M. Innes's "Hamlet, Revenge!"
ถ้าจับไมเคิล อินเนส และจอห์น ดิกสัน คาร์ มาอยู่ในห้องเดียวกัน แล้วให้แต่ละคนถกเถียงวิธีการเขียนนิยายนักสืบ สุดท้ายคงได้กลายเป็นศพในห้องปิดตายแน่ๆ คงหานิยายสองเล่มที่แตกต่างกันเหมือนที่ The Plague Court Murders แตกต่างจาก Hamlet, Revenge! ไม่มีแล้ว เป้าหมายของดิกสัน คาร์คือเขียนนิยายนักสืบพิศวง เน้นความคาดไม่ถึง โดยไม่สนใจว่าคนอ่านคิดตามได้แค่ไหน เฉลยออกมาแล้วสมเหตุสมผลหรือเปล่า ส่วนอินเนสตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง ฆาตกร และฆาตกรรมใน Hamlet, Revenge! ไม่น่าพิศวงอย่างที่สุด
อาจจะเป็นเสน่ห์บางอย่างที่ผู้เขียนต้องการก็ได้ เพราะเวลาอ่านเรื่องที่หักมุม พลิกแพลงไปมา ก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าคนเขียนหักนู่น หักนี่ ระวังไปเผลอหักกระดูกตัวเองเข้า พอเฉลยฆาตกรใน Hamlet, Revenge! เราไม่ได้รู้สึกตื่นตาตื่นใจสักติ๊ด เพราะทั้งตัวฆาตกร และวิธีการฆ่าก็อยู่ในสายตาของนักสืบตั้งแต่สี่สิบหน้าที่แล้ว
แอปเปิลบีเป็นนักสืบที่ดูไม่ค่อยเท่ห์ ไม่ค่อยฉลาดเท่าไหร่ ตลอดทั้งเล่มเขา และคู่หูตั้งสมมติฐานความเป็นไปได้ของคดีในรูปแบบต่างๆ ซึ่งก็มีทั้งผิด และถูก คนอ่านก็เลยไม่รู้สึกถึงความขลัง (ตรงกันข้ามกับปัวโรต์ ที่ถ้ายังไม่รู้ชัด ใครเป็นฆาตกร จะไม่ยอมปริปากใดๆ ) มองกลับกันคือดูสมเหตุสมผล และน่าสนใจสำหรับนักอ่านที่อยากรู้ว่านักสืบเขาจู่โจมปัญหากันอย่างไร
เคยบอกว่าสนใจงานของอินเนส เพราะความเป็น "วรรณกรรม" ของมัน เล่มนี้ก็ไม่ผิดหวัง แม้จะไม่ใช่นิยายนักสืบที่ดีนัก แต่ผู้เขียนก็สามารถเรียงร้อยวรรณกรรมคลาสสิค ผลงานของเชคเปียร์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องได้
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment