ว่ากันว่านิยายวิทยาศาสตร์เริ่มต้นจากคำถาม What if? จะเกิดอะไรขึ้นถ้าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นหุ่นยนต์ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าสังคมถูกปกครองโดย First Lady จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามียานย้อนเวลา จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามนุษย์ติดต่อชาวดาวอังคาร จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราสามารถอพยพไปอยู่บนดาวอังคารด้วยการนั่งต้นไม้บินได้ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าจู่ๆ นักเปียโนสติเฟื่องมีพลังจิตเทียบเคียงพระเจ้า จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามนุษย์พันธุ์ใหม่เตรียมตัวยึดครองโลก จะเกิดอะไรขึ้น ฯลฯ
The Simulacra น่าจะจัดเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ของโลกในนิยายวิทยาศาสตร์อีกที เพราะไม่ใช่แค่ What if ตัวเดียวที่ถูกสมมติ แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาในย่อหน้าข้างบนเกิดขึ้นในนิยายเล่มนี้ ถ้าเป็นคนทั่วไปเขียนอะไรแบบนี้ ต้องออกมาเละเทะแน่ๆ แต่มือระดับดิกแล้ว อย่างไม่น่าเชื่อ แค่หนังสือเล่มบางๆ สองร้อยกว่าหน้าเท่านั้น แต่ดิกสามารถบรรจุประเด็นต่างๆ ลงไปได้อย่างครบถ้วน
อย่างไรก็ดี เราชื่นชมความสามารถในการเล่าเรื่องของดิก มากกว่าจะพูดได้อย่างเต็มปากว่า The Simulacra เป็นนิยายที่ดี มันมีบางอย่างคล้ายคลึงกับ Candide เหมือนผู้เขียนสนใจจะพูดถึงความวิปลาศ วุ่นวาย และพังทลายของสังคม มากกว่าจะสร้างเรื่องราว หรือตัวละครที่คนอ่านอยากติดตามจริงๆ (มันมีกระทั่งวลี "ดูแลสวนของท่าน" แทรกอยู่แบบเนียนๆ )
เท่าที่อ่านมาประมาณสี่ห้าเล่ม เราแบ่งงานของดิกได้เป็นสองประเภทคร่าวๆ คือนิยายที่เน้นตัวละครเป็นตัวๆ ไป กับนิยายที่คนเขียนตั้งใจแสดงภาพความวุ่นวายของสังคม เราชอบนิยายประเภทแรกมากกว่า ขณะที่ The Simulacra จัดอยู่ในจำพวกหลัง อ่านเพลิน ทึ่งในความสามารถของผู้เขียน แต่ไม่ประทับใจ
No comments:
Post a Comment