D. Lodge's "Author, Author"


นอกจากจะเป็นจิตรกรเอกที่คนเดินถนนทั่วไปรู้จักชื่อเสียงเรียงนามแล้ว แวนโก๊ะยังเป็นสัญลักษณ์ของศิลปินที่มีชีวิตยากลำเข็ญ แต่เมื่อตายไป รูปวาดของเขากลับขายได้ราคาเป็นล้านๆ เหรียญ แต่แวนโก๊ะไม่ใช่ศิลปินคนเดียวที่อาภัพเช่นนี้ เฮนรี เจมส์ผู้เขียนนิยายสุดคลาสสิกอย่าง The Portrait of the Lady, The Wings of the Dove และ The Turn of the Screw ก็ประสบความสำเร็จภายหลังจากตายไปแล้ว มากกว่าตอนยังมีชีวิตอยู่

ชีวิตของเฮนรี เจมส์ไม่หวือหวาเท่าแวนโก๊ะ นักเขียนไม่เคยไปหลงรักโสเภณี ทะเลาะกับเพื่อนจนต้องตัดหูตัวเองส่งไปเป็นของกำนัล (จริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นแค่ตำนานเท่านั้น) ถูกจับเข้าโรงพยาบาลบ้า และจบชีวิตตัวเองด้วยการฆ่าตัวตาย พูดให้ถูกคือชีวิตของเจมส์ไม่หวือหวาเลยต่างหาก นอกจากจะไม่เคยแต่งงานแล้ว เขายังรักษาสัตย์ความบริสุทธิ์ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์แม้แต่ครั้งเดียว เจมส์เป็นตาแก่สุภาพ ใจดี รักษามารยาท และมีเพื่อนฝูงมากมายทั้งในและนอกวงการ ลักษณะนิสัยตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิงกับนักเขียนร่วมรุ่นสองคนคือออสการ์ ไวลด์ และจอร์จ เบอนาร์ด ชอว์

ถึงจะมีปัญหาเรื่องเงินทองอยู่ตลอดเวลา แต่ชีวิตเขาไม่เคยกัดก้อนเกลือกินถึงขนาดแวนโก๊ะ ในส่วนนี้ก็ต้องถือว่าเจมส์โชคดีกว่ามาก แต่ขณะที่แวนโก๊ะเป็นศิลปินอิมเพรชชันนิสซึ่ง ว่าไปแล้วก็ยากจนถ้วนทั่วทุกตัวตน แวนโก๊ะจึงไม่ต้องเผชิญหน้ากับปีศาจร้ายในชีวิตของเจมส์ นั่นคือความอิจฉา เพื่อนสนิทของเจมส์ ดูมอร์เนีย เป็นนักวาดการ์ตูนที่ค่อยๆ สูญเสียสายตาลงไปอย่างช้าๆ ดูมอร์เนียคิดหาอาชีพอื่นมาทดแทนการวาดภาพ เขาจึงเริ่มจับปากกาเขียนนิยาย (จริงๆ คือดูนอร์เนียเป็นฝ่ายพูด แล้วเอมมา ภรรยาต่างหากที่จับปากกา) นิยายของดูมอร์เนียประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม Trilby กลายเป็นนิยายที่ขายดีที่สุดในโลก เป็นรองแค่ Bram Stoker’s Dracula เท่านั้น เจมส์ซึ่งในเวลาเดียวกันกำลังฝ่าขวากหนามกับอาชีพนักเขียนบทละครของตัวเอง จึงอดไม่ได้ที่จะอิจฉาริษยาเพื่อนที่ตัวเองรักที่สุดในโลก

นิยายที่มีตัวเอกตัวละครหลักเป็นนักเขียนนั้นน่าจะเป็นนิยายที่เขียนยากที่สุด เพราะมันอดไม่ได้เลยที่นักอ่านจะเปรียบเทียบมันกับผลงานจริงๆ ของนักเขียนในนิยาย ยิ่งที่เดวิด ลอจมาจับเอาเฮนรี เจมส์เป็นตัวเอกนั้น ต้องถือว่าโคตรท้าทายเลย เพราะในโลกนี้คงไม่มีใครเลียนแบบภาษาของเจมส์ได้อีกแล้ว อย่างไรก็แล้วแต่ ลอจประสบความสำเร็จอย่างงดงามกับ Author, Author เจมส์เป็นตัวละครที่น่ารัก น่าสงสาร แต่ก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งมากที่สุดคนหนึ่ง เขาไม่รังเกียจกิจกรรมรักร่วมเพศ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ชอบให้คนอย่างออสการ์ ไวลด์ออกมาเรียกร้องให้สังคมเปิดเผยและยอมรับผู้ชายเพศที่สาม แน่นอนว่าคนปัจจุบันอย่างเรา ที่เกิดหลังเจมส์ร้อยกว่าปี ไม่เห็นตรงกันกับความคิดนี้ แต่มันก็สะท้อนความแตกต่างระหว่างศตวรรษที่ 19 และ 20 เฮนรี เจมส์คือศิลปินศตวรรษที่ 19 ส่วนออสการ์ ไวลด์คือต้นกำเนิดของลินเซ โลฮัน บริทนี สเปียร์ ปาริส ฮิลตัน ฟิฟตีเซนต์ หรือเลดีกาก้า พวกที่ตั้งใจใช้ความฉาวโฉ่เพื่อขายผลงานโดยอาจจะมีหรือไม่มีฝีมือจริงๆ ก็ได้ (ระหว่างสองสุดโต่งนี้ก็เช่นมาดอนนาหรือแอนดี วาฮอล์ คนที่มีฝีมือแต่ขณะเดียวกันก็ไม่อายที่จะหากินกับชื่อเสีย)

ประเด็นหลักของ Author, Author ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าความสำเร็จที่นอกเหนือไปจากการสร้างผลงานดีๆ (เช่นการมีชื่อเสียงโด่งดัง หรือเงินทองไหลมาเทมา) เป็นเพียงของนอกกาย และร้ายที่สุดมันอาจต้องจ่ายด้วยราคาของความทุกข์ยากเช่นกรณีของดูมอเนียร์เลยก็ได้ Trilby กลายเป็นนิยายที่ถูกลืม ขณะที่ผลงานของเจมส์ต่างหากที่เป็นอมตะ (เรารู้สึกว่าลอจจงใจพยายามประสานปมให้นิยายจบดี เขาแสดงให้เห็นว่าในตอนจบเฮนรี เจมส์ได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง และขับไล่ปีศาจแห่งความริษยาออกไปให้พ้นๆ ตัว แต่เมื่อดูจากชีวประวัตินักเขียน และความพยายามฆ่าตัวตายภายหลังจากเหตุการณ์ใน Author, Author บางอย่างคงเป็นปีศาจร้ายที่อยู่คู่กันกับชีวิตของศิลปินไปตราบจนวันสิ้นลมหายใจ)

No comments: