S. Prickett's "Narrative, religion, and science"

สงสัยกันบ้างไหม เวลาอัจฉริยะเขาเฮฮาปาตี้กัน เขาเล่นเกมอะไร จอห์น วิลเลอร์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ เล่าว่า เขาเคยไปงานเลี้ยงกับเพื่อนๆ ตกลงชวนเล่นเกมยี่สิบคำถามกัน โดยให้ผู้เล่นออกไปนอกห้อง แล้วคนที่เหลือช่วยกันคิดคำปริศนา ถึงตาวิลเลอร์เป็นผู้เล่น พอกลับเข้ามา เขาสังเกตว่าเพื่อนยิ้มแปลกๆ ก็รู้ได้ทันทีว่า มีบางอย่างไม่ชอบมาพากล วิลเลอร์เริ่มต้นถามเพื่อนทีละคน “เป็นสิ่งมีชีวิตหรือเปล่า” “ไม่ใช่” “เป็นชื่อสถานที่หรือเปล่า” “ไม่ใช่” “เป็นปรากฏการณ์ในธรรมชาติใช่หรือไม่” “ใช่” พอถึงคำถามที่สิบเก้า วิลเลอร์ถามว่า “มีสีขาวใช่หรือเปล่า” “ใช่” เขาหันไปหาเพื่อนคนสุดท้าย “เมฆหรือเปล่า” พออีกฝ่ายตอบว่า “ใช่” คนทั้งห้องก็หัวเราะออกมาพร้อมกัน

เรื่องของเรื่องคือทั้งยี่สิบคนตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่ารอบนี้จะไม่คิดคำ โดยแต่ละคนอยากตอบอะไรก็ตอบไป แต่มีข้อแม้คือ ต้องมี “คำตอบที่ถูก” (ของตัวเอง) อยู่ในใจ ดังนั้นเกมนี้ คนที่เล่นยากจริงๆ ไม่ใช่ตัววิลเลอร์ แต่เป็นเพื่อนทั้ง 20 คนต่างหาก (เพราะต้องแปลงคำตอบของตัวเองไปเรื่อยๆ ตามคำตอบของคนก่อนหน้านั้น)

มันมีบทเรียนแฝงอยู่ในเรื่องนี้ด้วย ถ้าเป็นพวก “หลังสมัยใหม่สุดโต่ง” คงบอกว่าเรื่องเล่าของวิลเลอร์แสดงให้เห็นถึงสภาวะโลกหลังสมัยใหม่ที่ปราศจาก grand narrative ไม่มีความจริงหนึ่งเดียว แต่ละคน “โกหก” เพื่อดัดแปลงความจริงไปเรื่อยๆ คำนิยามของหลังสมัยใหม่แบบนี้ได้รับอิทธิพลมาจากเลียวตาร์ด ใน Narrative, Religion, and Science พริกเกตต์พยายามรื้อสร้างคำกล่าวของเลียวตาร์ด โดยบอกว่า คำพูดที่ว่า “โลกนี้ไม่มี grand narrative” นั่นต่างหากที่กลายเป็น grand narrative ของสังคมยุคใหม่ อีกนัยหนึ่ง Cretan Paradox “คำพูดทุกคำที่ออกจากปากข้าพเจ้านั้นเชื่อถือไม่ได้” นั่นเอง

ขอแวบไปภาพยนตร์ Rashomon ภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะเป็นภาพยนตร์ที่ถูกอ่านผิด เข้าใจผิดมากที่สุดเรื่องหนึ่ง คนปัจจุบันมักจะเอาปรัชญาหลังสมัยใหม่มาจับมัน ทั้งที่สมัยคุโรซาวะกำกับหนังเรื่องนี้ หลังสมัยใหม่ยังไม่เกิดเลยด้วยซ้ำ (แต่เอาละ งานเขียนของเจมส์ จอยซ์เองก็ได้รับฉลากหลังสมัยใหม่ย้อนหลังเหมือนกัน) เราขอฟันธงทุบโต๊ะว่า Rashomon ไม่ได้ว่าด้วยโลกที่ความจริงถูกบิดเบือนจนไร้ความหมาย เรื่องเล่าของคนตัดฟืนนั่นแหละคือความจริง (มีเงื่อนขำหลายข้อ เช่น การใช้ดนตรีประกอบ เฉพาะเรื่องเล่าของคนตัดฟืนเท่านั้นที่ไม่มีดนตรีประกอบ จึงแลดู realistic กว่าเรื่องอื่น [ไม่นับอีกว่าคุโรซาวะจงใจใช้ดนตรีประกอบที่ฟังดูละคร ไม่สมจริง] รวมไปถึงคนตัดฟืนไม่ได้มีผลได้ผลเสียจากเหตุการณ์ในป่าละเมาะ ดังนั้นจึงเป็น "impartial observer")

("ความเข้าใจผิด" ที่คนมีต่อภาพยนตร์ Rashomon ลามปากไปถึงเรื่องอื่นๆ เลยกลายเป็นว่า อะไรที่เล่าเรื่องด้วย unreliable narrator ต้องไปสนับสนุนทฤษฎีหลังสมัยใหม่เสียหมด ทั้งที่เอาเข้าจริง plot device แบบนี้มักถูกใช้เพื่อจบหักมุม แต่ศิลปินเองก็ชอบให้ผู้ชมอ่านผลงานของตัวเองในลักษณะนี้ เพราะแน่นอนว่า pet degree ที่ลากต่อไปถึงคุโรซาวา ย่อมดูดีกว่าที่ลากไปหาโดนัล คอฟแมน [น้องชายฝาแฝดสมมติของแอนดี คอฟแมนใน Adaptation] ส่วนตัวเราว่าวิธีคิดแบบนี้เป็นการ "เหยียบเรือสองแคม" [have a cake and eat it] ถ้าแน่จริงและอยากพูดถึงการละลาย grand narrative ทำไมไม่เผยความลับนั้นออกมากลางเรื่องเล่า การที่ศิลปินใช้ประโยชน์จาก fetish ของการจบหักมุม และบอกว่ากำลังละลาย grand narrative ก็เหมือนคนทำหนังโป๊ มาบอกว่าผลงานของข้าพเจ้าส่งเสริมการแสดงออกซึ่งความรักระหว่างเพศนั่นแหละ)

พริกเกตต์บอกว่า ตั้งแต่เปิดศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา เกิด “fundamentalist” แนวใหม่ ที่เชื่อในสภาวะไร้ความจริงอย่างสุดโต่ง จนกลายเป็นการยกสภาวะไร้ความจริงขึ้นมาเป็น grand narrative แทน Cretan Paradox ในศตวรรษที่ 21 คือ “จำเป็นไหมที่รัฐบาล ต้องรับรองสิทธิของกลุ่มคนที่พยายามริดลอนสิทธิคนอื่น” อันเป็น paradox แก่นในงานเขียนหลายชิ้นของซีเซก หรือในเวอร์ชั่นไทยๆ เรณู ปัญญาดีเคยเขียนการ์ตูนล้อเลียนราษฎร (อาวุโส) ดัดจริต ถือป้าย “จะเอาประชาธิปไตย ถามกูหรือยัง”

คำตอบของพริกเกตต์คือ grand narrative นั้นมีจริง เพียงแต่มันเต็มไปด้วยความย้อนแย้ง (irony) และการแบ่งแยกเป็นส่วนๆ (fragment) (ประชาธิปไตยถึงเป็นสุดยอด grand narrative เพราะตัวมันเองมีคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งความย้อนแย้งและการแบ่งแยก) พริกเกตต์ทะลวง paradox ด้วยการยอมรับว่า grand narrative มีจริง และ เพราะมันมีจริงนั่นแหละ มันถึงไม่มีอยู่จริง ใน Narrative, Religion, and Science พริกเกตต์นำ grand narrative ใหญ่ๆ ทั้งทางฝ่ายศาสนาและวิทยาศาสตร์ เช่น คัมภีร์ไบเบิล Principia หรือ The Origin of Species มาชี้ให้เห็นความย้อนแย้งภายใน (คล้ายๆ กับ “ความจริง” ของคนตัดฟืนที่ย้อนแย้งเสียยิ่งกว่าการที่สามคนผลัดกันมาเล่าเรื่องโกหกเสียอีก)

ท้ายที่สุดแล้วจอห์น วิลเลอร์สามารถทายคำตอบได้ถูกต้องว่า "เมฆ" นี่แสดงให้เห็นว่าเกมที่พวกอัจฉริยะเขาเล่นกันไม่ใช่เกมต้มหมู ความจริงมีอยู่ประสก เจ้าจะมองหามัน หรือหลับหูหลับตาอยู่ในอคติของตัวเองต่อไป

ความเฮฮาของการอ่านผิด

ว่ากันว่า ถ้าบทละครทั้งโลกถูกเผาไฟ แล้วเหลือรอดมาแค่ Hamlet เพียงเรื่องเดียว ก็ยังถือว่าการละครสามารถดำเนินต่อไปได้ นี่เป็นอติพจน์โวหารยกย่องบทละคร Hamlet ว่ามันลึกซึ้งถึงขนาดเอามาตีความได้ไม่รู้จบสิ้น แต่เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่าที่เอาบทละครเรื่องเดียวมาดัดแปลงเล่นกันทั้งโลก สุดท้ายมันจะไม่มีฉบับไหนเลยหรือที่ออกมาผ่าเหล่าผ่ากอ ในทางตรงกันข้าม ถ้าโลกนี้เหลือ Hamlet ให้เล่นเพียงเรื่องเดียว หากไม่มีฉบับไหนตีลังกาเล่นเลย มันจะไปสนุกอะร้าย

(เอาเข้าจริง เราว่าการอ่าน Hamlet แบบฟรอยด์ ที่เรียกเจ้าชายแห่งเดนมาร์กว่าเป็น "ราชายืดยาด" มันก็โคตรจะผ่าเหล่าผ่ากอเลย แต่ด้วยฟรอยด์ใช้วิธีอ่านแบบนี้มาสนับสนุนทฤษฎีอันโด่งดังของตัวเอง "ราชายืดยาด"​ ก็เลยกลายเป็นฉายามาตรฐานของแฮมเลตไป)

Hamlet ฉบับที่พิสดารที่สุดเท่าที่เราเคยดูคือภาพยนตร์เรื่อง Prince of the Himalayas เป็นหนังธิเบต (เรื่องแรกเลยด้วยกระมัง) เอา Hamlet มาตีความใหม่ โดยสรุปลงท้ายว่าผีพ่อของแฮมเลตเป็นผู้ร้ายสูดสุด เจ้าชายแฮมเลตคือลูกที่แท้จริงของคลอดิอุส และเกอทรูตที่ลักลอบได้เสียกัน (ที่จริงคือราชาแฮมเลตใช้สิทธิเจ้าปกครองแย่งชิงคนรักมาจากน้องชาย) ราชาแฮมเลตเมื่อรู้ความจริงก็พยายามฆ่าล้างบาง แต่ตัวเองถูกปลงพระชนม์เสียก่อน ก็เลยมาปรากฏตัวเป็นวิญญาณให้เจ้าชายแฮมเลตเห็น เพื่อหลอกให้แฮมเลตสังหารพ่อที่แท้จริงของตัวเอง

บทสรุปของ Hamlet ฉบับธิเบตก็คือการแก้แค้นเป็นเรื่องไม่ดี มาอภัยปรองดองกันดีกว่า (จุ๊บๆ )

เรียกได้ว่าอ่านผิด แปลงผิดเสียจนเลเวอลิน ซินแคลร์ยังต้อง facepalm (เลเวอลิน ซินแคลร์เป็นตัวละครในเดอะซิมสัน จากตอนที่ดังมากๆ คือ A Streetcar Named Marge หมอนี่ดัดแปลงบทละครของเทนเนสซี วิลเลียม แล้วก็อ่านผิดกระจุยกระจาย จนเกิดเป็นคำพูดตบท้ายที่ดังมากคือ "คนแปลกหน้านั้นไซร้ ก็คือเพื่อนที่สูยังบ่ฮู้จักนั่นแล") แต่อย่างที่บอก ก็เพราะอ่านผิดแปลงผิดนี่แหละ Prince of the Himalayas ถึงได้เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์การชมภาพยนตร์ที่ตรึงใจเรามากๆ

ในแง่หนึ่งการอ่านผิดแปลงผิดมันมีเสน่ห์ของมันอยู่ บทความคราวนี้ก็เลยอยากจะลองวิเคราะห์การอ่านผิดแปลงผิดในรูปแบบต่างๆ ดู (พึงตระหนักว่า ในโลกที่เหลือบทละครเชคสเปียร์แค่เรื่องเดียว ถ้าทุกฉบับออกมาตามที่เชคสเปียร์ตั้งใจหมด คงน่าเบื่อพิลึก ดังนั้นความล้มเหลวและความสำเร็จ กรณีนี้จึงแบ่งกันแค่เส้นบางๆ เท่านั้น)

กรณีแรกนี้ เอาเข้าจริงจะเรียกว่าอ่านผิดก็ไม่เชิง ในเมื่อผู้กำกับไม่ได้ทำอะไรใหม่ นอกจากพยายามเดินตามร่องรอยที่ผู้เขียนทิ้งไว้ แต่บทละครก็เหมือนเครื่องจักรอันซับซ้อน บางครั้งน็อตหวานไปแค่ตัวเดียว ที่ใส่หมูแล้วจะออกมาเป็นไส้กรอก อาจกลายเป็นไก่ย่างไปเลยก็ได้ ตัวอย่างที่เรานึกได้ตอนนี้คือ แมคเบธ ฉบับเปิดโรงละครใหม่ของคณะอักษร

น่าอัศจรรย์ว่า ขณะที่ทีมงานถอดความบทละครดั้งเดิมแทบไม่มีตกไม่มีหล่น แต่ผลงานที่ได้กลับมีกลิ่นไทยเอามากๆ เชคสเปียร์ใส่เรื่องราวของแม่มดทั้งสามลงไป เพื่อสร้างบรรยากาศความลึกลับเหนือจริง แต่ในฉบับดัดแปลงของอักษร ประเด็นแม่มดถูกขับออกมากลางเวที แมคเบธ จึงกลายเป็นบทละครเกี่ยวกับความเชื่อโชคลางของผู้นำประเทศและหายนะที่ตามมา (อาจเป็นด้วยเรื่องบังเอิญว่า ขณะนั้นข่าวแซวหน้าหนึ่งที่โด่งดังของเมืองไทยคือ "วิชาที่ออกฟอร์ดไม่ได้สอน" ว่าด้วยการที่อดีตนายกอภิสิทธิ์ ไปนุ่งขาวห่มขาวทำพิธีต่ออายุรัฐบาลพรรคปชป.)


ส่วนหนึ่งก็เพราะฉากที่สะกดคนดูที่สุดในละครคือฉากงานสังสรรค์ของแม่มด ในครึ่งหลัง เงาและอิทธิพลของไสยศาสตร์ครอบงำบทละครอย่างสลัดไม่พ้น ผ่านคำทำนายของแม่มด (คนดูคอยลุ้นว่าสุดท้ายแล้วแมคเบธจะถูก screwed over ได้ยังไง ในเมื่อฤษีลิงดำท่านทำนายออกมาดีเว่อร์ขนาดนั้น) แมคเบธ ฉบับนี้จึงกลายเป็นบทละครเกี่ยวกับ superstition แทนที่จะเป็น ambition ไป ซึ่งนี่อาจเป็นความตั้งใจของผู้กำกับก็ได้ เพราะตอนจบแม่มดทั้งสามก็โผล่ออกมาพูดบทเปิดละครอีกครั้ง (ซึ่งจุดนี้ไม่มีในต้นฉบับ)

ขอย้ำตรงนี้อีกครั้งว่า ถึงเราจะใช้คำว่าอ่าน "ผิด" แต่เราชื่นชอบผลลัพท์มากๆ เพราะมันแสดงให้เห็นความไร้ขีดจำกัดของบทละครเชคสเปียร์ ที่เมื่อเอามาเล่นข้ามวัฒนธรรม ก็มีแง่มุมใหม่ๆ ผุดขึ้นมา

กรณีต่อมาคือ Prince of the Himalayas ดังที่กล่าวถึงไปแล้ว ความผิดลักษณะนี้คือผิดเพราะ "ตอบโจทย์ผิด" เราเองก็ไม่แน่ใจว่าสังคมธิเบตจริงๆ เป็นอย่างไร แต่เราเชื่อว่าคงอนุรักษนิยมสูง บทละครที่แสดงถึงด้านมืดของตัวเอกอย่าง Hamlet จึงอาจเป็นโจทย์ที่ซับซ้อน เกินกว่าจะบรรจุลงในสังคมธิเบตได้ (เราเชื่อว่าผู้กำกับรู้แหละ ว่าจริงๆ Hamlet มันเกี่ยวกับอะไร แต่บางทีด้วยเงื่อนไขการขอทุน การสร้างภาพยนตร์แห่งชาติ เขาเลยต้องจงใจอ่านผิด) การอ่านผิดลักษณะนี้ จึงมาจากการตอบโจทย์ และเข้าใจบทละครดั้งเดิมผิดนั่นเอง (ละคร รักทรยศ ที่เราเพิ่งเขียนถึง ก็เข้าข่ายลักษณะนี้)

แน่นอนว่าบทละครไม่ใช่ข้อสอบเลข ไม่มีถูกผิด ดังนั้นการอ่านผิดในลักษณะนี้ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ให้รสชาติแปลกใหม่ในการชมละคร

อ่านผิดในลักษณะสุดท้าย คือการที่ผู้กำกับคิดเอาเองว่าเพิ่มตรงนี้ หรือตัดตรงนี้ออก ก็ไม่เป็นไรหรอกน่า การอ่านผิดลักษณะนี้ไม่ค่อยน่าชื่นชมนัก อย่างน้อยการอ่านผิดสองแบบแรก ก็ยังมีความพยายามที่ดิ้นอยู่ในโจทย์ที่บทละครให้มา แต่อ่านผิดแบบนี้ ถ้าไม่เกิดจากอาการ "เรื้อน"​ ของผู้กำกับเอง ก็เกิดจากเงื่อนไขทางการตลาด ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากนิยายส่วนใหญ่จะอ่านผิดลักษณะนี้เยอะ (ลองถามครูเกิ้ลประมาณ "worst novel adaptation" จะได้ลิงค์ขึ้นมาเพียบเลย) ตัวอย่างที่เราพอจะนึกออกคือ The Steadfast Tin Soldier ใน Fantasia 2000 ซึ่งเปลี่ยนตอนจบ และ -- พูดในฐานะแฟนของแอนเดอสัน -- "ทำลาย" นิทานเรื่องนี้ (เราไม่มีปัญหานี้กับ The Little Mermaid อาจจะเพราะเราไม่คิดว่าการจบเศร้าของนางเงือกน้อยมันจำเป็นเท่ากับทหารดีบุกผู้ยืนยง)

คราวหน้าเราจะมาดูมหากาพย์แห่งการอ่านผิดกัน

ตงฟางปู๋ป้าย หมื่นปีมีข้าคนเดียว

วันก่อนคุยกับเพื่อนฝรั่งทางเน็ต เพื่อนคนนี้กำลังเรียนวรรณกรรม โดยเลือกเรียกวิชาบทละคร เทอมนี้ก็เลยมีการบ้านต้องอ่านบทละครมากมาย เขาพูดมาประโยคหนึ่งน่าสนใจดีว่า "เสน่ห์ของการอ่านบทละคร ก็คือเราสามารถอ่านมันจบภายในอึดใจเดียว (one sitting)" ซึ่งก็จริงของเขา บทละครเรื่องหนึ่งอาจจะมีเนื้อหายาวกว่าหนังด้วยซ้ำ แต่เราสามารถเสพมันภายในเวลาที่สั้นกว่า หรือเท่าๆ กัน

น่าเสียดายที่เมืองไทยไม่มีวัฒนธรรมการอ่านบทละคร เอาเข้าจริงแค่จะหาบทละครตีพิมพ์ยังยากเลย แม้ว่าทุกวันนี้วงการละครไทยจะคึกคักยิ่งกว่าเดิม แต่ดูเหมือนสถานะของผู้เขียนบทละครก็ยังไม่กลายเป็น "auteur" เสียที บทละครเป็นแค่ชิ้นส่วนหนึ่งในงานศิลปะชิ้นที่ใหญ่กว่า (ซึ่งก็คือละครทั้งเรื่อง) นี่อาจเป็นด้วยความนิยมร่วมสมัยในละครจังหวะ เน้นความสามารถเฉพาะตัวของผู้แสดง การกำกับที่แม่นยำ และการต่อมุกกึ่งสดกึ่งแห้ง ที่ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาบนหน้ากระดาษได้

ตงฟางปู๋ป้าย สร้างมาจาก "บทละคร" ในฐานะนักอ่าน เราชื่นชมละครแบบนี้ ละครที่ถูกขบคิดมาอย่างหนักบนหน้ากระดาษ ก่อนจะนำมาใส่เลือดเนื้อในภายหลัง ตงฟางปู๋ป้าย ว่าด้วยคณะละครที่ภายในอีกไม่ถึงหนึ่งชั่งโมงจะต้องขึ้นแสดง เดชคัมภีร์เทวดา รอบปฐมทัศน์ ชื่อละครมาจากชื่อ "ตัวร้าย" ของ เดชคัมภีร์เทวดา จอมยุทธที่ฝึกสุดยอดวิชาจนต้องตัดอวัยวะ และแปลงเพศตัวเอง เพื่อจะสำเร็จวิชายุทธ ตงฟางปู๋ป้าย เอา เดชคัมภีร์เทวดา มาครอบใหม่ เพื่อเล่าเรื่องราวในศตวรรษที่ 21 สิ่งที่เหล่า "จอมยุทธ" ในโลกยุคใหม่ต้องเผชิญ

แต่ที่เกริ่นมาข้างต้น ไม่ใช่จะให้หลับตาดูละคร เพราะผู้กำกับ นักแสดง และทีมงาน ช่วยกันร้องเรียงความสัมพันธ์ของตัวละครในโลกเล็กๆ ใบนี้ได้อย่างลงตัว การถ่ายทอดพลังของตัวละครทำออกมาได้อย่างลื่นไหล (เราชอบฉากรำดาบเป็นพิเศษ choreography ง่ายๆ แต่แอบน่าทึ่ง) มีรายละเอียดเล็กๆ น้อย เช่น วิธีพูดจาเลี่ยงบาลีของตัวเอก ซึ่งถูกนำมาพลิกใช้ในตอนจบได้อย่างคมคาย น่าเสียดายที่ละครสั้นเกินไป (แค่ชั่วโมงนิดๆ ) และมีหลายประเด็นที่หยิบยกขึ้นมา แต่ไม่ได้ขยับขยายต่อ หรือไปไม่สุด

ตงฟางปู๋ป้าย ไม่ใช่ละครที่ไร้ที่ติ แต่เป็นละครที่เรานิยมเป็นการส่วนตัว เป็นละครแบบที่เราอยากเห็น และอยากให้เล่นกันอีกเยอะๆ เป็นอีกรสชาติที่น่าจะช่วยเปิดลิ้นของเหล่านักชิมละครด้วย

J. L. Pires's "The Universe and the Refrigerator"

เคยไปงานเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ แล้วมีคนกระซิบถามเราว่า “มันดังจริงหรือเปล่า” ไอ้บทละครอ่านไม่รู้เรื่อง จักรวาลและตู้เย็น เนี่ย เราตอบแบบไว้ท่าว่าน่าจะเป็นที่รู้จักพอสมควร ทางสถานทูตถึงได้แนะนำให้ทางสำนักพิมพ์แปล วันนี้หลังจากอ่านมันจบ และลองปรึกษาครูเกิ้ลดู เราพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำแล้วว่า อย่างน้อยในโลกภาษาอังกฤษ ทั้งบทละครและตัวคนเขียน จาคินโต ปิเรส “ไม่เป็นที่รู้จักเลยครับ!” (วิกิเพจของหมอนี่มีแต่เป็นภาษาโปรตุเกส บทละคร จักรวาลและตู้เย็น ไม่เคยถูกนำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ)

แต่เดี๋ยวก่อน การที่มันไม่เป็นที่รู้จักในโลกภาษาอังกฤษ ไม่ได้หมายความว่ามันจะด้อยค่า (แต่มันชวนให้ตั้งคำถามว่า สถานทูตโปรตุเกสคิดยังไงของเขา (วะเนี่ย) ) เอาเข้าจริง เราสงสัยมานานแล้วว่า พวกบทละครแปลกวิถี ถ้าเราไม่รู้มาก่อนว่าเบคเกตต์เป็นคนดัง เป็นนักเขียนรางวัลโนเบล เราจะสามารถซาบซึ้งคุณค่าของมันได้หรือเปล่า จักรวาลและตู้เย็น เป็นโอกาสดี ที่เราจะสำรวจตัวเอง เพื่อพยายามตอบคำถามนี้

ถ้าวันหนึ่งนายจาคินโต ปิเรสโด่งดับระดับโลกขึ้นมา วันนั้นเราคงพูดว่า หนังสือของนายนี่ เราเคยอ่านตั้งแต่หมอยังไม่ดังและ… “…มองเห็นความหลักแหลมที่ซ่อนอยู่ แต่ไม่รู้สึกว่าความหลักแหลมนั้นมันละลายผสานไปกับโครงสร้างโดยรวมของละคร เราชอบมากที่คนเขียนเอาบทเพลงและนักร้องวงสี่เต่าทองมาใช้อย่างน่ามหัศจรรย์ แต่แก๊กนั้นดูเหมือนจะเป็น inspiring ไอเดียเพียงอย่างเดียวที่ว่ายพุ้ยๆ อยู่ท่ามกลางมหาสมุทรของ…สิ่งที่เรายังไม่แน่ใจ

“ภายใต้ขนบของละครแปลกวิถี จะถือว่าคนเขียนสอบผ่านได้ไหม บางทีละครแนวนี้มันก็ต้องแบบนี้อยู่แล้ว แต่ถ้าเช่นนั้น ทำไมเราถึงรับรู้ได้ละว่าบางส่วนของละครมันดีโดดเด้งออกจากส่วนอื่น แต่ที่แน่ๆ เราไม่คิดว่าพื้นฐานทางปรัชญาของคนเขียนแน่นจนสามารถเขียน "จักรวาลและตู้เย็น" ได้ องค์สุดท้ายดูเป็นการผนวกจบแบบเชยๆ ซึ่งเรารู้แหละว่าบางส่วนก็เป็นการยั่วล้อ ยอกย้อน แต่ความเชยแบบจงใจไม่ได้ทำให้มันเชยน้อยลงเสมอไป (นึกถึงหนังอย่าง Adaptation หรือละครทีวี Glee)”

สรุปรวม มันมีแก๊กที่เราอยาก (และคิดว่าจะ) ขโมยมาใช้ แต่นั่นก็เพราะบริบทโดยรวมของหนังสือไม่เข้มแข็งพอจะรักษาเพชรเม็ดงามในตมของตัวมันเองได้

M. Heidegger's "Being and Time" (ครึ่งแรก)

สำนวนฝรั่ง "พบตัวเอง" (found myself/himself/herself/itself) เป็นที่รู้จักดีในหมู่แวดวงนักแปลและบรรณาธิการ เพราะเป็นสำนวนเนียนๆ ที่ปลอมแปลงตัวเองเข้ามาอยู่ในงานแปลได้ง่ายมาก ถ้าอ่านเจอเมื่อไหร่ เป็นต้องตัดออกโดยพลันเพราะถือเป็นสำนวนฝรั่งในภาษาไทย ไม่ดี ไม่เอา กระนั้นก็ตาม เรากลับชอบสำนวนนี้เอามากๆ และก็ยังคิดด้วยว่าความเนียนของมันเกิดจากสำนวนนี้อธิบายบางอย่างที่โคตรจะจริงเลย และการที่ภาษาไทยไม่มีสำนวนนี้ตั้งแต่แรก it's so much worse for our language และการปฏิเสธที่จะใช้มันในตอนนี้ ก็ยิ่งแสดงถึงอาการหัวรั้น

"พบตัวเอง" ในความหมายตรงไปตรงมา เช่น "สุดาตื่นขึ้นมาและพบตัวเองอยู่ในถ้ำ..." สุดาไม่ได้คุ้นชินกับถ้ำนั้น เธออาจสะดุดหินลื่นตกลงมา หรือถูกโจรร้ายจับมาขังไว้ "พบตัวเอง" แสดงถึงอาการแปลกแยกระหว่างตัวประธานและสถานการณ์ สำนวนนี้สามารถนำมาใช้อย่างหลักแหลมขึ้นได้ เช่น "สุดาพบว่าตัวเองไม่อาจหักห้ามอาการหัวใจเต้น" ในความหมายคล้ายๆ กัน อาการหัวใจเต้นเป็นบางอย่างที่ประธานสุดา ไม่คุ้นชิน "พบตัวเอง" จึงบ่งบอกถึงความแปลกแยกได้ทั้งสิ่งแวดล้อมภายนอก และลักษณะอาการทางร่างกาย รวมถึงความรู้สึกที่อยู่ภายใน

"พบตัวเอง" เป็นแก่นแท้ตัวตนของมนุษย์ ไฮเดกเกอร์กล่าวว่า Dasein/Being/ตัวตน คือสภาวะที่ถูก "เหวี่ยง" เข้ามาอยู่กลางสิ่งแวดล้อมตลอดเวลา จู่ๆ เราก็พบตัวเองอยู่ในป่า มีรอยผื่นขึ้นตามหน้าแข้ง รู้สึกกลัวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จู่ๆ เราก็พบตัวเองนอนเปลือยกายอยู่ข้างใครบางคนที่เราไม่รู้จัก แม้แต่ในชีวิตประจำวัน มนุษย์ก็ "พบตัวเอง" อยู่ตลอดเวลา (เอาเข้าจริง แนวคิดนี้พุทธมากๆ เพราะมันหมายถึงความไม่เที่ยงของขันธ์นั่นเอง) ตัวตนจึงจำเป็นต้อง "เข้าใจ" สถานการณ์อยู่ตลอดเวลา

มนุษย์ที่แท้จริงจึงไม่ใช่ร่างกายอันจับต้องได้ มองเห็นด้วยตา แต่เป็น "ตัวตนแห่งความเข้าใจ" นั้น เช่นเดียวกัน "โลก" ก็ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ภายนอก ไฮเดกเกอร์เปรียบเปรยโลกว่าคือสิ่งที่สะท้อน และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวตน เป็นดวงตาอันปราศจากใบหน้า ตัวตนไม่สามารถเผชิญหน้ากับ โลก/ตัวตน ได้ จึงหนีออกจากตัวเอง (ไฮเดกเกอร์ใช้คำว่า "ตก" อธิบายการหนีของตัวตน ส่วนหนึ่งคงเพราะแกต้องการโยงไปหาศาสนาคริสต์ ที่กล่าวว่ามนุษย์คือลูกหลานของอดัมและอีฟที่ "ตก" ลงมาจากสวรรค์) การหนีก็คือเราสร้างความเป็นปัจเจกชนให้กับตัวเองขึ้นมา เราหนีด้วยการสมมติโลกแห่งสัญญะขึ้นมา และอาศัยอยู่ในนั้น เพื่อจะได้ไม่ต้องมองเห็นโลกและตัวตนที่แท้จริง

(ไฮเดกเกอร์เอาแง่มุมทางสังคมมาจับคำอธิบายนี้ โดยบอกว่า การ "ตก" ก็คือการยอมรับคุณค่าซึ่งสังคมกำหนดขึ้น แทนที่จะกำหนดคุณค่าสิ่งต่างตามสภาพความเป็นจริง แต่จุดนี้ก็เหมือนจะย้อนแย้งในตัวเอง เพราะไม่ใช่การหนีหรอกหรือ ที่ทำให้เรากลายเป็นปัจเจกชนขึ้นมาตั้งแต่แรก)

ดังนั้น truth/ความจริง จึงไม่ใช่แค่การจับผิดจับถูก ความจริงคือสภาพที่เรา "พบตัวเอง" ความจริงไม่ได้เป็นจริง หรือเป็นเท็จ ความจริง "แค่เป็น" เท่านั้น

อธิบายสั้นๆ แบบนี้แล้วฟังดูยาก แต่จริง Being and Time ถือว่าอ่านง่ายมากเมื่อเทียบกับปรัชญาเยอรมันหนักๆ เล่มอื่น ถ้าไฮเดกเกอร์ยังมีชีีวิตอยู่ รับรองว่าต้องทำ powerpoint presentation เก่งมากแน่ๆ เพราะโครงสร้างหนังสือแน่นเปรี๊ยะ หัวหางชัดเจน หัวข้อย่อยอธิบายโครงสร้างของข้อถกเถียงและเหตุผลสนับสนุนได้อย่างสวยงาม

N. Hawthorne's "The House of the Seven Gables"


ในซิทคอมเรื่อง Friends มีแก๊กหนึ่งตลกดี โจอี้เรียนจบไฮสคูลมาโดยไม่เคยอ่านเรื่อง สี่ดรุณี เลย เพื่อนๆ ก็งงว่าเป็นไปได้ยังไง (เหมือนเรียนจบมัธยมปลายเมืองไทย โดยไม่เคยอ่าน อยู่กับก๊ง) คนอื่นก็เลยไล่โจอี้ให้ไปอ่าน ผ่านไปสักพัก โจอี้ก็มาบอกว่าอ่านไม่รู้ พอคุยๆ ถึงรู้ว่าเขาเข้าใจผิดมาตลอด นึกว่า "โจ" (นางเอก) เป็นผู้ชาย ส่วน "แอนดี้" (พระเอก?) เป็นผู้หญิง เขาเลยต้องกลับไปเริ่มต้นอ่านใหม่อีกรอบ

คล้ายๆ ความรู้สึกเราพออ่าน บ้านเจ็ดจั่ว จบ (ชื่อนี้แต่งเอง ชอบมาก ขอให้เรียกเลยแล้วกัน) เราเองก็เข้าใจผิดมาตลอดว่าตัวละครเอกของเรื่องนี้คือผู้คนในตระกูลพินชอน ที่อาศัยอยู่ในบ้านเจ็ดจั่ว เปล่าเลย ตัวเอกของเรื่องนี้คือบ้าน คือตำนาน คือสวน คือประดาสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลายแหล่ ที่เป็นฉากประกอบเรื่องราวของพี่น้องพินชอน (และที่เข้าใจผิดอีกอย่าง คือนึกว่านางเอกจะลงเอยกับเจ้าของบ้าน ที่เป็นญาติตัวเอง)

บ้านเจ็ดจั่ว ผิวเผินก็เหมือนนิยายโกธิคทั่วไป มีบ้านหลังใหญ่ๆ เจ้าของบ้านอีโมๆ แล้วนางเอกก็ต้องเป็นประกายๆ แต่อย่างที่บอก จุดเด่นของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ตรงตัวละคร แต่อยู่ที่ฉากจริงๆ แม้แต่เหตุการณ์ที่พลิกผัน เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างในเรื่อง ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการกระทำของตัวละครเลย แต่อาจจะอยู่ที่บ้าน ที่ตำนาน ที่คำสาปซึ่งตกทอดสืบต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น

ในแง่หนึ่งเราชอบปรัชญาทำนองนี้ (มันเฮเกลเลียนเอามากๆ ) ซึ่งย้ำอิทธิืพลของ "วัฒนธรรม" หรือ "สิ่งแวดล้อม" ที่มีต่อตัวปัจเจก อย่างไรก็ดี พอเอาไปเทียบกับธีมหลักที่นิยายเรื่องนี้ต้องการพูดถึง กลับแลดูขัดแย้งกันไม่น้อย ประเด็นของ บ้านเจ็ดจั่ว ว่าด้วยการละทิ้งข้าวของ เกียรติยศชื่อเสียงของวงศา ในโลกยุคใหม่ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงภาระ โดยปัจเจกสามารถไขว่คว้าความยิ่งใหญ่ได้ด้วยสองมือตัวเองล้วนๆ แต่ก็นั่นแหละ ในเมื่อตัวเอกของเรื่องนี้มันไม่ใช่ตัวละครหรือผู้คน (นี่หว่า) แล้วจะให้เราเชื่อในความยิ่งใหญ่ของปัจเจกได้อย่างไร (เพราะเหตุนี้ในสามเรื่องใหญ่ของฮอธอร์น ได้แก่ บ้านเจ็ดจั่ว The Scarlet Letter และ The Blithedale Romance เราชอบเล่มนี้น้อยสุด)

แน่นอนเราไม่ปฏิเสธว่าปัจเจกเองก็มีผลในการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม บางทีนั่นอาจเป็นแมสเซจจริงๆ ของนิยายก็ได้ มนุษย์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง แต่การกระทำของเรามีิอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสุดท้ายแล้วจะส่งผลบางอย่างต่อชีวิตมนุษย์อีกทีหนึ่ง (แม้มนุษย์คนนั้นอาจไม่ใช่เราก็ตาม)

B. Clegg's "Before the Big Bang"

ไม่รู้ทำไม ระหว่างที่อ่าน Before the Big Bang จู่ๆ ก็นึกถึงการ์ตูนชุด หน้ากากทมิฬ ขึ้นมา (นี่! เรียกชื่อไทยแบบไม่อายอายุ) คงเพราะเรารู้สึกกระมังว่าบอสใหญ่ภาคหลังๆ นี่ "แม่งมั่วว่ะ"

มันคงเริ่มจากอาจารย์อารากิดันเขียนให้บอสใหญ่ภาคสามหยุดเวลาได้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ถ้าจะหาอะไรที่ตื่นเต้นกว่าหยุดเวลา ก็ต้องขุดเอาจากพวกหนังสือเทกฟิสิกส์แล้วมั้ง พออ่าน Before the Big Bang ได้รับรู้ว่าเดี๋ยวนี้จักรวาลวิทยาเขาพัฒนาไปถึงไหนถึงไหนแล้ว เออ...มองย้อนกลับไป อะไรที่เราว่ามั่วซั่วๆ มันก็ไม่ได้มั่วขนาดนั้นแฮะ

อย่างจักรวาลย้อนหลัง แนวคิดนี้มีชื่อทางฟิสิกส์ว่า The Big Crunch (การหดตัวครั้งใหญ่) ซึ่งตรงข้ามกับ The Big Bang (การระเบิดครั้งใหญ่) หมายถึงเมื่อจักรวาลขยายตัวจนถึงที่สุด เมื่อ Dark Energy ("พลังมืด" ภาษาโคตรการ์ตูนเลย แต่นักฟิสิกส์เขาเรียกอย่างนี้จริงๆ ) ที่ผลักทุกสิ่งทุกอย่างออกจากกันหมดสิ้นลงเมื่อไหร่ แรงดึงดูดก็จะเริ่มทำงาน และดูดทุกสิ่งกลับสู่จุดเริ่มต้น เมื่อถึงจุดที่สสารในจักรวาลรวมตัวกันเป็นจุดเดียว "พลังมือ" ก็จะกลับมาทำงานอีกครั้ง และผลักทุกสิ่งกระจายออกจากกัน เกิดเป็นการระเบิดครั้งใหญ่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ดังนั้นคำถามที่ว่า ก่อนการระเบิดครั้งใหญ่คืออะไร คำตอบก็คือจักรวาลแบบที่เราเป็นอยู่นี่แหละ เพียงแต่กำเนิดเป็นวัฏจักรซ้ำไปซ้ำมา

นักจักรวาลวิทยาในยุคหลังๆ พูดถึงทฤษฎีที่ชวนเหวอยิ่งกว่านี้อีก คือเราจะรู้ได้ยังไงว่าจักรวาลที่เราอาศัยอยู่นี้ เป็นจักรวาลเพียงหนึ่งเดียว บางทีการระเบิดครั้งใหญ่อาจเกิดจากจักรวาลสองจักรวาลมาชนกัน ในมหาจักรวาล กล่าวอีกนัยหนึ่งคือในมหาจักรวาลมีจักรวาลอยู่เต็มไปหมด การชนกัน การแตกตัว การระเบิดของจักรวาลย่อยๆ เหล่านั้น ก่อให้เกิดการระเบิดครั้งใหญ่นับไม่ถ้วน และจักรวาลซึ่งตัดขาดจากกัน โดยแต่ละจักรวาลก็คือจักรวาลคู่ขนานแบบที่เราคุ้นเคยกันดีในนิยายวิทยาศาสตร์นั่นเอง

โอ...จักรวาลช่างแสนมหัศจรรย์ การอ่าน Before the Big Bang ทำให้เราเผลอคิดไปว่า บางทีเราอาจได้พบนักเดินทางจากจักรวาลคู่ขนาน ก่อนหน้ามนุษย์ต่างดาวที่อาศัยอยู่ในจักรวาลเดียวกันก็เป็นได้

รัก (ชวนหัว) จัดหนัก

ภาพยนตร์สั้นทั้งสามเรื่องของ รักจัดหนัก "มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน" พูดแบบนี้ก็เหมือนกวนบาทาเพราะอะไรในโลกนี้บ้าง (วะ) ที่ไม่ได้ "มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน"

แต่ "การมีจุดแข็งและจุดอ่อน" ของ รักจัดหนัก มันมีทั้ง "จุดแข็งและจุดอ่อน" ในตัวมันเองด้วย (เริ่มงงแล้วใช่ไหม) จุดอ่อนของ "การมีจุดแข็งและจุดอ่อน" คือไม่มีเรื่องไหนที่พูดได้อย่างเต็มปากว่าสมบูรณ์แบบ แต่จุดแข็งคือ เมื่อเทียบกับภาพยนตร์ ensemble หลายๆ เรื่อง การที่ไม่มีเรื่องไหนโดดเด่นเป็นพิเศษ กลับกลายเป็นว่าแต่ละเรื่องช่วยๆ กันพยุงทั้ง ensemble เอาไว้ได้ (ไม่เหมือน Tokyo ที่อีกสองเรื่องรวมหัวกันฆ่า Merde ทั้งที่โดยตัวมันเองก็ไม่ได้ดิบดีอะไร)

เรื่องที่ชอบที่สุดคือ เป็นแม่ เป็นเมีย เราชอบหนังแบบนี้ ที่ใช้พื้นที่จำกัดจำเขี่ย และสถาปนาพื้นที่นั้นอย่างเฉียบคม เหมือนละครเวที ผู้กำกับเล่าเรื่องได้กระชับ หนังดู "หลุด concept" จากเรื่องอื่น วัยรุ่นหญิงในเรื่องนี้ไม่ได้แยแสกับการตั้งครรภ์ เท่ากับการที่ตัวเองอ้วนขึ้น และไม่ได้ไปประกวดเอเอฟ ฝ่ายตัวละครชาย ก็ยอมมาอยู่กิน ช่วยงานในบ้าน และแสดงความรับผิดชอบในระดับหนึ่ง แม้จะร่วมหัวจมท้ายกลายเป็นฮิคิโคโมริกันสองคนผัวเมียก็ตาม

ความโป๊งชึ่ง ฉิบหายๆ ของครอบครัวนางเอก เหมือนผู้กำกับเอา Interior Design กับ Shaking Tokyo มารวมกัน ทำให้ดูสนุกแบบเหนือจริงดี แต่ก็เพราะความฉิบหายๆ นี่แหละ มันถึงออกมาจริงใจน้อยกว่าเรื่องอื่น เราจับจริตของหนังสั้นอินดี้จากมันได้มากทีเดียว ดังนั้นถึงมันจะเป็นเรื่องที่ลงตัวสุด -- ธีมไปกันได้ดีกับวิธีนำเสนอ และรูปแบบของภาพยนตร์สั้น -- เรากลับไม่อาจชอบมันได้อย่างเต็มตื้น

ชอบรองลงมาคือ ทอมแฮงส์ (ซึ่งตรงข้ามกับ เป็นแม่ เป็นเมีย โดยสิ้นเชิง เพราะเรื่องนี้ลำดับเรื่องได้กระโดกกระเดกที่สุด) เด่นสุดอยู่ที่ตัวละคร ทีมงานผูกความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครต่างๆ ได้อย่างงดงาม ไม่ว่าจะเป็นนางเอก ทอม ศูนย์กลางของเรื่อง แฟนรุ่นน้อง เพื่อนรักของเธอ และแฟนของเพื่อนอีกที จนถึงตัวละครแม่ และ "ราฟฟี่ อยากจะมียูเอฟโอ" ดาราทุกคนเล่นได้ขยี้ แต่จริงใจ เป็นเรื่องที่มีศักยภาพในการขยับขยายออกมาเป็นหนังใหญ่มาก อีกจุดที่น่าสนใจคือ มันจำกัดการมองสถานการณ์เฉพาะจากตัวละครฝ่ายหญิง -- ทำให้เราแอบหวังว่า ไปเสม็ด น่าจะใช้ approach คล้ายๆ กัน คือมองเฉพาะฝ่ายผู้ชายบ้าง -- เพราะศักยภาพตรงนี้ เลยอดเสียดายไม่ได้ที่หนังจบลงแค่ตรงนั้น ในเวลาเท่านั้น

ชอบน้อยที่สุดคือ ไปเสม็ด แต่ในความชอบน้อยที่สุด ก็มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้กำกับและทีมงานอยู่ด้วย ในสามเรื่อง เราว่าเรื่องนี้ท้าทายที่สุดในการสร้าง เพราะตัวเรื่องค่อนข้างเชย ลำดับเรื่อง หนึ่ง สอง สาม สี่ คาดเดาได้ไม่ยาก ตัดสินกันจึงอยู่ที่รายละเอียดการแสดง และการกำกับล้วนๆ ถามว่าสอบผ่านไหม ตอบได้เต็มปากเต็มคำว่าสอบผ่าน แต่เรื่องนี้เรียกร้องฝีมือระดับที่มากกว่าสอบผ่านนัก