G. Debord's "The Society of the Spectacle" *


(หมายเหตุ: ใครเป็นแฟนรักชวนหัว คงคุ้นๆ ว่าเมื่อสองปีที่แล้วเราได้อ่านและพูดถึงหนังสือเล่มนี้ไปแล้วรอบหนึ่ง ที่หยิบเอามาอ่านใหม่ สาเหตุแรกก็เพราะสังคมไทยกำลังโหยหาทฤษฎีสังคมการเมือง หลังจากความเข้าใจ "แบบไทยๆ " ล้มเหลวบ่ท่า อีกสาเหตุก็ด้วยอยากพิสูจน์ตัวเองว่าสองปีผ่านไป กระดูกเราแข็งขึ้นอ่อนลงสักแค่ไหน)

เดอบอร์ดวิพากษ์สังคมยุคใหม่ว่าเป็น “สังคมแห่งภาพแสดง” (The Society of the Spectacle) ในที่นี้มีสองสาเหตุด้วยกัน สาเหตุแรกคือความแปลกแยก หมายถึงการที่ภาพแสดงของของชิ้นหนึ่ง อาจไม่จำเป็นต้องตอบรับตัวตนที่แท้จริงของของชิ้นนั้นเสมอไป ซ้ำร้ายกลับกลายเป็นว่า ภาพกลับมีฐานะความเป็นจริงเหนือว่าตัวตนอีก (เคยอ่านบทความสั้นๆ ของเลโอทาร์ดที่วิเคราะห์ไมเคิล แจคสัน เลโอทาร์ด เจ้าพ่อหลังสมัยใหม่ตั้งคำถามชวนคิดว่ามีใครสักกี่คนที่เคยเห็นไมเคิลตัวจริง แต่ภาพของราชาเพลงป็อปกลับถูกถ่ายทอดไปทั่วโลก และเป็นต้นกำเนิดของความเข้าใจทั้งหมดที่มนุษยชาติมีต่อไมเคิล ดังนั้นอะไรสำคัญกว่ากันระหว่างภาพของไมเคิลและตัวไมเคิล)

ในฐานะที่เป็นนักคิดสายมาร์กซิส แน่นอนว่าความแปลกแยกหลักซึ่งเดอบอร์ดไม่พูดถึงไม่ได้คือการแบ่งหน้าที่การงานตามหลักทุนนิยม นอกจากนี้ยังมีการแบ่งชนชั้นด้วยอำนาจทางวัฒนธรรม ซึ่งความแปลกแยกเหล่านี้แทรกซึมไปทุกหนทุกแห่ง และไปขั้นกลางอยู่ระหว่างภาพแสดงและตัวจริง

ความคิดข้างบนนี้เรายังเฉยๆ เพราะเคยอ่านเจอมาจากเล่มอื่นบ้างแล้ว แต่ที่เป็นต้นตำรับของเดอบอร์ดเองคืออีกสาเหตุของสังคมแห่งภาพแสดง นั่นก็คือ “ความเหลือเฟือ” การปฏิวัติอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีการผลิตเอื้อให้มนุษย์เราผลิตของมากมายเกินจำเป็น และส่วนเกินที่เหลือเฟือนั่นเองเป็นที่มาของสังคมภาพแสดง ยกตัวอย่างง่ายๆ ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งถ้ามีประชากรแค่ร้อยคน แต่ในเซเวนประจำหมู่บ้านกลับมียาสีฟันถึงสองร้อยหลอด ยาสีฟันที่เกินมาร้อยหลอดนั่นไม่ได้มีคุณสมบัติเป็นยาสีฟันอีกต่อไป (เพราะไม่มีใครเอาไปใช้ได้) แต่กลายเป็นภาพแสดงของยาสีฟัน สังคมที่คุ้นชินกับความเหลือเฟือ ในที่สุดก็กลายเป็นสังคมแห่งภาพแสดงที่ไม่อาจแยกออกระหว่างตัวตนและสิ่งที่ปรากฏแก่สายตา

ความแปลกใหม่ของทฤษฎีตัวนี้ก็คือ เทคโนโลยีการผลิตเป็นพื้นฐานของสังคมยุคใหม่แทบทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นทุนนิยม สังคมนิยม หรืออะไรก็ตามแต่ ด้วยเหตุนี้สังคมแห่งภาพแสดงจึงเกิดได้ตั้งแต่ในอเมริกา โซเวียต จนถึงเยอรมันยุคนาซี ตราบใดที่มนุษย์หนีอำนาจการผลิตไม่พ้น ความเหลือเฟือและภาพแสดงก็จะตามหลอกหลอนเราไปเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่นรูปถ่ายของเช ซึ่งเพื่อนฝรั่งเราเคยเรียกมันว่า “…a picture of a man many love but no one tries to understand what he stood for…” (ภาพของชายที่หลายคนรัก แต่ไม่มีใครพยายามเข้าใจ) ขนาดเป็นรูปถ่ายของนักสังคมนิยมตัวเอ้ ก็ยังหนีกับดักแห่งภาพแสดงไปไม่พ้น

ในสังคมไทยมีภาพแสดงอยู่เยอะแยะมาก และภาพแสดงเหล่านั้นขณะนี้มีอำนาจเหนือชีวิตจริง ควบคุมชะตากรรม ชี้เป็นชี้ตายใครก็ได้ นี่แหละคือความน่ากลัวของสังคมแห่งภาพแสดง ชนิดที่เดอบอร์ดเองก็ยังคาดไม่ถึง

G. W. F. Hegel's "Phenomenology of Spirit" (part 3)


ในเมื่อเฮเกลตั้งชื่ออภิตำราเล่มนี้ว่า Phenomenology of Spirit คงไม่ผิดกระมัง ถ้าเราจะสรุปว่าบท BB. อันว่าด้วย "จิตวิญญาณ" นี่เองที่เป็นศูนย์กลางของหนังสือทั้งเล่ม

"spirit" หรือจิตวิญญาณเป็นคำที่น่าไตร่ตรองมากๆ ฝรั่งส่วนใหญ่จะคุ้ยเคยกับ "จิตวิญญาณศักดิ์สิทธิ์" อันเป็นหนึ่งในสามภาคของพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาคริสต์ (แต่ก็เป็นภาคที่คนเข้าใจหรือจับต้องได้น้อยสุด) "จิตวิญญาณ" ปรากฏในตำราปรัชญาไม่น้อยเล่ม เด่นสุดรองจาก Phenomenology of Spirit ก็คงเป็น The Birth of Tragedy ของนิทเช่ ตรวจสอบดูแล้วความหมายคล้ายคลึงกัน

ก่อนจะพูดถึงนิยามของจิตวิญญาณ อยากแตะประเด็นหนึ่ง สังคมตะวันออกรวมถึงสังคมไทยมักถูกมองว่าเป็นสังคมแบบ "รวมหมู่" โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสังคมแบบ "ปัจเจก" ของฝรั่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นภาษาไทยกลับไม่มีคำไหนเลยที่ใกล้เคียงกับ "จิตวิญญาณ" ในความหมายของเฮเกลและนิทเช่ คุ้นๆ เหมือนเคยมีนักวิชาการท่านหนึ่งพูดว่าศาสนาพุทธเถรวาทของไทย เป็นพุทธแบบปัจเจก เมื่อเทียบกับพุทธมหายาน จึงเป็นไปได้ว่าคนไทยและคนศรีลังกาอาจเป็น "สมัยใหม่" ก่อนชาวตะวันตกเสียด้วยซ้ำ

ในบท AA. เฮเกลเกริ่นนำถึงปริทรรศน์ว่าด้วยข้อขัดแย้งระหว่างปัจเจกและสังคม ถ้าเราเชื่อว่าความเป็นคนประกอบขึ้นจากสิ่งละอันพันละน้อยที่เรารับเข้าไป เหตุไฉนมนุษย์จึงรู้สึกแปลกแยกจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเราได้ง่ายนัก คำตอบของเฮเกลคือ ทันทีที่เราตั้งคำถามนี้ เราก็เข้าใจผิดพลาดตั้งแต่หนึ่งแล้ว

วิธีมองโลกของเฮเกลไม่ได้เริ่มจากปัจเจกไปหาสังคม แต่จุดเริ่มต้นอยู่ที่จิตวิญญาณหรือสังคม คำไทยที่ใกล้เคียงสุดเท่าที่เราจะแปลแถๆ ออกมาก็คือ "วัฒนธรรม" จิตวิญญาณแบบรวมหมู่ในที่นี้ก็คือวัฒนธรรม สิ่งซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ทุกสมาชิกในสังคมสรรค์สร้างมันขึ้นมา จิตวิญญาณเหมือนน้ำตกซึ่งไหลจากที่สูง เมื่อกระแทกก้อนหินเบื้องล่าง แตกกระเซ็นเป็นฟองฝอยเล็กฝอยน้อย ฟองเหล่านั้นต่างหากคือปัจเจก พูดอีกแบบหนึ่งได้ว่า มนุษย์คืออุบัติการณ์ทางชีวภาพที่อยู่ๆ ก็มาห่อหุ้มเศษส่วนของจิตวิญญาณเท่านั้น ต่อให้ไม่มีมนุษย์ จิตวิญญาณก็จะอยู่ดีเป็นอิสระด้วยตัวเอง

ฟองฝอยของจิตวิญญาณในตัวมนุษย์เรานี้ประกอบไปด้วยสองส่วน คือ "ศรัทธา" และ "เหตุผล" (คำจริงๆ คือ "Pure Insight" แต่เราว่าคำนี้แหละเหมาะสมสุด) ทั้งสองส่วนนี้ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง "เหตุผล" คือ "ภาชนะ" ในตัวมันเองไม่มีอะไร นอกจากกระบวนการวิธีคิดและเข้าใจ ส่วน "ศรัทธา" คือสิ่งบรรจุ ซึ่งก็ไม่ได้สนใจอีกเหมือนกันว่าจะมีที่มาที่ไปจากไหน ความที่ของสองอย่างซึ่งตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิงเป็นแก่นแท้ของมนุษย์เรา นำไปสู่ความขัดแย้งทางศีลธรรมทั้งหลายแหล่

เฮเกลพยายามนำแนวคิดมหัศจรรย์เช่นนี้มาใช้อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคม ถ้าจิตวิญญาณแบบรวมหมู่คือธรรมชาติบริสุทธิ์ของมนุษย์ ความเป็นปัจเจกต่างหากที่ถูกสังคมปรุงแต่งขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน อารยธรรมตั้งแต่สมัยโรมันร่างกฎหมายกรรมสิทธิ์ขึ้นมา เพราะการครอบครองคือกลวิธีหนึ่งซึ่ง "ปัจเจก" (ในที่นี้เป็นเพียงเปลือกอันว่างเปล่า) ตอกย้ำความสำคัญของตัวเอง อีกหนทางหนึ่งก็คือภาษา การที่มนุษย์เรามีชื่อ เรียกชื่อคนอื่น และถูกคนอื่นเรียกชื่อคือการสร้างตัวตนให้กับความว่างเปล่า

เวลาอ่านเฮเกล เรามักรู้สึกขัดใจชอบกล อาจเป็นเพราะเฮเกลคือนักคิดคลาสสิกคนสุดท้าย ก่อนที่โลกจะรู้จักเคิร์กการ์ด นิทเช่ และอัตถิภาวนิยม ปรัชญาของเฮเกลถูกเขียนขึ้นมาเพื่อรับใช้สังคมแบบโบราณ วัฒนธรรมกษัตริย์ เจ้าเหนือหัว และไพร่ทาส จนมนุษย์ยุคใหม่อย่างเรา (และมาร์ก) อดคิดไม่ได้ว่ามีอะไรกลับหัวกลับหางตรงไหนสักแห่ง

J. Morgenroth's "Speaking of Dance"


กัปตันชมรมลีลาศเคยพูดขำๆ ว่า “Dancers are generally stupid!” ตอนที่ลูกทีมคนหนึ่งถามว่ามีหนังสืออะไรดีๆ เกี่ยวกับการเต้นรำซึ่งสมควรไปหามาอ่านหรือเปล่า กัปตันคงล้อเล่นมากกว่า (แต่เนื่องจากแกเป็นถึงดอกเตอร์สาขา High Energy Physics ต่อให้ไม่ล้อเล่นก็คงไม่ค่อยมีความหมายอะไร) ประเด็นคือว่ามีหนังสือเกี่ยวกับการเต้นรำ (ไม่ว่าจะลีลาศหรือการเต้นเดี่ยวก็ตาม) น้อยเหลือเกิน หรือที่แน่ๆ ก็น้อยกว่างานวิเคราะห์ศิลปะแนวอื่นอย่างวรรณกรรม (อันนี้ชัวร์อยู่แล้ว) ภาพวาดภาพเขียน หรือสถาปัตยกรรม

นี่เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจและน่าเสียดาย น่าสนใจ เพราะเอาเข้าจริงๆ การเต้นรำน่าจะเป็นศิลปะแขนงที่ใกล้เคียงกีฬาที่สุด ดังนั้นจับศิลปินด้วยกันมาอยู่ในห้องโถง ศิลปินสาขานี้คงจะดูโดดเด้งมากๆ และน่าเสียดาย เพราะการเต้นรำเป็นศิลปะที่น่าพูดถึง น่าวิเคราะห์ การเต้นรำเป็นศิลปะเก่าแก่ สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของผู้คน เปลี่ยนแปลง พัฒนา และดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้ แค่พูดประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างการเต้นรำในฐานะขนบธรรมเนียม และในฐานะงานศิลปะ ก็น่าสนใจไม่รู้จะน่าสนใจยังไงแล้ว

และนั่นยังไม่ใช่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดเลยด้วยซ้ำ สำหรับเรา การเต้นรำและการออกแบบท่าเต้น เป็นศิลปะที่อิงรูปแบบ (form) มากกว่ารายละเอียด (content) อย่างเด่นชัด อาจเพราะนี่คือศิลปะที่อาศัยเรือนร่างและการเคลื่อนไหวเป็นสื่อ มันจึงอาศัยการด้นสดสูง เวลาฟัง (อ่าน) นักออกแบบท่าเต้นพูดถึงงานศิลปะของตัวเองแล้ว เหมือนได้มองศิลปะจากอีกสุดขอบจักรวาลเลย (ในจำนวนศิลปะทั้งหมด เราว่าวรรณกรรมนี่แหละอิงรายละเอียดสูงสุด รองลงมาน่าจะเป็นภาพยนตร์ จิตรกรรม ดนตรี ประติมากรรม สถาปัตยกรรม อันนี้แบ่งของเราเองมั่วๆ )

Speaking of Dance เหมือนๆ จะเป็นหนังสือเล่มที่เราตามหาอยู่ มอเกนรอธไปตามสัมพันธ์นักออกแบบท่าเต้นมือพระกาฬหลายๆ คน ให้พวกเขาและเธอพูดถึงงานของตัวเอง แต่ก็กลับไปสิ่งที่กัปตันพูดไว้ เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ใช่นักเต้นทุกคนหรอกนะจะพูดจาน่าสนใจ

G. Graham's "Philosophy of the Arts"


Philosophy of the Arts แบ่งเป็นสามส่วนด้วยกัน ในส่วนแรก เกรแฮมพูดถึงทฤษฎีความสวยงามสี่อย่าง ทฤษฎีเหล่านี้พยายามตอบคำถามว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็นงานศิลปะ ทฤษฎีแรกอ้างอิงปรัชญาของฮูม กล่าวว่างานศิลปะต้องก่อให้เกิดความพึงพอใจแก่ผู้เสพ ทฤษฎีที่สองอ้างอิงปรัชญาของคานท์ กล่าวว่างานศิลปะต้องกอปรไปด้วยความงาม ทฤษฎีที่สาม ศิลปะต้องสื่อสารอารมณ์ได้ และทฤษฎีสุดท้ายอ้างอิงปรัชญาของเฮเกล ศิลปะต้องให้ความรู้ต่อผู้เสพ

เนื่องจากเป็นทฤษฎีสุดท้ายซึ่งเกรแฮมเห็นด้วย จึงอยากอธิบายละเอียดนิดหนึ่ง เกรแฮมบอกว่าการพิจารณางานศิลปะใดๆ ไม่ใช่ว่าเรามองโลกแห่งความจริง เพื่อเอามาตัดสินว่างานศิลปะนั้นๆ มันสะท้อนความจริงออกมาได้หรือเปล่า แต่เราต้องทำตรงกันข้ามเลย คือเมื่อชมงานศิลปะแล้ว เหลียวมองโลกแห่งความจริง งานศิลปะนั้นได้เปิดหูเปิดตาอะไรเราบ้าง ความเข้าใจโลกที่เพิ่มขึ้นคือความรู้ที่เราได้จากงานศิลปะ

เฮเกลกล่าวไว้ว่าในสังคมใดๆ แรกสุดความรู้มาในรูปแบบของงานศิลปะ โดยมนุษย์สัมผัสและมีอารมณ์ร่วมไปกับความรู้ ต่อมาศิลปะแปรเปลี่ยนไปเป็นศาสนา และสุดท้ายกลายเป็นปรัชญา ซึ่งเมื่อสังคมพัฒนาไปถึงตอนนั้นแล้ว ศิลปะและศาสนาก็จะหมดความจำเป็น แน่นอนว่าหลายคนไม่เห็นด้วยกับเฮเกล (ถึงจะเห็นด้วย แต่ด้วยหลักฐานในประวัติศาสตร์ คงเชื่อยากว่าทฤษฎีนี้ถูก) ถึงได้มีนักปรัชญารุ่นหลังพยายามตีความใหม่ว่า เฮเกลหมายถึงพัฒนาการของศิลปะ ศาสนา และปรัชญาในสังคมใดๆ จะมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันดังนี้

ประเด็นที่น่าขบคิดมากๆ คือวรรณกรรมเพื่อชีวิตในเมืองไทยมันสวนทางกับพัฒนาการของเฮเกล เราเริ่มมาจากการรับปรัชญามาร์ก ซึ่งเมื่อผ่านการตีความในยุคสมัยนั้น ผลิตออกมาเป็นผลงานซึ่งน่าจะใกล้เคียงกับศาสนา (ที่อิงหลักความเชื่อและศรัทธา) มากกว่าปรัชญา และเมื่อกาลผ่านเลย ตอนนี้วรรณกรรมเพื่อชีวิตก็ได้กลายมาเป็นงานศิลปะสมบูรณ์แบบ แต่ก็เป็นงานศิลปะที่น่าสมเพช เพราะหมดโอกาสที่มันจะพัฒนากลับไปเป็นศาสนาและปรัชญา สมกับที่หลายคนออกมาพูดว่าเพื่อชีวิตได้ตายไปเสียแล้ว

ส่วนที่สองของ Philosophy of the Arts แยกย่อยพูดถึงงานศิลปะประเภทต่าง ซึ่งถ้าเป็นส่วน Visual Art หรือวรรณกรรม เราอ่านแล้วก็เฉยๆ เพราะเคยอ่านทฤษฎีพวกนี้มาไม่น้อย แต่ที่น่าตื่นเต้นจริงๆ คือการวิเคราะห์ Performance Art พวกการเต้น ร่ายรำ ละคร รวมไปถึงงานสถาปัตยกรรมด้วย (เกร็ดความรู้ที่ได้จากหนังสือเล่มนี้คือ คำว่า “หลังสมัยใหม่” มันถือกำเนิดมาจากแวดวงสถาปัตยกรรมนี่เอง)

ส่วนสุดท้ายค่อนข้างผสมปนเปกัน ระหว่างการวิเคราะห์งานศิลปะสมัยใหม่ และทฤษฎีศิลปะประเภทอื่นๆ เช่น ทฤษฎีมาร์กซิส โครงสร้างนิยม รื้อสร้าง แต่สุดท้ายเกรแฮมก็พยายามสรุปว่าทฤษฎีตามแบบของแก (Normative Theory) ซึ่งถามว่าอะไรใช่ ไม่ใช่งานศิลปะนี่แหละ เจ๋งสุดแล้ว

เชื่อไม่เชื่อก็หาอ่านกันเอาเองนะครับ

G. W. F. Hegel's "Phenomenology of Spirit" (part 2)


แม้จะยังอ่านไม่จบทั้งเล่ม แต่ถ้าให้เดา คงเป็นบท AA. Reason ของ Phenomenology of Spirit นี่เองที่ส่งอิทธิพลกับงานเขียนของมาร์ก เมื่อเทียบกับบทอื่น บทนี้จะว่าด้วยแง่มุมทางสังคม เฮเกลกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกและสังคมที่เขาอยู่อาศัย บทสรุปคือปัจเจกชนไม่มีจริง มีแค่ช่องว่างที่เคลื่อนไหวไปมาในความเป็นสากล เฮเกลมองจิตสำนึกของปัจเจกว่าเป็นเพียงภาชนะอันว่างเปล่า เมื่อคนเราเปิดรับโลกภายนอกเข้ามาแล้วรับมือกับโลกภายนอกที่อยู่ภายในอย่างไร การรับมือนั่นต่างหากคือจิตสำนึก ดังนั้นความเป็นปัจเจกก็คือภาชนะอันว่างเปล่า ซึ่งฟังดูแล้วก็คล้ายๆ ปฏิจสมุปบาทอยู่เหมือนกัน ทุกอย่างเป็นเพียงเหตุและปัจจัยที่บังเอิญเข้ามาผนวกรวมกัน คนเราไม่ได้คิดอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ได้รู้สึกอย่างนี้อย่างนั้นเพราะ “เราเป็นเรา” แต่เราถูกหล่อหลอมขึ้นมาให้คิด รู้สึก และกระทำ

บทสรุปทำนองนี้คงยอมรับได้ยากสำหรับผู้คนในยุคปัจจุบัน ส่วนหนึ่งก็เพราะเราได้กลายเป็นมนุษย์อัตถิภาวนิยมกันหมดแล้ว เราเชื่อในความเป็นปัจเจก คิดว่าตัวเองพิเศษและมีสิทธิมองโลกภายนอกเสมือนเป็นสิ่งซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอะไรก็ตามแต่ที่อยู่ภายใน เราสามารถเลือกเปิดรับหรือปฏิเสธมันก็ได้ ที่สุดของสิ่งที่เฮเกลพยายามเสนอแนะคือการละลายอัตตา และทิ้งทุกอย่างให้เป็นเพียงเหตุและปัจจัย

ถึงจะมีรากฐานเดียวกับศาสนาพุทธ แต่บทสรุปของเฮเกลค่อนข้างขวาตกขอบ ไม่แปลกใจเลยทำไมมาร์กถึงอยาก “จับเฮเกลตั้งตรง” นัก ข้อสรุปของเขาก็คือความอยุติธรรม การเหลื่อมล้ำของชนชั้นนั้นเป็นสิ่งเหมาะสมแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะปัจเจกที่เกิดในสังคมที่มีความอยุติธรรมก็จะผนวกเอาความอยุติธรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัว เขาจึงอาศัยอยู่ในความอยุติธรรมได้อย่างสุขสบายเหมือนปลาว่ายในน้ำ

นั่นหมายถึงโลกของเฮเกลเต็มไปด้วยผู้คนที่มีความสุขอยู่กับสังคมอันบิดเบี้ยวใช่หรือเปล่า ไม่เสมอไป แม้แต่เฮเกลก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความทุกข์เป็นสัจธรรมของชีวิต เขาพยายามให้เหตุผลว่าความทุกข์เกิดจากการไม่สอดคล้องกันของจิตสำนึกในตัวปัจเจกและสิ่งที่พวกเขาแสดงออกหรือกระทำ ดังนั้นโลกที่ปัจเจกเปิดรับเข้าไป (อันประกอบไปด้วยปัจเจกคนอื่นๆ ) จึงเป็นโลกที่เต็มไปด้วยความไม่สอดคล้องและบิดเบี้ยว ก่อเกิดความ "แปลกแยก" (alienation ศัพท์โปรดของมาร์ก) ระหว่างโลกภายนอกและ (สิ่งที่เขาคิดว่าเป็น) ตัวตน ฟินด์เลย์ ผู้เขียนสรุปย่อท้ายเล่มตีความบทนี้ได้น่าสนใจมาก เขาบอกว่า มันคือคำวิจารณ์ระบบตลาดและทุนนิยมของเฮเกลนั่นเอง

อาจจะเป็นด้วยวันก่อนเพิ่งไปฟังสัมมนาเกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์มากระมัง เราถึงได้รู้สึกว่า วิธีคิดแบบเฮเกลน่าเอามาปรับใช้ในประวัติศาสตร์ไทย แทนที่เราจะมองประวัติศาสตร์ว่าเต็มไปด้วย “พระเอก” มากมายผู้มาสร้างความเปลี่ยนแปลง ทำนู่นทำนี่ให้ประเทศชาติ น่าสนใจกว่าคือ อะไรเล่าในสังคมดลให้พระเอกเหล่านั้นลุกขึ้นมาหรือมีศักยภาพพอจะก่อวีรกรรมดังกล่าว ประวัติศาสตร์ควรมีไว้ให้เราครุ่นคิดสงสัยมากกว่าเพื่อความภาคภูมิใจ