M. Atwood's "Dancing Girls"


เคยคุยไปแล้วว่าวัฒนธรรมเรื่องสั้นฝรั่ง ไม่ได้แพร่หลาย มีหรือขนบชัดเจนแบบคนไทย ดังนั้นเรื่องสั้นฝรั่งจะมีเอกลักษณ์เฉพาะทางสูง ซึ่งแปรเปลี่ยนไปตามนักเขียนแต่ละคน อย่าง Dancing Girls เล่มนี้ ก็มีหลายอย่างคล้ายคลึงกับนิยายเรื่องอื่นๆ ของแอดวู้ด เป็นลักษณะเฉพาะตัวของเธอ ซึ่งนักเขียนคนอื่นเลียนแบบไม่ได้ หรือถ้าเลียนแบบจริง ก็จะรู้ได้ทันทีว่าเลียนแบบมาจากใคร

หลายเรื่องสั้นใน Dancing Girls มีประเด็นหลักร่วมกัน ความแตกต่าง และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชาย ผู้หญิง กว่าครึ่งของเรื่องสั้นในเล่มนี้มีตัวเอกเป็นคู่รัก หรือคู่สามี ภรรยา (เอาเข้าจริงๆ เกือบทั้งหมดเลยก็ว่าได้) ส่วนใหญ่ตัวละครผู้หญิงมักเป็นฝ่ายถูกกระทำ โดนนอกใจ หรือผู้ชายเข้าไม่ถึงความละเอียดอ่อนของเธอ ยกเว้นเรื่องเดียวคือ The Resplendent Qeutzal (ซึ่งเป็นชื่อนกในรูปข้างบน) ที่เหมือนว่าแอดวู้ดจะให้น้ำหนักความไม่เข้าใจกันทั้งฝ่ายหญิง และฝ่ายชาย

อีกธีมหนึ่งซึ่งแอดวู้ชอบมากๆ คือความประสาทหลอน (นิยายเรื่อง Surfacing ซึ่งเคยเขียนถึงไปแล้วเป็นนิยายประสาทหลอนทั้งเล่ม) แอดวู้ดเป็นหนึ่งในนักเขียนไม่กี่คนที่เจาะลึกจิตวิทยาของตัวละครได้อย่างน่าอ่านชวนติดตาม เรื่องประเภททตัวเอกเป็นบ้านั้นนักเขียนไทยชื่นชอบกันมาก คงเพราะรู้สึกว่าเขียนง่าย ใส่อะไรมั่วๆ ลงไปก็ถือได้แล้วว่าตัวละครเป็นบ้า ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ในนิยายและเรื่องสั้นของแอดวู้ดจะเห็นได้อย่างชัดเจนถึงระบบ ระเบียบ และมีศาสตร์ของความบ้า

เรื่องสั้นส่วนใหญ่ไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย เป็นตัวเอกเฝ้าสังเกตการกระทำตัวละครอีกตัว แต่ขณะเดียวกัน เรื่องราวซึ่งผ่านมาก่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในใจตัวเอกด้วย เป็นการผจญภัยภายในความคิดตัวละคร พอๆ กับในโลกภายนอก ชัดเจนมากเช่น Betty หรือ Polarities ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แทบไม่มีอะไรเกิดขึ้นผู้เล่าเรื่องเลย (หรือกระทั่งกับตัวละครที่ถูกสังเกตการณ์ด้วยซ้ำ) แต่แอดวู้ดก็สามารถร่ายยาวถึงกระบวนความคิดได้อย่างน่าสนใจ

แต่ถามว่าชอบมันขนาดนั้นไม่ ก็คงตอบว่าไม่ ความล้มเหลวของ Dancing Girls เป็นเรื่องน่าขบคิด นี่คือหนังสือดีที่อ่านไปได้สักพักจะน่าเบื่อ อาจเพราะความยาวเหยียดเยิ่นเย่อของแต่ละเรื่อง ซึ่งพอมันจบแบบไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าสักสองสามเรื่องก็พอว่า แต่โดนเข้าบ่อยๆ ทั้งเล่ม ก็ชวนให้อ่านต่อไปไม่ไหวเช่นกัน เป็นหลักการตลาดง่ายๆ ว่าพลังที่ผู้อ่านใช้ในการ "จู่โจม" หนังสือสักเล่มควรจะถัวเฉลี่ยพอๆ กับสิ่งที่เขาได้ (หรือรู้สึกว่าได้) อย่าง Training เป็นตัวอย่างน่าสนใจ ไม่ใช่เรื่องนี้ไม่ได้นะ แต่พออ่านถึงประโยคสุดท้ายอดคิดไม่ได้ว่า "แค่นี้เองหรือ ให้อ่านมาตั้งยาวเหยียด"

ยิ่งคิดก็ยิ่งเห็นอัจฉริยภาพของเรย์มอน คาร์เวอที่ตัดสินใจเขียนแต่ละเรื่องให้สั้นๆ เต็มไปด้วยบทสนทนา เพื่อว่าพอคนอ่านไปถึงตอบจบ แม้จะไม่รู้สึกว่ามีอะไรมาก แต่ความสบายๆ กลับสร้างสมดุลอย่างงดงามกับสารที่ต้องการสื่อ

No comments: