I. Murdoch's "The Sovereignty of Good"


เมื่อสิบปีก่อน ครั้งแรกที่เราเรียนวิชาปรัชญา จำได้ว่าเรียนเรื่อง "ศีลธรรม" ซึ่งเป็นสาขาใหญ่ในปรัชญาตะวันตก ศึกษาว่าความดีคืออะไร เหตุใดคนเราถึงทำความดี และจะให้การศึกษาคนอย่างไรถึงจะหันไปทำความดี ตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะคนไทยชอบละเลยเรื่องแบบนี้ จับเอา "ศีลธรรม" ไปเท่ากับ "ศาสนา" แล้วปล่อยให้เป็นธุระของศาสนาที่จะเสริมสร้างสรรค์ศีลธรรมในสังคม ซึ่งถ้าว่ากันตามตรง "ศาสนา" ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของ "ศีลธรรม" เท่านั้น (แม้จะเป็นส่วนใหญ่สุดก็ตาม) หลักศีลธรรมที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาเช่นประจักษ์นิยม (Empiricism) ของคานท์ กล่าวว่าการทำความดีคือทำอะไรก็ตามซึ่งนำไปสู่ผลประโยชน์สูงสุดของสังคม

ตัวอย่างคลาสสิคของ "ปัญหาทางศีลธรรม" (dilemma) ที่นักเรียนวิชานี้จะต้องเจอคือ คนสองคนถูกมัดติดกับรางรถไฟตรงทางแยก รถไฟกำลังจะมา เรามีโอกาสสลับรางให้รถไฟไปทับใครก็ได้ เราควรสลับรางไปทางไหน ปัญหาตัวนี้แปรเป็นข้อย่อยได้ร้อยแปด เช่นถ้าฝั่งหนึ่งมีคนสองคน กับอีกฝั่งมีแค่คนเดียว นักประจักษ์นิยมก็คงสลับรถไฟไปหาคนคนเดียวได้อย่างไม่ต้องลังเล หรือถ้าฝั่งหนึ่งเป็นคนแปลกหน้า กับอีกฝั่งหนึ่งเป็นคนที่เรารู้จัก ตามหลักศาสนาคริสต์ เราอาจต้องเสียสละคนใกล้ตัว ตามหลักพุทธ ญาติสนิทน่าจะสำคัญเหนือคนแปลกหน้า และตามหลักประจักษ์นิยม ถ้าคนที่เรารู้จักเป็นคนดีเกินมาตรฐาน ก็รักษาเขาไว้ แต่ถ้ามันเลวกว่ามาตรฐาน ก็ปล่อยให้ถูกรถไฟทับเสีย

ที่จริงแล้ว ต่อให้ไม่ได้ศึกษาปรัชญา หรือศาสนามาเลย แต่ละสังคมก็มักจะมีวิถีประชาซึ่งใช้ตัดสินปัญหาทางศีลธรรมเหล่านี้ เช่นในสังคมที่บ้าประชาธิปไตยจัดอย่างอเมริกา ก็อาจให้มีการเลือกตั้ง ประชาชนทั้งประเทศมาลงคะแนนเสียงว่าใครสมควรถูกรถไฟทับ ในสังคมไทยที่ "บ้าคนดี" ก็ดูว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจ ถ้าคนคนนั้นเป็นคนที่มี "ทุนทางสังคม" สูง ไม่ว่าทำอะไรก็ออกมาถูกทั้งนั้น แล้วค่อยมีนักวิชาการออกมาเขียนบทความสนับสนุนทางเลือกนั้นๆ (ซึ่งก็เป็นเรื่องง่ายดาย เพราะโดยนิยาม ปัญหาทางศีลธรรมก็คือแต่ละทางเลือกล้วนมีทฤษฎีมาสนับสนุนได้ทั้งนั้น)

ยกตัวอย่างเช่น สังคมมองรัฐประหารที่ผ่านมาว่าเป็นเรื่องถูกต้อง เพราะ "คนดี" เข้ามาขับไล่ "คนเลว" ออกไป ซึ่งหลังจากรัฐประหาร ก็ปรากฎปัญญาชนสยามออกมาให้เหตุผลสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการจริงๆ

อย่างไรก็ตามเล่ามายาวเหยียดเพราะอยากชี้ให้เห็นว่า "ปัญหาทางศีลธรรม" นั้นมีอยู่จริง และไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถรู้คำตอบ หรือมีแค่คำตอบเดียว The Sovereignty of Good คือหนึ่งในหนังสือที่พิจารณาปรัชญาทางศีลธรรม เพื่อหาคำตอบว่าอะไรคือความดี จริงๆ ไม่ค่อยอยากพูดถึงหนังสือโดยตรงเท่าไหร่ เพราะ 1) ไม่รู้จะพูดอะไร 2) อยากเก็บองค์ความรู้นี้ไว้ใช้วิเคราะห์นิยายเล่มถัดไปของเมอดอชมากกว่า

เล่านิทานแล้วกัน เราฟังปัญหารถไฟตอนมาเมืองนอกปีแรก ถัดจากนั้นสามสี่ปี เรียนวิชา "จิตวิทยา และปรัชญาของอารมณ์" อาจารย์เป็นชายหนุ่มชื่อเจสซี่ ย้อมผมสีน้ำเงิน สวมเสื้อยืดแนบเนื้อเห็นหัวนม วาดการ์ตูนเก่ง แกวาดรูปคนสองคนถูกผูกตัดกับรางรถไฟ แล้วก็ให้นักเรียนถกปัญหาข้อนี้ พอถึงตอนจบแกอธิบายว่า สำหรับแกแล้ว ความดีงามไม่ได้อยู่ที่ว่าใครเลือกทางไหน แต่อยู่ที่ว่าเลือกเสร็จแล้ว ผู้เลือกแสดงอารมณ์เช่นไร ยะโสโอหัง มั่นอกมั่นใจเหลือเกินว่าข้าเลือกถูก หรือร้องห่มร้องไห้ที่ต้องทำการตัดสินใจดังกล่าว เจสซี่บอกว่านี่ต่างหากมาตรที่ใช้ตัดสินว่าอะไรคือความดีงาม

ลองเก็บไปคิดดูนะว่า "อารมณ์" กับ "ศีลธรรม" มันเกี่ยวข้องกันยังไง

No comments: