา

ที่สำคัญกรีนวาดภาพไพล์ออกมาเป็นตัวร้ายกว่าในหนัง (นอยซ์ฉลาดมากที่เลือกแบรนดอน เฟรเซอร์มารับบทไพล์ ช่วยให้ตัวละครตัวนี้มีเสน่ห์แปลกๆ และไม่ดูร้ายเกินไปนัก) ความร้ายกาจของไพล์เป็นความร้ายกาจอันเกิดจากความบริสุทธิ์ การที่เรามีความปรารถนาดี และไม่รู้ตัวว่ากำลังทำร้ายคนอื่น ไม่ใช่ข้อแก้ต่างให้กับการกระทำนั้น กรีนเหมือนจะ "ให้อภัย" กับการตัดสินใจของฟาวเลอร์มากกว่านอยซ์ ด้วยเหตุนี้เอง ขณะที่หนังสือจบแบบสุขสันต์ ภาพพี่สาวฟุงมองฟาวเลอร์เต้นรำอยู่กับน้องสาวอย่างคับแค้นในตอนจบของภาพยนตร์ดูแสนเศร้าอย่างบอกไม่ถูก

G. Martinez's "The Oxford Murders"


ตั้งแต่อุมแบโต เอโคเขียน The Name of the Rose หนังสือเล่มนั้นก็กลายเป็นความใฝ่ฝันบางอย่างของนักเขียน เพราะมันเป็นนิยายที่ทั้งอ่านสนุกและชวนขบคิด ถ้าพูดให้เจาะจงลงไป นี่คือความใฝ่ฝันของนักเขียน "นิยายนักสืบ" หากจะกล่าวว่านิยายนักสืบทุกเล่มที่พยายามถีบตัวเองให้พ้นจากการอ่านเพื่อความบันเทิงล้วนๆ หนีไม่พ้นจะลอกโมเดลบางอย่างมาจาก The Name of the Rose คงไม่เกินความจริงนัก (และนี่คือสาเหตุที่ทำไมนิยายนักสืบย้อนยุคถึงเป็น genre ย่อยที่ฮิตมากๆ )

ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องมีทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว และส่วนใหญ่จะเป็นอย่างหลังเสียมากกว่า The Critique of Criminal Reason เป็นนิยายนักสืบที่ให้เอมมานูเอล คานท์เป็นพระเอกและ "โคตรห่วย" ขณะที่ The Interpretation of Murder ที่มีฟรอยด์เป็นตัวเอก สนุกและเข้าท่ากว่าที่คิด

The Oxford Murders น่าจะเป็นความสำเร็จสูงสุดแล้วของนิยายที่พยายามมาทางนี้ ประการหนึ่งอาจเพราะมันไม่ได้พยายามลอกแบบ The Name of the Rose ชัดเจนเกินไปนัก เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดในยุคปัจจุบัน ใช้นักคณิตศาสตร์แทนนักปรัชญา อันที่จริง The Oxford Murders ใกล้เคียงกับ Crime and Punishment มากกว่า ใช้แนวคิดเรื่องการฆาตกรรมเชิงนามธรรมเป็นจุดศูนย์กลางของนิยาย ถ้าใช้การตีความของเอโคว่านิยายนักสืบทุกเล่มคือนิยายสัญศาสตร์ สัญญะของฆาตกรรมในเรื่องนี้ก็คือความว่างเปล่าหรือศูนย์ ดังนั้นจึงเหมาะมากที่นักคณิตศาสตร์จะเป็นตัวเอก จุดเด่นสุดของ The Oxford Murders คือการที่องค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ ทุกอย่างนำไปสู่ธีมหลัก และผนวกเป็นเนื้อเดียวได้อย่างงดงามและลงตัว

แต่ประเด็นที่เรายังถกเถียงกับตัวเองอยู่ว่าคือจุดเด่นหรือจุดด้อยของหนังสือกันแน่ คือมาติเนซ "อาจจะ" พยายามถีบตัวเองออกจากโมเดลนิยายนักสืบย้อนยุคมากเกินไป จนมันกลายเป็นนิยายที่ต่อต้านประวัติศาสตร์ พออ่านจบ เราลองเอารายละเอียดต่างๆ ในหนังสือมาถามครูเกิ้ลดู จึงพบว่ามาติเนซแม่งยกเมฆมาทั้งดุ้นเลยนี่หว่า! แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ข้อเสียทีเดียว และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นหลักของเรื่อง มาติเนซก็เก็บได้อย่างแม่นยำไม่มีตกหล่น แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า นี่หรือเปล่าสาเหตุที่ทำไมหนังสือเล่มนี้ไม่ค่อยดังเลย

ปล. อันนี้ไม่ค่อยเกี่ยว แต่ครูเกิ้ลกระซิบบอกเรามาว่า หนังสือเล่่มนี้เคยถูกสร้างเป็นหนังด้วยนะ อ้าว! ดาราดังระดับเอลิจา วูด และวิลเลียม เฮิร์ตเล่นด้วยนะ อ้าว! แล้วทำไมเราไม่รู้จักเลย ลองไปเช็คที่เวปมะเขือเน่าปรากฏว่าถูกนักวิจารณ์ด่าฉิบหาย ก็แปลกดี แต่จะว่าไปหนังสือแบบนี้ถ้าไม่ใช่ผู้กำกับเก่งจริงๆ ไม่น่าจะขับจุดเด่นออกมาให้เห็นได้ (ภาพยนตร์ The Name of the Rose ที่ณอน คอนเนอรีเล่น ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเหมือนกัน)

F. Jameson's "The Political Unconscious"


เจมสันแบ่งประเภทการศึกษา genre วรรณกรรมออกเป็นสองแนวทาง แนวทางแรกคือการวิเคราะห์ผลงานใน genre นั้นๆ เพื่อหากลไกร่วมกันของทุกชิ้นงาน เป้าหมายของการศึกษาในลักษณะนี้คือบ่งชี้ว่าอะไรทำให้ผลงานชิ้นหนึ่งประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว (ตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์เรื่องขำขันของฟรอยด์) ตรงข้ามกับแนวทางแรก และเป็นแนวทางที่เจมสันยึดใน The Political Unconscious คือการสมมติว่ามีหนังสืออุดมคติประจำ genre ซึ่งสามารถใช้เปรียบเทียบได้ว่าแต่ละเล่มที่ผู้คนเขียนขึ้นมาจริงๆ แตกต่าง เหมือน ด้อยกว่า หรือดีกว่าหนังสือในอุดมคติสักแค่ไหน (ตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์เรื่องขำขันของเบิร์กสัน)

ขณะที่ในปัจจุบัน หลายคนรู้สึกว่า genre วรรณกรรมเป็นเรื่องไร้สาระ (“ศิลปะที่แท้จริงย่อมไร้พรมแดน!”) เราจะได้อะไรจากการศึกษา genre บ้าง

ในการเขียนหนังสือสักเล่ม คนเขียนย่อมจะต้องมี "อุดมคติ" ที่อยากสื่อไปถึงคนอ่าน ซึ่งอุดมคติพวกนั้น อ่านเอาเรื่องได้จาก "เนื้อหา" หรือสิ่งที่คนเขียน "ตั้งใจ" และ "รู้สำนึก" ผลิตขึ้นมา แต่สิ่งที่เจมสันสนใจ ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น เป็นอุดมคติของ "จิตใต้สำนึก" เขาอธิบายว่า นอกจากผู้เขียนจะตั้งอุดมคติขึ้นมาในการสร้างสรรค์ผลงาน เขาจะสมมติโลกขึ้นมาด้วยใบหนึ่งโดยไม่รู้ตัว ผลงานวรรณกรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้เขียนเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกสมมตินี้เท่านั้น ในท้ายที่สุด อุดมคติของจิตรู้สำนึก (ซึ่งผู้เขียนตั้งใจถ่ายทอด) อาจจะเป็นคนละอย่างหรือสวนทางกับอุดมคติของจิตไร้สำนึกเลยก็ได้

เราพบเห็นได้บ่อยๆ ในวรรณกรรมเพื่อชีวิต ถึงโดยผิวเผิน (โดยเนื้อหา) งานเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อเชิดชูคนยากคนจน แสดงให้เห็นความลำบากยากแค้นของคนตัวเล็กตัวน้อย แต่ผู้ที่จะผลผลิตงานลักษณะนี้ขึ้นมาได้ ต้องตั้งตัวเองอยู่บนความดูหมิ่นดูแคลนคนยากคนจนก่อน ไม่อย่างนั้นเขาคงไม่สามารถเขียนหนังสือเล่มนี้ได้ตั้งแต่แรก (การมองว่าชีวิตของคนรากหญ้าเป็นชีวิตที่ไม่พึงปรารถนา ก็ถือเป็นการดูหมิ่นโดยไม่รู้ตัวเหมือนกัน)

เจมสันบอกว่า มีแต่การวิเคราะห์วรรณกรรมผ่าน genre เท่านั้น เปรียบเทียบว่าหนังสือเล่มหนึ่งเหมือนหรือต่างอย่างไรกับหนังสือในอุดมคติ ที่จะช่วยให้เราเข้าใจจิตใต้สำนึกของผู้เขียนได้ (จริงๆ แล้วมีอีกวิธีหนึ่งก็การใช้สี่เหลี่ยมสัญศาสตร์เกรมาส แบบอาจารย์นพพร ประชากุล) การวิเคราะห์ตรงนี้น่าสนใจมาก เพราะมันหมายถึงการวิเคราะห์นักเขียน ทั้งในฐานะที่เป็นผู้เสพไปพร้อมๆ กับผู้ผลิตผลงาน (เพราะถ้าเขาไม่ใช่นักอ่าน จิตใต้สำนึกของเขาก็จะไม่รู้ว่า genre ของหนังสือเล่มที่เขาต้องการจะเขียนนั้นเป็นอย่างไร)

ย้อนกลับมาวรรณกรรมเพื่อชีวิต คนที่เขียนงานตามขนบทุกประการ หนึ่ง สอง สาม สี่ ตัวเอกเป็นชาวนา โง่ ใสซื่อ ส่วนตัวโกงคือนายทุน มหาเศรษฐี (เราเชื่อว่า) สำหรับเจมสัน คนพวกนี้จริงๆ แล้วไม่ปรารถนาการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย (เพราะขนาดงานศิลปะของตัวเองก็รับสืบทอดของเก่าเขามาทั้งดุ้น) ลึกๆ พวกเขาพอใจให้เส้นแบ่งระหว่างชนชั้นดำเนินต่อไป รากหญ้าก็โง่ จน เจ็บ และนายทุนก็ฉลาดแกมโกงไปเรื่อยๆ

สามสี่ปีก่อน มีรวมเรื่องสั้นเล่มหนึ่งคือ หมู่บ้านแอโรบิก ของอาจารย์ทัศนาวดี หลายคนดูจะไม่ค่อยชอบเล่มนี้ แต่นี่เป็นหนังสืออีกเล่มที่เรานิยมเอามากๆ ถ้าใช้การวิเคราะห์ genre นี่คือเรื่องสั้นเพื่อชีวิตที่ปราศจากตัวร้าย มีแต่ชาวบ้านผู้ทุกข์เข็ญ (หรือเปล่า?) หากเป็นความทุกข์แบบขำๆ ที่เกิดจากชาวบ้านกระทำกันเอง ไม่ว่าอาจารย์ทัศนาวดีตั้งใจจะสื่อสารอุดมคติเช่นใดก็ตาม โลกของอาจารย์น่าจะเป็นโลกที่ชนบทเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ตัดขาดจากส่วนกลาง ไม่จำเป็นต้องอาศัยนักการเมืองหรือนายทุนเข้ามารุกราน แต่ชาวบ้านชาวช่องก็สามารถรุกรานกันเองได้แล้ว (หากเป็นการรุกรานแบบเบาะๆ ที่เป็นธรรมชาติการพัฒนามากกว่าเนื้อร้ายในสังคม)

หรืออีกนัยหนึ่งคือการกำเนิดของชนชั้นกลางระดับล่างนั่นเอง

G. Lukacs's "History and Class Consciousness"


ในเดือนมิถุนายนปี 1919 ลูคักส์ต้องไปบรรยายพิเศษเปิดสถาบันวิจัยวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ในกรุงบูดาเปส เนื้อหาการบรรยายในครั้งนั้นถูกดัดแปลงมาเป็นหนึ่งในบทความที่รวมอยู่ใน History and Class Consciousness เฉพาะบทนี้บทเดียวอาจจะเป็นบทความสั้นๆ ที่เหมาะสุดสำหรับใครที่ต้องการเข้าใจมาร์กซิสแบบ "หมัดเดียวจอด" (ว่ากันโดยรวม แม้หนังสือเล่มนี้จะรวบรวมบทความจากต่างกรรมต่างวาระ แต่ทั้งหมดสอดประสานเป็นเรื่องเดียวกันได้อย่างลงตัว)

ตั้งแต่ปี 1919 หลังการปฏิวัติในรัสเซียแค่ไม่กี่ปี จวบจนปัจจุบัน หลายสิ่งเกิดขึ้น สงครามโลกครั้งที่สองเอย ความโหดเหี้ยมของสตาลินเอย และที่สำคัญสุด (จากมุมมองของลูคักส์) คงจะเป็นการพังทลายของกำแพงเบอร์ลินและการสิ้นสุดของสงครามเย็น ถ้าพูดกันจริงๆ หลายความคิดในเล่มนี้ก็คงจะล้าสมัย และ "ผิด" ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ใช่ว่ามันจะไม่มีคุณค่าเลย ในทางตรงกันข้าม จวบจบปัจจุบันการศึกษาสังคมผ่านวิธีคิดแบบมาร์กซ์อาจเป็นสายทฤษฎีทางสังคมที่เข้มแข็งที่สุดเลยก็ว่าได้

ศูนย์กลางของ History and Class Consciousness คือสิ่งที่ลูคักส์เรียกว่า "Reification” หรือ "การทำให้เป็นรูปธรรม" พอแปลไทยแล้วไม่ค่อยได้ความหมายเท่าไหร่ แต่ลูคักส์หมายถึงว่า เมื่อมนุษย์อาศัยอยู่ในสังคมทุนนิยม หรือสังคมที่มีกรรมวิธีผลิตและกระจายสินค้าแบบทุนนิยม ธรรมชาติของความเป็นทุนนิยมจะแผ่ซ่านไปยังทุกแง่มุมของชีวิต และในท้ายที่สุดคุณก็จะมองโลกแบบทุนนิยม มองไม่เห็นความผิดปกติของระบบ หรือถ้ามองเห็น ก็จะบอกตัวเองว่า "นี่เป็นเรื่องธรรมชาติ"

ลูคักส์เปรียบเทียบได้ดี เขาบอกจักรวาลวิทยาแบบฮินดูจะแบ่งโลกออกเป็นสองส่วน คือส่วนของมนุษย์ที่เราสามารถทำความเข้าใจด้วยเหตุและผล และส่วนของเทพเจ้า ซึ่งจะส่งอิทธิพลต่อมนุษย์เรา แต่เราไม่อาจทำความเข้าใจเหตุผลของเทพเจ้าได้ ดังนั้นเราจึงยอมรับอะไรก็แล้วแต่ที่เทพเจ้าส่งมาให้เราว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ จักรวาลวิทยาของทุนนิยมมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ถึงแม้ว่านักเศรษฐศาสตร์และใครต่อใครจะยืนยันเป็นเสียงเดียวว่าทุนนิยมนี่แหละตอบสนองธรรมชาติของมนุษย์ได้อย่างสมเหตุสมผลแล้ว แต่มันก็เป็นความสมเหตุสมผลที่ไม่แตะต้องโลกของเทพเจ้าเลย

ลูคักส์ ในฐานะที่เป็นนักปรัชญามาร์กซิส เชื่อว่าการปฏิวัติมวลชน ในแง่หนึ่งก็คือการสลายม่านบังตาหรือรูปธรรมตรงนี้ และจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ 1) ชนชั้นกรรมาชีพได้รับ “Class Consciousness” (แปลว่าความตระหนักรู้ทางชนชั้นก็คงได้มั้ง) เมื่อถึงตอนนั้น ไม่ใช่เฉพาะแต่ชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้น แต่ชนชั้นกลางผู้ได้รับประโยชน์จากทุนนิยม ก็จะตาสว่าง ตระหนักถึงข้อผิดพลาดของตัวเองด้วย 2) วัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์เป็นกลวิธีเดียวในการสลายม่านบังตาตรงนั้น วิทยาศาสตร์แบบเดิมๆ ถูกปะปนด้วยอคติของทุนนิยม วิทยาศาสตร์จึงกลายเป็นวิธีคิดแบบแบ่งแยกระหว่างวัตถุที่ต้องการศึกษาและผู้ศึกษา วัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์คือการผนวกสองสิ่งนี้ (เท่าที่เราพยายามจับใจความลูคักส์ หมายถึงการศึกษาสังคมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไม่อาจแยกออกจากกันได้) 3) ขณะเดียวกันลูคักส์ไม่ได้ปฏิเสธว่า บางที "ความรุนแรง" อาจจำเป็นในการปฏิวัติมวลชนก็ได้

อย่างที่บอกแต่แรก เราไม่ได้เห็นด้วยกับลูคักส์ไปทั้งหมด ประการแรก แนวคิดแบบ Reification นั้น น่าจะเป็นต้นกำเนิดของญาณวิทยาแบบเลนิน หรือ การปฏิเสธตรรกะทุกประการของบุคคลผู้หนึ่ง ถ้าบุคคลผู้นั้นเกิดในสังคมทุนนิยมหรือฝักใฝ่ในลัทธิทุนนิยม ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะแสดงความคิดเห็นหรือพูดอะไรออกมาก็ตาม ทุกอย่างก็จะแทรกด้วยอคติทางชนชั้น คำพูดที่จะได้ยินบ่อยๆ คือ "เพราะเธอเกิดมาเป็นนายทุน/เศรษฐี/ลูกนักธุรกิจ เธอก็เลยเชื่อแบบนั้น" (หนังสืออย่าง Darkness at Noon ของโคเอสท์เลอร์ หรือ The Joke ของกุนเดระก็คือการสำรวจความพินาศของตรรกะในลักษณะนี้)

ประการหลังคือ ไม่บอกก็รู้ว่าแปดสิบปีผ่านไป สุดท้ายการปฏิวัติมวลชนหรือการตระหนักรู้ทางชนชั้นของเหล่ากรรมาชีพก็ไม่เคยเกิดขึ้น การที่อเมริกาประสบความสำเร็จในการสร้าง "สังคมของชนชั้นกลาง" ก็คือบทพิสูจน์ความล้มเหลวทางทฤษฎีของหนังสือเล่มนี้แล้ว (นั่นคือเหตุผลที่เราชอบ The Historical Novel ซึ่งลูคักส์เขียนขึ้นเมื่อประมาณสองทศวรรษให้หลังมากกว่า)

แต่มีประเด็นหนึ่งที่เราว่าน่าขบคิดมากๆ เกี่ยวกับ "การทำให้เป็นรูปธรรม" ลูคักส์ให้ตัวอย่างว่า วิธีคิดแบบทุนนิยมที่ปรากฏในแวดวงอื่นนอกเหนือจากทางเศรษฐศาสตร์คือในกระบวนการยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมแบบสมัยใหม่ (และเป็นสากล) เกิดขึ้นมาพร้อมกับระบบทุนนิยม สิ่งสำคัญของทุนนิยมคือสังคมที่เปิดโอกาสให้ทุกคน "คำนวณ" ต้นทุนกำไร สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีระบบศาลที่บริสุทธิ์ ปราศจากการแทรกแซง และคาดเดาได้เท่านั้น (ลูคักส์จริงๆ ต้องการชี้ให้เห็นว่า ความบริสุทธิ์ของศาลในระบอบทุนนิยม แท้ที่จริงก็เป็นผลิตผลอย่างหนึ่งของกระบวนการ Reification ไม่ใช่หมายถึงศาลทุนนิยมไม่ยุติธรรม แต่มันมีความยุติธรรมแบบอื่นที่นอกเหนือจากความยุติธรรมที่เราคุ้นเคยกันอยู่)

ถ้ามองย้อนกลับมาเมืองไทย ในสภาพสองมาตรฐานแบบนี้ น่าคิดว่าสังคมไทยเป็นทุนนิยมจริงหรือเปล่า ถ้าเชื่อตามลูคักส์ หากสังคมไทยเป็นทุนนิยม เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะมีตุลาการภิวัฒน์ นั่นก็หมายถึงว่าสังคมไทยไม่ใช่ทุนนิยม เช่นนั้นระบบเศรษฐกิจแบบไหนที่เรากำลังใช้อยู่ คำตอบคือ "ทุนนิยมผสมอุปถัมภ์" จึงชวนให้คิดต่อไปว่า ไอ้ระบบเศรษฐกิจแบบ "อุปถัมภ์" มันจะกลายเป็นรูปธรรมในโครงสร้างส่วนบนอื่นๆ ของสังคมแบบทุนนิยมได้หรือเปล่า แน่นอนว่าเป็นไปได้ ความ "ยุติธรรม" ที่ใช้กฏหมายแบบหนึ่งกับ "คนดี" และกฎหมายอีกแบบหนึ่งกับ "คนเลว" น่าจะสอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจแบบอุปภัมภ์ที่สุด

ถ้ามองสังคมไทยในมุมกว้าง เราจะพบว่ากระบวนการ Reification ของทุนนิยมกัดกินสังคมเราน้อยมากๆ (เป็นต้นเหตุที่เรามักจะได้ยินคำพูดประมาณว่า เรารับมาแต่อะไรที่แย่ๆ ของฝรั่ง แต่ไม่เคยรับของดีๆ มาเลย) ถ้าจะมีอะไรที่มันกำลังกลายเป็นรูปธรรม (หรือเป็นอยู่แล้วแต่ขุดไม่ออก) น่าจะเป็นแนวคิดแบบอุปถัมภ์มากกว่า

เพื่อนเราคนหนึ่งเคยเขียนเอาไว้ในบลอคดีมากๆ ว่า

และด้วยแนวคิดระบบอุปถัมภ์เช่นนี้ ทำให้คนไทยไม่ค่อยเชื่อในเรื่อง “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” เพราะเราเชื่อกันลึกๆว่าโลกนี้มันมีของฟรี (สิวะ) เพียงแต่ต้อง “ขอ” ให้ถูกคน


เมื่อเรายอมรับแล้วว่า สังคมไทยในปัจจุบันเป็นระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผสมอุปภัมภ์ เราก็ต้องยอมรับต่อไปว่า ที่มันยากจนข้นแค้น (?) แบบทุกวันนี้ มันเกิดมาจากส่วนผสมของสองระบบนี้ ความเป็นไปได้สองอย่างก็คือ 1) ถ้าเราสลัดระบบอุปถัมภ์ออกไป บ้านเมืองเราจะเจริญยิ่งกว่านี้อีก และ 2) ยากจนแค่นี้ก็ดีถมแล้ว เป็นระบบอุปถัมภ์ต่างหากที่ค้ำชูสังคมเราอยู่

ใครที่อ่านรักชวนหัวบ่อยๆ คงรู้ว่ารักชวนหัวเชื่อในคำตอบข้อไหน อย่างไรก็ดี นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถสรุปได้จาก History and Class Consciousness ลูคักส์ ผู้เขียน เองก็ไม่ได้ชื่นชอบระบบทุนนิยม อันที่จริงประเด็นของหนังสือเล่มนี้คือทำอย่างไรสังคมจึงจะก้าวพ้นทุนนิยมไปได้ต่างหาก แต่ก้าวพ้นไปแล้ว สิ่งที่รออยู่คือระบบอุปถัมภ์หรือเปล่า อันนี้ไม่มีใครตอบได้ (จุดอ่อนของลัทธิมาร์กซิส ในความคิดเรา คือ เหมือนจะพูดถึงการก้าวข้าม มากกว่าบอกว่าก้าวข้ามไปแล้วจะต้องเจอกับอะไร)

แต่คำถามหนึ่งที่เราอยากให้ขบคิดกันต่อว่า ไอ้ที่พูดกันว่าการคอรัปชั่นเป็นปัญหาหลักของสังคมไทย อย่าลืมว่า การคอรัปชั่นไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะระดับนักการเมืองเท่านั้น แต่ความหมายแบบกว้างรวมไปถึง "กิจกรรมทางวัฒนธรรม" อย่างการถูกตำรวจจับ แล้วเลือกที่จะยัดสินบน แทนที่จะยอมถูกยึดใบสั่งด้วย

คำถามคือ "คอรัปชั่นเป็นรูปธรรมของอะไร ทุนนิยมหรือว่าอุปถัมภ์กันแน่"

L. Brisson's "How Philosophers Saved Myths"


The power of reason paradoxically lies in its ability to recognize its own limits, but the transgression of these limits nonetheless leads straight to irrationalism.


ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับอักษรเขียน และการจดบันทึก ผู้คนก็เริ่มตั้งข้อสงสัยในตำนาน ที่ได้ยินได้ฟังมาจากผู้เฒ่าผู้แก่ และที่ตัวเองเล่าให้ลูกหลานฟัง ว่ามันเชื่อถือได้แค่ไหน เพลโต นอกจากจะรังเกียจศิลปะแทบทุกชนิดแล้ว ยังต้องการกำจัดตำนานทิ้งให้เหลือเพียงปรัชญาและประวัติศาสตร์ แต่ตำนานก็ยังไม่หายไปไหน ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน How Philosophers Saved Myths คือความพยายามของบริสสัน ในการอธิบายว่านักปรัชญาโบราณ มีส่วนช่วยประคับประคองตำนานมาจนถึงทุกวันนี้ได้อย่างไร

ก่อนอื่นเข้าใจว่านี่น่าจะเป็นหนังสืองานวิทยานิพนธ์ของตาบริสสันอะไรนี่ เพราะขอบเขตของหนังสือแคบมาก จนเอาเข้าจริง ไม่น่าจะตอบคำถามอะไรที่เป็นประโยชน์ได้ คำตอบของบริสสันคือ เมื่อนักปรัชญารุ่นหลังจากเพลโตมองตำนานว่าเป็นอุปมาอุปมัย ที่ช่วยชี้ทางให้เห็นความจริง ซึ่งซ่อนอยู่ในเรื่องเล่า ตำนานก็เลยสามารถสืบทอดมาได้ ในฐานะเรื่องหลอกๆ ที่อัดแน่นไปด้วยอุปอุปมา (ในทีนี้ก็มี "น้ำพริก กะปิ" เหยาะลงไปเพิ่มรสชาติด้วย เพราะคนสมัยก่อนเชื่อว่ามีแต่ผู้ถูกเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของ "ลัทธิลับ" เท่านั้นที่จะถอดรหัสตำนานได้ แสดงว่าตั้งแต่ก่อนคริสตศักราชแล้วที่คนเราชอบอ่าน The Da Vinci Code) หนังสือเล่มนี้วิเคราะห์นักปรัชญากรีกเป็นหลัก แต่ช่วยท้ายๆ มีแตะตำนานศาสนาคริสต์ และยุคกลาง จวบเรอเนซองค์

จริงๆ หัวข้อว่า อะไรคือบทบาทของตำนานในโลกปัจจุบัน ในยุคแห่งวิทยาศาสตร์น่าสนใจมาก และเราเชื่อว่ามันน่าจะมีคำตอบที่หลักแหลมและครอบคลุมกว่านี้

ปล. เราชอบคำพูดที่ยกมาตอนต้นนี้มาก ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเนื้อหาในหนังสือเท่าไหร่ แต่เราเห็นด้วยสุดๆ ขั้นตอนแรกของการคิดอย่างมีเหตุมีผล คือการจำกัดวิธีคิดแบบมีเหตุมีผล ศาสตร์ (หรือสิ่งที่อยากเป็นศาสตร์) ถ้าไม่เริ่มต้นตีกรอบ ขีดข้อจำกัดของตัวเอง ก็อย่าได้ใช้ตรา "มีเหตุมีผล" ให้เสื่อมเสียเลยจะดีกว่า

เพราะศาสตร์ใดที่ก้าวข้ามเส้นแดน เมื่อนั้นมันก็กลายเป็นความงมงายไปโดยพลัน

F. Jameson's "The Hegel Variations"


(หมายเหตุ: เวลามีน้อย ประกอบกับไม่ค่อยประทับใจเล่มนี้เท่าไหร่ ขอเขียนย่อๆ ละกัน)

"punchline" ของ The Hegel Variations คือการที่เจมสันส่งทอดแนวคิดเรื่อง "ทาส/นาย" จาก Phenomenology of Spirit เขาวิเคราะห์ขั้วตรงข้ามระหว่างบทเสนอและบทแย้งของ "ไตรภาวะ" ในระบบปรัชญาของเฮเกลว่าคือขั้วตรงข้ามระหว่าง "ภายใน" และ "ภายนอก" เราสามารถรู้ได้ว่าอะไรคือ "ภายใน" (หมายถึงสิ่งที่เราเห็น จับต้อง สัมผัสได้) ส่วน "ภายนอก" คือของอย่างอื่นที่อยู่นอกเหนือการรับรู้ของเรา ความวิเศษของแนวคิดนี้คือ เราไม่สามารถรู้ได้ว่าอะไรคือภายนอก ถ้าหากว่าบางส่วนของภายในไม่ได้ไปอยู่ข้างนอกนั้นแล้วตั้งแต่แรก

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราปิดประตู ปิดหน้าต่าง ขังตัวเองอยู่ในห้อง เรารู้ว่าห้องนี้คือภายใน และอะไรที่อยู่เลยกำแพงออกไปคือภายนอก หากถ้าตั้งแต่เกิดมา เราไม่เคยออกไปข้างนอกเลย เราจะไม่สามารถรับรู้ได้ว่าภายนอกคืออะไร (ในการ์ตูน Cobra ฉากที่เราชอบที่สุดคือโลกต่างมิติที่ทั้งโลกนี้ไม่มีอะไรเลย มีแต่ห้องห้องเดียว และผู้หญิงคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในห้องนั้น) ด้วยเหตุนี้ ขั้วตรงข้ามระหว่างภายในและภายนอก (ซึ่งบรรจุบางส่วนของภายในไว้) จึงเอื้อต่อการผสมผสานจนเกิดเป็นบทสังเคราะห์

จากจุดนี้ เจมสันส่งต่อไปยังบทวิเคราะห์เกี่ยวกับกฎหมายว่า กฎหมายที่แท้จริง ไม่ใช่สิ่งที่สังคมใช้บังคับปัจเจก แต่เป็นสิ่งที่ปัจเจกสร้างขึ้นมา (หรือรู้สึกว่าตัวเองสร้างขึ้นมา) เพื่อใช้บังคับตัวเอง จุดนี้นำไปสู่เรื่อง "ความสำนึกผิด" ซึ่งเกิดจากการที่ปัจเจกเป็นหนึ่งเดียวกับกฎหมาย พฤติกรรมที่ขัดต่อกฎหมายก็คือพฤติกรรมที่ขัดต่อความรู้สึกของตัวเอง ในโลกทุนนิยม “สังคม” ถูกสร้างขึ้นมาจากแรงงานที่ถูกทำให้เป็นอื่น (alienated) ดังนั้นมนุษย์จึงรู้สึกแปลกแยกกับกฎหมายอันเป็นผลิตผลทางสังคม "จุดจบของประวัติศาสตร์" จึงเป็นโลกที่ "ภายใน" และ "ภายนอก" ผสานกัน ผู้คนรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับกฎหมายที่ควบคุมชีวิตพวกเขา

R. Davies's "What's Bred in the Bone"


หลังจากนิยายแปดเล่ม รวมเรื่องสั้นอีกหนึ่ง ในที่สุดเราก็เริ่มเข้าใจแล้วว่าโรเบิร์ตสัน เดวีส์ "เป็นใคร" ตอนที่เขียนถึง World of Wonders เราบอกว่าเดวีส์เถียงตัวเองตลอดเวลาๆ จากนิยายเล่มหนึ่ง ไปยังนิยายอีกเล่ม ตอนนี้เราว่าเรารู้แล้ว อะไรคือจุดยืนที่แท้จริงของนักเขียนชาวแคนาดาผู้นี้

What's Bred in the Bone มาจากคำพังเพยฝรั่งเต็มๆ ว่า "สิ่งที่แฝงอยู่ในกระดูก สุดท้ายก็จะออกมาตามเนื้อตัว" หมายถึงนิสัยหรือสันดานที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ในตัวคนคนหนึ่ง ไม่ว่าจะปิดบังแค่ไหน สุดท้ายก็จะถูกเผยออกมาให้คนอื่นได้ยล นี่เป็นชื่อนิยายที่เหมาะมากสำหรับอธิบายตัวเอกของเรื่องฟรานซิส คอร์นิช แต่ขณะเดียวกัน นี่ก็เป็นชื่อนิยายที่เหมาะมากสำหรับการอธิบายปรัชญาของเดวีส์

ฟรานซิส คอร์นิชเป็นจิตรกรอัจฉริยะ ผู้ปฏิเสธที่จะเต้นไปตามจังหวะของยุคสมัย ขณะที่ยุโรปต้นศตวรรษกำลังต้องมนต์เสน่ห์ของปิกัสโซ ดาลี และดูชอง คอร์นิชกลับหลงใหลจิตรกรรมคลาสสิคจากศตวรรษที่ 15-18 ทางออกเดียวสำหรับอัจฉริยะเช่นเขาคือการปลอมแปลงรูป คอร์นิชวาดภาพด้วยฝีไม้ลายมือของปรมาจารย์ และพยายามขายรูปเหล่านั้นในราคาสูงราวกับว่ามันเป็นศิลปะโบราณ (ทำไมคอร์นิชถึงไม่ยอมเป็นจิตรกรจนๆ วาดอะไรที่อยากวาด ประเด็นนี้น่าตรึกตรองมากเพราะในนิยายของเดวีส์แทบทุกเล่ม ตัวเอกเป็นผู้มีอันจะกิน หรือไม่ก็ร่ำรวยไปเลย ไม่ค่อยมีเรื่องของคนจนๆ หาเลี้ยงปากท้องประทังชีพ)

เราจับเค้ามาตลอดว่าเดวีส์เป็นพวก "อนุรักษนิยม" เขาเหมือนจะรังเกียจความทันสมัย ความรู้แจ้ง และเหตุผลนิยมของศตวรรษที่ 20 แต่ความอนุรักษนิยมของเดวีส์มีรสชาติที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงจากนักเขียนหัวโบราณ (แบบที่เห็นได้บ่อยๆ ในเมืองไทย) เดวีส์ไม่ได้ชื่นชม "มรดกของบรรพบุรุษ" เขาย้อนอดีตไปไกลกว่านั้นอีก สิ่งที่เขาชื่นชมคือ "ตำนาน" หรือ "ความงมงาย" สำหรับเดวีส์ นั่นต่างหากคือ "สิ่งที่แฝงอยู่ในกระดูก" ของมนุษยชาติ (ใน Fifth Business เขาเคยเขียนว่า "ถ้าให้ผมเลือก คัมภีร์พันธสัญญาเดิมน่าอ่านกว่าพันธสัญญาใหม่เป็นไหนๆ ")

นิยายของเดวีส์จึงเหมือน "วิทยานิพนธ์" ที่พยายามให้เหตุผลเพื่อปกป้องความงมงาย "เหตุผลนิยม" หรืออะไรก็แล้วแต่ที่มาพร้อมกับความทันสมัย แท้ที่จริงก็คือความงมงายในอีกรูปแบบหนึ่ง และเป็นความงมงายที่โง่งมเสียยิ่งกว่าเก่า เพราะมันถูกสร้างขึ้นมาจากมนุษย์ที่พยายามหลอกตัวเองว่าฉันเป็นวิทยาศาสตร์แล้วนะ (ถ้าเดวีส์เป็นคนไทย ให้เราเดา เขาคงนิยมชาวบ้านที่ไปขอหวยกับเจลลดไข้ มากกว่าชาวเมืองที่ซื้อหนังสือ "ไอนสไตน์รักพระพุทธเจ้านะ จุ๊บๆ ")

ตำนานของชาวบ้านก็คือวิทยาศาสตร์ ในอดีตที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำความเข้าใจกับสภาพแวดล้อมรอบตัว มันประกอบไปด้วยระบบ และความเป็นเหตุเป็นผลไม่ต่างอะไรจากวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน เดวีส์จึงมักชอบจับเอาตัวละครสมัยใหม่ เหตุผลนิยมจัดๆ เข้าไปอยู่ในโลกแห่งตำนาน เพื่อแสดงให้เห็นว่าการกระทำของคนพวกนี้ต่างหากที่งมงาย ไร้เหตุไร้ผลยิ่งกว่า

ธรรมดาเราเป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือชีวประวัติเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ทำให้เราชอบ What's Bred in the Bone มากๆ คือความ "ปรุงแต่ง" ของมัน ทุกเหตุการณ์ถูกขมวดปมเข้าหากันอย่างสวยงาม ถ้ามองในแง่ความเป็นนิยายชีวประวัติ นี่อาจเป็นนิยายที่ล้มเหลว เพราะคงไม่มีใครที่ชีวิตเป็นระเบียบขนาดนี้ จริงๆ แล้วเดวีส์เขียนนิยายชีวประวัติไว้เยอะมาก ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ขมวดปมสวยงามเท่านี้ ก็น่าคิดเหมือนกันเหตุใดเขาถึงเลือกวิธีนี้ในนิยายเล่มนี้

J.R.R. Tolkien's "Roverandom"


บอกกันตรงนี้เลยว่า เราไม่ใช่แฟน Lord of the Rings ผลงานของโทลคีนที่เราชอบสุดคือ The Hobbit ซึ่งมาก่อน Lord of the Rings และถือกันว่าเป็น "จุดเริ่มต้น" ของมิดเดิลเอิร์ธ

แต่ Roverandom เก่าแก่ยิ่งกว่านั้นอีก ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ครอบครัวโทลคีนไปเที่ยวชายหาด ลูกชายคนหนึ่งเผลอวางตุ๊กตาหมาตัวโปรดทิ้งไว้ เมื่อตุ๊กตาถูกน้ำซัดหายใจ เด็กน้อยเสียใจมาก โทลคีนจึงแต่งเรื่องราวของโรเวอร์แรนดอม หมาที่ถูกพ่อมดสาปให้เป็นตุ๊กตา เลยต้องออกผจญภัย เพื่อจะได้กลับมาเป็นหมาดังเดิม โทลคีนเขียน Roverandom ก่อนหน้า The Hobbit แต่จนแล้วจนรอด ก็ไม่เคยได้ออกตีพิมพ์ กระทั่งโทลคีนเสียชีวิตไปแล้ว ถึงได้มีคนเอาต้นฉบับขาดๆ เกินๆ มารวมกันเป็นนิยายเล่มนี้

ใครที่เป็นแฟนโทลคีน Roverandom น่าอ่านมากๆ เพราะมันเป็นพิมพ์เขียวของมิดเดิลเอิร์ธ ทั้งในแง่ฉากและโมทีฟ (เช่นเดียวกับบิลโลและโฟรโด พระเอกของโทลคีนมักจะถูกส่งให้ไปทำภาระอันตรายๆ บางอย่างที่หลายครั้งเจ้าตัวก็ไม่เข้าใจว่าอะไรคือจุดประสงค์การเดินทางของตัวเอง)

สำหรับคนที่ไม่ใช่แฟนอย่างเรา สองสิ่งประทับใจสุด หนึ่งก็คือ พอนึกถึงโทลคีน คนส่วนใหญ่จะนึกถึงนิยายแฟนตาซี แต่ใน Roverandom มีฉากที่โรเวอร์แรนดอมขึ้นไปผจญภัยบนดวงจันทร์ และเผชิญหน้ากับพ่อมด หมาดวงจันทร์ และมังกรขาว ตอนที่โทลคีนเขียนนิยายเล่มนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้ไปสำรวจดวงจันทร์เลยด้วยซ้ำ แล้วเราจะจัด Roverandom ว่าเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ได้หรือเปล่า ถ้าได้แล้วเส้นตรงไหนที่แบ่งระหว่างนิยายวิทยาศาสตร์และแฟนตาซี

นอกจากนี้ Roverandom ยังมีโครงสร้างน่ารักๆ ให้นัก "โครงสร้างนิยม" (เรียกเอง) อย่างเราได้ขบคิด ในนิยายเล่มนี้ โรเวอร์แรนดอมต้องไปผจญภัยสองแห่ง คือบนดวงจันทร์ และใต้สมุทร ทั้งสองที่นี้จริงๆ แล้วก็มีหลายอย่างเหมือนกัน ต่างก็มีพ่อมด มีสุนัข (สุนัขดวงจันทร์และสุนัขเงือก) รวมไปถึงสัตว์ยักษ์คล้ายๆ มังกร การ "ซ้ำ" เรื่องแบบนี้ แทนที่จะซ้ำซาก กลับได้รสวรรณกรรมเอร็ดอร่อย แถมยังเข้ากับความเป็นนิยายเด็กของมันอย่างเหมาะเหม็งอีกด้วย

J. W. Krutch's "Modernism in Modern Drama"


รุ่นน้องเราคนหนึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับ new wave ในวงการวรรณกรรมไทย เธอถามเราว่า new wave ของฝรั่งเป็นยังไง มีอะไรบ้าง เราฟังคำถามแล้วก็ทำตาปริบๆ ก่อนจะตอบว่า "ไม่มีว่ะ" ถ้าพูดถึง "คลื่นลูกใหม่" ก็จะนึกถึงวงการภาพยนตร์หรือศิลปะเสียเป็นส่วนใหญ่ อาจเพราะนักเขียนเป็นสิ่งมีชีวิตโดดเดี่ยว (ทั้งลักษณะนิสัย และวิธีการทำงาน) เรื่องรวมหัวกันสร้างกระแส "คลื่นลูกใหม่" แทบไม่เคยปรากฏให้เห็นในโลกตะวันตก (ใกล้เคียงสุดก็อาจเป็นกลุ่มนักเขียนของเวอจิเนียร์ วูล์ฟและสามี)

พูดแบบนี้ใช่ว่าวงการวรรณกรรมไทยจะไม่มีกระแสคลื่นลูกใหม่ ประเทศไทยนั้นเล็กพอที่นักเขียนจะรวมตัวกันสร้างกระแส (และเราก็รู้สึกว่ามันเกิดขึ้นบ่อยๆ เสียด้วย) และถ้าจะเข้าใจคลื่นลูกใหม่น่าจะต้องลองกลับไปทบทวนนิยามของ "สมัยใหม่" กันดู

คำถามนี้จะว่าไปแล้วก็น่าเบื่อเอามากๆ ตกลงประเทศไทยมี "สมัยใหม่" หรือยัง แล้วไอ้ "สมัยใหม่" นี่มันมาหลัง "หลังสมัยใหม่" ได้ด้วยหรือ อันที่จริงในทางวรรณกรรม "หลังสมัยใหม่" ไม่จำเป็นต้องมาทีหลัง "สมัยใหม่" เสมอไป วูล์ฟเป็นนักเขียนในยุคเดียวกันกับจอยซ์ แต่หลายคนก็ถือว่าวูล์ฟเป็นสมัยใหม่ ส่วนจอยซ์เป็นหลังสมัยใหม่ (และถ้าเชื่อครัช เทนเนสซี วิลเลียม ซึ่งมาทีหลังทั้งวูล์ฟและจอยซ์ เป็นนักเขียนคลาสสิก หรือ "สมัยก่อน" ไปเลย)

เราชอบนิยามของสมัยใหม่ใน Modernism in Modern Drama มากๆ และคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อรุ่นน้องเราในการนิยามคลื่นลูกใหม่ สมัยใหม่ในทางวรรณกรรมคือความเชื่อว่าสังคมไม่สามารถดำเนินต่อไป อย่างที่มันเป็นอยู่ได้ ถ้าจะเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อก้าวไปสู่อนาคตที่ดีกว่า ก็ต้องอาศัยอะไรใหม่ๆ จินตนาการถึงสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และต้องใหม่ชนิดพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ อุปมาคือไม่สามารถข้ามเหวด้วยวิธีสร้างสะพานได้ เพราะสะพานก็ยังต้องอาศัยแผ่นดินของฝั่งที่เรายืนอยู่เป็นตัวยึด แต่การข้ามหุบเหวแบบสมัยใหม่ต้องเป็นการกระโดดข้ามเท่านั้น

วรรณกรรมไทยนั้นมีแนวโน้มที่จะ "สมัยก่อน" ได้ง่ายมากๆ ในแบบสุดโต่ง สมัยก่อนก็คือความต้องการกลับไปสู่ความรุ่งโรจน์ของอาณาจักรสยาม แต่ในอีกแง่หนึ่ง วรรณกรรมสะท้อนสังคม ที่พยายามชี้ให้เห็นข้อเสีย ข้อด้อยของสภาพปัจจุบัน ก็ถือว่าเป็นสมัยก่อนได้เหมือนกัน เพราะวรรณกรรมพวกนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า สังคมดีได้เพียงเรากำจัดเนื้อร้าย ที่อาจจะมาพร้อมความทันสมัย หรือกระทั่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมก็ตาม (ด้วยเหตุนี้เรื่องสั้นสตรีนิยม หม้อที่ขูดไม่ออก ของอัญชัญก็ยังไม่อาจถือว่าเป็นสมัยใหม่ตามนิยามของครัชได้)

ยอมรับอย่างหนึ่งว่าไม่ใช่ง่ายๆ เลย ถ้ายึดตามครัช ที่จะจำแนกอะไรเป็นสมัยใหม่ ง่ายกว่าเยอะคือดูว่าอะไรไม่ใช่ เช่น แม้คุณวินทร์จะทดลองกับรูปแบบสักแค่ไหน ที่สุดของที่สุดศีลธรรมในผลงานของวินทร์ เลียววาริณก็ยังเป็นสิ่งที่พูดถึงและยอมรับกันได้ในสังคม รวมไปถึงผลงานหลายชิ้นของคุณปราบดา

ครัชยอมรับว่านิยามนี้ไม่ได้สมบูรณ์แบบ เราอาจไม่สามารถแบ่งได้ว่าอะไรสมัยก่อน อะไรสมัยใหม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราอาจจะพอวัด "ความตั้งใจ" ของคนเขียนได้ว่าต้องการจะเป็นสมัยใหม่หรือสมัยก่อน (หรืออยากเป็นสมัยใหม่ แต่กลายเป็นสมัยก่อนโดยไม่รู้ตัว) เช่นเดียวกัน บางอย่างที่โคตรจะสมัยใหม่ในอดีต มาตอนนี้อาจจะเป็นสมัยก่อน ตามความนิยมของสังคมไปแล้วก็ได้ นอกจากนี้ วรรณกรรมบางชิ้นก็ไม่ได้ตั้งใจจะกระโดดข้ามหุบเหวไปอีกฝั่งหนึ่ง แต่เป็นการกระโดดลงเหว "อย่างสง่างาม" มากกว่า

คำแนะนำจากพี่ถึงน้องรัก ถ้าเธอว์ได้เข้ามาอ่านบลอคนี้ อย่ามองว่านี่คือ "คำตอบ" ของคำถามที่เธอว์กำลังขบคิดอยู่ ให้มองว่านี่คืออีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยเธอว์ไปสู่คำตอบนั้นได้​ก็แล้วกัน

G. Greene's "Doctor Fischer of Geneva"


คำจำกัดความที่ดีที่สุดของ Doctor Fischer of Geneva คือ "a sad little farce” ไม่รู้จะแปล farce เป็นไทยว่าไงดี ละครตลกคาเฟ่ ขำอย่างเดียวไม่มีสาระ เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องบนเตียง เรื่องใต้สะดือ ตัวละครเปิ่นๆ แรงๆ โง่ๆ แต่พอเอาคำคำนี้มาขยายด้วยคุณศัพท์ "แสนเศร้า" ก็เกิดเป็น oxymoron แปลกๆ ขึ้นมา แค่เขียนนิยายแบบนี้ให้คนอ่านยอมรับได้นี่ก็ชาบูคนเขียนแล้ว

Doctor Fischer of Geneva เป็น farce แน่ๆ นิยายทั้งเล่มแขวนอยู่บนความเชื่อเดียวว่า "คนยิ่งรวยก็ยิ่งโลภ" และโลภเสียจนทำได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องน่าอับอายแค่ไหน ฟิชเชอร์เป็นโคตรมหาเศรษฐี งานอดิเรกของเขาคือจัดงานเลี้ยงเล็กๆ โดยชวนเพื่อนสนิทที่เป็นเศรษฐีน้อยๆ ห้าคนมาร่วมงานนี้ ลูกสาวของฟิชเชอร์ตั้งฉายาให้เพื่อนสนิทของพ่อว่าเหล่า "คางคก" ฟิชเชอร์กำหนดกติกาคือเหล่าคางคกจะต้องยอมทำตามทุกอย่างที่เขาสั่ง ห้ามขัดใจเจ้าบ้านเป็นอันขาด ถ้าทำได้สำเร็จ ก็จะได้ของขวัญเล็กๆ น้อยๆ เป็นสิ่งตอบแทนตอนท้ายงาน ทั้งหมดก็เพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของฟิชเชอร์เองว่า อะไรคือขีดขั้นต่ำความเป็นคนที่เศรษฐีเหล่านี้จะไต่ลงไปเพื่อให้ได้ของขวัญ เงื่อนไขที่แขกต้องทำ เช่น จับกุ้งมังกรเป็นๆ มาต้มกิน หรือกิน "โจ๊ก" ที่เย็นชืด (porridge คือข้าวต้มโอ้ต ซึ่งไม่ใช่โจ๊กแบบเมืองไทยเสียทีเดียว เข้าใจว่าเป็นอาหารที่ถ้ากินเย็นๆ แล้ว เอาเข้าปากไปคำเดียว อาจอ้วกออกมาได้ง่ายๆ )

ที่พิศวงคือ ของขวัญของฟิชเชอร์ เอาเข้าจริง ก็ไม่ได้เลิศเลอถึงขนาดว่าเศรษฐีเหล่านี้จะหาซื้อเองไม่ได้ แต่คนพวกนี้ "โลภ" เสียจน ยอมลดระดับศักดิ์ศรีเพื่อเงินทองเล็กๆ น้อยๆ เพราะ "คนยิ่งรวยก็ยิ่งโลภ" (เพื่อตัดกับตัวละครเหล่านี้ กรีนให้ตัวเอกของนิยายเป็นล่ามพิการจนๆ ทำงานอยู่ในโรงงานชอคโกแลต) ถามเราว่าจริงไหม ก็คงจริงในระดับหนึ่ง แต่ถึงขั้นที่กรีนนำเสนอเลยหรือเปล่า อันนั้นเราว่าก็เกินไป เพราะคนยิ่งรวย ก็ยิ่งมีศักดิ์ศรีค้ำคอ หนสองหนคงพอรับได้ แต่ถึงขนาดไปแล้วไปอีก ยอมทนให้ตัวเอกตกต่ำซ้ำซาก เราไม่ค่อยเชื่อแฮะ

แต่อย่างที่บอก นิยายเล่มนี้คือ "a sad little farce” ถ้าจะอ่านให้สนุก ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขของกรีน ส่วน "แสนเศร้า" ไม่บอกแล้วกัน อุบไว้ให้อ่านเอง เอาเป็นว่านี่คือนิยายเล่มเล็กๆ ที่บีบคั้นจิตใจเราสุดเล่มหนึ่ง

กรีนเป็นนักเขียนที่มหัศจรรย์มากๆ ในแง่ความหลากหลาย เท่าที่อ่านมาห้าหกเล่ม สไตลเรื่องแกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ พอๆ กับโลเคชั่น ถ้าไม่รู้ด้วยตัวเอง แต่มีคนบอกว่า Doctor Fischer of Geneva คือคนเขียนคนเดียวกับ The Power and the Glory (ฉากในเมกซิโก) หรือ The Comedians (ฉากเป็นเฮติ) ยังไงๆ เราก็ไม่เชื่อ

W. Empson's "7 Types of Ambiguity"


การไปอยู่เมืองนอกมา 12 ปี อาจช่วยให้คุณอ่านมหากาพย์ 600 หน้าของเจม จอยซ์ได้ แต่คุณก็อาจจอดสนิทเมื่อมาเจอกับซอนเนท 14 บรรทัดของเชคสเปียร์ นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้จากการอ่าน 7 Types of Ambiguity หนังสือยาว 300 หน้าของเอมสัน

นี่อาจเป็นหนที่ 5 แล้วกระมัง ที่เราหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน หยิบแล้วก็วาง หยิบแล้วก็วางอยู่แบบนี้ ไม่ใช่ว่าอ่านไม่รู้เรื่อง แต่รู้เรื่องเหมือนเวลาอ่านตำราอาหาร คือไม่มีความเข้าใจมา 8 เปื้อนสมองแม้แต่น้อย

รักชวนหัวไม่ได้อยากตั้งตัวเป็นไม้เบื่อไม้เมากับบทกวี เรามีความเชื่อมาตลอดว่า เพื่อความ 9 หน้าทางสติปัญญา อะไรที่ยิ่งไม่ชอบก็ยิ่งต้องรับประทานเข้าไปเป็นยาขม จริงๆ 7 Types of Ambiguity จำเป็นมากๆ กับเมืองไทยในปัจจุบัน เมื่อกลอนเปล่าได้รางวัลซีไรต์ นี่จะเป็นสัญญาณหรือเปล่าว่าอีกไม่น่าคนจะแห่ไปเขียนกลอนเปล่า เช่นนั้น เราจะเอาอะไรไปตัดสินความงามของบทกวีที่ไม่มีฉันทลักษณ์

เอมสันเสนอว่า "ความคลุมเครือ" นี่ต่างหาก ฉันทลักษณ์ของกลอนเปล่า และเป็นสิ่งที่สร้างความไพเราะให้กับการอ่าน โดยเขากำหนดความคลุมเครือขึ้นมา 7 ชนิด (ทำไมต้อง 7 ด้วย จงใจเพราะเลขสวยหรือบังเอิญ) ฝรั่งน่าจะเชี่ยวชาญเรื่องแบบนี้ เพราะเขาเขียน เขาอ่านกลอนเปล่ากันมานานกว่าคนไทย (กลอนฉันทลักษณ์ของฝรั่ง เผลอๆ บางทีจะ "เปล่า" เสียยิ่งกว่ากลอนเปล่าของไทยอีก)

อ่านๆ ไป ก็พลอยสงสัยว่า ถ้าคนไทยหันมาเขียนมาอ่านกลอนเปล่าจริง แล้วจะเป็นไปได้ไหมที่สักวันจะเกิด Cult of Pure Sound ขึ้นในโลกตะวันตก คืออ่านแค่เอาเสียง เอาความพอใจ เนื้อหาสาระอะไรโยนทิ้งให้หมด เพราะ "อารมณ์และความรู้สึกนี่แหละ เป็นพลังทางปัญญาอย่างหนึ่งของมนุษย์"

น่าจะยากนะ น่าจะยากชิมิ

รัวชวนหัก รักชวนหัว


มาเรียค่ะ รักชวนหัวปรับปรุงบลอคเล็กน้อย เลยฝากมาเรียมาแจ้งให้เพื่อนๆ ทราบ อย่างแรกคือ สารบัญแบ่งออกเป็นสองส่วนแล้วนะคะ สำหรับหนังสือต่างประเทศ และหนังสือไทยบวกข้อความเบ็ดเตล็ด รัวชวนหัก เอ้ย! รักชวนหัวฝากกระซิบบอกมาเรียว่า ในส่วนหนังสือไทยและข้อความเบ็ดเตล็ด คงไม่ค่อยอัพเดทแล้ว เพราะบทความเหล่านั้นจะเอาไปแปะเวบอื่นแทน

อีกเรื่อง คิดเสียว่ามาเรียขอร้อง สำหรับใครที่อยากโพสข้อความ กรุณาใส่ชื่อด้วยนะคะ เป็นชื่อมั่วๆ ที่ตั้งเอง หรืออักษรย่อสักตัวก็ยังดี สาเหตุคือ junk message เยอะเหลือเกิน รักชวนหัวก็เลยทำฟิลเตอร์ แจ้งเตือนเฉพาะข้อความที่ผู้โพสใส่ชื่อเท่านั้น ถ้าอยากให้จดหมายรักถึงมือมาเรีย และพี่รัวชวนหักเร็วๆ ลงชื่อด้วยนะคะ

<3 มาเรีย <3

สารบัญนิยาย



A

M. Allingham's "Cargo of Eagles"
E. A. Abbott's "Flatland"
J. Agee's "A Death in the Family"
Martin Amis's "The Information"
M. Amis's "Other people"
Margaret Atwood's "Dancing Girls"
M. Atwood's "The Blind Assassin"
Magaret Atwood's "The Handmaid's Tale"
Magaret Atwood's "Surfacing"
J. Austen's "Pride and Prejudice"
Paul Auster's "The Book of Illusion"

B

S. Bellow's "Henderson the Rain King"
R. Banks's "The Book of Jamaica"
R. Banks's "Continental Drift"
H. De Balzac's "Old Goriot"
A. Bechdel's "Fun Home: A Family Tragicomic"
Saul Bellow's "The Adventures of Augie March"
I. Bergman's "The Reduction Trilogy"
Alfred Bester's "Virtual Unreality"
H. Boll's "18 Stories"
J.L. Borges's "Fictions"
E. S. Bowen's "Return to Laughter"
Janes Bowles's "Plain Pleasures"
Jane Bowles's "Two Serious Ladies"
R. Bradbury's "The Golden Apples of the Sun"
A. Breton's "Nadja"
S. Brijs's "The Angel Maker"
E. Bronte's "Wuthering Heights"
C. Buckley's "Little Green Men"
Antony Burgess's "Inside Mr. Enderby"
Charles Bukowski's "South of No North"
C. Bukowski's "Ham on Rye"
A. S. Byatt's "Angels & Insects"
A. Burgess's "The End of the World News"

C

R. Carver's "Elephant"
Italo Calvino's "Cosmicomics"
I. Calvino's "The Road to San Giovanni"
I. Calvino's "Numbers in the Dark"
Italo Calvino's "Difficult Loves"
Italo Calvino's "Hermit in Paris"
Italo Calvino's "If on a Winter's Night a Traveler"
Italo Calvino's "The Path To The Spiders' Nests"
I. Calvino's "t zero"
L. Carrington's "The Hearing Trumpet"
J. D. Carr's "The Problem of the Green Capsule"
A. Carter's "Love"
A. Carter's "Shadow Dance"
Angela Carter's "Wise Children"
Angela Carter's "The Magic Toyshop"
Raymond Carver's "Cathedral"
Raymond Carver's "What We Talk about When We Talk about Love"
R. Carver's "Will You Please Be Quiet, Please?"
C. Castaneda's "The Teachings of Don Juan"
S. O' Casey's "Three Dublin Plays"
Claude Caudwell's "Illusion and Reality"
R. Chandler's "The Simple Art of Murder"
G.K. Chesterton's "The Man Who Was Thursday"
Agatha Christie's "Death on the Nile"
A. Christie's "The Mystery of the Blue Train"
A. Christie's "Sad Cypress"
A. Christie's "The Secret Adversary"
A. Christie's "Hercule Poirot's Chirstmas"
Paulo Coelho's "The Valkyries"
P. Coelho's "The Witch of Portobello"
J.M. Coetzee's "Foe"
J. Conrad's "Heart of Darkness and Other Stories"
J. Conrad's "The Secret Agent"
F. W. Crofts's "The 12:30 from Croydon"
A. Camus's "The Fall"
W. Collins's "The Moonstone"

D

Robertson Davies's "High Spirits"
R. Davies's "What's Bred in the Bone"
R. Davies's "A Mixture of Frailties"
R. Davies's "Leaven of Malice"
R. Davies's "Tempest Tost"
Robertson Davies's "The Manticore"
R. Davies's "The Rebel Angels"
Robertson Davies's "World of Wonders"
K. Desai's "The Inheritance of Loss"
Philip K. Dick's "Flow My Tears, the Policeman Said"
C. Dicken's "The Tale of Two Cities"
C. Dickson's "The Plague Court Murders"
Isak Dinesen's "Ehrengard"
E. L. Doctorow's "Ragtime"
Fyodor Dostoevsky's "Demons"
D. Du Maurier's "Don't Look Now"
P. K. Dick's "The Simulacra"

E

Umberto Eco's "The Mysterious Flame of Queen Loana"
H. Ellison's "I, Robot"

F

W. Faulkner's "The Reivers"
W. Faulkner's "As I lay Dying"
William Faulkner's "The Sound and the Fury"
J. Fforde's "Lost in a Good Book"
J. Fforde's "The Big over Easy"
F. S. Fitzgerald's "This Side of Paradise"
G. Flaubert's "Madame Bovary"
J. Fowles's "The French Lieutenant's Woman"

G

G. Greene's "The Human Factor"
G. Greene's "A Burnt-Our Case"
C. E. Gadda's "That Awful Mess on the Via Merulana"
A. Garve's "Home to Roost"
W. Gombrowitz's "Ferdydurke"
Gunter Grass's "Crabwalk"
Gunter Grass's "The Gunter Grass Reader"
Robert Graves's "I, Claudius"
G. Greene's "The Captain and the Enemy"
Graham Greene's "The Power and the Glory"
G. Greene's "Doctor Fischer of Geneva"
G. Greene's "Monsignor Quixote"
G. Greene's "The Tenth Man"
B. Greene's "The Fabric of the Cosmos"
G. Greene's "The Comedians"
G. Greene's "The Quiet American"
G. Greene's "The Ministry of Fear"
G. Greene's "A Gun for Sale"
G. Greene's "Our Man in Havana"

H

R. Harris' "Imperium"
E.T.A. Hoffmann's "The Golden Pot and Other Tales"
J. Haldeman's "Old Twentieth"
V. Havel's "The Garden Party and Other Plays"
N. Hawthorne's "The Scarlet Letter"
Ernest Hemingway's "The First Forty-Nine Stories"
E. Hemingway's "The Sun also Rises"
Herman Hesse's "Damien"
H. Hesse's "Peter Camenzind"
Herman Hesse's "Journey to the East"
Herman Hesse's "Narcissus and Goldmund"/"Steppenwolf"
Herman Hesse's "Knulp"/"Siddhartha"
R. E. Howard's "The Black Stranger and Other American Tales"
M. Heidegger's "Being and Time"
N. Hawthorne's "The House of the Seven Gables"
H. Hesse's "Klingsor's Last Summer"

I

M. Innes's "Honeybath's Haven"
M. Innes's "Hamlet, Revenge!"
Kasuo Ishiguro's "The Remains of the Day"
H. Ibsen's "Four Major Plays"

J

S. Jackson's "The Melancholy of Anatomy"
H. James's "The Wings of the Dove"
M.R. James's "The Haunted Dolls' House and other Stories"
J. Joyce's "A Portrait of the Artist as a Young Man"
J. Joyce's "Ulysses"
H. James's "The Bostonians"

K

Arthur Koestler's "Darkness at Noon"
L. Krasznahorkai's "The Melancholy of Resistance"

L

Jhumpa Lahiri's "Interpreter of Maladies"
Harper Lee's "To Kill a Mockingbird"
D. Lessing's "The Memoirs of a Survivor"
Doris Lessing's "The Fifth Child"
D. Lessing's "The Grandmothers"
D. Lodge's "Author, Author"
S. Lewis's "Babbitt"

M

Nagib Mahfouz's "Thebes at War"
N. Marfouz's "Arabian Nights & Days"
T. Mann's "Royal Highness"
Thomas Mann's "Death in Venice"
G. Martinez's "The Oxford Murders"
H. Melville's "Moby-Dick"
W. M. Miller Jr.'s "A Canticle for Leibowitz"
M. Moorcock's "Behold the Man"
A. Moravia's "Erotic Tales"
A. Moravia's "The Conformist"
H. Murakami's "The Second Bakery Attack"
I. Murdoch's "The Time of the Angels"
Iris Murdoch's "Jackson's Dilemma"
I. Murdoch's "The Italian Girl"
I. Murdoch's "The Nice and the Good"
I. Murdoch's "The Red and the Green"
I. Murdoch's "The Philosopher's Pupil"
I. Murdoch's "The Unicorn"
I. Murdoch's "The Flight from the Enchanter"
I. Murdoch's "A Word Child"
Iris Murdoch's "Nuns and Soldiers"
Iris Murdoch's "The Sacred and Profane Love Machine"
Iris Murdoch's "A Severed Head"
I. Murdoch's "The Message to the Planet"
I. Murdoch's "Bruno's Dream"
I. Murdoch's "The Bell"
I. Murdoch's "An Accidental Man"
I. Murdoch's "Henry and Cato"
I. Murdoch's "The Sovereignty of Good"
R. Musil's "The Man wihtout Qualities"
M. Moorcock's "Elric of Melnibolne"
Y. Martel's "Beatrice and Virgil"
W. S. Maugham's "The Magician"
Moliere's "One-Act Comedies"

N

O

P

H. Pinter's "The Caretaker/The Homecoming"
O. Pamuk's "Snow"
Ann Patchett's "Bel Canto"
Ann Patchett's "The Magician Assistant"
Walker Percy's "The Moviegoer"
S. Plath's "The Bell Jar"
Plato's "Symposium"
M. Proust's "Swann's Way"
M. Puig's "Kiss of the Spider Woman and two other plays"
J. L. Pires's "The Universe and the Refrigerator"
R. Patel's "The Value of Nothing"
A. Perez-Reverte's "The Fencing Master"

Q

E. Queen's "And on the Eigth Day"

R

P. Roth's "American Pastoral"
J. K. Rowling's "Harry Potter and the Deathly Hallows"
Salman Rushdie's "Midnight Children"
M. D. Russel's "The Sparrow"
J. Rhys's "Wide Sargasso Sea"
S. Ray's "Feluda's Last Case"

S

W. Shakespeare's "Two Gentlemen of Verona/Measure for Measure"
U. Saba's "Ernesto"
Jean-Paul Sartre's "No Exit and Three Other Plays"
J. Sartre's "Intimacy"
J. J. Saer's "The Investigation"
F. de Saussure's "Course in General Linguistics"
W. Scott's "Ivanhoe"
William Shakespeare's "King Lear"
Williams Shakespeare and Benjamin Britten's "A Midsummer Night's Dream"
R. Shea and R. A. Wilson's "The Eye in the Pyramid"
G. Simenon's "The Bar on the Seine"
U. Sinclair's "The Jungle"
T. Stoppard's "The Coast of Utopia"
T. Sturgeon's "More than Human"
Graham Swift's "Last Orders"
J. M. Synge's "The Playboy of the Western World"
G. B. Shaw's "John Bull's Other Island"
I. B. Singer's "The Magician of Lublin"
W. Shakespeare's "Pericles/Cymbeline"

T

M. Twain's "A Connecticut Yankee in King Arthur's Court"
J.R.R. Tolkien's "Roverandom"
A. B. Toumi's "Madah-Sartre"

U

V

J. Vanbrugh's "The Relapse and Other Plays"

W

J. Walter's "The Zero"
E. Waugh's "Brideshead Revisited"
Nathaniel West's "The Day of the Locust"
Oscar Wilde's "The Picture of Dorian Gray"
Tennessee Williams's "The Glass Menagerie"/"A Streetcar Named Desire"
Tenessee Williams's "27 Wagons Full of Cotton and Other Plays"
T. Wolfe's "The Right Stuff"
Virginia Wolfe's "Mrs. Dalloway"
V. Woolfe's "To the Lighthouse"
R. Windor's "The Final Act of Mr Shakespeare"
V. Woolf's "The Years"

X

Y

Z

R. Shea and R. A. Wilson's "The Eye in the Pyramid"


"ไม่เอาถ่าน"

สั้นๆ ชัดเจนดีไหมสำหรับ The Eye in the Pyramid นิยายเล่มแรกในไตรภาค Illuminatus! ซึ่งก็คงไม่มีเล่มอื่นตามมาแล้ว เนื้อเรื่องก็เหมือนชื่อ เป็นนิยายเกี่ยวกับองค์กรลับอิลูมินาติ ที่คอยชักใยประวัติศาสตร์อยู่เบื้องหลัง ถ้านิยายเล่มนี้จะมีคุณค่าอันใดบ้าง ก็คงช่วยให้เราชื่นชอบ Angel and Demon มากขึ้น และตระหนักในอัจฉริยะภาพของเอโคที่สามารถเขียน Foucault's Pendulum ออกมาได้ (นิยายสองเล่มหลังนี้ก็เกี่ยวกับองค์กรอิลูมินาติเหมือนกัน)

ความรู้สึกเวลาอ่าน The Eye in the Pyramid คือเหมือนเวลาครูเรียกเด็กให้ลุกขึ้นตอบคำถามในห้องเรียน เด็กบางคน พอตอบคำถามไม่ได้ แทนที่จะยอมรับหรืออึ้งๆ ไป ก็จะ "เคี้ยวฉาก" (chew the scenery) โดยการโวยวายอ้างนู่นอ้างนี่จนกว่าครูจะยอมรับว่าตัวเองผิดเองที่เรียกเด็กคนนี้ขึ้นมาตอบ

ไม่ว่าบทบาทและอิทธิพลของอิลูมินาติต่อประวัติศาสตร์จะเป็นเรื่องจริงหรือยกเมฆ สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ถ้าคุณจะเขียนนิยายเกี่ยวกับองค์กรนี้ ความรู้ทางประวัติศาสตร์ของคุณต้องปึกระดับเอโค ถ้างูๆ ปลาๆ แบบแดน บราวน์ อาศัยวิธีแถไปเรื่อยๆ ก็ยังพออภัยให้ได้

แต่สิ่งที่คู่หูเชียและวิลสันทำคือการ "เคี้ยวฉาก" The Eye in the Pyramid เป็นนิยายที่โหวกเหวกโวยวายที่สุดเรื่องหนึ่ง มันเต็มไปด้วยการระเบิดตัวของกลวิธีการเขียน หลายเหตุการณ์จากต่างสถานที่ต่างยุคสมัยผสานกันเข้ามาแบบหายใจรดต้นคอ ย่อหน้าต่อย่อหน้า หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยฉากเซ็ก ยาเสพติด และความเหนือจริง

แต่ทั้งหมดนี้เพื่อจุดประสงค์อะไร เพื่อปกปิดความจริงว่าเชียและวิลสันไม่ได้ทำการบ้านมาดีพอที่จะเขียนนิยายเกี่ยวกับอิลูมินาติได้ จบข่าว

N. Frye's "The Educated Imagination"


เราได้อ่าน The Educated Imagination ช้าเกินไป น่าจะหยิบมันขึ้นมาตั้งแต่เมื่อสอง สามปีที่แล้ว เมื่อเริ่มศึกษาทฤษฎีการวิจารณ์วรรณกรรมอย่างค่อนข้างจริงจัง หนังสือเล่มนี้ถอดความจากบทบรรยายทางวิทยุของฟราย ประเด็นคือ "ทำไมเราต้องเรียนวิชาวรรณกรรม" โดยฟรายสมมติให้ผู้ฟังเป็นนักเรียนในชั้น หนังสือเล่มนี้จึงเหมือนทฤษฎีการวิจารณ์เบื้องต้น สำหรับผู้เริ่มหัดเอาดีทางนี้ ด้วยความที่มันค่อนข้างสั้น ประกอบกับภาษาอังกฤษที่ใช้ก็ไม่ได้ยากเกินไปนัก จึงอยากแนะนำมากๆ ให้ไปลองหามาอ่านกันดู

ถึงจะ "เบื้องต้น" แต่ไม่ "ตื้นเขิน" แน่ๆ หลายสิ่งที่ฟรายพูดเป็นหัวข้อทฤษฎี ที่นักปรัชญาก็ยังคงถกเถียงกันมิจบสิ้น ยกตัวอย่างเช่น ฟรายเชื่อว่าวรรณกรรมไม่ได้มีพื้นฐานมาจากความจริง แต่มาจากวรรณกรรมด้วยกันเอง (พูดแบบภาษาเราก็คือ ประสบการณ์ในการอ่านหนังสือสำคัญกับการทำความเข้าใจและผลิตวรรณกรรมมากกว่าประสบการณ์ตรง) ด้วยเหตุนี้วัฒนธรรมวรรณกรรมของทุกชาติย่อมต้องสามารถสาวไปหาหนังสือต้นตำรับเล่มใดเล่มหนึ่งได้

ฟรายเสนอว่า สำหรับโลกตะวันตก หนังสือเล่มนั้นก็คือคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร ไม่ว่าคุณจะนับถือศาสนาอะไร ถ้าคุณอาศัยอยู่ในโลกตะวันตก คงยากที่จะหลีกเลี่ยงอิทธิพลของ "วรรณกรรม" ชิ้นนี้

แต่ทฤษฎีตัวนี้ก็ก่อให้เกิดคำถามสำคัญคือ แล้วในสังคมไทยเล่า คงปฏิเสธไม่ได้ว่าพระไตรปิฎกไม่ได้มีบทบาททางวัฒนธรรมกับชาวพุทธในเมืองไทย มากเท่าคัมภีร์ไบเบิล ถ้าเช่นนั้นวรรณกรรมไทยมีหนังสือต้นตำรับหรือเปล่า หรือต่อให้คนไทยไม่คุ้นเคยกับพระไตรปิฎก เป็นไปได้หรือเปล่าว่าตำนานมุขปาฐะเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าจะส่งอิทธิพลแบบเดียวกับคัมภีร์ไบเบิล อะไรคือบทบาทของตำนานพุทธศาสนา เมื่อเทียบกับวรรณคดีไทยชิ้นเอกทั้งสี่เรื่อง และตำนานพื้นบ้าน

คำถามข้างบนนี้ไม่มีคำตอบ แต่มันนำไปสู่อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ เราเคยพูดไปแล้วว่าเป็นเรื่องน่าอับอายจริงๆ ที่คนไทยแทบไม่รู้จักอะไรเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านเลย ตอนนั้นเราเชื่อว่าเป็นอคติแบบชาตินิยม ผนวกกับกำแพงภาษา แต่บัดนี้ เราตระหนักแล้วว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะศาสนาพุทธหินยาน (ซึ่งเป็นศาสนาหลักของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พื้นทวีป) ไม่ได้ให้ความสำคัญกับพระไตรปิฎกมากเท่าศาสนาคริสต์ ดังนั้นประเทศไทย ลาว พม่า และเวียดนาม ก็เลยไม่สามารถแบ่งปันวัฒนธรรมร่วมกันได้เท่ากับประเทศในทวีปยุโรป

ส่วนตัวเราว่าประเด็นนี้ "เร่งด่วน" อย่างยิ่ง ที่เราจะพยายามทำความเข้าใจวัฒนธรรมพุทธศาสนาของประเทศเพื่อนบ้าน เราเชื่อว่า เพื่อการสร้างประวัติศาสตร์ของภูมิภาค (มาแทนที่ประวัติศาสตร์ชาตินิยม) การพยายามเข้าใจพุทธศาสนาน่าจะสำคัญไ่ม่ยิ่งหย่อนไปกว่าศึกษาประวัติศาสตร์ หรือการเมืองเลย

ในบทสุดท้ายของ The Educated Imagination ฟรายพูดถึงประเด็นการเมือง และข้อจำกัดของภาษา วิธีคิดแบบ "เสรีชน" และวิธีคิดแบบ "ม็อบ" หลายอย่างก็ชวนให้นึกถึงคำกล่าวของซาร์ตใน What is Literature? ฟรายนิยมชมชอบบทกวีมากกว่าซาร์ต แต่จุดร่วมกันอย่างหนึ่งก็คือ กวีที่ปราศจากความเป็น "เสรีชน" ก็คือกวีที่รู้จักแต่การเอาสำนวนซ้ำๆ ซากๆ (cliche) มาต่อกันให้ไพเราะด้วยสำเนียงคล้องจ้อง cliche คือเครื่องมือชั้นดีคนที่ไม่มีความคิด เพราะมันสามารถสร้างภาพลวงตาของการใช้สติปัญญา โดยที่จริงๆ ไม่มีเซลสมองส่วนใดเลยในหัวที่กำลังทำงานอยู่ในขณะนั้น

R. Williams's "Marxism and Literature" *


สงสัยบ้างอะไรบ้างว่าตกลงไอ้ทฤษฎีวรรณกรรมแบบมาร์กซิสนี่มันคือการเอาทฤษฎีสังคมของมาร์กไปอธิบายวรรณกรรม หรือคือการเอาวรรณกรรมไปอธิบายทฤษฎีสังคมของมาร์ก หรือถ้าจะสงสัยให้เหนือๆ หน่อย ก็ต้องสงสัยว่า แล้วไอ้สองอย่างนี้มันแตกต่างกันหรือเปล่า

ถ้าให้สรุป Marxism and Literature ภายในประโยคเดียว ก็จะสรุปว่านี่คือความพยายามของวิลเลียมส์ในการคืน "วัตถุนิยม" เข้าไปใน "วัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์" คำวิพากษ์วิจารณ์ของวิลเลียมส์ที่มีต่อนักมาร์กซิสในยุคเดียวกันคือ ทฤษฎีของพวกเขาเหล่านั้น "วัตถุนิยมไม่พอ" แต่ถ้าให้วิลเลียมเจาะจงว่า ต้องแบบไหนถึงจะเป็นวัตถุนิยมอย่างแท้จริง คำตอบของเขาคือต้องเป็นทฤษฎีที่ตระหนักถึงความสำคัญของ "จิตสำนึก" (ซึ่งกลับฟังเป็น "อุดมคติ" เข้าไปอีก ไม่ใช่ว่าทฤษฎีของมาร์กคือการฉีกตัวเองออกจากอุดมคติแบบเยอรมัน แบบเฮเกลหรอกหรือ) สำหรับวิลเลียมส์ สิ่งที่เป็นวัตถุนิยมคือ "กระบวนการผลิต" วัตถุ ซึ่งกระบวนการผลิตนั้นแยกจากจิตสำนึกไม่ได้

ตัวอย่างของโครงสร้างส่วนบนนั้นชัดเจนมาก และเป็นประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้ วิลเลียมส์บอกว่า หลายคนมักเข้าใจผิดว่าโครงสร้างส่วนบนคือสิ่งที่สืบทอดกันมาในหมู่ชนชั้นปกครอง เป็นกระบวนการที่ผลิตความเชื่อและอุดมคติซึ่งครอบงำสังคมอีกทอดหนึ่ง เหมือนกับเสื้อที่ตกทอดจากรุ่นปู่ มาสู่รุ่นพ่อ และลงไปถึงรู่นลูก และรุ่นหลาน วิลเลียมส์ปฏิเสธการมองโครงสร้างส่วนบนเป็นวัตถุรูปธรรมขนาดนั้น สำหรับเขา โครงสร้างส่วนบนคือ "จิตสำนึก" ที่ถ่ายทอดมากกว่า และกระบวนการสร้างอุดมคติ ไม่ใช่ "เครื่องมือ" ของชนชั้นปกครอง แต่เป็นการผลิตซ้ำของทุกหน่วยในสังคม โดยอ้างอิงจิตสำนึกที่ได้รับการสืบทอดมาดังกล่าว อุปมาอุปมัยคือ ไม่ใช่เสื้อหรอกที่ถ่ายทอดมา แต่เป็นโครงสร้างของร่างกายต่างหาก ดังนั้นเมื่อรุ่นลูกไปตัดเสื้อตัวใหม่ ก็จะออกมาคล้ายๆ เดิมเพราะมีรูปร่างแบบเดียวกัน

สิ่งที่เราชอบในแนวคิดของวิลเลียมส์คือมันเปิดโอกาสให้มีอุดมคติที่ขัดแย้งกับความเชื่อหลักของชนชั้นปกครองได้ และความเข้มแข็งที่แท้จริงของกระบวนการสร้างอุดมคติไม่ได้วัดกันที่ชนชั้นปกครองสามารถปกปิดหรือถอนรากถอนโคนอุดมคติดัังกล่าว แต่อยู่ที่ชนชั้นปกครองสามารถผนวกอุดมคติที่ขัดแย้งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการคิดที่พวกเขาต้องการใช้ครอบงำสังคมได้สักแค่ไหน เมืองไทยคือตัวอย่างที่ชัดเจนมากๆ ของกระบวนการตรงนี้ การต่อสู้ของนักศึกษาในช่วงปี 2516 ถึง 2519 กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ทุกฝ่ายสามารถนำมาหยิบใช้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองได้

ถามว่าทั้งหลายทั้งปวงนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไรกับวรรณกรรม วิลเลียมส์วิเคราะห์ได้อย่างน่าขบคิดว่า การเกิดขึ้นของ genre หรือขนบวรรณกรรม ก็เป็นกระบวนการที่คล้ายๆ กับการเกิดขึ้นของโครงสร้างส่วนบน คือนักเขียนแต่ละคนที่ตั้งใจจะเขียนเรื่อง เช่น เขย่าขวัญ ก็จะ "ประทับ" จิตสำนึกหรือกระบวนการคิดแบบนิยายเขย่าขวัญขึ้นมาก่อน จากนั้นค่อยผลิตผลงานซึ่งอาจจะเหมือนหรือต่างจากนิยายเขย่าขวัญที่มีมาอยู่แล้ว กระทั่งว่านิยายที่จงใจเขียนขึ้นมาเพื่อยั่วล้อหรือต่อต้านขนบนิยายเขย่าขวัญ นักเขียนก็ยังต้องอาศัยการประทับจิตสำนึกดังกล่าว และในท้ายที่สุด นิยายเหล่านั้นก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ประกอบสร้างขนบขึ้นมาด้วย (เหมือนกับว่า ไปๆ มาๆ Scream ก็คือตัวอย่างของภาพยนตร์เขย่าขวัญที่กลั่นกรองและตกผลึกความเป็นภาพยนตร์เขย่าขวัญได้ชัดเจนที่สุด)

R. Musil's "The Man wihtout Qualities"


(หมายเหตุ: The Man without Qualities เป็นมหากาพย์สามภาคเขียนไม่จบของโรแบร์ต มูซิล บลอคนี้ต่อเนื่องมาจากการอ่านเฉพาะภาคหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ว่าเราขี้เกียจ แต่ทำไมไม่รู้ ไอ้เล่มที่เราซื้อมา มันมีเฉพาะภาคแรก แล้วก็ไม่ยอมเขียนบอกบนหน้าปกเสียด้วยสิ)

ผู้ที่ต้องการตามล่าหาความจริง เขาจะเป็นนักวิชาการ ผู้ที่ต้องการเล่นสนุกกับอัตถวิสัย (subjectivity) ของตัวเอง เขาจะกลายเป็นนักเขียน


แล้วคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองขั้วนี้ละ เขาจะกลายเป็นอะไร อูลริช ตัวเอกของ The Man without Qualities จัดอยู่ในคนจำพวกนี้ แน่นอนเช่นเดียวกับมูซิล รวมไปถึงมิลาน กุนเดระด้วย ถ้าจำไม่ผิด เราได้ยินชื่อนิยายเล่มนี้เป็นครั้งแรกจากบทความของกุนเดระนั่นเอง ซึ่งก็ไม่แปลกที่กุนเดระจะชอบนิยายเล่มนี้ ทั้งกุนเดระและมูซิลจัดว่าเป็นคนประเภทเดียวกันคือนักเขียนบทความ (essayist) The Man without Qualities เหมือนกับรวมบทความขนาดมหึหาที่เอาความคิดหลากหลายกระแสมาตบโต้ตีกัน

หน้าปกหลังปกนิยายมีการเปรียบเทียบระหว่างพรูสต์และมูซิล (ซึ่งไม่ค่อยยุติธรรมกับพรูสต์เท่าไหร่) สำหรับเรา ถ้า In Search of Lost Time เอามาใช้อธิบายได้ว่าทำไมเราถึงไม่ชอบนิยายฝรั่งเศส The Man without Qualities ก็เอามาใช้อธิบายได้เช่นกันว่าทำไมเราถึงชอบนิยายเยอรมัน และพวกตระกูลยุโรปตะวันออก (มูซิลจริงๆ แล้วเป็นคนออสเตรียเชื้อสายเชค) นิยายแห่งความคิด (the novel of idea) ที่ไม่ต้องมีเนื้อเรื่อง ไม่ต้องมีตัวละคร และที่สำคัญต้องไม่มีฉากเยิ่นเย้อนี่แหละเขาทางเรานัก

(ประเด็นนี้น่าถกเถียงดีเหมือนกัน การที่เราชอบนิยายโต้งๆ แต่เบื่อหน่ายนิยายที่พยายามพูดอะไรอ้อมๆ สื่อสารผ่านการบรรยายฉาก เหตุการณ์ และตัวละคร แสดงให้เห็นถึงความตื้นเขินในรสนิยมการอ่านของเราหรือเปล่า อาจจะก็ได้ แต่เราก็สงสัยยิ่งนัก บางความคิดที่ออกมาจากปลายปากกาของมูซิล ถ้าให้พรูสต์ ฟลาวแบร์ตมาช่วยกันคิด "เหตุการณ์" ใส่เข้าไป มันจะต้องอาศัยนิยายกี่บท กี่เล่ม ที่สำคัญคือการกระแทกกันของปรัชญา โดยตัวมันเอง ก็เป็น "เหตุการณ์" อย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถตีความลึกลงไปได้อีกขั้น)

กลับมาที่นิยายแห่งความคิด มูซิลเขียนไว้ใน The Man without Qualities ตอนหนึ่งว่า ความเลิศไม่เลิศของไอเดียหนึ่งๆ ดูได้จากว่า ถ้าเราไม่รู้สึกว่าอีกไอเดียที่ตรงกันข้ามกับไอเดียนั้นโดยสิ้นเชิงมันก็จริงเหมือนกัน ก็แสดงว่าไอเดียแรกนั้นยังไม่เลิศเท่าไหร่ ด้วยเหตุนี้หลากหลายความคิดใน The Man without Qualities ถึงได้ขัดแย้งกันเองเต็มไปหมด บางทีก็เหมือนมูซิลโปรวิทยาศาสตร์ และเย้ยหยันคนที่ใช้หัวใจและสัญชาติญาณ แต่บางบทก็เหมือนมูซิลแย้งตัวเองในเรื่องเดิมเสียอย่างนั้น

แต่ถ้าจะมีความคิดหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยตลอดเล่่ม และน่าจะถือเป็นธีมหลักของนิยายได้ก็คือการคร่ำครวญหายุคแห่งวีรบุรุษ โลกสมัยใหม่ (เมื่อร้อยปีที่แล้ว!) เป็นโลกที่ไม่อาจสร้างสรรค์วีรบุรุษตามความคิดของนิทเช่ได้อีกต่อไปแล้ว เนื่องจากทุกการกระทำของปัจเจกไม่ได้มีความหมายด้วยตัวเอง แต่ขึ้นอยู่กับการตีความและการให้ความหมายของคนอื่นรอบข้าง เกอเธอร์และบีโธเฟนอาจจะเป็นประพันธกรผู้ยิ่งใหญ่ด้วยตัวของพวกเขา แต่ถ้าไม่มีรางวัลโนเบล เราจะมีกุนเธอร์ กลาสหรือเปล่า ถ้าไม่มีแฟนๆ เราจะมีไมเคิล แจคสันได้ไหม

เราสนุกสนานกับการอ่าน The Man without Qualities มากพอควร (ทั้งๆ ที่มันเขียนไม่จบ และหลายฉากก็ค่อนข้างน่าเบื่อ) มันมีนัยยะแสบๆ คันๆ เกี่ยวกับการเมืองและการปฏิวัติวัฒนธรรม รวมถึงลัทธิชาตินิยม เป็นนิยายที่เหมาะกับการอ่านในบรรยากาศบ้านเมืองเราขณะนี้ไม่น้อย

J. Haldeman's "Old Twentieth"


เอารูปเป็ดมาให้ดู เพราะนี่คือสิ่งที่ได้จากการอ่าน Old Twentieth นิยายวิทยาศาสตร์ว่าด้วยมนุษย์โลกอนาคตที่มีสภาพกึ่งอมตะ และคอมพิวเตอร์เจ้าปัญญาซึ่งสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับการตายของมนุษย์ ก็เลยลองฆ่าทิ้งทีละคน หลังจากศพแรกปรากฏในหนังสือ พระเอกของเราทำอะไรต่อ บรูเวอร์ซึ่งนอกจากจะเป็นนักวิศวกรคอมพิวเตอร์ ยังมีงานอดิเรกคืออาชีพพ่อครัว เขาออกไปล่าเป็ดเพื่อเอามาปรุงเมนูใหม่ โลกอนาคตนี้ไฮเทคมากๆ ชนิดที่ถ้าส่งตัวอย่างเนื้อเป็ดให้คอมพิวเตอร์ มันจะสามารถวิเคราะห์โครงสร้างโปรตีนและไขมัน สร้างเนื้อเป็ดจำลองในกล่องสี่เหลี่ยมส่งมาให้พ่อครัวได้ทันที (แต่ไม่ยักมีข้อมูลเกี่ยวกับเป็ดให้มาตั้งแต่แรก)

โอเค fascinating มากๆ แล้วไอ้ศพนั่นล่ะ จะทำยังไงกับมัน

เราว่า หนังสือเล่มหนึ่งล้มเหลวแล้ว ถ้าอ่านไปเกินครึ่งเล่มแล้วยังรู้อะไรเกี่ยวกับมันน้อยกว่าเรื่องย่อบนปกหลังอีก

ไม่ใช่ว่าไม่น่าสนใจ บรูเวอร์ตั้งคำถามชวนคิดว่าถ้านักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการสร้างยาที่ทำให้มนุษย์อยู่ในสภาพกึ่งอมตะ ร่ายกายซ่อมแซมตัวเองอัตโนมัติ (“กึ่ง" เพราะตายได้เหมือนกันถ้าตายหนักเกินไป เช่น ถูกมัดแล้วจับเผาทั้งร่างอะไรแบบนี้) จะเกิดอะไรขึ้น บรูเวอร์เล่าประวัติศาสตร์โลก ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ n ซึ่งเกิดขึ้นเพราะการแย่งชิงยาอมตะตัวนี้ และจบลงด้วยสุดยอดโรคระบาดที่คร่าชีวิตมนุษย์ทั้งโลกยกเว้นคนที่กินยาอมตะเข้าไปแล้ว fascinating fascinating แล้วไงต่อ หลายศตวรรษผ่านไป พระเอกของเรื่องรอดชีวิตจากสงคราม (และเป็นอมตะ) กลายเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ มีหน้าที่ควบคุม "เครื่องย้อนเวลา" ซึ่งไม่ได้ย้อนจริงๆ แต่เป็นเครื่อง virtual reality ที่ช่วยให้คนในโลกอนาคตย้อนกลับไปสัมผัสประสบการณ์ในอดีต และ "ตาย" ในอดีตเพื่อจะได้เข้าใจความหมายของคำว่าชีวิต fascinating fascinating แล้วไงต่อ แล้วก็มี AI ที่คิด ตัดสินใจได้เอง เริ่มสนใจความหมายของคำว่ามนุษย์ ต่อๆ แล้วก็มีดาวเคราะห์ซึ่งอยู่ห่างไปหลายพันปีและมีสภาพเหมือนโลกทุกอย่าง พระเอกและลูกเรือแปดร้อยคนจึงเดินทางไปสำรวจดาวดังกล่าว พร้อมกับเครื่องย้อนเวลา

fascinating fascinating แล้วทำไมกรูต้องมานั่งอ่านพวกมันวิ่งไล่เป็ดกันด้วย

Old Twentieth คือตัวอย่างว่าหนังสือไม่ได้ถูกเขียนขึ้นมาด้วยไอเดีย การเขียน การเล่าเรื่อง การใช้ภาษามีหลักการบางอย่าง ถ้าไม่เข้าใจสิ่งนั้น ต่อให้ความคิด fascinating แค่ไหน หนังสือสั้นๆ กว่าจะอ่านจนจบเล่มได้ก็ทรมานอย่างน่าเหลือเชื่อ

S. Weil's "Gravity and Grace"


Gravity and Grace เป็นหนังสือเล่มที่สองของไวล์ที่เราอ่าน สารภาพว่าไม่ค่อยชอบเล่่มแรกเท่าไหร่ ถ้าไม่บังเอิญอ่านมาจากไหนสักแห่งว่าไอริช เมอดอกชื่นชมเธอมากๆ คงไม่คิดจะอ่านเล่มนี้ด้วยซ้ำ Gravity and Grace ค่อนข้างเป็นหนังสือที่อ่านยากสำหรับเรา โดยตัวมันเองแล้ว เหมือนจะเป็นการรวบรวม สุภาษิต วาทะเจ๋งๆ ความคิดที่แตกกระจาย มากกว่าจะเอาความคิดเหล่านั้นมาสังเคราะห์เป็นปรัชญาเป็นชิ้นเป็นอัน คล้ายๆ กับ Minima Moralia ของอดอร์โน และผลงานหลายชิ้นของนิทเช่ ถ้าเปรียบเทียบกับเรื่องแต่ง นี่คืองานเขียนเชิงปรัชญาที่อิง "บทกวี" ขณะที่บทความที่อิง "เรื่องสั้น" หรือ "นิยาย"

แต่ก็ต้องนับว่าไม่ผิดหวังเท่าไหร่กับ Gravity and Grace ไวล์พูดถึงพระเจ้า ศรัทธา และศาสนาคริสต์ แต่แนวคิดของเธอกลับคล้ายคลึงพุทธศาสนาได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกเพราะช่วงระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้ง เป็นยุคที่ปรัชญาตะวันออกเริ่มแพร่หลายในซีกโลกตะวันตก แต่ถ้าเทียบกับนักเขียนตะวันออกนิยมคนอื่นๆ อย่างเฮสเส เราว่าไวล์เข้าใจศาสนาพุทธลึกซึ้งกว่า

หัวใจของ Gravity and Grace คือมนุษย์ต้องไม่ปฏิเสธความเจ็บปวด ต้องไม่พยายามหลีกเลี่ยงด้วย เพราะมีแต่การอดทนกับความเจ็บปวด หรือทนทุกข์กับความว่างเปล่า (void) เท่านั้น ที่จะสอนให้เราเข้าถึงสัจธรรมแห่งชีวิต แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องวิ่งเข้าหาความเจ็บปวด ไวล์บอกว่าเราต้องใช้ชีวิตให้สมบูรณ์ที่สุด เพื่อที่ว่าเมื่อเราเจ็บขึ้นมาเมื่อไหร่ นั่นคือ "ความเจ็บปวดบริสุทธิ์" ที่จะช่วยให้เราสัมผัสพระเจ้า

อีกแนวคิดหนึ่งเกี่ยวกับการทำความดีที่น่าขบคิดมากๆ คือ ความดีสูงสุดเกิดจากความจำเป็น มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ทำความดีได้ ส่วนมนุษย์เป็นแค่แขนขา เครื่องมือของพระองค์ (ตรงนี้นึกถึงสปีชของบรูซ วิลลิสในหนังเรื่อง Die Hard ภาคล่าสุดที่บอกว่าถ้ามีคนอื่นมาทำหน้าที่นี้แทนจอห์น แมคเคลน แมคเคลนไม่มาเสี่ยงอันตรายแบบนี้หรอก) ไวล์เชื่อว่าคนที่ไม่รู้สึก "เขิน" เวลาทำความดี แปลว่ายังไม่ได้ทำความดีอย่างแท้จริง

แต่ส่วนที่เราชอบที่สุดในหนังสือ คือตอนที่ไวล์พูดถึงความเลว เธอบอกว่า ความเลวที่จินตนาการขึ้นมานั้นเป็นเรื่องสนุกสนาน ขณะที่ความดีในจินตนาการกลับเป็นของน่าเบื่อ แต่ในความเป็นจริง ความเลวต่างหากที่น่าเบื่อหน่าย แต่ความดีคือสุดยอดของความงาม ดังนั้นศิลปะที่เกิดจากการแต่งแต้มจินตนาการ ถ้าไม่น่าเบื่อ ก็ต้องผิดศีลธรรมเข้าไว้ แต่ถ้าจะไปให้ไกลกว่านั้น ถ้าศิลปะจะหลุดจากโลกสมมติ เข้าสู่โลกแห่งความจริง และรักษาคุณค่าความงาม ศิลปะนั้นจะต้องถูกศีลธรรม ไม่รู้จริงหรือเปล่า แต่ชาบูๆ

U. Eco's "The Search for the Perfect Language"


อาจารย์ฟิสิกส์ตอนม. ปลาย เคยบอกนักเรียนว่า สังเกตไหม เลข 1 อารบิกถึงเลข 9 ถูกออกแบบมาให้แต่ละเลขมีมุมเท่าจำนวนค่าของมันพอดี เช่น เลข 1 ถ้าเขียนบางแบบ จะมีมุมหนึ่งมุม เลข 2 มีสองมุม เลข 3 มีสามมุม และเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ แน่นอนว่าไม่จริงหรอก แค่ 5 แค่ 9 ก็ผิดแล้ว ที่สำคัญทฤษฎีนี้จะเป็นจริงได้ ก็ด้วยวิธีเขียนเลขบางลายมือเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ค่อยจะเป็นสากลเท่าไหร่ (เช่น เขียนเลข 2 ให้คล้ายตัว z หรือเขียน 3 ให้คล้ายซิกมา)

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่อาจารย์เราพูด แสดงให้เห็นถึงความฝันลึกๆ อย่างหนึ่งซึ่งสืบทอดมาในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ นั่นคือการค้นหา "ภาษาสมบูรณ์" (perfect language) ภาษาที่เรียกทุกสิ่งทุกอย่างด้วย "ชื่อที่แท้จริง" ของมัน เป็นภาษาสากลซึ่งตอบสนองธรรมชาติของมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์

The Search for the Perfect Language ว่าด้วยประวัติศาสตร์การค้นหาภาษาสมบูรณ์นี้ คำเตือนอย่างหนึ่งคือหนังสือเล่มนี้เป็น Narrative History ซึ่งเหมือนจะเป็นคลังข้อมูลมากกว่าจะมีการวิเคราะห์อะไรลึกซึ้ง ถ้าเกิดใครไม่ได้สนใจประเด็นนี้จริงๆ อ่านข้ามๆ เอาน่าจะถูกจริตกว่า

แน่นอนว่าประวัติศาสตร์การค้นหาภาษาสมบูรณ์เป็นประวัติศาสตร์ที่ล้มเหลว ขนาดในปัจจุบันที่เทคโนโลยีและความจำเป็นเอื้อให้เกิดภาษาสากลขึ้น แต่ทุกฝ่ายก็พร้อมยอมให้อังกฤษกลายเป็นภาษาสากลโดยดุษฎี ขนาดเอสเปอรันโต ภาษาสากลที่มีคนรู้จักและเป็นชิ้นเป็นอันมากที่สุด ซึ่งเกิดมาได้ศตวรรษกว่าๆ แล้ว ก็ยังแพร่กระจายไปไม่ถึงไหน

ภาษาสมบูรณ์แบ่งออกเป็นสองยุค ยุคแรกคือยุคศาสนา นักวิชาการพยายามค้นหาภาษาของอาดัมก่อนหอคอยบาเบลถล่ม นักปรัชญาในยุคนั้นเชื่อว่าภาษาสมบูรณ์เกิดขึ้นมาได้จากการย้อนศรภาษาที่แต่ละเผ่าพันธุ์ใช้ ไปยังภาษาบริสุทธิ์ (บางคนถึงกับเชื่อว่า ภาษาจีนคือภาษาบริสุทธิ์ เนื่องจากชาวจีนไม่ได้ไปเกี่ยวอะไรด้วยกับการสร้างหอคอยบาเบล)

ในยุคที่สอง หลังยุคการรู้แจ้ง นักวิชาการยอมรับแล้วว่าภาษาบริสุทธิ์เป็นสิ่งที่มนุษย์เข้าไม่ถึง ความพยายามคิดค้นภาษาสมบูรณ์จึงออกมาในรูปแบบของภาษาใหม่ที่ไม่เหมือนภาษาไหนๆ เลย แต่อาศัยไวยากรณ์ที่ลดความกำกวม คลุมเครือลงไปให้มากที่สุด ก็จะได้ภาษาที่มีคุณสมบัติเป็นภาษาสากล ใครๆ ก็สามารถเรียนได้โดยง่าย (ระบบเลขอารบิกแบบที่อาจารย์เราเชื่อ การออกแบบตัวอักษรที่ตอบสนองตรรกะก็คือตัวอย่างหนึ่งของภาษาสมบูรณ์)

เอสเปอรันโตก็คือผลผลิตดังกล่าว แต่ปัญหาก็คือภาษาจำพวกนี้เป็นระบบสัญญะ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้แทนสัญญะอีกทอดหนึ่ง (“หมา" ในเอสเปอรันโตไม่ได้หมายถึงสัตว์สี่เท้า เห่าฮ่งๆ แต่หมายถึงคำว่า "dog” ในภาษาอังกฤษ) ด้วยเหตุนี้ เอสเปอรันโต (ซึ่งถูกคิดค้นโดยชาวยุโรป) เมื่อเอามาใช้นอกประเทศยุโรป ก็ไม่สามารถสื่อความหมายได้ดีเท่าที่ควร จึงไม่เป็นที่นิยม

แม้จะเป็นประวัติศาสตร์ของความล้มเหลว แต่ก็ใช่ว่าการค้นหาภาษาสมบูรณ์จะไม่มีความหมายเสียทีเดียว การใคร่ครวญถึงภาษาบริสุทธิ์ของอาดัม ช่วยให้นักปรัชญาศาสนาในยุคนั้นเข้าใจและตั้งคำถามเชิงเทววิทยา การคิดค้นภาษาสมบูรณ์ นำไปสู่การจัดแบ่งสกุลสัตว์และสิ่งมีชีวิตของไลบ์นิซ เหมือนกับที่เอโคเคยกล่าวในหนังสือเล่มก่อนหน้านั้น บางทีความล้มเหลวหรือความผิดพลาด ก็อาจก่อคุณได้โดยไม่ตั้งใจเหมือนกัน

คืนที่ดอกโบตั๋นบาน (r.o.d.)


นี่คือรวมบทวิจารณ์ห้าเรื่องสั้นที่ส่งมาหาเราในโครงการ r.o.d. เอาเรื่องนี้มาเป็นชื่อเรื่องเพราะเป็นเรื่องที่เราชอบที่สุด และในแง่หนึ่ง มันเป็นเรื่องที่แสดงจุดแข็งสุดของผู้เขียนเองด้วย แค่ชื่อเรื่อง คืนที่ดอกโบตั๋นบาน ก็น่าสนใจแล้วในความคลุมเครือ ตัวเรื่องว่าด้วยความไ่ม่แน่นอนของชีวิต ที่อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ ตอนจบมีลูกหยอกลูกล้อกับคนดูว่าตกลงมันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เมียปลัดเกี่ยวข้องกันแค่ไหนกับ "อุบัติเหตุ" ที่เกิดขึ้น

ข้อติหลักข้อเดียวเลยของเรื่องนี้ คือฉากที่เมียปลัดยอมรับกับนายหน้าค้าประกันว่าตัวเองปลอมลายเซ็นต์ ออกจะดูงี่เง่าผิดวิสัยตัวละคร (หรือมนุษย์มนา) ไปหน่อย ทำให้ความคลุมเครือในตอนจบลดลงไป

อีกเรื่องที่เราชอบคือ เจ้าหมู คนเขียนสามารถเล่าถึงความไม่มีอะไร จับเอาชิ้นส่วนเล็กๆ ของชีวิต ที่หลายคนอาจจะไม่คุ้นเคย มาใส่รายละเอียดอย่างน่าติดตาม

ชอบอันดับสามคือ ในวันที่ฟ้าเปียก สนุกดี แต่ก็เริ่มแสดงให้เห็นปัญหาข้อใหญ่ของผู้เขียน นั่นก็คือการเล่าเรื่อง การเล่าเรื่องหมายถึง การเลือกนำเสนอ ว่าแต่ละฉากควรนำเสนอยังไง ผ่านมุมมองตัวละครใด การจับจังหวะว่าฉากไหนสำคัญ ฉากไหนไม่สำคัญ และควรจะสั้นยาวแค่ไหน ความผิดพลาดเช่นการที่อยู่ๆ มีตัวละครอย่าง "บักวี" โผล่ออกมาในเรื่องสั้น (ซึ่งสมควรประหยัดฉากและตัวละครที่สุด) นอกจากนี้ ประโยคสุดท้ายจะเวิร์ค หรือไม่เวิร์ค อยู่ที่ความวุ่นวายในบ้านของตัวเอก ซึ่งก็ยังใส่มาไม่พอ

ความล้มเหลวของการเล่าเรื่องแสดงออกอย่างชัดเจนสุดผ่าน เด็กหญิงชบา ไข่ต้ม ขนมผิง ตอนความลับของพี่บอย รายละเอียดมากมายใส่มาอย่างไม่บรรยะบรรยัง (ทำไมบีต้องเป็นโรคปากแหว่ง) มุมมองของเรื่องเล่าที่เปลี่ยนกลับไปกลับมาโดยไม่จำเป็น สุดท้ายแล้ว ถ้าจะบอกว่าประเด็นของเรื่องสั้นคือบอย "สูญเสียความใสซื่อ" ก็ยังไม่ชัดเจนขนาดนั้นว่าตัวละครตัวนี้เคยซื่อมาก่อน และความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ "บีผีบ้า" ก็ไม่น่าจะถึงขนาดนำไปสู่ตอนจบของเรื่องสั้นได้

ดูจากชื่อเรื่องที่มีคำว่า "ตอน" เลยไม่แน่ใจว่าผู้เขียนตั้งใจให้เป็นนิยายหรือเปล่า วิธีการเล่าเรื่องแบบนี้อาจจะเหมาะกับนิยายที่มีตัวละครเยอะๆ และเปลี่ยนมุมมองได้เรื่อยๆ มากกว่าเรื่องสั้น

ความตายของจิตรกร เป็นเรื่องสั้นที่เราเฉยๆ ไม่ใช่ว่ามันไม่ดี แต่มันไปตรงกับ genre หนึ่งซึ่งฮิตมากในเมืองไทย คือ "เรื่องสั้นที่พระเอกเป็นศิลปิน" พูดถึงความฟุ้งซ่านของคนทำงานศิลปะ ส่วนตัวเราไม่ชอบเรื่องที่ส่งสาส์นประมาณนี้ การเทิดทูนความเป็นศิลปินว่ามีอารมณ์ซับซ้อนลึกซึ้ง คนธรรมดาเข้าไม่ถึง น่าสนใจว่าเรื่องสั้นทำนองนี้ปรากฏเยอะมากในสังคมไทย และที่น่าสนใจกว่านั้นคือ เรื่องพวกนี้ดูเหมือนจะสะท้อน ตอบสนองรสนิยมคนเขียน มากกว่ารสนิยมคนอ่าน

อ่านจบทั้งห้าเรื่องสั้น สรุปได้ว่าผู้เขียนมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่ชัดเจนมาก น่าจับตามองต่อไปผู้เขียนจะรับมือกับคุณสมบัติของตัวเองตรงนี้อย่างไร

T. Cohen's "Jokes"


พูดแบบหลงตัวเองหน่อยๆ สำหรับคนที่ "ศึกษา" เรื่องตลกอย่างเรา หนังสือ Jokes: Philosophical Thoughts on Joking Matters ของโคเฮนก็ไม่ได้มีอะไรใหม่นักหรอก ถ้าจะมีอะไรบางอย่างที่หนังสือบางๆ เล่่มนี้ช่วยเปิดหูเปิดตาเราก็คือ โคเฮนเป็นคนแรกที่พูดถึง "อันตราย" ของเรื่องตลก มาร์ค ทเวนเคยกล่าวไว้ว่า "ไม่มีอะไรจะยืนหยัดการจู่โจมของอารมณ์ขันได้" ทั้งเราและโคเฮนเห็นด้วย และเราสองคนก็เห็นพ้องตรงกันอีกว่า มีบางอย่างที่สมควรจะยืนหยัดอยู่ในโลกนี้

เราเคยพูดเรื่องนี้บ่อยแล้ว เลยขี้เกียจเล่าอย่างละเอียด แต่เราคิดว่าในช่วงแรกๆ ของความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทย "อารมณ์ขัน" ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธในการโจมตีฝ่ายตรงข้าม และเป็นอาวุธทางวัฒนธรรมที่ทรงประสิทธิภาพมากๆ เรื่องตลกจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อผู้เล่าและผู้ฟังมีประสบการณ์ ความคิดเห็นร่วมกันบางอย่าง และในทางกลับกัน บางครั้งผู้ฟังก็พร้อมจะรับความคิดเห็นเหล่านั้นมา เพียงเพื่อจะได้หัวเราะไปกับเรื่องตลก การที่คุณได้ยินเรื่องตลกซ้ำไปซ้ำมา โดยเรื่องตลกนั้นได้แทรกมุมมองทางการเมืองเอาไว้ สุดท้ายคุณก็จะรับเอามุมมองดังกล่าวมาโดยไม่รู้ตัว เพียงเพราะคุณอยากหัวเราะไปกับมันเท่านั้น (มิลาน กุนเดระถึงได้เคยพูดถึง "เสียงหัวเราะของเทวดา" ว่าเป็นเสียงที่น่ารังเกียจและน่าขยะแขยงที่สุด)

ใน Jokes โคเฮนทำในสิ่งที่เราสงสัยมาตั้งนานแล้วว่าทำไมไม่เคยมีนักปรัชญาคนไหนทำมาก่อน นั่นก็คือการพูดถึง "ตลกไร้รสนิยม" (bad taste) เช่นเรื่องตลกที่อิงอยู่บน stereotype ทางเพศหรือเชื้อชาติ ประเด็นนี้น่าสนใจมาก เพราะว่าเรื่องตลกส่วนใหญ่มันก็อิง stereotype ทั้้งนั้น (อาจจะเรียกว่าโดยนิยามเลย) แต่อะไรที่แบ่งเรื่องตลกดีๆ กับเรื่องตลกที่ไร้รสนิยมออกจากกัน ใช่เส้นแบ่งทางศีลธรรมหรือเปล่า (ตัวอย่างเรื่องตลกไร้รสนิยมที่โคเฮนยกขึ้นมาคือ "ถาม: ทำอย่างไรถึงจะหยุดยั้งคนผิวดำกลุ่มหนึ่งไม่ให้ข่มขืนผู้หญิง ตอบ: โยนลูกบาสเกตบอลเข้าไปกลางวง)

ถึงเราจะพูดเสมอๆ ว่าหนังสือที่ดีมันต้องตั้งคำถามให้คนอ่านฉุกคิด แต่โคเฮนตั้งคำถามลูกเดียว โดยไม่ให้เสนอคำตอบอะไรเลย (ว่ะ) ซึ่งก็น่าผิดหวังชะมัด ไม่เป็นไร เอาไว้ถ้ามีโอกาส จะศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมเอง