T. Mann's "Royal Highness"


เคยเขียนถึงโธมัส มานน์ว่า การอ่านนิยายของเขาก็เหมือนเดินชมสวนบนพื้นหินที่ปูไว้อย่างมั่นคงแข็งแรง นิยายของมานน์ไม่ค่อยมีอะไรหวือหวา ทุกอย่างดำเนินไปอย่างเรียบง่าย ในส่วนของเนื้อเรื่องก็มักไม่ค่อยมีข้อขัดแย้ง หรือถึงมีก็โผล่มาแบบแวบๆ ในตอนท้าย แล้วก็สะสางหรือไม่ก็ปิดจ๊อบ จบชีวิตตัวเอกไปพร้อมกับนิยาย ถ้าจะอ่านเอาเนื้อเรื่อง มันจะเป็นหนังสือที่น่าเบื่อมากๆ ความสนุกจึงมักจะอยู่ตรงวาทกรรม ข้อถกเถียงระหว่างตัวละคร หรือภูมิปัญญาที่แทรกแซมเข้ามา อย่างเป็นสัญญะบ้าง หรือโต้งๆ ตรงๆ เลย

Royal Highness คือตัวอย่างอันดีของคุณสมบัติที่เรายกมา โดยผิวเผินแล้วมันเป็นนิยายสุดแสนจะน่าเบื่อ พระเอกเป็นเจ้าชาย ส่วนนางเอกเป็นลูกสาวอภิมหาเศรษฐี ทั้งคู่จีบกันโดยไม่มีอุปสรรคใดๆ ไม่มีคู่แข่งความรัก ไม่มีความเป็นศัตรูระหว่างสองตระกูล นอกจากความพิการที่แขนซ้าย องค์ชายคลาวส์ ไฮนริชไม่มีข้อเสียอะไรชัดเจน เขาเป็นผู้มากลากดี นิสัยพอใช้ แถมประชาชนก็รักใคร่ทั้งพระเอกและนางเอก มิหนำซ้ำ มานน์ยังเพิ่มโมทีฟแบบเทพนิยายลงไปด้วยการปูเรื่องให้มีคำทำนายของหญิงชาวยิบซี และความเชื่อเรื่องพุ่มกุหลาบในสวนกลางปราสาท

แต่อาจจะเพราะท้องเรื่องที่น้ำเน่าขนาดนี้ก็ได้ เลยทำให้องค์ประกอบซึ่งขัดแย้งกับความเป็นเทพนิยายโดดเด่นขึ้นมา จากมุมมองของคนสมัยใหม่ Royal Highness เป็นนิยายที่พิสดารทีเดียว ความขัดแย้งหลักถูกสะสางได้ด้วยการที่คลาวส์ ไฮนริชตระหนักว่าชีวิตสมรสของเขาจะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเศรษฐกิจของชาติ พูดได้อย่างเต็มปากเลยว่า Royal Highness เป็นนิยายโรแมนติกเล่มเดียวที่ส่งเสริมให้คนเราแต่งงานกันเพื่อเหตุผลด้านเงินๆ ทองๆ

มานน์ตีหลายประเด็นน่าสนใจ เช่นเรื่องของประสบการณ์ พระเอก นางเอกต่างเป็นเด็กใสซื่อที่แทบไม่รู้จักความยากลำบากใดๆ ทั้งสองจึงถูกดึงดูด และยกย่องผู้คนที่ผ่านมรสุมชีวิต แต่ขณะเดียวกัน มานน์ก็ตั้งคำถามว่าประสบการณ์เป็นสิ่งจำเป็นแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่นมาร์ตินี กวีที่พูดถึงความสวยงามของชีวิต แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธการใช้ชีวิตไปด้วย หรือจุดจบของตัวละครอูแบร์ไบน์ราวกับจะตอกย้ำว่าคนที่ผ่านความเจ็บปวด อย่างมากก็แค่กลายเป็นคนอมทุกข์ ไม่จำเป็นว่าจะต้องฉลาดรู้เท่าทันโลก

มานน์เขียน Royal Highness ในปี 1909 สมัยที่เยอรมันยังปกครองภายใต้ระบอบกษัตริย์ นักวิจารณ์หลายคนมองว่า คลาวส์ ไฮนริชคือตัวอย่างกษัตริย์ในอุดมคติตามแบบของมานน์ ตอบยากเหมือนกันว่าภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อระบอบกษัตริย์ถูกล้มล้างไปแล้ว มานน์จะรู้สึกอย่างไร Royal Highness เหมือนจะเป็นนิยายที่วิจารณ์ระบอบกษัตริย์ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีน้ำเสียงแบบโหยหาอดีตอันเรียบง่ายที่ไพร่และเจ้าต่างรู้หน้าที่และขีดจำกัดของตัวเอง

เราถือว่าตัวเองค่อนข้างเพลิดเพลินกับนิยายน่าเบื่อเล่มนี้ ถึงแม้จะไม่ใช่ผลงานที่มีใครเอามาพูดถึงบ่อยๆ แต่ก็แสดงให้เราเห็นตัวตนบางแง่มุมของคนเขียนได้เป็นอย่างดี

No comments: