S. R. Fischer's "A History of Reading"


"โอ้ย! เงียบกันหน่อยได้ไหม หนวกหูเป็นห้องสมุดเชียวนะ!"

ถ้าสมัยนี้ได้ยินแม่บ้านไหนตะโกนบอกลูกๆ อย่างนี้ คนฟังคงต้องเลิกคิ้วด้วยความกังขาว่า "หนวกหูเป็นห้องสมุด" นี่มันอย่างไรหรือ แต่เชื่อหรือไม่ว่า เมื่อสามพันปีก่อน นี่คือคำอุปมาที่เราได้ยินกันหนาหูมาก ถ้าไปเดินแถวๆ หมู่บ้านของชาวแอสซิเรียน

เพราะการอ่านอย่างที่คนปัจจุบันอ่านกัน "อ่านในใจ" (silent reading) เป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างใหม่ มีอายุแค่พันปีกว่าๆ เทียบกับเมื่อตัวอักษรถือกำเนิดขึ้นมาครั้งแรกในโลก การอ่านในยุคดึกดำบรรพ์หมายถึงการจารึกเสียงลงแผ่นหิน หรือแผ่นกระดาษ เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานชั่วนาตาปี หรือส่งข่าวระยะไกล ดังนั้นการอ่านจึงหมายถึง "อ่านออกเสียง" เท่านั้น ตอนที่พระเจ้าอเลกซานเดอร์รับสานส์กลางสนามรบ พระองค์เปิดอ่านมันเงียบๆ เล่นเอาทหารทั้งกองทัพมองด้วยความชื่นชม เมื่อหนังสือคือการจารึกเสียงพูด ดังนั้นคงไม่มีสถานที่ไหนอีกแล้วจะเอะอะมะเทิ่งไปกว่าห้องสมุด

A History of Reading พูดถึงพัฒนาการของการอ่านตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ จนมาเป็นการอ่านอย่างในปัจจุบัน จากมุมมองทางประวัติศาสตร์ และมานุษยวิทยา ความแตกต่างระหว่างการอ่านออกเสียง และอ่านในใจ เป็นแค่ตัวอย่างเดียวเท่านั้น เราเห็นผลกระทบของวิวัฒนาการในแต่ละด้าน เช่นเมื่อชาวอียิปต์คิดค้นกระดาษปาปิรัสขึ้นมา พวกเขาสามารถจารึกตัวหนังสือลงแผ่นกระดาษที่มีน้ำหนักเบากว่าแผ่นดินปั้น ซึ่งเอื้อต่อการอ่านคนเดียว หรืออ่านในใจ

เมื่อการอ่านกลายเป็นกิจกรรมส่วนตัว (เทียบกับการอ่านออกเสียง ซึ่งเป็นกิจกรรมของทั้งหมู่บ้าน) ก็หมายถึงการแยกกันอย่างชัดเจนมากขึ้นระหว่างพื้นที่ส่วนตัว และพื้นที่สาธารณะ ซึ่งก็คือกำเนิดของมนุษย์ยุคใหม่ (modern man) นั่นเอง รวมไปถึงการรุนให้ผู้คนอ่านออกเขียนได้มากขึ้น (เพราะไม่จำเป็นต้องอาศัย "นักอ่าน" ประจำหมู่บ้านอีกต่อไป) ซึ่งนำไปสู่กำเนิดของชนชั้นกลาง

ลองคิดดูแล้วกันว่าแค่การอ่านเฉยๆ โดยยังไม่ได้เจาะจงว่าอ่านอะไร ยังมีคุณขนาดนี้ แล้ววันนี้ล่ะ คุณอ่านหนังสือจบไปกี่เล่มแล้ว

V. Havel's "The Garden Party and Other Plays"


เคยดูละคร Žebrácká Opera (อุปราการยาจก) ของฮาเวลหนหนึ่ง สิ่งที่ประทับใจคือเทคนิกละคร วิธีบลอกกิ้ง ดนตรี หรืออากัปกิริยาของนักแสดง ซึ่งจงใจให้ดูเหมือนตุ๊กตาฟันเฟือง ละครทั้งเรื่องจึงมีคุณสมบัติคล้ายนาฬิกาเรือนใหญ่ ตอนนั้นคิดว่าเป็นทางเลือกของผู้กำกับ จนได้อ่านรวมบทละครของฮาเวล ถึงรู้ว่า "มนุษย์ฟันเฟือง" คือจุดเด่นของนักเขียวชาวเชคผู้นี้

ฮาเวลเป็นหนึ่งในนักเขียนที่ชีวิตมีสีสันสุด นอกจากจะเป็นนักต่อสู้ทางสังคมแล้ว ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นถึงประธานาธิบดีแห่งเชคโกสโลวาเกีย The Garden Party และ The Memorandum ต่างสืบทอดขนบมาจากแฟรงค์ คาฟคา ว่าด้วยเขาวงกตของระบบซึ่งทำลายความเป็นปัจเจค (อย่าง The Memorandum เกี่ยวกับภาษาพิเศษซึ่งถูกออกแบบเพื่อใช้เฉพาะในสถานที่ราชการ) อ่านแล้วสยองเลยว่าระบบเอกสาร ระบบราชการในเชคต้องวินาศสันตะโรมากๆ แน่ พอประธานาธิบดีฮาเวลได้ขึ้นมาบริหารประเทศ เขาจะจัดการอะไรกับปัญหานี้ได้หรือเปล่า

ฮาเวลชอบให้ตัวละครพูดจาซ้ำไปซ้ำมา ฉากหนึ่งๆ อาจถูกวนเวียนกลับมาเล่นใหม่เจ็ดแปดเที่ยว ความซ้ำซ้อนช่วยให้บทสนทนาธรรมดามีความหมายลึกซึ้งขึ้น และคนอ่านหรือคนดูจะรู้สึกเหมือนตัวเองติดอยู่ในเขาวงกตอันปราศจากทางออก The Garden Party เล่นกับความอึดอัดของคนอ่านอย่างชาญฉลาด ขณะที่เทคนิกคล้ายๆ กันนี้ กลับไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่นักใน The Increased Difficulty of Concentration

ที่เราชอบสุดในเล่มคือชุดละครสั้นสามเรื่อง Audience, Unveiling และ Protest ทั้งสามเรื่องมีตัวเอกคือเฟอร์ดินาน วาร์เนก นักเขียน และนักต่อสู้เพื่อสังคม (ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเขามีต้นแบบมาจากใคร) ทั้งสามเรื่องเกี่ยวเนื่องกันอย่างน่าสนใจ โดยการพูดถึงวาร์เนก และคนสามชนชั้น ตั้งแต่กรรมาชีพ กระฎุมพี และปัญญาชนตามลำดับ อ่านแล้ว ขำขื่นไปกับความขัดแย้งระหว่างกรรมาชีพผู้โง่เขลา และขี้อิจฉา กระฎุมพีผู้กลวงเปล่า และเหยียดหยาม และปัญญาชนผู้ขี้ขลาดตาขาว ไม่ใช่ง่ายๆ เลยจะนำคนทั้งสามประเภทนี้มาจับมือ สานสามัคคีกัน

ตอนนี้เรากำลังสนใจวาเควฟ ฮาเวลมากๆ (ว่าจะสั่งหนังสือชีวประวัติแกมาลองอ่านดู) ไม่ใช่เพียงเพราะเขาเคยเป็นประธานาธิบดีของประเทศบ้านเกิดมิดาน กุนเดระ แต่ไม่บ่อยนักที่นักเขียน จะเป็นนักปฏิบัติด้วย ใคร่รู้ยิ่งนักว่าฮาเวลนักการเมือง และฮาเวลนักเขียนจะเหมือนหรือแตกต่างกันสักแค่ไหน คนอย่างฮาเวล หรือคึกฤทธิ์ นักเขียนที่เป็นนักการเมืองด้วยนั้น มักจะมีแง่มุมบางอย่าง ซึ่งทำให้พวกเขาโดดเด่นกว่าเพื่อนร่วมอาชีพ (ทั้งสองอาชีพ) ทั่วไป

J. Fforde's "The Big over Easy"


หลบไปเลยเจ เค โรลลิ่ง! แจสเปอร์ ฟ์ฟอร์ดมาแล้ว!

ถ้าดูเทรนหนังฮอลลีวูดในตอนนี้ ที่กำลังมาแรงนอกจากยอดมนุษย์ (เอิ๊ก!) ก็คือหนังที่สร้างมาจากนิยายตอนๆ ตั้งแต่ Harry Potter, His Dark Material จนมาล่าสุดก็ Twilight ถ้าเทรนนี้ยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เป็นไปได้สูงว่าสักวันเราจะได้เห็นนิยายของฟ์ฟอร์ด ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ อดใจรอวันนั้นไม่ไหวแล้ว!

ฟ์ฟอร์ดเป็นนักเขียนที่ชอบเล่นกับขนบของวรรณกรรม เราอยากเรียกนิยายชุดของเขาว่า Reading Man's Serial คือเป็นนิยายชุดสำหรับผู้รักการอ่าน และมีพื้นฐานทางวรรณกรรมกว่าคนปรกติ อย่างชุดเธิสเดย์ เนค ว่าด้วยแม่สาวกระดูกเหล็กเธิสเดย์ ที่มีความสามารถพิเศษในการกระโดดเข้าไปในหนังสือ เธอต้องต่อสู้กับเหล่าร้ายที่มีเป้าหมายเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ในวรรณกรรม เช่นจับโอลิเวอร์ ทวิสเรียกค่าไถ่ หรือว่าช่วยให้โรเมโอ สมหวังกับจูเลียต

The Big over Easy คือนิยายเล่มแรกในชุดแจ็ค สแปรตต์ สแปรตต์เป็นนักสืบนิทาน ในโลกสมมติของฟ์ฟอร์ด ผู้คน และตัวละครในนิทานอาศัยอยู่ร่วมกัน (ลูกเขยของสแปรตต์คือโพรเมเทียส เทพเจ้าที่นำเปลวไฟมามอบให้กับมนุษย์) ภารกิจของสแปรตต์เช่น สืบคดีลูกหมูสามตัวสังหารหมาป่า ต้มตุ๋นปั่นด้ายเป็นทองคำ และฆาตกรโรคจิตมนุษย์ขนมปังขิง และคดีล่าสุดคือ มนุษย์ไข่ฮัมตีดัมตีตกลงมาจากกำแพงแหลกละเอียดเป็นชิ้นๆ นี่เป็นอุบัติเหตุ ฆ่าตัวตาย หรือว่าฆาตกรรม

ยังก่อนๆ ความสนุกของมันไม่ใช่แค่นี้ ในโลกสมมติของฟ์ฟอร์ด นักสืบทุกคนจะมี "คู่หู" ซึ่งนอกจากจะช่วยสืบคดีแล้ว ยังมีหน้าที่บันทึกการสืบสวน เพื่อนำเรื่องราวไปลงในนิตยสาร หน้าที่ของตำรวจ จึงไม่ใช่แค่ "to protect and to serve" แต่ยังต้อง to entertain ควบคู่กันไปด้วย ชาม คู่แค้นคู่กัดของสแปรตต์ จงใจเต้าหลักฐาน ปล่อยให้คนร้ายหลุดรอด เพียงเพื่อสร้างสีสัน เพิ่มความสนุกให้ผู้อ่าน

โลกของฟ์ฟอร์ดยังคงเป็นโลกที่ซับซ้อน และรุ่มรวยจินตนาการ (กว่าแค่มีพ่อมด หรือแวมไพร์) บางคนอาจบอกว่าซับซ้อนเกินไป วิธีเขียนของฟ์ฟอร์ดไม่ใช่จูงมือผู้อ่านจากหนึ่ง ไปสอง ไปสาม จากโลกธรรมดา ไปยังโลกแห่งจินตนาการทีละก้าวๆ แต่ฟ์ฟอร์ดจับพวกเราโยนเข้าไปตรงกลาง และในบทแรกๆ อัดข้อมูลที่เราไม่คุ้นเคย ประหนึ่งว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้ ก่อนค่อยๆ เผยไต๋ อธิบายทีละอย่างสองอย่าง

อ่านยากไหม อาจจะนะ แต่บอกแล้ว นี่คือ Reading Man's Serial ถ้าอยากอ่านง่ายกว่านี้ ก็กลับไปอ่านพ่อมดแม่มดเล่นไล่จับกันต่อก็แล้วกัน

I. Murdoch's "The Unicorn"


เกซคาสเซิล หรือคฤหาสน์ตาลอย อันเป็นฉากในนิยายเรื่อง The Unicorn ทำให้นึกถึงซีการ์ด คฤหาสน์อีกหลังของเมอดอช ทั้งสองแห่งอยู่ติดทะเล ใช้เป็นเรือนจำคุมขัง "สัตว์ประหลาด" (ในเรื่องแรกคือม้ามีเขา ส่วนเรื่องหลังคือผู้วิเศษ) The Unicorn เขียนก่อนหน้า The Good Apprentice เกือบยี่สิบสองปี ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเมอดอชมองเล่มหลังว่าเป็น อัพเกรดเวอร์ชันของเล่มแรกหรือเปล่า

The Unicorn ถูกเขียนขึ้นหลัง An Unofficial Rose ซึ่งทั้งสองเล่มนี้มีส่วนคล้ายกันมาก ต่างว่าด้วยผู้หญิงที่มีชีวิตอยู่เพื่อไร้ความสุข และไม่มีพระเอก หรือผู้ร้ายตนใดจะช่วยเหลือพวกหล่อนจากชะตาชีวิตตรงนี้ได้ ความรู้สึกเราที่มีต่อสองเล่มนี้คล้ายๆ กันคือ "ดี แต่ไม่สุด อย่างน้อยๆ ก็ไม่ได้ยาวจนน่าเบื่อ" ในทางกลับกัน อาจพูดได้ว่าจุดด้อยสุดของ The Unicorn ก็คือมัน "สั้นเกินไป" นี่เอง

ใครที่ติดตามรักชวนหัวเป็นประจำ จะรู้ว่า "สั้นเกินไป" เป็นวลีที่เราไม่ค่อยนำมาใช้วิจารณ์หนังสือเล่มไหน โดยเฉพาะหนังสือของเมอดอช (เพราะเดมมีแนวโน้มเขียนหนังสือยาวเกินสี่สาห้าร้อยหน้า) ช่วงแรกของ The Unicorn น่าเบื่ออย่างเข้าใจได้ว่าเป็นการปูพื้นตัวละคร แต่พอถึงร้อยหน้าสุดท้าย (ทั้งเล่มยาว 269 หน้า) เหตุการณ์สำคัญถูกยิงปึกๆ ๆ เข้ามาชนิดคนอ่านไม่ทันได้เตรียมตัวว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร และส่งผลอย่างไรบ้างต่อตัวละคร ไม่เคยอ่านนิยายของเมอดอชเล่มไหนแล้วรู้สึกถูกกระชากออกจากหนังสือรุนแรงเท่านี้มาก่อน (ยกเว้น The Sacred and Profane Love Machine ซึ่งเล่มนั้นจงใจ)

ในทางกลับกัน ถ้ามันยาวกว่านี้ จะดีไหม อาจจะไม่ก็ได้ สูตรสำเร็จของเมอดอชที่จับเอาตัวละครหลายๆ ตัวมาคนรวมกันในหม้อเดียวไม่ออกมาอร่อยเท่าที่ควร ตัวเอกสองคนได้แก่เมเรียม และเอฟฟิง เปิดนิยายมา เมเรียมรับงานเป็นครูสอนพิเศษให้แฮนนา หรือม้ามีเขาแห่งคฤหาสน์ตาลอย เธอคือคนนอกที่โผล่เข้ามาในนิยาย และได้เรียนรู้เบื้องหลัง และความลับของคนที่อาศัยอยู่ในคฤหาสน์ แต่ละคน ถ้าไม่ได้มีบทบาทเป็นพัสดี คอยลงโทษ และกุมขังแฮนนา ก็คือผู้อยู่รายล้อมเธอ เพื่อช่วยเหลือหญิงสาวให้หลบหนีออกจากคฤหาสน์ ส่วนเอฟฟิงคือผู้ชายที่หลงรักแฮนนา และพยายามทำทุกวิธีทางที่จะลักพาเธอออกไปให้ได้ ศัตรูของทั้งสองคือเจอราล บุรุษปริศนา เพื่อนสนิทของปีเตอร์ สามีของแฮนนา ปีเตอร์คั่งแค้นหญิงสาว และกักขังเธอไว้ในคฤหาสน์ตาลอย โดยฝากกุญแจไว้กับเจอราล

ฟังอย่างนี้เหมือนจะสนุก จริงๆ แล้ว The Unicorn เป็นนิยายที่จะเขียนให้สนุกก็คงไม่ยาก มันคือตัวอย่างชั้นดีของ the fantastic uncanny เรื่องเหนือธรรมชาติที่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุและผลทางสามัญสำนึก เมอดอชต้องการเขียนนิยายเรื่องนี้ให้ออกมากึ่งแฟนตาซี เป็นสงครามระหว่างสองฝ่ายที่ต่อสู้กันด้วยเวทมนต์ทางจิตวิทยา

ในอนาคตข้างหน้า เมื่อเราหวนกลับมาอ่านนิยายของเมอดอชเป็นรอบสอง The Unicorn จะเป็นผลงานที่เราให้ความสนใจเป็นพิเศษ ว่าตรงไหนกันแน่ที่ทำให้มันล้มเหลว นี่คือเล่มที่เราชอบน้อยสุดรองมาจาก Jackson's Dilemma และ The Green Knight

J. P. Sartre's "What is Literature?"


ช่วงปีที่แล้ว กูรูวรรณกรรมถกเถียงกันว่าควรเปลี่ยนกติกาการประกวดซีไรต์ดีหรือเปล่า โดยรวมเอาทั้งสามประเภทเข้าด้วยกันในแต่ละปี ได้แก่กวี นิยาย และเรื่องสั้น (ซึ่งถ้าเป็นตอนนี้ ก็คงต้องผนวกสารคดีเข้ามาด้วย) สาเหตุคือกูรูเชื่อว่าระบบ "ฤดูกาล" ของซีไรต์ได้ทำลายวัฒนธรรมการเขียน การอ่านในเมืองไทย โดยจำกัดให้เฉพาะแต่ละปีมีงานเขียนรุมๆ กันออกมาชนิดเดียว ซึ่งเป็นเหตุผลที่พอเข้าใจได้นะแต่...

ไม่มีบรรทัดฐานใดในโลกนี้จะเอาร้อยกรอง หรือกวีนิพนธ์มาตัดสินรวมกับงานเขียนร้อยแก้วเช่นนิยาย หรือเรื่องสั้นได้ จบข่าว หมดเรื่องถกเถียง ใครไม่เห็นด้วยกับประโยคที่เน้นตัวหนา คุณผิด ประตูอยู่ทางโน้น!...โอเค คุณอาจจะไม่ผิด แต่อย่างน้อย ฌอง ปอล ซาร์ตก็ไม่เห็นด้วยกับคุณคนหนึ่งล่ะ

ถ้าสมซาร์ตฟังภาษาไทยรู้เรื่อง และได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในวงถกเถียงขอกูรู แกคงพูดว่า "ถ้าอย่างนั้นก็เอาซีไรต์ไปรวมกับสุพรรณหงส์เลยไหม แล้วก็อัดสีสันอวอร์ด กับอะแคเดมีแฟนเตเซียเข้าไปด้วยนะ" เพราะสำหรับสมซาร์ต ร้อยกรอง และร้อยแก้วอยู่ห่างไกลกันพอๆ กับร้อยกรอง และภาพยนตร์ ดนตรี หรือถ้วยชามรามไห

กวีคือผู้อยู่ "นอกภาษา" สร้างงานศิลปะด้วย "คำ" หน้าที่ของกวีคือทำให้ผู้เสพมองเห็นธรรมชาติของคำ และอภิเชษฐ์มัน ในแง่นี้ กวีจึงคล้ายกับนักดนตรี (ผู้สร้างศิลปะจาก "เสียง") หรือจิตรกร (ผู้สร้างศิลปะจาก "สีและเส้น") ส่วนนักเขียนคือผู้อยู่ "ในภาษา" สร้างศิลปะด้วย "ความหมาย" ร้อยแก้วไม่ได้เล่น "คำ" แต่เล่น "ความหมาย"

ตัวอย่าง: "ตื่นได้แล้ว!" ในรูปข้างบน ใช้วิชวลเทคนิค ทำให้ "คำ" สามคำมีคุณสมบัติเป็นศิลปะ เป็นบทกวีขึ้นมา แต่ "ตื่นได้แล้ว!" ต่อเห็นสักอยู่บนหน้าท้องสาวเอวลอย ก็ไม่อาจกลายเป็นร้อยแก้ว หรือศิลปะของ "ความหมาย" ไปได้

ดังนั้นรางวัลวรรณกรรมจึงไม่อาจเอางานเขียนสองประเภทนี้ ซึ่งใช้สื่อต่างชนิด มาตัดสินรวมกัน จบข่าว...เดี๋ยวจะพาสมซาร์ตไปเลี้ยงแชมเปญสักแก้ว

ชอบช่วงต้นของ What is Literature? มาก เพราะมันตอบโจทย์ และข้อถกเถียง ซึ่งเราได้ยินมาบ่อยๆ ในพักหลัง แต่ใจความหลักของหนังสือเล่มนี้ อยู่ตรงประวัติศาสตร์ของวรรณกรรมยุโรป จากมุมแบบมาร์กซิส ยอมรับว่าอ่านไปก็แอบเบื่อไปอยู่เหมือนกัน ในสายตาเรา ทฤษฎีมาร์กซิสที่เอะอะก็อ้างชนชั้น อ้างศักดินา กรรมาชีพ และกระฎุมพี ดูโบราณไม่ตามสมัยยังไงชอบกล แต่อ่านไปได้สักพัก อุทานว่า เอ้ย! ตกลงนี่มันซาร์ต หรือสมซาร์ตกันแน่วะ ทำไมประวัติศาสตร์วรรณกรรมยุโรป มันแทบไม่แตกต่างอะไรจากประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทยเลย

สมซาร์ตวิเคราะห์หนังสือ ในฐานะที่มันเป็นตัวกลางระหว่างผู้เขียน และผู้อ่าน แกไม่เชื่อว่ามีงานเขียนใดที่ปราศจากผู้อ่านโดยสิ้นเชิง เพราะต่อให้เป็นหนังสือที่ขายไม่ออก แต่อย่างน้อยระหว่างที่เขียน ผู้ประพันธ์ก็ต้องคิดถึง "ผู้อ่านในอุดมคติ" ไว้บ้าง ทฤษฎีของสมซาร์ตสามารถนำมาวิเคราะห์วรรณกรรมไทย ได้ตั้งแต่สมัยสุนทรภู่ จนถึงยุคสุภาพบุรุษ ยุค "หล่มเพื่อชีวิต" กระทั่งวรรณกรรมแนวเหนือจริงนิยม (หรือ "หลังสมัยใหม่") รวมถึงวรรณกรรมปัจเจกชนชั้นกลางก็ยังหนีไม่พ้นทฤษฎีที่ว่า What is Literature? แสดงให้เห็นถึงอำนาจของพลังประวัติศาสตร์ที่สามารถทะลุกำแพงเวลา ระยะทาง และวัฒนธรรม

ส่วนที่น่าสนใจสุดคือซาร์ตพูดถึงวรรณกรรมฝรั่งเศสช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ว่าเป็นจุดสิ้นสุดของอุดมคติสำเร็จรูป ไม่ว่าจะเป็นทุนนิยม สังคมนิยม หรืออำนาจนิยม และนักเขียนต้องค้นหาอุดมคติ และทางเลือกใหม่เอาเอง ซึ่งมันบังเอิญตรงกับวิกฤติการเมืองไทยอย่างน่าอัศจรรย์ใจ วาทกรรมหลักของสังคมไทยกำลังถูกสั่นคลอนอย่างไม่เคยมีมาก่อน และภายในปีสองปีนี้ ถ้าเราไม่เติบโตไปข้างหน้า สลัดความคิดคร่ำครึ เมื่อนั้นก็แปลว่าวรรณกรรมไทยสิ้นหวัง ตก "หล่มเพื่อชีวิต" จนต่อให้ปรับเปลี่ยนกติกาซีไรต์สักแค่ไหน ก็คงช่วยเหลืออะไรไม่ได้อีกแล้ว

โต้ "สังคมไทยหลังยุคขบวนการพันธมิตร"


แม้เราจะไม่เห็นด้วยกับใจความหลักของสังคมไทยหลังยุคขบวนการพันธมิตร แต่คำถามว่าคนไทยจะไปไหนต่อภายหลังวิกฤติการเมืองนี้ ก็วนเวียนอยู่ในหัวเรามาตลอด จึงอยากขออนุญาตนำบทความของคุณศรีพงศ์มาย้อนแย้ง และต่อยอด พูดถึงสังคมไทยในอนาคตอันใกล้ หรือบทเรียนอะไรที่เราได้รับในช่วงสามสี่ปีให้หลัง

คุณศรีพงศ์พูดถึงคุณูปการของกลุ่มพันธมิตร ซึ่งก็คือการสร้างกระแส "การเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของขบวนประชาชนที่ต้องการปลดปล่อยตัวเองจากการครอบงำของผู้ใช้อำนาจรัฐ" ซึ่งนำไปสู่การต่อสู้ระดับรากหญ้าอื่นๆ เช่น "การลุกขึ้นทวงถามต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ และบรรดานักการเมืองของกลุ่มเกษตรกรหรือกลุ่มชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ " โดยสรุปก็คือพันธมิตรทำให้ "ผู้ปกครอง ไม่ว่าจะเป็นเหล่านักการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่อาจจะทำอะไรตามอำเภอใจ...ได้อีกต่อไป"

คุณศรีึพงศ์คงตระหนักถึงข้อโต้แย้ง จึงเสริมไว้ด้วยว่า "หลายคนอาจบอกว่าการเรียกร้องเหล่านี้ก็มีมานานแล้ว ใช่ว่าเพิ่งจะเกิดหลังจากมีขบวนการพันธมิตร แต่หากย้อนไปทบทวนการเคลื่อนไหวทั้งทางปริมาณและคุณภาพแล้วจะพบว่ามีหลายสิ่งเปลี่ยนไป" ซึ่งข้อโต้แย้งนี้ก็เป็นเหตุและผลหลักที่เราอยากนำมาพูดถึงในบทความนี้ แน่นอนว่าอะไรคือ "ความเปลี่ยนแปลงในเชิงปริมาณ และคุณภาพ" คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักสถิติ นักสังคมศาสตร์ ไปวิเคราะห์ข้อมูลกันต่อว่าประเทศไทยก่อนและหลังปี 2550 มีการต่อสู้ของประชาชนมากขึ้น หรือน้อยลงเพียงใด เราไม่ทราบคำตอบ และเนื่องจากคุณศรีพงศ์ไม่ได้หยิบยกหลักฐานมาประกอบด้วย เราจึงขอสมมติแล้วกันว่าคุณศรีพงศ์เองก็คงไม่ทราบคำตอบแน่ชัด

ตรงข้ามกับคุณศรีพงศ์ เรากลับมองว่าการลุกฮือของประชาชนคู่กับประชาธิปไตยไทยมาตั้งแต่ครึ่งศตวรรษที่แล้ว ด้วยนิสัยของคนไทยเป็นขบถเงียบ ไม่ยอมรับผู้ที่อยู่เหนือกว่า และพึงใจนิดๆ เมื่อได้ทำอะไรนอกกฎหมาย ประกอบกับการถูกปลูกฝังว่า "นักการเมือง และผู้มีอำนาจ (ในระบอบ) เลวทุกคน" เมื่อเราไม่พอใจรัฐบาล ก็จะออกมาประท้วงกัน (ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจจำกัดอยู่เฉพาะชนชั้นกลาง เหมือนวลีอมตะที่ว่า "ชาวชนบทเลือกรัฐบาล ชาวเมืองขับไล่รัฐบาล") ในมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่ง ซึ่งภาคภูมิใจในยอดโดมโคมประทีปของความเป็นประชาธิปไตย เมื่อนักศึกษาไม่พอใจร้านค้าในโรงอาหาร สิ่งที่พวกเขาทำคือ "ลุกขึ้นมาประท้วง" (แทนที่จะปล่อยให้กลไกตลาดทำหน้าที่ของมัน)

เราจึงอยากสรุปว่าพันธมิตรไม่ใช่ต้นกำเนิดของการขับไล่ผู้มีอำนาจ แต่เป็นพยาธิสภาพของความเข้าใจผิดว่าประชาธิปไตยคืออะไรในสังคมไทย (ด้วยเหตุนี้ขบวนการพันธมิตรจึงเป็นศูนย์รวมพยาธิสภาพของโรคอื่นๆ เช่นการใช้วาจาหยาบคายสร้างความจงเกลียดจงชัง พฤติกรรมแฉเรื่องส่วนตัว หรือการเล่นไสยศาสตร์งมงาย)

ถ้าพันธมิตรจะมีคุณูปการต่อระบอบประชาธิปไตยไทย น่าจะมาจากการตั้งคำถามมากกว่าว่า "อะไรคือการเมืองภาคประชาชน" นับแต่อดีตการเมืองภาคประชาชนถูกยกย่องให้เป็นยาวิเศษที่แก้ไขได้ทุกปัญหา แต่การเมืองภาคประชาชนคืออะไร กระทั่งใน การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย ของอาจารย์เสกสรรค์ ก็เหมือนอาจารย์จะไม่ได้เจาะลึกว่าส่วนประกอบของยาวิเศษนี้มีอะไรบ้าง นอกจากใช้เหตุผลครอบจักรวาลว่า เนื่องจากประชาธิปไตยในระบอบไม่สามารถตอบสนองทุกกลุ่มชน และรับประกันความขาวสะอาดของผู้นำได้ การเมืองภาคประชาชนจึงบังเกิดขึ้นมา

น่าสนใจว่าปกหนังสือ การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย เป็นรูปฝูงชนรวมตัวกันบนถนนราชดำเนิน ไม่ว่าปกนี้จะเป็นความตั้งใจของอาจารย์เสกสรรค์เองหรือไม่ แต่คล้ายทางสำนักพิมพ์สื่อกลายๆ ว่าการเมืองภาคประชาชนก็คือการชุมนุมประท้วงนี่เอง

ผู้ที่นิยามการเมืองภาคประชาชนได้อย่างชัดเจนสุดคืออาจารย์สุลักษณ์ ในบทสัมภาษณ์ อาจารย์พูดถึงการเมืองภาคประชาชนว่าต้องมาจากรากหญ้า อาจารย์มองว่าความผิดพลาดของขบวนการพันธมิตร ส่วนหนึ่งก็คือการละทิ้งรากหญ้า ซึ่งเป็นความผิดพลาดเดียวกันกับของคุณทักษิณ เราขออนุญาตต่อคำอาจารย์จากตรงนี้ไปว่า การเมืองภาคประชาชนต้องมาจากรากหญ้า และควรอยู่แค่ในระดับรากหญ้าเท่านั้น

สิ่งที่น่าสนใจพอๆ กับความสำเร็จของพันธมิตร (ในแง่การดึงดูดผู้คน ตั้งแต่ชนชั้นกลาง ถึงชาวชนบทบางภาค) คือความล้มเหลวเชิงนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 7 จนถึงสูตรการเมืองใหม่ ประการเดียวที่คนพวกนี้ทำเป็นคือต่อต้านสิ่งที่พวกเขาไม่เห็นด้วย แต่ไม่อาจกำหนดนโยบาย หรือสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ มาทนแทนได้เลย ส่วนหนึ่งเพราะขาด "กลุ่มมันสมอง" (เนื่องจากจากแกนนำระรานนักวิชาการไปทั่ว ถ้าไม่เห็นด้วยกับตน ก็จะลุกขึ้นมาประกาศกร้าว แฉนู่นแฉนี่) แต่ที่สำคัญกว่าคือด้วยความเป็นการเมืองภาคประชาชน (หรือเราอยากเรียกมันว่า "สุ้มเสียงของคนกลุ่มน้อย") คงไม่ยุติธรรม ถ้าจะให้คนกลุ่มนี้มากำหนดชะตาชีวิตของเสียงส่วนใหญ่ในประเทศ

พันธมิตรมีคุณูปการ เพราะคนเราสามารถเรียนรู้ และศึกษาได้จากตัวอย่างที่ไม่ดีพอๆ กับตัวอย่างที่ดี การเมืองภาคประชาชน และองกรณ์อิสระต้องอยู่คู่กับสังคมไทย และในอนาคตข้างหน้า ถ้าจะมีใครลุกขึ้นมาทำอะไรอย่างขบวนการพันธมิตรอีก ก็หวังว่าคงเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในวันนี้

R. Sorensen's "Philosophy and the Labyrinths of the Mind"


พีธากอรัส นอกจากจะมีชื่อเสียงในฐานะผู้ค้นพบกฎของสามเหลี่ยมมุมฉาก แกยังเป็นอาจารย์โต้วาที ใครที่อยากมีฝีปากคมกล้า ก็มาเรียนวิชาจากแก ลูกศิษย์ของพีธากอรัสคนหนึ่งอยากเป็นทนาย เขาทำสัญญากับอาจารย์ว่า เรียนจบเมื่อไหร่ ทันทีที่ว่าความชนะคดีแรก จะเอาเงินทั้งหมดที่ได้ให้พีธากอรัส ปรากฏว่าพอเรียนจบ ลูกศิษย์คนนั้นเกิดเปลี่ยนใจเอาดื้อๆ ไม่เป็นแล้วทนง ทนาย พีธากอรัสก็เลยไม่เคยได้เงินจากลูกศิษย์ นักปราชญ์ชื่อดังจึงตัดสินใจฟ้องศาล เขาบอกว่า ถ้าตัวเขาชนะคดี ลูกศิษย์ต้องจ่ายเงินตามคำสั่งศาล แต่ถ้าลูกศิษย์ชนะคดี ก็ต้องจ่ายเงินให้เขาอยู่ดี เพราะได้ชนะคดีตามสัญญาที่ว่าไว้ ปรากฎว่าพีธากอรัสสอนลูกศิษย์ดีเกินไป เขาตอบอาจารย์ไปว่า ถ้าเขาชนะคดี เขาก็ไม่ต้องจ่ายเงิน แต่ถ้าเขาแพ้ ตามสัญญาที่ว่า เขาก็ไม่ต้องจ่ายอยู่ดี

นี่คือตัวอย่างของ "ปริทรรศน์" หรือ paradox ที่ซอเรนเซนยกมารวบรวมไว้ในหนังสือเล่มนี้ ซอเรนเซนมองปรัชญาตะวันตก ตั้งแต่เพลโต อริสโตเติล ยันฮูม คาน เฮเกล จนถึงปรัชญาคณิตศาสตร์ของรัซเซล และเกมภาษาของวิกเกนสไตน์ ว่าเป็นผลพลอยได้ของการศึกษาปริทรรศน์

Philosophy and the Labyrinths of the Mind ทำให้เราได้มีโอกาสกลับมาทบทวนปริทรรศน์ของเซโนอีกรอบ (อาร์คิลิสวิ่งแข่งกับเต่า) ตอนที่อ่าน Memory and Matter ของเบิร์กสันก็เคยฟัดกับมันไปแล้วรอบหนึ่ง พอได้กลับมาอ่านทวนหนนี้ รู้สึกถ่องแท้มากขึ้น เราเข้าใจปัญหาของเซโน รวมถึงวิธีแก้ของอริสโตเติลโดยอ้าง "อนันต์ศักยภาพ" และ "อนันต์ที่แท้จริง" ด้วย

ทั้งนี้ทั้งนั้น นี่คือตัวอย่างของ "ปริทรรศน์การเรียนรู้" หรือเปล่า การเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ก็คือการที่เรารับเอา "ความจริง" เข้ามาไว้ในสำนึก แต่ถ้า "ความจริง" นั้นมันเป็นของใหม่ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันเป็นความจริง แต่ถ้าเรารู้ว่า "ความจริง" เป็นความจริง ก็แสดงว่ามันไม่ใช่ของใหม่อีกแล้ว ดังนั้นมนุษย์เราไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้เลย ถึงจะฟังดูเหมือนเกมภาษา แต่ถ้าตรองดีๆ จะพบว่ามนุษย์เราเรียนรู้อะไรได้ดีขึ้น ถ้าเราอ่านทวนมันเป็นรอบที่สอง หรือมีคนพูดสิ่งที่เราเคยได้ยินมา ให้ฟังอีกรอบ ขณะที่ความรู้ซึ่งใหม่เอี่ยมถอดด้ามจริงๆ เราจะไม่สามารถรับเข้ามาได้อย่างง่ายดายนัก

เราคิดว่าปริทรรศน์ส่วนใหญ่อิงอยู่กับจิตวิทยาของมนุษย์ ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็พวกภาพลวงตา เช่นในรูปข้างบน พื้นที่สีเขียวคือผ้าห่ม หรือท้องนา ปริทรรศน์นักโทษในทฤษฎีเกม อันเป็นหนึ่งในปริทรรศน์ที่มีชื่อเสียงสุด แต่ซอเรนเซนไม่ยักกล่าวถืง ก็คือตัวอย่างของกลไกทางจิตวิทยาที่ว่า แต่ขณะเดียวกัน เราก็ไม่อาจปฏิเสธปริทรรศน์ที่เป็นนามธรรมล้วนๆ ได้ เช่น "ประโยคนี้เป็นเท็จ"

Philosophy and the Labyrinths of the Mind ยังช่วยให้เราได้ใกล้ชิดกับเบอทราน รัสเซลเข้าไปอีกนิด รัสเซลเป็นนักปราชญ์ชาวอังกฤษ ผู้ได้รางวัลโนเบล ผลงานเด่นของเขาคือเรขาคณิตปริทรรศน์ รัสเซลเป็นขวัญใจวัยเด็กของสตีเฟน ฮอว์คกิง และเป็นนักปรัชญาคนแรกๆ ที่เรารู้จักชื่อ แต่แทบไม่เคยได้อ่านผลงานของหมอ หรือได้เห็นใครเอ่ยอ้างถึงมันเลย ลูกศิษย์ของรัสเซล วิกเกนสไตน์ดูจะมีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักมากกว่าเสียอีก

โดยรวมแล้วเป็นหนังสือที่น่าสนใจ และพลาดไม่ได้สำหรับใครก็ตามที่สนใจปรัชญาตะวันตก

D. Lessing's "The Grandmothers"


ตอนที่ดอริส เลซซิ่งได้รางวัลโนเบล เราทั้งดีใจ และแปลกใจ ดีใจเพราะเคยอ่านหนังสือของหล่อน "โดยบังเอิญ" (หยิบๆ มาจากกะบะลดราคา) และแปลกใจเพราะรู้สึกว่าเลสซิ่งมีผลงานน้อยมาก ถ้าไม่บอกมาก่อน จะไม่รู้เลยว่าเป็นนักเขียนดัง ตอนที่พยายามศึกษาอัตถิภาวนิยม เคยได้ยินคนพูดชื่อหล่อนในฐานะนักอัตถิภาวะนิยมหญิงแห่งศตวรรษที่ 20 แต่ทั้ง The Grandmothers และ The Fifth Child ไม่ได้มีแนวคิดอัตถิภาวนิยมเด่นชัดอะไร กลับรู้สึกว่าเลซซิ่งสนใจนิยามของความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวมากกว่า (ว่ากันว่าถ้าอยากสััมผัสแง่มุมด้านอัตถิภาวนิยมของหล่อนต้องอ่าน The Golden Notebook อันเป็นผลงานที่มีชื่อเสียง และหนาสุดของเธอ)

The Grandmothers คือนิยายขนาดสั้นสี่เรื่องรวมกัน ทั้งสี่เรื่องมีจุดร่วมคร่าวๆ คือพูดถึงตัวละครที่ "ติดกับ" ค่านิยมของสังคม ว่าครอบครัวควรจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะสองเรื่องแรกเด่นชัดมาก ตัวละครของเลซซิ่ง ในฐานะ แม่ ลูกสาว พ่อ สามี พี่ หรือน้อง ต้องถามตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าเหตุใดสิ่งที่ตนต้องการ กับสิ่งที่สังคมคาดหวังถึงได้ต่างกันนัก The Grandmothers พูดถึงผู้หญิงสองคนที่เป็นเพื่อนรักกัน และสุดท้ายต่างฝ่ายต่างตกหลุมรัก และมีสัมพันธ์กับลูกชายของอีกฝ่ายหนึ่ง เลซซิ่งสร้างสองครอบครัวที่เหยียบเส้นบางๆ ของศีลธรรม ถ้าลูกมีเพศสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทของแม่ที่เติบโตมาด้วยกัน จะถือว่าเป็น incest หรือเปล่า ถ้าผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์กับลูกชายของเพื่อนที่ตนรักที่สุด จะถือว่าเป็นรักร่วมเพศได้ไหม The Grandmothers เปิดเรื่องได้งดงาม ด้วยการเล่าเรื่องเสมือนหนึ่งวาดภาพ จากมุมมองของตัวละครบุคคลที่สาม (ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับเนื้อเรื่องหลักเลย) เลซซิ่งระบายภาพครอบครัวชนชั้นกลางชาวอังกฤษสองครอบครัว ซึ่งเหมือนจะสมบูรณ์ แต่ก็แฝงแรงสั่นสะเทือนไว้

Victoria and the Staveneys มาได้ถูกจังหวะจริงๆ ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา นี่คือเรื่องของครอบครัวผู้หญิงผิวดำ ที่ต้องเผชิญหน้ากับความยากจน และความแตกต่างระหว่างเพศ และชนชั้น วิคตอเรียมีสัมพันธ์กับชายหนุ่มผิวขาว ลูกสาวของหล่อนจึงได้รับสิทธิพิเศษให้เป็นส่วนหนึ่งในโลกที่แตกต่างจากโลกที่หล่อนถือกำเนิดมา สำหรับคนเป็นแม่ควรจะดีใจหรือไม่ ควรจะทำเช่นไร และในฐานะลูกสาวเล่า Victoria and the Staveneys เล่นประเด็นเดียวกันกับหนังฮอลลีวูด Spanglish ซึ่งตอบคำถามเดียวกันนี้ได้อย่างตอหลดตอแหลมากๆ

ระหว่างที่อ่านThe Reason for It รู้สึกว่าเชื่องช้า และร่ำๆ ว่าจะเลิกอ่านอยู่ แต่พอถึงตอนจบ ชอบขึ้นมาหน่อย ความแปลกของตัวเรื่องก็นับว่าน่าสนใจแล้ว เป็นนิยายสั้นกึ่งแฟนตาซี กึ่งประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการล่มสลายของอารยธรรมสมมติ อันมีต้นเหตุมาจากผู้นำไม่ดี ชอบตอนจบมากๆ เมื่อผู้เขียนเปิดเผย "สาเหตุของมัน" ในที่นี้คือเหตุใดผู้นำถึงได้ทำลายสิ่งสวยงามบรรพบุรุษอุตส่าห์สร้างมา เป็นคำตอบง่ายๆ ที่เล่นเอาเราอึ้งไปพักใหญ่เหมือนกัน (แต่อดคิดไม่ได้ว่านักเขียนรูปหล่อชาวไทยคนหนึ่งเคยเขียนเรื่องสั้นคล้ายๆ กันกับเรื่องนี้แล้วเขียนได้ดีกว่าอีก :P:D)

A Love Child ยาวสุด และไม่ดีสุดในเล่ม ว่าด้วยเจมส์ นายทหารในสงครามโลกครั้งที่สอง เขาถูกส่งไปประจำการในประเทศอินเดีย เหมือนเลซซิ่งตั้งใจจะเขียนนิยายขนาดยาวมากกว่า เพราะมันมีรายละเอียด และธีมมากมายที่สุดท้ายไม่ได้พัฒนาไปไหน A Love Child พูดถึงความเบื่อหน่ายว่าเป็นศัตรูตัวร้ายในสงคราม พูดถึงลัทธิจักรวรรดินิยม และพูดถึงเรื่องชู้สาวระหว่างเจมส์ และแดฟเน ซึ่งเรื่องย่อท้ายปกพยายามชูเป็นประเด็นใหญ่ แต่เอาเข้าจริง ก็ไม่ได้มีบทบาทมากมายขนาดนั้น โดยรวมเป็นนิยายจับฉ่ายที่ไม่เวิร์ค

แต่ชอบประโยคหนึ่งตอนท้าย เมื่อเจมส์ตระหนักความเปล่าดายของชีวิตตัวเอง เขาคร่่ำครวญออกมาว่า "I'm not living my own life. It's not my real life. I shouldn't be living the way I do." ซึ่งโดน โดนมั่กๆ

กลับมาที่เกริ่นไว้ตอนแรกว่าเหมือนเลซซิ่งจะมีผลงานน้อย แต่จริงๆ แล้วไม่เลย พอดูประวัติ ชีเขียนนิยายออกมาเยอะมาก ก็หวังว่าการได้รางวัลโนเบล จะกระตุ้นให้สำนักพิมพ์ออกผลงานของเธอมาอีกเยอะๆ เพราะอ่านไปสองเล่มแล้ว เราชอบ

ลาก่อนไมเคิล คริชตัน (1942-2008)


มีเรื่องอยากพูดมากมาย แต่ขอเริ่มจากเรื่องที่ "ไม่สำคัญ" ที่สุดก่อนก็แล้วกัน ท่ามกลางความยินดีปรีดาของชาวอเมริกัน (และอาจจะรวมไปถึงชาวโลกอีกหลายประเทศ) เมื่อนายโอบามาได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐอเมริกา และเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรก มีข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่งซึ่งสร้างความสลดใจให้เราไม่น้อย (พอๆ กับพรอพ 8 ที่ห้ามชาวรักร่วมเพศในแคลิฟอเนียร์แต่งงานกันอย่างถูกกฎหมาย) นั่นคือการเสียชีวิตของนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ไมเคิล คริชตัน ด้วยโรคมะเร็งปอด

เคยพูดคร่าวๆ ไว้แล้วว่าตัวเองไม่ใช่แฟนนิยายวิทยาศาสตร์ และแม้จนบัดนี้ ก็คงพูดไม่ได้อย่างเต็มปากว่าเป็นสาวกคริชตัน (หนังสือเล่มสุดท้ายของหมอที่เราอ่านก็เกือบๆ สิบปีมาแล้ว) แต่อย่างน้อยคริชตันคือหนึ่งในสามนักเขียนในดวงใจเราสมัยเด็กๆ (อีกสองคนคือสตีเฟน คิงก์ และทอม แคลนซี) สมัยที่ยังติดนิยายสำนวนแปลของคุณสุวิทย์ ขาวปลอดหัวปักหัวปำ หนังสือของคริชตันทำให้เรารักการอ่าน และถึงสมัยนี้เราจะเป็นนักเขียนเต็มตัว และหันมาอ่านกุนเดระ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเงาของคริชตันทาทาบอยู่บนผลงานของเรา

ในแง่หนึ่ง เราคิดว่าคริชตันเป็นนักเขียนที่น่าสงสาร ถึงจะมีชื่อเสียงในฮอลลีวูด แต่เหมือนหมอไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากแฟนๆ นักอ่านนิยายวิทยาศาสตร์เท่าที่ควร ถ้าจะให้จัดประเภทจริงๆ หนังสือของคริชตันคล้ายๆ ว่าจะอยู่ในหมวด popular fiction หรือนิยายอ่านเล่นในสนามบินเสียมากกว่า

อะไรคือความแตกต่างระหว่างคริชตัน และฟิลิป เค ดิก ออร์สัน สกอต คาร์ด โรเบิร์ต เอ ไฮแลนด์ หรือว่า อาร์เธอ ซี คล้าก (นอกจากว่าคนไม่ค่อยเรียกชื่อกลางหมอ) เราจะตอบว่า เพราะคริชตันเป็นคนเดียวที่จบแพทย์จากฮาวาร์ด และเป็น "วิทยาศาสตร์" อย่างแท้จริง (ไม่นับคาร์ล ซาแกน) คริชตันเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่เป็น "วิทยาศาสตร์" มากกว่านิยายวิทยาศาสตร์ที่เน้น "ปรัชญา" เหตุการณ์ในไซไฟส่วนใหญ่มักเกิดในโลกสมมุติ หรือโลกอนาคต แต่นิยายของคริชตันยืนพื้นอยู่บนโลกในชีวิตประจำวันเสมอ ดูกันคร่าวๆ นิยายของหมอก็เลยเหมือนทริลเลอร์อ่านเพลินมากกว่า

เสน่ห์ในนิยายของคริชตันที่ใครๆ ก็เลียนแบบไม่ได้คือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางด้านวิทยาศาสตร์ เราอ่าน Congo อย่างเพลิดเพลินไม่ใช่เพราะสนุกไปกับการผจญภัยในป่าลึก แต่เพราะความรู้ปลีกย่อยที่คริชตันใส่เข้ามาตรงนู้นตรงนี้ Congo คือนิยายที่สอนให้เรารู้ว่าฮิปโปเป็นสัตว์ที่ดุร้ายกว่าจระเข้ และกวางคลั่งเซ็กส์กว่าสุนัขป่า ไม่ได้อ่าน Sphere มาสิบกว่าปีแล้ว แต่จำได้ว่าสมัยที่อ่านจบใหม่ๆ ตื่นเต้นมากจนนอนไม่หลับเลย และพอมองย้อนกลับไป เราก็ยังรู้สึกว่านี่คือนิยายที่ผูกพล๊อต สร้างปมได้ดีที่สุดเล่มหนึ่ง The Andromeda Strain ให้บทเรียนเกี่ยวกับการทดลองวิทยาศาสตร์ที่จนบัดนี้เราก็ยังนึกถึงมันบ่อยๆ และเพียงแค่บทสั้นๆ ใน Travel หนังสืออัตชีวประวัติ คริชตันเล่าถึงตอนเขามาเที่ยวกรุงเทพ และจับความเป็นไทยได้อย่างตรงไปตรงมา และคงอีกแสนนานกว่าจะมีใครเขียนนิยายไดโนเสาร์ได้จับจินตนาการคนเท่า Jurassic Park

โอ้! นี่แหละชีวิตจริง


เห็นภาพคนเสื้อแดงนับแสนในสนามกีฬาหัวหมาก จู่ๆ ผมก็นึกถึงเจ้าหญิงไดอานาขึ้นมา เปล่าหรอก ไม่ได้นึกถึงพระองค์ แต่นึกถึงบทความที่คุณวาณิชเคยเขียน หลังเสร็จพิธีศพท่าน คุณวาณิชบอกว่าชีวิตของเจ้าหญิงไดอานาเป็นเรื่องจริงที่ยิ่งกว่านิยาย ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับชีวิต และความตายของท่าน เป็นตัวละครมีสีสัน ที่นำมาผูกเป็นสุดยอดนิยายได้อย่างไม่มีอันใดเปรียบ

วันที่ 1 พฤศจิกายน คือวัน "เกิดใหม่" ของนปช. ไม่มีอีกแล้ว กลุ่มคนที่ถูกจัดตั้งโดยมือมืดในรัฐบาล นั่นคือประชาชนตัวจริงเสียงจริง (ที่อาจจะไม่ล้วนๆ แต่ก็คงเกินครึ่ง เกินกึ่งหนึ่ง) พวกเขาอาจไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คงไม่ทุกคนหรอกที่รักใคร่ใยดีคุณทักษิณ บางคนกลัวรัฐประหารรอบสอง แต่ที่แน่ๆ นี่คือกลุ่มคนที่รังเกียจพันธมิตร โดยเฉพาะแกนนำอย่างสนธิื ถึงขนาดยอมกัดฟัน ทนมองหน้าเหลี่ยมๆ ของอดีตนายกที่พวกเขาก็ไม่ได้ชื่นชมสมประดีใด

สรุปสั้นๆ แทบไม่แตกต่างอันใดเลยกับพันธมิตรเมื่อสามปีที่แล้ว

โอ้! นี่แหละชีวีิตจริง นี่แหละเรื่องขำขื่นโคตรเสียดสี ที่สุดยอดนักเขียนก็เอามาแต่งเป็นนิยายไม่ได้ สนธิ และทักษิณคือผู้ให้กำเนิดสององค์กรภาคประชาชนที่ยิ่งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย องค์กรหนึ่งกลายพันธุ์ไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนอีกองค์กรต้องจับตาดูกันต่อไป ถ้าไม่มีทักษิณ ก็ไม่มีพธม. ถ้าไม่มีสนธิ ก็ไม่มีนปช. ถ้าไม่มีสนธิ ก็ไม่มีพธม. ถ้าไม่มีทักษิณ ก็ไม่มีนปช. สุดยอด! สุดยอด! เอาตอสตอย โกวเล้ง ดิกเกนส์ และเซอวานเตมาช่วยกันแต่งนิยาย ก็คงไม่ได้อมตะเท่านี้

ถ้าผมเป็นคนเขียน ฉากจบของนิยายเรื่องนี้มีแต่เลือด และไม่ใช่เลือดกระจอกๆ แค่สิบ ยี่สิบลิตร แต่ต้องเป็นทะเลเลือดเท่านั้น แต่แน่นอนผมเป็นแค่นักเขียนปุถุชน ใครจะไปล่วงรู้ว่าตอนจบของจริงจะไคลแมกซ์ หรือแอนไทไคลแมกซ์พลิกแพลงสักแค่ไหน

ข่าวเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าไหร่ในช่วงวันสองวันนี้คือความรุนแรงแบบประปราย ทั้งการโยนระเบิดใส่กลุ่มเสื้อเหลือง ศพบุรุษปริศนา (ที่่มติชนบอกว่าเป็นคนของนปช.) และการ์ดพันธมิตรที่ยิงปืนใส่วัยรุ่นอารมณ์ร้อน การที่สื่อมวลชนและสังคมไม่ให้ความสนใจข่าวพวกนี้ ผมถือว่าเป็นสัญญาณอันตราย เพราะมันหมายถึงทวิมาตรฐานความรุนแรงในสังคมไทย ตำรวจไม่สามารถโจมตีกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างโจ่งแจ้งได้ แต่ถ้าแอบๆ โยนระเบิดใส่ก็โอเค ตำรวจไม่สามารถโจมตีกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างโจ่งแจ้งได้ แต่ถ้าประชาชนด้วยกัน มาเหยียบกันเองก็โอเคเหมือนกัน

เหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคมเป็นโศกนาฏกรรมครับ และเราสมควรแสดงความเสียใจกับผู้ "บริสุทธิ์" ซึ่งบาดเจ็บ และล้มตาย แต่แม้มันยากที่จะเอ่ยเช่นนี้ แต่นี่คือโศกนาฏกรรมที่อยู่ในกรอบอันเหมาะสม เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนลุกมาต่อสู้กันเอง นั่นต่างหากโศกนาฏกรรมซึ่งหลุดกรอบการยอมรับได้

(หมายเหตุ: ผมคงไม่ปฏิเสธหรอกว่ารัฐบาลสามารถเลือกที่จะเลื่อนการประชุมรัฐสภาออกไป สามารถเลือกที่จะปล่อยให้ฝูงชนปิดล้อมรัฐสภาต่อไป เช่นเดียวกับที่แกนนำพันธมิตรมีทางเลือกที่จะไม่นำประชาชนไปเสี่ยงอันตราย มีทางเลือกที่จะไม่พกอาวุธไปยั่วยุเจ้าหน้าที่ หรือมีทางเลือกที่จะไม่ราดน้ำมัน ตั้งยางเพื่อเตรียมเผาสถานที่ราชการ เช่นเดียวกับที่กรุงเทพฯ มีทางเลือกที่จะให้ตำรวจยืมรถฉีดน้ำมาใช้ปราบปรามผู้ชุมนุม และที่สำคัญ เช่นเดียวกับสื่อมวลชน นักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ และสังคมจะรับรู้ข่าวสาร และเหตุการณ์อย่างเปิดกว้าง และเป็นกลาง เช่นเดียวกับหมอมีทางเลือกที่จะรักษาทั้งตำรวจ และผู้ชุมนุมอย่างเท่าเทียม)

ไม่รู้พรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับกลุ่มเสื้อแดง พวกเขาจะขยับเขยื้อนไปทางไหน บางทีอาจกลายเป็นอหิงสา และอารยะขัดขืนที่ไม่ได้ดีแต่ปาก แต่ถ้าไม่...ถ้าการลุกฮือของพวกเขา หมายถึงการที่ฝ่ายต่อต้านพันธมิตรเปลี่ยนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาเป็นประชาชนด้วยกัน เปลี่ยนจากถือปืน มาเป็นถือไม้ ถือกระบอง...

ประเทศไทยยังโชคดีนะครับ ที่เราไม่เคยมีสงครามการเมือง เราเคยมีก็แต่ทรราช และบางครั้ง -- บางครั้งจริงๆ -- หน้าที่ของทรราชก็คือการเป็นกระบอกเสียงให้กับอีกหนึ่งความคิดเห็นในสังคม รัฐบาล ตำรวจ และเจ้าหน้าที่กระทำรุนแรงกับประชาชน เพื่อไม่ให้ประชาชนมากระทำรุนแรงต่อกันเอง เคยอ่านเจอที่ไหนสักแห่ง เขาบอกว่าปืนเป็นอาวุธที่มีมนุษยธรรมมากกว่าไม้ หรือกระบอง เพราะปืนยิงได้แต่ไกลๆ เหมือนเป็นของที่เอาไว้ป้องกันตัวเสียมากกว่า แต่ใครที่ทุบตี หรือฟันแทงกันจนตายได้ นั่นหมายถึงการที่พวกเขามองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ในตัวอีกฝ่าย และได้ละทิ้งความเป็นมนุษย์ของตัวเองไปเสียแล้ว