F. Dostoevsky's "Demons"
"Demons" เป็นหนังสือเล่มที่สามของดอสโตเยฟสกี้ที่เราอ่าน ชอบน้อยกว่าทั้ง "Crime and Punishment" และ "The Idiot" แต่ก็ยังถือว่าเป็นสุดยอดนิยายอีกเล่มจากปลายปากกาโคตรนักเขียนรัสเซีย ชื่อหนังสือมาจากเรื่องเล่าในคัมภีร์ไบเบิ้ล เมื่อพระเยซูขับไล่ปีศาจออกจากร่างชายคนหนึ่ง ผีร้ายหนีเข้าไปสิงสู่ฝูงสุกร จนพวกมันบ้าคลั่งวิ่งลงทะเล จมน้ำตายหมู่ ปีศาจที่ดอสโตเยฟสกี้กล่าวถึงใน "Demons" คือความเชื่อ หรือลัทธิการเมือง ซึ่งเมื่อสิงสู่ตัวผู้ใด สามารถดลบันดาลให้คนธรรมดาก่อเรื่องเลวร้ายได้อย่างไม่น่าเชื่อ (แต่ก่อนชื่อภาษาอังกฤษของ "Demons" คือ "The Possessed" หรือ "ผู้ถูกสิงสู่")
เรื่องประเภทชายผู้ถูกครอบคิดโดยความคิดนั้นไม่ใช่ของใหม่สำหรับดอสโตเยฟสกี้ อย่างแก่นเรื่องของ "Crime and Punishment" ก็คล้ายๆ แบบนี้ จะต่างก็คือความเชื่อซึ่งสิงสู่ใน "Demons" ไม่ใช่อัตถิภาวนิยม แต่เป็นปรัชญาวัตถุนิยมแบบคอมมิวนิสต์ซึ่งเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในรัสเซียยุคนั้น และผู้ถูกสิงในที่นี้ไม่ใช่แค่ตัวเอกของเรื่องคนเดียว แต่เป็นคนทั้งหมู่บ้าน "Demons" ต่างจากนิยายอีกสองเรื่องตรงเหตุการณ์ไม่ได้เกิดในเมืองใหญ่อย่างเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก แต่เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนรัสเซียประเทศ
เช่นเดียวกับผลงานชิ้นอื่นๆ "Demons" อุดมไปด้วยตัวละครน่าสนใจมากหน้าหลายตา การแบ่งสันปันส่วนบทบาทไปให้ตัวหลัก ตัวรองนี้ถือเป็นความสามารถอันโดดเด่นของดอสโตเยฟสกี้ ตัวประกอบที่ตอนแรกเหมือนจะโผล่ขึ้นมาลอยๆ สุดท้ายกลับมีบทบาทสำคัญจับใจผู้อ่าน "Demons" เล่าเรื่องคนสี่คน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเข้าร่วมองค์กรลับทางการเมือง (ดอสโตเยฟสกี้ไม่ได้เจาะจงธรรมชาติขององค์กรให้ชัดเจน) บัดนี้พวกเขากลับมาบ้านเกิดของตัวเองด้วยจุดประสงค์ที่ต่างกัน ทั้งสี่ได้แก่คิริลอฟ ชายผู้เชื่อว่าการฆ่าตัวตายจะช่วยให้เขากลายเป็นพระเจ้า นิโคลัส ลูกชายเศรษฐีนีที่ดินรายใหญ่ในหมู่บ้าน ชาตอฟเจ้าของอดีตอันเจ็บช้ำ ปัจจุบันพยายามหลีกหนีจากองค์กร และเปตูชา ผู้นิยมการปั่นหัวหลอกใช้ผู้อื่น
คิริลอฟคล้ายรอดยา ตัวเอกจากเรื่อง "Crime and Punishment" ทั้งคู่ต่างเป็นนักทฤษฎีผู้มีความคิดพิสดาร และกล้าทำเรื่องผิดมนุษย์มนาเพียงเพื่อจะพิสูจน์ความเชื่อตัวเอง คิริลอฟให้สัญญากับเปตูชาว่าเมื่อไหร่ที่อีกฝ่ายต้องการ เขาพร้อมจะฆ่าตัวตายเป็นแพะรับบาปให้กับองค์กร นิโคลัสเองก็ชวนให้นึกถึงมิชกินหรือ "The Idiot" ทั้งคู่ล้วนถูกคนรอบข้างมองว่าสติไม่ดี แต่กลับมีท่าทีบางอย่างทำให้ใครๆ เคารพนบนอบ เกรงอกเกรงใจ ต่างตรงมิชกินคือ "ผู้งดงามไร้ที่ติ" ส่วนนิโคลัสติดอยู่ระหว่างความอยากเป็นคนดี และกิเลสเบื้องต่ำ ยอมรับว่าเป็นตัวละครที่เราเข้าใจเขาน้อยที่สุด ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าความไม่เข้าใจตัวเองตรงนี้คือลักษณะพิเศษ หรือแม้แต่ดอสโตเยฟสกี้เองก็ยังตัดสินใจไม่ถูกจะให้เขาเป็นอะไร
ตัวละครที่ชอบที่สุดในเรื่องคือเปตูชา เข้าใจว่าแอน รายคงใช้หมอนี่เป็นต้นแบบให้ทูฮี อัจฉริยะจอมวายร้ายใน "Fountainhead" เปตูชาปรากฏตัวในฐานะผู้แทนองค์กร แต่จนแล้วจนรอดไม่มีใครรู้ว่าหมอมีหน้าที่ ตำแหน่ง หรือความรับผิดชอบใด เปตูชาจัดตั้งสาขาองค์กรในหมู่บ้าน โดยรวบรวมเหล่าวายร้าย ขโมยขโจรเพื่อเป็นแขนขาให้กับตัวเอง มิหนำซ้ำยังหลอกใช้ยูเลีย ภรรยานายอำเภอ เศรษฐีนีใหม่แห่งหมู่บ้าน ความน่ากลัวของเปตูชาคือรู้จักใช้จุดอ่อนแต่ละคน และเข้าใจอำนาจแห่งความเชื่อ ว่าสามารถปั่นหัวคนให้เมามายได้ไม่ต่างอะไรจากสุรา
"Demons" ถือเป็นนิยายที่ค่อนข้างแปลกในแง่มุมมองตัวละคร ผู้เล่าเรื่องหรือ "ผม" เป็นตัวประกอบซึ่งแทบปราศจากบทบาท และเป็นไปไม่ได้แน่ๆ ที่เขาจะปรากฏตัวตรงนู้น ตรงนี้ติดตามการเคลื่อนไหวตัวละครแต่ละตัว ถ้าจำไม่ผิด "Crime and Punishment" ก็เล่าเรื่องผ่านสายตารอดยาเหมือนกัน แต่เนื่องจากรอดยาเป็นตัวเอก จุดสนใจในนิยายจึงค่อนข้างชัดเจน ถึงจะส่ายไปสายมาบ้าง แต่ก็ยังวดเวียนอยู่กับประเด็นหลัก ขณะที่ "Demons" เปิดฉากที่สเตฟาน พ่อของเปตูชา และวาวารา แม่ของนิโคลัส ช่วงแรกของนิยายเป็นเรื่องรักหักสวาทระหว่างคนทั้งสอง ช่วงกลางๆ เล่มจุดสนใจย้ายไปที่นิโคลัส เปตูชา ชาตอฟ ก่อนจะกลับไปยังสเตฟานอีกครั้ง เป็นเหตุให้การเล่าเรื่องไม่หนักแน่นเหมือนเล่มก่อนๆ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment