I. Murdoch's "An Accidental Man"


กับนิยายเล่มล่าสุดของเมอดอช ความรู้สึกเราขึ้นๆ ลงๆ พอถึงช่วงร้อยหน้าสุดท้าย เราจัด An Accidental Man ว่าเป็นนิยายที่ล้มเหลว แต่พออ่านเสร็จสิ้นถึงปกหลังจริงๆ …เออ ไม่เลวเหมือนกันแฮะ ส่วนใหญ่เราไม่ติดใจกับตอนจบนิยายของเมอดอชเท่าไหร่ หลายเล่มก็อ่านข้ามๆ เสียด้วยซ้ำ เมอดอชมีนิสัยชอบใส่โคดายาวๆ จนแม้แต่ตัวเราเองยังรำคาญ An Accidental Man ช่วยให้เราตระหนักความผิดพลาดตรงนี้ และอดตำหนิตัวเองไม่ได้ว่า ที่อ่านข้ามๆ ไปหลายเล่มนั้น นี่เราพลาดอะไรไปมากน้อยแค่ไหนกัน

นักวิชาการส่วนใหญ่จัดหนังสือเล่มนี้ให้เป็นผลงานยุค “ส่งต่อ” ระหว่างเมอดอชยุคแรก และยุคหลัง บางคนถึงกับจัด An Accidental Man ให้เป็น “นิยายทดลอง” ก่อนผู้เขียนพัฒนาแนวทางของตัวเอง มีโมทีฟหลายอย่างใน An Accidental Man ซึ่งไปปรากฏอยู่ในนิยายยุคหลัง แต่ไม่พบเห็นอย่างจะแจ้งในยุคแรก เช่นตัวละครมหาศาล An Accidental Man สมควรได้รับเกียรติให้เป็นนิยายเมอดอชที่มีตัวละครเอกเยอะที่สุด นับคร่าวๆ ก็สิบเอ็ด สิบสามตัวเข้าไปแล้ว! ไม่นับพวกตัวละครรองๆ ซึ่งโผล่มามีบทบาทวับๆ แวมๆ ขนาดเราเคยชินกับนิยายของเธอ พอผ่านไปครึ่งเล่ม ยังงงๆ อยู่เลยว่าใครเป็นใคร นอกจากนี้ยังมีการโยนบทสนทนาต่อๆ กันโดยไม่เจาะจงให้ผู้อ่านรับรู้ว่าใครเป็นผู้พูด การเล่าเรื่องผ่านจดหมาย โทรเลข และอีกหลายประการซึ่งบ่งบอกอาการ “ทดลอง” ของผู้เขียน (แต่ท้ายสุดอย่างไรเมอดอชก็ยังเป็นเมอดอช ให้ “ทดลอง” ยังไง ผลงานของเธอก็ไม่อาจจัดว่าเป็น “อาวองการ์ด” ได้หรอก”)

ทั้งคำโปรย เนื้อเรื่องย่อบนปกหน้า ปกหลังให้ความสำคัญกับตัวละครลุดวิก หนุ่มอเมริกัน ผู้หนีทหารไม่ยอมเข้าร่วมรบในสงครามเวียดนาม แต่เอาเข้าจริงบทบาทเด่นน่าจะอยู่ที่แมททิว และออสเตอร์ สองพี่น้องคู่รัก คู่แค้น ผู้มีอดีตนองเลือดร่วมกัน และนำไปสู่อนาคตนองเลือด ชื่อนิยายหมายว่าทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตล้วนมีต้นกำเนิดมาจากอุบัติเหตุ หน้าที่ของคนเราคือรับมือกับผลของมันอย่างเต็มความสามารถ (แต่อะไรเล่าคืออุบัติเหตุ การ์ธ ลูกชายของออสเตอร์ บอกว่าความเห็นแก่ตัว หรือความหวังดีผิดที่ผิดทาง เมื่อรวมกันจากหลายๆ ฝ่ายต่างหากจึงกลายเป็นอุบัติเหตุ)

ตัวละครที่ตรึงใจเราสุดคือแม่ลูกตระกูลทิสบอร์น เมอดอชแสดงให้เห็นดีกรีความเห็นแก่ตัวที่แตกต่างกันไป คลาร่าเห็นแก่ตัว เพราะชอบยุ่งเกี่ยว ช่วยเหลือผู้อื่น หล่อนเห็นความทุกข์ยากของคนรอบตัว เป็นเครื่องถีบดันชีวิตตัวเองให้มีความสุขมากขึ้น ส่วนเกรซี ลูกสาว รังเกียจการกระทำของแม่ หล่อนจึงเห็นแก่ตัวโดยการปิดหูปิดตา ไม่ยอมรับรู้ความทุกข์ยากของใครทั้งนั้น แมททิวก็เป็นตัวละครที่น่าติดตาม ขนาดคนที่คุ้นเคยกับโลกสีเทาของเมอดอช เรายังบอกไม่ได้เลยว่าเขามีดี หรือเลวมากกว่ากัน แมททิวมีอดีตลึกลับ ซึ่งเมื่อถึงตอนจบเมอดอชก็ไม่ได้เฉลยกับคนดู (นี่ก็อาการ "ทดลอง") จุดจบเศร้าๆ สุขๆ ดูเหมาะกับตัวละครครึ่งๆ กลางๆ ตัวนี้ดี

พูดถึงตอนจบหน่อยดีกว่า นิยายเล่มนี้มีลักษณะเหมือนผู้เขียนสนุกสนานกับการเอาชีวิตตัวละครมาโยงใย ผูกไขว้ผสาน นำไปสู่การที่ต่างฝ่ายต่างทรมาน และทำร้ายกันโดยทั้งรู้ และไม่รู้ตัว An Accidental Man ไม่ได้มีโครงสร้างชัดเจน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละครดูมั่วๆ ซั่วๆ แต่พอถึงตอนจบเมื่อแต่ละด้ายเริ่มสะสางกันเอง จากชนวนคือโศกนาฏกรรม (การที่โศกนาฏกรรมนำไปสู่สุขนาฏกรรมเช่นนี้ ก็เป็นอีกโมทีฟ ที่พบเห็นได้บ่อยๆ ในนิยายของเมอดอช ตัวละครบางตัวเคยพูดไว้อย่างแสนเศร้าว่า…โลกนี้มีคนดีๆ บางคนที่ถ้าตายไปแล้ว จะทำให้คนอื่นรอบข้างมีความสุขมากขึ้น) ในฐานะคนอ่านก็อดโล่งใจไปกับตัวละครไม่ได้ An Accidental Man เป็นนิยายจบดีแบบเศร้าๆ แบบที่ด้ายบางสาย แม้จะหลุดจากกันมาแล้ว ก็ยังมีขาดหวิ่น มีแหว่ง มีปมทิ้งไว้เป็นบาดแผล จบดี แบบที่พอจะเห็นได้ว่าทุกสิ่งที่เกิดในนิยายเล่มนี้เป็นแค่ “phase” เดียวของชีวิตตัวละคร

แล้วพรุ่งนี้ความสุข ความเศร้าใหม่ๆ จะมาเยือนพวกเขาต่อไป

No comments: