J. Sartre's "No Exit and Three Other Plays"


ช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ น่าสนใจว่ารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมนั้นไม่ได้มอบให้เฉพาะ "นักเขียน" เท่านั้น (หรืออย่างน้อยก็ "นักเขียน" ตามความหมายที่คนปัจจุบันเข้าใจ) แต่ยังมอบให้ "นักปรัชญา" ฉอง ปอล ซาร์ดเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลอีกคน ที่ชื่อเสียงของแกสั่งสมมาจากงานเขียนปรัชญา มากกว่างานวรรณกรรม รวมบทละครชุด "No Exit" นี้เป็นหนึ่งในงานเขียนfiction ไม่กี่ชิ้นของซาร์ต (รวมไปถึงไตรภาค The Roads to Freedom) แต่ความเป็นเลิศของบทละครชุดนี้ ขนาดที่ว่าถ้าจะมีคนให้รางวัลโนเบลแกเฉพาะมัน ก็จะไม่แปลกใจเลยแม้แต่น้อย

บทละครที่ดังที่สุดของซาร์ตคือ "No Exit" เป็นการเสนอภาพนรกซึ่งน่าสนใจที่สุด นรกของซาร์ตไม่ต้องมีเครื่องทรมาณ ทัณฑ์ประหารอะไรทั้งสิ้น แค่จับเอาคนสามคนมาอยู่ในห้องเดียวกัน ไม่ช้าไม่นานพวกนี้ก็จะพูดจาเหน็บแหนม ทำร้ายกันเองอย่างเจ็บปวด ที่น่าเย้ยหยันคือประตูไม่ต้องลงกลอนกุญแจใดๆ ทั้งสิ้น เพราะมนุษย์เราไม่อาจหนีจากกันพ้น

ปรัชญาของซาร์ตอิงอยู่บนแนวคิดอัตถิภาวนิยม เคยพูดถึงเรื่องนี้ไปหลายรอบแล้ว เอาเป็นว่าถ้าอัตถิภาวนิยมเชื่อว่าความดีงามอยู่ในใจมนุษย์ ก็ไม่แปลกที่ซาร์ตจะเชื่อเช่นกันว่าความเลวร้ายเองก็ไม่ได้มีต้นกำเนิดที่แตกต่างไปมากนัก

แต่บทละครที่มักถูกพูดถึงเพื่อแสดงให้เห็นแนวคิดอัตถิภาวนิยมอย่างชัดเจนสุดคือ "The Flies" อิงอยู่บนตำนานอีเล็กตร้า และออเรสเตส ซาร์ตไม่ใช่คนเดียวที่จับเรื่องนี้มาเล่าใหม่ Racine เองก็เคยเอาตำนานนี้มาใช้ใน Andromaque เรื่องค่อนข้างซับซ้อน แต่เล่าสั้นๆ คือเป็นเหตุการณ์หลังจากสงครามเมืองทรอยจบ กษัตริย์อากาเมนอนกลับมายังดินแดนของตน แล้วถูกสังหารโดยราชินี เพราะแค้นเคืองที่อากาเมนอนสังเวยลูกสาวให้กับเทพโปเซดอน ราชินีเองก็ถูกสังหารโดยออเรสเตสซึ่งตอนหลังกลายเป็นบ้า

ในฉบับของซาร์ต จุดแตกต่างสำคัญคือผู้เขียนโยงการกระทำของออเรสเตสว่าเป็นการขัดคำสั่งมหาเทพเซอุส ซึ่งในสายตาของนักอัตถิภาวนิยมแล้ว ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ซ้ำยังเป็นสิ่งดี เพราะมนุษย์ต้องค้นหาศีลธรรมในใจตน ไม่ใช่ปฏิบัติตามคำสั่งของเทพเจ้า


ละครที่ชอบสุดในเล่มคือ Dirty Hands การผจญภัยของชายหนุ่มปัญญาชนในพรรคคอมมิวนิสต์ นี่คือบทละครแห่งความขัดแย้ง ตั้งแต่ความขัดแย้งในตัวฮิวโก ระหว่างทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ระหว่างอัตลักษณ์ชนชั้นกลางของตัวเอง และปรัชญาคอมมิวนิสต์ รวมไปถึงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฟาสซิสต์ เยอรมัน คอมมิวนิสต์ รัสเซีย และหน่วยกู้เอกราช แม้ฉากเมืองใน Dirty Hand จะเป็นเพียงประเทศสมมติ แต่ปมการเมืองตรงนี้สมจริงสมจังมาก ชนิดที่ไม่ว่าประเทศยุโรปตะวันออกประเทศใดก็คงเคยประสบปัญหานี้มาแล้ว สุดท้ายคือความขัดแย้งในครอบครัว ระหว่างผู้ชาย ผู้หญิง ฮิวโก้ และภรรยาของเขา เจสสิก้า

ใช้คำว่า "การผจญภัย" เพราะละครเรื่องนี้ "สนุก" มาก ประเภทมีฉากให้ตื่นเต้น ลุ้น ยิงกัน ระเบิดเถิดเทิงอีกต่างหาก ฮอลลีวู้ดช่วยด้วยเอามาสร้างเป็นหนังเร็ว

ละครเรื่องนี้น่าสนใจมากขึ้น ถ้าเอาไปพิจารณาร่วมกับปูมหลังของซาร์ต ซาร์ตมีชื่อเสียงในฐานะนักอัตถิภาวนิยม แต่ภายหลังเขาละทิ้งปรัชญาตัวนี้ อันมาโอบกอดมาร์กซิส กระนั้นซาร์ตต้องประสบปัญหาหลายประการ ความเข้ากันไม่ได้ระหว่างนักปรัชญาในตัว และนโยบายของพรรค ไม่รู้เหมือนกันว่าแกเขียน Dirty Hands เมื่อไหร่ แต่ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากประสบการณ์ตรงด้วย

ละครสั้นๆ ปิดท้ายเล่มคือ The Respectful Prostitute เล่าถึงการเหยียดผิวในอเมริกา ดีนั่นแหละ ไม่ใช่ไม่ดีหรอก แต่รู้สึกพิลิกยังไงชอบกลที่คนฝรั่งเศสผิวขาว เจ้าของแนวคิดอัตถิภาวนิยม และมาร์กซิส จะมาพูดถึงเรื่องคนผิวขาวผิวดำ The Respectful Prostitute เยี่ยมยอดในฐานะละคร แต่ไม่ได้เสนอมุมมองลึกซึ้ง หรือน่าขบคิดเท่ากับงานเขียนสีผิวอื่นๆ เช่น The Invisible Man ของเอลิสัน หรืองานของบาล์ดวิน

No comments: