Y. Martel's "Beatrice and Virgil"


ก่อนจะเขียน Life of Pi มาเทลมีผลงานนิยายและรวมเรื่องสั้นอย่างละเล่ม แต่ด้วยความดังเป็นพลุแตกของหนังสือเล่มนั้น หลายคนเลยเข้าใจผิดคิดว่านั่นคือนิยายเล่มแรกของเขา เราไม่เคยอ่านเล่มก่อนหน้านี้ แต่เมื่ออ่าน Beatrice and Virgil จบ ให้เราเดาคือ มาเทลคงไม่ใช่นักเขียนแบบที่หลายๆ คนเข้าใจว่าเขาเป็นหรอก Beatrice and Virgil ต่างหากน่าจะเป็นตัวตนที่แท้จริง

ตอนที่ได้ยินเนื้อเรื่อง Life of Pi เป็นครั้งแรกว่าเกี่ยวกับการผจญภัยขับเคี่ยวกันระหว่างเสือและเด็กบนเรือกู้ภัย หลายคนคงนึกในใจว่า มันน่าจะเป็นอุปมาอุปมัยที่นำไปสู่อะไรสักอย่าง ความเหนือชั้นของมาเทลคือเขียนเรื่องอุปมาอุปมัยให้กลายเป็น "เรื่องจริง" ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ในทางกลับกัน เมื่อรู้ว่า Beatrice and Virgil เป็นเรื่องของหนึ่งลิงและหนึ่งลาที่อาศัยอยู่บนเสื้อเชิ้ตขนาดมหึมา หลายคนคงคิดว่า "สงสัยนี่ก็เรื่องจริงแฮะ" ปรากฏว่าไม่ใช่ ตัวเอกของนิยายคือเฮนรี นักเขียนที่ร่วมมือกับผู้ชายอีกคนชื่อเฮนรีเหมือนกันเขียนบทละครเกี่ยวกับลิงและลาคู่นั้น

เหมือนกับนิยายโพสโมเดิร์นส่วนใหญ่ Beatrice and Virgil เป็นนิยายที่ฟอร์มจัดมากๆ การผสมผสานระหว่างเรื่องจริง เรื่องแต่ง การใช้บทละครแทรก สลับกับเหตุการณ์จริงเป็นระยะ และปิดท้ายด้วย "บทกวี" สั้นๆ สิบสองบท แม้ว่าใน Life of Pi จะมี "กลิ่น" ฟอร์มอยู่บ้าง แต่กับ Beatrice and Virgil กลิ่นโพโม "หึ่ง" ไปถึงหลังคาเลย

หัวใจของ Beatrice and Virgil อยู่ที่คำถามว่า คือทำไมศิลปินชอบนำเสนอเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวผ่านประวัติศาสตร์ ขณะที่สงครามถูกแปรรูปให้กลายเป็นของบางอย่างที่เล็กลงกว่าเดิม (เช่น สงครามโลกครั้งที่สองในนิยาย Atonement หรือ ภาพยนตร์ Saving Private Ryan) การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มักจะยึดโยงอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มาเทลตั้งข้อสงสัยว่า เราสามารถเขียนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผ่านนิทานอุปมาอุปมัยได้หรือเปล่า ซึ่งก็คือคำถามคลาสสิกของอดอร์นโนนั่นเอง เราจะใช้ภาษาอย่างไร หลังจากภาษามันถูกแปดเปื้อนไปด้วยความรุนแรงแล้ว

Beatrice and Virgil เป็นนิยายที่สอบผ่าน จุดเด่นของมันคือความสั้น ตอบรับขอบข่ายของนิยายที่แคบนิดเดียว มาเทลตั้งและตอบคำถามของตัวเองได้อย่างครบถ้วนในพื้นที่จำกัด แต่ขณะเดียวกัน มันก็เป็นนิยายซึ่งน่าผิดหวัง ไม่ใช่แค่ว่ามันถูกเขียนหลัง Life of Pi เท่านั้น (นิยายอะไรของมาเทลที่เขียนหลังจากเล่มนั้น ถ้าไม่เลิศล้ำพวยพุ่ง ก็ต้องน่าผิดหวังไปเลย) แต่เราชอบมาเทลที่จริงจังกับการเล่าเรื่องเป็นไปไม่ได้ มากกว่ามาเทลโพโม ที่เอาเรื่องเป็นไปไม่ได้มาใช้เล่าเรื่องจริงจัง (โลกเรามีนักเขียนประเภทหลังเยอะแล้ว)

พักหนึ่งในฮอลลีวูดมีข่าวลือว่าจะมีการสร้างภาพยนตร์การผจญภัยวัยหนุ่มของอีริค เลนแชร์ หรือที่รู้จักกันในนามแมคนิโตแห่ง X-Men ถ้าใครจำได้สมัยเด็กๆ อีริคเป็นชาวยิวที่ถูกนาซีจับเข้าค่ายกักกันและได้เรียนรู้พลังวิเศษของตัวเอง ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเกี่ยวกับการที่อีริคลุกขึ้นมา ต่อสู้กับนาซีด้วยการควบคุมสนามแม่เหล็ก

นี่ต่างหากนิยายซึ่งตอบโจทย์เดียวกัน และมาเทลควรจะเขียน หากไม่ได้เขียน!

No comments: