S. Rushdie's "Midnight Children"
โอ้ย เหนื่อย! ในที่สุดก็อ่านทารกเที่ยงคืนจบเสียที ใช้เวลาตั้งเกือบสองอาทิตย์กับหนังสือหนาปึกเล่มนี้
อ่านจบแล้วก็รู้สึกว่าซัลแมน รัชดี น่าจะหันมาเขียนเรื่องสั้นมากกว่านิยายเล่มหนาๆ (เข้าใจว่าแต่ละเล่มของพี่แกบักเอ้ทั้งนั้น) แต่ละส่วน แต่ละบทของทารกเที่ยงคืนน่าสนใจ เป็นการผนวกวัฒนธรรมอินเดียซึ่งผู้เขียนรู้จักดี เข้ากับขนบนิยายสมัยใหม่ได้อย่างราบลื่น แต่พอทุกบททุกส่วนมารวมกันเป็นเล่มเดียว กลับเหลวเป๋วไม่เป็นท่า
ปัญหาข้อแรกคือความหนาเกินเหตุ หลายต่อหลายตอนจะตัดออก หรือจับมาย่นย่อก็ไม่สูญเสียเนื้อความสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะบทหลังๆ ช่วงที่ตัวเอกเข้าไปผจญภัยในป่าลับแล ทั้งที่เป็นตอนซึ่งสนุกสนานที่สุด แต่เนื่องจากมันไม่ได้มีบทบาทอะไรกับเนื้อเรื่องโดยรวม ก็เลยอดคิดไม่ได้ว่าไม่มีไปเลยจะดีกว่าไหม แค่นี่ก็ห้าร้อยกว่าหน้าเข้าไปแล้วนะ
ทารกเที่ยงคืนเป็นเรื่องของชายหนุ่มซึ่งเกิดตอนเที่ยงคืน วันที่อินเดียได้รับอิสรภาพจากมหาจักรวรรดิอังกฤษ เด็กเกือบห้าร้อยคนที่เกิดในช่วงเวลาดังกล่าว โตมาพร้อมกับความสามารถพิเศษ บ้างก็เจาะเวลาหาอดีตได้ บ้างก็เป็นมนุษย์มหาป่า แปลงเพศตัวเอง กระโดดหายเข้าไปในกระจก หรือความสามารถเหนือมนุษย์อื่นๆ ตัวเอกของเรื่องอาเมด ไซนายมีความสามารถสองอย่าง คือโทรจิต และจมูกที่ดีเหนือคนธรรมดา
พอเล่าเรื่องย่อจบ ก็จะชี้ให้เห็นปัญหาข้อที่สองของนิยายเรื่องนี้คือมันแทบไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรเลยกับทารกเที่ยงคืน พวกเขาถูกกล่าวถึงช่วงกลางๆ เรื่องพักหนึ่ง แล้วก็มีบทบาทอีกทีตอนท้าย เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นประวัติครอบครัวอาเมด ไซนาย ซึ่งสะท้อนประวัติศาสตร์อินเดีย และปากีสถาน แต่ถ้าจะให้เรียกนิยายเรื่องนี้ว่าเป็นนิยายสะท้อนประวัติศาสตร์ ก็ออกจะพูดได้ไม่เต็มปาก ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม อาจเป็นเพราะแต่ละเหตุการณ์ถูกหยิบยกมาเป็นส่วนๆ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกัน คนอ่านก็เลยไม่สามารถมองเห็นภาพอินเดียทั้งประเทศ เหมือนกับเป็นนิยายสะท้อนเกร็ดประวัติศาสตร์มากกว่า
ถ้าจะมีอย่างเดียวที่ช่วยผสานนิยายทั้งเล่มนี้เข้าด้วยกันคือคำเปรียบเปรยถึงเกมงูตกกระไดซึ่งอาเมดชอบเล่นตั้งแต่เด็กๆ ทั้งเรื่องนี้รัชดี เอาโมทีฟบรรได และงูมาเล่นซ้ำไปซ้ำมาได้อย่างหลักแหลม ถือเป็นจุดที่น่าปรบมือให้ที่สุด
ทารกเที่ยงคืนจัดว่าเป็นนิยายสิ้นหวัง โลกมืดที่สุดเท่าที่เคยอ่านเล่มหนึ่งก็ได้ ซัลแมน รัชดีดูเหมือนจะไม่ค่อยถูกชะตากับการมองโลกในแง่ดีเท่าไหร่ ในนิยายเรื่องนี้ ผู้เขียนเปรียบเทียบการมองโลกในแง่ดีว่าเหมือนโรคระบาดอย่างหนึ่ง บทสรุปนิยายก็ออกแนวสิ้นหวังๆ ชอบกล เป็นการมองประวัติศาสตร์ประเทศตัวเองด้วยสายตาเหยียดหยาม
ถ้าจะแนะนำ วิธีอ่านทารกเที่ยงคืนให้สนุก ก็คงต้องอ่านเหมือนที่ปู่อาเมดพบรักภรรยาตัวเองผ่านรูแคบๆ บนผ้าปูเตียง (ปู่ของอาเมดเป็นหมอ สมัยนั้นผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานไม่ได้รับอนุญาตให้พบปะผู้ชายแปลกหน้า) คืออ่านทีละส่วนทีละตอน วันละบทสองบทพอ อย่าอ่านรวดเดียว ตกหลุมรักมันทีละหน้า อย่าไปคาดหวังกับหนังสือทั้งเล่ม
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
2 comments:
บอกตามตรงว่าผมอ่านมาจะครึ่งเล่มแล้วยังไม่รู้เรื่องเลยครับ ไม่รู้จะโทษใครดี มีความรู้สึกอยู่ลึกๆว่าคนแปลแปลได้จับฉ่ายมาก หรือไม่ก็คนเขียนเขียนอะไรก็ไม่รู้
อ่านแล้วก็งงๆ ไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร ด้วยศักดิ์ศรีของผู้เขียน ก็มิบังอาจไปวิจารณ์ท่าน แต่ถ้าให้คุณจิระนันท์แปล อารมณ์น่าจะออกมาคนละเรื่องนะครับ
Post a Comment