H. De Balzac's "Old Goriot"


Old Goriot อาจไม่ใช่นิยายที่โด่งดัง หรือดีสุดของบัลซัค แต่ก็คิดว่าตัวเองเลือกไม่ผิด ที่หยิบมันออกมาจากผลงานเก้าสิบกว่าชิ้น แม้ไม่ใช่เล่มแรกในชุด "Comedie Humaine" แต่ Old Goriot ก็เป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญ นี่คือการปรากฎโฉมครั้งแรกของยูจีน แรสทิแนค ตัวละครซึ่งนำแสดง หรือมีบทบาทในนิยายอีก 27 เล่ม และยิ่งกว่านั้น บัลซัคเพิ่งค้นพบเทคนิครีไซเคิลตัวละคร (วัลทริน ตัวละครสำคัญอีกตัวซึ่งมาจากบทละคร Vautrin ก็อยู่ในเล่มนี้เช่นกัน)

เรารู้สึกว่าการรีไซเคิลตัวละครจำเป็นอย่างมากกับนิยายแบบบัลซัค Old Goriot อาจล้มเหลวในเชิงวรรณกรรม มันเต็มไปด้วยเหตุบังเอิญ ตัวละครสำคัญอยู่ดีๆ หายไปเสียดื้อๆ และขาดตอนจบ แต่ถ้ามองมันเป็นส่วนหนึ่ง เป็นจุดเริ่มต้นของยูจีน แรสทิแนคในการ "ประกาศสงครามกับปารีส" ก็ถือว่าข้อเสียเหล่านี้เข้าใจได้ และเป็นเสนห่์ด้วยซ้ำ เพราะท้ายสุดสิ่งที่บัลซัคต้องการเขียนอาจไม่ใช่นิยายแต่เป็น "บทละครศีลธรรม" (morality play) หรือพูดให้ชัดเลยว่า "บทละครอศีลธรรม"

บัลซัคมีชีวิตอยู่ช่วงหลังปฏิวัติฝรั่งเศส และจักรวรรดินโปเลียน เป็นยุคที่ฝรั่งเศสก้าวเข้าสู่ "โลกสมัยใหม่" ครัวเรือนและแวดวงสังคมเริ่มแยกแยะกันอย่างชัดเจน ศีลธรรมในพื้นที่ส่วนตัวกลับล้มเหลวไม่เป็นท่าเมื่อนำมาปฏิบัติต่อหน้าสายตาผู้อื่น (แต่ที่ตลกคือ สังคมต่างหากที่ตัดสินเรื่องราวในครัวเรือน ไม่ใช่โบสถ์ หรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีส่วนบุคคล) Old Goriot แสดงสภาพขัดแย้งของ "โลกสมัยใหม่" ที่ความดีงามอย่างเดียวไม่อาจนำพาชายหนุ่มไปสู่จุดมุ่งหมายแห่งชีวิต (ตรงนี้ต่างกันลิบลับกับนิยายของชาร์ลส์ ดิกเกนส์ เพราะกว่า "โลกสมัยใหม่" จะไปถึงลอนดอนก็ใช้เวลาอีกพักใหญ่)

โกไรออทคือชายชราที่สงสัยไม่เคยอ่าน King Lear เพราะกระทำผิดเดียวกันกับกษัตริย์ของเชคสเปียร์ นั่นคือตามใจ และมอบมรดกทุกอย่างให้ลูกสาวสองคน เดลฟีน และอแนสเตเชีย จนตัวเองไม่หลงเหลืออะไร กระทั่งความรักของพวกหล่อน ตัวเอกของเรื่องคือแรสทิแนค ชายหนุ่มที่เพิ่งมาจากบ้านนอก พยายามเรียนรู้การใช้ชีิวิตในปารีส ปีนป่ายบันไดฐานะ โดยรักษาความซื่อสัตย์ และดีงามเอาไว้ให้มากสุดเท่าที่ตัวเขาจะทำได้

ไม่มีตัวละครใดดีเลวชัดเจน กระทั่งเดลฟีน และอแนสเตเชีย บางครั้งก็เหมือนลูกสาวอกตัญญูผู้ไม่นึกถึงหัวอกบิดา แต่บัลซัคได้นำเสนอความจำเป็นที่บีบบังคับให้แต่ละตัวละครกระทำสิ่งที่พวกเขากระทำ กระทั่งผู้เฒ่าโกไรออทเอง ตลอดทั้งเล่มเหมือนจะเป็นนักบุญ เสียสละทุกอย่างให้ลูกสาว พอเข้าช่วงลมหายใจสุดท้าย ความรักเปลี่ยนเป็นความแค้น ถึงกับประกาศกร้าวด่าทอความโง่เขลาของตัวเองในอดีตที่รักลูกสาวมากเกินไป

ความแตกต่างระหว่าง "โลกสมัยใหม่" และ "โลกหลังสมัยใหม่" คืออย่างหลังยอมรับสภาพไร้กฎเกณฑ์ และหาความสุขในสังคมอันวุ่นวายยุ่งเหยิง บัลซัคเหมือนยังพยายามค้นหาความดีงามบางอย่าง แม้สุดท้ายเท่าที่ตัวละครจะทำได้คือยึดติดปัญหาเฉพาะหน้า และแก้ไขไปทีละเรื่อง Old Goriot เป็นนิยายที่อ่านแล้วเหนื่อย เพราะหลายอย่างมันช่างสะท้อนภาพความจริง ความโหดร้ายในปัจจุบัน

No comments: