U. Saba's "Ernesto"


Ernesto นิยายแอบอัตชีวประวัติของซาบาเป็นอะไรหลายๆ อย่าง มันเป็นนิยายการเมืองว่าด้วยความขัดแย้งระหว่างชนชั้น ใบหน้าของสังคมนิยมอิตาลีช่วงปลายศตวรรษที่ 19 มันเป็นนิยาย coming-of-age ว่าด้วยเออเนสโต เด็กชายผู้ไม่อยากโต หรือจะมองว่าเป็นนิยายจิตวิทยาแบบฟรอยด์ ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างลูกกำพร้าพ่อ และมารดาก็ได้ และแน่นอน Ernesto เป็นนิยายเพศที่สาม ว่าด้วยความรักของเออเนสโต และ "the man" กรรมกรแบกหาม ที่ทำงานอยู่ภายในบริษัทเดียวกัน

มันเป็นนิยายแอบอัตชีวประวัติ เพราะตอนซาบาเขียนนิยายเรื่องนี้ช่วงปี 1950-53 (สี่ปีก่อนเขาเสียชีวิต) เกย์ในประเทศอิตาลียังไม่สามารถเปิดเผยตัวเองได้ มิหนำซ้ำซาบาเองก็แต่งงาน มีลูกมีเมียแล้ว Ernesto เลยแอบเป็นอัตชีวประวัติ แม้ไม่มีใครพูดออกมาโต้งๆ แต่ "รู้กันอยู่" ว่าเออเนสโต ตัวเอกในเรื่องก็คือซาบานั่นเอง ซาบาเหมือนจะมีปัญหาเรื่องความซื่อสัตย์กับตัวเอง และการเล่าเรื่องย้อนอดีตจน สุดท้าย Ernesto ก็กลายเป็นนิยายที่เขียนไม่จบ โชคดีที่อย่างน้อยก็จบ "ภาควัยเยาว์" ซาบาเกริ่นเรื่องราวในอนาคต ความสัมพันธ์ระหว่างเออเนสโต และอิลลิโอ เด็กหนุ่มอายุเท่ากัน ผู้จะกลายมาเป็นคนรักคนถัดไป

Ernesto เคยถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ด้วย ไม่ได้ดู แต่เท่าที่อ่านๆ เหมือนกับว่าประเด็นระหว่างเออเนสโต และอิลลิโอจะกลายมาเป็นประเด็นหลักของเรื่อง นอกจากนี้ยังเพิ่มตัวละครน้องสาวของอิลลิโอเข้าไป (โดยนักแสดงหญิงที่เล่นเป็นน้องสาว รับบทอิลลิโอควบคู่ไปด้วย) ในฉบับภาพยนตร์ เออเนสโตแต่งงานกับน้องสาวของอิลลิโอ และโดนผนวกโดนเข้าไปยังโลกของชนชั้นกลาง ที่เป็น straight

อยากพูดถึงประเด็นการเมืองใน Ernesto เออเนสโตในวัยเยาว์ เหมือนเด็กทั่วไปที่คลั่งไคล้สังคมนิยม เพราะแนวคิดดังกล่าว เขาเลยกลายเป็นศัตรูกับลุงและป้าซึ่งร่ำรวย และเป็นคนเลี้ยงอุปการะเออเนสโต และแม่ เพราะต้องการแยกตัวเองจากผู้อุปถัมภ์ แม่ของเออเนสโตจึงเอาลูกชายออกจากโรงเรียน และให้ทำงานเป็นเสมียนในบริษัทค้าขาย เจ้านายของเออเนสโตคลั่งไคล้คนเยอรมัน แต่ก็มีเมตตา และเอ็นดูเด็กชายอยู่ไม่น้อย (ซาบาเล่าเรื่องในวงเล็บว่า ท้ายสุด เจ้านายของเออเนสโตก็เสียชีวิตในค่ายสังหารชาวยิว ระหว่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์) กลับเป็นเออเนสโตเสียอีกที่หาเรื่องตีรวน หยาบคาย และกลั่นแกล้งเจ้านายด้วยวิธีต่างๆ

ตรงนี้เราได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างศักดินา (ลุงและป้า) ชนชั้นกลาง (เออเนสโต และแม่) นายทุน (เจ้านายของเออเนสโต) และกรรมกร (คนรักของเออเนสโต) เออเนสโตผู้เติบโตมาในบ้านของลุงและป้า รังเกียจศักดินา และโยกย้ายความรู้สึกดังกล่าวไปสู่นายทุน (ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ได้ทำอะไรผิดเลย) ขณะเดียวกันกรรมกรก็มองเออเนสโตว่าเป็น "angel" หรือ "เทวดา" (แม้จะในบริบทของการเสพสังวาสก็ตาม) เช่นเดียวกับที่ชนชั้นกลางนักปฏิวัติมักจะทำตัวเป็นมิตรของกรรมกร และชนชั้นล่าง โครงสร้างอำนาจตรงนี้ยังสามารถขยับขยายให้ครอบคลุมโสเภณีซึ่งเออเนสโต "เสียความบริสุทธิ์" ไปด้วยได้ ซาบาประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนทริสเท ชนบทของประเทศอิตาลีให้กลายเป็นโลกใบเล็ก ซึ่งสะท้อนสภาพเศรษฐกิจการเมืองต้นศตวรรษที่ 20 อย่างสมบูรณ์

2 comments:

Anonymous said...

ตอบแร้วจ้า แวะไปดูนะ ถ้าอ่านแล้ว ช่วยเม้นต์ด้วย จะได้รู้ว่าอ่านแล้ว

Anonymous said...

อยากให้ตีความเอง
masculine
masquerade
massacre
ไม่แน่ใจว่าเป็นภาษาอังกฤษจะกินความได้มากกว่าหรือเปล่า