F. Jameson's "The Political Unconscious"


เจมสันแบ่งประเภทการศึกษา genre วรรณกรรมออกเป็นสองแนวทาง แนวทางแรกคือการวิเคราะห์ผลงานใน genre นั้นๆ เพื่อหากลไกร่วมกันของทุกชิ้นงาน เป้าหมายของการศึกษาในลักษณะนี้คือบ่งชี้ว่าอะไรทำให้ผลงานชิ้นหนึ่งประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว (ตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์เรื่องขำขันของฟรอยด์) ตรงข้ามกับแนวทางแรก และเป็นแนวทางที่เจมสันยึดใน The Political Unconscious คือการสมมติว่ามีหนังสืออุดมคติประจำ genre ซึ่งสามารถใช้เปรียบเทียบได้ว่าแต่ละเล่มที่ผู้คนเขียนขึ้นมาจริงๆ แตกต่าง เหมือน ด้อยกว่า หรือดีกว่าหนังสือในอุดมคติสักแค่ไหน (ตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์เรื่องขำขันของเบิร์กสัน)

ขณะที่ในปัจจุบัน หลายคนรู้สึกว่า genre วรรณกรรมเป็นเรื่องไร้สาระ (“ศิลปะที่แท้จริงย่อมไร้พรมแดน!”) เราจะได้อะไรจากการศึกษา genre บ้าง

ในการเขียนหนังสือสักเล่ม คนเขียนย่อมจะต้องมี "อุดมคติ" ที่อยากสื่อไปถึงคนอ่าน ซึ่งอุดมคติพวกนั้น อ่านเอาเรื่องได้จาก "เนื้อหา" หรือสิ่งที่คนเขียน "ตั้งใจ" และ "รู้สำนึก" ผลิตขึ้นมา แต่สิ่งที่เจมสันสนใจ ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น เป็นอุดมคติของ "จิตใต้สำนึก" เขาอธิบายว่า นอกจากผู้เขียนจะตั้งอุดมคติขึ้นมาในการสร้างสรรค์ผลงาน เขาจะสมมติโลกขึ้นมาด้วยใบหนึ่งโดยไม่รู้ตัว ผลงานวรรณกรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้เขียนเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกสมมตินี้เท่านั้น ในท้ายที่สุด อุดมคติของจิตรู้สำนึก (ซึ่งผู้เขียนตั้งใจถ่ายทอด) อาจจะเป็นคนละอย่างหรือสวนทางกับอุดมคติของจิตไร้สำนึกเลยก็ได้

เราพบเห็นได้บ่อยๆ ในวรรณกรรมเพื่อชีวิต ถึงโดยผิวเผิน (โดยเนื้อหา) งานเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อเชิดชูคนยากคนจน แสดงให้เห็นความลำบากยากแค้นของคนตัวเล็กตัวน้อย แต่ผู้ที่จะผลผลิตงานลักษณะนี้ขึ้นมาได้ ต้องตั้งตัวเองอยู่บนความดูหมิ่นดูแคลนคนยากคนจนก่อน ไม่อย่างนั้นเขาคงไม่สามารถเขียนหนังสือเล่มนี้ได้ตั้งแต่แรก (การมองว่าชีวิตของคนรากหญ้าเป็นชีวิตที่ไม่พึงปรารถนา ก็ถือเป็นการดูหมิ่นโดยไม่รู้ตัวเหมือนกัน)

เจมสันบอกว่า มีแต่การวิเคราะห์วรรณกรรมผ่าน genre เท่านั้น เปรียบเทียบว่าหนังสือเล่มหนึ่งเหมือนหรือต่างอย่างไรกับหนังสือในอุดมคติ ที่จะช่วยให้เราเข้าใจจิตใต้สำนึกของผู้เขียนได้ (จริงๆ แล้วมีอีกวิธีหนึ่งก็การใช้สี่เหลี่ยมสัญศาสตร์เกรมาส แบบอาจารย์นพพร ประชากุล) การวิเคราะห์ตรงนี้น่าสนใจมาก เพราะมันหมายถึงการวิเคราะห์นักเขียน ทั้งในฐานะที่เป็นผู้เสพไปพร้อมๆ กับผู้ผลิตผลงาน (เพราะถ้าเขาไม่ใช่นักอ่าน จิตใต้สำนึกของเขาก็จะไม่รู้ว่า genre ของหนังสือเล่มที่เขาต้องการจะเขียนนั้นเป็นอย่างไร)

ย้อนกลับมาวรรณกรรมเพื่อชีวิต คนที่เขียนงานตามขนบทุกประการ หนึ่ง สอง สาม สี่ ตัวเอกเป็นชาวนา โง่ ใสซื่อ ส่วนตัวโกงคือนายทุน มหาเศรษฐี (เราเชื่อว่า) สำหรับเจมสัน คนพวกนี้จริงๆ แล้วไม่ปรารถนาการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย (เพราะขนาดงานศิลปะของตัวเองก็รับสืบทอดของเก่าเขามาทั้งดุ้น) ลึกๆ พวกเขาพอใจให้เส้นแบ่งระหว่างชนชั้นดำเนินต่อไป รากหญ้าก็โง่ จน เจ็บ และนายทุนก็ฉลาดแกมโกงไปเรื่อยๆ

สามสี่ปีก่อน มีรวมเรื่องสั้นเล่มหนึ่งคือ หมู่บ้านแอโรบิก ของอาจารย์ทัศนาวดี หลายคนดูจะไม่ค่อยชอบเล่มนี้ แต่นี่เป็นหนังสืออีกเล่มที่เรานิยมเอามากๆ ถ้าใช้การวิเคราะห์ genre นี่คือเรื่องสั้นเพื่อชีวิตที่ปราศจากตัวร้าย มีแต่ชาวบ้านผู้ทุกข์เข็ญ (หรือเปล่า?) หากเป็นความทุกข์แบบขำๆ ที่เกิดจากชาวบ้านกระทำกันเอง ไม่ว่าอาจารย์ทัศนาวดีตั้งใจจะสื่อสารอุดมคติเช่นใดก็ตาม โลกของอาจารย์น่าจะเป็นโลกที่ชนบทเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ตัดขาดจากส่วนกลาง ไม่จำเป็นต้องอาศัยนักการเมืองหรือนายทุนเข้ามารุกราน แต่ชาวบ้านชาวช่องก็สามารถรุกรานกันเองได้แล้ว (หากเป็นการรุกรานแบบเบาะๆ ที่เป็นธรรมชาติการพัฒนามากกว่าเนื้อร้ายในสังคม)

หรืออีกนัยหนึ่งคือการกำเนิดของชนชั้นกลางระดับล่างนั่นเอง

No comments: