G. Greene's "A Burnt-Our Case"


สงสัยว่าเกรแฮม กรีนน์ "ซีเรียส" กับนิยาย A Burnt-Out Case แค่ไหน เรื่องราวเกิดในสถานพักฟื้นผู้ป่วยโรคเรื้อนกลางทวีปแอฟริกา อยู่ดีๆ ก็มีคนแปลกหน้ามาขอพักอาศัย แลกกับแรงงานจิ๊บจ้อย กลับกลายเป็นว่าชายแปลกหน้าคนนั้นคือสถาปนิกระดับโลก ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังจากการออกแบบโบสถ์ และเป็นที่เคารพนับถือในหมู่ศาสนิกชน

เควียรี่ก็เหมือนพระเอกส่วนใหญ่ของกรีนน์ เขาประสบภาวะวิกฤติศรัทธา จู่ๆ ก็สูญเสียความเชื่อมั่นในพระเจ้า พร้อมๆ กับตระหนักว่า จริงๆ แล้วฝีมือของตัวเองอาจไม่ได้ดีเลิศอะไรเลย กรีนน์พยายามเปรียบเทียบชีวิตของเควียรี่ว่าไม่ต่างอะไรจากผู้ป่วยโรคเรื้อน ต้องมาพักรักษาตัวเองอยู่ไกลหูไกลตาผู้คน สมัยนั้นยังไม่มียา โรคเรื้อนมีอาการร้ายแรง ผู้ป่วยอาจสูญเสียนิ้วมือ นิ้วเท้า หรือแขนขาได้ง่ายๆ อาการเจ็บป่วยทางใจของเควียรี่สร้างบาดแผลบางอย่างที่ร้ายแรงเทียบได้กับความพิการ ชื่อนิยาย "burnt-out case" หมายถึงอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงจนหมอทำอะไรไม่ได้ ต้องปล่อยให้เชื้อโรคกัดกินร่างกายผู้ป่วย จนถ้าไม่ตายไปเลย ก็หายเอง ในที่นี้ กรีนน์หมายถึงทั้งเควียรี่ และผู้ป่วยโรคเรื้อน ที่มีอาการโรคเท้าช้างแทรกซ้อน จนอัณฑะพองบวม ต้องใช้สองมือแบกลูกอัณฑะเวลาเดินไปไหนมาไหน

ขอถามกรีนน์ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง "SRSLY?"

เราจะสามารถเอามหาเศรษฐีคนขาวผู้โด่งดังระดับโลก และเปลี่ยนคู่นอนไม่ซ้ำหน้า มาเปรียบเทียบกับคนผิวดำผู้ยากจน ไม่มีอันจะกิน ต้องสละบางส่วนของร่างกายตัวเองเพื่อรักษาชีวิต ได้สักกี่น้ำ อุปมาอุปมัยอาจเป็นเครื่องมือทางวรรณกรรมที่ทรงประสิทธิภาพ แต่ไม่ทรงประสิทธิภาพขนาดนั้น นึกถึงคำค่อนขอดของซาร์ตว่าชนชั้นกลาง ชอบเขียนนิยาย โดยสร้างโลกส่วนตัวขึ้นมา โลกที่ปัญหาของพวกเขาเอง (เช่น วิกฤติศรัทธา) เป็นเรื่องใหญ่คับฟ้า ไม่แพ้ปัญหาปากท้องของชาวบ้าน

แปลว่านิยายทุกเล่มต้องพูดถึงแต่ปัญหาที่เลวร้ายที่สุดหรือเปล่า ไม่ถึงขนาดนั้น แต่พอจับสองสิ่งมาเปรียบเทียบกัน มันอดคิดไม่ได้จริงๆ (กรีนน์เองนั่นแหละ ที่ "ท้า" ให้คนอ่านไปคิดต่อ) สนุกไหมกับ A Burnt-Out Case ตอบว่าอ่านเพลินดี แต่นี่คงเป็นนิยายเรื่องแรกของกรีนน์ที่นอกจากเราจะไม่ชอบแล้ว อาจจะใช้คำว่า "เกลียด" ได้เลย

1 comment:

Anonymous said...

ใครๆก็คิดว่าปัญหาของตัวเองใหญ่คับฟ้า สำคัญกว่าเรื่องอื่นๆไม่ใช่หรือครับ