V. Wolfe's "Mrs. Dalloway"


เห็นประโยชน์ของการเขียนบลอควิจารณ์วรรณกรรมก็วันนี้แหละ อย่างน้อยๆ มันก็บังคับให้เราอ่านหนังสือที่อยากวางเต็มแก่ได้จนจบเล่ม

เวอจิเนียร์ วูลฟ์เป็นนักเขียนในกลุ่มโมเดิร์นนิส เช่นเดียวกับเจม จอยซ์ และวิลเลียม ฟอล์คเนอร์ สารภาพตามตรงว่าจนบัดนี้ผมยังอ่านงานของพวกเขาไม่รู้เรื่อง คนไทยส่วนใหญ่คงรู้จักวูลฟ์จากหนังเรื่องดิอาวเวอร์ ซึ่งจริงๆ ก็คือมิสซิสแดโลเวย์ที่ถูกนำมาดัดแปลงใหม่นั่นเอง

มิสซิสแดโลเวย์เป็นเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่ง จัดงานปาร์ตี้ ชักชวนคนใหญ่คนโตในแวดวงสังคมลอนดอนมาเพื่อเป็นเกียรติแก่สามีเธอ เหตุการณ์ทั้งเล่มเกิดขึ้น และจบลงภายในวันเดียว แม้จะมีภาพแฟลชแบคเป็นระยะๆ อันที่จริงคาริสซ่า แดโวเวย์มีบทบาทน้อยมากในหนังสือ ตัวละครต่างๆ ผ่านเข้าออก ผลัดเวียนกันมาเป็น "ตัวเอก" ของเรื่อง วูลฟ์ใช้มุมมองแบบพระเจ้า เล่าเรื่องผ่านสายตาทุกตัวละคร บางครั้งก็สับเปลี่ยนมุมมองบรรทัดต่อบรรทัดรวดเร็วจนคนอ่านตั้งตัวไม่ติด

วูลฟ์เคยเกริ่นนำไว้ ก่อนเขียนนิยายเล่มนี้ว่า เธออยากแต่งหนังสือสักเล่ม ซึ่งหลุดจาก genre ต่างๆ อยากให้คนอ่านกระโดดเข้าไปในโลกของหนังสือเธอด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่คาดเดา หรือคาดหวังใดๆ ในแง่หนึ่งก็ต้องยอมรับว่าผู้เขียนประสบความสำเร็จตรงจุดนี้ ความรู้สึกที่ได้จากการอ่านมิสซิสแดโลเวย์ คือเหมือนแหวกว่ายอยู่ในทะเลตัวอักษร ไม่รู้ว่าทิศไหนล่าง ทิศไหนบน ผู้อ่านไม่สามารถทายได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ใครคือ "พระเอก" ใครคือ "ผู้ร้าย" ตัวประกอบที่เดินผ่านไปผ่านมาอยู่ดีๆ ตัวไหนจะกลายมาเป็นจุดสนใจของเรื่อง ตรงนี้เองทำให้ไม่แน่ใจว่าตัวเองอ่านหนังสือเล่มนี้ "ผิดวิธี" หรือเปล่า ถ้านิยายไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อพาคนอ่านไปถึงอีกฝั่ง แต่เพื่อความสนุกสนานในการแหวกว่าย บางทีเราควรเลือกอ่านอย่างช้าๆ วันละสิบ ยี่สิบหน้า แทนที่จะตะลุยอ่าน สองวันจบ

ผมไม่ได้ถึงกับไม่ชอบหนังสือเล่มนี้ ยอมรับว่ามีความงดงามซ่อนอยู่ในหลายจุด เช่นฉากที่สามีคาริสซา นำดอกไม้มามอบให้แก่เธอ หรือฉากที่เซปติมุสผู้เศร้าสร้อย ซ่อมแซมหมวกกับภรรยา ชอบที่หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องของความเศร้า แต่ไม่ใช่เหตุแห่งความเศร้า วูลฟ์เล่าเพียงผ่านๆ เหตุความทุกข์ของตัวละคร ใช้เวลาส่วนใหญ่อุปมา อุปมัย แปรเปลี่ยนปั้นความทุกข์นั้นให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา

ชอบที่สุดคือมุมมองของมิสซิสแดโลเวย์ที่มีต่องานปาร์ตี้ คาริสซ่ารู้สึกเหมือนตัวเองมีหน้าที่จัดการให้คนแปลกหน้าสองคนจากต่างบ้านต่างเมือง ซึ่งอาจไม่มีวันได้รู้จักกันบนท้องถนน พบปะกันเป็นครั้งแรกในบ้านของเธอ เพราะเราเองก็ต้องทำหน้าที่นี้บ่อยๆ เลยเข้าใจถึงสภาพที่หญิงสาวกังวลอยู่ตลอดเวลา งานปาร์ตี้ประสบความสำเร็จดีหรือเปล่า แขกเงียบกันเกินไปไหม จะต้องเชิญใครมาบ้าง การที่แคริสซ่าแปรสภาพตัวเองเป็นหัวใจ และเลือดเนื้อของงาน ทำให้หญิงสาวสูญเสียตัวตน ความเป็นมนุษย์ไป ปล่อยให้คนรักเก่าสองคนนั่งพูดคุยย้อนอดีตกันเอง ถือเป็นจุดไคลแมกซ์ (หรือแอนไทไคลแมกซ์) ของหนังสือที่น่าสนใจทีเดียว

สักวันหนึ่ง คงได้อ่านนิยายเล่มอื่นของวูลฟ์ เมื่อถึงตอนนั้นอาจเข้าใจมิสซิสแดโลเวย์ดีขึ้น

No comments: