S. O' Casey's "Three Dublin Plays"


แปลกจัง เวลาอ่านหนังสือหรือนิยายที่มีฉากเป็นเมืองดับลินหรือประเทศไอร์แลนด์ รู้สึกทุกทีว่าสังคมไอร์แลนด์เหมื๊อนเหมือนสังคมไทย ไอร์แลนด์จัดว่าเป็นประเทศที่พิกลอยู่ไม่น้อย คือเป็นประเทศเล็กๆ กำลังพัฒนาท่ามกลางมหาอำนาจยุโรป ในเชิงประวัติศาสตร์ นี่คือประเทศคุ้มดีคุ้มร้าย เดี๋ยวก็ตกเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ เดี๋ยวก็ได้รับอิสรภาพ จะว่าไปก็คงคล้ายๆ โปแลนด์ ต่างแต่คนอังกฤษไม่ใจหินทมิฬเท่าคนเยอรมัน รัสเซีย ไปยึดครองเขา ก็เผื่อแผ่ความเจริญให้เขาไปบ้าง ที่ไอร์แลนด์มีทุกวันนี้ได้ส่วนหนึ่งก็มาจากอิทธิพลของเจ้าโลก (ในอดีต) อย่างอังกฤษด้วย กระนั้นก็ไม่น่าแปลกใจนักหรอกที่คนไอร์แลนด์จะยังเกลียดคนอังกฤษจนถึงทุกวันนี้

ชาวไอร์แลนด์นั้นมีแนวคิดชาตินิยมสูงมาก เพราะไม่ว่าจะย้อนอดีตไปกี่ศตวรรษ ไอร์แลนด์ก็จะมีอังกฤษ เป็นประเทศศัตรูคู่แค้นให้รังเกียจรังชังได้เสมอ ใน Three Dublin Plays เราจะเห็นว่าตาสีตาสา ไม่มีการศึกษา ก็สามารถพูดพล่ามทำเพลงเกี่ยวกับการเมืองได้เป็นย่อหน้าๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเต็มไปด้วยวาทกรรมจำพวกอิสรภาพ หลุดจากความเป็นเมืองขึ้นอะไรทำนองนี้

ซึ่งอดคิดไม่ได้ว่าเหมือนประเทศเราจัง ความสัมพันธ์ระหว่างไอร์แลนด์และอังกฤษก็คล้ายๆ กับความสัมพันธ์ระหว่างไทยแลนด์และอเมริกา ประเทศไทยเจริญผิดหูผิดตาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ก็เพราะความช่วยเหลือจากอเมริกาเป็นหลัก และเพราะอย่างนี้เอง เราถึงได้เกลียดอเมริกานัก เราพยายามยกย่องและสร้างเอกลักษณ์ความเป็นชาติตัวเองขึ้นมา ซึ่งก็คงปฏิเสธได้ยากว่าไม่ใช่ยาขม ที่แฝงความรู้สึกเจ็บใจและอ่อนด้อยกว่าอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ด้วย

(ความรู้สึกรักชาติของคนไทยไม่ต้องไปหาดูที่ไหนไกล มหาอมตะภาพยนตร์แห่งสยามประเทศที่จะสร้างออกมาสี่ห้าภาคก็เป็นเรื่องของการทำศึกสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน เราไม่ค่อยมีเรื่องเล่าของกษัตริย์นักพัฒนา นักการทูต หรือนักค้าขายอย่างพระนารายณ์ สมเด็จรัชกาลที่ 3 หรือกระทั่งสมเด็จรัชกาลที่ 5 ยิ่งทุกวันนี้ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะการพัฒนาประเทศ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “การเมือง” ) ดูจะเอามาวางไว้ในประโยคเดียวกับสถาบันสูงสุดไม่ได้เอาเสียเลย)

ความเหมือนกันอีกอย่างระหว่างไอร์แลนด์และไทยแลนด์คือเรารู้สึกได้ถึงความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างชาวบ้านและปัญญาชน ต่างฝ่ายต่างดูหมิ่นดูแคลนกันและกัน ในนิยายของจอยซ์ ก็จะมีตัวละครอย่างสตีเฟน เดไดลัสผู้รู้สึกแปลกแยกจากสังคมรอบข้าง ในบทนำของ Three Dublin Plays ที่พูดถึงคนเขียน มีประโยคหนึ่งฮามากคือ “เฉกเช่นเดียวกับนักเขียนไอริชผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย [โอเคซี] ตอบแทนบ้านเกิดเมืองนอนด้วยการเผ่นหนีออกจากมันทันทีที่มีโอกาส” ตรงนี้ก็โยงกลับไปหาอาการชาตินิยมที่เกริ่นไว้ข้างต้น คือปัญญาชนไอร์แลนด์ที่ได้รับการศึกษาในระบบอังกฤษ สุดท้ายก็จะถูกมองว่าเป็นคนทรยศ และเข้ากับชาวบ้านชาวช่องไม่ค่อยได้

Three Dublin Plays ประกอบไปด้วยละครสามเรื่องของชอน โอเคซีคือ The Shadow of a Gunman, Juno and the Paycock และ The Plough and the Stars พูดถึงตัวเรื่องก็ธรรมดา แต่เราชอบอ่านบทสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างตัวละครมากๆ อ่านแล้วนึกขำ เหมือนได้เห็นบางอย่างที่คุ้นเคยแต่เปลี่ยนตัวผู้เล่นไป เหมือนเอาหนังไทยไปให้ฮอลลีวูดรีเมคอย่างไรอย่างนั้นเลย

No comments: