A. Carter's "Wise Children"


ก่อนอื่น ผมถูก tag ครับ คนที่ tag ผมคือเจ้าของบลอค live from calarts ติดตามดูบลอคของเขาได้ที่
http://livefromcalarts.blogspot.com

ดูร่องรอยของ blog tag ได้ที่
http://www.keng.ws/files/blog-tag_trace.html

--------------------------------------------------------------------------

การ tag คือการต้องบอกบางอย่างเกี่ยวกับตัวเองมา 5 ข้อ ตอนแรกคิดว่าจะอุทิศโพสหนึ่งไว้สำหรับการนี้ แต่ไปๆ มาๆ รู้สึกไม่ค่อยอยากมานั่งพล่ามเรื่องตัวเองเท่าไหร่ ที่ทำบลอค "รักชวนหัว" เพราะอยากรวบรวมบทความเกี่ยวกับหนังสือที่ได้อ่าน ติดตามความคิดของตัวเอง มากกว่ามานั่งจิ๊จ๊ะ (ถึงแม้บทวิจารณ์หนังสือเราจะกึ่งๆ เป็นการจิ๊จ๊ะก็ตาม) สุดท้ายก็เลยตัดสินใจตั้งแต่บัดนี้ บทวิจารณ์หนังสือห้าเล่มของเรา จะมีแทรกเรื่องส่วนตัวไว้ด้วย

และช่างเหมาะเจาะอะไรเช่นนี้ ที่หนังสือซึ่งกำลังอ่านคือ "เด็กฉลาด" ของนางฟ้าฝันเปียก แองเจล่า คาร์เตอร์ ที่เราเรียกเธอว่านางฟ้าฝันเปียก เพราะคาร์เตอร์คือสุดๆ ของที่สุดแล้วในการเขียนเรื่องกึ่งอีโรติก (ไม่ใช่อีโรติกเต็มที่อย่างแอน ไรซ์ที่เอากันตั้งแต่ปกหน้า ยันปกหลัง) "จักรกลปรารถนานรกของศาสตราจารย์ฮอฟแมน" คือหนังสือกึ่งอีโรติก กึ่งดรามา กึ่งผจญภัยที่เราชื่นชอบที่สุด

อ่านนิยายของคาร์เตอร์มาสี่เล่ม ไม่มีเรื่องไหนซ้ำแนวกันเลย "จักรกลปรารถนาฯ" เป็นนิยายผจญภัย "วีรบุรุษ และตัวร้าย" เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ "ราตรีละครสัตว์" เป็นนิทาน ส่วน "เด็กฉลาด" ถ้าจะให้จัดประเภทจริงๆ น่าจะเรียกว่าแนวครอบครัวพิสดาร (dysfunctional family) ตระกูลฮาซาร์ดเป็นที่เคารพยกย่องของคนทั่วไป ตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นแม่ซึ่งเป็นนักแสดงละครผู้โด่งดัง มาถึงสองพี่น้องฝาแฝด เมลคอร์ และเพเรกิน เมลคอร์สืบทอดตำนานครอบครัว ส่วนเพเรกินเป็นเศรษฐีน้ำมัน ก่อนอุทิศชีวิตศึกษาผีเสื้อในป่าลึกอเมซอน มาถึงรุ่นลูก แซซเกีย และอีโมเจน (ฝาแฝดอีกเช่นกัน) เป็นเจ้าแม่รายการทีวี และที่ขาดไม่ได้ ตัวเอกนิยายของเรา คู่แฝด ดอรา และนอรา สองสาวนักเต้นกินรำกิน

สิ่งที่คนนอกไม่รู้คือ ดอรา และนอรา แท้จริงเป็นลูกสาวนอกสมรสของเมลคอร์ซึ่งเพเรกินรับเลี้ยง ส่วนแซซเกีย และอีโมเจนคือลูกสาวของเพเรกิน ที่แอบไปมีชู้กับภรรยาของเมลคอร์ นี่แค่ความลับเล็กๆ น้อยๆ ยอดภูเขาน้ำแข็งในตู้กระดูกแห่งฮาซาร์ต ครอบครัวซึ่งไม่มีทางรู้ว่าใครเป็นพ่อ เป็นแม่ หรือเป็นลูกใครกันแน่ ชื่อนิยาย "เด็กฉลาด" นั้นมาจากคำพูดของเพเรกินที่ว่า "It's a wise child that knows its own father...but wiser yet the father who knows his own child." ประโยคแรกนั้นเอามาจาก Odyssey ส่วนประโยคหลัง คือคำถากถางเมลคอร์ที่ไม่ยอมรับรู้ว่าใครคือลูกสาวที่แท้จริงของตน

ชีวประวัติตระกูลฮาซาร์ตตั้งแต่รุ่นปู่ จนถึงรุ่นหลาน ถูกเล่าผ่านสายตาดอรา หนึ่งในฝาแฝดนักเต้น สลับกับเรื่องส่วนตัวของพวกเธอ ตลอดทั้งเล่มเต็มไปด้วยเกร็ดชีวิตซึ่งอ่านเพลินไม่รู้เบื่อ ฉากพะยี่ห้อคาร์เตอร์เห็นๆ คือเซกหมู่ท่ามกลางคฤหาสน์ซึ่งกำลังลุกเป็นเพลิง อีกอย่างที่ชอบมากๆ คือการสะท้อนกลับไปกลับมาระหว่างชีวิตผู้คนในตระกูลฮาร์ซาร์ต และตัวละครของเชคสเปียร์ ใครที่เป็นแฟนละครจริงๆ จะเห็นส่วนนั้นส่วนนี้จากโอเทลโล คิงก์เลีย ริชาร์ดที่สาม ฝันกลางฤดูร้อน และเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย

แต่เช่นเดียวกับนิยายคาร์เตอร์ส่วนใหญ่คือ "the parts're always better than their sum." หมายถึงแม้ส่วนนั้นส่วนนี้จะดี แต่พอเอามารวมกันแล้วกลับไม่น่าประทับใจเท่าเวลาคิดถึงแต่ละส่วนแยกๆ กัน (คงมีแต่ "จักรกลปรารถนาฯ" กระมังที่คาร์เตอร์สามารถผูกทุกอย่างเข้าด้วยกันได้อย่างสวยงาม) บทสุดท้ายของ "เด็กฉลาด" ประหลาดดีแท้ เหมือนเรื่องอาลัยอาวรณ์ของคนแก่ กระโดดข้ามเวลาไปสี่สิบปี เล่าเหตุการณ์งานเลี้ยงวันเกิดอายุครบร้อยปีของเมลคอร์ ซึ่งตอนนี้กลายเป็นนักแสดงในตำนาน เป็นบทสรุปที่เมโลดรามาพิลึก เมื่อตัวละครเอาความลับมาแฉใส่กันต่อหน้านักข่าว สุดท้ายทุกคนกอดคอกันร้องไห้ พออ่านจบทีแรกอดเบ้ปากไม่ได้ ก่อนตระหนักว่านี่คือนิยายเรื่องสุดท้ายของคาร์เตอร์ (เขียนหนึ่งปีก่อนเธอเสียชีวิต) พอเข้าใจได้ว่าบางทีสำหรับคนที่รู้ตัวว่าเวลาเหลืออีกไม่มาก การอภัยให้กันอาจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

จุดเด่นสุดของ "เด็กฉลาด" คือเนื้อเรื่องที่ประกอบด้วยฝาแฝดสี่คู่ เสียดายที่คาร์เตอร์ไม่ได้เอาจุดนี้มาใช้ประโยชน์เท่าที่ควร แฝดหลายคู่ในเรื่อง เหมือนจะใส่มาว่าเป็นแฝดโดยไม่จำเป็น หรือถ้าเปลี่ยนเป็นพี่น้องธรรมดา ก็ดูจะไม่เสียความตรงไหน แฝดคู่ที่โด่งดังที่สุดในละครเชคสเปียร์คือวิโอล่า และเซบาสเตียน ซึ่งแม้ละครเรื่องนี้จะถูกกล่าวถึง แต่ก็ไม่เห็นจะเอาพลอตส่วนไหนมาเล่นกับเนื้อเรื่องตรงๆ

สาเหตุที่บอกว่า "เด็กฉลาด" เหมาะจะเอามาผูกกับชีวิตเรา ไม่ใช่ว่าเพราะมีฝาฝงฝาแฝดอะไรกับเขาหรอก แต่คนรักคนแรกของเราก็เป็นฝาแฝดเหมือนกัน เพราะเหตุนี้กระมัง เลยรู้สึกว่าประเด็นนี้น่าหยิบจับอะไรมาเล่นได้เยอะ (คิดง่ายๆ แล้วกันว่าถ้า Paul Auster เขียนนิยายที่มีฝาแฝดสี่คู่ มันจะ existentialist ขนาดไหน) แต่ในทางกลับกัน การเขียนนิยายปรัชญาตัวตนก็ไม่ใช่สไตล์ของคาร์เตอร์อยู่แล้ว

No comments: