J.M. Coetzee's "Foe"


Foe คือนิยายเล่มที่สองของโคเอทซีที่เราอ่าน แน่นอนว่าเล่มแรกต้องเป็น Disgrace ซึ่งไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ Foe น่าสนใจกว่า มีทั้งความเหมือนและความต่างเมื่อเทียบกับอีกเล่มหนึ่ง ทั้งคู่จับประเด็นความเถื่อน ข้อขัดแย้งระหว่างคนขาวในโลกศิวิไลซ์ และคนผิวสีในโลกใหม่ วิธีการที่ฝ่ายแรกปกครอง กดขี่ฝ่ายหลัง และวิธีการตอบโต้ของคนเถื่อน ถ้าพูดตามภาษาทฤษฎีวรรณกรรมก็เรียกว่า postcolonialism ส่วนจุดต่างคือขณะที่ Disgrace ตรงไปตรงมา Foe เล่นกับประเด็น meta-literature

เนื้อเรื่องคร่าวๆ คือเหตุการณ์หลัง The Adventure of Robinson Crusoe ซูซาน บาร์ตันเป็นผู้ติดเกาะอีกราย (ซึ่งไม่ปรากฏในนิยายเล่มนั้น) พอหนีรอดมาได้ และครูโซเสียชีวิต เธอกับฟรายเดย์เดินทางไปหาโฟซึ่งเป็นนักเขียนดัง บาร์ตันขอร้องให้โฟเปลี่ยนประสบการณ์ของเธอให้กลายเป็นนิยาย สาเหตุหนึ่งก็เพื่อรายได้ ค่าลิขสิทธิ์ บาร์ตันตั้งใจจะส่งฟรายเดย์กลับทวีปแอฟริกา นอกเหนือจากนี้เธอยังมีเหตุผลลึกๆ ซึ่งต้องไปอ่านกันเอาเอง

ช่วงแรกของนิยายพูดถึงเหตุการณ์บนเกาะร้าง เรื่องราวระหว่างครูโซ บาร์ตัน และฟรายเดย์ เป็นอีกมุมมองซึ่งแตกต่างจากที่เราๆ ท่านๆ เคยอ่านกัน ครูโซของบาร์ตันขี้เกียจ วันๆ ไม่ทำอะไรนอกจากเพ้อฝันสักวันคนแปลกหน้าจะมาเยือนเกาะ พร้อมทั้งเมล็ดพันธ์พืชสำหรับหว่านไถบนแปลงซึ่งเขาเตรียมไว้ ครูโซไม่มีความปรารถนาจะกลับสู่สังคมเมือง ชีวิตสิบห้าปีเปลี่ยนเขาให้กลายเป็นพระราชาแห่งแดนรกร้าง เมื่อมีสำเภาผ่านมาช่วยเหลือคนทั้งสาม นั่นคือจุดเริ่มต้นอาการป่วยที่คร่าชีวิตกะลาสี

ช่วงที่สองคือ "การติดเกาะ" ของบาร์ตันใจกลางเมือง โฟมีปัญหาเรื่องเงิน ต้องหลบหนีเจ้าหนี้ บาร์ตันใช้ชีวิตอยู่ในบ้านร้างของนักเขียน พยายามต่อเรื่องราวการผจญภัยบนเกาะร้างด้วยตัวเธอเอง ช่วงนี้ยังตรงไปตรงมา และในความเห็นเรา เป็นช่วงที่ดีที่สุดของนิยาย เราได้เห็นความขัดแย้งระหว่างหญิงชาวอังกฤษ และหนุ่มนิโกร ที่เธอเพิ่งมารู้ภายหลังว่าพูดไม่ได้เพราะถูกตัดลิ้น ความพิการของฟรายเดย์กลายเป็นปมปริศนา ถึงแม้ครูโซบอกว่าพ่อค้าทาสตัดลิ้นชายหนุ่มตั้งแต่เขายังเด็ก ในความเห็นเธอ บางทีครูโซเองนั่นแหละที่กระทำการทารุณนั้น โคเทอซีแสดงให้เห็นความสำคัญของภาษา การสื่อสาร และคุณค่าในแง่บันทึกความทรงจำ

พอถึงช่วงสุดท้าย บาร์ตันพบกับโฟ ทั้งคู่ถกปรัชญา ไล่มาตั้งแต่ postcolonialism, meta-physics, feminist theory, existentialism และทฤษฎีอื่นๆ เท่าที่โลกตะวันตกเคยค้นพบ โดยมีตัวละครอื่นๆ เช่นฟรายเดย์ เด็กหญิงซึ่งอาจจะเป็น หรือไม่เป็นลูกสาวของบาร์ตันเป็นน้ำจิ้มประกอบบทสนทนา อ่านทีแรกตกใจมาก เพราะสไตล์มันช่างต่างจากช่วงก่อนโดยสิ้นเชิง กำแพงที่สี่พังพินาศ ตัวละครยอมรับออกมาเลยว่าพวกเขาเป็นสิ่งประดิษฐ์ ถูกสร้างมาโดยน้ำมือ "เทพเจ้าแห่งความมืด" บางคน (ซึ่งจะใช่ใครอื่นนอกจากตัวโคเอทซี) ไม่ใช่ตอนจบที่คาดหวังไว้ หรืออยากให้เป็น แต่ความ absurd ของมันเกินอัตราจนกลายเป็นถูกใจเรา

เกร็ด: Robinson Crusoe ถือเป็นนิยายภาษาอังกฤษเล่มแรก เขียนช่วงประมาณต้นศตวรรษที่ 18 โฟแต่งนิยายเล่มนี้โดยสมมุติว่าเป็นเหตุการณ์จริงซึ่งเกิดกับกะลาสีคนหนึ่ง สมัยนั้นชาวตะวันตกยังไม่เข้าใจว่าอะไรคือนิยาย อะไรคือ "ศิลปะแห่งการโกหก" และเหตุใดถึงต้องมานั่งอ่าน "เรื่องแต่ง" นี่คงเป็นสาเหตุที่โคเอทซีหยิบยกนิยายเล่มนี้มาใช้เป็นหัวข้อปาฐกถา meta-literature

No comments: