J. Lahiri's "Interpreter of Maladies"


คำถามซึ่งแวบขึ้นมาบ่อยๆ ตามหน้าเวบบอร์ดวรรณกรรมคือ ถ้าเราแปลหนังสือภาษาไทยให้เป็นภาษาอังกฤษ แล้วส่งไปขายต่างประเทศ จะมีทางบ้างไหมที่นักเขียนไทยได้รับรางวัลโนเบล ตอบอย่างซื่อสัตย์เลยว่า "ย้ากส์!" แต่ถ้าเป็นรางวัลเล็กลงมาหน่อยก็ไม่แน่เหมือนกัน โดยเฉพาะถ้าหนังสืออย่าง "ผู้แปลความเจ็บปวด" ของจุมปา ลาหิรียังชนะพูลิซเซอร์สาขาวรรณกรรมได้ (ไม่นับนะ ว่าพูลิซเซอร์จะแจกเฉพาะนักเขียนอเมริกันเท่านั้นหรือเปล่า)

อ่าน "ผู้แปลความเจ็บปวด" จนจบ รู้สึกขึ้นมาเลยว่าของแบบนี้พี่กนกพงศ์ คุณวาณิช หรือกระทั่งพี่ประชาคมก็เขียนได้ นี่ไม่ต้องนับราชาเรื่องสั้นไทยอย่างอาจารย์มนัส จรรยงค์ด้วยซ้ำ ถือเป็นหนังสือตะวันตกไม่กี่เล่มที่เราอ่านแล้วรู้สึกพอฟัดพอเหวี่ยงกับวรรณกรรมไทย (อีกเล่มที่จำได้คือ "หนังสือทราย" ของฆอเฆส)

สองประเด็นหลักในแทบทุกเรื่องสั้นของลาหิรี คือความแปลกแยกของคนอินเดียในโลกตะวันตก และความขัดแย้งในครอบครัว สำหรับประเด็นแรก ถ้าดูจากประวัติผู้เขียนก็พอเข้าใจได้ ลาหิรีเกิดในลอนดอน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่นิวยอร์ก คนอย่างเธอ ศัพท์ภาษาอังกฤษเรียกว่า "second generation" หมายถึงชาวต่างชาติซึ่งเกิดและเติบโตในดินแดนตะวันตก คนพวกนี้จะใช้ชีวิตก้ำกึ่งอยู่ตลอดเวลา ในทางหนึ่ง "second generation" จำต้องผสานตัวเองเข้ากับโลกภายนอก แต่ขณะเดียวกันสิ่งแวดล้อมในบ้าน พ่อแม่ซึ่งพูดภาษาอังกฤษสำเนียงหนาหู จดหมายจากญาติโพ้นทะเล ย้ำเตือนที่มาที่ไปของพวกเขาตลอดเวลา (ประเด็นนี้สื่อออกมาได้ดีในเรื่องสั้น "คุณปริศดามาทานข้าวเย็น")

เพราะความภารตะเชิ้บๆ นี้กระมัง ทำให้ "ผู้แปลความเจ็บปวด" ดูเชยๆ แบบพี่ไทยยังไงพิกล เหมือนเรื่องสั้นที่ยังตีกำแพงวัฒนธรรมไม่แตก ตัวละครก็เลยติดอยู่ที่ความเป็นอินเดีย ไม่ได้กลายเป็นมนุษย์จริงๆ เช่นเดียวประเด็นที่สอง ความขัดแย้งในครอบครัว ความแตกแยกเข้ากันไม่ได้ระหว่างคู่สามี ภรรยา และความเจ็บปวดซึ่งซ่อนลึกอยู่ใต้หลังคาเรือน ดังเช่นเรื่องสั้น "ผู้แปลความเจ็บปวด" คู่สามี ภรรยาดาส์ และลูกๆ เดินทางไปเยี่ยมวิหารดวงอาทิตย์ในป่าลึกประเทศอินเดีย (รูปข้างล่าง) ดีสมกับเป็นเรื่องขายประจำเล่ม


จริงๆ รวมเรื่องสั้นชุดนี้ก็ไม่ถือว่าขี้ริ้ว ขี้เหร่อะไรนัก เพียงแค่อ่านไปลุ้นไปตลอดทั้งเล่มเท่านั้นเอง (ไม่ใช่ว่าลุ้นตื่นเต้น แต่ลุ้นให้มันดี) บางอารมณ์ พอจะเห็นความเป็นเรย์มอน คาร์เวอร์ แต่ปัญหาคือ หลายครั้งลาหิรี "ตัดสิน" ถูกผิด ตัวละครมากเกินไป เลยกลายเป็นว่าแทนที่จะได้ชีวิตจริง กลับลงเอยที่นิทานสอนใจ (morality play) แทน

เรื่องที่ดีที่สุดในเล่มคือ "บ้านรับพร" เป็นเรื่องสั้นน่ารักๆ เกี่ยวกับคู่สามี ภรรยาซึ่งย้ายมาอยู่บ้านหลังใหม่ แล้วพบวัตถุบูชาคริสเตียนซ๋อนไว้ตามมุมต่างๆ ได้เห็นอีกด้านขำขันของลาหิรี ซึ่งน่าประทับใจกว่าด้านเจ็บปวดของเธอเป็นไหนๆ

tag 4 ผมมีเชื้อสายอินเดียครับ โดยคุณทวดผมเป็นคนอินเดียที่ย้ายมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่พู้นกระโน้น

1 comment:

Anonymous said...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ