J. Conrad's "Lord Jim"

Money lost, something lost. Honor lost, much lost. Courage lost, everything lost-better you were never born 
-- Johann Wolfgang von Goethe
วุ่นวายจนไม่เป็นอันได้อ่านหนังสือเลย หรือถึงอ่านก็ไม่สามารถเขียนบทวิจารณ์ได้   แต่เพื่อไม่ให้ขาดช่วงเลยกัดฟันหยิบ Lord Jim ของคอนราดมาลิ้มๆ ชิมๆ ให้จบ

นี่คือเรื่องเล่าของมาโลว์ (ตาคนเดิมจาก Heart of Darkness) แต่หนนี้ไม่ได้ว่าด้วยความมืดลึกสุดหยั่งของเคิร์ท แต่เป็นเรื่องที่แทบจะตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง   "ท่านจิม" เป็นเด็กหนุ่มผู้ถูกตามหลอกหลอนด้วยความผิดพลาดเพียงหนเดียวในชีวิต

ครึ่งแรกของหนังสือพูดถึงความผิดพลาดนั้น จิมเป็นลูกเรือที่ประสบภัยกลางสมุทร   เขาเอาตัวรอดมาได้ โดยแลกกับชีวิตลูกเรือเกือบสองร้อยคน   เหตุเกิดในยามค่ำคืน จิมเป็นคนแรกที่รู้ว่าเรือกำลังจะจม   เขาตัดสินไม่ยอมปลุกลูกเรือคนอื่นที่กำลังหลับอยู่ เพราะจิมเชื่อว่าต่อให้ปลุกขึ้นมา ก็มีแต่ความโกลาหลวุ่นวาย และสุดท้าย ก็คงไม่ทันการ ต้องตายตกตามกันไปทั้งหมดอยู่ดี   ความ "ขี้ขลาด" นี้เองที่ตามหลอกหลอนจิมไปตลอดชีวิต

จุดที่เราชอบมากก็คือคอนราดย้ำตลอดเวลาว่ามาตรฐานที่จิมใช้ตัดสินตัวเอง ไม่ใช่มาตรฐานสากลที่คนอื่นจะต้องยึดถือด้วย   ตัวละครหลายตัวในนิยาย พอรับรู้อดีตแต่หนหลังของจิมก็ได้แต่ยักไหล่ จะอะไรกันนักกันหนา   คนที่ไม่เข้าใจความทุกข์ยากตรงนี้ (เหมือนเรา) ก็ลองชายตาขึ้นไปอ่านวาทะอมตะของเกอเธอะข้างบนดู

ส่วนตัวเห็นว่า Lord Jim เป็นหนังสือที่ "อ่านยาก" ทีเดียว เพราะคอนราดเล่าเรื่องด้วย "เสียง" ของมาโลว์ที่กำลังสนทนาอยู่กับตัวละครอีกตัวหนึ่ง   ทุกย่อหน้าของ Lord Jim บรรจุอยู่ในเครื่องหมายอัญประกาศ (เพราะเป็นเสียงของมาโลว์) และในเครื่องหมายอัญประกาศ บางทีก็มีอัญประกาศซ้อน เวลาตัวละครในเรื่องเล่าสนทนากันเอง   อ่านไปก็จะงงไปว่าตกลง ย่อหน้านี้ เรากำลังอ่านเรื่องเล่าของมาโลว์ หรือเรื่องเล่าของตัวละครที่ซ้อนอยู่ในเรื่องเล่าอีกที และที่งงหนักขึ้น คืออยู่ดีๆ ทำไมอีตามาโลว์มันมาสนทนายืดยาวจนได้หนังสือเป็นเล่มขนาดนี้   (ไม่เข้าใจว่าทำไมคอนราดถึงเลือกจะเล่าเรื่องด้วยวิธีการอันแสนพิสดารนี้ ให้มาโลว์เป็นผู้เล่าบุรุษที่หนึ่งไปเลยไม่ง่ายกว่าหรือ   จริงอยู่ว่า Heart of Darkness ก็เล่าแบบนี้แหละ แต่อันนั้นมันหนังสือสั้นๆ นี่)