R. Davies's "The Rebel Angels"


เช็คดูว่าครั้งสุดท้ายที่อัพเดทบลอคคือวันที่ 22 พฤศจิกายน อะไรกันเนี่ย เกือบสองอาทิตย์เชียวหรือกว่าเราจะอ่านหนังสือจบอีกเล่มหนึ่ง ช่วงนี้ยุ่งมากๆ ครับ พอย้อนกลับไปดูบันทึกของปีที่แล้ว ก็พบว่าเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วก็อ่านได้แค่สี่เล่ม คงเป็นอะไรสักอย่างเกี่ยวกับช่วงฤดูใบไม้ผลิ เปลี่ยนเป็นฤดูหนาว

มาคุยเรื่อง The Rebel Angels กันดีกว่า ชื่อหนังสือหมายถึงเทวดาตกสวรรค์ผู้ขัดบัญชาพระเป็นเจ้า ถูกขับลงมายังโลกมนุษย์ และมอบวิชาความรู้ให้แก่พวกเรา เข้าใจว่าเป็นตำนานคริสเตียน แต่คงได้อิทธิพลโพรเมเทียสของกรีกมาไม่น้อย เทวดาตกสวรรค์ดังๆ ก็ได้แก่ซามาฮาไซ อะซาเซล แล้วก็ลูซิเฟอร์ ในที่นี้เดวีส์เปรียบเทียบพวกเขากับเหล่าอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้ประสิทธิประสาทวิชาความรู้ และนักวิชาการ ผู้ค้นคว้า ไขความลับของจักรวาล The Rebel Angels คือนิยายที่มีฉากตลอดทั้งเรื่องเป็นโรงเรียนเก่าแก่ชื่อว่าสปู๊ค

กับผลงานชิ้นก่อนๆ ของเดวีส์เราตัดสินใจไม่ถูกว่าผู้เขียนมีความคิดเห็นอย่างไรกับการศึกษา เขาเป็นแบบมาร์ค ทเวนเจ้าของคำคม "I have never let my schooling interfere with my education." หรือเชื่อมั่นในระบบโรงเรียนกันแน่ The Rebel Angels เหมือนจะพูดถึงความขัดแย้งตรงนี้ มีตัวละครหลายตัวต่อต้านการศึกษา แต่ผู้เล่าเรื่องสองคนกลับเป็นตัวแทนของผู้หลงใหลการใฝ่วิชาในสถานศึกษา

ยังไม่ได้เล่าเรื่องเลย จริงๆ แล้วเล่ายากอยู่เหมือนกัน The Rebel Angels มีหลายอย่างคล้ายคลึงกับนิยายของไอริช เมอร์ดอคตรงที่มีตัวละครหลายตัวดำเนินเรื่องจากหลายทิศทาง มาเรียเป็นลูกสาวยิปซี ชีวิตเธอต้องเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างโลกสมัยใหม่ และครอบครัวซึ่งยังเชื่อเรื่องลี้ลับ เปิดเรื่องมา เธอเล่าให้เราฟังว่าเธอมีอะไรกับอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งหญิงสาวแอบหลงรัก ขณะเดียวกันมหาเศรษฐี คอร์นิชเพิ่งเสียชีวิต และหนึ่งในผู้จัดการมรดกอันประกอบด้วยสมบัติ โบราณวัตถุล้ำค้าก็คืออาจารย์ของมาเรียนั่นเอง โฮลิเออร์ต้องการหนังสือเล่มหนึ่งในของสะสมของคอร์นิช ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นกุญแจสู่งานวิจัย

ผู้เล่าเรื่องอีกคนคือดาร์คอร์ท เป็นนักบวช และอาจารย์ซึ่งก็แอบหลงรักมาเรียเช่นกัน ตัวละครดาร์คอร์ทนี้ ถ้าใช้ศัพท์ของเดวีส์อธิบายก็ต้องเรียกว่าเป็น "the Fifth Business" หรือตัวประก๊อบตัวประกอบดีๆ นี่เอง แกแทบไม่เกี่ยวข้องใดๆ เลยกับประเด็นหลัก ไม่เข้าใจเหมือนกันทำไมเดวีส์ถึงได้หลงไหลตัวละครจำพวกนี้นัก

ตัวละครสำคัญอีกตัวคือพาราเบน ซึ่งหลุดมาจากนิยายของไอริช เมอดอกเป๊ะๆ อดีตพระ นักปรัชญา อัจฉริยะปีศาจผู้ชอบเล่นกับจิตใจ และหลอกใช้ผู้อื่น พาราเบนพยายามเขียนนิยายเล่มหนึ่ง ซึ่งเขาเชื่อว่ามันจะกลายเป็นหนังสือคลาสสิคให้ผู้คนตามอ่าน ตีความทุกยุคสมัย และเพื่อการนั้น เขายอมทำได้ทุกอย่าง ถึงจะเหมือนตัวละครเมอดอก แต่พาราเบนมีจุดจบที่ต่างออกไป ทำให้พอจับได้ถึงความรู้สึกที่นักเขียนสองคนนี้มีต่อตัวละครจำพวกซาตาน เมมฟิสโตฟีเลีย

ให้เทียบกับไตรภาคเดปฟอร์ด ไตรภาคคอร์นิชดูมีความเกี่ยวพันกันระหว่างเล่มกว่า พออ่าน The Rebel Angels จบ รู้สึกว่าหลายส่วนยังไม่สมบูรณ์ ถ้าได้อ่านเรื่องจากมุมมองของตัวละครอื่นๆ บ้างเช่นพาราเบน หรืออาร์เธอ คอร์นิช หลานชายมหาเศรษฐี (ซึ่งตอนหลังกลายมาเป็นพระเอกขี่ม้าขาว) คงเห็นภาพครบกว่านี้ หรืออย่างโฮลิเออร์ จริงๆ แล้วเป็นตัวละครตัวนี้น่าค้นหา แต่เหมือนเราแค่เห็นบทบาทของเขาเป็นท่อนๆ

ก็ต้องดูกันต่อไปว่า What's Bred in the Bone กับ The Lyre of Orpheus จะตอบคำถามเหล่านี้ได้หรือไม่

หมายเหตุ: เพิ่งไปอ่านเนื้อเรื่องย่อสองเล่มนี้ รู้สึกว่าจะไม่แฮะ :P

No comments: