R. E. Howard's "The Black Stranger and Other American Tales"
ถ้ามีคนถามว่าตัวละครตัวไหนในนิยายกำลังภายในที่คลาสสิคที่สุด จะตอบอย่างไม่ต้องคิดเลยว่า "บู๊ลิ้ม" หรือ "ยุทธจักร" ซึ่งคนถามก็คงทำหน้างงๆ แล้วบอกว่า บู๊ลิ้มไม่ได้ตัวละคร แต่เป็นฉาก ฮะ! ฉากนี่แหละคือสิ่งที่ให้กำเนิดตัวละคร คือตู้ปลาที่ให้ตัวละครแหวกว่าย ถ้าไม่มีบู๊ลิ้ม ก็จะไม่มีลี้คิมฮวง ฟงอวิ๋น หรือ ก้วยเจ๋ง จอมยุทธในนิยาย ไม่อาจโลดแล่นอยู่ในโลก หรือในประวัติศาสตร์ได้ (คิดดูแล้วกันว่าถ้ามีคนเหล่านี้จริงๆ เดินอยู่ตามถนนหนทาง ไม่ว่าจะเป็นปัจจุบัน หรืออดีต มันจะเปิ่นแปลกเพียงใด) การที่โกวเล้ง กิมย้งสร้างโลกซึ่งหลุดจากกรอบเศรษฐกิจ (จอมยุทธไม่ต้องทำมาหากิน) แต่ขณะเดียวกันก็เน้นความเป็นปัจเจกสูง (จอมยุทธไม่ไปไหนมาไหนเป็นหมู่คณะ) รวมไปถึงคุณสมบัติประหลาดนานา (เช่นสมัยนั้นไม่มีอินเตอร์เน็ตแต่ถ้าใครโค่นใครได้ ข่าวจะกระจายไปทั่วบู๊ลิ้ม) นี่ต่างหากสิ่งประดิษฐ์ทางวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในนิยายกำลังภายใน
นอกเรื่องมาตั้งนาน เพราะตั้งใจจะบอกว่าฉากคือสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับนิยายแฟนตาซี โรเบิร์ต อี โฮวาร์ดคือผู้ให้กำเนิดนิยายแฟนตาซีสาย "ดาบ และเวทมนต์" (ซึ่งไม่เหมือนกับแฟนตาซีสายโทลคีน ที่เรียกว่า "มหากาพย์แฟนตาซี") สิ่งประดิษฐ์ที่สำคัญสุดของโฮวาร์ด ไม่ใช่โคแนน แต่เป็นไฮโบเรียน หรือยุคสมัยของโคแนน ไฮโบเรียนเป็นช่วงเวลา และสถานที่อันน่าประหลาด วัฒนธรรมเอย ข้าวของเอย สิ่งก่อสร้างเอย หรืออะไรต่อมิอะไรเอย พวกดาบ ป้อม ธนู เรือ มันบ่งบอกความเป็นยุโรป (โฮวาร์ดเป็นชาวเท็กซัส ที่ได้รับฉายาว่า "The Last Celt" หรือชาวเซลท์คนสุดท้าย) แต่ฉากกลับคล้ายคลึงทวีปอเมริกายุคสำรวจ การที่มีคนป่า ทาสผิวดำ และคนผิวขาวมาทำศึกสงครามร่วมกันได้
โลกไฮโบเรียนคือโลกที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก โลกของผู้ชายซุปเปอร์มาโช และผู้หญิงต้องใช้เสน่ห์ทางเพศดึงดูด หลอกล่อผู้ชาย โลกที่ผู้เข้มแข็งมีสิทธิทำลาย แย่งชิง และกดขี่คนอื่น ขณะเดียวกัน ก็เป็นโลกแห่งอารยธรรมที่สิ้นสูญ ไฮโบเรียนไม่ใช่ดินแดนแฟนตาซีที่อยู่ภายนอกความเป็นจริง แต่เป็นประวัติศาสตร์แฟนตาซี เนื่องจากปัจจุบันไม่หลงเหลือเศษซากอะไรจะมายืนยันได้ว่าไฮโบเรียนเคยมีอยู่ ดังนั้นแล้ว ตอนจบของเรื่องสั้นเหล่านี้ จึงมักลงเอยที่ป้อม ปราสาท มหานครพังทลาย พินาศสิ้น (และก็มักจะด้วยน้ำมือของคนไม่กี่คน พวกเหล่าฮีโร่นี่เอง ที่เป็นผู้ทำลาย) ยุคไฮโบเรียนเป็นยุคแห่งปัจเจกที่ไม่อาจเอาบรรทัดฐานสังคม สิ่งก่อสร้าง หรือวิทยาการใดๆ มาผูกมัดพวกเขาได้ มนุษย์คือผู้สร้าง ผู้ทำลาย และผู้อยู่เหนือสังคม ตัวละครอย่างโคแนนเอาเข้าจริง ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรจากลี้คิมฮวง หรือชอลิ้วเฮียงมากนัก
ในทางกลับกัน จุดอ่อนของโฮเวิร์ดอยู่ที่การสร้างตัวละคร (ซึ่งในแง่นี้แล้ว เขาด้อยกว่าโกวเล้ง และนักเขียนกำลังภายในคนอื่น) ตัวละครหลายตัวซ้ำซาก เป็นผู้ชายกล้ามใหญ่ ไม่ค่อยฉลาด ดีแต่ใช้แรงงาน ผู้หญิงก็จะต้องแต่งตัวโป๊ๆ ยั่วยวนผู้ชายไปวันๆ เนื้อเรื่องบางทีก็ไม่ค่อยสนุก หลายครั้งระหว่างที่อ่านเรื่องสั้นใน The Black Stranger and Other American Tales พอใกล้จบ พอไม่มี "ฉาก" อะไรให้เห็นแล้ว เรากลับเลิกอ่านไปเฉยๆ
ได้อ่านรวมเรื่องสั้น The Black Stranger and Other American Tales แล้วก็ช่วยให้เราเข้าใจอะไรหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะเรื่องของการเหยียดผิว เหตุใดนิทเช่ถึงกลายมาเป็นศาสดาของนาซี โฮเวิร์ดสมเป็นชาวใต้จริงๆ คือเหยียดผิวอย่างน่ารังเกียจ พวกผู้ร้ายในเรื่องสั้นส่วนใหญ่จะเป็นชาวป่าพื้นเมือง พวกอินเดียนแดง หรือทาสผิวดำ พื้นฐานการเหยียดผิวของเขาคล้ายๆ กับของนาซีเยอรมัน คือความศรัทธาใน "ubermensch" เชื้อชาติที่เหนือกว่าย่อมมีสิทธิเข่นฆ่า ล้างเผ่าพันธุ์อื่น (ไม่แปลกใจเลยที่ทำไม ภาพยนตร์ Conan the Barbarian ถึงเปิดด้วยคำพูดของนิทเช่) น่ารังเกียจ แต่ก็น่าตื่นเต้นในขณะเดียวกัน สมัยนี้คงหาอ่านงานเขียนอะไรที่เหยียดผิวได้สุดๆ ขนาดเรื่องสั้นในเล่มนี้คงไม่มีอีกแล้ว
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment