J. Rawls's "A Theory of Justice" (2)


จะสิ้นปี 52 แล้ว ถึงแก่การอันควรเสียทีที่จะอ่านและพูดถึงส่วนที่เหลือของ A Theory of Justice ให้มันจบๆ ไป ทวนกันนิดหนึ่ง อภิตำรากฏหมายเล่มนี้ของจอห์น ราลว์ส ประกอบไปด้วยสามส่วน ส่วนแรกคือภาคทฤษฎีซึ่งพูดถึงไปแล้วในบลอคนี้ ส่วนที่สองคือภาคสถาบันซึ่งเก็บเอาไปพูดถึงในอีกเวปหนึ่งแล้ว และส่วนสุดท้ายคือภาคเป้าประสงค์ซึ่งจะพูดถึงในวันนี้

น่าเสียดายว่าภาคเป้าประสงค์เป็นภาคที่น่าอ่านน้อยสุดของ A Theory of Justice และเป็นส่วนที่เราให้ความสนใจน้อยสุดเสียด้วย ความเจ๋งของราลว์สคือการที่แกสามารถนิยามความยุติธรรมขึ้นมาได้ โดยให้มันหลุดพ้นจากกรอบศีลธรรมหรือความดีงาม แต่ในภาคเป้าประสงค์นี้เอง ราลว์สก็เหมือนสูงสุดคืนสู่สามัญ โดยแกย้อนกลับมาพูดว่าจริงๆ ถ้าคนในสังคมเป็นคนดี ก็คงดีนะ และสังคมก็คงจะมีแต่ความยุติธรรม ซึ่งก็ค่อนข้างตีหัวเข้าบ้าน

ความยุติธรรมตามแบบฉบับของราลว์สคือ ข้อตกลงตั้งต้นอย่างสมเหตุสมผลที่สมาชิกสรุปร่วมกัน โดยสมมติว่าไม่มีใครรู้เอาเข้าจริง ๆ แต่ละคนจะมีทุนและปัจจัยที่แตกต่างกันสักเพียงใด ความเหนือชั้นของทฤษฎีนี้คือมันใช้อธิบายความไม่เท่าเทียมกันในสังคมได้ นายเอผู้เป็นชาวนาไม่มีสิทธิบ่นเรื่องความยุติธรรมกับนายบีผู้เป็นเศรษฐี เพราะตอนที่พวกเขาร่างกฎระเบียบร่วมกันนั้น ทั้งนายเอและนายบีไม่มีใครรู้ว่าใครจะได้เป็นชาวนา ใครจะได้เป็นเศรษฐี ในทางตรงกันข้าม ถ้าเรายึดหลักความดีงาม เราอาจบอกได้ว่านายเอซึ่งมีความพอใจในชีวิตตนเองน้อยกว่านาย บี (หรือรู้สึก “ดี” กับชีวิตตนเองน้อยกว่านายบี) ย่อมมีสิทธิไปเรียกร้องหาความยุติธรรม ซึ่งก็จะกลายเป็นการพายเรือในอ่าง เพราะสุดท้ายไม่ว่าใครจะเป็นชาวนา ใครจะเป็นเศรษฐี ก็ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบและอีกฝ่ายได้เปรียบ

ขณะเดียวกันเราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ตั้งต้นตั้งแต่แรกแนวคิดเรื่องความดีงามมันก็แทรกอยู่ในทฤษฎีของความยุติธรรมแล้ว กล่าวคือสมาชิกจะกำหนดระเบียบปฏิบัติอย่างสมเหตุสมผลร่วมกันได้อย่างไร ถ้าไม่เข้าใจว่าอะไรคือความดีงาม ราลว์สเรียกสิ่งนี้ว่า “ทฤษฎีแบบบาง” นั่นก็คือการนิยามความดีงามเพื่อเอามาใช้เป็นรากฐานให้กับทฤษฎีของความยุติธรรม ส่วน “ทฤษฎีแบบเต็ม” นั้นคือการพิสูจน์ว่าสังคมที่อยู่ในกฎเกณฑ์แห่งความยุติธรรมนั้นคือสังคมที่ดี ที่สำคัญความดียังเป็นตัวประกันเสถียรภาพของสังคมอีกแล้ว

สรุปคือ มาเป็นคนดีกันเหอะ เดี๋ยวสังคมก็ยุติธรรมเองแหละ

ศัพท์สันนิษฐาน และอักษรวินิจฉัย (จิตร ภูมิศักดิ์)


คำนิยามที่เรามักใช้เรียกจิตร ภูมิศักดิ์คือ “ปราชญ์ผู้อยู่ในกาล” หมายถึงว่าเป็นผู้ปราดเปรื่องนั่นแหละ แต่ก็ยังถูกจำกัดด้วยกรอบของเวลา ตั้งแต่เวลาของชีวิตจิตรเอง ซึ่งจบลงก่อนวัยอันควร แค่ 34 ปีเท่านั้น สำหรับคนหนุ่มที่มีอายุแค่สามทศวรรษกว่าๆ อย่างไรเสียก็ยังบินติดเพดานบน อีกกรอบหนึ่งคือช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ บรรยากาศในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ดลให้จิตรกลายเป็นปัญญาชนในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งถ้าจิตรได้มีโอกาสผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปแล้ว ก็ไม่จำเป็นว่าเขาจะต้องเห็นด้วยหรือเห็นแย้งกับสิ่งที่ตนเคยเชื่อ

ที่เกริ่นมาแบบนี้ไม่ใช่จะบอกว่า ศัพท์สันนิษฐาน และอักษรวินิจฉัย มีอะไรเสียหาย ภายใต้กรอบของเวลาดังที่ได้กล่าวไปแล้ว จิตรถือเป็นนักวิชาการตัวอย่างคนหนึ่ง ไม่ว่าจะในแง่การสืบค้น อ้างอิงข้อมูล การพิสูจน์หลักฐาน และการเผยแพร่ความคิดตัวเอง ปัญหามันอยู่ตรงวิชานิรุกติศาสตร์เองต่างหาก ตั้งแต่เซอซัวร์ตีพิมพ์ Course in General Linguistics ซึ่งปูทางให้แก่สัญศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ก็ดูจะกลายเป็นของล้าสมัยไปโดยพลัน (ถึงจะล้าสมัยทางภาษาศาสตร์ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะหมดคุณค่าโดยสิ้นเชิง ในทางประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยา นิรุกติศาสตร์ยังถือเป็นเครื่องมืออันล้ำค่าในการสืบเสาะความเป็นมาเป็นไปของแต่ละเผ่าพันธุ์)

ประเด็นนี้น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับ Serendipities ที่เพิ่งพูดถึงไปหยกๆ ก็เลยอยากขอขยายความ นิรุกติศาสตร์เป็นวิชาซึ่งค้นหาที่มาที่ไปของคำศัพท์ ภายใต้วัฒนธรรมตะวันตก อย่างไรเสียก็คงหนีไม่พ้นการสืบเสาะย้อนอดีตไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอภาษาดั้งเดิมหรือภาษาธรรมชาติของอดัม ก่อนหอคอยบาเบลจะพังพินาศ แน่นอนว่าภายใต้วัฒนธรรมตะวันออกของไทยเรา เราไม่เชื่อเรื่องหอคอยบาเบล และจิตร ภูมิศักดิ์เองก็คงจะไม่เชื่อเหมือนกัน คำถามคือวาทกรรมตัวนี้จะยังอยู่ในนิรุกติศาสตร์แบบไทยๆ หรือเปล่า

คำตอบคืออยู่! ถ้าเอา ศัพท์สันนิษฐาน และอักษรวินิจฉัย มาอ่านแบบรื้อสร้าง เราจะเห็นร่องรอยภาษาของอดัม จิตรแบ่งต้นกำเนิดของคำออกเป็นสามประเภทหลัก ประเภทแรกคือคำเลียนเสียงธรรมชาติตรงๆ เช่น เสียงร้องของวัว หมู หมา กา ไก่ ประเภทที่สองคือคำประเภทแรกที่ถูกกร่อน ถูกแปลงไปจนไม่เหลือเค้าโครงเดิม เช่น “วัว” อาจจะมาจากเสียงร้องของวัว ที่คนสมัยก่อนฟังเป็น “งัว” หรือ “มัว” ประเภทสุดท้ายคือการที่มนุษย์เรากำหนดชื่อให้อวัยวะในร่างกายเช่น “ตา” แล้วต่อมาค่อยไปสังเกตเห็นอะไรที่คล้ายคลึงกันในธรรมชาติ จึงกลายเป็น “ตาไม้” อย่างนี้ เป็นต้น (ไม่รู้ว่าจิตรแบ่งเอง หรือไปอ้างอิงตำราเล่มไหนมา)

เราจะพบว่าทฤษฎีตัวนี้ "ยากจน" มากๆ กล่าวคือมันใช้อธิบายศัพท์เกินค่อนพจนานุกรมไม่ได้ด้วยซ้ำ เช่น "เรือ" "ทะเล" "เงือก" "แมงมุม" "รำ" "กิน" จะบอกว่าทุกคำมาจาก "เสียง" ในธรรมชาติก็ค่อนข้างจะเหลือเชื่ออยู่ แต่วาทกรรมตัวนี้ได้สะท้อนความเชื่อในภาษาของอดัมออกมา ว่าศัพท์ทุกคำนั้นสอดคล้องกับธรรมชาติของสิ่งที่มันหมายถึง (ซึ่งตรงข้ามกับความเชื่อของนักสัญศาสตร์)

ที่หยิบเรื่องนี้มาพูดไม่ใช่เพราะต้องการดูเบาจิตร หรือผู้คนที่ยกย่องนับถือเขา เพียงแต่เราเชื่อว่าสังคมไทยควรจะยึดเอาจิตรเป็นหลักชัยเพื่อการก้าวข้าม มากกว่าจะมองเขาเป็นยอดแห่งปราชญ์ที่ใครๆ ก็แตะต้องไม่ได้ ความเป็น “ปราชญ์ผู้อยู่ในกาล” ของจิตรนั้นไม่ใช่เฉพาะแต่ทางด้านนิรุกติศาสตร์เท่านั้น รวมไปถึงในทุกๆ เรื่องด้วย ถ้ามีโอกาส ภายหน้าคงได้มาพูดถึงอีก

U. Eco's "Serendipities"


นอกจากจะเป็นหนังสือเล่มบางจ๋อยแล้ว Serendipities ยังเหมือนเอาหนังสือสองเล่มมาแปะรวมกันอีกต่างหาก อีโคพูดถึงสองประเด็นซึ่งโดยผิวเผินแล้วไม่เห็นจะเกี่ยวกันเลย ประเด็นแรกคืออิทธิพลของความเท็จ ว่าบางครั้งมันก็มีพลังขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ไม่น้อยไปกว่าความจริง ส่วนประเด็นหลังคือความหลงใหลที่มนุษย์เรามีต่อภาษาต้นแบบ ในที่นี้ก็คือภาษาของอดัมก่อนหอคอยบาเบลจะพินาศ ส่งผลให้มนุษย์กระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง และสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง

เราสนุกกับประเด็นหลังมากกว่าประเด็นแรก (ซึ่งค่อนข้างคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วจากงานชิ้นอื่นๆ อย่าง Foucault’s Pendulum) โดยอีโคแบ่งมันออกเป็นสองช่วง ในบทที่ 2 เขาพูดถึงความพยายามตามหาภาษาต้นแบบจากภาษาโบราณ ตามความเชื่อในคัมภีร์ไบเบิ้ล ภาษาของอดัมน่าจะเป็นภาษาฮิบรูดั้งเดิม ก่อนถูกดัดแปลงไปตามวันเวลาและประวัติศาสตร์ ที่น่าสนใจกว่าก็คือ ชาวยุโรปบางคนเชื่อว่าภาษาที่มาจากต่างถิ่นเช่นภาษาอียิปต์หรือกระทั่งภาษาจีนจริงๆ แล้วอาจเป็นภาษาศักดิ์สิทธิของอดัมก็ได้! ในบทที่ 4 ความพยายามตามหาภาษาต้นแบบดำเนินไปในทิศตรงกันข้าม กล่าวคือเหล่านักปราชญ์ในยุคกลางคิดค้นภาษาจำลองโดยคาดหวังให้มันใกล้เคียงกับภาษาของอดัมที่สุด

ความหลงใหลที่มนุษย์เรามีต่อภาษาต้นแบบนี้จริงๆ แล้วก็เข้าใจได้ไม่ยาก ไม่ว่าใครระหว่างที่เรียนภาษาที่สอง ที่สาม ก็คงรู้สึกบ้างแหละว่า “ไอ้คนที่คิดภาษานี้ มันตั้งคำหอกหักนี่ออกมาได้อย่างไร!” ช่างแสนจะจำยากเย็นและดูไม่เป็นธรรมชาติเสียนี่กระไร ว่ากันว่าภาษาของอดัมเป็นภาษาที่มาจากธรรมชาติเลย กล่าวคือไม่ต้องอาศัยการจดจำหรือฝึกฝน แค่เห็นศัพท์ปุ๊บ เราก็จะเข้าใจได้ทันทีว่ามันแปลว่าอะไร

ในบทที่ 5 ซึ่งเป็นสุดท้าย อีโคถึงได้รวมสองประเด็นนี้เข้าด้วยกัน ในแง่หนึ่งความหลงใหลและความพยายามตามหาภาษาต้นแบบก็อาจมองได้ว่าถูกขับเคลื่อนด้วย “ความเท็จ” หรือ “ความเชื่อที่เป็นเท็จ” ว่าภาษาต้นแบบนั้นเป็นธรรมชาติและดีกว่าภาษาที่ใช้ในปัจจุบัน (ถ้าเรารู้จักอีโคดีพอ นักสัญศาสตร์อย่างแก อย่างไรเสียก็คงไม่เห็นด้วยกับความคิดตรงนี้แน่ๆ ) บางครั้งอะไรที่มาจากธรรมชาติก็ไม่ใช่จะต้องดีที่สุดเสมอไป และที่สำคัญอะไรคือธรรมชาติ อะไรคือของประดิษฐ์ ถ้าภาษามันถูกพัฒนาจนเป็นอย่างที่มันเป็นในปัจจุบัน เราจะเรียกมันว่าไม่ใช่ของธรรมชาติได้หรือ

ลัทธิชาตินิยมไทย/สยามกับกัมพูชา (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ)


สั้นๆ ห้าคำกับ ลัทธิชาตินิยมไทย/สยามกับกัมพูชา: และกรณีศึกษาปราสาทเขาพระวิหาร คือ “เห็นด้วยทุกตัวอักษร!” ขอย้ำให้ใครที่สนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเราและประเทศเพื่อนบ้าน ต้องไปหามาอ่านกันให้ได้

อาจารย์ชาญวิทย์ตั้งข้อสังเกตว่าในวิชาประวัติศาสตร์ไทย เราย้ำถึงแต่การ “เสีย” ดินแดน โดยไม่ยอมพูดถึงการ “ได้” ดินแดนเลย ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ขำมากๆ เราคุยกันแต่ว่าไทยเสียดินแดนและปราสาทเขาพระวิหารถึงสามครั้งสามครา ต่อให้ “สมมติ” ว่าปราสาทเขาพระวิหารเป็นของไทยแต่โบราณ มันจะ “เสีย” สามครั้งโดยไม่เคย “ได้” มาเลยได้อย่างไร (น่าสนใจว่าการ “ได้” ครั้งหลังสุดคือการ “ได้” ทางเศรษฐกิจโดยแท้ เป็นการแปรรูป “สนามรบ” ให้เป็น “สนามการค้า” เพราะทั้งคนไทยและคนกัมพูชาก็สามารถค้าขายกันที่ชายแดนเขาพระวิหารได้อย่างสงบสุข เลยน่าขบคิดดีเหมือนกันว่าที่เสียไปครั้งหลังสุดนี่ใครกันแน่เป็นผู้ทำให้เสีย)

อาจารย์ชาญวิทย์พูดถึงบทบาทของ “ประวัติศาสตร์บกพร่อง” ซึ่งก็ชวนให้เราขบคิดต่อ จำได้ว่าสมัยเรียนประถมเวลาครูสอนเรื่องสนธิสัญญาเบาริงค์ ความเจ็บแค้นแสนสาหัสประการหนึ่งก็คือสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ถ้าฝรั่งทำผิดในบ้านเมืองเรา ก็จะมีสิทธิไปขึ้นศาลฝรั่งไม่ใช่ศาลไทย (ซึ่งครูสังคมก็จะติ๊ต่างให้เด็กเก็บไปคิดและไปโกรธแค้นกันเอาเองว่าพวกฝรั่งมันคงปกป้องคนผิดของชาติตัวเอง) ซึ่งถ้าเราจำไม่พลาด บทเรียนวิชาสังคมเรื่องนี้มาพร้อมกับบทเรียนวิชาภาษาไทยเรื่อง ขุนช้างขุนแผน พูดถึงตอนที่โจทก์ จำเลยต้องดำน้ำแข่งกันเพื่อตัดสินคดีความ ถ้าเอาหนึ่งบวกหนึ่งเป็นสาม สี่ ห้า ก็พูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ถ้าไม่มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ฝรั่งที่ถูกจับในเมืองไทย ก็ต้องไปดำน้ำแข่งกับคู่กรณี ถึงจะตัดสินถูกผิดกันได้

สั้นๆ (คำไทย)หกคำคือ “เป็นกู กูก็ไม่เอา”

(จริงๆ แล้วนี่เป็นการมองแบบจับแพะชนแกะมากๆ เพราะยุคสมัยของ ขุนช้างขุนแผน กับยุคของสนธิสัญญาเบาริงค์ ก็เป็นคนละสมัยกัน ไม่นับว่าฝ่ายแรกเป็นเรื่องแต่งเสียด้วยสิ คดีความในสมัยต้นรัตนโกสินทร์อาจถูกตัดสินด้วยกลวิธีอันแยบคายและยุติธรรมกว่านี้ แต่ในทางตรงกันข้าม ก็มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายที่พูดถึงการลงโทษบนแผ่นดินสยามด้วยวิธีอันทารุณ)

ประเด็นไม่ใช่อยู่ที่ว่าสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนั้นมันยุติธรรมหรือเปล่า แต่นี่คือตัวอย่างความบกพร่องใน(วิชา)ประวัติศาสตร์ ที่เรามักจะมองด้านเดียวเสมอ ประวัติศาสตร์จึงกลายเป็นเรื่องของการศึกษาอุดมคติไป ซึ่งนอกจากจะไม่น่าสนใจ ยังแฝงอคติหลายอย่างเอาไว้ด้วย (เทียบกับการศึกษาในอเมริกา จำได้ว่าสิ่งแรกที่เราเรียนในประวัติศาสตร์ตอนที่ไปที่นั่นใหม่ๆ สมัยอยู่มัธยม 6 คือความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ทำให้ลินคอล์นประกาศสงครามการเมือง ซึ่งการเลิกทาสนั้นเป็นแค่ผลพลอยได้จากการแย่งชิงอำนาจระหว่างฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้เท่านั้น)

ลัทธิชาตินิยมไทย/สยามกับกัมพูชา: และกรณีศึกษาปราสาทเขาพระวิหาร เป็นหนังสือที่ไม่ได้เกี่ยวพันใดๆ ทั้งสิ้นกับสำนักพิมพ์ที่มีสีชัดเจน เราก็ไม่รู้ว่ามูลนิธิโตโยต้าแห่งประเทศไทยมีวาระการเมืองแอบแฝงหรือเปล่า แต่อย่างน้อยหนังสือเล่มนี้น่ายืนยันความเป็นกลางทางด้านวิชาการได้ในระดับหนึ่ง

S. Freud's "Totem and Taboo"


หลานของเราคนหนึ่งปีนี้อายุสามขวบแล้ว กำลังอยู่ในวัยน่ารักน่าชัง พูดจาประสาซื่อ หลานคนนี้กลัวห้องพระมากๆ ไม่ว่าจะเป็นของบ้านหลังไหนรวมถึงของบ้านตัวเองด้วย ถ้าต้องเดินผ่านหรือเฉียดใกล้ห้องพระ จะแสดงอาการว้าวุ่นอยู่ร่ำไป มิพักต้องให้แม่เขาบอกว่า “นี่พระนะลูก นี่พระนะ กลัวพระทำไม” หลานเราก็จะตอบกลับไปว่า “ถึงจะเป็นพระ แต่ก็เป็นผีนะ”

เราว่าบทโต้ตอบสั้นๆ ระหว่างแม่ลูกคู่นี้มีประเด็นชวนขบคิด ไม่ว่าจะในแง่ภาษาศาสตร์ มานุษยวิทยา วัฒนธรรม หรือจิตวิทยา ยกตัวอย่าง เช่น การที่แม่ใช้คำพ้องรูปพ้องเสียง “พระ” ซึ่งหมายความได้ทั้งพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์ “ผี” ในความหมายแรกจึงหมายถึงวิญญาณศักสิทธิ์หรือเทพสูงสุดตามแบบความเชื่อเทวนิยม และ “ผี” ในความหมายหลังคือมนุษย์ที่เสียชีวิตไปแล้ว (และต่อไปยังคำถามที่ว่าพระพุทธเจ้าท่านเมื่อปรินิพพานไปแล้วจะกลายเป็น “ผี” ประเภทไหน) แต่ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องไปหา Totem and Taboo ก็คือความกำกวมระหว่างความรัก ความศรัทธาและความกลัวเกรง

ถ้าให้ฟรอยด์มาวิเคราะห์เด็กพุทธชาวไทย หลานของเรา แกก็คงพูดประมาณว่า แรกสุดในพัฒนาการของเด็กคือความรู้สึกเกรงกลัวภูตผีหรือคนตาย ต่อมาความรู้สึกนั้นถูกนำไปเกี่ยวเนื่องกับรูปปั้น รูปเคารพของคนตาย (พระพุทธรูป) และเมื่อเด็กคนนี้โตขึ้นความกลัวก็จะกลายเป็นความรัก ความศรัทธา ซึ่งนี่ก็คือที่มาของจิตสำนึกทางศาสนาในตัวชาวไทยนั่นเอง

Totem and Taboo ไม่ได้เกี่ยวกับจิตสำนึกทางศาสนาในตัวปัจเจกอย่างที่เรากล่าวมาในย่อหน้าที่แล้วเสียทีเดียว แต่มันเกี่ยวกับจิตสำนึกทางศาสนาของผู้คนทั้งสังคม ทำไมชาวป่าชาวดงถึงได้บูชาภูตผีกัน แล้วลัทธินั้นมันพัฒนามาเป็นศาสนา ก่อนจะกลายเป็นวิทยาศาสตร์อย่างในปัจจุบันได้อย่างไร

นอกจากนี้ฟรอยด์ยังพูดถึงลัทธิราชานิยมอีกด้วย หมอบอกว่าความรู้สึกศรัทธาในสถาบันการปกครองสูงสุดนั้น ไม่ว่าจะของประเทศใดก็ตาม เป็นความรู้สึกกำกวมที่มาพร้อมกับความอิจฉาและเกลียดชัง ความชื่นชมนั้นคือ Conscious prohibition (ข้อห้ามของจิตรู้สึกนึก) ซึ่งพยายามกด Unconscious Desire (ความปรารถนาของจิตใต้สำนึก) ยิ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (หรือสีใดสีหนึ่ง) เคลื่อนไหวอย่างเอิกเกริกเท่าไหร่ ก็จะยิ่งดลให้อีกฝ่ายลุกฮือด้วยความแรงเฉกเช่นกัน ส่วนที่ว่าทฤษฎีจิตวิเคราะห์ซึ่งถูกออกแบบมาให้ใช้กับปัจเจก คนไข้คนเดียวจะสามารถหยิบยกมาใช้กับทั้งสังคมได้อย่างแม่นยำสักแค่ไหน ทิ้งไว้ให้ขบคิดกันต่อเอง

อ่านจบแล้ว รู้สึกอยากให้ฟรอยด์เกิดเป็นคนไทย คงได้ผลิตงานวิชาการเจ๋งๆ มาให้เราอ่าน ให้เราวิเคราะห์สังคมบ้านเราอย่างลึกซึ้ง

S. O' Casey's "Three Dublin Plays"


แปลกจัง เวลาอ่านหนังสือหรือนิยายที่มีฉากเป็นเมืองดับลินหรือประเทศไอร์แลนด์ รู้สึกทุกทีว่าสังคมไอร์แลนด์เหมื๊อนเหมือนสังคมไทย ไอร์แลนด์จัดว่าเป็นประเทศที่พิกลอยู่ไม่น้อย คือเป็นประเทศเล็กๆ กำลังพัฒนาท่ามกลางมหาอำนาจยุโรป ในเชิงประวัติศาสตร์ นี่คือประเทศคุ้มดีคุ้มร้าย เดี๋ยวก็ตกเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ เดี๋ยวก็ได้รับอิสรภาพ จะว่าไปก็คงคล้ายๆ โปแลนด์ ต่างแต่คนอังกฤษไม่ใจหินทมิฬเท่าคนเยอรมัน รัสเซีย ไปยึดครองเขา ก็เผื่อแผ่ความเจริญให้เขาไปบ้าง ที่ไอร์แลนด์มีทุกวันนี้ได้ส่วนหนึ่งก็มาจากอิทธิพลของเจ้าโลก (ในอดีต) อย่างอังกฤษด้วย กระนั้นก็ไม่น่าแปลกใจนักหรอกที่คนไอร์แลนด์จะยังเกลียดคนอังกฤษจนถึงทุกวันนี้

ชาวไอร์แลนด์นั้นมีแนวคิดชาตินิยมสูงมาก เพราะไม่ว่าจะย้อนอดีตไปกี่ศตวรรษ ไอร์แลนด์ก็จะมีอังกฤษ เป็นประเทศศัตรูคู่แค้นให้รังเกียจรังชังได้เสมอ ใน Three Dublin Plays เราจะเห็นว่าตาสีตาสา ไม่มีการศึกษา ก็สามารถพูดพล่ามทำเพลงเกี่ยวกับการเมืองได้เป็นย่อหน้าๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเต็มไปด้วยวาทกรรมจำพวกอิสรภาพ หลุดจากความเป็นเมืองขึ้นอะไรทำนองนี้

ซึ่งอดคิดไม่ได้ว่าเหมือนประเทศเราจัง ความสัมพันธ์ระหว่างไอร์แลนด์และอังกฤษก็คล้ายๆ กับความสัมพันธ์ระหว่างไทยแลนด์และอเมริกา ประเทศไทยเจริญผิดหูผิดตาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ก็เพราะความช่วยเหลือจากอเมริกาเป็นหลัก และเพราะอย่างนี้เอง เราถึงได้เกลียดอเมริกานัก เราพยายามยกย่องและสร้างเอกลักษณ์ความเป็นชาติตัวเองขึ้นมา ซึ่งก็คงปฏิเสธได้ยากว่าไม่ใช่ยาขม ที่แฝงความรู้สึกเจ็บใจและอ่อนด้อยกว่าอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ด้วย

(ความรู้สึกรักชาติของคนไทยไม่ต้องไปหาดูที่ไหนไกล มหาอมตะภาพยนตร์แห่งสยามประเทศที่จะสร้างออกมาสี่ห้าภาคก็เป็นเรื่องของการทำศึกสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน เราไม่ค่อยมีเรื่องเล่าของกษัตริย์นักพัฒนา นักการทูต หรือนักค้าขายอย่างพระนารายณ์ สมเด็จรัชกาลที่ 3 หรือกระทั่งสมเด็จรัชกาลที่ 5 ยิ่งทุกวันนี้ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะการพัฒนาประเทศ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “การเมือง” ) ดูจะเอามาวางไว้ในประโยคเดียวกับสถาบันสูงสุดไม่ได้เอาเสียเลย)

ความเหมือนกันอีกอย่างระหว่างไอร์แลนด์และไทยแลนด์คือเรารู้สึกได้ถึงความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างชาวบ้านและปัญญาชน ต่างฝ่ายต่างดูหมิ่นดูแคลนกันและกัน ในนิยายของจอยซ์ ก็จะมีตัวละครอย่างสตีเฟน เดไดลัสผู้รู้สึกแปลกแยกจากสังคมรอบข้าง ในบทนำของ Three Dublin Plays ที่พูดถึงคนเขียน มีประโยคหนึ่งฮามากคือ “เฉกเช่นเดียวกับนักเขียนไอริชผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย [โอเคซี] ตอบแทนบ้านเกิดเมืองนอนด้วยการเผ่นหนีออกจากมันทันทีที่มีโอกาส” ตรงนี้ก็โยงกลับไปหาอาการชาตินิยมที่เกริ่นไว้ข้างต้น คือปัญญาชนไอร์แลนด์ที่ได้รับการศึกษาในระบบอังกฤษ สุดท้ายก็จะถูกมองว่าเป็นคนทรยศ และเข้ากับชาวบ้านชาวช่องไม่ค่อยได้

Three Dublin Plays ประกอบไปด้วยละครสามเรื่องของชอน โอเคซีคือ The Shadow of a Gunman, Juno and the Paycock และ The Plough and the Stars พูดถึงตัวเรื่องก็ธรรมดา แต่เราชอบอ่านบทสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างตัวละครมากๆ อ่านแล้วนึกขำ เหมือนได้เห็นบางอย่างที่คุ้นเคยแต่เปลี่ยนตัวผู้เล่นไป เหมือนเอาหนังไทยไปให้ฮอลลีวูดรีเมคอย่างไรอย่างนั้นเลย

P. Krugman's "The Conscious of a Liberal"


จริงๆ แล้วไม่ยากเท่าไหร่หรอกถ้าจะเล่าว่าครุกแมนเขียนถึงอะไรบ้างใน The Conscious of a Liberal ที่ยากและน่าขบคิดกว่าคือ เราจะรับและปรับสิ่งที่ครุกแมนเขียนมาใช้กับประเทศเรายังไงดี The Conscious of a Liberal พูดถึงที่มาที่ไปของสภาพการแบ่งขั้วการเมืองอเมริกาในปัจจุบัน เหตุใดนักการเมืองและประชาชนกลุ่มรีพับลิกันถึงได้เชื่อ คิด ทำ และโหวตแตกต่างจากเดโมแครตได้ขนาดนี้

ซึ่งโดยผิวเผินก็เหมือนว่าจะรับมาใช้กับสถานการณ์บ้านเราได้ง่ายๆ ตรงๆ ทำไมกลุ่มเสื้อเหลืองและเสื้อแดงถึงคิดต่างกัน และทำอย่างไรถึงจะสมานฉันท์คนสองกลุ่มนี้ เราจะพูดถึงต่อไปว่าทำไมบทเรียนที่ได้จาก The Conscious of a Liberal ไม่ควรจะรับมาใช้ตรงๆ แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนพอสมควร

สมมติฐานเบื้องต้นของนักเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์คือ สภาพแบ่งขั้วทางการเมืองมาจากสังคมที่เหลื่อมล้ำกันสุดๆ ระหว่างคนรวยและคนจน เราสามารถแบ่งประวัติศาสตร์อเมริกาช่วงศตวรรษที่ 20 ได้เป็นสามช่วงคือ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งครุกแมนเรียกว่า Long Gilded Age เป็นช่วงที่คนรวยและคนจนในอเมริกาเหลื่อมล้ำกันมาก แม้ว่าทั้งประเทศจะร่ำรวยขึ้น แต่ช่องว่างก็ไม่มีทีท่าว่าจะยุบลงเลย ช่วงที่สองคือยุค New Deal ซึ่งรัฐบาลขยายตัวเก็บภาษีคนรวยเป็นเงินจำนวนมหาศาล นำไปสู่สังคมของชนชั้นกลาง ซึ่งในยุคนี้ชาวอเมริกาจะเท่าเทียมกันเกือบหมด และช่วงสุดท้ายคือตั้งแต่ยุคของโรนัล เรแกนเป็นต้นมา เศรษฐกิจกลับไปเป็นแบบ Long Gilded Age อีกครั้ง กฎหมายและเงื่อนไขที่ถูกตั้งขึ้นมาสมัย New Deal ค่อยๆ ถูกยกเลิกไปทีละข้อ และช่องว่างทางสังคมถ่างขึ้นๆ และผลจากความเหลื่อมล้ำนี้เองค่อยนำไปสู่สภาพแบ่งขั้วทางการเมือง

ใน The Conscious of a Liberal ครุกแมนถกเถียงจากมุมมองที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง เขาบอกว่าการเมืองต่างหากที่นำเศรษฐกิจ กล่าวคือฝ่ายขวา หรือกลุ่มรีพับลิกันที่ไม่พอใจกับนโยบายทางสายกลางของประธานาธิบดีไอเซนฮาวเวอร์ (ซึ่งจริงๆ แล้วสมควรเป็นประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน แต่ไอเซนฮาวเวอร์กลับไปสนับสนุน New Deal) ก็เลยตั้งกลุ่มแยกย่อยขึ้นมาเรียกว่า Movement Conservation และกลุ่มอนุรักษนิยมเคลื่อนไหวนี้เองที่เป็นพวกขวาตกขอบ ค่อยๆ ซ่องสุมอำนาจ และยึดครองการเมืองอเมริกาได้เป็นผลสำเร็จ

จุดที่เราชอบมากๆ คือครุกแมนให้ความสำคัญกับการเมืองและสังคมนำหน้าเศรษฐกิจ ในความเห็นเรา นักเศรษฐศาสตร์มักจะมี “นิสัยเสีย” อย่างคือชอบปล่อยให้เศรษฐกิจดำเนินไปตามวิถีตลาดหรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วทิ้งให้นักรัฐศาสตร์และนักสังคมศึกษาไปนั่งวิเคราะห์กันเองว่าเศรษฐกิจแบบไหนนำไปสู่สังคมแบบไหนบ้าง ข้อเสนอของครุกแมนคือการทุบโต๊ะปัง แล้วบอกว่าแม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็ต้องมีส่วนร่วมและรับผิดชอบในการสร้างสรรค์สังคมด้วย (เพราะสังคมมาก่อน ตลาดมาทีหลัง)

แต่จุดที่เราไม่ชอบและไม่เห็นด้วยคือครุกแมนดูจะให้ความสำคัญกับทฤษฎีสมคบคิดของกลุ่มอนุรักษนิยมเคลื่อนไหวมากเกินไป ถ้าตามสูตรของครุกแมนคือการเมืองนำหน้าสังคมแล้วค่อยนำไปสู่เศรษฐกิจอีกที แต่เราเชื่อว่าสังคมต่างหากที่นำหน้าการเมืองและทุกสิ่งทุกอย่าง ยกตัวอย่างเช่น การลุกฮือของฮิปปี้ช่วงทศวรรษที่ 60 ดูผิวเผินก็เหมือนจะเป็นการแสดงออกทางเสรีภาพ แต่ขณะเดียวกัน มันก็ก่อให้เกิดกระแสต่อต้าน และเรแกนก็คือนักการเมืองที่เกาะกระแสดังกล่าวปีนป่ายบันไดอำนาจ

กลับมาเรื่องเมืองไทย ถึงแม้ว่าเป้าหมายของ The Conscious of a Liberal จะเป็นการวิเคราะห์เพื่อลดทอนสภาพสองขั้วการเมืองในอเมริกา แต่เรากลับเห็นว่าสภาพสองขั้วการเมืองในประเทศไทยอาจจะเป็นสิ่งจำเป็นกับบ้านเราก็ได้ ที่ผ่านมาการเมืองไทยคือเรื่องของอุดมคติ นักการเมืองคนไหนที่ปากไม่พร่ำปาวๆ ๆ ในอุดมคติหนึ่งเดียวนั้น รับรองว่าไม่มีทางได้เกิด การที่เรามีสองขั้วอำนาจแบบนี้ ก็เป็นไปได้เหมือนที่จะนำไปสู่บทสนทนาทางการเมือง ซึ่งจะช่วยพัฒนาแนวคิดและช่วยให้ประชาธิปไตยแบบไทยๆ เติบโตต่อไปข้างหน้า

มีคำกล่าวหนึ่งที่ใครอ่านนิตยสารฝรั่งจะได้ยินบ่อยๆ คือ “ถ้าปล่อยวิกฤติให้สูญไปเปล่าๆ ก็น่าเสียดายยิ่งนัก” (“A crisis is a terrible thing to waste”) ถึงคำกล่าวนี้จะหมายถึงสภาพฟองสบู่แตก แต่มันก็น่าจะเอามาใช้กับการเมืองไทยได้เหมือนกัน ไหนๆ ตอนนี้เราก็ส่งนักแสดงสองคนขึ้นเวทีการเมืองแล้ว จะลากคนหนึ่งลงมาแล้วปล่อยให้อีกคนพร่ำบ่นโมโนลอคคนเดียวเหมือนที่ผ่านๆ มาก็คงน่าเสียดายอยู่ไม่น้อย

N. Marfouz's "Arabian Nights & Days"


Arabian Nights & Days คือภาคต่อของนิทานอาหรับราตรีที่เราคุ้นเคยกันดีนี่เอง มาฟอยซ์ตั้งคำถามได้น่าขบคิดมากๆ ว่า ถึงแม้ตอนจบของอาหรับราตรี พระเจ้าชาริยาจะกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี อยู่กินกับชาราด เจ้าหญิงนักเล่านิทานอย่างสงบสุข แต่ชาราดจะสามารถรักผู้ชายที่สังหารสตรีและผู้บริสุทธิ์เป็นร้อยๆ คนได้สักแค่ไหน และกษัตริย์ที่เหยียบย่างมาบนเส้นทางของซากศพและกองเลือดอย่างชาริยาจะยึดมั่นในคุณงามความดีได้จริงหรือเปล่า

มาฟอยซ์ใช้รูปแบบของนิทานอาหรับราตรีเล่าเรื่องราวต่อจากนั้น ถึงแม้มันจะถูกจัดว่าเป็นนิยาย แต่ Arabian Nights & Days คล้ายคลึงกับเรื่องสั้นหลายๆ เรื่องที่แบ่งฉากและตัวละครชุดเดียวกันมากกว่า นอกจากชาริยาและภรรยา ตัวละครเด่นอีกตัวคือกาซามา เขาเป็นตำรวจซึ่งรับสินบน โดยบอกตัวเองว่าเขาแค่ไหลไปตามระบบอันโสมมและทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา หลังได้พบกับจินีหรือยักษ์วิเศษ กาซามาตั้งใจกลับตัวเป็นคนดี เขาสังหารผู้บังคับบัญชาที่โกงกินปลิ้นปล้อน และก่อนจะถูกประหารชีวิต ยักษ์วิเศษช่วยเหลือกาซามาโดยการปั้นร่างมายาให้ถูกตัดหัวแทนตัวเขา และแปลงโฉมกาซามาเสียใหม่ เขากลายเป็นคนบ้าเร่ร่อนอยู่ในเมือง คอยผดุงความยุติธรรม และช่วยเหลือผู้อื่น

พูดตรงๆ เราก็จำไม่ค่อยได้เหมือนกันว่านิทานอาหรับราตรีมันมีอะไรบ้าง นอกจากเรื่องเด่นๆ อย่างอาลาดิน ซินแบด หรืออาลีบาบา ซึ่งถ้าจำได้คงอ่าน Arabian Nights & Days ออกรสออกชาติกว่านี้อีก เพราะมาฟอยซ์ดูตั้งใจเล่นกับการเอานิทานคลาสสิกมาเล่าใหม่อยู่พอสมควร (มีตัวละครชื่อซินแบดและอาลาดินอยู่ในนิยายเรื่องนี้ด้วย) โมทีฟหลักๆ นอกจากยักษ์วิเศษก็มีผ้าคลุมล่องหน แหวนวิเศษ ประตูที่ห้ามเปิด หรือกษัตริย์ที่ปลอมตัวออกไปสอดส่องดูความเดือนร้อนของผู้คน นอกจากจะเอานิทานปรัมปรามาดัดแปลงได้อย่างงดงามแล้ว มาฟอยซ์ยังผสานอะไรใหม่ๆ เข้าไปด้วยเช่น ปัญหาชนกลุ่มน้อย หรือการทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างสองชนเผ่า เสียดายที่ประเด็นเหล่านี้ไม่พัฒนาไปไหนนัก

มาระยะหลังๆ นี่เราชักเริ่มสนใจนิทานแล้วสิ โดยเฉพาะบทบาทของมันในประเทศโลกที่สามและประเทศที่พัฒนาแล้ว นักเขียนชาวยุโรป ไม่ว่าจะพยายามทำตัวเป็นนักตะวันออกนิยมแค่ไหน อย่างเฮสเส ก็ไม่ค่อยมีหรอกที่เอานิทานมาประกอบใช้ในงานเขียนของตัวเอง ขณะที่นักเขียนจากประเทศโลกที่สามอย่างรัชดีหรือมาฟอยซ์ดูจะชอบเล่นกับนิทานหรือตำนานเอามากๆ น่าขบคิดว่าในโลกตะวันตก ตำนานเหล่านี้มันหายไปไหน ถูกรวมเข้ากับศาสนา ถูกแทนที่ด้วยวิทยาศาสตร์ หรือว่าเส้นที่แบ่งระหว่าง "วรรณคดี" (หรือเรื่องแต่ง) กับเรื่องจริงมันชัดเจนกว่าในโลกตะวันออกกันแน่

T. L. Friedman's "Hot, Flat and Crowded"


เราชอบประโยคเด็ดของเจฟ แวคเกอร์ที่ไฟรด์แมนหยิบยกมาใน Hot, Flat and Crowded มากๆ เขาบอกว่า “อนาคตอยู่กับเราแล้ว เพียงแต่ว่ามันยังไม่แพร่หลายเท่านั้นเอง” แวคเกอร์หมายถึงเทคโนโลยีที่สามารถแก้ไขปัญหาโลกร้อนและเผด็จการน้ำมันได้ถูกคิดค้นขึ้นมาแล้ว เพียงแต่มันยังขาดกล้ามเนื้อทางนโยบายและการตลาดที่จะกระจายเทคโนโลยีเหล่านั้นไปสู่ผู้บริโภค

สุดท้ายทุกอย่างมันก็ลงเอยอยู่ที่วิชาเศรษฐศาสตร์ ทำให้เรานึกถึงข่าวที่เคยได้ยินมาสมัยเด็กๆ ว่าเนื้อไก่ล้นตลาด ซีพีเลยไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเอาไก่ไปทิ้งทะเล ด้วยความเป็นเด็ก เรานึกเสียดาย เนื้อไก่ที่เหลือๆ เอาไปเลี้ยงคนยากคนจนไม่ดีกว่าหรือ อย่างแย่สุดขนไปแจกหมู่บ้านผู้อดโซในทวีปแอฟริกาก็ยังดี พอโตมาแล้วถึงได้รู้ว่าทุกอย่างมันไม่ง่ายดายขนาดนั้น ถ้าเอาเนื้อไก่ล้นตลาดไปแจกคนยากคนจน ผู้ที่เดือนร้อนก็คือพ่อค้าไก่ที่ต้องทำมาหากิน ในทำนองเดียวกัน ปัญหาความด้อยพัฒนาในทวีปแอฟริกาไม่ได้เกิดจากการขาดแคลนเงินช่วยเหลือ แต่เพราะการโกงกินของนักการเมืองท้องถิ่นทำให้ไม่ว่าจะส่งเงินและสิ่งของไปเท่าใดก็ไม่เคยถึงมือผู้เดือนร้อนตัวจริงสักที

อย่างที่เราท่องจำกันมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ นั่นแหละ เศรษฐศาสตร์คือวิชาที่ศึกษาการแพร่กระจายของทรัพยากรอันจำกัดไปสู่ความต้องการของผู้คนซึ่งไม่มีขีดจำกัด หัวใจของมันคือการแพร่กระจาย ต่อให้นักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรประดิษฐ์คิดค้นอะไรที่มันโดราเอมอนสักแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นรถแสงอาทิตย์ แผงควบคุมไฟฟ้าประหยัดพลังงาน หรือกังหันลมปั่นไฟถ้าขาดนโยบายทางการตลาดที่ดี เราก็จะไม่มีวันนำของวิเศษเหล่านั้นมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ

ใครยังจำโทรศัพท์มือถือรุ่นแรกได้บ้าง เครื่องบักควายที่จะไปไหนมาไหนต้องถือแบตเตอรีขนาดเท่ากระเป๋าใบหนึ่งและตัวเครื่องเท่ากระเป๋าอีกใบหนึ่ง ถึงจะบอกว่าเป็นโทรศัพท์มือถือ แต่อย่างเก่งคือคนส่วนใหญ่ต้องทิ้งมันไว้ในรถ ดูจากสมัยนั้น ใครจะเชื่อบ้างว่ามันคือเทคโนโลยีแห่งอนาคต กระนั้นก็ตาม คนก็ยังซื้อใช้มัน และเพราะมีคนซื้อ มีตลาดนั่นเอง ทางบริษัทมือถือถึงสามารถเอาเงินทุนมาพัฒนาสินค้าต่อไปได้เรื่อยๆ ลองมองรอบตัวเราดู ไม่ว่าจะเป็นไอพอด อินเตอร์เนต (แรกสุดที่ต้องแย่งสายกับโทรศัพท์บ้าน) ไม่มีเทคโนโลยีตัวไหนหรอกที่เริ่มต้นมาอย่างสมบูรณ์แบบ ของวิเศษของโดราเอนมอนก็เฉกเช่นเดียวกันนั่นแหละ

Hot, Flat and Crowded เป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์ยั่งยืนที่สมควรหามาอ่านกันมากๆ ไฟรด์แมนเถียงว่าเราไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจหรือการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่การพัฒนาทางเศรษฐศาสตร์ที่ยั่งยืนจะสามารถตอบโจทย์ได้ในทุกๆ เรื่อง เราสามารถแก้ไขปัญหาความยากจน ไปพร้อมๆ กับการลดภาวะโลกร้อนและการรักษาพันธุ์สัตว์ รวมไปถึงความมั่นคงทางด้านการเมืองด้วย

สำหรับคนอ่านกลุ่มเป้าหมายหลักของ Hot, Flat and Crowded ซึ่งเป็นประชาชนชาวอเมริกันนั้น หนังสือเล่มนี้คงไม่ต่างอะไรเท่าไหร่กับคำทำนายของนอสตราดามุส ในทศวรรษหน้า เทคโนโลยีแห่งโลกอนาคตคือพลังงานสะอาด นำกลับมาใช้ไหมได้ และไม่มีวันหมด ซึ่งในแง่นี้อเมริกาตามหลังประเทศยุโรปและญี่ปุ่นอยู่หลายขุม แม้กระทั่งประเทศจีนเองก็ไม่แน่เหมือนกันว่าอาจจะใช้พลังงานสีเขียวยึดครองตลาดโลก (ให้ทายว่าชาวจีนที่ร่ำรวยติดอันดับแปดของประเทศทำธุรกิจอะไร? คำตอบ ขายแผงโซลาเซลล์!) ถ้าชาวอเมริกันและรัฐบาลไม่ทำอะไรสักอย่าง นั่นหมายถึงการสิ้นสุดสถานภาพเจ้าโลกของประเทศอเมริกา

Hot, Flat and Crowded เปิดช่องทางให้เราได้เห็นโอกาสที่จะเสริมสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต แม้เราจะไม่มีพื้นฐานทางวิศวกรรมศาสตร์พอจะไปแข่งขันกับยุโรป ญี่ปุ่น หรือจีนในเรื่องพลังงานสีเขียว แต่เรามีป่าไม้ซึ่งสามารถใช้จำกัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เร็วๆ นี้เพิ่งได้อ่านบทความใน Times ที่พูดถึงอินโดนีเซียรักษาป่าไม้ในประเทศตัวเองและขายคาร์บอนเครดิตให้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว ถ้าโครงการณ์นี้สำเร็จลงได้ เหตุใดจะเอามาใช้กับประเทศไทยไม่ได้เล่า

ผู้มีอำนาจครับ กรุณาตื่นตัวด่วน เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมนี่ต่างหากคืออินเตอร์เนตแห่งศตวรรษที่ 21 ประเทศไทยอยากจะมี google เป็นของเราเองหรือไม่