J. Conrad's "Lord Jim"

Money lost, something lost. Honor lost, much lost. Courage lost, everything lost-better you were never born 
-- Johann Wolfgang von Goethe
วุ่นวายจนไม่เป็นอันได้อ่านหนังสือเลย หรือถึงอ่านก็ไม่สามารถเขียนบทวิจารณ์ได้   แต่เพื่อไม่ให้ขาดช่วงเลยกัดฟันหยิบ Lord Jim ของคอนราดมาลิ้มๆ ชิมๆ ให้จบ

นี่คือเรื่องเล่าของมาโลว์ (ตาคนเดิมจาก Heart of Darkness) แต่หนนี้ไม่ได้ว่าด้วยความมืดลึกสุดหยั่งของเคิร์ท แต่เป็นเรื่องที่แทบจะตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง   "ท่านจิม" เป็นเด็กหนุ่มผู้ถูกตามหลอกหลอนด้วยความผิดพลาดเพียงหนเดียวในชีวิต

ครึ่งแรกของหนังสือพูดถึงความผิดพลาดนั้น จิมเป็นลูกเรือที่ประสบภัยกลางสมุทร   เขาเอาตัวรอดมาได้ โดยแลกกับชีวิตลูกเรือเกือบสองร้อยคน   เหตุเกิดในยามค่ำคืน จิมเป็นคนแรกที่รู้ว่าเรือกำลังจะจม   เขาตัดสินไม่ยอมปลุกลูกเรือคนอื่นที่กำลังหลับอยู่ เพราะจิมเชื่อว่าต่อให้ปลุกขึ้นมา ก็มีแต่ความโกลาหลวุ่นวาย และสุดท้าย ก็คงไม่ทันการ ต้องตายตกตามกันไปทั้งหมดอยู่ดี   ความ "ขี้ขลาด" นี้เองที่ตามหลอกหลอนจิมไปตลอดชีวิต

จุดที่เราชอบมากก็คือคอนราดย้ำตลอดเวลาว่ามาตรฐานที่จิมใช้ตัดสินตัวเอง ไม่ใช่มาตรฐานสากลที่คนอื่นจะต้องยึดถือด้วย   ตัวละครหลายตัวในนิยาย พอรับรู้อดีตแต่หนหลังของจิมก็ได้แต่ยักไหล่ จะอะไรกันนักกันหนา   คนที่ไม่เข้าใจความทุกข์ยากตรงนี้ (เหมือนเรา) ก็ลองชายตาขึ้นไปอ่านวาทะอมตะของเกอเธอะข้างบนดู

ส่วนตัวเห็นว่า Lord Jim เป็นหนังสือที่ "อ่านยาก" ทีเดียว เพราะคอนราดเล่าเรื่องด้วย "เสียง" ของมาโลว์ที่กำลังสนทนาอยู่กับตัวละครอีกตัวหนึ่ง   ทุกย่อหน้าของ Lord Jim บรรจุอยู่ในเครื่องหมายอัญประกาศ (เพราะเป็นเสียงของมาโลว์) และในเครื่องหมายอัญประกาศ บางทีก็มีอัญประกาศซ้อน เวลาตัวละครในเรื่องเล่าสนทนากันเอง   อ่านไปก็จะงงไปว่าตกลง ย่อหน้านี้ เรากำลังอ่านเรื่องเล่าของมาโลว์ หรือเรื่องเล่าของตัวละครที่ซ้อนอยู่ในเรื่องเล่าอีกที และที่งงหนักขึ้น คืออยู่ดีๆ ทำไมอีตามาโลว์มันมาสนทนายืดยาวจนได้หนังสือเป็นเล่มขนาดนี้   (ไม่เข้าใจว่าทำไมคอนราดถึงเลือกจะเล่าเรื่องด้วยวิธีการอันแสนพิสดารนี้ ให้มาโลว์เป็นผู้เล่าบุรุษที่หนึ่งไปเลยไม่ง่ายกว่าหรือ   จริงอยู่ว่า Heart of Darkness ก็เล่าแบบนี้แหละ แต่อันนั้นมันหนังสือสั้นๆ นี่)

R. Herzog's "Dead Funny"

อารมณ์ขันหรือมุกตลกการเมืองคืออะไร แตกต่างจากอารมณ์ขันทั่วไปตรงไหน   รูดอล์ฟ แฮโซก (ลูกชายของแวเนอร์) นิยามเอาไว้ได้น่าขบคิด   อารมณ์ขันการเมือง เกิดเมื่ออุดมการณ์ของผู้ปกครองสวนทางกันโดยสิ้นเชิงกับสภาพความเป็นจริง   นี่คือสาเหตุที่ทำไมวลี "เอาอยู่" ถึงได้ฮิตติดตลาดข้ามปีข้ามชาติในทุกๆ สี

สังคมไทยในระยะหลังนี้ ยิ่งมีอารมณ์ขันล้อเลียนการเมืองในรูปแบบต่างๆ โผล่บน Social Network   อารมณ์ขันเหล่านี้ โดยนัย มีเป้าหมายคือทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์   แต่บางมุก ก็ลามปามใหญ่โต จมมีคนที่รับไม่ได้ ทั้งฝ่ายอนุรักษ์และเสรีนิยม ออกมาตั้งคำถามถึงกาละเทศะ อะไรควรไม่ควร

ใน Dead Funny แฮโซกพูดถึงประวัติศาสตร์ของมุกตลกในอาณาจักรไรซ์ที่สาม   จริงอยู่ อารมณ์ขันอาจเป็นอาวุธทางการเมือง และการเปลี่ยนแปลงอันทรงประสิทธิภาพ แต่ไม่จำเป็นเสมอไปว่าดาราตลก หรือคนที่ผลิตอารมณ์ขัน ต้องเป็นนักต่อสู้ทางการเมือง   ในทางตรงกันข้าม ดาราตลก ก็เหมือนกับคนทุกสาขาอาชีพ คือต้องการทำมาหากิน   และในเมื่อประชาชนยังรักและสนุกกับการหัวเราะเยาะผู้นำประเทศ ต่อให้อยู่ในรัฐเผด็จการแบบนาซี (โดยไม่จำเป็นเสมอไปว่าคนเหล่านี้ต้องต่อต้านนาซี) ดาราตลกก็ยังหากินกับมุกการเมืองได้   และเมื่อไหร่ที่รัฐบาลเริ่มเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามเสียงหัวเราะ พวกเขาก็พร้อมจะสมยอม ต่อรองเพื่อความอยู่รอด

มุกตลกล้อเลียนการเมืองจึงเป็นผลิตผลของสังคมมากกว่าจะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ "ผลิต" สังคม   มุกตลกตาม Social Network อาจมีต้นกำเนิดมาจากความคึกคะนอง สะใจ สิ้นคิด หรืออะไรก็ตาม แต่การตีกรอบพฤติกรรมของนักล้อเลียนด้วยวาทกรรม "ปุ่มกลางหลัง" นั้นถูกที่ถูกทางจริงหรือไม่   เราอาจด่าพวกเขาได้ว่า "ทำอะไรไม่รู้กาละเทศะ" หรือ "ไม่เห็นจะตลกเลย" (และสมควรจะด่าอย่างยิ่ง ถ้าเราคิดเช่นนั้น) แต่การพูดว่า "ทำแบบนี้ ยิ่งแปลกแยกคนที่คิดต่าง" อาจฟังดูขัดเขิน ในเมื่อเป้าหมายของพวกเขาไม่ได้อยู่ที่การขยายฐานมวลชน หรือเผยแพร่แนวคิดนี้ตั้งแต่แรกแล้ว

เราจับตามองปรากฏการณ์ล้อเลียน ในแง่ว่ามันบอกอะไรเกี่ยวกับเด็กรุ่นใหม่และสังคมไทย มากกว่าจะอยากคาดคั้นหรือประเมินคุณค่าทางศีลธรรมของพฤติกรรมเหล่านี้

L. Svendsen's "A Philosophy of Fear" / M. Douglas's "Risk and Culture"




ใครมั่นใจว่าตัวเองเป็นแฟนพันธุ์แท้ City Hunter (การ์ตูนนะ ไม่ใช่ซีรีส์เกาหลี) ก่อนจะอ่านคำเฉลย ลองตอบมาสิว่า ถ้าไม่นับค้อนของคาโอริ ซาเอบะ เรียวกลัวอะไรอีก...คำเฉลยคือ กลัวการนั่งเครื่องบิน (อันนี้ไม่ใช่มุก แต่มาจากการ์ตูนจริงๆ )   จุดอ่อนหรือสิ่งที่พระเอกกลัว เป็นโมทีฟทั่วไปที่พบได้ในภาพยนตร์และการ์ตูน   เป็นนัยว่าเพื่อไม่ให้ตัวละครไร้เทียมทานเกินไป   ใน City Hunter โมทีฟตัวนี้ถูกนำมาใช้เป็นมุกตลก   ผู้อ่านทุกคนรู้ดีว่าเรียวเป็นโคตรมือปืนที่ไม่มีใครทำอันตรายได้ การที่เขากลัวยานพาหนะซึ่งแสนจะไม่มีอันตราย จึงเป็นที่มาของอารมณ์ขันนี้

แต่จำเป็นเสมอไปหรือเปล่าว่า "ความกลัว" ต้องมาพร้อมกับ "อันตราย"   ในหนังสือสองเล่ม สเวนด์เซน และดักลาสตอบตรงกันว่า "ไม่"   เราไม่ได้กลัวสิ่งที่เป็นอันตราย ในทางตรงกันข้าม เรากลัว "ความชั่วร้าย" ต่างหาก   "อันตราย" เกี่ยวพันกับคุณสมบัติทางชีววิทยาและกายภาพของมนุษย์ ซึ่งไม่ต่างกันมากนักในแต่ละวัฒนธรรม   ดังนั้น ถ้าเรากลัว "อันตราย" จริง ทุกวัฒนธรรมน่าจะกลัวอะไรเหมือนๆ กัน   อย่างไรก็ดี ความกลัวถูกครอบงำด้วยศีลธรรม ที่แยกแยะระหว่างความชั่วร้ายและดีงาม ดังนั้นแต่ละวัฒนธรรมจึงมีความกลัวที่แตกต่างกันไป

ดักลาสวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวคิดเรื่อง "มลภาวะ" ระหว่างชนเผ่าพื้นเมือง และมนุษย์ยุคใหม่   ชนเผ่าฮิมาเป็นพวกทำปศุสัตว์ สิ่งที่พวกเขารังเกียจที่สุด (แม้จะหลีกเลี่ยงมันไม่พ้น) คือวิถีชีวิตของชนเผ่าอิรูซึ่งเพาะปลูก ทำไร่ไถนา   "วิทยาศาสตร์" ของฮิมาจึงสร้างแนวคิดเรื่อง "มลภาวะ" ขึ้นมา กล่าวคือใครก็ตามที่กินข้าว (ผลิตผลจากท้องนา) ลงไปผสมกับนม (ผลิตผลจากปศุสัตว์) ในกระเพาะ   ข้าวจะแปดเปื้อนนม ทำให้วัวเจ้าของนมนั้นเสียชีวิตได้   (ชาวฮิมาคนไหนที่ำเป็นต้องกินข้าวจริงๆ หลังจากนั้นต้องอดอาหารเป็นระยะเวลาหนึ่งอาทิตย์ เพื่อรอให้ร่างกายบริสุทธิ์ก่อน)    

แน่นอนว่าสำหรับคนยุคใหม่ที่ศรัทธาในวิทยาศาสตร์อย่างพวกเรา ปรัชญาฮิมาเป็นเรื่องชวนหัว   ดักลาสพยายามชี้ให้เห็นว่า แนวคิดเรื่องมลภาวะสมัยใหม่นั้น ท้ายสุดก็อิงอยู่บนอคติด้านศีลธรรม ไม่ต่างจากชนเผ่าฮิมานัก   ดักลาสใช้ตัวอย่างจากกรณีคาซิโนเจน หรือสารก่อมะเร็ง   เธออ้างว่า กระทั่งในปัจจุบัน นอกจากบุหรี่ที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดค่อนข้างแน่นอนแล้ว วิทยาศาสตร์ก็ยังไม่มีตัวเลขทางสถิติที่น่าเชื่อถือว่าอะไรก่อหรือไม่ก่อมะเร็งเป็นสัดส่วนเท่าไหร่   การหลีกเลี่ยงไม่ยอมใช้ "สารก่อมะเร็ง" บางชนิด สุดท้ายแล้วอาจสร้างความเสียหายทางด้านชีวิตและทรัพย์สินมากกว่าการยอมเสี่ยงกับมันก็ได้ (คลอรีนในน้ำดื่ม และยาฆ่าแมลงดีดีที คือตัวอย่างที่นักคิดสำนักนี้ชอบอ้างกัน)

ความกลัวของมนุษย์ยุคใหม่จึงอิงอยู่บนข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ และความเชื่อในแต่ละวัฒนธรรมว่าอะไรคือสิ่ง "ชั่วร้าย"   ในทางสุดโต่ง ทุกวาทกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมจึงเป็นวาทกรรมทางการเมือง ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อแบ่งแยกคนออกเป็นสองจำพวก (เทพและมาร ฮิมาและอิรู พวกเราและพวกเขา)   นักอนุรักษ์ไม่ต้องจูบปากนักการเมือง แต่พวกเขาไม่ควรแกล้งหลงลืมไปว่า กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยง และผสานประโยชน์ระหว่างคนหมู่มากเช่นที่พวกเขากำลังทำนี้ ที่สุดแล้วก็คือกิจกรรมทางการเมืองอย่างหนึ่งนั่นเอง

A. Chekhov's "The Cherry Orchard"

ว่ากันว่า "นิยาม" ของหนังสือคลาสสิคคือ เราสามารถหยิบขึ้นมาอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้ โดยความเข้าใจจะแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามช่วงวัย   แต่ถ้าถามว่าชีวิตนี้ เคยมีประสบการณ์อะไรทำนองนี้ไหม ตอบตรงๆ คือ The Cherry Orchard นี่แหละเป็นครั้งแรก

เจ็ดปีที่แล้วตอนอ่านบทละครเรื่องนี้ครั้งแรก คุ้นๆ ว่านี่เป็นบทละครโศกนาฏกรรม ว่าด้วยชายหญิงวัยกลางคนซึ่งถูกขับไล่ออกจากบ้านของตัวเอง เพราะติดหนี้นายทุน ต้องขายที่ดินมาสร้างเป็นบ้านพักตากอากาศ   ต้นเชอรีเป็นสัญลักษณ์แทนความผูกพันที่หญิงวัยกลางคนมีต่อที่ดิน และความทรงจำในอดีต   ขณะเดียวกันรางรถไฟที่ตัดผ่านสวนเชอรีก็คือสัญลักษณ์ของ "ความเจริญ" ที่มาทำลายวิถีชนบท

แต่พอกลับมาอ่านอีกรอบ พบว่าจริงๆ แล้วเราถูกแค่เสี้ยวเดียวเท่านั้น   มีหลายปมซับซ้อนกว่าที่อธิบายข้างบนมาก   อย่างแรกเชคอฟไม่ใช่พวกกันดารนิยมแต่อย่างใด ออกแนวนครนิยมเสียด้วยซ้ำ   เขาชอบความศิวิไลซ์ งานศิลปะ แสงสีเสียงในเมืองใหญ่   ชนบทกันดารสำหรับเชคอฟหมายถึงความน่าเบื่อหน่าย สิ่งแวดล้อมที่บดเบียด ทิ่มแทงทำร้ายตัวละคร (เชคอฟเป็นนักเขียนคนเดียว ที่ยกระดับความน่าเบื่อหน่ายให้กลายเป็น "ความชั่วร้าย" หลักของเรื่อง)  

"ความเจริญ" ที่มาพร้อมกับรางรถไฟใน The Cherry Orchard จึงน่าจะหมายถึงความเจริญจริงๆ (แบบไม่มีเครื่องหมายคำพูด)   นอกจากนี้เรายังจับได้ถึงช่องว่างระหว่างวัย   ขณะที่ชายหญิงวัยกลางคนคร่ำครวญถึงความสูญเสีย คนรุ่นใหม่โอบกอดความเปลี่ยนแปลง และมองเห็นโอกาสในวิกฤตินี้

ตอนอ่านครั้งแรก เราฉงนมากที่เชคอฟเรียกบทละครเรื่องนี้ว่า "comedy"   ถึงตอนนี้เราอาจพูดได้ไม่เต็มปากว่ามันเป็นบทละครชวนหัว แต่เจ็ดปีผ่านไป ช่วยให้เรามองเห็นความเป็นมนุษย์ และความกำกวมในบทละครชิ้นนี้

S. Zizek's "How to Read Lacan"

วันนี้เป็นวันพืชมงคล เร็วๆ นี้มีคนเอาข้อมูลคำทำนายปริมาณฝนของพระโค (น้ำน้อย น้ำมาก น้ำพอดี) มาเปรียบเทียบกับที่วัดได้จากกรมอุตุฯ พบว่าพระโคทายไม่ค่อยถูกนัก (แต่จะผิดเละเทะขนาดว่าแย่กว่าหนึ่งในสามเลยหรือเปล่า ก็ต้องไปตัดสินกันเอาเอง)   ประเด็นก็คือ ถ้าพระโคและพิธีแรกนาขวัญไม่ได้มีประโยชน์อะไรในการทำนายทายทัก   ในโลกวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องรักษาพิธีนี้ต่อไปไหม และเพื่อการใด

ก่อนจะสรุปว่าพิธีแรกนาขวัญเป็นเรื่องงมงายของโลกยุคเก่า ลองชะแว้บไปดูโลกยุคใหม่กันบ้าง   เมื่อเร็วๆ นี้ อยู่ดีๆ ก็มีเพื่อนโทรศัพท์มา บอกให้ช่วยไปโรงแรมสุดหรูแห่งหนึ่งหน่อย   รักชวนหัวมีภารกิจต้องปลอมตัวเป็นนักข่าว   บริษัทนำเข้าสินค้ายี่ห้อหนึ่งได้รับคำสั่งจากต้นสังกัดให้จัดงานเปิดตัวสินค้า   ปรากฏว่าสื่อมาน้อยกว่าที่คาด   ผลคือรักชวนหัว ต้องไปนั่งปั้นหน้าเป็นสื่อ จดขยุกขยิกลงสมุดโน้ต แล้วยื่น Nokia 3310 (ที่อัดเสียงไม่ได้) จ่อปากฝรั่งขณะให้สัมภาษณ์   พอเสร็จงานถามเพื่อนว่า ต้องไปขอก็อปไฟล์เสียงจากนักข่าว (ตัวจริง) ด้วยหรือเปล่า   มันตอบว่าไม่ต้อง ไม่มีใครเขาอัดเสียงกันหรอก press kit อย่างเดียวก็ข้อมูลพอแล้ว

สรุปคือทั้งหมดที่เกิดขึ้น เป็น ritual หรือพิธีกรรมในโลกทุนนิยม ที่พราหมณ์หรือเจ้าของบริษัทไทยจัดขึ้นเพื่อเทิดทูนเทพเจ้าหรือบริษัทฝรั่งต้นสังกัดนั่นเอง   หากมองกันจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นโลกยุคเก่าหรือยุคใหม่ ทุกสังคมต่างก็สลัดพิธีกรรมไม่พ้น เพราะเหตุใด

ซีเซค (อ่านลากอง) พูดถึง Prayer Wheel ของชาวธิเบต   อุปกรณ์ที่ให้เราใส่คำอธิษฐานลงไป แล้วหมุนล้อ ระหว่างนั้นก็จะถือว่าล้อได้ช่วยสวดช่วยอธิษฐานให้กับเรา   ซีเซคบอกว่าในโลกสมัยใหม่ก็มีอุปกรณ์หลายอย่างที่ทำงานคล้ายคลึงกับ Prayer Wheel เช่น เครื่องอัดรายการโทรทัศน์หรือ Tivo   ผู้ใช้ส่วนใหญ่บอกว่าตั้งแต่มี Tivo ตัวเองดูทีวีน้อยลง เพราะเมื่ออัดรายการโทรทัศน์ไว้แล้ว ก็เหมือนกับว่าเครื่องมัน "ดูแทน" ไปเรียบร้อย เจ้าตัวสามารถเอาเวลาไปทำกิจธุระอย่างอื่นได้

ซีเซคให้เหตุผลว่า เครื่องกลที่ "ทำหน้าที่" แทนมนุษย์ (กรณีนี้ไม่ใช่แค่ "ทำหน้าที่" อย่างเดียว แต่ยังสนุกสนานไปกับรายการทีวี หรือเปี่ยมหวังและศรัทธาได้ด้วย) ก็ไม่ต่างอะไรจากพิธีกรรม   ตรงข้ามกับคำพูดติดปากคริสเตียนว่า "ถ้าท่านไม่เชื่อในพระเจ้า จงโน้มตัวลงและสวดมนต์เสีย แล้วสักพักความเชื่อจะสถิตมาสู่ท่านเอง" ซีเซคบอกว่า "จงโน้มตัวลงและสวดมนต์เสีย ออกอาการเหมือนเชื่อในพระเจ้า แล้วสักพักความเชื่อจะสลัดหลุดไปจากท่านเอง"   พูดแบบ paradox ก็คือ บางทีที่พิธีแรกนาขวัญอาจจะยัง relevant อยู่ในยุควิทยาศาสตร์แบบนี้ ก็ precisely เพื่อให้เราสลัดความงมงายทิ้งนั่นเอง (ฉันทำพิธีแล้ว ฉันไม่ต้องเชื่อแล้ว สามารถเอาเวลาไปทำมาหากิน หรือใช้ชีวิตอยู่ใน "โลกสมัยใหม่" ได้)

ถ้ายังรู้สึกแหม่งๆ กับความคิดนี้ ลองถามตัวเอง เคยไหมที่เผลอไปลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยไม่ได้ตั้งใจ (เช่น เร็วๆ นี้ รักชวนหัวเดินในห้าง แล้วเผลอเอามือไปปัดหัวสิงโตหิน)   เราเลือกจะแสดงออกเชิงพิธีกรรมบางอย่าง (ตบมือตัวเอง หรือยกมือไหว้) ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แล้วบอกว่าฉันไม่ใช่คนงมงาย แต่กลับกลายเป็นว่า วันนั้นทั้งวันเราเอาแต่หมกมุ่นคิดถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น   หากว่าเรายกๆ มือไหว้ไปตั้งแต่ตอนนั้น อาจสลัด "ความเชื่อ" นี้ออกจากหัวได้รวดเร็วกว่าด้วยซ้ำ

J. D. Hunter's "Culture Wars: The Struggle to Define America"


สิ่งแรกที่คุณควรรู้เกี่ยวกับ culture wars หรือ สงครามวัฒนธรรม   คือเมืองไทยกำลังอยู่ในภาวะสงครามวัฒนธรรม การไม่ชอบ ปฏิเสธ หรือทำไม่รู้ไม่ชี้ ไม่ได้ช่วยให้สงครามนี้สงบลง   การตระหนักรู้และเข้าใจที่มาที่ไปต่างหาก ที่จะตีกรอบสงครามให้อยู่แต่ในเขตแดนทาง "วัฒนธรรม" เท่านั้น

สงครามวัฒนธรรมคืออะไร   นิยามสั้นๆ ของวัฒนธรรมคือโครงสร้างที่กำหนดความหมาย ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง และช่วยให้ปฏิสัมพัทธ์ระหว่างผู้คนดำเนินไปอย่างราบรื่น   การช่วงชิงทางวัฒนธรรม ที่สุดก็คือการกำหนด "ศีลธรรม" ของสังคมนั่นเอง   มันคือการต่อสู้เพื่อนิยามว่าสิ่งใดคือความดีงาม สิ่งใดคือความชั่วร้าย

สงครามวัฒนธรรมคือการต่อสู้ระหว่างใครกับใคร   ใน Culture Wars: The Struggle to Define America  ฮันเตอร์ใช้คำว่าฝ่าย orthodoxy และ progressive   orthodoxy หมายถึงความเชื่อว่าคุณค่าที่ใช้ตัดสินความดีงามของมนุษย์ อยู่เหนือขึ้นไปจากสภาวะที่เราพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน หรือไม่ก็ฝังตัวเองอยู่ในอดีตกาลอันไกลโพ้น ขณะที่ progressive เชื่อว่า เฉพาะสิ่งที่พบเห็น สัมผัส และได้ยินในปัจจุบัน สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงจะนำมาใช้ตัดสินความดีงามได้   และประวัติศาสตร์คือยุทโธปกรณ์หลักในสงครามวัฒนธรรมนี้   ต่างฝ่ายต่างพยายามตีความประวัติศาสตร์ เลือกจดจำ และเลือกลืมเลือน ในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง เพื่อนิยามความหมายของ "ความเป็นชาติ"

สิ่งที่พึงระวังที่สุดในการตีความสงครามวัฒนธรรม คือการลดทอนมันเหลือเพียงสภาวะสองขั้ว   ดังเช่น ปัญญาชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ความแตกแยกในบ้านเมืองเราว่าเกิดจาก "ฝั่งหนึ่งต้องการประชาธิปไตย อีกฝั่งหนึ่งต้องการศีลธรรม"   อันที่จริง เป็นไปไม่ได้เลยที่ฝั่งใดจะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยไม่สนใจ หรือ (ยอมรับว่าตัวเอง) ปฏิเสธอีกสิ่งหนึ่งโดยสิ้นเชิง   ดังที่ได้อธิบายไปแล้ว สงครามวัฒนธรรมเป็นเรื่องของการตีความประวัติศาสตร์ *ทั้งหมด* และจำกัดความหมายใหม่ *ทั้งหมด* ให้กับพื้นที่สาธารณะที่แต่ละคนอาศัยอยู่   เป็นเรื่องเปล่าดายที่คนซึ่งอาศัยอยู่บนคนละพื้นที่จะถกเถียงกันในประเด็นเดียว   การลดทอนรูปแบบความขัดแย้งเช่นนี้ ก็เหมือนกับการเล่นฟุตบอล โดยเปิดเกมมาให้กัปตันแต่ละฝ่ายเดาะบอลแข่งกัน หรือให้ศูนย์หน้าแข่งกันโยนบอลไกล

ผลร้ายของการลดทอนรูปแบบความขัดแย้งก็คือต่างฝ่ายต่างคุยกันไม่รู้ภาษา คุยกันคนละเรื่องเดียว จึงไม่น่าแปลกใจที่สุดท้ายแล้ว สงครามวัฒนธรรมไม่ว่าจะเกิดในประเทศไหน ก็มักจะลงเอยที่การใช้คำพูดรุนแรงจั่วหัวซึ่งกันและกัน ลงเอยที่การจับผิด ดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม ("It's not about who's right, but who's left.")

อยากให้หาหนังสือมาอ่าน เพราะนี่อาจจะเป็นอีกเล่มที่สำคัญที่สุดเท่าที่เราเคยถือในมือเลยก็ได้   สั้นๆ สำหรับคนที่อยากรู้ว่าเราจะอยู่กันได้อย่างไรในภาวะสงครามวัฒนธรรมเช่นนี้   คำตอบง่ายมาก วิธีเดียวที่จะตัดสินแพ้ชนะในกีฬาฟุตบอล ก็คือให้ทั้งสองทีมแข่งกันภายใต้กติกาที่กำหนดนั่นเอง (ไว้ว่างๆ อาจจะเขียนถึงเรื่องนี้โดยละเอียดต่อไป)

G. Santayana's "The Sense of Beauty"

ช่างที่ไม่ว่าจะแวะมาบ้านเรากี่ครั้ง แอร์ คอม ทีวี หรือชักโครกก็ยังเสียอยู่นั่นแหละ แท็กซี่ที่ไม่รู้จักถนนหนทาง นักบอลที่เตะลูกโทษแล้วยิงนกตกปลา   คนเหล่านี้ อย่างมากเราก็คงใช้คำว่า "ไม่เอาไหน"​ กับพวกเขา   แต่กับนักเขียนที่เขียนหนังสือ "ไม่เข้าท่า" จิตรกรที่วาดรูป "ไม่เอาอ่าว" หรือนักดนตรีที่ร้องเพลง "ไม่เป็นโล้ ไม่เป็นพาย" รู้สึกไหมว่ามันมีบางอย่างที่เกินกว่า "ไม่เอาไหน"   ศิลปินที่ล้มเหลวในสิ่งที่ตัวเองทำ ความผิดของเขามันช่างใกล้เคียงเหลือเกินกับคำว่า "ชั่วร้าย"

ใช่แล้ว พนักงานรักษาความปลอดภัยจะงีบหลับในเวลางาน อย่างมากก็ "ไม่เป็นมืออาชีพ" แต่พอศิลปินทำตัว "ไม่เป็นมืออาชีพ" บ้าง ความผิดของเขามันร้ายแรงเจียนๆ ผิดศีลธรรมเลยทีเดียว

ซันตายานาวิเคราะห์ไว้ใน The Sense of Beauty ถึงความใกล้เคียงกันอย่างล่อแหลมระหว่าง "ศีลธรรม" และ "ศิลปะ"   พฤติกรรม (ทางศีลธรรม) และผลงาน (ทางศิลปะ) นั้นมีตัวตนอยู่ในโลกภายนอก โลกแห่งความจริง และแม้ว่าเราจะสามารถใช้ทฤษฎีหรือคัมภีร์มาตัดสินคุณค่าของมันได้ แต่ครึ่งหนึ่งของการตีค่าสิ่งเหล่านี้อยู่ที่ตัวผู้เสพเอาพฤติกรรมและผลงานไปแนบไว้กับตัว เพื่อให้ความรู้สึกส่วนบุคคลทำหน้าที่   ด้วยเหตุนี้บาดแผลของการถูกทำร้ายด้วยงานศิลปะ จึงเป็นอีกเวอร์ชั่นย่อๆ ของบาดแผลการถูกทำร้ายด้วยพฤติกรรม (ที่ผิดศีลธรรม)

ประเด็นที่ซันตายานาแวะเวียนกลับมาหาตลอดทั้งเล่มคือ มนุษย์ควรฝึกฝนรสนิยมทางสุทรียะของตัวเองให้หลักแหลมเข้าไว้ เพราะนั่นเท่ากับการฝึกฝนตาชั่งที่ใช้ตัดสินความผิดชอบชั่วดีในตัวเราเฉกเช่นกัน   ช่างดูเป็นความคิดที่แหกคอกไม่น้อย เพราะนั่นเท่ากับการกล่าวอ้างว่าศิลปินระดับโลกทุกคนล้วนเป็นผู้มีศีลธรรมจรรยา   (ซันตายานาเองก็คงตระหนักได้ถึงเรื่องนี้ ถึงไม่กล้าพูดออกมาตรงๆ แต่เป็นธีมหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ระหว่างบรรทัด)

แปลกพิกลที่เราค่อนข้างเห็นคล้อยตามความคิดแหวกแนวตรงนี้   เราเชื่ออยู่เสมอว่า เราสามารถ "จับได้"​ ถึงตัวตนศิลปินที่ซ่อนอยู่หลังผลงาน   และแม้จะมี cliche ว่าด้วยแฟนๆ ที่ผิดหวังเมื่อเจอศิลปินที่ตัวชื่นชอบ เราพูดได้อย่างเต็มปากว่า ชั่วชีวิตเราผิดหวังกับนักเขียนตัวเป็นๆ น้อยมาก (เราผิดหวังกับตัวนักดนตรีบ่อยกว่า)

W. Shakespeare's "Julius Caesar" / "Anthony and Cleopatra"

ถ้ามีคนถามเราว่า จากบทละคร 37 เรื่องของเชคสเปียร์ ขอเลือกอ่าน เลือกดูแค่เรื่องเดียว ควรเลือกเรื่องไหนดี จึงจะสิริรวมความเป็นเชคสเปียร์ได้ดีที่สุด แน่นอนว่าคำตอบที่ถูกต้องคือ “เป็นไปไม่ได้” การเลือกผลงานเพียงชิ้นเดียวเพื่อสิริรวมนักเขียนคนหนึ่งนั้น เป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะกับนักเขียนคนใดก็ตาม และยิ่งเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะถ้านักเขียนคนนั้นเป็นเชคสเปียร์

แต่ถ้าถูกบังคับให้ตอบจริงๆ เราจะตอบว่า Julius Caesar

ไม่มีบทละครเรื่องใดของเชคสเปียร์ที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ระหว่างความดีงามและความชั่วร้าย ตัวละครของเชคสเปียร์ล้วนเป็นสีเทา มีแต่ความดีที่ถูกลดหย่อนลงมา และความชั่วที่ถูกขัดถูให้เงางาม และเชคสเปียร์ทำสิ่งนั้นได้ด้วยการเมือง บทละครแทบทุกเรื่องของเชคสเปียร์คือการเขียนเกี่ยวกับการเมือง การเมืองในที่นี้ เกิดจากการแยกออกจากกันระหว่างพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ

สิ่งนี้ชัดเจน (และจับสังเกต) ง่ายที่สุดใน Julius Caesar ยิ่งวันเวลาผ่านไป บทละครเรื่องนี้ก็สามารถถูกตีความให้แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ในช่วงที่กระแสชาตินิยมรุนแรง Julius Caesar ถูกอ่านให้เป็นโศกนาฏกรรมของบรูตัส และบรรดาผู้ร่วมก่อการกบฏ แต่ในบางยุคสมัย (น่าจะรวมไปถึงยุคของเชคสเปียร์ด้วย) มันถูกอ่านให้เป็นโศกนาฏกรรมทางการเมือง ที่บางครั้งผู้มีเจตนาดี อาจก่อความพินาศฉิบหายก็เป็นได้ ในพื้นที่สาธารณะบรูตัสและสหายคือผู้ก่อความวุ่นวาย นำพากรุงโรมไปสู่สงครามการเมือง

เชคสเปียร์ contrast ภาพลักษณ์นั้นกับพื้นที่ส่วนตัวของคนเหล่านี้ ขณะที่บรูตัสทรงเกียรติ ไม่ยอมแม้แต่ซื้อขายตำแหน่งเพื่อเงินเพียงเล็กน้อย แอนโธนีและฝ่ายตรงข้ามไม่ละอายใจที่จะไล่ล่าสังหารบรรดาวุฒิสมาชิก เพื่อรวบรวมทุนมาก่อสงคราม (และในท้ายที่สุด ก็เป็นฝ่ายแอนโธนีและซีซาที่มีชัย)

ในความเห็นของเรา พื้นฐานการอ่านเชคสเปียร์ที่สำคัญที่สุดคือการแยกพื้นที่ของบทละคร เพื่อให้เห็นถึงภาวะความดีงามและเลวทรามที่ย้อนแย้งกันอยู่ในแต่ละพื้นที่

ประเด็นนี้ก็ค่อนข้างชัดเจนใน Anthony and Cleopatra สองพื้นที่ได้แก่กรุงโรมและอเลกซานเดีย พื้นที่แรก เป็นพื้นที่ของทหาร การแย่งชิงอำนาจ และการเมือง ส่วนพื้นที่หลัง เป็นพื้นที่ของการดื่มด่ำ สรวลเส และการเมืองอีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ไหน ในโลกของผู้ชายโรมัน หรือผู้หญิงอียิปต์ การเมืองก็คือเฟืองที่ขับเคลื่อนเหตุการณ์

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวแล้วเราไม่ค่อยชอบ Anthony and Cleopatra เท่าไหร่ น่าจะเป็นบทละครของเชคสเปียร์ที่เราชอบน้อยที่สุดเรื่องหนึ่ง มันเต็มไปด้วยการตัดสลับไปมา และเหตุการณ์สำคัญๆ ถูกเล่าย้อนหลังด้วย exposition มากกว่าจะเห็นกับตา กระนั้นก็ตามเฉกเช่นที่นักวิจารณ์หลายคนยอมรับกัน ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าตัวละครคลีโอพัตราน่าจะเป็นตัวละครหญิงที่มีสีสันที่สุดของเชคสเปียร์ (แต่ก็อีกนั่นแหละ ในเมื่อ source material เป็นถึง “พระนางคลีโอพัตรา” ถ้าเชคสเปียร์เขียนบทละครเรื่อง Madonna แล้วตัวเอกจะออกมาจืดจางได้ ก็ให้มันรู้ไป)

F. Dallmayr's "Integral Pluralism: Beyond Culture Wars"

ถึงแม้ดัลเมย์จะเอ่ยอ้างนักคิด นักปรัชญาหลายคนในหนังสือ Integral Pluralism: Beyond Culture Wars (มีทั้งนักปรัชญาตะวันออกจากจีน อินเดีย รวมถึงคานธีเสียด้วยซ้ำ) แต่คนที่เราอยากพูดถึงที่สุดคืออาย แรนด์ ทั้งที่จริงๆ เธอไม่เกี่ยวอะไรกับหนังสือเล่มนี้เลย แต่แก่นของสิ่งที่ดัลเมย์นำเสนอแท้จริงก็คือหัวใจของ objectivism นั่นเอง

แรนด์แบ่งมาตรฐานที่ใช้วัดความดีงามออกเป็นสามประเภท อย่างแรกคือ dogmatism หมายถึงความดีงามถูกกำหนดไว้แล้วในคัมภีร์ มนุษย์ไม่มีสิทธิถกเถียงหรือตั้งคำถาม ของมันดีเพราะศาสดาบอกว่าดี จบ อย่างที่สองคือ subjectivism หรือลางเนื้อชอบลางยา ความดีงามขึ้นอยู่กับการตัดสินของปัจเจก แต่ละคนมีสิทธิอย่างเต็มที่ในการกำหนดมาตรฐานความดีงามจากอารมณ์ ความรู้สึกส่วนตัว โดยไม่ต้องสนใจว่าคนอื่นๆ ในสังคมจะคิดเช่นไร

โดยผิวเผินแล้ว dogmatism เหมือนจะตรงข้ามกับ subjectivism อย่างสุดกู่ ความหลักแหลมของแรนด์ (และดัลเมย์) คือการตั้งข้อสังเกตว่าในทางปฏิบัติ ไม่มีอะไรอีกแล้วจะใกล้เคียงกันมากไปกว่าสองความคิดนี้ พอมีคนถามพวก dogmatism ว่ารู้ได้ยังไง จารึกในคัมภีร์นั้นเป็นสิ่งดีงาม พวกเขาก็จะหันมาใช้เหตุผลแบบ subjectivism คือความรู้สึกส่วนตัวของเขามันบอกเช่นนั้น

เราเหมือนเคยพูดถึงพฤติกรรมอันย้อนแย้งของกลุ่ม dogmatism/subjectivism เอาไว้แล้ว เวลาคุยกันเอง คนประเภทนี้มีท่าทีแบบ dogmatism พูดจาใหญ่โต ถากถางความคิดเห็นคนอื่น แต่พอต้องออกมาถกเถียงนอกกลุ่ม (และมักจะเถียงแพ้ด้วย) ก็จะหันมาใช้ท่าทีแบบ subjectivism แทน คือฉันเชื่อของฉันแบบนี้ ฉันมี "อคติ" แบบนี้ พวกเธอไม่มีสิทธิอะไรจะมาเปลี่ยนแปลงความคิดฉัน หรือไม่ก็ ที่พวกเธอคิดแบบนี้ (และฉันเถียงสู้เธอไม่ได้) เพราะ "เธอไม่ใช่คนไทย" "เธอไม่รักชาติ" "เธออ่านหนังสือมากเกินไป" กล่าวโดยสรุป สถานะความเป็นมนุษย์ของเธอสู้ฉันไม่ได้ ("เธอไม่ใช่คนดีเหมือนฉัน") ดังนั้น subjectivism ของเธอก็เลยสู้ฉันไม่ได้ด้วย (แม้ว่าฉันจะเถียงแพ้เธอก็ตาม) ด้วยประการฉะนี้ dogmatism กับ subjectivism ก็เลยไปกันได้อย่างน่าเหลือเชื่อ

ทางเลือกที่สามที่แรนด์เสนอคือ objectivism แต่ละปัจเจกมีสิทธิเชื่ออะไรก็ได้ แต่เมื่อไหร่ที่มาถกเถียงกันด้วยเหตุผล หลักฐาน จะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูก และอีกฝ่ายหนึ่งผิด ***คนที่เถียงแพ้คนอื่น ไม่มีสิทธิถือครองความคิดของตัวเองอีกต่อไป*** objectivism ของแรนด์คือการเชิดชูเหตุผล ว่าเป็นไม้บรรทัดหนึ่งเดียวที่ใช้วัดความถูกผิด ในขณะที่ดัลเมย์ใจกว้างกว่านั้น เขาอ้างคำพูดของคาร์ล ชมิตต์ โดยบอกว่าพื้นที่หรือกิจกรรมการถกเถียงนั่นแหละคือที่มาของ "การเมือง"

แม้ว่าแนวคิดของแรนด์จะคงแข็ง ตายตัวเกินไปในโลกยุคหลังสมัยใหม่ (และอย่างที่เคยบอกไปแล้ว ปัจจุบัน objectivism ดูจะกลายสถานะไปเป็นลัทธิเพี้ยนๆ ที่ปฏิเสธวิทยาศาสตร์ซะงั้น) แต่คบเพลิงที่ส่งต่อจากแรนด์ มาถึงดัลเมย์ (โดยไม่ตั้งใจ) ดูจะเป็นทางเดินแคบๆ ท่ามกลางสองฝั่งหุบเหวระหว่าง dogmatism และ subjectivism

A. Schopenhauer's "The Art of Literature"

หมายเหตุ: ไม่เคยอ่านงานชิ้นอื่นของโชเปนฮาวเวอร์เลย การตัดสินความคิดของนักเขียนคนหนึ่ง จากผลงานชิ้นเดียวดูเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม อย่างไรก็ดี โชเปนฮาวเวอร์เองนั่นแหละที่บอกว่า ถ้าเราอยากรู้ความคิดอ่านของนักเขียนคนหนึ่ง เราจำเป็นต้องอ่าน "เนื้อหา" ผลงานทุกชิ้นของเขา แต่ถ้าเราจับสังเกต "รูปแบบ" (style) ในผลงานเพียงชิ้นเดียว เราจะรู้กลวิธีการใช้ความคิดของนักเขียนคนนั้น และสามารถคาดการณ์เนื้อหาในผลงานชิ้นอื่นๆ ได้

ออกตัวก่อนว่าเราไม่ชอบโชเปนฮาวเวอร์ ในโลกแห่งนักปรัชญาตะวันตก (โดยเฉพาะสาย "แข็ง" อย่างในเยอรมัน) โชเปนฮาวเวอร์ดูเป็นสีสันที่พิสดารไม่เหมือนใครดี แกมีอะไรบางอย่างคล้ายคลึงกับพวก "ปัญญาชนสยาม" มากกว่า "นักปรัชญา" กล่าวคือ ดูไม่ใช่คนที่ลึกซึ้งหรือแม่นยำในทฤษฎีอะไร แกแค่ "เฉลียวฉลาด" ในที่นี้คือ มีความชัดเจนในสาระ เรื่องราวที่ตนสนใจ (และคนประเภทนี้ก็มักจะสนใจไปเสียทุกเรื่อง) และสามารถถ่ายทอดความคิดของตัวเองผ่านข้อเขียนได้อย่างตรงประเด็น

โชเปนฮาวเวอร์รังเกียจ และไม่สามารถรับมือกับความคลุมเครือได้ทุกประเภท ดังนั้นในความเชื่อของแก "วรรณกรรม" (ในที่นี้หมายรวมงานเขียนทุกประเภท) คือการสื่อสารทางตรงระหว่างผู้เขียนและผู้อ่าน ความคิดอะไรที่บังเกิดแก่ผู้เขียนระหว่างเขียนข้อความใดๆ ต้องชัดเจน หนึ่ง สอง สาม สี่ และเมื่อผู้อ่านมาอ่านข้อความเดียวกัน ก็ต้องเกิด หนึ่ง สอง สาม สี่ แบบเดียวกันเป๊ะ (เปล่าดายแล้วกระมัง ที่จะบอกว่าความเชื่อแบบนี้ "ล้าหลัง" แค่ไหน)

ที่น่าสนใจคือใครที่มาสายนี้ ก็มักจะลงเอยในชุดความคิดแบบคล้ายๆ กัน เช่น ปฏิเสธการอ่านหนังสือ (โชเปนฮาวเวอร์เป็น "ปัญญาชนตะวันตก" คนแรก -- และอาจจะเป็นคนเดียวเลยด้วยซ้ำ -- ที่เหยียดหยามการอ่าน) ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ และความเป็นต้นตำรับ ดั้งเดิม (original)

เราสนุกกับการอ่าน The Art of Literature ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับแก แต่ก็ต้องยอมรับว่าโชเปนฮาวเวอร์เป็นนักเขียน "เรียงความ" ที่น่าอ่านที่สุดคนหนึ่ง บางความคิดของแก ถูกหรือผิดไม่รู้ แต่ก็น่าเก็บมาขบเคี้ยวต่อ เช่น โชเปนฮาวเวอร์บอกว่า แวดวงวรรณกรรมจะพัฒนาหรือไม่ สำคัญที่สุดคือ หนังสือ และนักเขียนห่วยๆ ต้องถูกก่นด่า ประณาม แกให้ความสำคัญกับการต่อต้านหนังสือที่ไม่ดี มากกว่าการยกย่องหนังสือที่ดีอีก โดยจะย้ำ (แบบจับน้ำเสียงขมขื่นได้) ว่าเราต้องไม่ปล่อยให้พวกตัวปลอมทั้งหลายมีชื่อเสียงขึ้นมา

ส่วน "พวกตัวปลอมทั้งหลาย" นี่มีใครบ้างเหรอคุณ หนึ่งในนั้นคือเฮเกล!

D. Lodge's "Changing Places"

เครื่องจักรที่เห็นในรูปข้างบนนี้ เขาเรียกว่าปาเตอร์นอสเตอร์ เป็นลิฟต์แบบพิเศษ เคลื่อนที่ขึ้นอย่างช้าๆ และวนลงมาเมื่อถึงยอดตึก ปาเตอร์นอสเตอร์จะไม่หยุดรับผู้โดยสารเหมือนลิฟต์ทั่วไป คุณต้องใช้ทักษะในการกระโดดเข้าไปเอง ท่าทางจะอันตรายอยู่เหมือนกัน แต่เห็นในรูปแล้ว ก็น่าสนุกดีพิลึก

เดวิด ลอดจ์ใช้ปาเตอร์นอสเตอร์เป็นอุปมาอุปมัยแทนเหตุการณ์ใน Changing Places เรื่องของอาจารย์สอนวรรณคดีอังกฤษสองคน ชาวอเมริกันและชาวอังกฤษ ที่เข้าโครงการแลกเปลี่ยน และไปสอนยังมหาวิทยาลัยของอีกฝ่ายหนึ่ง ช่วงแรกแต่ละคนต้องเผชิญหน้ากับ culture shock อย่างรุนแรง (culture shock ในแบบที่ไม่เกี่ยวอะไรกับภาษาเลย เป็นบางสิ่งที่ยากแท้ให้คนไทยจินตนาการออก เนื่องจากไม่ได้มีประเทศอื่น แผ่นดินอื่นที่พูดภาษาเดียวกับเรา ใกล้เคียงสุดก็คือ การต้องไปอยู่คนเดียวในประเทศลาว ทั้งที่คนรอบข้างพูดภาษาเดียวกับเรา สื่อสารกันรู้เรื่อง แต่กลับเหมือนมีกำแพงทางวัฒนธรรมกั้นกลาง แบ่งแยกตัวเราออกมา) เมื่อปรับตัวได้แล้ว ต่างฝ่ายต่างประสบความสำเร็จในชีวิตใหม่ชั่วคราวของตัวเอง และพบว่าบางทีชีวิตชั่วคราวนี้อาจมีเสน่ห์เย้ายวนใจบางอย่าง ให้น่าลงหลักปักฐานถาวรไปเลยก็ได้

พลอตแบบนี้ไม่ใช่ของใหม่อะไร ภาพยนตร์ฮอลลีวูดชวนหัวหลายเรื่องก็ใช้พลอต "ปลาหนีน้ำ" (fish out of water) แบบนี้ แต่ที่หลักแหลมเป็นพิเศษ คือลอดจ์เล่าเรื่องราว "ปลาหนีน้ำ" แบบคูณสอง ทั้งเรื่องของชาวอังกฤษในอเมริกา และเรื่องของชาวอเมริกาในอังกฤษด้วย นอกจากนี้ยังผนวกบรรยากาศยุค 60 สงครามเวียดนาม สิทธิสตรี และการปฏิวัติฮิปปี้เข้ามาได้แบบเนียนๆ

ลอดจ์นอกจากจะเป็นนักเขียนนิยายแล้ว ยังเป็นนักทฤษฎีด้านวรรณกรรมวิจารณ์ด้วย ในตอนจบของ Changing Places ลอดจ์ใช้ลูกเล่นกับรูปแบบการเล่าเรื่องอย่างแพรวพราว และถือเป็นการทดลองทางวรรณกรรมที่ประสบความสำเร็จที่สุดชิ้นหนึ่ง

A. Rand's "Capitalism: The Unknown Ideal"

เกิดเป็นศิษย์อาย แรนด์นั้นแสนยาก อันที่จริงในปัจจุบัน ความคิดของเธอก็ไม่เห็นจะผิดเพี้ยนหลุดโลกไปกว่ามาร์กซ์สักเท่าไหร่ แต่ทำไมการบอกคนอืี่นว่าตัวเองเป็น objectivist มันถึงดูน่าอายกว่าเป็น marxist วะ

อย่างหนึ่งก็คือแรนด์เองแทบไม่เคยเขียนอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเกี่ยวกับ objectivism เลย นอกจากนิยายมหากาพย์สองเล่ม เธอก่อตั้งสมาคม objectivist และเผยแพร่บทความปกิณกะของตัวเองผ่านจดหมายเหตุของสมาคม พอมันไม่มี magnum opus มาอธิบายปรัชญาแบบตรงไปตรงมา จะให้คนเสพมันจาก The Fountainhead หรือ Atlus Shrugged ก็ขึ้นอยู่อีกว่า เขาจะตอบรับคุณค่าความเป็นวรรณศิลป์ของมันแค่ไหน

ส่วนจดหมายเหตุปกิณกะก็ล้าสมัยไปตามวันเวลา แรนด์เขียนบทความเหล่านี้ในยุคที่ฝ่ายซ้ายในอเมริกามีชัยเหนือฝ่ายขวา กำแพงเบอร์ลินยังตั้งตระหง่าน นีโอคอนยังไม่เกิด และชาวโลกยังไม่รู้จักปัญหาที่ทุนนิยมแก้ไขไม่ได้อย่างภาวะโลกร้อน

ในฐานะสาวก เรายืนยันหัวชนฝาว่ามีบางอย่างสวยงามซ่อนอยู่ใน objectivism เช่น คนเราไม่ควรให้ค่ากับการเสียสละจนเกินไป เพราะถ้าเราเห็นดีเห็นงามกับการที่ใครคนใดคนหนึ่งเสียสละตัวเองเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ท้ายที่สุด เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าสังคมจะเริ่มไม่บังคับให้คนอื่น "เสียสละ" ตัวเองเพื่อส่วนรวมบ้าง นี่ต่างหากต้นกำเนิดของทรราชและเผด็จการ ถ้าเราไม่สามารถเริ่มต้นพูดกันเรื่องสิทธิและผลประโยชน์ของแต่ละสมาชิกในสังคม บทสนทนาใดๆ ก็เปล่าประโยชน์

ความคิดนี้ทรงพลังมากๆ (และมีบางอย่างสอดคล้องกับเสด็จพ่อกุนเดระของเราอย่างน่าประหลาด) น่าเสียดายที่ในปัจจุบัน objectivism เหมือนจะกลายเป็นกลุ่มศาสนา ปิดตัวเองจากโลกภายนอก และไม่ได้พัฒนาความคิดอะไรใหม่อย่างเข้มแข็ง จึงไม่น่าแปลก ทำไมปัจจุบัน หลายคนจะหัวเราะเยาะ หรือมอง "พวกเรา"​ด้วยสายตาหยาบหยามนิดๆ

V. Buckley's "Christina Queen of Sweden"

อ่านหนังสือมาก็มากมาย เคยได้ยินแต่ตำนานของ unsympathetic biographer เพิ่งประสบพบตัวจริงก็วันนี้เอง unsympathetic biographer หมายถึงผู้เขียนชีวประวัติที่ไม่ได้เห็นอกเห็นใจ หรือชื่นชมบุคคลที่ตัวเองเขียนถึงสักเท่าไหร่ ซึ่งเป็นเรื่องแปลก พยายามจินตนาการว่าถ้าตัวเองต้องเขียนหนังสือ ทำวิจัย อุทิศชีวิตสามสี่ปีให้กับใครคนหนึ่ง อย่างน้อยก็ต้องเป็นคนที่เราชื่นชมด้วยเหตุผลบางอย่าง (กรณีชีวประวัติบุคคลชั่วร้ายอย่างอดอฟ ฮิตเลอร์ ถึงผู้เขียนไม่ได้ "เห็นอกเห็นใจ" แต่ก็จะออกแนวทึ่ง เหมือนที่ทึ่งพายุ สึนามิ และภัยธรรมชาติอื่นๆ )

ในท้ายเล่ม บักลีให้เหตุผลว่า เมื่อเราพูดถึงราชินีคริสตินาแห่งสวิเดน เราก็จะนึกถึงภาพนางเอ๊ก นางเอกของเกรตา กาโบ เป้าหมายของบักลี ในการเขียนชีวประวัติราชินีคริสตินา คือการทำลายภาพนั้น จะพูดว่าเธอทำวิจัย เขียนหนังสือทั้งเล่มเพื่อ "ป้ายสี" ราชินีคริสตินา ก็อาจจะพอได้

หรือไม่ก็เป็นเราเองที่อคติ เรารู้จัก ได้ยินชื่อราชินีคริสตินาแห่งสวีเดนครั้งแรกจากหนังสือประวัติศาสตร์ของวอลแตร์ วอลแตร์ชื่นชอบราชินีผู้นี้มาก ชีวิตของเธอช่างมีสีสัน เป็นเลสเบี้ยน ได้รับฉายาว่าเป็นราชินีนักปราชญ์ เพราะให้การสนับสนุนชุบเลี้ยงนักปราชญ์ฝรั่งเศส ช่วงที่พวกเขาหลบหนีภัยสงครามต้นรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และที่สุดของที่สุดคือ คริสตินาสละราชบัลลังก์ด้วยความตั้งใจของตัวเอง เปลี่ยนศาสนา และไปใช้ชีวิตอย่างสามัญชน เพื่อศึกษาปรัชญา ประวัติศาสตร์ และความรู้แขนงอื่นๆ

แต่นั่นไม่ใช่ภาพของคริสตินาที่บักลีนำเสนอแม้แต่น้อย จากหนังสือเล่มนี้ เราได้ทราบว่าคริสตินาเป็นผู้ปกครองที่ย่ำแย่ เพราะมัวแต่งัดข้อกับที่ปรึกษา ออกเซนสเตียนา ก็เลยนำไปสู่ความล้มเหลวเชิงนโยบายหลายประการ (แต่ก็อีกนั่นแหละ ขึ้นอยู่กับนักประวัติจะวาดภาพออกเซนสเตียนาให้ออกมาอย่างไร ตอนที่เราอ่านหนังสือเกี่ยวกับสงครามสามสิบปี ภาพของออกเซนสเตียนา ไม่ได้แลดูเลอเลิศเหมือนที่บักลีพยายามสร้าง) คริสตินาเป็นราชินีหยิบโหย่งที่มีความสนใจหลายประการ แต่ทำอะไรไม่สำเร็จเลยสักอย่าง เธอชุบเลี้ยงนักปรัชญาฝรั่งเศสเอาไว้มากมาย แต่ก็เหมือนเพื่อเสริมสร้างบารมี มากกว่าจะศึกษาวิชาความรู้จริงจัง และที่วอลแตร์บอกว่าเดสการ์ดใช้ชีวิตบั้นปลายที่ราชสำนักสวีเดน ภายใต้การดูแลของคริสตินา บักลีเขียนเหมือนกับว่า เดสการ์ดถูกล่อให้มาตายอย่างหนาวเหน็บในดินแดนทางเหนือมากกว่า

ไม่ว่าจะเป็นคำบอกเล่าของวอลแตร์ ภาพยนตร์ของกาโบ หรือหนังสือของบักลี สุดท้ายเราก็ได้แต่เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งกับภาพอันขัดแย้งของราชินีคริสตินาที่แต่ละคนนำเสนอ อย่างว่า ใครเล่าจะผูกขาดเรื่องราวในประวัติศาสตร์เป็นของตัวเองได้แต่เพียงผู้เดียว

M. Duras's "The Lover"

รู้สึกไม่ค่อยแฟร์กับนิยาย แต่สารภาพว่าที่เราหยิบ The Lover มาอ่าน ไม่ใช่เพราะเราสนใจตัวนิยาย เท่ากับบทวิเคราะห์นิยายด้วยปรัชญารื้อสร้างของเดริดา ที่ติดพันมาจากหนังสือ The Novel after Theory ยังความฉงนแก่ตัวเรามิรู้คลายว่าสรุปแล้ว การวิพากษ์วรรณกรรม มันมีประโยชน์หรือเปล่า ถ้ามี มีกับใคร ผู้แต่งหรือคนอ่าน

พออ่าน The Lover จริงๆ เราชักสงสัยว่าการตระหนักถึงปรัชญารื้อสร้างตลอดเวลา มันช่วยหรือมันทำลายนิยายกันแน่ ถ้าอ่านแบบไรอัน จะให้ความสำคัญกับรูปถ่ายของนางเอกเป็นพิเศษ รูปถ่ายที่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ถ่าย แต่ไรอันเชื่อว่า รูปถ่ายที่หายไปนี้ คือจุดศูนย์กลางของนิยาย ("จุดศูนย์กลางที่อยู่ภายนอก" ถ้าใช้ศัพท์ของนักรื้อสร้าง) และเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการเขียนนิยายเรื่องนี้ขึ้นมา แต่พอมาอ่านที่ดูราส์เขียนจริงๆ เราก็ไม่รู้สึกว่ารูปถ่ายนั้นจะเป็นประเด็นสักเท่าไร

และการให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ของนางเอกที่มากับการรื้อสร้าง มันจะไปแย่งประเด็นอาณานิคมศึกษา ซึ่งน่าจะเป็นหลักใหญ่ของนิยายเรื่องนี้มากกว่าหรือเปล่า สำหรับคนที่ไม่รู้ The Lover เป็นนิยายกึ่งอัตชีวประวัติของดูราส์ เล่าเรื่องสมัยที่เธอเป็นวัยรุ่น และเติบโตอยู่ในเวียดนาม (สมัยนั้นยังเป็นประเทศอินโดจีนอยู่ คือรวมพื้นที่ลาว เวียดนาม และกัมพูชาเข้าด้วยกัน ในนิยายมีการกล่าวถึงบ้านริมฝั่งแม่น้ำโขง และการนั่งชมภูเขาในดินแดนสยาม ซึ่งจริงๆ ควรจะเปลี่ยนชื่อเป็นไทยได้แล้ว อ้าว!)

ความน่าสนใจของนิยายน่าจะอยู่ที่ภาวะ "ล่าอาณานิคมย้อนกลับ"​ กล่าวคือครอบครัวของนางเอกเป็นคนขาวที่ยากจน เพราะพ่อซึ่งมีอาชีพข้าหลวงต่างแดนไม่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ทิ้งภรรยาและลูกสามคนไว้กับความแร้นแค้น กลับกลายเป็นคนรักชาวจีนของนางเอก ลูกชายมหาเศรษฐีที่ช่วยจุนเจือครอบครัว โดยทั้งสองคบกันทั้งที่รู้ว่าความสัมพันธ์นี้ไม่มีอนาคต (ไรอันไม่ได้แตะประเด็นนี้เลย)

ในแง่หนึ่ง The Lover อาจจะเหมาะกับการอ่าน ภายใต้ฐานคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในศตวรรษที่ 21 ความพ่ายแพ้ของคนขาว ความร่ำรวยของชาวจีน และโลกที่จุดศูนย์กลางถูกเหวี่ยงทิ้งกระจัดกระจาย ถ้าให้เราอ่านนิยายเรื่องนี้เชิงทฤษฎี เราคงจะจับภาวะรื้อสร้างในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมากกว่าในเชิงอัตชีวประวัติ

J. Weatherford's "The History of Money"

แปลกดีที่ คำพูดบางคำจากหนังสือบางเล่มไม่ได้ฉลาดหรือคมคายอะไรเลย แต่กลับฝังแน่นในหัวเรา เช่น ในนิยาย Timeline ของไมเคิล คริชตัน ตอนที่นักวิทยาศาสตร์จะอธิบายให้นักประวัติศาสตร์ฟังว่ายานย้อนเวลาทำงานได้ยังไง คำพูดที่เขาใช้คือ "เนื่องจากพวกคุณเป็นนักประวัติศาสตร์ ผมจะเล่าประวัติศาสตร์ให้ฟัง" จากนั้นก็ว่ากันด้วยประวัติศาสตร์ของกลศาสตร์ควอนตัม (ซึ่งนำไปสู่การสร้างยานย้อนเวลาแบบโม้ๆ )

ตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินในประเทศอเมริกา ที่อาจจะพลิกโฉมโลกทั้งใบ (จากพญาอินทรีในฐานะเจ้าโลก มาเป็นพญามังกร) เราก็พยายามหาหนังสือเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าวมาอ่านตลอด แต่ไม่รู้ว่าหัวทึบกว่าคนปกติหรืออย่างไร อ่านยังไงก็เหมือนคอนเซปต์มันไม่เข้าไปเรียงตัวในหัวเลย ขอบคุณแจค เวเธอฟอร์ดจริงๆ ความรู้สึกตอนนี้เหมือนเราเดินไปขอให้เขาอธิบายวิกฤติการเงินให้ฟัง เวเธอฟอร์ดฟาดเปรี้ยงหนังสือที่ตัวเองเขียนมาตรงหน้าเรา แล้วพูดว่า "ผมจะเล่าประวัติศาสตร์ให้คุณฟังก็แล้วกัน"

วิธีที่ดีที่สุดที่จะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นบนวอลสตรีท ก็ต้องย้อนกลับไปสมัยจักรพรรดิเนโรนั่นเอง

จักรพรรดิเนโรแห่งกรุงโรม ปกครองอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกยุคนั้น (ศตวรรษที่หนึ่ง) พระองค์ต้องทำสงครามกับคนป่าเถื่อนที่อยู่รายรอบอาณาจักร เพื่อการนั้นจึงต้องใช้เงินมาหล่อเลี้ยงกองทัพ ในที่สุดเมื่อเนโรประสบปัญหาในการจัดสรรทุนมาทำสงคราม พระองค์ก็คิดวิธีอัจฉริยะขึ้นมาได้ นั่นคือเรียกเก็บเหรียญเงินทั่วราชอาณาจักร หลอมให้มีขนาดเ็ล็กลง แต่ปั้มราคาเท่าเดิม แล้วแจกจ่ายกลับไปให้ชาวบ้าน (พอถึงยุคของเนโร เงินก็ไม่ได้มีคุณค่าในตัวมันเองแล้ว แต่ใช้เป็นแค่อัตราแลกเปลี่ยนเท่านั้น) ด้วยวิธีนี้ จักรพรรดิสามารถเก็บส่วนต่างของเงิน มาหลอมเป็นเหรียญเพิ่มขึ้นได้

เนโรหรือจะทรงคาดคิดได้ว่า นั่นเป็นครั้งแรกที่ปรากฏการณ์เงินเฟ้อเกิดขึ้นในโลก ทันทีที่มีเงินในระบบมากขึ้น แต่สินค้าในตลาดเท่าเดิม ผู้คนก็แย่งกันซื้อของด้วยวิธีเสนอราคาที่สูงกว่าเดิม (ในโลกสมัยใหม่ ปรากฏการณ์สินค้ามีไม่พอกับความต้องการของตลาดดูจะเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อ แต่พอนึกย้อนกลับไปจักรวรรดิโรมันเมื่อสองพันปีที่แล้ว ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย นี่คือข้อดีอย่างหนึ่งของการพยายามทำความเข้าใจเศรษฐศาสตร์ผ่านประวัติศาสตร์) เงินเพิ่มมากขึ้นจริงแต่กลับมีกำลังซื้อน้อยลง

เนโรและจักรพรรดิโรมันคนต่อๆ วนเวียนอยู่ในวัฏจักรของเงินเฟ้อ และการลดขนาดเหรียญตราเช่นนี้ (ว่ากันว่า ผ่านไปหนึ่งร้อยปี เหรียญเงินโรมันมีขนาดเล็กกว่าเดิมเกือบสี่เท่า) ความล่มสลายทางเศรษฐกิจเป็นที่มาของความล่มสลายของอาณาจักรในด้านอื่นๆ ด้วย (สุดท้ายโรมันก็ถูกกองทัพ "คนเถื่อน" ของชาลีมัง ตีแตกจนแพ้พ่าย)

ระบบเงินตราอาจพัฒนาจากเหรียญกษาปณ์ มาเป็นเงินกระดาษ เงินเชื่อ และตราสารหุ้น แต่ที่สุดแล้ว ความล้มเหลวบนวอลสตรีทก็ยืนพื้นอยู่บนความล้มเหลวเดียวกันกับของอาณาจักรโรมันนั่นเอง

J. Ryan's "The Novel after Theory"

แรกเริ่มเดิมทีที่เราอ่านตำราปรัชญา ก็เพราะอยากเข้าใจทฤษฎีการวิจารณ์ (critical theory) จนมาบัดนี้ เรามีปรัชญาเก็บไว้ใต้เข็มขัดพอสมควรแล้ว แต่นับวัน เราก็ยิ่งหมดศรัทธากับทฤษฎีการวิจารณ์

ระหว่างที่อ่าน The Novel after Theory เราลองเล่นเกมนี้กับตัวเอง ทุกครั้งที่ผู้เขียนกล่าวถึงทฤษฎีของนักปรัชญา เราจะดันนิ้วก้อยมือขวาออกจากกำปั้น และทุกครั้งที่ผู้เขียนกล่าวถึงตัว text หรือวรรณกรรม เราจะเปลี่ยนจากนิ้วก้อยมาเป็นนิ้วโป้ง ทำแบบนี้เพื่อจะได้ตระหนักถึง transition หรือการส่งผ่านจากตัวสานส์มายังทฤษฎี และดูว่าผู้เขียนผสานสองสิ่งนี้เข้าด้วยกันได้ดีแค่ไหน

ทุกวันนี้เวลาอ่านบทวิเคราะห์วรรณกรรม อดรู้สึกไม่ได้ว่าเหมือนกำลังชม powerpoint presentation เหมือนมีคนอธิบายปรัชญาอะไรสักอย่างให้เราฟัง (มาร์กซิส จิตวิเคราะห์ หลังโครงสร้างนิยม สตรีนิยม ฯลฯ) ระหว่างที่อธิบายก็เปิด powerpoint ให้เราชม แล้วก็ยกตัวอย่างนู่นนี่จากวรรณกรรม พออ่านจบ แม้จดจำตัวอย่างอะไรไม่ค่อยได้ แต่อย่างน้อยขอให้เข้าใจทฤษฎีหลักเป็นพอ

ดังนั้นถ้าเราค่อนข้างป๋าทฤษฎีอยู่แล้ว เช่นใน The Novel after Theory มีการพยายามใช้ฟูโกต์มาจับนิยาย Foucault's Pendulum แต่ในเมื่อเรา get ฟูโกต์ตั้งแต่แรกแล้ว การอ่านบทนี้เลยแทบไม่ให้อะไรแก่เราเลย (และเนื่องจากเราค่อนข้างป๋าเอโคเหมือนกัน เราก็เลยยิ่งไม่ได้อะไรเข้าไปใหญ่)

มันควรจะเป็นเช่นนั้นหรือเปล่า การวิเคราะห์วรรณกรรมจำเป็นไหมที่วิเคราะห์ออกมาแล้ว ตัวสานส์จะต้องมีคุณค่ามากกว่าเดิม ก่อนฟรอยด์จะเอาปมออดิปุสไปจับแฮมเลต ละครเรื่องนี้ถูกเล่นมาเกือบๆ สามร้อยปี มันทำให้เราดูแฮมเลตสนุกขึ้นไหม ถ้าเราทราบว่าแฮมเลตไม่ยอมฆ่าลุง เพราะใจจริงเขาเองก็อยากนอนกับแม่ (หลายคนอาจพูดด้วยซ้ำว่าความสนุกมันอยู่ที่เราไม่เข้าใจเจ้าชายแห่งเดนมาร์กต่างหาก)

เราเริ่มต้นเดินทางสายทฤษฎีวรรณกรรมด้วยความเชื่อว่า วรรณกรรมไม่ใช่การลอกแบบความจริง เราตัดสินคุณค่าวรรณกรรมได้ด้วยตัวของมันเอง โดยไม่เกี่ยวกับสภาพสังคม หรือคนที่ผลิตมันขึ้นมา แต่ตอนนี้เราเริ่มไขว้เขวละ ถ้าการวิจารณ์ ให้ค่าสานส์ในฐานะเพียง "ลูกไล่" ของปรัชญา หนทางเดียวที่เราจะยังรักษาศรัทธาในงานวิจารณ์ ก็คือการศึกษาสภาพความเป็นจริง ทำไมเชคสเปียร์ถึงเขียนแฮมเลต ในยุคสมัยของเขามันเกิดอะไรขึ้น โดยทฤษฎีและปรัชญานี่เองที่จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจสภาพสังคม บริบทความเป็นจริงของวรรณกรรม

ก่อนเราศึกษาทฤษฎีวรรณกรรม ประพันธกรยังไม่ตาย เมื่อเราเริ่มศึกษาไปได้สักพัก ประพันธกรตายแล้ว และบัดนี้ ประพันธกรฟื้นคืนชีวิตกลับมาอีกครั้ง

C. Dickens's "Hard Times"

ว่ากันว่า วัตถุดิบจะดีหรือด้อย ต้องพิสูจน์กันในอาหารที่ผ่านการปรุงแต่งน้อยที่สุด ส่วนถ้าอยากตัดสินเนื้อผ้า ก็ต้องดูแบบเรียบๆ ไม่มีลาย ในทำนองเดียวกัน ถ้าอยากตัดสินทักษะการเล่าเรื่องของนักเขียน ก็ต้องให้นักเขียนมาเล่าเรื่องเห่ยๆ ดูว่าจะเล่าออกมาได้สนุกสนานแค่ไหน ชาร์ลส์ ดิกเกนส์ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเล่าเรื่องระดับเทพคนหนึ่ง ซึ่ง Hard Times นี่แหละ น่าจะเป็นข้อพิสูจน์อย่างดี

เราไม่ชอบอะไรสักอย่างที่ประกอบกันเป็น "เรื่อง" ในนิยายเล่มนี้ ตัวละครแบนๆ ขาดๆ เกินๆ ธีมของเรื่อง -- Fact vs Fancy -- ก็อย่างนั้นๆ ไม่ได้ถูกจริตถูกใจเรามาก (แต่สำหรับคนที่สนใจว่า "สังคมนิยม" ก่อนมาร์กซ์หน้าตาเป็นอย่างไร หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ดี Hard Times ถูกตีพิมพ์ในปี 1854 ภายหลังแถลงการณ์พรรคฯ เพียง 6 ปี ดิกเกนส์ไม่น่าจะคุ้นเคยกับงานเขียนของมาร์กซ์)

ตัวเอกของเรื่องคือตระกูลแกรดกรินด์ พ่อสอนลูกสาวและลูกชายให้ยึดติดอยู่กับความจริง (fact) ละทิ้งความฝัน (fancy) ออกไป และนิยายทั้งเรื่องก็คือโศกนาฏกรรมที่กำเนิดมาจากคำสั่งสอน และการเลี้ยงดูตรงนี้ อย่างที่บอก เราไม่ค่อยสนุกสนานกับนิยาย "พ่อแม่รังแกฉัน" แต่ก็เพราะอย่างนั้น เลยยิ่งเห็นความสามารถ ทักษะการเล่าเรื่องของดิกเกนส์ การคุมจังหวะปล่อยตัวละครออกมาหน้าม่าน และเรียกพวกเขากลับไป ทำได้อย่างยอดเยี่ยม จนเราไม่รู้สึกบาดใจกับตัวละครอย่างเจมส์ ฮาร์ตฮาวส์ ที่จู่ๆ ก็หายหน้าไปอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เอาเข้าจริงทักษะทำนองนี้ปรากฏในงานเขียนของบัลซัคเช่นกัน (บัลซัคเองก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเล่าเรื่องชั้นครู) แต่จังหวะของบัลซัค การผ่อน การเร่ง ไม่งดงามลงตัวเหมือนดิกเกนส์

ถึงจะไม่ถูกใจตัวละครตัวไหนเลย แต่คงต้องยกเว้นผู้ร้าย มิสเตอร์บาวเดอบี ไว้คนหนึ่ง ดิกเกนส์เขียนผู้ร้ายเก่งมาก (ไม่ว่าจะเป็นสครูช มาดามดีฟาค หรือมิสฮาวิแชม) บาวเดอบีเป็นผู้ชายหลงตัวเองสุดกู่ และความภาคภูมิใจของเขาคือการมีชาติกำเนิดอันต่ำต้อย และสามารถถีบตัวเองขึ้นมาจนเป็นเศรษฐีได้ บาวเดอบี “เลี้ยง” เลขาผู้หญิง อดีตผู้ดีเอาไว้คนหนึ่ง โดยเขาจะชอบโม้ให้ใครฟัง โดยเปรียบเทียบต้นกำเนิดของตัวเองและเลขาคนนี้ ร้อยครึ่งปีมาแล้วจากตอนที่ดิกเกนส์เขียน Hard Times เราก็ยังไม่เคยเห็นตัวละครแบบมิสเตอร์บาวเดอบีในนิยาย (ทั้งที่ผู้คนในชีวิตจริง มีพฤติกรรมแบบสุดโต่งไม่ผิดเพี้ยนจากตัวละครตัวนี้นัก)

จุดจบของบาวเดอบีจะเป็นอย่างไร แนะนำให้ต้องไปอ่านเอง แต่รับรองได้ว่าแซ่บ

Voltaire's "The Age of Louis XIV"

ช่วงนี้อ่านหนังสือประวัติศาสตร์เยอะ ก็เพิ่งได้เรียนรู้ศัพท์ใหม่อีกคำคือ posterity ซึ่งแปลว่าคนรุ่นหลังนั่นเอง อะไรที่เกิดในประวัติศาสตร์ สุดท้ายก็มีแต่ posterity หรือคนรุ่นหลังเท่านั้นที่จะตัดสินคุณค่าของมันได้

วอลแตร์จัดว่าเป็น posterity ของกษัตริย์หลุยส์ที่ 14 ระหว่างที่เขียนประวัติศาสตร์ยุคนั้น วอลแตร์เองจะสงสัยไหมว่า posterity ของแก จะมองตัวแกว่าอย่างไร แกจะรู้ไหมว่าจากนิยาย บทละคร และหนังสือประวัติศาสตร์ทั้งหลายแหล่ จะเป็น Candide เล่มบางๆ ที่ผู้คนรู้จักและพูดถึงมันมากที่สุด (วอลแตร์เขียนหนังสือประวัติศาสตร์ไว้เยอะมาก และถ้าทุกเล่มเป็นแบบ The Age of Louis XIV เราต้องประเมินแกใหม่ ในฐานะนักประวัติศาสตร์จอมสืบค้น ข้อมูลแน่นเปรี๊ยะ มากกว่าแค่นักปรัชญา หรือนักเขียนนิยายแล้ว)

ผิดคาดพอสมควรว่าคนเขียน Candide จะเขียนหนังสืออย่าง The Age of Louis XIV ออกมา ถึง Candide จะเป็นนิยายเสียดสี ที่จับเจตนาคนเขียนลำบาก ว่าเรื่องไหนจริงจัง เรื่องไหนล้อเล่น แต่เราเดาว่าวอลแตร์น่าจะต่อต้านสงครามนั่นแหละ กระนั้นใน The Age of Louis XIV สองในสามของเล่มว่าด้วยเรื่องสงครามล้วนๆ จนกระทั่งแกสาธยายวีรกรรม (และความพ่ายแพ้) ของกษัตริย์หลุยส์ที่ 14 จนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถึงค่อยมาแตะๆ เรื่องเศรษฐกิจสังคม

อย่างไรก็ตามวอลแตร์รักษาความเป็นกลางไว้ได้ดีมาก ถึงเปิดหนังสือมา จะมีการยอยศหลุยส์ที่ 14 โดยบอกว่ายุคสมัยของพระองค์เป็นยุคที่ยุโรปเจริญถึงขีดสุด ต่อจากยุคของอเลกซานเดอร์ ซีซาร์ และชาลีมัง แต่พอเริ่มเรื่องจริงๆ ก็ไม่ได้รู้สึกว่าแกสรรเสริญอะไรหลุยส์มากนัก วอลแตร์เล่าให้ฟังว่ากองทัพหลุยส์ที่ยกไปตีฮอลแลนด์เกรียงไกร เริ่ดหรูอย่างถึงที่สุด ทั้งบดขยี้ศัตรูไป ก็สังสรรค์รื่นเริง และโชว์ความอลังไปพลาง (พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นคนแรกที่มากับแนวคิดว่าทหารที่ไปยกทัพจับศึก ไม่จำเป็นเสียหน่อยที่ต้องอยู่อย่างลำบากยากแค้น อะไรที่พอหรูหรา เพลิดเพลินได้ ก็จัดให้เสียหน่อย) สุดท้ายพอเจ้าชายแห่งส้ม (Prince of Orange) กษัตริย์ฮอลแลนด์รวบรวมกำลังพลได้ และตีโต้หลุยส์จริงๆ จังๆ ฝรั่งเศสก็ไปต่อลำบากเหมือนกัน

...จะว่าไป ทั้งเล่มของ The Age of Louis XIV อาจจะเขียนขึ้นเพื่อเสียดสีไม่ต่างอะไรจาก Candide ก็เป็นได้แฮะ

J. Austen's "Northanger Abbey"

ใครติดตามรักชวนหัวมานานน่าจะคุ้นชินกับอาการ "อินดี้" เวลาเราพูดถึงหนังสือที่อ่านเพียงผิวเผิน และเลี่ยงไปพูดเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องแทน แต่วันนี้เราจะ one up ตัวเองขึ้นไปอีกขั้น โดยไม่พูดอะไรเลยเกี่ยวกับ Northanger Abbey เว้นแต่ว่านี่คือหนังสือเล่มแรกที่เราอ่านจบด้วยเครื่อง kindle!

อ้า...ใช่แล้ว kindle อุปกรณ์ "หนังสือไฟฟ้า" อันเป็นที่เกลียดชังของนักเขียนและนักอ่านเมื่อสี่ห้าปีที่แล้ว สมัยมันเพิ่งออกใหม่ๆ จนบัดนี้ ทุกครั้งที่เราหยิบมันขึ้นมา เสียงสั่นเครือของลุงเรย์ แบรดเบอรียังดังเข้ามาในหัว "โอ้...กลิ่นหมึก กลิ่นผงไอยคุปต์ ไม่มีอะไรในโลกนี้ทดแทนหนังสือได้"

ถึงแม้ว่าบริษัท amazon จะยังไม่สามารถติดตั้งคอมเพรสเซอร์ปล่อยกลิ่นหนังสือ แต่หลังจากผ่านไปห้าปี และโมเดลล่าสุดลดราคาลงจาก 15000 บาทเหลือแค่ 3000 กว่าๆ เท่านั้น ก็ได้เวลารักชวนหัวจะหมุนตัวเองให้ทันโลก

พอได้ลองใช้จริงๆ ยอมรับว่ามันเป็นเทคโนโลยีที่โอเคมาก อเมซอนเข้าใจว่าสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ ไม่ใช่ ipad ที่อ่านหนังสือได้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นหนังสือไฟฟ้า คินเดิลไม่เหมือนไอแพด กาแลกซี่ หรืออุปกรณ์อินเตอร์เน็ตพกพาชนิดอื่นๆ (เว้นแต่ Kindle Fire ซึ่งถูกออกแบบมาเจาะตลาดกลุ่มนั้นโดยเฉพาะ) อุปกรณ์อิเล็กโทรนิคชิ้นนี้ถูกออกแบบมาให้เป็นหนังสือ ต้องขอบคุณเทคโนโลยี "หมึกไฟฟ้า" คินเดิลรุ่นทั่วไปมีแค่จอขาวดำ (เหมือนหนังสือส่วนใหญ่) ใช้หลักการเรียงหมึกหลังจอเป็นภาพ เป็นตัวอักษร ดังนั้นจึงไม่มีไฟสว่างออกมา อ่านในที่มืดไม่ได้ แต่ต่อให้อ่านนานๆ ก็ไม่เสียสายตา (เหมือนหนังสือ!) และเพราะเป็นหมึกไฟฟ้านี่เอง มันถึงประหยัดไฟมาก สามารถเปิดหน้าจอค้างไว้ได้นานเป็นเดือน (เหมือนหนังสือ!) โดยตัวเครื่องจะใช้พลังงานเฉพาะตอนเปลี่ยนหน้าเท่านั้น เมื่อเราอ่านแต่ละเล่มค้างไว้ ไม่ต้องปิดเครื่อง เก็บใส่กระเป๋า และพอจะเอามาอ่านต่อ แค่กดปุ่มเดียว (เหมือนหนังสือ!) คินเดิลสามารถเข้าเน็ตได้ แต่ได้เฉพาะเวบ amazon เพื่อสั่งซื้อหนังสือ และอ่านรีวิว ดังนั้นไม่ต้องกลัวว่าพกพาไปไหน จะเอาแต่นั่งเล่น facebook นอกจากไฟล์ e-reader แล้วยังสามารถอ่าน pdf ได้ทุกภาษาอีกด้วย

ข้อเสียเดียวในขณะนี้ของคินเดิลที่ไม่เหมือนหนังสือคือ แม้จะทำไฮไลท์ได้ จดโน้ตภาษาอังกฤษได้นิดหน่อย แต่ไม่สะดวกเท่าขีดเขียนอะไรลงกระดาษแน่ๆ แต่นอกจากนี้แล้ว ขอให้คิดว่ามันคือหนังสือไฟฟ้า หาใช่ไอแพดที่ถูกลดรูปไม่

สำหรับผู้สนใจ ลองติดต่อเวบ kindleok.com ดู (ไม่ได้ค่าโฆษณา)

N. Mitford's "The Sun King"

อ้า...ไม่ย้อนแย้ง ก็คงไม่ใช่ชีวิตจริงสินะ

ในหนังสือชีวประวัติพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การสงคราม หรือการมุ้ง เรื่องที่ประทับใจเราที่สุดกลับเป็น episode เล็กๆ ที่แทบไม่มีความหมายในทางประวัติศาสตร์เลย นั่นก็คือการก่อตั้งและประวัติโรงเรียนแซงซีร์

แซงซีร์ถูกก่อตั้งโดยมาดามเมนทินอน ราชินีคนที่สองของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สมัยเด็กๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกส่งตัวไปอยู่คอนแวนต์ เมนทินอนถึงกับยอมแต่งงานกับสามีเฒ่าชรา ราชินีเลยตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะต้องทำให้โรงเรียนประจำของตัวเอง ห่างไกลจากการเป็นคอนแวนต์ให้มากที่สุด (สมัยนั้น ผู้หญิงที่ไม่มีอนาคตหรือหมดอนาคตแล้ว เช่น หาสามีไม่ได้ สามีตาย คบชู้ หรือก่อเหตุอื้อฉาว จะต้องถูกส่งไปใช้ชีวิตอยู่ในคอนแวนต์ เพื่อรักษาเกียรติของครอบครัว และไม่ให้สิ้นเปลืองค่าส่งเสียเลี้ยงดู)

ช่วงแรกๆ ก็เหมือนว่าจะดี แซงซีร์เน้นการสอนวิชาด้านศิลปะวัฒนธรรมให้แก่ลูกผู้หญิงชาวฝรั่งเศส เมื่อพวกหล่อนโตขึ้น จะได้มีศักยภาพในการเข้าสังคม (และความสำเร็จของแซงซีร์ "วัด" ได้จาก ในยุคนั้น โรงเรียนแห่งนี้กลายเป็นแหล่งหาภรรยาที่ดีที่สุดของเหล่าขุนนาง) ราซีน นักเขียนบทละครชื่อดัง ถึงกับประพันธ์บทละครสองเรื่องกำนัลแด่ราชินีเมนทินอน เพื่อให้สาวๆ ในแซงซีร์เล่นโดยเฉพาะ

ถ้าเรื่องราวทั้งหมดจบลงแค่นี้ เราก็คงพอพูด (แบบไทยๆ ) ได้เต็มปากเต็มคำว่าคุณูปการทางด้านสังคมของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และราชินีเมนทินอนก็คือการ "ปฏิวัติการศึกษา" ให้แก่ลูกผู้หญิงนั่นเอง

แต่อยู่ๆ ก็เกิดจุดพลิกผันขึ้น เมื่อราชินีเมนทินอนทะเลาะกับครูใหญ่ที่หล่อนไว้ใจมาก ตำแหน่งครูใหญ่เลยตกไปอยู่ในมือของมาดามกียง ผู้หญิงเคร่งศาสนา หล่อนเป็นตัวตั้งตัวตีในการเผยแพร่ลัทธิใหม่ Quietism โดยใช้แซงซีร์เป็นแหล่งเพาะเมล็ดพันธุ์ความคิด ผลก็คือชีวิตความเป็นอยู่ในแซงซีร์ค่อยๆ ห่างไกลจากจุดประสงค์ดั้งเดิมทีละน้อย วิชาด้านศิลปะวัฒนธรรมถูกยกเลิก จนในที่สุดเหลือแต่วิชาที่เกี่ยวกับการสวดมนต์ ศาสนา และการบูชาพระผู้เป็นเจ้า (ราชินีเมนทินอนไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไรกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้นัก ส่วนหนึ่งก็เพราะหล่อนเองก็มี "เชื้อ" ความคลั่งศาสนาอยู่ในตัวไม่น้อย)

ก่อนที่โรงเรียนจะปิดตัว ก็เลยเต็มไปด้วยเหตุการณ์ที่ชวนให้หัวร่อมิได้ร่ำให้มิออก ลูกสาวขุนนางที่ตั้งใจจะใช้แซงซีร์เป็นทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่คอนแวนต์ กลับค่อยๆ ถูกบังคับ ขู่เข็ญ และส่งตัวเข้าคอนแวนต์ทีละคนสองคน แต่ที่ย้อนแย้งหนักยิ่งขึ้นคือ Quietism ถูกตีตราโดยสำนักวาติกันว่าเป็นลัทธินอกรีต และตัวมาดามกียงเองก็ต้องหลบหนีออกจากแวร์ซาย

ในบันทึกส่วนตัวของเมนทินอน ราชินีกล่าวว่าแม้จะเป็นเรื่องน่าเสียดายที่แซงซีร์ของหล่อนต้องถูกปิดตัวลง แต่อย่างน้อยก็น่าดีใจที่แซงซีร์ยังรักษาเจตนารมย์ดั้งเดิม ตั้งแต่ตอนที่เปิดโรงเรียนเอาไว้ได้อย่างไม่มีบิดผัน (ให้มันได้อย่างนี้ซิ!)

B. Maddox's "Freud's Wizard"

สมมติว่าเราเป็นศิลปิน เป็นนักคิด หรือนักปรัชญา แล้วเราต้องการตั้ง "ขบวนการ" เพื่อเผยแพร่แนวคิด อุดมคติของเรา เป็นไปได้ไหม ที่เราจะแยกแยะระหว่างแนวคิด และตัวผู้ร่วมขบวนการ (กล่าวคือ เราต้องการให้สาธารณชนสนใจสิ่งที่เราพูด โดยไม่ได้ยึดติดว่าเขาชื่นชอบใครคนใดในกลุ่ม) ถ้าบอกว่าแต่ละสมาชิกต้องสร้างความโดดเด่นให้กับตัวเอง ประวัติศาสตร์มีพื้นที่ความทรงจำมากพอจะจดจำสมาชิกได้เกินสองสามคนด้วยหรือ

ถ้าไม่ได้ศึกษา surrealism มาโดยตรง นอกจากดาลี และมากริตต์ คนทั่วไปรู้จักเบรอตง แอร์นส์ เอลูอาร์ดหรือเปล่า ขนาดเราเอง ถ้าถามว่า dadaism มีใครบ้าง นอกจากดูชอง ยังต้องคิดหนักเลย ข้ามไปเรื่องการเมืองบ้าง ในการปฏิวัติคิวบา มีใครรู้จักสมาชิกขบวนการที่ไม่ใช่เช ไม่ใช่คาสโตรบ้าง ในเมืองไทย ถ้าพูดถึง "นักหลังสมัยใหม่/postmodernist" คนก็อาจนึกออกแค่ปราบดา หยุ่นเท่านั้น

เราคงต้องยอมรับว่า ประวัติศาสตร์ หรือสาธารณชนไม่ได้มีพื้นที่ความทรงจำมากพอจะจดจำชื่อสมาชิกกลุ่มมากกว่าสองคน ("กฎแห่งสอง") เราจึงไม่อาจแบ่งแยกระหว่าง "กลุ่ม" และ "สมาชิก" การที่ขบวนการจะยก "เซเลป" ขึ้นมาคนหนึ่งเพื่อให้เป็นที่จดจำของสาธารณชน อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้

นี่คือความคิดที่วนเวียนอยู่ในหัวเราระหว่างอ่าน Freud's Wizard นี่คือชีวประวัติของนักเขียนชีวประวัติ ก่อนหน้านี้เราแทบไม่เคยได้ยินชื่อดอกเตอร์โจนส์มาก่อน หลังจากอ่านทั้งเล่มนี้จบ แน่นอนว่าในแวดวงวิชาการจิตวิเคราะห์งานของเขาคงส่งอิทธิพลจริงนั่นแหละ แต่สำหรับคนนอกแล้ว คงจดจำได้แค่หนังสือชีวประวัติของฟรอยด์ที่โจนส์เขียนขึ้นในช่วงท้ายของชีวิต ไม่ว่าดอกเตอร์โจนส์จะยิ่งใหญ่ มีคุณูปการแค่ไหน ประวัติศาสตร์ก็ไม่คิดจะจดจำใครอื่นในขบวนการจิตวิเคราะห์นอกจากฟรอยด์ และญุงนั่นเอง ("กฎแห่งสอง" confirmed!)

J. Shapiro's "1599"

"นักประวัติศาสตร์ไม่ควรตัดสินความถูกผิดของคนในอดีตว่าเป็นอย่างไร เรารู้แค่ไหนเราก็ควรบอกกล่าวแค่นั้น โดยอาศัยหลักฐานที่มีอยู่ เพื่อมิให้กระทบกระเทือนประวัติศาสตร์ที่เสร็จสิ้นไปแล้ว"
เมื่อเร็วๆ นี้มีวิวาทะระหว่างนักประวัติศาสตร์สองคน หนึ่งในนั้นอ้างเอ่ยคำพูดข้างบนขึ้นมา เราชอบคำว่า "กระทบกระเทือนประวัติศาสตร์ที่เสร็จสิ้นไปแล้ว" มาก มันสะท้อนให้เห็นอคติของนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ในบ้านเราได้อย่างชัดเจนดี

คำว่า "โลกาภิวัตน์ / globalization" ถูกใช้เป็นครั้งแรกในปีทศวรรษ 1930 เริ่มเป็นที่นิยมในแวดวงเศรษฐศาสตร์ปี 1960 และแพร่ขยายมาในหมู่คนทั่วไปปี 1980 ส่วนใหญ่คำนี้จะหมายถึงโลกยุคอินเตอร์เน็ต แต่เอาเข้าจริงปรากฏการณ์อะไรก็แล้วแต่ที่ส่งผลย่นย่อโลกลง ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ทั้งนั้น

น่าตื่นเต้นมากที่ชาปิโรใช้คำว่า "globalization" อธิบายความเปลี่ยนแปลงของประเทศอังกฤษในปี 1599 หลังความพ่ายแพ้ของเอิร์ลแห่งเอซแซค ในสงครามกบฎไอริช เอซแซคเป็นขุนนางผู้ทรงอิทธิพล เขาเป็นตัวแทนวัฒนธรรมอังกฤษโบราณ ระหว่างยกกองทัพไปปราบกบฎในประเทศไอร์แลนด์ ทุกครั้งที่ทหารทำความดีความชอบ เขาจะจัดพิธีเชิดชูเกียรติ เลื่อนยศตำแหน่งให้อย่างสวยหรู ท่ามกลางความไม่พอใจของราชินีอลิซาเบธ (เพราะคนที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในงานพิธีคือรัฐบาลกลาง) หลังจากเอซแซคพ่ายแพ้ ถูกเรียกตัวกลับลอนดอน เขาถูกจับด้วยข้อหาสมคบคิดล้มราชบัลลังก์ และถูกประหารชีวิต เหลือเพียงคำกล่าวทิ้งไว้ว่า "เอซแซคเลื่อนยศตำแหน่งให้อัศวิน เป็นจำนวนคนมากกว่าที่เขาสังหารกบฎไอริชลงได้เสียอีก"

พร้อมๆ กับความปราชัยของเอซแซค คือการรวมกลุ่มพ่อค้าเพื่อจัดตั้ง Virginia Company บริษัทนี้เองที่เป็นโต้โผส่งเรือสำเภาไปค้าขาย และยึดครองดินแดนอันไกลโพ้น อันเป็นที่มาของยุคล่าอาณานิคม ขณะที่วัฒนธรรมอัศวินและการทหารนำไปสู่ความพ่ายแพ้ของอังกฤษในไอร์แลนด์ (ไม่นับความพ่ายแพ้ที่มีต่อมหาอำนาจอื่นอย่างสเปน และเนเธอแลนด์ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างเครือข่ายเรือสำเภาขึ้น) วัฒนธรรมการค้านำหน้าการทหารต่างหากที่ทำให้อังกฤษกลายเป็นเจ้าโลกจนถึงต้นศตวรรษที่ 20

และนี่เองคือต้นกำเนิดของโลกาภิวัตน์ที่ชาปิโรพูดถึง แน่นอนว่าในสมัยเชคสเปียร์ยังไม่มีคำนี้อยู่ในโลก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อคำถูกคิดค้นขึ้นมาแล้ว เราจะไม่สามารถนำมันมาใช้อธิบายเพื่อ “กระทบกระเทือนประวัติศาสตร์” ย้อนหลังได้ ไม่สิ ในทางตรงกันข้าม หน้าที่หนึ่งเดียว ภาระสูงสุดของนักประวัติศาสตร์ก็คือการเอาปัจจุบันไปกระทุ้งกระแทกประวัติศาสตร์ต่างหาก

(ก่อนจะมีคนครหาว่าไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับหนังสือ หรือเชคสเปียร์เลย กล่าวโดยสรุป 1599 ก็คือหนังสือชีวประวัติเชคสเปียร์ ที่ชาปิโรวิเคราะห์บทละครสำคัญๆ ซึ่งถูกเขียนในปีนั้น โดยอรรถาธิบายวิธีการที่เชคสเปียร์ใช้ภาวะบ้านเมืองในปีปัจจุบัน [ปี 1599] มาเล่าย้อนหลังเพื่อกระทุ้งกระแทกประวัติศาสตร์ หรือเรื่องราวที่ถูกเล่าขานติดปากมาจนเกร่อแล้วนั่นเอง)

A. Abidi's "Passarola Rising"

ไม่เอาไหน! (เต็มปากเต็มคำ)

นิยายพูดถึงบาโธโลมิว บุคคลจริงในประวัติศาสตร์ของโปรตุเกส ซึ่งออกแบบเรือเหาะ พาซซาโรลา บาโธโลมิวและน้องชาย ถูกศาสนจักรหาว่าเป็นพ่อมด ก็เลยต้องใช้เรือเหาะหนีไปอยู่ฝรั่งเศส อ่านเรื่องย่อก็น่าสนุกดีอยู่หรอก แต่นิยายผจญภัยอะไรที่ปราศจาก sense of wonder (ความรู้สึกน่าตื่นเต้นของการผจญภัย การค้นพบโลกใหม่) นิยายประวัติศาสตร์อะไรที่ปราศจาก sense of age (ขนาดมีวอลแตร์โผล่มา ก็ไม่ช่วยให้เรารู้สึกว่ากำลังอยู่ในโลกยุครู้แจ้ง) คนเขียนใช้ภาษาได้ไม่ค่อยดี เหมือนตัวอักษรโล่งๆ ที่ไม่มีพลังแห่งวรรณกรรม ไม่มีอะไรขับเคลื่อนให้คนอ่านอยากอ่านต่อไปข้างหน้า

B. Wasik's "And Then There's This"

หมายเหตุ: ถึงแม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องยืนยันว่า หากเมืองไทยมี Facebook ใช้เร็วกว่านี้สองสามปี เราจะไม่ประสบปัญหาการเมืองอย่างทุกวันนี้ แต่ประเด็นดังกล่าวพูดถึงบ่อยแล้ว สำหรับผู้สนใจติดตามได้ใน http://laughable-loves.blogspot.com/2011/07/d-aaronovitchs-voo-doo-histories.html วันนี้เราจะพูดเรื่องอื่นแทน

บิล วาสิก ไม่ใช่แค่นักหนังสือพิมพ์ธรรมดา เขาคือผู้ให้กำเนิด flash mob นอกจากนี้ยังเป็นผู้ชนะเลิศการแข่งขัน "เว็บไซต์ที่มีคนคลิกมากที่สุด" ของฮัฟติงตันโพสต์ วาสิกเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อเรียบเรียง อธิบายความคิดความเห็น และ "การค้นคว้า" ของเขา เกี่ยวกับปรากฏการณ์ในอินเตอร์เน็ต โดยแต่ละบทแบ่งเป็นหัวข้อต่างๆ ได้แก่ flash mob วงดนตรีในมายสเปซ การขายสินค้าผ่านเทรนด์ จนถึงการใช้ไวร์ไฟเป็นสนามการปะทะปะทังทางการเมือง

คำถามที่ชวนฉงนสงสัยที่สุดใน And Then There's This ชวนฉงนเสียจนแม้แต่วาสิกก็ยังไม่กล้าถามออกมาตรงๆ คือ ทำไมขณะที่เทรนด์อินเตอร์เน็ต และมีมทั้งหลาย เป็นเครื่องมือทางการเมืองอันทรงประสิทธิภาพ มันกลับไม่สามารถนำมาใช้ขายของได้สักเท่าไหร่ การเลือกตั้งทั้งปี 2004 และ 2008 ในอเมริกา หลักๆ ก็คือการฟาดฟันกันทางอินเตอร์เน็ต รวมไปถึงการเลือกตั้งปี 2011 ในเมืองไทย และเหตุการณ์การเมืองหลังจากนั้น ในทางตรงกันข้าม วาสิกพูดถึงบริษัท รถยนต์ มีดโกนหนวด ที่พยายามสร้างกระแสในอินเตอร์เน็ต ด้วยความเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งว่าสุดท้ายกระแสนั้นจะนำไปสู่กำรี้กำไรจริง เราเองก็อดนึกถึงภาพยนตร์ Snakes on a Plane ไม่ได้ จากมหากาพย์เทรนด์ในอินเตอร์เน็ต กลายมาเป็นความล้มเหลวในโลกแห่งความจริงชั่วข้ามคืน (ภาพข้างบนคือ flash mob ที่บริษัททีโมบายจัดตั้งขึ้นในเมืองลิเวอร์พูล สุดท้ายแล้ว การที่คนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาเต้นอย่างพร้อมเพรียงกัน และต่อให้ถือโทรศัพท์ในมือไปด้วย มันจะช่วยให้ทีโมบายขายสินค้าได้มากขึ้นจริงหรือ)

วาสิกไม่มีคำตอบ (เขาไม่แน่ใจในคำถามด้วยซ้ำ) เราเองก็ไม่มีคำตอบ แต่เป็นไปได้หรือเปล่าที่ การเมืองคือตลาดประเภทเดียวที่ผู้บริโภคไม่ต้องเสียเงินเพื่อ "จับจ่าย" (เพราะสิทธิการเลือกตั้ง และการสนับสนุนพรรคการเมืองใดๆ เป็นสิ่งที่ทุกคนมีมาอย่างเท่าเทียมกันแต่กำเนิด) และสิ่งที่นักการเมืองขายนั้นคือ "ภาพลักษณ์" ซึ่งสามารถดาวโหลด หรือเสพย์เอาได้โดยตรงจากอินเตอร์เน็ต

คนอาจจะชอบเอาเพลง Friday มาร้องใหม่ เสียดสี ล้อเลียน รีเบคกา แบลคอาจได้ปรากฏตัวในมิวสิควีดีโอของเคอรี เพอรี แต่สุดท้ายเธอจะกลายเป็น "สินค้า" ได้หรือเปล่า The jury is still out!

H. de Balzac's "Cousin Bette"

ใครติดตามรักชวนหัว น่าจะพอรู้ว่าเราไม่ชอบวรรณกรรมคลาสสิคฝรั่งเศสเอาเสียเลย พวกบิ๊กเนมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นฟลอเบิร์ต หรือพรูส อ่านแล้วแสนจะไม่ถูกจริต ถ้าจะมียกเว้นคนเดียว ก็อาจจะเป็นบัลซัคนี่แหละ

แค่เปิด Cousin Bette มา ก็รู้แล้วว่าเรากำลังอยู่ในคนละโลกกับมาดามโบวารี ความประทับใจที่เรามีต่อวรรณกรรมฝรั่งเศสคือบรรดาตัวละครผู้ชอบไปหยิบยืมเงินชาวบ้าน บริหารบัญชีไม่เป็น แล้วสุดท้ายก็มาคร่ำครวญว่าทำไมชีวิตมันถึงทุกข์ยากขนาดนี้หนอ บัลซัคเปิด Cousin Bette ด้วยการตกลงเจรจาทางธุรกิจ เป็นธุรกิจที่อยู่กึ่งกลางระหว่างความรักและเงินตรา และตลอดทั้งนิยายก็เต็มไปด้วยการผสมผสานระหว่างสองปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตคู่นี้

Cousin Bette จัดอยู่ในประเภทนิยาย ที่เอาตัวประกอบซึ่งไม่ได้มีบทบาทสำคัญอะไรมาเป็นชื่อหนังสือ ถ้าวัดกันหน้าต่อหน้าจริงๆ เบธแค่ผลุบๆ โผล่ๆ เท่านั้น ตัวเอกของเรื่องน่าจะเป็นมาเนตมากกว่า (ภาพยนตร์ดัดแปลงปี 1998 ตัดบทมาเนตออกไปเลย ขับเบธให้กลายเป็นตัวเอกแทน และให้เจนนี คาดีน ซึ่งไม่มีตัวตนในนิยาย มารับบทเป็นมาเนตเวอร์ชั่นอ่อนๆ แทน) บัลซัคแสดงให้เห็นวิธีการซึ่งมาเนตปั่นหัวผู้ชายสามสี่คน ทำลายครอบครัวหนึ่ง และใครต่อใครอีกหลายคนรอบข้าง แค่อ่าน Cousin Bette เอาเฉพาะเรื่องอำนาจทางเพศ และศีลธรรม ก็มีประเด็นน่าขบคิดสุดๆ แล้ว (เพื่อเปรียบเทียบกับมาเนต บัลซัคสร้างตัวละครโจเซฟาขึ้นมา พื้นหลังเธอคล้ายคลึงกับมาเนต คือสร้างเนื้อสร้างตัวมาจากการหลอกลวงผู้ชาย แต่เพราะความแตกต่างในบางรายละเอียดชีวิต ทำให้โจเซฟากลายมาเป็นตัวละครฝ่ายดีในเรื่องได้)

เราประทับใจกลวิธีการเล่าเรื่องของบัลซัคมาก Cousin Bette มีตัวละครสำคัญสิบกว่าตัว แต่แทนที่คนอ่านจะจับต้นชนปลายไม่ถูก เส้นเรื่องของ Cousin Bette ออกมาตรงแหน่ว เทคนิคที่เขาใช้คือการแช่แข็งตัวละคร เมื่อไหร่ก็ตามที่นิยายกำลังพูดถึงเรื่องราวของตัวละครชุดใด ตัวละครที่เหลือจะหายไปจากโลกใบนี้ และแทบไม่ส่งอิทธิพลใดๆ ต่อเส้นเรื่องตรงนั้น ด้วยวิธีการนี้ บัลซัคประสบความสำเร็จในการสลับจุดโฟกัสของนิยาย เพ่งไปที่ตัวละครทีละชุดๆ และเล่าเรื่องราวอันสลับซับซ้อน ให้ออกมาไม่สับสน และสนุกชวนติดตามได้

H. James's "The Europeans"

ไม่ได้อ่านเฮนรี เจมส์มากพอจะพูดได้อย่างเต็มปากว่าอะไรคือเอกลักษณ์ของแก แต่พอเอา The Europeans ไปเทียบกับ The Wings of the Dove ก็พอเห็นความคลายคลึงเป็นนัยๆ เจมส์ชอบผลักตัวละครเอกของเขา ไปยังจุดหักเหทางศีลธรรม จุดที่ตัวเอกจะต้องตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆ แต่ว่า dilemma และ conflict แทนที่จะเผยให้คนอ่านรับรู้ชัดๆ และร่วมตัดสินใจไปกับตัวละคร กลับถูกซ่อนอยู่ก้ำกึ่งกันระหว่างสิ่งที่ตัวละครพูด และสิ่งที่พวกเขาไม่ยอมพูด บ่อยครั้งที่เจมส์ทิ้งคนอ่านไว้กับการตัดสินใจค้างๆ คาๆ ของตัวละครจนจบเรื่องไปแล้ว

อย่าง The Europeans ก็เป็นนิยาย ที่ทั้งเล่มก็ถูกเขียนขึ้นมา เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญในตอนท้ายของยูจิเนีย บารอนหญิงชาวเยอรมัน ผู้เดินทางมาเยี่ยมญาติในอเมริกา เพื่อตามหารักแท้ ความสำเร็จ อิสรภาพ หรือว่าเงินตรา ยูจิเนียต้องเลือกว่าจะ "รับรัก" โรเบิร์ต แอกตันดีหรือไม่ เขาเป็นผู้ชายที่เหมือนจะสมบูรณ์พร้อมไปทุกทาง และสามารถให้ทุกอย่างที่เธอปรารถนา แม้การตัดสินใจของเธอจะชัดเจน แต่ในย่อหน้าสุดท้าย เจมส์จงใจเล่าให้คนอ่านฟังว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวละครในเรื่องบ้าง ทุกตัว ยกเว้นยูจิเนีย เพื่อสร้างความคลุมเครือบางอย่าง ให้ตามหลอกหลอนผู้อ่าน แม้นิยายจะจบลงไปแล้ว

The Europeans มีวิธีการเล่าและลำดับเรื่องที่แปลกประหลาดเอาการ แต่ละบทอิงอยู่บนความสัมพันธ์ของตัวละครคู่หนึ่ง ฉากต่อฉากอาจเกิดขึ้นห่างกันเป็นอาทิตย์ๆ ทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเปลี่ยนบท เปลี่ยนชุดตัวละคร เจมส์ก็กลับไปตั้งต้นนับหนึ่งใหม่ และลำดับเฉพาะฉากของตัวละครในบทนั้น วนเวียนแบบนี้ไปเรื่อยๆ เป็นการลำดับเรื่องโดยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร มากกว่าเหตุการณ์ก่อนหลังตามปฏิทิน (ซึ่งเอาเข้าจริง อาจเพราะนิยายทั้งเล่มนี้ ไม่ได้มี "เหตุการณ์" อะไรเกิดขึ้นเลยก็ได้)

P. Brooks's "Reading for the Plot"

เห็นด้วยกับบรูคส์ว่า การวิเคราะห์วรรณกรรมสายสัญศาสตร์ โครงสร้างนิยมแบบฝรั่งเศส (เกรมาส บาร์ต เลวีสเตราส์ ฯลฯ) มีข้อบกพร่องอยู่ที่การมองข้ามมิติเวลา และแปรทุกอย่างให้เป็นอนุภาคซึ่งสัมพันธ์กันอยู่นิ่งๆ แต่วรรณกรรมเป็นงานศิลปะที่ต้องเสพภายใต้ข้อจำกัด และการควบคุมของเวลา (อาจจะยิ่งกว่างานศิลปะแขนงใดเลยด้วยซ้ำ) ดังนั้นการดึงเวลาออกไปจากการวิเคราะห์งานวรรณกรรม ก็เหมือนคนตาบอดสีที่พยายามวิจารณ์งานศิลปะสกุล fauvist (ตัวอย่างเช่น สี่เหลี่ยมเกรมาสเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมากๆ ในการอธิบายสังคมหรือคอนเซปต่างๆ แต่การปรับมันมาใช้กับวรรณกรรม ก็เหมือนเราละเลยสิ่งที่สำคัญที่สุดในวรรณกรรมไปด้วย)

พูดถึงตาบอดสี จำไม่ได้แล้วว่าเป็นพลาโตหรืออริสโตเติลที่บอกว่า มนุษย์เราได้รับความเพลิดเพลินจากลายเส้นดินสอสีดำซึ่งถูกขีดเขียนอย่างตั้งใจ มากกว่าหลากหลายสีสันที่ประเดประดังลงไปบนผืนผ้าใบอย่างไร้ระเบียบ ระเบียบของวรรณกรรม (ในที่นี้คือลำดับเหตุการณ์) นั่นเองคือ โครงเรื่องหรือ plot ซึ่งเป็นหัวข้อหลักของหนังสือเล่มนี้

บรูคส์เขียนหนังสือเล่มนี้ให้นักวิจารณ์ มากกว่านักเขียน ดังนั้นมันจึงมีประโยชน์ในฐานะคู่มือการเขียนเกี่ยวกับนิยาย มากกว่าการเขียนนิยายโดยตรง บรูคส์เรียกเหตุการณ์ "ใน" นิยายแต่เกิด "ก่อน" นิยายจะเริ่มต้น และเกิด "หลัง" นิยายจบลงไปแล้วว่า the unnarratable หรือเรื่องที่ "เล่าออกมาไม่ได้" ส่วนที่เล่าออกมาไม่ได้ในตอนต้นและตอนท้าย ผลักดันและดึงดูด plot ให้ดำเนินต่อไปข้างหน้า เหมือนโลมากระโดดขึ้นเหนือผิวน้ำได้เพราะแรงส่งของมวลน้ำ และสุดท้ายก็ต้องคืนกลับสู่ผิวน้ำอยู่ดี วงโคจรของ plot เริ่มต้นและจบลงที่ the unnarratable เสมอ แต่ขณะเดียวกันก็จะมีการย้ำคิดย้ำทำให้ผู้อ่านระลึกถึง the unnarratable (ทั้งส่วนต้นและส่วนท้าย) อยู่เสมอ (ถ้าจะฝืนให้อุปมาเดียวกัน ก็คงคล้ายๆ การสะบัดน้ำกลางหาวของปลาโลมา)

A. Leak's "Sartre"

I consider Flaubert and Goncourt to be responsible for the repression of the Paris Commune because they did not write a single line to prevent it.


ยกประโยคข้างบนนี้มา เพราะรู้สึกว่ามันทรงพลังเอามากๆ ซาร์ตเชื่อว่านักเขียนต้องรับผิดชอบกับทั้งสิ่งที่เราเขียนและไม่ได้เขียน อย่างไรก็ดี แค่ประโยคข้างบนนี้ ไม่อาจสื่อถึงจุดยืนทางความคิดของซาร์ตได้อย่างครบถ้วน เราต้องไม่ลืมว่า ซาร์ตอุทิศช่วงสิบปีสุดท้ายของชีวิตให้กับการเขียนมหากาพย์ชีวประวัติของฟลอแบร์ต (ยาวสามเล่ม สองพันหน้า และยังไม่จบด้วยซ้ำ!) คนที่ซาร์ตเรียกร้องให้รับผิดชอบต่อความตายของสมาชิกปารีสคอมมูนนั่นเอง

ชีวิตซาร์ตเต็มด้วย paradox เขารังเกียจการลอยตัวอยู่เหนือปัญหา ในความขัดแย้งใดๆ ทางการเมือง ซาร์ตเรียกร้องให้ทุกคนเลือกข้าง แต่จนแล้วจนรอดเขากลับกลายเป็นศัตรูได้กับทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในฝรั่งเศส ภาระหน้าที่ของปัญญาชนคือการตระหนักความเป็น "สัตว์ประหลาด" ของตัวเอง ปัญญาชนคือผู้ถือกำเนิดและได้รับการศึกษาอยู่ในโลกของชนชั้นกลาง แต่เมื่อเขาเติบโตขึ้นมาแล้ว ปัญญาชนจะต้องทรยศต่อชนชั้นของตัวเอง และมาเข้าข้างผู้ที่ถูกกดขี่ข่มเหง

นอกจากชนชั้น ปัญญาชนยังต้องทรยศต่อเพื่อนร่วมอุดมการณ์ พรรคการเมือง องค์กร ชาติพันธุ์ และอื่นๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อจะได้ยืนอยู่เคียงข้างผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ เพื่อพิสูจน์คำพูดของตัวเอง ซาร์ตเดินทางไปทั่วโลก และเป็นปากเป็นเสียงให้กับผู้ด้อยโอกาส ในยุโรป เขาสนับสนุนสิทธิของชาวยิวและการก่อตั้งประเทศอิสราเอล แต่ในตะวันออกกลาง ซาร์ตเป็นกระบอกเสียงให้กับชาวปาเลสไตน์ที่ถูกรัฐบาลอิสราเอลข่มเหง (เมื่อซาร์ตเสียชีวิต เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นมิตรแท้ทั้งของชาวยิวและชาวปาเลสไตน์) ในสายตาของซาร์ต โลกใบนี้ไม่มีอุดมการณ์ที่ดีหรือเลวในตัวมันเอง ไม่มีแม้กระทั่งคนดีและคนเลว มีแต่ผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่ หน้าที่ของปัญญาชนคือเข้าข้างคนกลุ่มหลัง ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใครก็ตาม

นี่แหละคือความอลังการที่แท้จริงของนักปราชญ์

C. B. Divakaruni's "The Palace of Illusions"

อยากรู้ว่าถ้ามหาภารตะเดินทางมาถึงประเทศไทย แบบเดียวกับรามยานะ แล้วถ้าเรารู้จักตัวละครต่างๆ ใน The Palace of Illusions ดีเหมือนที่เรารู้จักพระลักษณ์ พระราม นางสีดา หนุมาน ทศกัณฐ์ เราจะรู้สึกยังไงกับพวกเขา

จะรู้สึกแปลกๆ ไหมที่ทิวากรุณีจินตนาการไปเองว่ากฤษณาและกรรณะจริงๆ แล้วแอบหลงรักกัน (กรรณะนี่เท่าที่สืบค้นในวิกิพิเดีย เป็นตัวประกอบแทบไม่มีบทบาทเลย) จะรู้สึกยังไงกับสงครามทุ่งกุรุเกษตรที่เลือดสาดกระเซ็น และเล่าเหตุการณ์ผ่านการร่ำร้องของหญิงม่ายผู้สูญเสียสามีและลูกชาย (นึกภาพรามเกียรติ์ ที่มีเมียยักษ์เมียลิงมาคอยร้องห่มร้องไห้อยู่ริมสมรภูมิ) จะรู้สึกยังไงกับกลลวงของกฤษณะ ที่เสกภาพลวงตาให้ตะวันตกก่อนถึงเวลา จนอีกฝ่ายชะล่าใจ (พวกลูกเล่นแบบนี้ เวลาอ่านในรามเกียรติ์แล้วรู้สึกสนุกมาก แต่เว้าซื่อๆ มันก็คือการโกงนั่นเอง)

รอยเท้าเดียวของมหาภารตะในประเทศไทยคือ กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ แต่กฤษณาของทิวากรุณีไม่มีอะไรเหมือนกฤษณาที่คนไทยคุ้นเคยเลย อย่างแรกคือเธอไม่มีน้องสาว มีแต่พี่ชายฝาแฝด ที่เทพแห่งไฟประทานมาเพื่อให้พ่อของเธอแก้แค้นศัตรูคู่อาฆาต กฤษณาของทิวากรุณีคงไปสั่งไปสอนใครไม่ได้ เพราะเอาตัวเองให้รอดก็แทบแย่แล้ว แทนที่ภาพเจ้าหญิงผู้ทนลำบากตรากตรำกับสามีทั้งห้า ทิวากรุณีวาดภาพเจ้าหญิงจิตๆ ผู้เก็บงำความแค้น ความรัก ความหึงหวงไว้ในใจ ตกเป็นเหยื่อชะตากรรม และเข้ากับแม่สามีไม่ได้ (ความตึงเครียดชิงดีชิงเด่นระหว่างกฤษณาและกุนตี ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่โศกนาฏกรรม)

สำหรับใครที่ไม่รู้ มหาภารตะ คือเรื่องราวสงครามระหว่างตระกูลปาณฑพและตระกูลเการพ หัวหอกของปาณฑพได้แก่สามีทั้งห้าของกฤษณา หนึ่งในนั้นคืออรชุน ลูกพระอินทร์ นักรบที่ได้รับการกล่าวขานว่าเข้มแข็งที่สุด นอกจากนี้อรชุนยังเป็นเพื่อนกับกฤษณะ aka วิษณุอวตาร aka อีกชาติของพระรามนั่นเอง (น่าตื่นเต้นมากๆ นารายณ์อวตารมารับบทบาทเป็นเพียงคนขับเลื่อนให้อรชุน) ส่วนฝั่งเการพมีภีษมะ บุตรแห่งพระแม่คงคา ขิงแก่ที่เผ็ดร้อนที่สุดในอินเดีย (ภาพข้างบนคือกฤษณะหมดความอดทน สู้ยังไงก็สู้ไม่ชนะภีษมะเสียที เลยเสกจักรนารายณ์มาลุยด้วยตัวเอง จนอรชุนต้องเข้าไปห้าม) โทรณาจารณ์ ผู้เป็นอาจารย์ของอรชุน และศัตรูคู่อาฆาตของพ่อของกฤษณา และสุดท้ายก็กรรณะและทุรโยธน์

น่าสงสัยไม่แพ้กันคือ ถ้ามหาภารตะเดินทางมาถึงประเทศไทยแทนที่รามายนะ ถ้าวรรณคดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ไม่ใช่สงครามระหว่างความดีและความชั่วที่แบ่งแยกขาวดำชัดเจน แต่เป็นสงครามทางการเมืองอันสลับซับซ้อน ว่าด้วยวิสัยและสันดานรัก โลภ โกรธ หลงแห่งมนุษย์ ปัจจุบันนี้สังคมไทยจะเป็นอย่างไร

A. McCall Smith's "The Sunday Philosophy Club"

"Aaaaaiiiii don't know..." (ทำเสียงถอนหายใจแรงๆ )

ตั้งแต่แมคคัลสมิธตีพิมพ์นิยายนักสืบหญิงแห่งแอฟริกาเล่มแรกในปี 1999 จนถึงตอนนี้ ลุงแกสำรอกนิยายนักสืบติดๆ กันมายี่สิบกว่าเล่มแล้ว (และนักสืบหญิงแห่งแอฟริกาก็ได้กลายเป็นละครทีวี แต่ขอบคุณพระเจ้า ที่เหมือนมันจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่) พออ่าน The Sunday Philosophy Club จบ ความรู้สึกเหมือนตอนอ่านนักสืบหญิงแห่งแอฟริกาคือ "ลุงแกช่างไม่มีเคล็ดลับ ไม่มีความเข้าใจ ไม่มีฝีมือที่จะเขียนนิยายสืบสวนสอบสวนเอาเสียเล้ยยยย"

อย่างนักสืบหญิงแห่งแอฟริกา จะว่าเป็นนิยายสืบสวนสอบสวนก็ไม่ค่อยถูกเท่าไหร่ เพราะแม้จะมีตัวนักสืบ แต่หล่อนก็ไม่ได้ออกไปสืบสวนอะไรนัก แค่ทำภารกิจที่ตรงไปตรงมา เช่น ตามเด็กหาย จับชายชู้ หรือสะกดรอยแม่บ้าน (สรุปนี่คือนิยายสืบสวนสอบสวนที่ไม่มีปริศนานั่นเอง!) ส่วน The Sunday Philosophy Club หลังจากอ่านมาทั้งเล่ม ภารกิจก็ไขออกกันง่ายๆ ในหน้าสองหน้าสุดท้ายด้วยเงื่อนงำที่ไม่เคยถูกกล่าวถึงมาก่อน (นิยายสืบสวนสอบสวนที่ไม่มีเงื่อนงำ!) จะบอกว่าลุงแกอยากรื้อสร้างนิยายแนวนี้ เราก็อดคิดไม่ได้ว่าจะรื้อสร้างอะไรกันนักกันหนายี่สิบกว่าเล่ม

แต่ที่พูดมานี้ไม่ใช่ว่าจะอ่านแล้วไม่เพลินนะ โดยเฉพาะมาอ่านหลัง Travels with My Aunt ได้อ่านอะไรที่อนุรักษนิยมสุดโต่งแบบนี้ ก็เป็นความเพลิดเพลินในอีกรูปแบบ (ผู้ใหญ่ถูกเสมอ...คุณตัดสินคนได้ทันทีจากภายนอก...มารยาทคือสถาบันทางสังคมที่สำคัญที่สุด...) ทุกอย่างในโลกมันวนกลับมาเป็นวงกลมจริงๆ นั่นแหละ ในโลกตะวันตก ยุคปัจจุบันถ้าอยาก "ถอนรากถอนโคน" (radical) วิธีที่ดีที่สุดก็คือการกลับไปหาคุณค่าแบบคุณปู่คุณย่านั่นเอง

G. Greene's "Travels with My Aunt"

ปีที่แล้วเคยพูดถึงหนังสือวันโลกแตกของแอนโธนี เบอเกส ซึ่งจริงๆ แล้วคงเป็นหนังสือที่ดี แต่ผู้อ่านในศตวรรษที่ 21 อย่างเรา เจอภาพยนตร์อุกกาบาตของไมเคิล เบย์ และมหันตภัยของโรแลนด์ เอเมอริช จนเราสูญเสียความสามารถในการ take serious หนังสือแบบนี้ไปแล้ว ในทำนองคล้ายๆ กัน ระหว่างที่อ่าน Travels with my Aunt ก็อดคิดถึงภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของอดัม แซนเลอร์ Jack and Jill ไม่ได้

หนังสือเล่มนี้ (และหนังของแซนเดอร์) ว่าด้วยการพบปะของตัวเอก ผู้มีชีวิตน่าเบื่อๆ แบบชนชั้นกลาง และญาติสนิทที่หายสาบสูญไป ในที่นี้คือป้า (ซึ่งอาจจะเป็นแม่ที่แท้จริงของเขาก็ได้) ตั้งแต่นิยายเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1969 เรื่องราวแบบนี้ก็แทบจะกลายเป็น genre ในตัวมันเอง ซึ่งก็ไม่ใช่ว่า Travels with my Aunt จะเป็นหนังสือที่ไม่ดี แต่นอกจากเราจะสูญเสียความสามารถในการ take serious พลอตเรื่องแบบนี้ นิยายทั้งเล่มยังถูกเกาะเกี่ยวเข้าหากันด้วยการเดินทางจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่ง และกลับไปยังจุดตั้งต้นซ้ำไปซ้ำมา สำหรับคนที่ไม่ได้ชอบเดินทางอย่างเรา มันยิ่งลดความน่าติดตามเข้าไปใหญ่

เรามันก็ชนชั้นกลางน่าเบื่อๆ แบบนี้แหละ เอาไว้รอให้มีญาติที่หายสาบสูญพาเราไปเที่ยวไหนต่อไหน เราอาจจะสนุกกับหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาบ้างก็ได้

W. Shakespeare's "The Wars of the Roses"

เปล่าๆ เชคสเปียร์ไม่เคยเขียนบทละครชื่อ "The Wars of the Roses" หรอกนะ มีแต่จตุรภาคสงครามดอกกุหลาบที่ประกอบไปด้วยบทละครสี่เล่ม คือ Henry VI สามเล่ม แล้วก็ Richard III อีกหนึ่งเล่ม ทั้งสี่เล่มเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามดอกกุหลาบ ระหว่างตระกูลยอร์คและแลนแคสเตอร์ในประเทศอังกฤษ (ทั้งสองตระกูลใช้สัญลักษณ์เป็นดอกกุหลาบขาวและแดง) เริ่มในยุคกษัตริย์เฮนรีที่ 6 ภายหลังสงครามร้อยปีกับประเทศฝรั่งเศส ต่อมาถึงกษัตริย์เอดเวิร์ดที่ 4 และไปจบที่ทรราชย์ริชาร์ดที่ 3 ผู้โด่งดัง ก่อนตระกูลยอร์คและแลนแคสเตอร์จะรวมกันเกิดเป็นราชวงศ์ทิวดอร์ ซึ่งเป็นยุคสมัยของเชคสเปียร์

โด่งดังสุดในสี่เล่ม แน่นอนว่าต้องเป็น Richard III บทละครสร้างชื่อเรื่องแรกของเชคสเปียร์ Richard III โด่งดังเสียจน มันกลืนเอาบทละครเฮนรีที่ 6 อีกสามเรื่องหายเข้าไปหมด ทั้งปัจจุบันและในอดีตไม่ค่อยมีใครเล่นบทละครเฮนรีแล้ว แต่บางส่วนบางตอนของมัน ถูกประกอบเข้าไปอยู่ใน Richard III แทน

และเหยื่อของการถูกกลืนตรงนี้ ก็มักจะหนีไม่พ้น Henry VI ภาคสุดท้าย ซึ่งเจ้าชายริชาร์ดเริ่มมีบทบาทเด่นขึ้นมา อันที่จริงก็น่าเสียดาย เพราะถ้าถามเรา บทละครทั้งสองเรื่องนี้ดีพอๆ กัน และดีไปคนละแบบ Henry VI ภาคสุดท้าย เป็นบทละครว่าด้วยสงครามกลางเมือง ดังนั้นจึงไม่มีตัวเอกชัดเจน เหมือนที่กษัตริย์เฮนรีรำพึง ชีวิตของผู้คนในภาวะสงครามเปรียบเหมือนขนนกปลิวไปปลิวมาท่ามกลางกระแสลม บัดเดี๋ยวมีชัย บัดเดี๋ยวแพ้พ่าย ทั้งหมดขึ้นอยู่กับดวง (ไม่ต้องแปลกใจว่าโรเบิร์ต เซเมกคิส ผู้กำกับ Forest Gump เอาอุปมาชีวิตคนเหมือนขนนกมาจากไหน) ฉากที่โดดเด่นที่สุดอยู่กลางเรื่อง เมื่อทั้งฝ่ายยอร์คและแลนแคสเตอร์ส่งทูตไปเจรจาขอความช่วยเหลือจากกษัตริย์ฝรั่งเศส ฉากนี้โชว์ความสามารถ ไหวพริบปฏิภาณทางการทูตของแต่ละฝ่าย ก่อนจะจบลงด้วยความพลิกผันเหนือคาดหมาย

อันที่จริง ถ้าไม่ยึดติดกับอคติว่าพระเอกต้องเป็นคนดี เก่งกล้าสามารถแล้วละก็ Henry VI ภาคสุดท้าย ก็มีพระเอกเหมือนกัน และสองคนเสียด้วย คือกษัตริย์เฮนรีและเจ้าชายริชาร์ด ทั้งคู่เป็นขั้วตรงข้ามระหว่างความดีและความเลวสุดโต่ง ในตอนจบฉากการปะทะกันในหอคอยระหว่างความดีและความเลวเทียบเท่าฉากไคลแมกในภาพยนต์แอคชั่นทั้งหลายเลย (เพียงแต่หนนี้ความดีเป็นฝ่ายปราชัย ริชาร์ดสังหารเฮนรี ก่อนจะตั้งตนเป็นกษัตริย์ได้ในภายหลัง)

Richard III เป็นบทละครอีกประเภทหนึ่ง กษัตริย์ริชาร์ดเป็นตัวเด่น แอนไทฮีโร ที่คุมละครทั้งเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ (และเป็นครั้งแรกอีกเหมือนกันที่เชคสเปียร์เขียนละครลักษณะนี้) ส่วนตัวเราเฉยๆ กับการยึดครองอำนาจของริชาร์ด เราไม่ค่อยชอบผู้ร้ายสองหน้าของเชคสเปียร์เท่าไหร่ (เอดมุนเอย อิยาโกเอย) บทแบบนี้ถ้าเล่นไม่ดีจริง มันจะออกมาเป็นนางร้ายช่องเจ็ดมากๆ แต่สิ่งที่เราชอบที่สุดใน Richard III คือสงครามย่อยๆ ระหว่างเพศ ขณะที่ผู้ชายของสองตระกูลรบราฆ่าฟันกัน จู่ๆ ผู้หญิงก็เริ่มสมัครสมานสามัคคีกันได้ในความเศร้าโศก และก็เป็นอำนาจในเรือนของผู้หญิงต่างหากที่โค่นล้มทรราชย์ริชาร์ดลงได้สำเร็จ

I. Dinesen's "The Angelic Avengers"

เพิ่งรำพึงอยู่หยกๆ ว่าอะไรหนอคือความลับของนิทาน นิทานช่างเป็นเครื่องมือทางวรรณกรรมอันน่ามหัศจรรย์ คุณสามารถแทรกมันลงไปในนิยายหรือเรื่องสั้นใดๆ ก็ได้ ความเป็นกลางของนิทานช่วยให้มันกลายเป็นสัญลักษณ์ที่รับใช้ได้ทุกเนื้อหา บริบท เหมือนผลึกแก้วหักเหแสงขาวให้กลายเป็นสีรุ้ง และขณะเดียวกันก็รวบสีรุ้งให้กลับมาเป็นแสงขาว

ดีนเซนเป็นเจ้าแม่นิทานยุคใหม่ เรื่องสั้นของเธอ บางเรื่องไม่มีอะไรเลย น้ำท่วมทุ่งไปเรื่อยๆ จนกระทั่งตัวละครแลกเปลี่ยนเล่านิทานสู่กันฟัง เมื่อนั้นแหละ ทั้งเรื่องสั้นของเธอก็จะมีความหมายขึ้นมาทันที งานเขียนของดีนเซนเหมือนกล่องเก็บเครื่องประดับ ที่เปิดเต็มไปด้วยขยะ เว้นแต่ผลึกอัญมณีที่สวยมากๆ ก้อนหนึ่ง เพราะเหตุนี้ เราถึงชื่นชมเรื่องสั้นของดีนเซนมากกว่านิยาย ในจำนวนงานเขียนทั้งหมดของเธอ ผลงานที่ดังที่สุด Out of Africa กลับเป็นผลงานที่เราชอบน้อยที่สุด

ถึงแม้ The Angelic Avengers จะเป็นนิยาย แต่กับเรื่องนี้ดีนเซนใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของตัวเองได้อย่างชาญฉลาด ดีนเซนเอานิทานเรื่อง "เคราน้ำเงิน" (ซึ่งก็คือ โฉมงามกับเจ้าชายอสูร ฉบับจบไม่ดี เพราะเจ้าชายอสูรในที่นี้เป็นฆาตกร) มาเป่าให้มันพองออก กลายเป็นนวนิยายยาว 300 หน้า เพิ่มโฉมงามเป็นสองหน่อ ใส่แบคกราวน์ลงไป เปลี่ยนเจ้าชายอสูรเป็น -- เราก็อธิบายไม่ถูกเหมือนกัน แต่เราชอบตัวละครตัวนี้มาก เราอยากเรียกเขาว่า -- นักบวชมหากาฬ ส่วนผสมระหว่างพิกเมเลียน เอเวอกรีน (มือปืนนักบวชในเรื่อง Trigun) แล้วก็ปาปาเลคบา เทพแห่งความตายในศาสนาวูดู แทนที่เคราน้ำเงินคนนี้จะแต่งงานกับผู้หญิงคนแล้วคนเล่า ก็เป็นเคราน้ำเงินที่รับหญิงสาวมาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรมแทน

นอกจากนิยายทั้งเรื่องจะเป็นนิทานขนาดยาวแล้ว ดีนเซนยังยัดเอานิทาน (หรืออะไรที่เหมือนนิทาน) ใส่ลงไปตรงนู่นตรงนี้ The Angelic Avengers กลายเป็นโคตรนิทานที่น่าอัศจรรย์ใจ นี่คือการรื้อนิทาน ไม่ใช่เพื่อทำลาย แต่เพื่อนำมาสร้างใหม่ให้พิสดาร ไฉไลกว่าเดิมโดยแท้

I. Kant's "Critique of Practical Reason"

หนึ่งในปัญหาคลาสสิคของปรัชญาตะวันตกคือ causality (กฎแห่งเหตุและผล) ปะทะ morality (กฎแห่งศีลธรรม) สุดโต่งด้านหนึ่งคือฮูม ผู้เชื่อว่าโลกใบนี้เป็นนาฬิกาเรือนใหญ่ ทุกสรรพสิ่งเคลื่อนที่ตามกลไก เหตุและผลของมัน จึงเป็นเรื่องเปล่าดายที่มนุษย์จะเปลี่ยนแปลงอะไร เจตจำนงค์อิสระไม่มีจริง และศีลธรรมไม่มีความหมาย อีกด้านหนึ่ง สปิโนซาบอกว่า พระผู้เป็นเจ้าคือสสารใหญ่สุดหนึ่งเดียว ทุกเหตุการณ์ในโลกเกิดจากพระองค์แบ่งแยกตัวเองออกมา ดังนั้นทุกสิ่งจึงอยู่นอกเหนือความพยายามของมนุษย์ เจตจำนงค์อิสระไม่มีจริง และศีลธรรมไม่มีความหมาย

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าสุดโต่งทางไหน ข้อสรุปเดียวกันหมดคือศีลธรรมเป็นเรื่องลวงตา (หมายเหตุ: อันนี้คือรักชวนหัวอ่านคานท์อ่านฮูมและสปิโนซา ถ้าผิดจากนี้ อาจจะไม่ได้ผิดที่เรา แต่ผิดที่คานท์ก็ได้นะ)

ใน Critique of Practical Reason คานท์พยายามดึงเอาศีลธรรมกลับมา เขาแบ่งสรรพสิ่งในโลกออกเป็นสองประเภท คือ phenomenon (ปรากฏการณ์) และ noumenon phenomenon ปรากฏให้เราเห็น ผ่านการรับรู้ และอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์แห่งเหตุและผล (ใน Critique of Pure Reason คานท์อธิบายว่ากฎแห่งเหตุและผล เป็นเพียงกรอบที่การรับรู้ของมนุษย์นำมาครอบปรากฏการณ์เท่านั้น)

ดังนั้นอะไรที่อยู่นอกเหนือไปจาก phenomenon (ซึ่งก็คือ noumenon หรือ -- ถ้าใครอ่านปรัชญาเยอรมัน คำที่ทุกคนจะเจอ และจะงงโคตรๆ เมื่อเจอหนแรกคือ -- thing-in-themselves นั่นเอง) เราไม่สามารถใช้กฎแห่งเหตุและผลอธิบายได้ เช่น "เพราะนาย a มีจิตใจอันโหดร้าย เขาจึงทำร้ายนาย b" จิตใจอันโหดร้ายของนาย a เป็น noumenon (ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่สัมผัส รับรู้ได้) จึงไม่อาจนำมาผนวกในประโยคเหตุและผลเช่นนี้ เช่นเดียวกับประโยค "ถ้าในปี 2554 พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้ง ประเทศไทยจะไม่ประสบอุทกภัย" ทั้งเหตุและผลของประโยคนี้ก็เป็น noumenon กันทั้งคู่

คานท์อธิบายว่า จริงอยู่ที่ทุกปรากฏการณ์อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์แห่งเหตุและผลเหมือนกับนาฬิกาเรือนยักษ์ของฮูม แต่ถ้าเราสาวเหตุและผลย้อนหลังต่อๆ กันไปเรื่อยๆ เราจะเจอกับ noumenon ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในรูปของ "นาย a ทำร้ายนาย b เพราะเขามีจิตใจอันโหดร้าย" สิ่งที่นาย a ทำ ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์แห่งเหตุและผลแล้ว เพราะมันมาจากแรงขับเคลื่อนภายในตัวนาย a เอง เราสามารถใช้ศีลธรรมมาตัดสินการกระทำของนาย a ได้ นาย a อาจจะอ้างสาเหตุที่ตัวเขามี "จิตใจอันโหดร้าย" (ซึ่งส่งผลไปยังการกระทำของเขา) ว่าเป็นเพราะการเลี้ยงดูอย่างผิดๆ โดยพ่อแม่ แต่สำหรับคานท์ internal causality ไม่ใช่ phenomenon ดังนั้นไม่อาจถือเป็น causality ได้

สรุปแบบเท่ๆ เจตจำนงค์อิสระสถิตอยู่ในเส้นที่ noumenon ก้าวผ่านออกมาเป็น phenomenon นั่นเอง

M. V. Franz's "The Interpretation of Fairy Tales"

ก่อนอื่นจับกบมาตัวหนึ่ง โยนลงไปกลางรังมด แล้ววิ่งหนีให้เร็วที่สุด ถ้าฝูงมดแทะซากศพจนเหลือแต่กระดูกเมื่อไหร่ ค่อยดึงเอากระดูกขาออกมา ชายหนุ่มคนไหนอยากให้หญิงสาวหันมาหลงรัก ก็ให้แอบเอากระดูกกบนั่นแหละไปถูๆ ที่หลังเธอ แต่วิธีนี้มีข้อควรระวังอยู่อย่าง คือตอนที่วิ่งหนีออกมาจากรังมด ถ้าวิ่งไม่เร็วพอ จะได้ยินเสียงคำสาปแช่งของกบ จากนั้นชีวิตชายหนุ่มจะประสบแต่หายนะ

อันนี้เป็นตำรา "ยา" เสน่ห์แบบฝรั่ง ซึ่งก็ฟังแล้วชวนสยดสยอง แต่ก็น่าหลงใหลไม่แพ้ยาเสน่ห์แบบไทย

ในทางวรรณกรรม เทพนิยาย ตำนาน หรือนิทานมีเสน่ห์มากๆ แต่ที่แปลกคือทำไม หนังสือหรือทฤษฎีอะไรก็แล้วแต่ที่พยายาม วิเคราะห์นิทานเหล่านี้ มักจะแป๊กเป็นส่วนมาก อาจเป็นเพราะมุมมอง หรือเป้าหมายของเราเอง ที่มักไม่ค่อยสอดคล้องกับนักวิชาการที่ศึกษานิทานพวกนี้ นักโครงสร้างนิยมพยายามเอานิทานมาหย่อนลงกรอบของตัวเองให้พอดิบพอดีที่สุด นักประวัติศาสตร์ก็สนใจแต่ว่านิทานมีบทบาท อิทธิพลต่อสังคมพื้นเมืองอย่างไร

ฟรานซ์เป็นนักจิตวิเคราะห์สายจุง เธอใช้ทฤษฎีของจุงมาวิเคราะห์เทพนิยาย มองว่าเทพนิยายคือความฝันแบบมันดาลาประเภทหนึ่ง แล้วก็ตีความว่าองค์ประกอบในเทพนิยาย จริงๆ แล้วเป็นสัญลักษณ์ของอะไร (กบแทน... มดแทน... กระดูกขาแทน...) อดตั้งข้อสังเกตขำๆ ไม่ได้ว่านักคิดสายจุงเหมือนจะมีปมด้อยอะไรบางอย่าง ตีความความฝันหรือนิทานอะไรออกมาก็ได้ message เดียวกันหมด -- อัตตาเป็น masculine ท่องไปในดินแดนแห่งความมืด พบกับ anima ที่เป็นตัวแทนของไสยศาสตร์เรื่องลี้ลับ มีแต่การผสมผสานระหว่างอัตตาและความเชื่อเหนือธรรมชาติที่ซ่อนอยู่ในใจลึกๆ ที่ทำให้มนุษย์บรรลุถึง Self โดยสมบูรณ์

ก็โอเคอยู่ แต่มันก็ตอบคำถามเราไม่ได้ว่า ทำไมนิทาน ตัวอย่างเช่นเรื่องยาเสน่ห์ขากบที่ยกมาข้างต้น มันถึงอ่านแล้วโดนนัก แล้วในฐานะนักเขียน เราจะผลิตอะไรโดนๆ แบบนี้ออกมาเองได้อย่างไร

H. Arendt's "Between Past and Future"

เคยพูดไปแล้วว่า เราไม่นิยมวรรณกรรมหรืองานศิลปะที่แตะประเด็น post-modern แบบผิวเผินเท่าไหร่ อย่างดีสุด งานเหล่านี้ก็จะตีความ post-modern แบบผิดๆ (โลกนี้ไม่มีอะไรจริง ทุกอย่างเป็นอัตถวิสัย) หรือเลวร้ายกว่านั้น มันจะส่ง message ที่ตรงกันข้ามเลย (มุ่งหน้าเข้าหาธรรมะสิเธอว์ เป็นอกาลิโกนะ ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง) ซึ่งกลับกลายเป็นแนวคิดแบบ pre-modern ไป

ลักษณาการที่ post- และ pre-modern รับใช้ซึ่งกันและกันนี่ โดยผิวเผินเหมือนจะเป็น paradox แต่พวกนักโฆษณาชวนเชื่อเวลาเผยแพร่คำสอนให้สาวก เขาก็จะใช้เหตุผลแบบ pre-modern ปลุกปั่นให้คนเชื่ออย่างนู้นอย่างนี้ แต่พอต้องไปเถียงกับคนที่เห็นต่างจากเขา (และฉลาดกว่าเขา) เขาจะบอกว่าตัวเองมีสิทธิที่จะเชื่ออะไรก็ได้ เพราะโลกนี้เป็น post-modern

ในบทความ Truth and Politics อาแรนด์ทแบ่งชนิดของวาทกรรมออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้ ด้านหนึ่งคือวาทกรรมพื้นฐานที่ไม่ต้องผ่านการสังเคราะห์ แบ่งออกเป็นข้อเท็จจริง (factual truth) กับ หลักการ (rational truth) ข้อเท็จจริงพิสูจน์ได้ในเชิงประจักษ์ เช่น "วันนี้ฝนตก" ขณะที่หลักการ ต้องใช้เหตุผลถกเถียงกัน เช่น "ระบบการปกครองที่ดีที่สุด คือการปกครองประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน" ส่วนสิ่งที่ตรงข้ามกับข้อเท็จจริงคือคำลวง (lie/error) และที่ตรงข้ามกับหลักการคือความเชื่อ (dogma) วาทกรรมพื้นฐานเหล่านี้ผลิตวาทกรรมสังเคราะห์ขึ้นมาอีกชั้น ข้อเท็จจริงนำไปสู่ความคิดเห็น (opinion) และหลักการนำไปสู่ -- อาแรนด์ทใช้คำว่า political speculation/understanding แต่เราขอใช้คำว่า -- จุดยืนทางการเมือง

ดังนั้นเวลาเราอ่านหนังสือพิมพ์ บทสัมภาษณ์ หรือบทความอะไรก็แล้วแต่ ข้อเท็จจริง/คำลวง หลักการ/ความเชื่อ ความคิดเห็น และจุดยืน ปนเปประเดประดังกันเข้ามา (presentation ที่เหมาะมากๆ คือใช้สี่เหลี่ยมเกรมาส แต่เราแอบหมั่นไส้ไอ้สี่เหลี่ยมนี้ เลยขอไม่ทำดีกว่า) ใช่ว่าทั้งสี่อย่างนี้จะเต้นไปตามจังหวะ post-modern ได้ดีเท่ากันหมด ความคิดเห็นเหมือนจะเป็นอัตถวิสัย แต่สุดท้ายก็ยังยืนพื้นอยู่บนข้อเท็จจริง หรือคำโกหก เทคนิคพื้นฐานของนักโฆษณาชวนเชื่อ คือการโกหกเพื่อสร้างความคิดเห็น และพยายามขายความคิดเห็นนั้น โดยปกปิดซุกซ่อนที่มาที่ไป หรือข้อเท็จจริงให้แนบเนียนที่สุด (เพราะข้อเท็จจริงถึงจะบิดเบือนได้บ้าง ใช้จำนวนคนมากดดันได้บ้าง แต่เหมือนที่ลินคอล์นกล่าวไว้ "คุณหลอกคนบางคนได้ตลอดกาล หลอกคนทุกคนได้ในบางเวลา แต่คุณไม่สามารถหลอกคนทุกคนได้ตลอดกาล")

ในทำนองเดียวกัน จุดยืนทางการเมือง ก็มาจากหลักการหรือความเชื่อก็ได้ และถึงที่สุดจริงๆ ทั้งจุดยืน ความคิดเห็น หลักการ/ความเชื่อ และ ข้อเท็จจริง/คำลวง ส่งผลซึ่งกันและกัน คนที่มีจุดยืนบนหลักการแน่นๆ ก็มักจะมีความคิดเห็นที่สร้างมาจากข้อเท็จจริง ขณะเดียวกันใครที่คุ้นเคยกับการสร้างความคิดเห็นจากคำลวง สุดท้ายแล้วก็มักจะอาศัยความเชื่อมาเป็นจุดยืนของตัวเอง (อย่างไรก็ดี เร็วๆ นี้มีทอล์คโชว์รายการหนึ่ง เลือกแขกได้หลากหลายดีมาก มีทั้งคนที่หลักการแน่นเปรี๊ยะ แต่ก็ยังฟังและเอ่ยอ้างคำลวง ขณะที่อีกคนความคิดความเห็นดีมากๆ แต่กลับไม่มีหลักการอะไรเลย แสดงให้เห็นว่าแต่ละแกน มันแยกออกจากกันพอสมควร)