ทิศทางวรรณกรรมไทย ในสายตาคลื่นลูกใหม่


"ในสายตานักเขียนรุ่นใหม่ มองทิศทางวรรณกรรมไทยในปัจจุบันว่ามีสภาวะอย่างไร เพราะเหตุผลอะไรถึงมองเฉกนั้น แล้วคาดว่าน่าจะเดินหน้าไปในทิศทางไหน"

น้องสาวเราคนหนึ่งถามคำถามนี้ เห็นว่าน่าสนใจดี เลยขอยกมาตอบในรักชวนหัวเลย

"ให้พี่ตัดสินแนวทางวรรณกรรมไทยคงไม่ง่ายนัก เพราะยังไงพี่ก็ไม่ได้อยู่ในประเทศ เป็นแค่คนนอกที่ได้แต่มองเข้าไป ผ่านหนังสือที่ร้านดอกหญ้าสาขาแอลเอสั่งซื้อเข้ามา (บวกกับที่ขอให้ทางบ้านส่งทางไปรษณีย์) ตอบเท่าที่จะตอบได้คือ ตอนนี้เป็นยุคที่หน่อนักเขียนรุ่นใหม่ เริ่มเติบใหญ่ ให้เห็นต้น เห็นใบกันบ้าง ชื่อของอุเทน พรหมแดง ทัศนาวดี และอีกหลายๆ คน กำลังกลายเป็นตัวตนอันจับต้องได้ในสังคม และทางการตลาด ขณะนักเขียนรุ่นเคยใหม่ (ในช่วงห้าถึงสิบปีที่ผ่านมา) กำลังจะถูกจัดขึ้นหิ้งในเร็ววัน ทั้งนี้ทั้งนั้น พี่ไม่ได้มองว่านักเลงเก่าหยุดนิ่งอยู่กับที่ อย่างคุณเดือนวาด พิมวนา ที่ตอนนี้คงไม่อาจเรียกตัวเองว่า "นักเขียนใหม่" ได้เต็มปาก ก็ยังคงพัฒนาฝีมืออย่างไม่หยุดหย่อน

ถามว่าน่าตื่นเต้นไหม จริงๆ ก็ไม่นะ เพราะการเข้ามา และเขยิบไปของลูกคลื่น สุดแสนจะเป็นธรรมชาติ มิหนำซ้ำทิศทางวรรณกรรมในอนาคตอันใกล้คงเข้าทำนองเหล้าเก่าในขวดใหม่ คืออะไรที่คนรุ่นเดิมเคยขีดเส้นไว้ คนรุ่นใหม่ก็ยังคงเขียนกันต่อไป จากสมัยที่คุณปราบดาได้รางวัลซีไรต์ สร้างแรงบันดาลใจ ก่อเกิดกระแสเด็กแนวเอย หนังสือทำมือเอย และอะไรต่อมิอะไร ปัจจุบัน พี่มองว่าฝุ่นที่เคยตลบคลุ้งเหล่านั้นได้ตกตะกอนลงเรียบร้อยแล้ว สุดท้ายวรรณกรรมบ้านเราก็วนเวียนอยู่กับประเด็น "เพื่อชีวิต"

ตรงนี้พี่ว่าน่าเสียดาย และน่าหวั่นใจนะ ถ้ามองว่าการเมืองกำลังเข้าภาวะผันผวน คนไทยหมิ่นวิกฤติอัตลักษณ์ทางการเมือง ไม่ช้าเราจะตัดสินกันไม่ถูกว่าควรเชื่อผู้ใด ใครเป็นเทพ ใครเป็นมาร กระทั่งว่าการเมืองคืออะไร ถ้าวรรณกรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานความคิดของสังคม ยังย่ำเท้าอยู่กับ "gesture" ("อากัปกิริยา") ซึ่งหยิบยืมมาจากคุณกุหลาบ คุณเสนีย์ พี่ว่าบ้านเมืองเรามีปัญหาแน่ๆ

ไม่ใช่ว่าพี่ไม่เห็นด้วยกับความคิดของคณะสุภาพบุรุษนะ แต่ในขนบ "เพื่อชีวิต" สิ่งที่เราทำๆ กันอยู่คือลอกเลียนมาแต่ "อากัปกิริยา" สมัยหนึ่ง ปัญญาชนเสียดสีผู้มีอำนาจ เชิดชูนักปฏิวัติ สิ่งเหล่านี้พี่เห็นว่ามันมีกาละเทศะ มีห้วงเวลา และสถานการณ์อันถูกแบบ ถ้าเราจะรับสืบทอด "แนวความคิด" เพื่อตรึกตรอง ดัดแปลง ปรับแก้อะไรที่ตกยุค และคงไว้ซึ่งสิ่งสร้างสรรค์ พี่เห็นด้วย แต่นี่เราดันลอกเลียน "อากัปกิริยา" มาทั้งดุ้น คือเราก็ยังคงด่านักการเมือง (โดยไม่สนใจว่าพวกเขาสมควรโดนด่าหรือเปล่า) แล้วเชิดชูคนที่วางตัวเองตรงข้ามกับผู้มีอำนาจ (ทั้งที่จริงๆ ในสังคมมีทั้งอำนาจสว่าง และอำนาจมืด คนที่เราเห็นว่า "ไม่มีอำนาจ" อาจจะมีพลังมืดสนับสนุนอยู่ก็ได้)

สรุปก็คือการที่เราลอกเลียนมาแต่ "อากัปกิริยา" แต่ไม่ยอมรับ "แนวความคิด" พี่ว่าเป็นเรื่องอันตราย และเป็นเรื่องที่เกิดได้ง่ายในแวดวงวรรณกรรมบ้านเราเสียด้วย

ในอนาคต พี่อยากให้เรามีประเพณี และวิถีประชาที่ปกป้องนักวิจารณ์ เปิดโอกาสให้คนออกมาแสดงความคิดเห็นต่อศิลปะงานเขียน ทำไมทุกวันนี้ภาพยนตร์ไทยไปไกลกว่าวรรณกรรมไทยหลายเท่า คำตอบข้อหนึ่ง พี่เชื่อว่าอยู่ในวัฒนธรรมการวิจารณ์ ตั้งแต่พี่ยังเด็ก ภาพยนตร์สร้างออกมาไม่ดี ก็ถูกนิตยสาร หนังสือพิมพ์ติเตียน แต่สำหรับหนังสือ ประหนึ่งว่าพอผ่านแท่นพิมพ์ก็ตรงขึ้นหิ้งบูชา การที่นักอ่านชื่นชม และติเตียนหนังสือได้อย่างเปิดอก พี่เชื่อว่าจะเป็นการสนับสนุนให้คนอยากอ่านหนังสือ กระตุ้นนักเขียนให้พัฒนาฝีมือ รวมไปถึงวางรากฐานการศึกษาด้านต่างๆ อีกด้วย"

20 เพลงไทยในดวงใจ (11~15)

15. อยู่คนเดียวอีกแล้ว (Friday I'm in Love)


...ใครช่วยฉันที ใครที่มีวิธี รอมาทั้งปีอยู่ที่ไหน เคยบอกรักใคร เขาก็ไม่เข้าใจ ต้องจบกันไปทุกที...อยู่คนเดียวอีกแล้วเรา โลกมันช่างเงียบเหงาเหลือเกิน อยู่คนเดียวก็เหมือนเดิม มีใครไหมเข้ามาเติมคืนวันที่มันมีค่า...ก่อนฉันจะเหงาเกินไป มองๆ ดูอะไรก็ว่างเปล่า จะได้พบ หรือเรา มีใครมีบ้างไหมที่เหมือนกัน...เหงาเกินไป มองๆ ดูใครๆ เขาชื่นบาน ฉันก็หวั่น ต้องอยู่คนเดียวอย่างนี้ หรือไร (อยู่คนเดียวมันเหงา ต้องทนไว้ ฝืนไปก็คงไม่ดี อดใจรอไว้ วันพรุ่งนี้ พรุ่งนี้คงไม่เงียบเหงา อีกนานแค่ไหน สักแค่ไหนต้องรอต่อไปนะเรา ก็แค่ความเหงา แค่ความเหงา จะสักเท่าไหร่)...
เพลงนี้ท่อนฮุคยาว ขณะที่ท่อน verse สั้นนิดเดียว ถึงไม่ใช่เพลงเนื้อเจ๋งๆ แบบลำดับอื่น แต่ก็ยอมรับในความชัดเจน และการผสานเข้ากับท่วงทำนอง เหมือน กลัว คือฟังรอบแรก รู้ได้ทันทีว่าคนร้องต้องการบอกอะไร (แน่ละ เน้นคำว่า "เหงา" ตั้งกี่ที) แต่ความเจ๋งสุดๆ อยู่ตรงท่อนประสานในวงเล็บ ร้องควบคู่ไปกับท่อนฮุค (เพลงไทยอีกเพลงที่เล่นประสานลักษณะนี้คือ สบตา ของแอนเดรีย ซึ่งก็เพราะเหมือนกัน)

14. สงสัย (Mr. Z)


...หากฉันนั้นจะบอกใคร เธอล่ะคิดจะบอกใคร คนที่ฉันจะเปิดใจ ฮือ ยังไม่มี แล้วเธอมีหรือยังล่ะ บอกกับฉันหน่อย เพื่อนเธอมีหรือยังล่ะ โว...ตอนที่เขาเดินด้วยกัน พวกเขาพูดเรื่องอะไร ตอนที่เขานั้นจูบกันต้องมีอายุสักเท่าไหร่ เบบี้ ถ้าเธอเคยช่วยบอกกับฉันสักที เบบี้ ถ้าใครมีช่วยบอกเพราะฉันนั้นอยากฟัง...แล้วทุกๆ เช้าอากาศเย็น ฉันยิ่งเหงาจับใจ เพราะอะไร เพลงช้าๆ ฉันนั้นไม่กล้าๆ ฟัง ดูละครก็เหมือนกัน ยิ่งหวานซึ้งเท่าไหร่ จิตใจของฉันนั้นหวั่นไหว อยากลองมีใครดูบ้างจัง...โฮลา...เราจะไปหากันอย่างไร..โฮลา...หน้าตาของเขาเป็นแบบไหน...โฮลา...จะคุยกับเขา ทำยังไง ไม่เคยเลยฉันไม่เข้าใจ...
มาอีกแล้ว เพลงเนื้อยาว ชะรอยเราจะชอบเพลงจำพวกนี้จริงๆ แฮะ ถ้าจำไม่ผิด พี่บอยแต่งเนื้อ ซึ่งนอกจากได้ใจความแล้ว ยังฟังสนุกไม่มีเบื่อ แถมด้วยฝีมือการมิกซ์ดนตรีของพี่สมเกียรติ ชอบบีตสม่ำเสมอแรงๆ ถ้าไม่กระทืบเท้า ก็อยากลุกขึ้นไปเต้นรำให้รู้แล้วรู้แรดกันไปเลย

13. สุดท้ายด้วยรัก (พี่ปั่น + พี่อุ้ย/พี่นภ + ทาทายัง)


...หากเพียงเรามีกันและกัน เหมือนวันวาน หากเพียงเรามีความมั่นใจ เหมือนดังเคย หากเพียงฟ้านี้ไม่กว้างไกลเกินไป หากเพียงใครจะหันหลังกลับ ซับน้ำตากันและกัน...หากจะมีใครมาทดแทนได้เทียมทัน หากเพียงวันและคืนฝืนนอนได้เต็มตา หากเพียงฟ้านี้ไม่มืดมนเกินไป หากเพียงใครนำแสงสว่าง เหมือนครั้งยังมีเธอนำทาง...จะถนอมรักเราที่เคยหล่นหายในกาลเวลา จะถนอมรักเราที่คืนกลับมาในดวงฤทัย ด้วยบัดนี้รู้ซึ้งแล้วว่า เธอเท่านั้นที่มีคุณค่า ไหลรินหลั่งดุจดัง พลังรักและศรัทธา...
เพลงนี้ไม่ได้ติดอันดับมาด้วยตัวเพลง แต่อาศัยความประทับใจจากการไปดูคอนเสิร์ต ออริจินัลเวอชั่นคือพี่ปั่นร้องกับพี่อุ้ย แต่ที่เราไปดูในคอนเสิร์ต sound of 80s คือพี่นภร้องกับทาทายัง เป็นคอนเสิร์ตที่ดีที่สุดในชีวิต ไม่ได้ดีเพราะนักร้องร้องดี หรือคนดูอินเลยนะ (เป็นคอนเสิร์ตน่าสงสาร ซึ่งอุตส่าห์เตรียมเพลง encore มา แต่คนดูเจือกหนีกลับบ้านไปก่อน) แต่ดีเพราะเลือกเพลงมาดีล้วนๆ ตั้งแต่อินโนเซนต์ ยันพี่แจ้ และมาพีคสุดๆ ด้วยเพลงคู่เพลงนี้

12. ตายทั้งเป็น (ดนุพล แก้วกาญจ์)


...เสียเงินทองไม่ตาย หากจะหามันคงไม่สาย แต่ถ้าเสียเธอไปจะตาย ดุจคนหัวใจล่มละลาย คงคิดถึงคำนึงแต่เขา อยากให้เขานั้นมีแต่เรา สุขที่ไหนมาแลกไม่เอา โดนทิ้งเมื่อไหร่ต้องเฉา...ตายทั้งเป็น รักครั้งนี้ฉันคงจะทนไม่ได้นาน หัวใจคงจะโดนถ่านไฟรักเผาแหลกราญ นอนไหม้เกรียมตายทั้งเป็น...ถ้าหากจะทิ้งกันไป ช้านิดนักรอวันให้ฉันนั้นตายเสียก่อน ทีไหนยังไงเมื่อไหร่จะไปพบใครไม่วอน วันนี้เธออย่าเพิ่งไป...
ออริจินัลพี่แจ้ครับ แต่ฉบับที่เอามาแปะนี้ของบุรินทร์ เป็นข้อยกเว้นในกฎ "เนื้อยาว" เพราะที่ยกมาให้ดู คือเนื้อทั้งหมดของเพลงแล้ว พูดได้คำเดียวคือมันส์โคตรๆ อาศัยจังหวะ กับสัมผัสระหว่างวรรค รุนให้กลายเป็นเพลงร้องแล้วสนุกที่สุดเพลงหนึ่ง อีกอย่างคือเราร้องเพลงนี้เพราะ ถ้าไปเกะด้วยกัน จะโชว์ให้ฟัง (หมายเหตุ: รูปนี้จากงานมหกรรมซอมบี้ในโตรอนโต ไม่รู้ว่าจะเลือกรูปประกอบยังไงดีกับ ตายทั้งเป็น ก็เลยเอารูปซอมบี้มาแปะ)

11. ฉันเป็นของเธอคนเดียวเท่านั้น (สุนทราภรณ์)

...ฉันเป็นของเธอคนเดียวเท่านั้น แล้วเธอเล่าฝันคนเดียวแค่ฉันหรือเปล่า ถึงเราจะเป็นของใครมาก่อน หัวใจอย่าซอนซ่อนรักเป็นเงา ระหว่างสองเราต้องเปิดเผย...ฉันเป็นของเธอคนเดียวเสมอ แล้วเธออย่าเผลอปรนเปรอให้รักใครอื่น แล้วเราจะเป็นของกันและกัน รักคงสุขสันต์สวรรค์ยาวยืน สดชื่นนิรันดร์ ฉันคู่กับเธอ...
เพลงนี้มีหลายเวอชั่น ที่เอามาแปะคือออริจินัลของครูเอื้อ ค่อนข้างเก่าไปบ้าง เวอชั่นที่เราชอบจริงๆ คือของนรีกระจ่าง และพี่เบิร์ด ดนตรีสไตล์แจ๊ส ที่ไม่ว่าใครเอามาขับร้อง ก็ยังไพเราะซาบซึ้งเสมอ (ถ้าจำไม่ผิด ของพี่เบิร์ด จะใช้เปียโนประกอบ ส่วนของนรีกระจ่าง ใช้แซกโซโฟน) คลาสสิคกว่านี้มีอีกไหม

C. Dickson's "The Plague Court Murders"


ประมาณปี 1928 แวน ดีน นักวิจารณ์วรรณกรรมได้คิดกฎยี่สิบข้อสำหรับนิยายสืบสวนขึ้นมา ในยี่สิบข้อนี้ สำคัญสุดคือ "ผู้อ่านต้องมีโอกาสไขคดีได้ก่อนผู้เขียนเฉลย" ซึ่งสรุปสั้นๆ ก็คือ "ห้ามโกง" นั่นเอง ต้องยอมรับแหละ ว่าไม่มีอะไรน่าหงุดหงิดไปกว่านิยายนักสืบที่ "โกง" คนอ่าน หากเอาจุดนั้นเป็นเกณฑ์ The Plague Court Murders เป็นหนังสือที่ล้มเหลว เพราะแม้มันไม่ได้โกงคนอ่านตรงๆ แต่ก็อาศัยเงื่อนไขที่คาดเดาไม่ได้หลายข้อ แต่ถ้าถามว่าเรารังเกียจมันหรือเปล่า ไม่เท่าไหร่ เพราะเป้าหมายของคาร์ (Carter Dickson คือนามปากกาของ John Dickson Carr) เหมือนต้องการสร้างบรรยากาศสยองขวัญมากกว่า ซึ่งในแง่นั้นสอบผ่าน ยังจะสนใจอ่านหนังสือของแกต่อไปอีกสักเล่ม สองเล่ม

20 เพลงไทยในดวงใจ (16~20)

ยี่สิบอันดับบนแล้วครับ แต่ละเพลงจะพยายามตั้งใจเขียน มีรูปประกอบ พร้อมลิงค์เพลงให้ด้วย (แต่ไม่แปะ widget นะครับ รู้สึกมันผิดคอนเซปรักชวนหัวชอบกล)

20. กลัว (Tea for Three)


...คงจะกลายเป็นเหมือนคนอื่น ต้องคอยเตือนใจให้มันตื่น...กลัวจะคว้างเพราะฝันไป กลัวทำร้ายฉันและเธอ กลัวว่าฉันสูญเสียเธอ กลัวจะเพ้อไปคนเดียว กลัวฉันกลัวทุกอย่าง จะเปลี่ยนไป...
เราเป็นแฟน Tea for Three เคยเขียนบลอคอุทิศให้คุณผีไปแล้ว จากสามชุดที่ออกกับค่ายเบเกอรี่ จริงๆ มีชอบหลายเพลงมาก แต่เลือกเพลงนี้คงเพราะมันโดนสุด (เราเฉยๆ กับ ลมหนาว ซึ่งเป็นเพลง signature ของวง) ท่อนฮุคเพลงติดหูมากๆ ลงต่ำ เน้นคำว่า "กลัว" ซึ่งเป็นชื่อเพลง ก่อนไล่สูงไปบีบเสียงตรง "คว้าง" (สมัยนั้นเพลงไทยยังไม่ค่อยเล่นบีบเสียงกันเท่าไหร่) โซโลดนตรีด้วยฮาโมนิก้าเพราะๆ เหงาๆ ถ้าจะติคือเนื้อแคบไปหน่อย วนไปวนมา แต่ก็ได้ใจความดี คือฟังครั้งแรก รู้เลยว่าคนร้องอยากบอกอะไร

19. กะหล่ำปลี (Joey Boy)


...ก็ใครต่อใคร นะเขาพูดกัน บอกรักสัมพันธ์จู๋จี๋ ส่วนฉันต้องอยู่เพียงคนเดียว ไม่มีตัวเธอมาจ๊าวเจี๊ยว เงียบเหงาสิ้นดี...โถ เธอเดินมา แล้วเดินจากไป กี่ทีกี่หนไม่เคยสนใจ จะให้ทำใจยังไง เดินมาแล้วก็เดินจากไป แค่อยากให้ใครมีใจ ไปเที่ยวกันไหม ถ้าเธอโอเคฉันก็ดี ถ้าเธอว่าไม่คงชีช้ำกะหล่ำปลี...
ชอบ...เพลง...นี้...มาก ไอ้เพลงงี่เง่าๆ นี่แหละ ดนตรีโคตรเจ๋งเลย แต่ไหนแต่ไรเราชอบเพลงที่เครื่องดนตรีเยอะๆ กะหล่ำปลี นี่มีตั้งแต่ไวโอลิน แอคคอเดี้ยน ยันเปียโน (แต่เป็นเสียงจริงๆ หรือใช้คีย์บอร์ดสร้างเอา สุดจะหยั่งรู้ ช่างเถอะ สมัยนี้คีย์บอร์ดดีๆ ก็เสียงใช้ได้) เพลงแจ๊ส สวิงโบราณๆ มิวสิคก็ลีลาศได้ใจ อีกสาเหตุที่ชอบเพลงนี้ เพราะเราร้องได้ตรงคีย์เป๊ะเลย สมัยก่อนเคยเป็น "ไม้ตาย" เวลาไปเกะ เสียอย่างเดียวคืออินโทรยาวไปหน่อย เวลาร้องกับเพื่อนๆ คนอื่นรำคาญกัน ว่าเมื่อไหร่มันจะขึ้นเนื้อเสียที

18. บทเรียนรัก (ชาตรี)


...รอยแผลจากความรัก ซึ่งสลักนั้นซ้ำไว้นาน จากมือของเธอ ที่ใช้มอบความเจ็บปวดและร้าวราน ปักลงตอกตรึง ถึงขั้วดวงมาล ผลักดันฉันพาลไม่เอื้อมอาจ ฝากดวงใจรักใคร...ดวงใจไม่อาจว่าเธอนั้นไร้รัก ด้วยช้ำนัก จะคิดพัก ไม่ขอรักใครที่มั่นหมาย เธอยังคงครองให้ต้องพ่ายแพ้แม้เป็นชาย ดวงใจมันร้ายคิดรักเธอเอง...…ทางสองแห่งขนานไม่อาจผ่านพบเข้าด้วยกัน ตัดใจฉันลง หลบหนีหนทางเพื่อหลีกให้พ้นพลัน บอกคำกล่าวลา ว่าเพื่อยืนยัน ขอบใจเหลือเกินด้วยดวงจิต ศิษย์จะพึงรู้คุณ...
เพลงไทยยุคเก่า สมัยที่ยังแต่งเนื้อเล่นสัมผัสนอก สัมผัสใน เพลงนี้เนื้อยาว และสนุกมาก ไม่นับท่อนฮุคที่วนหนเดียว แทบไม่มีการซ้ำเนื้อเลย วิธีร้องเหมือนอ่านทำนองเสนาะ ขับเน้นให้แต่ละสัมผัสเด้งออกมา เสียดายไม่ค่อยมีใครเอามาทำใหม่เท่าไหร่ ดนตรีก็เลยยังฟังดูเชยๆ เหมือนเมื่อสามสิบปีก่อน นอกจากของวงชาตรี ที่ใหม่กว่านั้นนิดหนึ่งคือเรนโบว์ ซึ่งก็ยังเชยอยู่ดี แถมร้องช้าๆ พิกลหู (จะร้องเพลงแบบนี้ให้สนุก ต้องจังหวะฉึกฉักนิดหนึ่ง)

17. ทั้งรู้ก็รัก (ชรัส เฟื่องอารมณ์)


...รู้ๆ เธอนั้นมีคู่ใจ ไยถึงไม่ลืมเธอ เพราะด้วยเหตุใด ใจฉันยังพร่ำเพ้อ เฝ้าละเมอไม่ลืมแม้วันคืนเดือนผ่าน ใจฉันยังรำพึงถึงเธอ สิ่งที่เคยสัมผัส ยังจำยึดมั่นตรงตรึง ยังฝังอยู่กลางใจ...รู้ๆ เธอนั้นมีเจ้าของ มองฉันได้แต่มอง ถึงจะอย่างไร มันก็เป็นสุขใจ สุขชั่วคราว ก็ยัง ก็ยังคงดีเสียกว่า ใจฉันต้องมลายเพราะตรม สุดระทมข่มขื่น เก็บเอาความหวานชื่น จุนเจือ ความรักจากดวงใจ...รักนั้นยังอยู่เต็มหัวใจ ไยนะทำไมถึงคงอยู่ จิตเฝ้าฝันถึงเธอไม่ลืมเสียที เต็มปรี่ด้วยความรักเธอ...
เพลงอกหักที่ความจริงเนื้อเศร้า แต่จังหวะหวานๆ เร็วๆ ได้อารมณ์รื่นเริงแปลกๆ แม่บอกว่าเป็นเพลงอกหักที่ฟังดู "หยิ่งดี" คือไม่ค่อยสิ้นหวัง (ถ้าเทียบกับเพลงฝรั่ง ก็คง I Just Don't Love You No More ของเครก เดวิส) เช่นเดียวกับเพลงเก่าทั่วไปคือเนื้อเจ๋ง แทบไม่ซ้ำกันเลย (มีซ้ำท่อน verse แค่หนเดียว) ความพิเศษอีกอย่างคือเพลงนี้ไม่มีท่อนฮุค แต่ใช้บริดจ์สองทำนอง เชื่อมแต่ละ verse เข้าด้วยกัน ด้วยความเหนือของโครงสร้าง เรายกย่องให้เป็นเพลงแกรมมีรุ่นสิบปีแรกที่ดีที่สุด

16. ไม่จากใจ (ธีร์ ไชยเดช)

...นานๆ จะเจอกันสักครั้ง ลำพังจะทนกันไม่ไหว คุยกันนานๆ ถึงว่ารักเราเป็นอย่างไร แต่ใจของเธอก็ทำเป็นไม่รู้...จงเกลียดจงชังกันอีกแล้ว มาลองทำดีกันสักหน ก็ใครที่อยากจะมีรักดีๆ สักคน แต่เธอก็บอกว่าทนฉันไม่ไหว...อยากให้ฉันไปไกลๆ ไม่อยากให้เห็นกันใช่ไหม ฉันรู้เธอไม่ได้พูดจากใจนั้น อยากจะให้ตายกันไป ไม่อยากให้เกิดกันอีกแล้วใช่ไหม ฉันรู้เธอไม่ได้พูดจากใจ...
เพิ่งสังเกตตัวเองว่าชอบเพลงเนื้อยาว ถึงจะเป็นเพลง(ค่อนข้าง)ใหม่ แต่เนื้อเพลงนี้ก็แต่งได้ใจ ชอบเพลงที่ท่อนฮุคลงเสียงต่ำ ได้ความรู้สึก "คลาสซี" มีระดับ เพลงนี้เหมาะกับเสียงธร์ ไชยเดชด้วย (ถึงแม้ในแง่ศิลปิน เราจะไม่ได้เป็นแฟนเขาขนาดนั้นก็ตาม) ดนตรีลงตัว ไม่เสียยี่ห้อเบเกอรี่ ผสมผสานกันระหว่างแซกโซโฟน กีต้า แล้วก็เบส

J. D. Carr's "The Problem of the Green Capsule"


คาร์ เช่นเดียวกับ คริสตี้ คือจัดเป็นนักเขียนในยุค golden age mystery พอพูดถึงนิยายนักสืบในยุคนี้ ผู้อ่านนึกถึงปริศนามากกว่า "ความเป็นชาย" หรือ "หรรษาหฤโหด" คาร์โด่งดังมากในเรื่องห้องปิดตาย ซึ่งแม้ว่า The Problem of the Green Capsule จะไม่ได้จัดอยู่ในปริศนาที่ว่า แต่พอเฉลยกลไกการฆ่าออกมา ก็ยอมรับว่า "เออ มึงคิดได้นะ" หน้าแรกของนิยาย ถึงกับมีการประกาศกร้าวแก่คนอ่าน "คุณจะได้พบเห็นพยาน หลักฐานทั้งหมด เท่าที่นักสืบของเราเห็น เราขอท้าทายคุณให้ไขคดีให้ได้ก่อนนิยายจะจบ" นับว่ากล้าดี

เรารู้สึกว่านิยายคริสตี้ โดยเฉลี่ย ดีกว่านี้ คาร์มีปัญหาค่อนข้างมากในการดำเนินเรื่อง อ่านแล้วไม่ค่อยสนุก บทสนทนาฟังแล้วอึดอัดพิกล จุดเด่นของหมอคือบรรยากาศพิสดาร เหนือธรรมชาติ (ก่อนจะเขียนนิยายนักสืบ คาร์เขียนเรื่องสยองขวัญมาก่อน) ซึ่งก็ทำได้ดีจริงๆ ตัวละครค่อนข้างน้อย เลยดูวนเวียน จะเดาฆาตกรก็ไม่ยากเท่าไหร่ แต่ให้รู้วิธีการจะยากกว่า ซึ่งเป็นจุดประสงค์ที่ตรงข้ามกับคริสตี้ ผู้ให้ความสำคัญกับ "ใครฆ่า" มากกว่า "ฆ่ายังไง"

A. Garve's "Home to Roost"


จากนักเขียนทั้งหมดสี่คนที่จะพูดถึงในวันนี้ การ์ฟคงเป็นคนเดียว ที่เราไม่คิดติดตามผลงานของหมอ ไม่ใช่ว่า Home to Roost ไม่ดีนะ มันหักดิบนิยายสไตล์นี้ แทนที่จะเป็นฆาตกรวางแผนฆาตกรรม ก็เป็นนักเขียนนิยาย ซึ่งสมมติว่าตัวเขาจะก่อคดีฆาตกรรม (ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้ว) ยังไง ถ้าตัวเขาเป็นฆาตกร เหมือนคนเขียนไม่เชื่อมั่นในเทคนิค วิธีการที่อุตส่าห์คิดขึ้น ก็เลยเอามาใช้แบบอ้อมๆ พลอตแบบนี้เหมาะสมจะเอาไปใช้เป็นเรื่องสั้นมากกว่านิยาย

G. Simenon's "The Bar on the Seine"


ถ้าจำไม่ผิด ไซมอนเคยพูดจาดูถูกคริสตี้เอาไว้ ซึ่งแค่นี้ก็พอแล้ว ที่เราจะมองหนังสือของหมอด้วยสายตาคมกร้าวเป็นพิเศษ ไซมอนค่อนข้างต่างจากคริสตี้ อ่านนิยายนักสืบแล้วไม่แปลกใจ ทำไมแกถึงได้เป็นนักเขียนคนโปรดของนักเขียนรางวัลโนเบลถึงสองคน คือเฮมมิงเวย์ และกิเด กระทั่งมหาผู้กำกับอย่างเรนัวยังเคยดัดแปลงนิยายของหมอเลย The Bar on the Seine มีหลายอย่างคล้ายคลึงกับนิยายนัวร์ มากกว่า golden age mystery คือพูดถึงโลกสีเทา และความบอบช้ำ ชั่วร้ายในจิตใจคน แม้เราไม่ใช่คนชอบอ่านนิยายนัวร์ แต่ความกระชับ และการมองธรรมชาติของมนุษย์อย่างน่าสนใจช่วยให้เราอยากลองติดตามนักสืบมากริต ผู้นี้ต่อไปอีกสักหน่อย

M. Innes's "Honeybath's Haven"


ลังเลมานานแล้วว่าทำไมตัวเราไม่ยอมเขียนถึงนิยายนักสืบที่ได้อ่านเลย ในแง่หนึ่งก็เหมือนดูถูกหนังสือ อีกแง่หนึ่งก็ไม่รู้จะเขียนอะไร โดยเฉพาะถ้าให้เขียนถึงคริสตี้ ซึ่งอ่านมาเป็นสืบเล่มเนี่ย นอกจากจะบอกว่า "ก็เป็นนิยายคริสตี้อีกเล่มหนึ่ง" หรือขืนบอกมากไปก็สปอยหนังสืออีก แต่ระยะหลังได้อ่านนิยายนักสืบของนักเขียนหลายคน เลยเริ่มรู้สึกว่าเออ จริงๆ แต่ละคนมันก็มีสไตล์ของตัวเองนี่หว่า ถ้าเช่นนั้นก็ intro สั้นๆ แล้วกัน

อินเนสเป็นนักวิชาการเชคสเปียร์ จริงๆ แกออกหนังสือรวมวิเคราะห์ the bard มาหลายเล่ม ผลงานแนวสืบสวนสอบสวนของแก อ่านแล้วก็จะรู้เลยว่าหมอนี่ไม่ธรรมดา อย่าง Honeybath's Haven ขนาดว่ากว่าศพจะโผล่มา ก็ช่วงท้ายๆ เล่มแล้ว แต่เราก็สามารถติดตามการเล่าเรื่องของตัวเอก ฮันนีบาด อย่างไม่รู้เบื่อหน่าย อินเนสเป็นคนที่รู้มาก และสามารถผสานความรู้ตรงนั้น เข้ากับการเขียนหนังสือได้อย่างงดงาม เป็นกรณีศึกษาที่ดี ทำให้เราอยากอ่านหนังสือเล่มต่อไปของแก (ถึงแม้ในแง่ความเป็นปริศนา จะจัดว่ามันสอบไม่ผ่านก็ตาม)

F. W. Crofts's "The 12:30 from Croydon"


เดาใจไม่ถูกเลยว่าครอฟส์คิดอย่างไรของเขากันแน่ ระหว่างที่เขียน The 12:30 from Croydon นี่เป็นหนังสือที่ประหลาดที่สุดเล่มหนึ่งเท่าที่เราเคยอ่าน ครอฟส์คงเป็นผู้ชายใจเย็น และละเอียดละออมากๆ The 12:30 from Croydon คือหนังสือแนวสืบสวนสอบสวนที่ค่อนข้างน่าเบื่อ เพราะเป็นการเล่าเรื่องจากมุมมองฆาตกร โดยปริศนาทั้งหมดถูกตีแผ่ เปิดเผยมาทีละขั้น แทบไม่ต้องให้คนอ่านคิดตาม หรือคาดเดา หลายบทก็เป็นการเล่าข้อมูลซ้ำซากที่เรารู้อยู่แล้ว แต่ถูกบรรจุเข้ามาเพื่อความสมบูรณ์ของเหตุการณ์ ครอฟส์เก็บเล็ก เก็บน้อยทุกรายละเอียด ตั้งแต่สาเหตุ แรงจูงใจที่ฆ่า จนถึงฉากว่าการในศาล หลังจากคนร้าย (ซึ่งก็คือผู้เล่าเรื่อง) ถูกตำรวจจับ ไล่แต่ละปากคำพยาน กระทั่งบทสรุปของทนาย ไม่มีอะไรตกหล่น และไม่มีอะไรมาให้ตื่นตาตื่นใจเลย (อุตส่าห์ลุ้น จะมีเซอไพรซ์หรือเปล่า)

น่าเบื่อไหม น่าเบื่อนะ แต่ชื่นชมในความใจเย็น เนื่องจากนี่เป็นหนังสือเล่มแรกของครอฟส์ที่เราอ่าน ก็เลยคาดเดาไม่ถูกว่าสไตล์ของนักเขียน golden age mystery ผู้นี้เป็นอย่างไรกัน แม้จะไม่ประทับใจกับ The 12:30 from Croydon เท่าไหร่ แต่กลับรู้สึกอยากสัมผัสนักเขียนผู้นี้อีก

J. L. Swanson's "Manhunt"


เป็นคนไม่ชอบประวัติศาสตร์อเมริกา สมัยมาเรียนเมืองนอกใหม่ๆ ถูกบังคับให้เรียน เราก็หนีไปเรียนปรัชญาแทน อ่าน Manhunt แทนที่จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ กลับยืนยันมั่นเหมาะว่า "เออ! ตูไปชอบประวัติศาสตร์ประเทศเฮียกนี่จริงๆ ว่ะ"

Manhunt ไม่ใช่หนังสือประวัติศาสตร์เสียทีเดียว เข้าทำนอง True Crime มากกว่า คือเอาข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ฆาตกรรมมาร้อยเรียงเสียใหม่ แต่งสี แต่งกลิ่นบ้าง เพื่อให้อ่านสนุกเหมือนอ่านนิยาย เมืองไทยไม่ค่อยมีงานเขียนประเภทนี้ ซึ่งไม่ใช่ว่าคนไทยไม่เก่ง แต่เป็นด้วยการขาดแหล่งข้อมูล ต้องยอมรับการวิจัยของสแวนสันว่าละเอียด ลงลึก แต่ที่เหนือกว่าคืออยากชื่นชมเหล่านักประวัติศาสตร์ที่ช่วยกันรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ สแวนสันบอกว่าทุกข้อความที่ปรากฎในเครื่องหมายอัญประกาศ ถอดแบบมาจากคำพูดจริงในประวัติศาสตร์ น่าทึ่งมาก

ถามว่าทำไมไม่ค่อยชอบประวัติศาสตร์อเมริกา ตอนนี้ก็ยังตอบไม่ได้แน่นอน ถ้าเทียบกับสงครามในยุโรป รู้สึกเหมือนคนอเมริกาสักแต่รบพุ่งกันไปยังไงไม่ทราบ เป็นความขัดแย้งอันไม่ค่อยมีปรัชญา หรือลัทธิอะไรสนับสนุนเบื้องหลัง อย่างข้อพิพาทกรณีเหนือ ใต้ มองย้อนกลับไป ก็ไม่รู้สึกเห็นอก เห็นใจชาวใต้เท่าไหร่ ไอเดีย white supremacist ช่างเชยแสนเชย (น่าสนใจมาก ว่าทำไมเราติดอกติดใจลัทธิเผ่าพันธุ์นิยมแบบเยอรมัน แต่รู้สึกว่าการเหยียดผิวของอเมริกามันดูควายๆ ยังไงไม่รู้) อาจเป็นด้วยผู้ชนะสงครามได้เขียนประวัติศาสตร์เสียใหม่ ลบข้อขัดแย้งออกไปจนหมด หรือไม่ก็เป็นลัทธิบูชาวีรบุรุษของชาวอเมริกา ที่พยายามสร้างภาพขาวดำให้ชัดเจน

เป็นคำถามน่าสนใจ แต่ขอทิ้งไว้แค่นี้แล้วกัน

100 เพลงไทยในดวงใจ (ภาค 4)


เอาละ เสร็จแล้ว จะได้ขึ้นมายี่สิบอันดับบนเสียที

81. รักครั้งแรก
...หวั่นใจเพียงใดไม่กล้าเผยคำ พร่ำเอ่ยสุทรวจี อัดอั้นเต็มทีจึงลองถามนิดว่าเธอรักใครหรือยัง คำเดียวที่คอย หวังเพียงจะบอก รักเช่นกัน ต่างรักเมื่อวันก่อน...
เคยตั้งชื่อ msn เป็นเนื้อท่อนนี้ มีแต่คนถามว่าอี "นิด" นี่ใคร เวงกำ :P

82. รักล้นใจ
...คืนนี้ใจฉันว้าวุ่น เฝ้าแต่เห็นหน้าคุณอยู่ในใจ เหตุไฉนจึงเป็นไปได้ เพราะเราเป็นแค่เพื่อนกัน...
เคยฟังเพลงนี้ตอนอกหักใหม่ๆ เหมือนมีใครเอาน้ำ น้ำแข็งมาราดรดหัวใจ

83. เรามีเรา
...แต่ก่อนแต่ไรไม่เคยอุ่นใจ โดดเดี่ยวเดียวดายข้างกายไม่มีใครสักคน ฝ่าทางชีวิตทุกภัยผจญ ฝ่าลมและฝน ทุกข์โดยลำพัง...
ชอบด้วยอินโทร

84. รักเอาบุญ
...เคยชิดชื่นนางแม่เอ๋ยไม่จาง รักเลย เคยชิดชื่นเชยไม่เคยจืดใจ รักน้องมั่นคงลุ่มหลงไม่มีหน่าย ไม่คิดกลับกลายนะยอดบูชา...
เพลงเก่าเนื้อสวยๆ สมัยนี้แต่งกันไม่ค่อยได้แล้ว

85. รบกวนมารักกัน
...หากไม่ดูเป็นการรบกวน ก็จะชวนเธอมารักกัน ถูกใจเธอมาตั้งนานรู้ไหม หากไม่ดูเป็นการรบกวน ก็จะชวนมารวมหัวใจ ก็คิดว่าช่วยหน่อยก็แล้วกัน...
เพลงสนุกจากสาวน้อยมหัศจรรย์ ที่ตอนนี้กลายเป็นสาวใหญ่มหัศจรรย์ ต้องให้เครดิตคอรัสเสียงต่ำๆ ถ้าไม่มีคงจืดแย่

86. ฤดูที่ฉันเหงา
...ว่ายังคิดถึง ในคืนที่ฝนโปรยเราอยู่ด้วยกันตรงนี้ ฉันเหงาเธอรู้ไหม ฉันหนาวจนแทบขาดใจ ไม่มีอ้อมกอดจากเธอที่รู้ใจ...
เพลง(เกือบ)ทันสมัยของฟลัว ร้องได้อารมณ์มาก

87. ลมพัดใจเพ
...แม้เพียงรอยหยิกเล็กๆ รอยข่วนน้อยๆ ก็ยังอุตส่าห์เก็บเอาไปฝัน ฝันถึงเธออย่างจริงจัง ดังเกิดเมื่อวาน จนนอนอมยิ้มหลับใหล ฉันมีรักคือเธอๆ เฝ้าและเพ้อร่ำไป เธอคือแสง แห่งเช้าวันใหม่ ส่องนำทางให้ฉันไม่เคยลืม...
เพลงหวานๆ ที่ไม่บอกคงไม่มีใครเชื่อว่าเป็นของคาราบาว คนร้องคือพี่เทียรี่ เราชอบคาราบาวที่มีพี่เทียรี่อยู่ด้วย รู้สึกว่าพี่คานอารมณ์กับพี่แอ๊ดดี

88. เลือกได้ไหม
...แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม เลือกให้เธอไม่ไปได้หรือเปล่า หากไม่ยอมให้ไป จะตามใจฉันหรือเธอ...
เพลงกิ๊กก๊อก ที่อาศัยโน้ตเขบถสองชั้น สร้างเสน่ห์ขึ้นมาอย่างง่ายๆ

89. วัยบริสุทธิ์
...หวานใจวัยเรา เดี๋ยวก็รัก เดี๋ยวทะเลาะ เดี๋ยวออเซาะ ก็เหมาะสม วัยสดใส วัยอย่างเรา แม้ใครจริงจัง ความผิดหวัง เมื่อผ่านพบ ลบมันทิ้งไปจากใจ สู้ต่อไปเหมือนเก่า อย่าไปแคร์โชคร้าย สลัดทิ้งไปเถิดเรา ยิ้มไม่วาย แม้นิยายรักเศร้า จะช้ำเท่าใด ไม่เป็นไรเดี๋ยวลืม...
เพลงที่จับความรู้สึกของยุค 70 กับชีวิตเด็กมอปลายได้ดี ของอินโนเซนต์

90. เสียงกระซิบจากสายฝน
...กระซิบเป็นเพลงลอยลม ฝากสายฝนพรำ เพื่อเตือนย้ำถึงรักสองเรา หวานในเพลงทำนอง กล่อมทั้งคืนวันนานเนา ติดตรึงหัวใจร้อนเร่ารำพัน ฝากรักไปในเมฆา แค่กายห่าง แต่ไม่ไกลเกินคิดถึงกัน ร่ำร้องเป็นเพลงกวี ดีดสีในคืนแรมจันทร์ พร่างพรายพิรุณกางกั้นขอบฟ้า...
ชอบเนื้อมากๆ แม้ดนตรีจะเฉยๆ ธรรมดาก็ตาม เป็นเพลงที่ท่อนฮุคไม่ค่อยแข็ง

91. สายเกินไป
...แล้ววันหนึ่งเราเวียนมาเจอกัน เธอนั้นสิมีคู่ขวัญ เป็นเงาเฝ้าคอยไม่ห่าง ใจแสนจะปวดร้าว คงฝืนยิ้มให้กับเขา เก็บกดความเศร้าหมอง...
ดังด้วยภาพยนตร์แฟนฉัน (ซึ่งเราไม่ชอบ)

92. เสียงของหัวใจ
...ก็เพราะหัวใจมันบอก อาจไม่ค่อยพอ แต่ฉันก็ยังมั่นใจ ว่าต้องใช่เธอ เสียงหัวใจเรียกร้องแปลกๆ ว่ารู้สึกดีที่มีเธอ...
มิวสิคน่ารัก เราจะชอบกว่านี้ ถ้าให้พ่ออ้วนหน้าสิวเขรอะนั้นเป็นพระเอก

93. สนธยา
...ใครเลยจะรู้ว่าสนธยาไปไหน จะมีใครรู้ว่าสนธยาเป็นไง ใครเลยจะรู้ว่าสนธยาไปไหน อยากจะรู้จงติดตามเธอไปเมื่อยามค่ำคืน...
ของพี่ปั่น ยุคที่ผับ บาร์เพิ่งเปิดใหม่ๆ คงเทียบได้กับ มืดตึดตื่อ แต่เพลงนี้ฟังดูมีชั้นเชิงกว่าเยอะเลย

94. สาวเฟี้ยวฟ้าว
...คิดจะจีบสาว เจอสาวเฟี้ยวฟ้าวเหลือเกิน ถ้าเธอก่อ เธอแกล้งเมิน ทำเอาเราเขินแทบตาย แต่อย่างไรเธอก็สวยร้ายกาจ เราก็สมาร์ทเข้าที ได้ควงเธอเป็นแฟนฉันคงเหมาะดีเหมือนเพื่อนซี้ ฉันคงโชคดีกว่าใคร...
70 มอปลายอีกแล้ว อินโนเซนต์ทำเพลงลักษณะนี้ได้ดีมากๆ

95. สองใจรัก
...เปรียบใจฉันเหมือนโดนแกล้ง ซ้ำแทงกลางอก ดังไฟนรก ไหม้หมกให้ใจหาย ถ้าหากว่าเธอมีฉันคงสุข ไร้ทุกข์เคียงข้าง สองใจมุ่งหมาย มิคลายรักกัน...
เนื้อสลับซับซ้อน แต่งยาก ชวนให้นึกถึง นิยามรัก นี่ก็ของอินโนเซนต์

96. แสนรัก
...จงใคร่ครวญหัวใจ ใครเล่าใครไหนกัน แสนรักมั่นถูกใจเธอมากกว่าฉัน มัวปิดบังฉันไย มีเรื่องใดพูดกัน บอกกับฉัน อย่าทำเป็นเหินห่างไป...
เพลงหวานๆ จากพี่แจ้

97. เหมือนเคย
...ต่อให้โลกจะหมุน สักเท่าไหร่ เธอยังคงสดใสอ่อนหวานเหมือนเคย ต่อให้ใครจะสวยแค่ไหน รู้ไหม ว่าฉันเฉยๆ ก็เพราะว่าเธอน่ารักทุกๆ วัน คงไม่อาจเปลี่ยนใจฉันที่มีได้เลย ฉันก็คงต้องบอกฉันรักเธอ เหมือนเคย...
อยากรู้ว่าต่อไปในอนาคต คนจะเลิกฟังเพลงนี้ หรือมันจะกลายเป็นคลาสสิคไป

98. เหงา
...ในคืนที่มีดวงดาวอยู่เต็มฟ้า ในคืนที่เธอไม่โทรมาหา ฉันเหงาใจ เหงาเกินไปไม่ผ่อนคลาย ไอ้การที่ต้องการจะเจอกับตัวเธอนั้น มันทำให้ฉันกระวนกระวายไม่เคยเป็นอย่างนั้น ทุกครั้งเลย จะเฉยยังไง ก็ไม่หาย...
เพลงเมาๆ ฟังตอนอกหักครั้งแรก โดนแบบสนุกๆ ขำๆ

99. อยากหลับตา
...คงจะเป็นฝัน เป็นได้แค่นั้น ที่ฉันและเธอ นั้นรักกัน มีแต่ความหวาน ในคืนแห่งความฝัน ที่ฉันต้องการเก็บไว้ ความเป็นจริงที่เจอนั้น เธอมีคนที่รู้ใจอยู่ข้างเธอ...
สมเกียรติโชว์พาวสุดฤทธิ์ในอินโทร ท่อนฮุคอ่อนไปหน่อย ไม่อย่างนั้นคงติดสูงกว่านี้

100. อยากรู้
...อยากรู้ความจริงนัก ใครที่ทำให้เธอคิดหนัก อยากรู้ใจเธอนัก ใครที่ทำให้เธอเพ่อพร่ำ ใครที่ทำให้ใจชุ่มฉ่ำ อยากถามเธอใคร...
เพลงของพี่ปั่นสนุกมาก เสียดายที่คนรู้จักน้อย

100 เพลงไทยในดวงใจ (ภาค 3)


กติกาแทรก: จงใจไม่เลือกเพลงที่ใหม่กว่าปีสองปีนะครับ เพราะเชื่อว่าแค่เวลาสองปี ยังพิสูจน์เพลงไม่ได้ แล้วก็ไม่นับเพลงบรรเลงด้วย

61. หน่วยกล้าอาย
...นี่คือกองบัญชาการ เป็นหน่วยชำนาญการเอาใจ และไม่อายที่จะทำได้ทุกอย่าง ถ้าหากว่าเราพอใจคุณ เราจะเข้าชิงกันจริงจัง ขอให้คุณคอยระวังให้ดี...
ไม่รู้เหมือนกันทำไมชอบเพลงนี้ นูโวมีเพลงมันส์ๆ สนุกๆ หลายเพลงแต่ไปๆ มาๆ เพลงนี้ติดหูสุด

62. นายแพทย์สนุกสนาน
...ไม่มีผู้ใดไหนเลยไม่เคยป่วย จะร่ำรวยแข็งแรงซะปานใด จะยากจะมีเหลือทน จะยากจะจนเข็ญใจ ใครมาจากใดไม่มีพ้นสักคนเลย...
เพื่อนเราฟังเพลงนี้แล้วบอกว่า เหมือนนั่งแต่ง นั่งร้องกันหลังห้องเรียน นี่แหละเสน่ห์ของเฉลียง

63. นางสาวหุ่นยนต์
...หลีกไม่พ้น คนถูกใจหุ่นยนต์ต้องพร้อมจะยอมทนไปอย่างนั้น ให้มันรู้ ใครจะทนกว่ากันเพราะฉันมันจริงใจไม่ถอยเลย...
แพ้เสน่ห์นางสาวหุ่นยนต์ครับ

64. North Star
...อยากจะเดินทางตามดาวสักที ดาวนำทางให้ที ให้ฉันนั้นเจอจุดหมายปลายทาง อยากจะเจอใครจริงใจเสียที ดาวนำทางให้ที หลงทางไปวันๆ ผิดถูกก็เดามั่วเรื่อยไป ถ้าเป็นจริง ช่วยหน่อย พาฉันไป เจอสักที...
กับ ใกล้ ของ scrubb เป็นสองเพลงที่ใหม่สุดในลิสต์นี้

65. ปุยฝ้าย
...เห็นนกน้อยบินลอยเล่นชมชมเพลิน ตามแนวเนินมองไปเห็นกระต่ายป่า ตะวันขาวสาดแสงทอทาบทา สว่างฟ้าอร่ามลับ งามเป็นทิวลิ่วลมคล้ายสายลมโชย ปุยฝ้ายโปรยล่วงโรยเหมือนหนึ่งเมฆา สะอาดขาวบนฟ้าพราวพร่างตา ดังเทวาชื่นชม...
ทั้งเพลงไม่มีอะไรนอกจากชื่นชมธรรมชาติ แต่ความคล้องจองของเนื้อ และจังหวะลงตัวมาก จากอินโนเซนต์ครับ

66. เผลอ
...เอ๊ะๆ ใครกันที่เพิ่งเดินผ่าน เธอมองทางนี้ เอ๊ะ คนนี้เขาดูดี ดูน่ารัก เอ๊ะๆ เธอมองฉันเหมือนเธอหวั่นๆ เธอบอกฉัน นั้นไม่ดีไม่ควรทำ อย่าไปทำอย่างนั้น...
เราชอบสมเกียรติสุดในเบเกอรี่ทั้งหมด เพลงติดหูที่ฟังมายืนยาวจะครบสิบปีแล้ว

67. ฝันและใฝ่
...อยากมีใครสักคน ช่วยปลอบดวงใจที่ทุกข์ทน ให้คลายหมองหม่น ให้ชีวิตใหม่ จะมีใครสักคน เคียงข้างบนทางที่มืดมน อยากให้ใครนั้นคือคุณ ช่วยมอบความรักความอบอุ่น ซึ้งใจ...
ทำไมคนชอบเอาเพลงนี้มาร้องใหม่ช้าๆ ทั้งที่จังหวัด moderato ในฉบับออริจินัลน่ะกำลังดี

68. เพราะไม่เข้าใจ
...เพิ่งจะได้รู้ ที่แท้เราก็เพียงรักกัน แต่ความรักเท่านั้นไม่พอ และไม่ง่ายดาย เพิ่งจะได้รู้ ว่ารักที่ไม่เคยเข้าใจ จะอย่างไร รักนั้นก็คงจบลงง่ายดาย และต่างก็ต้องเสียใจ เมื่อไม่อาจไปด้วยกัน เพราะเธอและฉันคงไม่มีวันเหมือนเดิม...
พี่แอมโชว์เหนือในฐานะนักแต่งเพลง รักกัน แต่ไม่เข้าใจกัน เป็น "เสียจธรรม" ที่ยังจึกอยู่จนทุกวันนี้

69. แพ้คนสวย
...เสร็จแน่ๆ เลย ก็เสร็จแน่ๆ เลย ก็พนันกันได้เลยว่าคงจะเสร็จคุณแน่ๆ เลย ก็ผมมันแพ้คนสวย...
เพลงโดนใจอีกแล้ว ให้เกียรติเป็นเพลงลำดับที่ 69 เลยเอ้า!

71. เพียงแค่ใจเรารักกัน
...ข้ามพาดวงใจเราไปยังนภาฟ้าที่แสนไกล ที่ไม่มีใครเคยก้าวล้ำข้ามผ่านพ้นไป เก็บดวงดาวที่ลอยเกลื่อนฟ้า จับมาเรียงร้อยเป็นมาลัยคล้องใจ...
เนื้อเพลงสนุกมาก แทบไม่มีซ้ำกันเลย เพลงรักหวาน จังหวะกำลังดี ที่คลาสสิคทุกยุคทุกสมัย

71. พริกขี้หนู
...เผ็ดจริงๆ เลยนะตัวแค่นี้ มันจะร้อนอะไรอย่างนั้นตัวนิดเดียว อย่างกับพริกขี้หนูปานนั้นเชียว ตัวนิดเดียวทั้งแสบทั้งเผ็ดร้อน...
อ่านมาถึงตรงนี้ สงสัยบ้างไหมว่าพี่เบิร์ดหายไปไหน จริงๆ พี่เบิร์ดเป็นนักร้องคนโปรดของเรา แต่เหมือนเราจะชอบงานแกโดยรวมมากกว่า กระนั้นมีเพลงสองเพลงของพี่เบิร์ดที่ติดอันดับบนๆ ด้วย

72. เพลงลูกกรุง
...ถึงใครลือกันว่าคนกรุงหลอกลวง อย่าคิดเป็นห่วง พี่ไม่ลวงหลอกใคร ขอเพียงน้องนาง ยังไม่แปรเปลี่ยนไป อย่าทำให้พี่ชาย ตรอมตรมระบมอุรา...
บลู/รอคสุดมันส์จากพี่แมว เสียดายพี่ไม่ค่อยทำเพลงแนวนี้อีก อย่าทิ้งแจ๊สเลยพี่ เป็นรอคเกอร์ไม่ดีนา สู้เด็กๆ ไม่ได้หรอก

73. ภาพลวงตา
...มองเห็นเธอเดินอยู่กับใครนะใคร เธอคล้ายมีใจเหลือเกิน ใจฉันก็ยังอยากเชื่อใจในรักเรา ไม่กล้าคิดว่าเธอจะมีสองใจ ใจหนึ่งก็ยังซึ้งอยู่ ไม่คิดเลยเธอจะทำฉันลง กว่าจะรักกันมาตั้งนาน กว่าจะรู้ใจนานกว่านั้น สิ่งที่เห็นเป็นภาพลวงตาหรือไร...
เชื่อไหม นี่แหละเนื้อทั้งหมดของเพลงนี้ ถึงจะบอกว่าไม่นับเพลงบรรเลง แต่เพลงนี้คงใกล้เคียงที่สุด ขับร้องโดยนรีกระจ่าง แต่พระเอกตัวจริงคือเสียงแซกของพี่แต๋ง

74. ไม้ขีดไฟกับดอกทานตะวัน
...เจ้าไม้ขีดไฟก้านน้อยเดียวดาย แอบรักดอกทานตะวัน แรกแย้มยามบานอวดแสงตะวัน ช่างงดงามเกินจะเอ่ย ดอกเหลืองอำพันไม่หันมามอง แม้เหลียวมายังไม่เคย ไม้ขีดเจ้าเอ๋ย เลยได้แต่ฝันข้างเดียว...
เพลงโปรดเรา กับแม่ พูดถึงดอกไม้โปรดพวกเราด้วย เพลงที่เล่านิทานแบบนี้ ไม่ค่อยมีนะที่แต่งดี

75. ไม่เคย
...ช่วยวานบอกความจริงกับเธอสักที ว่าใครคนหนึ่งจริงใจต่อเธอ แล้วเราจะบอกความจริงกับเธอยังไง ก็ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคย ฝันๆ ๆ ก็ได้แต่ฝันๆ ๆ เพ้อๆ ๆ ก็ได้แต่เพ้อ ๆ ๆ รักไม่บอก ไม่รักไม่บอก หอบไปเถิดรักลมๆ ...
เพลงน่ารักๆ จากคาราบาว ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก

76. ดาวมหา'ลัย
...เพราะเธอนั้นเป็นถึงดาวมหาลัย ดาวในหัวใจที่ไกลเกินคว้า สวยเธอสวยจนทุกคนต้องหันมา ดูเข้าตากว่าใครๆ ...
เพลงนี้ต่างหากที่ใหม่สุดในฤทธิ์ ชอบอารมณ์มหาวิทยาลัยของมัน ซึ่งมีแต่คนในสังคมไทยเท่านั้นจะเข้าใจอะไรแบบนี้ (สังเกตว่ามันไม่ได้เรียกตามอักษร เพราะเพิ่งนึกได้ ใส่เข้ามาทีหลัง)

77. ยอม
...หยุดไม่ได้แล้วทุกๆ อย่าง ใจของฉันนั้นรักเธอตั้งแต่วันที่พบหน้าสบสายตากันและกัน ห้ามไม่ได้แล้ว หัวใจ ไม่อาจยอมปล่อยเธอให้ไปจากฉัน แม้ต้องเจ็บสักเท่าไหร่ แม้จะต้องแลกกับสิ่งไหน ฉันนั้นยอม...
ฟังครั้งแรก ชอบแค่ประมาณหนึ่ง แต่ก็ยังฟังมาได้เรื่อยๆ พอเปิดเพลงนี้ทีไหร่ ห้ามตัวเองไม่ให้คลอตามไม่ได้จริงๆ

78. รักเก่าๆ
...แต่แล้วก็ไม่มีทางที่เรา จะเข้าใจกันได้ใหม่ มันช่างโหดร้าย กับความรักที่ไม่สดใส ที่เราเคยร่วมทุกข์ และเราเรียกสิ่งนั้นความสุข ที่ฉันและเธอยังเคยมีใจ จะรักจริงใจทุกอย่าง จะเข้าใจกัน แต่ความรักก็พลันอ้างว้าง เมื่อทุกอย่างสลาย แยกกันไปจะเหลือก็เพียงความหลัง
ออริจินัลของสามหน่อ แต่ยอมรับว่า soul after six เอามาทำใหม่ได้ดีมากๆ

79. รู้สึกสบายดี
...ร้องเธอร้องเพลง ถ้าอยากจะร้องเธอร้องไป ร้องเธอร้องไห้ ถ้าได้ร้องแล้วลืมมัน เผลอไปรักใคร เขาไม่รักไม่ยักมัน แล้วก็แล้วกัน บอกว่าตัวฉันสบายดี...
เพลงที่เป็นเฉลี๊ยงเฉลียงทั้งเนื้อร้อง และทำนอง

80. รักปอนๆ
...ตัวฉันคนอย่างตัวฉัน ใครจะมาสนใจ คนสวยคนที่พร้อม เขาก็มองข้ามไป เพราะฉันมันเป็นคนแบบปอนๆ ทั่วไป ไม่เห็นจะมีดีที่ใด ชีวิตไปวันๆ ได้แต่ฝันจะมีใครอยู่ข้างเคียง...
เพลงที่ไม่โดนเราเอาเสียเลย แต่ก็ชอบในความเก๋าโจ๋หลงยุคของมัน

100 เพลงไทยในดวงใจ (ภาค 2)


อ้อ ลืมบอกกติกาไปอีกข้อ ไม่นับรวมเพลงพระราชนิพนธ์นะครับ

ต่อดีกว่า

41. ใจบางๆ
...เป็นเพราะเรา เป็นเพราะเรามากกว่า เป็นเพราะใจ เป็นเพราะใจเราอ่อน อ่อนแออยู่เสมอ เพียงพบคนที่ถูกใจ เก็บมาใส่ดวงใจฉันไว้ ฝันลมๆ มากมาย แล้วเป็นไง พอหัวใจเราเจ็บ เขาคนดี ดีแล้วมีคนอื่น เจ็บใจอยู่อย่างนั้น เพียงพบความผิดหวัง ได้แต่บอกปลอบใจตัวเอง ฝันอะไรมากมาย นะใจ...
แค่อ่านเนื้อยังถอนหายใจเลย เพลงอะไรวะ เขียนโคตรโดน (ใครคิดว่าโจ้ร้องเพลงนี้ออริจินัล โกรธตายเลย หนุ่มเสกต่างหาก)

42. เจ้าสาวที่กลัวฝน
...เหตุอันใดใยความรักเธอเริ่มต้น ชายทุกคนหลีกไกล เหตุอันใดเธอเคยคิดดูหรือไม่ ใครล้อมกรอบตัวเอง ตั้งข้อแม้รักเสียมากมาย จะมีชายใดเป็นได้ดัง ซึ่งกฏเกณฑ์เธอวางไว้ใครบ้าง จะมีทางเป็นชายของเธอ เธอเห็นใคร ใยถึงต้องหลอกตัวเอง...
ชอบเพลงนี้ฉบับที่อ้ำร้องในคอนเสิร์ตครับ ของพี่เต๋อก็เพราะ ออกแนวลาติน แต่สไตล์ดนตรีมันตกยุคไปหน่อย

43. ใจโทรมๆ
...แม้ใจจริง จะรักเพียงใด แม้ในใจ ยังอยากจะมีตัวเธอนั้นไว้ นานเท่านาน อยากมีทางเดินร่วมกัน อย่างที่ใจเราเคยคิดกัน อย่างที่ฝันกันมาด้วยกัน...
ชอบเสียงร้องเมาๆ ของพี่หนุ่ย

44. จะเอายังไง
...เธอจะกลัว เธอจะอายทำเบื่อเรา จะเอายังไงว่ามา คงมีใครคอยเอาใจคอยสบตา ยังเป็นปัญหาใหญ่ รู้ทั้งรู้เราจริงจัง ยังให้รอ รอเธอจนท้อใจ กลัวเธอทำเป็นใจเย็นยิ่งกว่าใคร มัวรีรอกันทำไมรีบบอกมา...
เพลงอินโนเซนต์ที่เราชอบเกือบที่สุด

45. จิ๊บร.ด.
...ร.ด. เด็กไทยผมเกรียน ไปเรียนก็เกาะรถเมล์ ไม่หล่อแต่เราแต่งตัวเก๋ เกเรไม่เป็นเหมือนใคร ร.ด. เด็กดีทุกคน ผึ่งผาดอาจองไม่หวั่นไหว เมืองไทยมีภัยเรารบ...
ขอบคุณ af ที่เลือกเพลงนี้มาร้อง ทำให้เรากล้าร้องมันในที่สาธารณะ โดยไม่กลัวคนหาว่าเชย

46. เดียวดายกลางสายลม
...ไม่อยากเห็นภาพใด แม้แต่ท้องฟ้า อยากจะพักดวงตาลงชั่วกาล จะไปซุกตัวนอนซ่อนกายในเงาจันทร์ จะหลับฝันไม่ขอตื่นขึ้นมา...
เพลงฆ่าตัวตาย เวลาอกหักฟังแล้วห้ามอยู่คนเดียว

47. ดวงใจในฝัน
...บางคืนมองจันทร์หรรษา นิจจาอกฉัน บางคืนขาดจันทร์เยือนหล้า น้ำตาหลั่งเอย ลมเอยพริ้วยังแผ่ว ไม่มีแววเลย เหงาใจจริงเอย หลงเชยแต่เงา...
อุทิศเพลงนี้ให้ "เด็กกำพร้า" ไปแล้วครับ

48. ดูดาว
...เหงานี้มามองดาว บนฟ้า ฟ้าไม่มีดาวดับ กลับกลายใจเห็นเธอลอยเด่นเหมือนดาวส่อง เหงา เหงาไม่มีเธอ คืนนี้เหมือนวันที่ผ่านพ้น สับสน เธอเหมือนคนดี เธอเหมือนคนหลอก...
เพลงเนื้อดีอีกเพลง จากวงตาวันครับ

49. ดำดี
...หนุ่มๆ กี่คนดูๆ แล้วล้วนสุดหล่อ ฉันคงต้องรอ ก็เพราะฉันนั้นมันเชย อยากบอกกับเธอว่ารักไม่อาจเอ่ย ถึงฉันจะเชยผิดหวังทุกที...
ดำด๊าดี่ดำ ดาดีด๊ำด๊ำดา scat ไทยที่คลาสสิคสุดๆ ชนิดขึ้นมา ถึงคนรุ่นเราไม่รู้จัก ก็ต้องเคยได้ยินบ้างแหละ

50. ตัวปลอม
...เปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นเหมือนเขา ก็ตัวจริงเรามันไม่เข้าที ต้องเป็นตัวปลอม ต้องยอมโดนย้อมตัวจริงที่มี หากเธอว่าดี ก็ดีเชื่อเธอ...
ไฮดราคือปรากฎการณ์ทางดนตรีน่าพิศวง ชุดเดียว ชุดแรก เพราะทั้งอัลบั้ม มีอีกไหม

51. เด็กปั้ม
...อยู่อีสาน มาหลายๆ ปี เข้ามาอยู่กรุงศรีวิไลเลิศฟ้า ทำงานแลกกับเงินเลี้ยงชีวา บริการเพิ่มพลัง ให้รถรา คนเขาขานนามว่าเป็นเด็กปั้มน้ำมัน...
ฟังขำๆ น่ารัก

52. ได้แต่มอง
...ไม่กล้าเผยคำ กลัวเจ็บช้ำใจ เพราะว่าเธอนั่นไง มากล้นคนปอง เพราะรู้ตัวดีเราคงไม่มีปัญญา ยื้ดยุดเธอมา มาเป็นคู่ควงเคียงครอง ได้แต่เมียงมอง ปองไว้ในใจ...
เราชอบคำว่า "เคียงครอง" เพลงไทยสามเพลงที่มีคำนี้ ได้รับเกียรติในลิสต์นี้หมด

53. ตัวสำรอง
...เธอรู้ดี ใครคนที่ถูกใจเธอหลายอย่าง ใครจะเหมาะสม ควรคู่พอ รวมเป็นชีวิตใหม่ ก็ขอให้เป็นตัวจริง...
ต่อให้พี่นกไม่ใช่เฉลียง พี่นกก็ยังเหนือ

54. Tick Tock
...อยากฟังคำว่ารักช่วยบอกสักที รักไม่รักแค่นี้ง่ายๆ บอกกันไว้รีบบอก โอวววเย ก็มันกลัวไม่ทัน เธอช่วยคิดเร็วๆ ...
เคยเป็นริงโทนเราอยู่พักหนึ่ง แซงโค้ง อยากจะร้องดังๆ ไปด้วยเอมวี

55. แทนคำนั้น
...อยากจะมีคำพูดสักคำ ที่แทนความจริงจากใจที่มี อยากจะสื่อความหมายดีๆ ที่พอจะทำให้เธอได้เข้าใจ คำบางคำที่ดีสักคำหนึ่ง คำบางคำที่จะซึ้งกินใจ ที่จะพอจะใช้แทนใจจากฉัน...
ซึ้งตั้งแต่เด็กยันโต

56. เทวดาเดินดิน
...เป็นเทวดา แล้วไยต้องมาเดินดิน ลืมเพดานบินถึงกินข้าวแกงทุกมื้อ เจียมตัวตน เพราะเราเป็นคนซื่อๆ สองมือนี่สร้างตัวเอง เป็นเทวดา ฉันยังต้องมาครวญเพลง ตัวเองพอใจ เพราะเพลงไม่เคยคิดร้าย เจียมตัวตน เพราะเราเป็นคนง่ายๆ ฉันเองใช่เทวดา สักหน่อย
เอ้า!...เป็นเทวดา แล้วไยต้องมาเดินดิน...ท่อนที่เปลี่ยนคีย์เพราะมาก เป็นเพลงไทยเพลงแรก และไม่กี่เพลงที่มีการเปลี่ยนคีย์ลักษณะนี้ ชอบเนื้อด้วย โดนใจเราแปลกๆ

57. ทำไมเป็นคนแบบนี้
...ทำไมเป็นคนแบบนี้ ทำไมยังทำแบบนี้ ใจเราเหลือแค่นี้ ให้เขาไปทำไม ใจเรามีเพียงเท่านี้ ดูแลใครคงไม่ไหว เก็บเถิดเก็บเอาไว้ ซับน้ำตาให้ตัวเอง...
เพลงอกหักให้กำลังใจ ที่ตอนนั้นฟังแล้วโดนโคตรๆ ขอบคุณพี่นิโคลครับ ที่ช่วยชีวิตเราไว้ครั้งหนึ่ง

58. เธอลำเอียง
...ความจริงใจฉันเป็นอาธร ฉันแสดงออกมาจากใจ ตัวเราเองไม่มีอะไร ที่คอยให้จึงต่างจากเขา เธอจึงมอง ข้ามไปดังเงา ทิ้งให้เศร้าบนความฝันเดิม...
จริงๆ แล้วเราชอบอริสมัน แต่ทำไมนึกเพลงอื่นของพี่กี้ไม่ออกเลย

59. Nosaka
...ก็แล้วเธอนั้นคิดยังไง ช่วยบอกกับฉันสักทีเธอ ตัวของฉันระทม และทุกข์ ระทุม และทุกข์ทุกทีเธอ...
ของโจอี้อีกแล้ว จนปัญญาถอดเนื้อเพลงนี้จริงๆ ความจริงแล้วโจอี้บอยเป็น(อดีต)ศิลปินของ(อดีต)เบเกอรีที่เราชอบอันดับต้นๆ

60. นิยามรัก
...ฉันเพิ่งเข้าใจความรักว่าเป็นอย่างไร ฉันเพิ่งเข้าใจความหมายที่มี เพราะฉันได้ลองเรียนรู้ว่ามันมีแต่ ความจริงใจให้แก่กัน...
เพลงชาติอีกแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าผ่านมาเกือบยี่สิบปี ยังไม่มีใครแต่งอะไรแบบนี้ได้อีกเป็นเพลงที่สอง

100 เพลงไทยในดวงใจ (ภาค 1)


กลัวคนอ่านไม่รู้ว่าเชย

กติกาคือตั้งแต่ลำดับ 21 เป็นต้นไปจะนำเสนอแบบเรียงตามตัวอักษร (ตัวแรก) มีชื่อเพลง เนื้อบางท่อน และคำกำกับตามแต่อารมณ์ บอกไว้ก่อนว่านึกจากความทรงจำ ผู้เขียนไม่ขอผูกมัดตัวเองกับลำดับเหล่านี้แต่อย่างใด

เริ่มกันได้เลย

21. กลับมาสักครั้ง
...อยู่ตรงไหน รู้ไหมมีคนที่ห่วงอยู่ อยากให้รู้ ฉันรักเธอเช่นเคย จากกันไปนานเพียงไหน ฉันรักเธออย่างเคย พร้อมจะเอ่ย เอ่ยคำว่าเข้าใจ...
เพลงนี้ชอบเพราะชอบเนื้อ

22. กลัว
...กลัวเหลือเกิน กลัวความรักที่เธอนั้นเคยให้มา จูบลาฉันไป กลัวหัวใจ ที่ไม่คิดว่าฉันมีความสำคัญ...
ของโจอี้บอยครับ ตอนมอปลายเคยปิดไฟ นอนฟังเพลงนี้แล้วร้องไห้ สาเหตุเพราะ...พ่อไม่ให้ไปช่วยงานกีฬาสี :p

23. ก้อนหินละเมอ
...มองไปไกลที่ดวงดาวสุดขอบฟ้าไกล อยากจะไป ไปให้ถึงครึ่งทางแสงเธอ...
เคยเป็นเพลงชาติอยู่ช่วงหนึ่ง

24. กุ้มใจ
...ไม่รู้ไปโกรธใครมา ไม่พูดไม่จาทำหน้าบึ้งตึง ทำผืน ทำฟัด ทำดื้อดึง เพราะใครหรือจึง บึ้งตึงตอบมา...
ชอบตั้งแต่เด็กจนโต

25. ก็ฉันไม่ดีเอง
...เพียงแต่แค่เราทะเลาะกัน เธอกลับงอนฉันเสียนาน แถมพาลไม่ยอมยกโทษ หน้าตาบึ้งตึงขึ้งโกรธ หัวใจแสนโหดกว่าใครที่เคยได้พบมา...
อินโนเซนต์เพลงแรกในลิสต์นี้ จะมีตามมาอย่างน้อยๆ อีกสี่ห้าเพลง

26. โกหกหน้าตาย
...เจ็บใจดังไฟสุมทรวง ทะลวงอกฉัน เมื่อเธอมาตัดสัมพันธ์เอาเมื่อสายไป ใครไหนจะทันตั้งตัว ยั้งหัวใจ หลอกให้หลงงมงาย ใจสุดแสนดำ...
เลือกเพราะเราร้องเพลงนี้แล้วเพราะ (เริ่มเชยแล้ว)

27. ใกล้
...อาจเป็นเพราะว่าเธอบังเอิญได้เจอฉัน อาจเป็นเพราะว่าเราบังเอิญอยู่ด้วยกัน เพราะเธอยังไม่เคย ได้รู้มันเป็นยังไง และฉันไม่เคยเข้าใจ ถ้ามันต้องอยู่อย่างนั้น...
โอ้ว! จากเท่ห์กระโดดมา scrubb เพลงเนื้อมั่วๆ ที่เราชอบทำนอง และบีตของมัน

28. เก็บเอาไว้ให้เธอ
...เก็บท้องฟ้าเบื้องบนไว้ให้เป็นเหมือนเก่า เก็บภูเขาเรียงรายไว้ให้จดฟ้าคราม...
หนึ่งในเพลงนูโวที่ชอบมากๆ เป็นอะแคปเปลาเพลงแรกๆ ของเมืองไทย

29. คิดถึงกันบ้างไหม
...ฉันยังคิดอยากให้ถึงวันนั้น วันที่พบกันใหม่ แม้วันนี้ จะไม่เหมือนวันนั้น เธอกับฉันห่างไกล ในใจนั้นยังหวังเรื่อยมา แม้เวลาจะผ่านไป คงเป็นเพราะว่าฉันก็มี เพียงแต่เธอคนเดียว ที่ฉันคุ้นเคยกว่าใครคนใด แต่แล้วต้องมาจากฉันไปไกล คิดถึงกันบ้างไหม...
ของแหวนครับ ชอบเนื้อเพลงนี้มาก เขียนเสียยาวเลย

30. เคยตัว
...หากเปิดอกฉันได้เธอจะเห็น ว่ามีรักอยู่เต็มหัวใจ ที่เก็บเอาไว้ มอบให้เธอแน่นอน หากเปิดอกฉันได้เธอจะรู้ ว่ามีรักพรั่งพรูล้นใจ หากบอกออกไป เธอจะเคยตัวหรือเปล่า...
มะลิลา บราซิลเลี่ยนครับ นิยามของรุ่นพี่เราคือ "แต๊ะแต๋จริงๆ เพลงอะไร! (แต่ก็ชอบนะ)"

31. ความลับ
...และความลับในใจของเธอ มีฉันอยู่บ้างไหม โปรดบอกความในใจ ให้ฉันรู้ทีนะเธอ...
ชอบฉบับตองร้องสุด จริงๆ เพลงนี้เพราะทุกเวอชั่น ยกเว้นที่โจ้ร้อง :P

32. คอย
...คอยแต่เธอ หลงละเมอเพ้อคอยแต่เธอ รักแรกเจอเพ้อครวญเรียกหา ขอเธอจงอย่าหน่าย รักมิวายแต่เธอ...
ถ้าจำไม่ผิด ออริจินัลของฟรีเบิร์ด แต่ฉบับที่เราฟังบ่อยสุดคือของโดม มาติน

33. ค่ำคืนฉันยืนอยู่ทำไม
...ค่ำคืนฉันยืนอยู่ทำไม ดึกแล้วผู้คนก็หลับไหล ตีสองตีสาม พวกยามเขายังหลับใน แล้วทำไมฉันยัง มามัวนับดาว...
ใฝ่ฝันอยากไปคอนเสิร์ตเฉลียงที่เพลงพวกนี้ถูกหยิบมาร้องบ้าง

34. คิดถึงห่างๆ
...แอบคิดถึงเธอห่างๆ ห่างๆ แค่เพียงนี้พอดีกว่าใกล้กัน หากใจระวัง ผิดหวังคงไม่มี สบายใจดีนะเธอ...
เมื่อพี่จุ้ยจะดื้อร้องเพลงนี้ เราก็จะขอดื้อชอบมันบ้าง

35. คนธรรพ์รำพัน
...แค่อยากบรรเลง แต่งเพลง ร้องเป็น ต้องเก้อก็กะจะโชว์แต่ไม่มีคนฟัง เจ็บใจจังเราน่ะร้องเสียงดัง ไฉนไม่ฟังเราร้องไม่เพราะหรือไง...
เพลงพี่แจ้เพลงแรกในลิสต์นี้ จะมีตามมาอีกเยอะ จะฟังกี่ที ก็ยังมันส์อิ๋บอ๋าย เป็นเพลงที่มีท่อนฮุคสองทำนอง

36. แค่มี
...ถามเธอเพราะใจเฝ้าคอยเธออยู่ รู้ดีว่าเราอาจมีน้อยไป หวังเพียงบางทีเพื่อเธอจะเข้าใจ ในสิ่งที่ฉันมี
น่าจะเป็นเพลงเฉลียงที่เราชอบสุด เป็นเพลงโปรดแม่ด้วย

37. ง้อเพราะรัก
...อยากจะหยิกเนื้อขาวๆ กลัวคนเจ้าน้ำตา อยากจะแกล้งทรมาณไปหาอื่นแอบอิง กลัวจะกินยาตายน่าหนักใจจริงๆ พี่ทำเฉยนิ่ง เธอยิ่งได้ใจ ทำไงดี...
ออริจินัล เชื่อว่าคุณสุเทพร้อง แต่ฉบับที่เราคุ้นเคยคือของแกรนเอกซ์ ฟังแล้วนึกถึงสาวขี้งอนบางคน

38. งานวัด
...ครั้งหนึ่ง ครั้งหนึ่งยังจำได้ไหม สองเราเที่ยวงานวัดบ้านใต้ ทำบุญปิดทองลงพระมาลัย ก่อพระเจดีย์ทรายร่วมกัน...
วงเพื่อนครับ เพลงอะไรไม่รู้ ฟังกี่ที๊กี่ทีก็รู้สึกสบ๊ายสบาย

39. เจ้าพายุ
...จึงอ้อนวอนกับเจ้าพายุให้โหมกระหน่ำ หอบพาเอาความเจ็บช้ำให้มันพ้นไป ก็ความทรงจำที่เคยมีรักมันช่างโหดร้าย ไม่อยากจะเก็บเอาไว้ข้างในหัวใจอีกเลย วอนให้ลมช่วยพาไปที...
เพลง soul after six ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก เราชอบเพลงที่ท่อนฮุคลงเสียงต่ำ มันฟังดูคลาสซี่ดี

40. จากคนอื่นคนไกล
...ก็ฉันไม่อยากมีใจให้เธอ เป็นแค่คนอื่นคนไกลของเธอ แค่ผ่านมาเจอ จากนี้เธอควรตัดใจ บอกจริงๆ ว่าฉันไม่อยากทำตัวไม่ดี และฉันไม่อยากเป็นคนไม่ดี ทุกอย่างลวงตา อย่าคิดไปเกินกว่านี้ อย่าทำอีกเลย...
ทอปสุดแล้วของพี่ช่า ในฐานะนักร้อง

G. Debord's "The Society of the Spectacle"


The Society of the Spectacle เป็นหนังสือที่เนื้อหาใหญ่เกินตัวมากๆ ทั้งที่มันยาวแค่ 150 หน้ากว่าๆ แต่อ่านจบแล้ว หมือนเพิ่งอ่านตำรา 1000 หน้า แน่นเอี้ยดและชวนขบคิด อิจฉาคนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ แล้วไปถกเถียงกันในชั้นเรียน

ดีบอร์ดพูดถึงสังคมสมัยใหม่ ว่าเป็นสังคมแห่ง "ภาพลักษณ์" จากสัมผัสทั้งห้า มนุษย์ให้ความสัมคัญกับการมองสุด และตาเรา ก็ดันเป็นเส้นประสาทที่ง่ายต่อการสร้างภาพลวงเสียด้วย (รึเปล่าหนอ เรื่องหูแว่วนี่เคยรับรู้มาบ้าง แต่รสลวงลิ้น หรือสัมผัสลวงมือนี่ไม่ค่อยจะเคยได้ยินมาก่อน) ซึ่งสังคมแห่ง "ภาพลักษณ์" นี้คือที่มาที่ไปของปัญหาหลายอย่างในปัจจุบัน ต้องย้ำว่า หลายอย่าง จริงๆ เพราะหัวข้อที่ดีบอร์ดอ้างเอ่ย มีตั้งแต่บทวิพากษ์ทุนนิยม สังคมนิยม ศิลปะ วัฒนธรรม การรับรู้เรื่องเวลา และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และสถานที่ (space) รอบตัว แต่ละหัวข้อนี่หยิบยกมาเป็นหนังสือต่างหากแต่ละเล่มได้สบาย

ถ้าติดตามบลอคนี้ น่าจะพอรู้ว่าเราหัวเอียงขวาขนาดไหน มิขอพูดถึงสังคมนิยมในแง่ลบแล้วกัน เพราะทำมาบ่อยแล้ว แต่อยากพูดถึงปัญหาของทุนนิยม อันเนื่องมาจากสังคมแห่งภาพลักษณ์มากกว่า ดีบอร์ดตีโจทย์ได้ตรงจุด และตรงใจเรามาก สำหรับเราสองคน ผลกระทบแง่เสียของทุนนิยมคือ ความไม่ตรงกันระหว่าง "คุณค่าราคา" และ "คุณค่าใช้สอย" เพราะภาพลักษณ์คือสิ่งซึ่งปกครองทุกความคิด ทุกกระบวนการตัดสินใจของปัจเจก ของซึ่งมี "คุณค่าราคา" อาจมิได้มี "คุณค่าใช้สอย" อะไรเลยก็ได้ และกลับกลายเป็นว่า ทุกอย่างถูกตัดสินด้วย "คุณค่าราคา" มากกว่า "คุณค่าใช้สอย" ทั้งที่ทั้งนั้น เพราะหัวใจของระบบทุนนิยมคือตลาด ซึ่งกลศาสตร์ของการแลกเปลี่ยนขึ้นอยู่กับ "คุณค่าราคา"

ดีบอร์ดยังพูดถึง เวลา (time) และ สถานที่ (space) ได้อย่างน่าสนใจ รวมไปถึงกำเนิดศิลปะยุคใหม่ ซึ่งก็เป็นจุดจบของศิลปะ และวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน จุดจบของศิลปะ ในสายตาดีบอร์ด คืองานที่ไม่ได้สื่อสารอะไร แต่มีไว้เพื่อ "ดู" เพื่อสร้าง "ภาพลักษณ์"

หนังสือดีมาก สุดที่จะหยิบยกทุกประเด็นมาพูดถึงจริงๆ

W. Gombrowitz's "Ferdydurke"


หนังสือที่มักจะทำให้เราจนด้วยคำพูดคือแนว ไร้สาระ/เหนือจริง (absurd/surreal) อย่าง The Trial ของคาฟคา หรือ Ferdydurke เล่มนี้ ตั้งแต่ชื่อหนังสือเลย "เฟอดิดุค" ไม่ได้เป็นทั้งตัวละคร และไม่ได้เกี่ยวพันอะไรกับเหตุการณ์ในเล่ม กอมโบวิชแบ่งนิยายเป็นสามส่วน โดยระหว่างส่วนมีทั้งเรื่องสั้น และคำนำเรื่องสั้นคั่นกลาง โดยในคำนำของเรื่องสั้นเรื่องแรก The Child Runs Deep in Filidor ร่ำร้องว่า เหตุไฉนนักเขียนจะไม่สามารถเอาเรื่องสั้น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับเหตุการณ์หลักในนิยายมาแทรกกลางเล่มได้ ทำไมต้องยึดติดกับหลักการเขียนคร่ำครึ กระนั้นในคำนำเรื่องสั้นเรื่องหลัง The Child Runs Deep in Filibert กอมโบวิชพูดว่าตัวเขาถูกหลักแห่งสมมาตรบังคับว่า ถ้าช่วงแรกมีเรื่องสั้น ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ช่วงหลังจะมีเรื่องสั้นเช่นกัน ซึ่งเห็นได้ชัดว่า The Child Runs Deep in Filibert จงใจเขียนส่งๆ เพื่อรับใช้หลักความสมมาตรเท่านั้น...ฮ่า...ฮ่า...

นี่คือมุขตลก ไร้สาระ/เหนือจริง ซึ่งเป็นสไตล์ของ Ferdydurke ถ้าชอบก็แล้วกันไป ถ้าไม่เก็ต ก็อย่าอ่านแต่แรกเลยดีกว่า

ที่บอกว่า "จนด้วยคำพูด" หมายถึง "ไม่รู้จะวิเคราะห์ ประเมินค่า" นิยายเล่มนี้อย่างไร นเมื่อจุดประสงค์ของกอมโบวิชคือ "ตบหน้าผู้อ่าน" (โดยการนำเสนอเหตุการณ์ไม่สมเหตุสมผล เหตุการณ์แล้ว เหตุการณ์เล่า) อะไรๆ ก็เป็นไปได้ทั้นนั้นในงานเขียนลักษณะนี้ กระนั้นก็ต้องยอมรับว่ากอมโบวิชตบหน้าเราอย่างมีศิลปะ ในความไร้สาระ/เหนือจริงของมัน ก็ใช่ว่าจะจับความคิด ธีมอะไรไม่ได้เลย ทั้งสามส่วนของนิยาย พูดถึงความคิด ความเชื่อสองประการซึ่งตรงกันข้าม ขัดแย้งกัน ความใสซื่อ/ความเจนจัด ความทันสมัย/ความล้าหลัง และ บ่าว/นาย เป้าหมายของผู้เขียนไม่ใช่เลือกข้าง แล้วถกเถียง ให้น้ำหนักกับฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง แต่แสดงให้เห็นความไร้สาระ ของการต่อสู้ระหว่างสองความคิดนี้

ช่วงแรก นักเรียนในโรงเรียนแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ทะเลาะเบาะแว้ง ซึ่งสุดท้ายลงเอยใน "สงครามปั้นหน้า" โดยมีนักการศึกษาคอยดูอยู่ข้างๆ ในช่วงสอง พระเอกของเรื่อง โจอี หลงรักสาวน้อยนักเรียนทันสมัย ผู้เติบโตในครอบครัวทันสมัย ทุกคนในบ้านหลังนี้มองเขาเป็นคนล้าหลัง และทรมานเขาทางจิตใจด้วยวิธีต่างๆ นานา ช่วงสุดท้าย โจอี และเพื่อนนักเรียน นีดัส ไปเยี่ยมครอบครัวของโจอี้ และได้พบนาย และบ่าว และสิ่งที่พวกเขาปฏิบัติต่อกันในคฤหาสน์หลังนี้

ยอมรับเลยว่า Ferdydurke เป็นงานเขียนแนวนี้ที่มีเสน่ห์ อ่านสนุกเพลินๆ ด้วยอารมณ์ขันแปลกๆ ถึงแม้เราจะไม่ใช่แฟนนิยายแนวนี้ แต่ก็ยังติดตามจนจบ เผลอๆ อาจจะชอบมากกว่าผลงานของคาฟคาด้วยซ้ำ

จนกว่าเราจะพบกันอีก (ศรีบูรพา)



รักคือการ...(เติมคำในช่องว่าง)

มีความคิดหลายอย่างของคุณกุหลาบที่เราไม่เห็นด๊วย...ไม่เห็นด้วย แต่ระหว่างที่อ่าน จนกว่าเราจะพบกันอีก ก็ไม่ได้รู้สึกต่อต้านความคิดเหล่านี้นัก คงเพราะ ไม่ว่ามันจะเชย หรือผิดสักแค่ไหน แต่อย่างไรนี่ก็คือหนังสือที่เขียนตั้งแต่ปี 2443 ถ้าคุณกุหลาบจะเป็นคนไทยคนแรกที่เขียนว่า "รักคือการให้" เราจะไม่แปลกใจแม้แต่น้อย

เราจึงคิดได้ว่า บางทีสาเหตุที่เราต่อต้านความคิดเชิงอุดมคติ อาจไม่ใช่เพียงเพราะเราเห็นว่ามันผิด แต่เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นคำพูดที่จดจำกันมาปากต่อปาก มากกว่าจะมาจากการใคร่ครวญส่วนบุคคล ภาษา และการเรียบเรียงอักษรของคุณกุหลาบมีลักษณะซึ่งติดตรึงเรา ถึงแม้ จนกว่าเราจะพบกันอีก จะไม่ใช่นิยายที่ดีเลิศอะไรนัก (ไม่ดีเท่า ข้างหลังภาพ ไม่ต้องพูดถึงอาจารย์มนัส นักเขียนรุ่นเดียวกัน) ถึงแม้ความคิดจะตกยุค พ้นสมัย แต่ความจริงใจในการนำเสนอ ก็ทำให้ จนกว่าเราจะพบกันอีก เป็นหนังสือที่เรากล้าชักชวนให้คนอื่นมาอ่าน แบ่งปันความเชยกัน

พูดถึงโจทย์ที่ตั้งไว้ตอนแรก เราว่า รักไม่ใช่การให้หรอก แต่ "รักคือความสุขอันเกิดจากการให้"

เชยไหม? ^^

I. Murdoch's "Bruno's Dream"


ผ่านไปประมาณร้อยกว่าหน้า ครึ่งทางของ Bruno's Dream เกิดเหตุการณ์น่าพิศวง เมื่อไมล์พบกับบิดาไม้ใกล้ฝั่ง หลังจากห่างหายกันมาหลายสิบปี ผู้อ่านเช่นเรา และไมล์เพิ่งตระหนักเป็นครั้งแรกว่าอาการป่วยแปรเปลี่ยนบรูโนให้อัปลักษณ์ จนแม้แต่ลูกชายแท้ๆ ยังหวาดกลัว จดจำไม่ออก ที่น่าพิศวงเพราะหลายบทก่อนหน้านั้นเป็นการเล่าเรื่องผ่านสายตาบรูโน ผู้อ่านรู้สึกเหมือนได้สนิทชิดเชื้อ รู้จักความคิด ความอ่านตัวละคร กระทั่งนิสัย อดีต เราก็ได้อ่านอย่างทะลุประโปร่ง แท้จริง กลับไม่ทราบเรื่องพื้นฐานสุด อย่างใบหน้าค่าตา

นั่นคือหนึ่งในความมหัศจรรย์ของนิยาย ที่การตีความเป็นภาพยนตร์ หรือละครใดๆ ก็ตาม คงไม่อาจทดแทนกันได้

น่าเสียดายที่นอกจากวินาทีนั้น Bruno's Dream จัดเป็นนิยายที่เฉยมากๆ ชอบอยู่อย่างตรงมันไม่ยาวดี นี่คือผลงานยุคกลางของเมอดอช พัฒนาจากผลงานในช่วงแรก ก่อนจะกลายมาเป็นสุดยอดนิยายในยุคหลัง เราเห็นการทดลองเล่นกับตัวละคร Bruno's Dream มีหลายอย่างคล้ายคลึงกับ A Severed Head คือผู้เขียนจับตัวละครหกตัวมากระทบกระทั่งกัน ประหนึ่งลูกแก้ว (ที่ทำจากแก้วจริงๆ ) หกลูกประสานงา (ในที่นี้หมายถึงการตกหลุม และเลิกรัก เช่นเดียวกับนิยายเล่มอื่นๆ ตัวละครกระทำสองกิจกรรมดังกล่าวเป็นว่าเล่น) ช่วงสอง สามบทสุดท้ายถึงค่อยเป็นการผสานรอยแตกรอยหัก ของลูกแก้วทั้งหก สำหรับผลงานยุคนี้ เรารู้สึกว่าเมอดอชใจดีกับตัวละครมาก นอกจากไดอานา และไนเจลแล้ว ส่วนใหญ่ก็มีชีวิตสุขสมกับคู่ของตัวเอง กระทั่งบทลงเอยของทั้งคู่ก็ไม่เลวร้ายเกินไปนัก ถ้าเทียบกับโศกนาฏกรรมของตัวละครยุคหลัง

ไม่ได้ซาดิส อยากกลั่นแกล้งตัวละคร แต่ก็ต้องยอมรับว่าความพยายามผูกปม จับคู่ให้ใครต่อใครทำให้นิยายดูไม่หนักแน่น (ยังกับการ์ตูนญี่ปุ่นที่สุดท้ายทุกคนต้องมีคู่รัก) อย่างน้อยๆ ก็ทำให้ความเป็น "บทละครคุณธรรม" ของมันอ่อนลง (เพราะจะตัดสินได้อย่างไรว่าใครดี ใครเลว ผู้เขียนเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับการกระทำของใคร ในเมื่อท้ายสุดก็เหมือนทุกคนจะสุขสมไม่ต่างกันมาก)

ถึงจะไม่ได้ชอบเป็นพิเศษ แต่ก็ยอมรับว่ามันสมบูรณ์กว่าผลงานยุคแรกชิ้นอื่น (ยกเว้นเรื่องเดียวคือ Under the Net) ยิ่งเมื่อเปรียบกับ A Severed Head แล้ว Bruno's Dream ลงตัวกว่า เมอดอชเป็นหนึ่งในนักเขียนที่ยิ่งเขียนก็ยิ่งเก่ง ซึ่งก็ไม่แปลกใจเลยที่ The Sea, The Sea ของขวัญที่เธอทิ้งไว้ให้แก่มนุษยชาติ จะเป็นเล่มเกือบๆ สุดท้าย

J. Walter's "The Zero"


เผลอๆ The Zero อาจเป็นนิยายเกี่ยวกับการลืมที่ดีที่สุด ที่กุนเดระไม่ได้เขียน เรมี ตัวเอกของ The Zero เป็นโรคคล้ายๆ กับลีโอนาด พระเอกภาพยนตร์เรื่อง Memento ขณะที่ลีโอนาดมีความทรงจำระยะสั้น เรมีเหมือนใช้ชีวิตอยู่ในร่างของอีกคนหนึ่ง โดยความทรงจำขาดหายเป็นห้วงๆ พูดให้ถูกคือ ตัวตนของเรมีซึ่งเล่าเรื่องนี้ให้เราฟัง อาจเป็นห้วงที่ขาดหายไปของฝาแฝดวายร้ายที่กระทำเรื่องไม่ดีต่างๆ นานา ให้ตัวเอกต้องมารับกรรมก็ได้ เรมีเป็นอดีตตำรวจ รับผิดชอบการสืบสวนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย 9/11 เขาพบรักกับเอพริล พี่สาวของเหยื่อ 9/11 ซึ่งทางการเชื่อว่ายังมีชีวิตอยู่ แต่ขณะเดียวกัน ทุกครั้งที่เรมีวูบไป เขาลืมตาตื่นมาพบตัวเองแก้ผ้าอยู่กับนิโคล เจ้านายของเอพริล

The Zero คือนิยายเสียดสีสังคมยุคใหม่ และวัฒนธรรมความจำสั้น ผู้คนเติบโตมากับการเปลี่ยนช่องโทรทัศน์ด้วยรีโมต พวกเรากระโดดจากโลกหนึ่ง ไปยังอีกโลกหนึ่งในชั่วแวบ และสามารถปรับตัวเข้ากับโลกใหม่อย่างสะดวกโยธิน ผลก็คือในชีวิตจริง หลายครั้งเราสงสัยว่ากำลังทำอะไร มาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร และขาดสำนึกรับผิดชอบต่อการกระทำ สุดท้ายก็แยกไม่ออก ว่าสิ่งไหนคือผลจากการกระทำของเราเอง สิ่งไหนซึ่งเรารับฝากมาจาก "ฝาแฝดวายร้าย" ขณะเดียวกัน ในทางการเมือง ก็หมายถึงระบบประชาธิปไตย และการเลือกตั้งที่ต้องเปลี่ยนรัฐบาลทุกสี่ปี แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ปัญหาต่างๆ มันต่อเนื่อง ไม่ได้ถูกลืมเลือน เริ่มต้นใหม่ทุกสี่ปีเสียที่ไหน

กระนั้นการที่เราลืมเลือนทุกอย่าง และใช้ชีวิตอยู่แต่ในปัจจุบัน ก็อาจเป็นกุญแจแห่งความสุขได้เช่นกัน มีบางขณะที่เรมีเองตระหนักความจริงข้อนี้ แต่วอลเตอร์ ผู้เขียนไม่ได้ให้ความสำคัญกับแง่มุมนี้เท่าไหร่นัก โดยรวมก็เลยเหมือนกับนิยายเล่มนี้พูดถึงการลืมเลือนในแง่ลบเสียมากกว่า

ไม่รู้เป็นอย่างไร กับ Ragtime ก็หนหนึ่งแล้ว ระยะหลังชอบนิยายที่มันแตกกระจาย เป็น fragmentๆ แบบนี้ ตอนแรกคิดว่าจะน่าเบื่อ เพราะมันไม่ได้มีเนื้อเรื่องหลักชัดเจนให้เราติดตาม แต่ที่ไหนได้ กับ 320 หน้าของ The Zero พูดได้เต็มปากเลยว่า ไม่มียาวไปแม้สักหน้าเดียว ยกผลประโยชน์เต็มๆ ให้ภาษาเขียน และการสร้างสรรค์ฉาก เหตุการณ์ ตัวละครของวอลเตอร์

G.K. Chesterton's "The Man Who Was Thursday"


"Bad is so bad that we cannot but think good an accident; good is so good that we feel certain that evil could be explained."

G.K. Chesterton

ประโยคข้างบนคือหัวใจของ The Man Who Was Thursday นิยายบางเล่ม อ่านจบแล้วเรารู้สึกว่ามันดีมากๆ ส่วนนิยายบางเล่ม พูดได้คำเดียวว่า "มหัศจรรย์" The Man Who Was Thursday คือตัวอย่างหลัง ในแง่ genre มันเป็นได้ทุกอย่างตั้งแต่นิยายนักสืบ นัวร์ เสียดสีการเมือง ตลกโปกฮา สัจนิยมมายา ปรัชญาวิเคราะห์ ยาสมานบาดแผลทางจิตใจของเหล่าผู้โศกเศร้าโศกาในโลกอนาธิปไตย

ซิม นายตำรวจปลอมตัวเข้าไปในองค์กรก่อการร้าย และได้รับเลือกเป็นผู้บริหารระดับสูงมีฉายาว่า "วันพฤหัส" ในหมู่ผู้บริหารทั้งเจ็ด มีชื่อเรียกตามวัน ตั้งแต่จันทร์ ถึงเสาร์ และ "วันอาทิตย์" คือหัวหน้าองค์กร บุรุษลึกลับผู้เป็นทั้งพระเจ้า และปีศาจในคราเดียว

ถึงเรื่องย่อจะฟังเหมือนนิยายนักสืบ แต่สิ่งที่เชสเตอตันต้องการนำเสนอ ห่างไกลจากนิยายแนวนั้นหลายขุม ตั้งแต่มุกตลกฮากลิื้งสอดแทรกเป็นระยะ จนถึงช่วงท้ายๆ ที่นิยายถูกพลิกกลับหัวเป็นหาง หรือถ้ายกคำพูดของซิม ทุกอย่างมันกลับหัวเป็นหางมาตั้งแต่ต้น นี่ต่างหาก การที่โลกเอียงๆ นั้นถูกจับตั้งตรงเป็นครั้งแรก

เราไม่แปลกใจเลย ถ้าใครอ่าน The Man Who Was Thursday แล้วรู้สึกต่อต้านมันมากๆ ท้ายสุดนี่คือนิยายซึ่งกระโดดข้าม genre ไปมา ถ้าได้มีโอกาสอ่านมันจริงๆ คำแนะนำคืออย่าไปคิดถึง The Big Sleep, The Maltese Falcon นิยายนัวร์เล่มอื่นๆ หรือนิยายสายลับ สุดเลิศอย่างเจมส์ บอนด์ นิยายที่ The Man Who Was Thursday ใกล้เคียงมากที่สุดกลับเป็น The Little Prince

ดาบลาวยาวแดง


ช่วงนี้เขียนนิยายนักสืบอยู่ครับ อาจจะห่างหายกันไปบ้าง เพราะต้องเขียนนิยายนักสืบ ก็เลยตะบันอ่านแต่นิยายนักสืบ จริงๆ แต่ไหนแต่ไร นอกจากหนังสือที่หยิบมาเล่าในบลอคนี้ ผมก็อ่านนิยายนักสืบควบคู่กันมาตลอด แต่รู้สึกเหมือนขี้เกียจเขียนถึงนิยายพวกนี้ยังไงไม่ทราบ (เพราะว่ามันค่อนข้างตรงไปตรงมากระมัง) ช่วงนี้ที่อ่านแต่นิยายนักสืบ ก็เลยอาจไม่ค่อยมีอะไรใหม่ๆ

รักคนอ่านครับ

ปริศนา: ใครรู้บ้างว่า "ดาบลาวยาวแดง" แปลว่าอะไร