G. Grass's "Crabwalk"


อ่าน "ปูไต่" ของกุนเธอ กราส แล้วนึกถึงนิยายที่โด่งมากดังอีกเล่มหนึ่งคือ "เดอะรีดเดอร์" ของเบิร์นฮาร์ด ชลิงค์ (ฉบับภาษาไทยแปลโดยคุณสมชัย วิพิศมากูล) ทั้งสองเล่มเป็นนิยายสงครามโลกครั้งที่ 2 จับประเด็นเดียวกัน คือความรู้สึกผิด และความเจ็บปวดของชาวเยอรมัน นิยายสงครามโลกส่วนใหญ่มักเขียนมาจากมุมมองของฝรั่งเศษ ("the very long engagement")โปแลนด์ ("the captive mind") หรือว่าอังกฤษ ("atonement") ซึ่งทั้งสามประเทศมองตัวเองว่าเป็นเหยื่อความทะเยอทะยานของฮิตเลอร์ แท้ที่จริง เยอรมันซึ่งเป็นประเทศผู้พ่ายแพ้สงคราม ต้องประสบความยากลำบากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประเทศอื่นๆ ต่างแต่ว่าบาปเนื่องมาจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ทำให้ไม่มีชาวเยอรมันคนใดกล้าออกมาพูดถึงความเจ็บปวดอย่างตรงไปตรงมา ชื่อนิยาย "ปูไต่" ในทีนี้ก็หมายถึงการพูดอ้อมๆ เหมือนกับปูที่เดินเขซ้ายเขขวา

"ปูไต่" เป็นนิยายของคนสามรุ่น ทัลลาคือผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์เรือโดยสาร วิลแฮม กัสลอฟถูกเรือดำน้ำรัสเซียยิงจม เธอคือชาวเยอรมันรุ่นสงครามโลก เชื่อในอุดมการณ์ของฮิตเลอร์ และรังเกียจชาวยิว ลูกชายของเธอ พอล เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ในรุ่นเขา เติบโตมาพร้อมกับบาป ความอับอาย และความรู้สึกผิด พอลทำงานหนังสือพิมพ์ ทัลลาอยากให้ชายหนุ่มเขียนเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมครั้งนั้น แต่เขาปฏิเสธ (จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์วิลแฮม กัสลอฟจมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ มากกว่าตอนเรือไททานิกจมเสียอีก) ต่อมาลูกชายของพอล คอนราดโตมาในยุคที่ผู้คนเริ่มหันกลับมาตั้งคำถามเรื่องอัตลักษณ์ ความเป็นชาตินิยม ยุคนี้เองที่นีโอนาซีถือกำเนิดขึ้นมา คนหนุ่มสาวโกนศีรษะตัวเอง พวกเขาไม่ได้ต้องการฆ่าชาวยิว แต่เชื่อว่าชาวยิวสมควรอยู่แต่เฉพาะในประเทศของตัวเอง คอนราดตั้งใจสานต่ออุดมการณ์ของทัลลา เปิดเผยเรื่องราวของวิลแฮม กัสลอฟให้โลกรับรู้


สมัยมาเมืองนอกใหม่ๆ ตอนที่ได้เจอคนเยอรมันครั้งแรก ถามเขาว่าคิดยังไงเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 (มองย้อนกลับไป รู้สึกตัวเองเชยจัง แถมยังเสียมารยาทชอบกล) เขาบอกว่าสิ่งที่ฮิตเลอร์ทำกับชาวยิว รุนแรง และเลวร้ายจนผู้คนลืมนึกถึงสิ่งดีๆ ที่มาพร้อมกับนาซี ไม่ว่าจะเป็นความเจริญทั้งทางด้านเทคโนโลยี การทหาร และเศรษฐกิจ ในทางเดียวกันผู้ชมทั่วโลกรู้จักภาพยนตร์อย่าง Schindler's List, The Pianist, หรือ Life is Beautiful จนเหมือนเราจะลืมไปแล้วว่าชาวเยอรมันเองก็มีสิทธิร้องอุทธรณ์ถึงโศกนาฎกรรมซึ่งเกิดกับประเทศตัวเอง ช่วงปลายสงคราม เมื่อทหารรัสเซียเข้ามาย้ำยีแผ่นดินเยอรมัน ผู้หญิงถูกข่มขืน หมู่บ้านโดนเผาทำลาย เด็ก และผู้ใหญ่ถูกสังหารหมู่

"ปูไต่" เล่าเรื่องผ่านปลายปากกาของพอล ยักย้ายไปมาระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างเขา กับคนรอบข้าง และเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ ที่มาของเรือวิลแฮม กัสลอฟ ตั้งชื่อตามนักการเมืองนาซีผู้โดนชาวยิวลอบสังหาร สาเหตุของการฆาตกรรมคือเป็นปฏิกิริยาโต้ตอบลัทธิกีดกันชาวยิวของพรรคนาซี แรกสุดวิลแฮม กัสลอฟเป็นเรือสำราญ พากรรมาชีพไปพักผ่อนท่องเที่ยวอย่างหรูหรา ในราคาถูก ต่อมาช่วงสงครามถูกปรับเปลี่ยนเป็นเรือรบ เรือพยาบาล และก่อนที่มันจะจม ถูกใช้ขนย้ายผู้อพยพหนีเงื้อมมือของทหารรัสเซีย (วันที่วิลแฮม กัสลอฟจม เป็นวันคล้ายวันเกิดของฮิตเลอร์พอดี)


เราเป็นคนชอบประวัติศาสตร์ แต่แปลกที่ประเด็นประวัติศาสตร์ใน "ปูไต่" กลับไม่ชวนติดตามเท่าไหร่ ถึงจะชื่นชมกราสว่าค้นข้อมูลมาปึก แต่หลายอย่างดูเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกินไป เป็นความผิดพลาดเดียวกันกับรัชดี ใน "เด็กเที่ยงคืน" (อ่านดูได้จากบลอคเก่า) โชคดีที่ผู้เขียนไม่เสียเวลาตรงนี้มากนัก เมื่อไหร่ที่กราสย้ายมาเล่าเหตุการณ์สมมติของพอล ทัลลา และคอนราด ถึงได้เริ่มน่าสนใจ

อีกจุดเด่นสุดของ "ปูไต่" คือ นี่เป็น "นิยายชั้นดี" เรื่องแรก (หมายถึงไม่นับนิยายจ๊ะจ๋าเธอขาสิบสลึง) ที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ต ตั้งแต่การทำเวปบอร์ด การแช็ท และการสร้างตัวตนสมมติออนไลน์ ล้วนแล้วแต่มีบทบาทสำคัญต่อเนื้อเรื่อง พอลอธิบายในย่อหน้าหนึ่งว่า เขาลองซื้อคอมพิวเตอร์มาใช้ดู และเริ่มสนุกกับการท่องเวปเหมือนวัยรุ่นคนอื่นๆ อ่านตรงนี้แล้วก็อดขำไม่ได้ว่ากราสคงกำลังพูดถึงตัวเองอยู่

จะสรุป "ปูไต่" โดยไม่พูดถึงเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งคงไม่ได้ เมื่อเร็วๆ นี้ กราสออกมาเปิดเผยว่าสมัยสงคราม เขาเองก็เป็นหนึ่งในหนุ่มสาวที่หลงใหล และเข้าร่วมพรรคนาซี น่าสนใจว่าความคิดเห็นของบุคคลเช่นนี้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเช่นไร ถ้าได้อ่าน "ปูไต่" ก็จะเข้าใจ อย่างน้อย ก็ส่วนหนึ่ง กราสเขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่งว่าด้วยเหตุใดเยอรมันตะวันตก และตะวันออกไม่สมควรรวมตัวกัน ถือเป็นอีกมุมมองที่น่าสนใจ ซึ่งคงได้มาแบ่งปันกันในโอกาสหน้า

No comments: