M. Atwood's "Surfacing"
ปกหลังบอกว่า Surfacing เป็นนิยายกึ่งนักสืบ กึ่ง psychological thriller ซึ่งขอแปลไทยแบบตีหัวแล้วกันว่า "ตื่นเต้นจิตวิทยา" (โป้ก!) ที่บอกว่าเป็นนิยายนักสืบก็ไม่ผิดความจริงนักหรอก เพราะปูเรื่องมาได้คินดะอิจิเราดีๆ นี่เอง วัยรุ่นสี่คนไปพักผ่อนเกาะกลางทะเลสาบ ในกระท่อมซึ่งไม่มีแม้แต่ไฟฟ้า วิทยุ หรือ โทรศัพท์ พวกเขาต้องจับปลา เก็บพืชผักมากินเอง กระท่อมนี้จริงๆ แล้วเป็นบ้านพักวัยเด็กของ "ฉัน" ซึ่งสาเหตุที่เธอพาเพื่อนมาที่นี่ เพราะได้ข่าวว่าพ่อหายสาบสูญ คนในหมู่บ้านเชื่อว่าท่านเสียชีวิตไปแล้ว
สถานการณ์เริ่มมาซับซ้อนเมื่อ "ฉัน" พบว่าพ่อของเธออาจยังมีชีวิตอยู่ก็ได้ เพียงแต่เสียสติ และซ่อนตัวอยู่ที่ไหนสักแห่งบนเกาะ จ้องมองพวกเธอสี่คน!
ระหว่างที่อ่านก็อดคิดเล่นๆ ไม่ได้ว่าถ้าเอา Surfacing มาทำเป็นภาพยนต์จะออกมายังไง ตอนแรกก็รู้สึกว่าคงตื่นเต้นดีพิลึก (แม้พลอตทำนองนี้จะไม่แปลกใหม่นักก็ตาม) แต่พออ่านจนจบ ถึงรู้ว่าถ้าทำเป็นหนังไม่เวิร์คแน่ๆ สาเหตุเพราะความเจ๋งของหนังสืออยู่ที่ภาษา แอดวู้ดน่าจะได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแม่แห่งพรรณนาความ อย่างตอนหนึ่ง "ฉัน" เล่าเรื่องแม่ให้ฟัง แม่ "ฉัน" ร่างกายอ่อนแอ หลายครั้งก็ป่วยออดแอดเหมือนจะไปไม่รอด แต่ก็หายดีทุกครั้ง จน "ฉัน" อดคิดไม่ได้ว่าแม่จะไม่มีทางเป็นอะไร ตอนที่แม่ตายความรู้สึกแรกของ "ฉัน" คือผิดหวัง
เพราะหนังสือเจ๋งที่ภาษา หากถ่ายทอดออกมาเป็นภาพ จะแทบไม่เหลืออะไรเลย และเอาเข้าจริง ก็ไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นมากมายใน Surfacing ถ้าทำเป็นหนังจริงๆ ก็คงเป็นหนังตื่นเต้นประเภทที่มีแมวกระโดดตุบตับๆ ให้คนดูตกใจเล่นอยู่ร่ำไป (ถึงยังไกขอตบมือให้คนเขียนที่ไม่ยอมใส่ฉากความฝันลงไปในหนังสือ)
เช่นเดียวกับ Handmaid's Tale หลายเหตุการณ์ใน Surfacing เกิดขึ้นในความทรงจำ นอกจากเรื่องราวบนเกาะในปัจจุบัน คนอ่านได้รับรู้เบื้องหลังตัวละคร "ฉัน" ได้รู้จักพี่ชาย สามีคนแรกของเธอ และเหตุใดหญิงสาวถึงหนีออกจากบ้าน โดยไม่ยอมให้เหตุผลกับครอบครัว
จริงๆ แล้ว Surfacing ก็ไม่ต่างจากหนังสือ Stephen King หลายเล่ม โดยเฉพาะในแง่ความเป็นนิยายตื่นเต้นจิตวิทยา อย่าง The Shining ของคิงก์ก็เล่นกับ Cabin Fever คืออาการป่วยทางจิตอันเกิดจากคนธรรมดาถูกกักขังอยู่ในสถานที่แคบๆ ที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานาน จะต่างกันก็ตรงในหนังสือคิงก์มีการฆ่า การตายเกิดขึ้นจริงๆ ส่วนแอดวู้ดต้องการเล่นกับความขัดแย้งระหว่างคู่รัก ความเปราะบางของสถาบันครอบครัว และการแต่งงาน แอดวู้ดแสดงให้เห็นว่าบางครั้งความเกลียดก็เป็นโซ่คล้องใจ ที่หนักแน่น ทนทานไม่แพ้ความรัก ประเด็นสงครามเพศ บทบาทผู้หญิง ผู้ชายถูกจับมาใช้ได้อย่างหลักแหลม สมกับเป็นผู้เขียน Handmaid's Tale
Surfacing เป็นงานเขียนที่อิงอยู่บนสัญลักษณ์ ตั้งแต่ภาพวาดครึ่งคนครึ่งกิ้งก่าที่พ่อเธอทิ้งไว้ ข้างในกระเพาะปลามีทากที่ถูกย่อยสลายครึ่งตัว กบถูกเสียบตะขอเพื่อใช้เป็นเหยื่อตกปลา หัวนกเน่า และผู้หญิงเปลือย คนเขียนแสดงความสามารถในการถักร้อยภาพ และสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อสื่ออารมณ์ของงานได้เป็นอย่างดี
ยอมรับว่าไม่ค่อยชอบสามสิบหน้าสุดท้ายเท่าไหร่ แอดวู้ดคงตั้งใจสื่อพัฒนาการความสติแตกของตัวละคร ซึ่งปัญหาก็คือทันทีที่ตัวละครไปถึงจุดนั้น เรื่องก็ชักเริ่มไม่ค่อยน่าสุดใจแล้ว ประกอบกับเราจับทางเธอออกว่ายังไง เธอก็คงไม่ปล่อยให้มีความรุนแรงจริงๆ จังๆ เกิดขึ้นในหนังสือเธอแน่ๆ ถ้าสามารถเอาคิงก์มาเขียนสามสิบหน้าสุดท้ายได้ Surfacing จะกลายเป็นนิยายชั้นเลิศขึ้นมาทันที
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment