ความน่าจะเป็น กับภาวะหลังสมัยใหม่

หมายเหตุ: บทความนี้ขยับขยายมาจากบลอคเก่าของผู้เขียน ที่พูดถึงรวมเรื่องสั้น ความน่าจะเป็น


คงไม่เชยไปหรอกนะกับหัวข้อข้างบน สมัยนี้ยังมีคนอ่านความน่าจะเป็นอยู่หรือเปล่า วัยรุ่นเขาเคยได้ยินศัพท์คำว่า "หลังสมัยใหม่" (postmodernism) กันบ้างไหม ย้อนไปสักหกเจ็ดปี "หลังสมัยใหม่" "เด็กแนว" "อินดี้" ล่องลอยตามหน้านิตยสาร หนังสือพิมพ์ กระทั่งบทความวิชาการ ทุกคนลงความเห็นกันว่าสังคมเปลี่ยนแปลงไปแล้ว วัฒนธรรมการผลิต และบริโภคถูกพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่เปลี่ยนแปลงยังไง พลิกไปเป็นรูปแบบไหน และคำเหล่านี้จริงๆ แปลว่าอะไร แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญยังต้องเกาหัว

เพราะถูกมองว่าเป็นแฟชั่น โพสโมเดิร์นจึงมีวันตกยุค มีวาระหลุดลอกจากทำเนียบคำสุดฮิต

แต่ภาวะหลังสมัยใหม่ไม่ใช่แฟชั่น ไม่เหมือนเสื้อสายเดี่ยว หนังสือทำมือ หรือวงดนตรีอินดี้ (แม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของหลังสมัยใหม่ก็ตาม) โพสโมเดิร์นคือความเป็นจริงทางสังคม ในแง่ศิลปะ บันเทิง ไปจนถึงเศรษฐกิจ และการเมือง มันอาจเป็นเรื่องปรกติไปแล้วก็ได้ที่ศัพท์แสงซึ่งใช้อธิบายปรากฏการณ์บางอย่างในบ้านเรา มักจะมาถึงก่อนปรากฏการณ์นั้น (อย่าง "โลกาภิวัฒน์" ฮิตมากเมื่อประมาณสิบ สิบสองปีที่แล้ว สมัยที่อินเตอร์เน็ตยังไม่แพร่หลายด้วยซ้ำ) ดังนั้นต่อให้ "หลังสมัยใหม่" ไม่ปรากฎบนแท่นพิมพ์ ไม่หลุดจากปากนักคิดขวัญใจวัยรุ่น แต่ไม่มีใครปฏิเสธมันได้ ตั้งแต่นี้ตึกทุกหลัง และเสื้อผ้าทุกชิ้นจะถูกออกแบบโดยสถาปนิก และดีไซเนอร์ผู้เติบโตมากับแนวคิดหลังสมัยใหม่ (ไม่ว่าพวกเขาจะหลีกหนีหรือยอมรับมันก็ตาม) โฆษณาสินค้าขายความเป็นหลังสมัยใหม่ให้กับผู้บริโภค และการเมืองกำลังก้าวสู่โลกหลังสมัยใหม่

หลังสมัยใหม่ในแต่ละวงการมีความหมายแตกต่างกัน แม้แต่ตัวผู้เขียนเองก็เรียนรู้ความหมายของคำนี้ในเชิงสถาปัตยกรรมเป็นอันดับแรก ก่อนย้ายมาเป็นเรื่องวรรณกรรม และการเมือง ทุกนิยามมีส่วนเชื่อมโยงให้ผู้ศึกษามองออกว่าเป็นเรื่องเดียวกัน และไม่ใช่การยากถ้าจะเข้าใจมันจากแง่มุมหนึ่ง ก่อนผันแปรความเข้าใจนั้นให้ครอบคลุมกว้างขวางขึ้น บทความนี้ไตร่ตรองความหมายของหลังสมัยใหม่ในเชิงวรรณกรรม ผ่านผลงานซึ่งในยุคหนึ่งได้ชื่อว่าเป็นตัวตนอันจับต้องได้ของโพสโมเดิร์นเลยทีเดียว (สำหรับผู้สนใจความหมายในเชิงสถาปัตยกรรม และการเมือง ผู้เขียนขอแนะนำ The American Skyscraper: Cultural Histories โดย Moudry และ The Return of the Political โดย Mouffe)


ตอนที่ความน่าจะเป็นได้รับรางวัลซีไรต์ นักอ่านแบ่งออกเป็นสองฝ่าย กลุ่มที่ "ชื่นชม" และมองรวมเรื่องสั้นชิ้นนี้ว่าเป็นความแหวกแนวของเด็กรุ่นใหม่ และกลุ่มที่ "ต่อต้าน" ด้วยเหตุผลคืออะไรใหม่ ไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป ที่จริงทั้งฝ่าย "ชื่นชม" และ "ต่อต้าน" ต่างมีจุดยืนร่วมกันคือขาดความ "เข้าใจ" ทำให้ประเด็นหลักในการวิจารณ์ความน่าจะเป็นอยู่ที่ว่าเราควรชื่นชมคนริเริ่มทำอะไรไม่เหมือนชาวบ้านดีหรือเปล่า

Lyotard นักคิดชาวฝรั่งเศสเคยกล่าวไว้ว่า จุดเด่นของสังคมหลังสมัยใหม่คือการขาดศรัทธาในคุณค่าที่มาจากภายนอก วรรณกรรมยุคใหม่จึงไม่ขึ้นตรงต่อทฤษฎีวรรณกรรมข้อไหนๆ แต่ใช้ตัวมันเองกำหนดคุณค่าของชิ้นงาน ยกตัวอย่าง ภาพยนตร์ของฮองซองซู หรืออภิชาติพงษ์ซึ่งแบ่งเป็นสองส่วน เราสามารถมองส่วนแรกเป็นตัวกำหนดกฎเกณฑ์ซึ่งเอาไปใช้ตัดสินอีกทีว่าส่วนหลังประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลวแค่ไหน แนวคิดนี้คล้ายกับที่คุณปราบดานำเสนอผ่านไอ้ปลงในด้วยตาเปล่า โดยตัวละครตัวนี้มีความสามารถพิเศษคือตัดสินมนุษย์ที่เพิ่งพบกันครั้งแรกว่าดี หรือชั่วได้โดยอาศัยเพียงการมองใบหน้า ไม่ได้อิงบรรทัดฐาน หรือศีลธรรมใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ละเรื่องสั้นในความน่าจะเป็นจึงมีทั้งดี และไม่ดี และไม่ได้เป็นเช่นนั้นเพียงเพราะว่ามันแปลก หรือไม่แปลก อย่าง เหตุการณ์กรรมซ้ำเล่า ดำเนินเรื่องราวผ่านการเปลี่ยนมุมมองระหว่างตัวละครบุรุษที่สาม แสดงให้เห็นความเกี่ยวเนื่องแต่ละชีวิตที่โดยผิวเผินเหมือนจะแยกจากกัน มุมมองกระโดดข้ามไปมาเตือนให้ผู้อ่านรู้ว่า ชีวิตจริงไม่ใช่เรื่องสั้นหรือนิยาย ที่เราต้องเป็นตัวเอก เป็นศูนย์กลางของทุกการเคลื่อนไหวในจักรวาล แนวคิดตรงนี้คล้ายคลึงกับลัทธิโครงสร้างนิยม (structuralism) ไม่ค่อยมีวรรณกรรมไทยเรื่องไหนเล่นกับปรัชญาตัวนี้ เท่าที่นึกออกก็บางเรื่องสั้นในสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคนอาจจัดเข้าทำนองนี้ได้เช่นกัน

อีกเรื่องซึ่งน่าสนใจคืออุปกรณ์ประกอบฉากนำเสนอภาพขัดแย้งระหว่างความจริงน้ำเน่า และเหตุการณ์เบื้องหลัง ประหนึ่งชีวิตสุดท้ายก็เป็นแค่ละคร ที่นักแสดงไม่ควรยึดติดอะไรมาก อุปกรณ์ประกอบฉาก เหตุการณ์กรรมซ้ำเล่า และอีกหลายเรื่องสั้นเช่น นักเว้นวรรค มารุตมองทะเล มีลักษณะเป็น meta-fiction หรือเรื่องแต่งที่ทลายกำแพงที่สี่เพื่อเตือนให้คนอ่านระลึกอยู่ตลอดเวลาว่านี่คือเรื่องแต่ง เรื่องจำพวกนี้มักเล่นกับขนบในการเขียน และการส่งสานส์ ตอนที่ความน่าจะเป็นตกอยู่ภายใต้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ ประเด็นการเล่นกับภาษาของคุณปราบดาถูกหยิบยกมาพูดกันมาก (คุณปราบดาถึงกับต้องออกมาให้สัมภาษณ์เรื่องการปลดแอก ความเป็นทาส เป็นนายของภาษากันเลยทีเดียว) แม้จะมีส่วนคล้ายคลึง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น meta-fiction กับโพสโมเดิร์นไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเสมอไป บรรยากาศเป็นกันเอง คือเรื่องสั้นที่แทบไม่ได้ก้าวข้ามกำแพงที่สี่เลย แต่ถ้าคนอ่านยอมรับกฎเกณฑ์ความไม่มีที่มาที่ไปของตัวละคร จะจับความได้ว่าน้ำใจสามารถเกิดขึ้นได้เสมอในทุกสถานการณ์ ระหว่างคนแปลกหน้าผู้ "ไม่มีที่มาที่ไป" สองคน


อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น ความน่าจะเป็นมีทั้งเรื่องสั้นที่ประสบ และไม่ประสบความสำเร็จ แม้ อะไรในอากาศ จะพยายามเล่นกับขนบของภาษาพูด แต่ด้วยความยาวของมัน ทำให้แต่ละองค์ประกอบซึ่งบรรจุอยู่ภายในไม่ได้ไปทางเดียวกันทั้งหมด ประกอบกับสานส์และวิธีนำเสนอที่ไม่สัมพันธ์กัน ก็เลยจะกลายเป็นรอยร้าวในระบบของชิ้นงาน เช่นเดียวกับ ตามตาต้องใจ ที่ผู้เขียนจงใจสื่อความน่ารัก ความผิดสามัญของเด็กหญิงต้องใจ และ ตื้น-ลึก หนา-บาง ที่เล่นกับสำนวนภาษา ทั้งสองเรื่องลงรายละเอียดมากมาย แต่เหมือนผู้เขียน "สนุกมือ" เกินไป พอเรื่องราวไม่ดำเนินไปไหน จึงออกมาเหมือนภาพสเก็ต มากกว่าเรื่องสั้นเป็นชิ้นเป็นอัน

ในหนังสือรวมบทความ The Curtain มิลาน กุนเดระกล่าวอย่างชวนคิดว่าประวัติศาสตร์ของวรรณกรรม (และงานศิลปะอื่นๆ )ไม่ได้ทดแทนกันและกัน ของเก่าไม่ได้มาแทนที่ของใหม่ หากอยู่เคียงข้าง วางเป็นคู่ ในช่วงเวลาเดียวกัน แม้โดยรวมความน่าจะเป็นจะประกอบไปด้วยเรื่องสั้นที่โอบกอดแนวคิด และความงามแบบหลังสมัยใหม่ แต่ก็มีเรื่องหนึ่งที่เข้าทำนองแบบแผน และเป็นเรื่องที่ดีที่สุดในเล่มเสียด้วย ซึ่งก็คือ ความน่าจะเป็น ผลงานชิ้นนี้เล่นกับขนบวรรณกรรมว่าด้วยการเติบโต ตัวเอกของเรื่องทำนองนี้มักมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด เข้ามาหาโอกาสในกรุงเทพฯ ผ่านความลำบาก ล้มเหลวก่อนจะประสบความสำเร็จ แต่ก็ต้องแลกกับศีลธรรม และความใสซื่อแบบต่างจังหวัดที่ถูกปลูกฝังมาแต่เกิด แต่คุณปราบดาไม่ได้ให้ "ฉััน" เปลี่ยนแปลงไปขนาดนั้น ถึงแม้จะมีอาชีพคนโฆษณาซึ่งรับใช้ตลาด และนายทุน แต่ความเปลี่ยนแปลงอย่างเดียวของ "ฉัน" ซึ่งคนดูจับต้องได้คือ "เหงาขึ้น" (ไม่ได้ "เลวลง" เหมือนขนบเรื่องทำนองนี้) "ฉัน" คือมนุษย์ในโลกหลังสมัยใหม่ ซึ่งบรรทัดฐาน การตัดสินจากภายนอกกลายเป็นเรื่องนอก (หรืออย่างน้อยก็ไกล) ประเด็นไปเสียแล้ว ความเหงา และการขาดราก (สื่อผ่านการตายของตา และยายที่เลี้ยง "ฉัน" มา) ต่างหากคือรูโหว่ทางศีลธรรมอย่างแท้จริง

ความน่าจะเป็น ไม่ใช่แค่ก้อนกรวดที่ถูกโยนลงบ่อวรรณกรรม สร้างวงคลื่นชั่วประเดี๋ยวประด๋าว ถัดจากหนังสือเล่มนี้ ก็มีผลงานชิ้นอื่น ที่แม้ไม่ได้รับอิทธิพลมาจากคุณปราบดาโดยตรง แต่ก็ช่วยให้สังคมเปิดกว้าง และยอมรับผลงานเหล่านั้นมากขึ้น ชัดเจนสุดคือ โลกของจอม ซึ่งเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ในปีถัดมา (น่าคิดเหมือนกันว่าถ้า กูคือพระเจ้าออกตีพิมพ์หลังจากปี 2545 มันจะยังคงพ่ายแพ้ให้กับนวนิยมอนุรักษ์นิยมตกขอบอย่าง อมตะ อยู่ไหม) กระทั่งการเล่าเรื่องกึ่งสารคดีของคุณเดือนวาดใน ช่างสำราญ รวมไปถึงผลงานนักเขียนรุ่นใหม่อย่างคุณอนุสรณ์ ติปยานนท์

อย่างไรก็ดีภายหลัง ความน่าจะเป็น คุณค่าแบบวรรณกรรมหลังสมัยใหม่ และการเล่าเรื่องแบบอนุรักษ์นิยมถูกนำมาผสานกันอย่างชัดเจนขึ้นในผลงานยุคหลังๆ ของคุณปราบดา ตั้งแต่บทภาพยนตร์ เรื่องรักน้อยนิดมหาศาล จนถึงนิยาย ฝนตกตลอดเวลา พัฒนาการด้านวรรณกรรมของคุณปราบดาสวนกระแสกับภายนอก คือเริ่มจากชิ้นงานที่หลังสมัยใหม่มากๆ ก่อนปรับเข้าหารสนิยมการอ่านและเสพย์ของผู้บริโภค ซึ่งไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะแต่ผลงานชิ้นเอกที่แท้จริงจะต้องเป็นสะพานเชื่อมระหว่างยุคสมัยในประวัติศาสตร์ของวรรณกรรมให้มาบรรจบกันให้ได้

และนี่คือโจทย์ และเป้าหมายของนักเขียนตั้งแต่ยุคคลาสสิค สมัยใหม่ จนถึงหลังสมัยใหม่

T. Coletti's "Naming the Rose"


ใน Naming the Rose คอลเลตศึกษาผลงานอมตะของอีโค The Name of the Rose จากแง่มุมสัญศาสตร์ ถึงอีโคจะเขียนชมงานวิจัยชิ้นนี้บนปกว่า "เต็มไปด้วยข้อสังเกตที่ทำให้ผมต้องกลับไปอ่านงานตัวเองใหม่อีกรอบ" เรากลับรู้สึกว่าการตีความของคอลเลตตรงไปตรงมา ถ้าผู้อ่านนิยายของอีโคมีพื้นความรู้ภาษาศาสตร์ ทฤษฎีโครงสร้างนิยม หลังโครงสร้างนิยม น่าจะจับประเด็นที่ผู้เขียนหยิบยกมาได้เองไม่ยาก

จริงๆ เราไม่ค่อยชอบงานวิจัยวรรณกรรมซึ่งอิงผลงานเป็นชิ้นๆ แบบนี้ เพราะรู้สึกเหมือนถูกจับมือจูงเข้าไปในสถานที่ที่ถ้าเราจะเดินเที่ยวเอง ก็น่าจะเดินได้ (แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีมัคคุเทศก์มาคอยชี้ให้ดูนู่น ดูนี่ ก็คงได้อะไรมากกว่าเยอะ) น่าเสียดายที่ผลงานชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ออกมาเร็วเกินไป คอลเลตจึงยังไม่มีโอกาสเอาผลงานชิ้นอื่นๆ ของอีโค มาวิเคราะห์ผ่านมุมมองที่ว่า (มันถูกตีพิมพ์ครั้งแรกปีหนึ่งก่อน Foucault's Pendulum นิยายเล่มที่สองของอีโค)

ข้อสรุปสั้นๆ ของคอลเลตคือ The Name of the Rose แสดงให้เห็นพัฒนาการของสัญศาสตร์ จากแนวคิดแบบ meta-physics ที่บอกว่าสัญลักษณ์คือสิ่งที่ใช้แทน "ความจริง" บางอย่าง มาเป็นแนวคิดแบบโครงสร้างนิยม ที่สัญลักษณ์คือเครือข่ายความสัมพันธ์ของทุกสิ่ง ของชิ้นหนึ่ง "เป็น" และ "ถูกเรียก" ด้วยชื่อหนึ่ง เพราะว่ามัน "ไม่เป็น" และ "ไม่ได้ถูกเรียก" ด้วยชื่ออื่นๆ พัฒนาการตรงนี้ปรับเอามาใช้ได้ทั้งเรื่องการเมือง ความรักและอีกมากมาย

โดยส่วนตัวเราสนใจทฤษฎีหลังโครงสร้างนิยมมากกว่า "ชื่อ" ในฐานะ "แรงขับเคลื่อนของความปรารถนา" (movement of desire) การนิยามสิ่งหนึ่งโดยผ่านความว่างเปล่า หรือสภาพไร้ตัวตนของมัน คอลเลตเหมือนพยายามตบโจทย์ตรงนี้อยู่บ้าง แต่ก็ยังไปไม่ถึง

J. Joyce's "A Portrait of the Artist as a Young Man"


อืม...ไม่ชอบอ่ะ ลำบากใจจังเวลาไม่ชอบหนังสือโคตรคลาสสิคแบบนี้ แต่ก็ไม่ชอบจริงๆ ไม่รู้จะอธิบายยังไงเหมือนกัน ยอมรับว่ามันเป็นหนังสือดี จอยซ์เขียนได้ดีมาก ช่วงที่เทศนายาวๆ ขนาดเราเป็นคนไม่ชอบอ่านอะไรพวกนี้ ยังทนๆ อ่านได้เลย มีหลายประเด็นน่าสนใจ การเติบโตของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง กว่าจะกลายมาเป็นศิลปิน ปัจจัยจากโลกภายนอก การเมือง ศาสนา เพื่อนฝูง และครอบครัว ที่พยายามเปลี่ยนแปลงเขาให้ไปทางนู้นทางนี้ ซึ่งในที่สุดเขาก็สามารถทำตามคำเรียกร้องของจิตวิญญาณ ชอบตัวละครผู้หญิงด้วย พวกหล่อนเหมือนๆ จะไร้หน้า และนิรนาม แต่กลับส่งอิทธิพลมหาศาลต่อตัวเอก

สรุปสั้นๆ แล้วกันว่า the parts are better than their sum. ชอบเป็นส่วนๆ แต่พอเอามารวมกันแล้วมันโหลงๆ เฉยๆ ยังไงไม่รู้

ธรรมชาตินิยม และรูปแบบนิยมในงานศิลปะไทย (ตอนแรก)


1.

ในใบปลิวที่พิพิทธภัณฑ์ศิลปะแห่งลอสแองเจลิสแจก มีการพูดถึงพัฒนาการของผู้กำกับภาพยนต์ เบลา ทาร์จากนักธรรมชาตินิยม (naturalist) มาเป็นนักรูปแบบนิยม (formalist) ตอนที่ผมอ่านข้อความนี้ครั้งแรกก็งงอยู่พักใหญ่ว่ารูปแบบนิยม มันต่าง หรือตรงข้ามกับธรรมชาตินิยมตรงไหน ส่วนหนึ่งก็เพราะพอได้ยินธรรมชาตินิยม ผมไพล่ไปนึกถึงความหมายในเชิงชีววิทยา พวกธรรมชาติ พืชพันธุ์ (ซึ่งถ้าเป็นความหมายในแง่นั้น ก็น่าจะตรงข้ามกับอุตสาหกรรมนิยม (industrialist) มากกว่า) ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าผลงานรุ่นแรกของเบลา ทาร์เป็นการถ่ายภาพภูเขา หรือป่าไม้นะครับ ธรรมชาตินิยมให้แปลตรงตัวคือลักษณะหนึ่งของงานศิลปะที่เน้นการเสพย์ และสร้างงาน "อย่างเป็นธรรมชาติ" ตรงข้ามกับรูปแบบนิยมที่เน้นการ "วางแผนผัง"

แต่เอาเข้าจริง อะไรเล่าคือการสร้าง และเสพย์ศิลปะ "อย่างเป็นธรรมชาติ" ธรรมชาติของงานศิลปะบางชิ้นเรียกร้องให้เราดูมันจากภาพรวม แต่ก็มีเหมือนกัน งานศิลปะที่ผู้เสพย์ถูกบังคับให้เสพย์ไปทีละน้อย ทีละชิ้นส่วน นิยามที่ชัดเจนกว่าของธรรมชาตินิยม เลยน่าจะเป็นงานศิลปะที่เน้นการเล่าเรื่อง "ตามลำดับเวลา" ซึ่งก็ไม่ได้ขัดแย้งกับนิยามข้างบน เพราะความคิด "ตามลำดับเวลา" คือธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว นิวตันบอกว่ามนุษย์เรามีอิสระที่จะเคลื่อนที่ใน "อวกาศ" (space) แต่ถูกจำกัดให้ไหลไปกับ "ห้วงเวลา" (time)


2.

หลายปีมาแล้ว orange ออกโฆษณาชิ้นหนึ่งซึ่งโด่งดังมาก เป็นรูปขาวดำ มีสองข้อความสั้นๆ กำกับความคิดที่มองต่างมุม ติดตาสุดคือรูปน้ำครึ่งแก้ว เสร็จแล้วก็มีคำพูดประมาณ "เหลือน้ำครึ่งแก้ว" (มองโลกในแง่ดี) และ "หายไปตั้งครึ่งแก้ว" (มองโลกในแง่ร้าย) จริงๆ โฆษณาชุดนี้ออกมาเยอะมาก แต่ผมจำไม่ค่อยได้แล้วว่ามีอะไรบ้าง อีกอันที่จำได้ และอยากหยิกยกมาพูดถึงคือ ผู้ชายสองคนมองภาพติดผนัง คนหนึ่งแต่งตัวแบบนักธุรกิจมองไกลๆ มีคำพูดว่า "ราคาเท่าไหร่" ส่วนอีกคนไว้ผมเผ้า หนวดเครายาว ยื่นหน้าเข้าไปใกล้ "ทำอย่างไร" จุดประสงค์ของสปอตตัวนี้คงเพื่อแสดงว่าของชิ้นหนึ่งมีคุณค่าได้ทั้งในแง่เงินตรา และแง่ความงาม แต่ที่ผมติดใจมากๆ คือทำไมถึงเหมารวมว่าคนที่มองงานศิลปะห่างๆ ต้องตีความในเชิงธุรกิจไปหมด (ไม่นับว่าทำไมคนแต่งตัวดีๆ ถึงต้องคิดแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ แล้วมีแต่พวกซำเหมา ไว้หนวดเคราเท่านั้นรึ ถึงจะเรียกตัวเองว่าศิลปินได้) คนที่มองอะไรห่างๆ ก็น่าจะจัดเป็นผู้นิยมชมชอบงานศิลปะได้เช่นกัน

ยกตัวอย่างรูปนางรำสีน้ำของอาจารย์จักรพันธุ์ คุณสามารถมองมันให้สวยได้สองแบบ แบบแรกคือเพ่งเข้าไปใกล้ มองความถี่ยิบของจุดแต้มแต่งสี วิธีผสมน้ำให้เกิดความเข้ม และเจือจาง รายละเอียดเครื่องประดับนานาที่เธอสวมใส่ มองความอ่อนช้อยของลายเส้น ทั้งหมดนี้คือการมองรายละเอียด ซึ่งไม่สามารถกระทำได้พร้อมๆ กันทั้งรูป แต่ต้องค่อยๆ ดู "ตามลำดับเวลา" ("ลำดับเวลา" ในที่นี้อาจฟังดูแปลก เพราะภาพวาดไม่ใช่วรรณกรรม หรือภาพยนตร์ที่มีก่อน และหลังชัดเจน)

ขณะเดียวกัน กุญแจสำคัญที่ทำให้ภาพนางรำนี้ออกมางดงามคือความลงตัวขององค์ประกอบใหญ่ ตำแหน่งของ "หาง" เส้นรัศมีที่ลากเข้าหาศูนย์กลางช่วยดึงสายตาผู้ชมให้จับจ้องไปที่ผู้รำ ใบหน้าสีขาวท่ามกลางเครื่องแต่งกายสีสันสดใส รวมไปถึงความอสมมาตรของแขนซ้ายขวาช่วยรักษาน้ำหนักของภาพ องค์ประกอบเหล่านี้ผ่านเข้าการรับรู้เรา "พร้อมๆ กัน" ไม่สามารถแบ่งแยกก่อนหลังได้

อะไรคือ "ธรรมชาติ" ของการชมงานศิลปะ เข้าไปดูใกล้ๆ หรือมองห่างๆ


3.

วัฒนธรรมไทยเน้นการชื่นชม และสร้างสรรค์ศิลปะแบบธรรมชาตินิยม รูปฝาผนังวัด อุโบสถคือจิตรกรรมที่ผู้ชมควรสำนึกถึง หรือมีพื้นความรู้ในเรื่องราว นิทานที่จิตรกรต้องการสื่อสาร ฝาผนังวัดพระแก้วยาวไม่รู้กี่กิโลเมตร แท้จริงก็คือสมุดวรรณคดี พร้อมภาพประกอบ เราสามารถบอกได้ว่าตำแหน่งไหนมาก่อน มาทีหลัง ยิ่งเสริมกับ medium กำแพงวัดซึ่งจำกัดขอบเขตการรับรู้ (ถ้าไม่อาศัยเทคโนโลยี คงไม่มีมนุษย์ตนใดรับเอาภาพวาดรามเกียรติทั้งหมดเข้ามาได้พร้อมๆ กัน) ขณะเดินวนรอบกำแพง แวะทำนู่นทำนี่ นั่งพักเหนื่อย ซื้อดอกไม้ธูปเทียน ไหว้พระ แล้วก็ "อ่าน" รามเกียรติไปพลาง ผู้ชมดังกล่าวตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของลำดับเวลา

สมัยก่อนแม่ผมทำงานอยู่แถวสนามหลวง ทุกเช้าจะเอาผม และพี่เลี้ยงมาปล่อยที่วัดพระแก้ว ก็เดินวนเดินชมมาตั้งแต่เล็ก เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง จนบัดนี้ เติบโตขึ้น ได้เห็นอะไรมากมาย ก็ยังคงรู้สึก ความมหัศจรรย์ของงานศิลปะธรรมชาตินิยมชิ้นนี้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหลังคาโบสถ์ซิซทีนแม้แต่น้อย

ไม่จำเป็นว่าจิตรกรรมฝาผนังจะต้องมีลำดับเวลา ภาพวาดอุโบสถด้านหลังพระประธานคือตัวอย่างผลงานรูปแบบนิยม ลองหลับตาจินตนาการว่าคุณกำลังจะเข้าไปไหว้พระในอุโบสถสักแห่ง เอาวัดพระแก้วก็ได้ วาดภาพอุโบสถวัดพระแก้วคือพระประวัติของพระพุทธเจ้า ถอดรองเท้าวางไว้ด้านหน้า ยกขาก้าวข้ามธรณีประตู เดินเข้าไป สิ่งที่คุณเห็นคือแท่นบูชาพระแก้วมรกต ถัดไปด้านหลังเป็นภาพวาดพระประวัติ คุณสมควรอ้าปากค้าง ชื่นชมความอลังการ นี่คือความสวยงามที่กระแทกจักษุประสาทในคราวเดียว สัมพันธภาพระหว่างสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และการตกแต่งภายใน หลังคา คานไม้ กำแพงอุโบสถ ผนัง ตำแหน่งพระประธาน ชั่ววินาทีนั้นความเฉิดฉายจุดประกายให้คุณอยากดำเนินรอยตามทางของพระศาสดา

เพื่อการเปรียบเทียบที่ชัดเจน ลองเหลียวซ้ายขวา จะเห็นกำแพงอุโบสถซึ่ง "บอกเล่า" พระประวัติ งามเหมือนกัน แต่งามคนละแบบ ใช่ไหมครับ


4.
อาจารย์ธีรยุทธ บุญมีเคยเขียนถึงพัฒนาการของงานศิลปะแขนงต่างๆ อธิบายแรงบันดาลใจช่างแต่ละสมัย ด้วยความคิดสั้นๆ คือ "ทำอย่างไร ถึงจะให้งามกว่าที่คนรุ่นก่อนเขาทำกัน" บางครั้งเทคโนโลยีก็เป็นตัวแปรง่ายๆ เอื้อให้ช่างยุคหลัง ซึ่งกระทำแบบเดียวกันกับช่างยุคก่อนนั่นแหละ แต่เพราะเครื่องไม้ เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ทันสมัยกว่า ผลงานก็เลยออกมาวิไลกว่า ถ้าพูดถึงประติมากรรม อาจารย์ธีรยุทธยกให้พระพุทธรูปหล่อของสุโขทัยคือสุดยอดแล้วในเชิงนี้ ตัวอย่างเช่นพระพุทธรูปปางลีลาที่คนรู้จักกันดี หรือพระนอนวัดบวร (แต่รูปข้างบนไม่ใช่นะครับ นี่เป็นผลงานอาจารย์เขียน ยิ้มศิริซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปะสุโขทัย บวกแนวคิดตะวันตกลงไปด้วย) นี่คือความงามรูปแบบนิยม นำรูปทรงเรขาคณิตที่ถูกปรับแปรให้อ่อนช้อยมาวางคู่ขนานกันอย่างลงตัว

พอถึงสมัยอยุธยา เมื่อช่างไม่อาจพัฒนารูปทรงให้เลิศล้ำไปกว่าคนรุ่นก่อน ช่างยุคนั้นจึงรับอิทธิพลขอม เพิ่มเครื่องประดับ เครื่องทรงแก่พระพุทธรูป หรือไม่ก็แกะสลักแท่นให้วิจิตรพิสดาร ความงามของประติมากรรมอยุธยาก็เลยเป็นแบบธรรมชาตินิยม ที่น่าคิดก็คือการที่ช่างให้ความสำคัญกับรายละเอียด เลยทำให้ภาพรวมของงานอ่อนด้อยลงไปด้วยหรือเปล่า ก็คงต้องทิ้งไว้เป็นเรื่องรสนิยมส่วนบุคคลก็แล้วกัน ใครที่คิดว่ารูปทรงประติมากรรมสุโขทัย หรืออยุธยา แบบไหนงดงาม อ่อนช้อยกว่ากัน

แต่ที่แน่ๆ คือความขัดแย้งระหว่างธรรมชาตินิยม และรูปแบบนิยมมีอยู่จริง เมื่อช่างยุคใหม่เริ่มเบื่อหน่ายการลงรายละเอียดแบบธรรมชาตินิยม และอยากกลับไปหาความงามดั้งเดิม ในที่สุดก็เลยเกิดเป็นศิลปะยุคใหม่ เช่นลัทธิรื้อถอนโครงสร้าง (deconstruction) ความงามแบบเรียบง่าย (minimalist) และศัพท์ยากๆ อื่นๆ อีกมากมาย


5.

เทียบกับศิลปะแขนงอื่นๆ สถาปัตยกรรมมีความโดดเด่นในฐานะที่มันอิงอยู่กับทั้งเทคโนโลยี และธุรกิจ จะสร้างตึกขึ้นมาสักหลัง ต้องอาศัยวิศวกรรมศาสตร์ และเงินตรา ในแง่สุนทรีศาสตร์ สถาปัตยกรรมก็เป็นงานศิลปะที่เส้นแบ่งระหว่างธรรมชาตินิยม และรูปแบบนิยมแทบไม่ปรากฎ

ต้องบอกไว้ก่อนว่า ที่พูดมายาวเหยียด ไม่ใช่ว่าเราสามารถเอากฎเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งมาใช้ตัดสินงานศิลปะได้ กระทั่งภาพวาดกำแพงวัด ต่อให้คุณค่าของมันจัดอยู่ในเชิงธรรมชาตินิยม แต่ถ้าองค์ประกอบโดยรวมขัดหูขัดตา ถึงเล่าเรื่องได้ รายละเอียดดีแค่ไหน ถ้าไม่น่ามองเสียตั้งแต่แรก ก็ถือว่าล้มเหลว ขณะเดียวกัน พวกกราฟฟิคดีไซเนอร์ซึ่งชอบอะไรแบนๆ สองมิติ ก็สามารถมองความสวยงามของกำแพงวัดเป็นรูปแบบนิยมได้ งานศิลปะทุกชิ้นมี "ธรรมชาติ" ของการเสพย์ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งธรรมชาตินิยม (มองที่รายละเอียด) หรือรูปแบบนิยม (มองโดยรวม) การที่เรามอง "ธรรมชาติ" ด้วยสายตาประเภทหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าผู้อื่น หรือตัวเราเองจะไม่สามารถมอง "ธรรมชาติ" ด้วยสายตาอีกประเภทหนึ่งได้

สถาปัตยกรรมคือตัวอย่างของงานศิลปะที่เป็นได้ทั้งธรรมชาตินิยม และรูปแบบนิยม ทันทีที่เราเห็นอาคารหลังหนึ่ง เรารับทั้งหมดของมันเข้าไป ความใหญ่โต รูปทรงอันน่าเหลือเชื่อ แสงเงา ความสัมพันธ์กับท้องถนน สวน หรือลานจอดรถ วัสดุซึ่งนำมาใช้ก่อกำแพง จะสวยไม่สวย ขึ้นอยู่กับว่าสถาปนิกวางสมดุล (หรืออสมดุล) ได้ลงตัวแค่ไหน ในทางตรงกันข้าม ทันทีที่เราเข้าไปอยู่อาศัย ทำงาน หรือแค่เยี่ยมชมภายใน เราเห็นเสา ประตู ผนัง หลังคา ความอลังกายภายนอกค่อยๆ เลือนหายไป หน้าต่างเปิดรับแสงได้ดีแค่ไหน ลิฟต์ บันไดจัดไว้อย่างสวยงาม สะดวกสบายหรือเปล่า แต่ละปีกของตึกอยู่ในตำแหน่งที่มันควรจะอยู่ไหม ทางเดินภายในชัดเจน หรือสับสนวกวนเป็นเขาวงกต (แต่ก็มีเหมือนกันนะครับ สถาปัตยกรรมที่ตั้งใจให้คนเดินหลงนิดๆ เพื่อจะได้ชื่นชมความงามได้นานๆ )

มีต่อนะครับ คราวหน้าได้พูดถึงวรรณกรรม วรรณคดีเสียที

I. Murdoch's "The Message to the Planet"


เราก็เหมือนนักอ่านทั่วไป ชอบซื้อหนังสือมาดองจนเหม็นเปรี้ยว ค่อยหยิบจากชั้นลงมาบริโภค หนังสือส่วนใหญ่ก็ค้างอยู่ระหว่างหกเดือน ถึงสองปี นานสุดคือ The Message to the Planet ซื้อมันมาจากร้านหนังสือมือสองเมื่อสีปีที่แล้ว ถามว่าทำไมถึงต้องดองนานขนาดนี้ เพราะตอนนั้นคุยกับเพื่อนซึ่งเคยอ่านเมอดอชมาแค่เล่มเดียวคือเล่มนี้แหละ และเขา "เกลียดมันโคตรๆ " ประกอบกับ ถ้าดูจากประวัติงานเขียน The Message to the Planet ถูกขนาบข้างด้วย The Book and the Brotherhood และ The Green Knight เล่มแรกน่ะโอเค แต่เล่มหลังเป็นนิยายของเมอดอชซึ่งเราไม่ชอบ

ในที่สุดก็ได้อ่านเสียที The Message to the Planet ถามว่า "เกลียดมันโคตรๆ " หรือเปล่า ตอบได้เลยว่าไม่ แต่ก็เข้าใจถ้าใครคนหนึ่งจะรู้สึกเช่นนั้น เหมือนกับผลงานส่วนใหญ่ ปัญหาของนิยายเล่มนี้คือความหนาไร้สาระของมัน เริ่มทำใจแล้วล่ะ ว่าเมอดอชยุคหลังคงเขียนหนังสือสั้นๆ ไม่เป็นอีกแล้ว The Message to the Planet อาจไม่ใช่นิยายที่ยาวที่สุดของเดม แต่ความเยิ่นเย้อก็ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเช่นนั้นได้ ตั้งแต่หน้า 400 เป็นต้นไป พลอตหยุดนิ่งสนิท ประมาณหน้า 420-450 ปมทุกอย่างคลี่คลาย ส่วนไอ้ที่ไม่คลี่คลาย ก็เดาได้ตั้งแต่ปีมะโว้ coda ไม่มีสิ้นสุดเช่นนี้คือจุดด้อยตามปรกติที่แฟนๆ ต้องทำใจ ว่ากันจริงๆ ความหนาของ The Message to the Planet ก็ไม่ใช่ความหนาแบบน้ำท่วมทุ่งเสียทีเดียว แต่ที่หนาเพราะเรื่องราวมันเยอะจริงๆ

The Message to the Planet เหมือนกับนิยายอย่างต่ำสองเรื่องในเล่มเดียว ซึ่งทั้งสองเรื่องก็เป็นนิยายเมอดอชมากๆ เรื่องแรกคือรักสามเส้าระหว่างแจค แอลิสัน และฟรานก้า ซึ่งเฉพาะที่นำมาเล่าในบลอคนี้ ก็ปาเข้าไปเรื่องที่สามแล้ว ส่วนอีกเรื่องพูดถึงความหลงใหลใน "ผู้วิเศษ" ลูเดนเชื่อว่ามาคัส นักคณิตศาสตร์อัจฉริยะกุมความลับทางปรัชญาบางอย่าง หรืออย่างน้อยก็มีศักยภาพพอจะค้นหาความจริงข้อนี้ และปลดปล่อยมนุษยชาติจากความงมงาย ขณะที่แทบทุกคนรอบข้างลงความเห็นว่ามาคัสสติไม่สมประกอบ รวมไปถึงตัวลูกสาว และคนรักของลูเดน อิรินาด้วย อีกปัญหาใหญ่ของ The Message to the Planet คือคนอ่านเองก็คงเห็นด้วยกับอิรินานั่นแหละ ว่ามาคัสนี่มันคนบ้าดีๆ นี่เอง ดังนั้นความอุทิศตน คลั่งไคล้ในตัวมาคัสของลูเดน พอผ่านไปสักสามร้อยกว่าหน้า ก็ซ้ำซากเต็มที


อย่างไรก็ตาม ยังอยากชม The Message to the Planet อย่างแรกคือความเป็น formalist ของเมอดอช โครงสร้างนิยายเรื่องนี้สวยมาก สัมพันธ์สามเส้าสะท้อนกลับไปมาระหว่างตัวละครสองชุด แจค-แอลิสัน-ฟรานก้า และ ลูเดน-อิรินา-มาคัส มุมมองแบบบุรุษที่สามผ่านลูเดน และฟรานก้า ซึ่งภายนอกเหมือนเป็นคนธรรมดาแต่ถ้ายิ่งล้วงลึก ยิ่งรู้สึกได้ถึงความผิดปกติ มาคัส และแจคเป็นผู้วิเศษ จุดหมุนของสามเหลี่ยม เหตุการณ์ต่างๆ เกิดรอบตัวละครทั้งสอง ส่วน อิรินา และแอลิสันคือตัวแทน "หญิงสาว" ความเยาวัย ภายนอกแข็งแกร่ง ภายในเปราะบาง

จุดเด่นของ The Message to the Planet ซึ่งไม่เคยมีมาในนิยายเล่มใดคือประเด็นศาสนา ก่อนหน้าที่มาคัสจะถูกจับส่งโรงพยาบาล เขาได้ช่วยชีวิตเพื่อนเก่าให้ฟื้นจากความตาย เมื่อข่าวนี้แพร่สะพัดไป มีผู้คนมากมายตามมาแห่แหนบูชา ในจำนวนนั้นคือเหล่า "ผู้ศรัทธาหิน" ซึ่งทุกปีต้องมารวมกัน ณ สโตนเฮจเพื่อทำพิธีกรรม มาคัสเองก็เหมือนจะชอบเล่นบทบาทพระผู้ปลดปล่อย มีแต่ลูเดนเท่านั้นที่มองสิ่งนี้เป็นอุปสรรค ขัดขวางไม่ให้อีกฝ่ายอุทิศตนศึกษาปรัชญาอย่างเต็มที่ เกิดเป็นคำถามว่าถ้าศาสดาทั้งหลายมีชีวิตอยู่ในทุกวันนี้ เขาจะเป็นคนสติไม่สมประกอบ นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ หรือนักโน้มน้าวจิตใจกันแน่

ให้ติดสินรวมๆ ก็คงบอกว่าชอบนะกับ The Message to the Planet มันช่างเต็มไปด้วย motive แบบเมอดอช เช่นตัวละครกระทำความดีงามจากแรงจูงใจใฝ่ต่ำ แล้วก็เวทมนต์ยุคใหม่ เราคงอ่านหนังสือเดมมามากพอจะรู้สึกว่ามันไม่ใช่หนังสืออีกต่อไปแล้ว แต่เป็นภาพเขียน ถ้ามุมไหน ส่วนใดไม่พึงพอใจ ก็มองข้ามๆ ไป รับเอาแต่สิ่งดี สิ่งสวยงาม แฟนอย่างเราจับทางผู้เขียนออก ว่าตรงไหนควรอ่าน ตรงไหนไม่ต้องเสียเวลา และท่ามกลางความเยิ่นเย้อไร้สาระ The Message to the Planet ก็เต็มไปด้วยคุณลักษณะที่น่าชื่นชมจริงๆ นี่นา

"ชาติไทย" ในทัศนะปัญญาชนหัวก้าวหน้า (โสภา ชานะมูล)


ปัจจุบันเป็นยุคแห่งสื่อ ถ้ามีคำหนึ่งซึ่งนักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ชอบใช้บ่อยๆ คำนั้นก็จะมีชีวิตขึ้นมา ทุกครั้งที่มันถูกใช้ในบทความหนึ่ง ความหมายจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย นักเขียนสมัยนี้จึงไม่ใช่หยิบจับแต่ละคำมา โดยอ้างอิงแค่พจนานุกรม แต่ยังต้องเข้าใจความหมายในเชิงบริบททางสังคมด้วย ปัจจุบันนักนิรุกติศาสตร์คงไม่ต้องลำบากลำบนค้นหาต้นกำเนิดคำจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เพียงแค่ศึกษา "ชีวิต" ของคำยอดฮิต ผ่านหน้านิตยสาร หนังสือพิมพ์ แค่นั้นก็เรียนรู้อะไรได้หลายแล้ว

คำที่เราสนใจมากๆ เลยก็คือ "ปัญญาชน" (intelligentsia) ใครคือปัญญาชน ต้องมี requisite แค่ไหน ระดับการศึกษาละ คนทำงานศิลปะควรถูกจัดว่าเป็นปัญญาชนหรือเปล่า

อ่าน "ชาติไทย" ในทัศนะปัญญาชนหัวก้าวหน้า จบก็อดสงสัยไม่ได้ว่าอาจารย์โสภาใช้นิยามข้อไหนมากำหนดว่าใครเป็น หรือไม่เป็นปัญญาชน อย่างแรกต้องชมอาจารย์ ที่มีความเป็นกลางพอจะรวบรวมมาหมดตั้งแต่ปัญญาชนหัวก้าวหน้า อนุรักษนิยม กระทั่งบางบทยังพูดถึงปัญญาชนทหาร สรุปคือ ใครที่ออกมาแสดงความคิดทางหน้าหนังสือพิมพ์ หรือวิทยุ ก็คงจัดเป็นปัญญาชนได้ทั้งนั้น ซึ่งก็ไม่แปลก เอาเข้าจริง เมื่อก่อนอาจไม่ได้มีนิตยสาร หนังสือพิมพ์เกลื่อนบ้านเกลื่อนเมืองเหมือนสมัยนี้

อาจารย์โสภาไม่ได้แบ่งปัญญาชนตามระดับการศึกษา นักคิดที่ถูกยกมาใน "ชาติไทย" ในทัศนะปัญญาชนหัวก้าวหน้า ไม่ได้จบสูง หรือจบเมืองนอกเมืองนา มองในแง่ดีก็คือพวกเขาถูกประเมิณด้วยคุณวุฒิ ไม่ใช่เพียงวุฒิการศึกษา แต่ปัจจุบันยังจะยึดหลักอะไรแบบนี้ได้อยู่หรือเปล่า เพราะคนไทยรู้สึกว่าปัญญาชนไม่จำเป็นต้องมีการศึกษาสูง เพียงแค่ขยันออกมาพูดอะไรในที่สาธารณะ ก็เลยเกิดเป็นค่านิยมขำๆ คือยกย่องคนที่การศึกษาไม่ค่อยสูง แต่กล้าออกมาแสดงความคิดเห็นอยู่เป็นประจำ และ(เหมือนกับ)รู้อะไรดีกว่าคนปกติ

ต้องเข้าใจว่าห้าสิบปีโลกมันเปลี่ยนแปลงไปไหนต่อไหน ในทางวิทยาศาสตร์ เป็นไม่ได้อีกแล้ว จะมีอัศวินม้าขาวผู้อยู่ดีๆ ค้นพบสูตรลับ หรือยาวิเศษด้วยตัวเอง เดี๋ยวนี้การค้นพบทุกอย่างออกมาจากหลังรั้วมหาวิทยาลัย คนสาธารณะบางคน ถ้าเขามีชีวิตอยู่เมื่อสมัยก่อนอาจถูกเรียกได้ว่าเป็น "ปัญญาชน" แต่ในสมัยนี้เรายังควรยกย่องเขาด้วยคำคำนี้หรือเปล่า ค่านิยมเช่นนี้ส่งผลได้ ผลเสียอย่างไรบ้าง ยกตัวอย่าง คนทุกคนมีสิทธิพูดจู่โจมระบบทุนนิยม และตีความมันไปต่างๆ นานา (ยิ่งในโลกปัจจุบันซึ่งเต็มไปด้วย "เวที" เสียด้วย) แต่ปัญญาชนซึ่งสังคมควรจะรับฟังคือใครกันแน่

ไม่มีคำตอบง่ายๆ นะครับ คำถามนี้

รักที่เพิ่งผ่านพ้นไป


...เคยนั่งตรงนี้ เก้าอี้ตัวนี้อยู่ข้างๆ เธอ เป็นที่ประจำที่เธอและฉันนัดกันเสมอ...



...แต่วันนี้ ที่เดิมตรงนี้ ที่ฉันได้เจอ ทุกอย่างคงเดิมบรรยากาศเดิมๆ แต่ไม่มีเธอ...



...ดนตรีนั้นเล่นอยู่ ฟังฉันฟังอยู่ แต่ว่าในใจนั้นเงียบงัน...



...มีแต่เสียงเพลงที่ว่างเปล่า จบลงแล้วความรักของเรา...



...ไม่มีเขาเคียงข้างอีกแล้ว ไม่มีคืนวันที่สดใส ...



...ดื่มให้ตัวเองอีกทีกับรักที่เพิ่งผ่านพ้นไป...

R. O. Paxton's "The Anatomy of Fascism"


วันก่อนเล่าประวัติศาสตร์การเมืองยุโรปให้ผู้กำกับฟัง อยู่ดีๆ ผู้กำกับก็ถามเราว่า "ตกลงฟาสซิสคืออะไร เหมือนกันกับคอมมิวนิสต์หรือเปล่า" คำตอบข้อหลังน่ะรู้ ว่าไม่เหมือน แต่ข้อแรกนี่สิ ตกลงแล้วฟาสซิสมันคืออะไรของมัน (กันแน่วะ) อีกวันเดินในร้านหนังสืออยู่ดีๆ พอเห็น The Anatomy of Fascism เลยรีบซื้อมา

พออ่านจบ ก็ยังบอกไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นว่าฟาสซิสแปลว่าอะไร รู้แต่ว่าหลายอย่างที่เราเคยคิดว่าเป็นฟาสซิส ปรากฎว่าไม่ใช่แฮะ ยกตัวอย่างสเปน และญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แม้จะเข้าเป็นฝ่ายเดียวกับมุสโสลินี และฮิตเลอร์ แต่ก็ไม่ใช่ฟาสซิสเสียทีเดียว ฟรังโก้คือตัวอย่างนักปกครองเผด็จการ ส่วนญี่ปุ่น ถ้าจะเป็นฟาสซิส ก็ถือเป็น "ฟาสซิสจากบนลงล่าง"

ฟาสซิสไม่เหมือนลัทธิอื่นๆ ที่ตั้งต้นมาจากทฤษฎี ต้องพูดด้วยซ้ำว่าความไร้ทฤษฎีของฟาสซิสคือสาเหตุที่มันพุ่งพรวดเอาๆ ในยุโรปต้นศตวรรษที่ 20 ฟาสซิสต่างจากเผด็จการตรงที่ขุมกำลังหลักของมันหาใช่ตัวผู้นำไม่ แต่เป็นปวงชนต่างหาก ฟาสซิสคือลัทธิการปกครองแบบ "ล่างขึ้นบน" มันเกิดในประวัติศาสตร์ ช่วงที่การเลือกตั้งเพิ่งกลายเป็นสิทธิ และหน้าที่ของคนทั้งประเทศ นักการเมืองจากยุคก่อนยังไม่คุ้นเคยกับการเอาอกเอาใจมวลชน นักการทหารอย่างมุสโสลินี และฮิตเลอร์ที่รู้จักใช้ฝีปากคารม ก็เลยกุมหัวใจคนหมู่มากไว้ได้ ประกอบกับที่มันไร้ทฤษฎี และหลักเกณฑ์ ฟาสซิสจึงสามารถปรับตัว สวมหน้ากากเพื่อตอบสนองความต้องการของคนทุกระดับชั้น ทุกความคิดเห็น

แพคตันอธิบายสภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ซึ่งนำไปสู่การขึ้นเถลิงอำนาจของฟาสซิส ตั้งแต่ช่องว่างอันเกิดจากความไร้ประสิทธิภาพของประชาธิปไตย และความหวาดกลัวสังคมนิยมของชนชั้นกลาง ฟาสซิสเกิดขึ้นในประเทศที่ประชาชนสิ้นหวังกับการเมือง และกำลังมองหาทางเลือกที่สาม มันคือลัทธิแห่งความไร้เสถียรภาพ ซึ่งเกิดมาจากความไร้เสถียรภาพของสังคม ขณะที่ตัวมันเองก็ไร้เสถียรภาพ เสมือนงูกินเหยื่อเสร็จ แล้วยังไม่อิ่ม ก็เลยหันไปงับหาง เพราะการโฆษณาชวนเชื่อของฟาสซิสอิงลัทธิชาตินิยมแบบสุดโต่ง มันจึงไม่อาจอยู่ได้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยการรุกราน และศัตรูจากภายนอก ภายใน เพื่อรักษาจิตวิญญาณของฟาสซิสเอาไว้ ทั้งฮิตเลอร์ และมุสโสลินีนำพาประเทศอิตาลี เยอรมันเข้าสู่สงคราม (ซึ่งนักประวัติศาสตร์หลายคนเริ่มเชื่อแล้วว่า ทั้งคู่อาจไม่ได้ปรารถนาเช่นนั้นตั้งแต่แรก) เพื่อตอบสนองความตื่นตัวของมวลชน และผู้ศรัทธาในระบบ

สุดท้ายใครกันแน่ที่โง่ ใครกันแน่ที่ฉลาด ใครปกครองใคร ใครทำร้ายใคร ประชาชนทำร้ายผู้ปกครอง หรือว่าผู้ปกครองทำร้ายประชาชน เหมือนเราได้ยินเสียงหัวเราะของกุนเดระดังมาจากที่ไหนสักแห่ง

E. Le Grand's "Kundera or The Memory of Desire"


1

ใน The Curtain กุนเดระเล่าประสบการณ์การชมละคร Antigone ก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง Antigone ว่าด้วยความขัดแย้งระหว่างแอนธิโกเน หญิงสาวผู้เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น และครีออนกษัตริย์ผู้ถือดีในหน้าที่ เนื้อเรื่องจบอย่างโศกนาฏกรรมด้วยความตายของหนุ่มสาว และความพ่ายแพ้ สูญสิ้นของคนชรา Antigoneคือหนึ่งในละครเรื่องโปรดของเด็กหนุ่ม

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง กุนเดระมีโอกาสชมโศกนาฏกรรมชิ้นนี้อีกครั้ง แต่หนนี้ครีออนถูกแทนที่ด้วยอดอฟ ฮิตเลอร์ ตอนจบของ Antigone ซึ่งนำแสดงโดยผู้นำพรรคนาซีไม่อาจสร้างความโศกาได้อีกต่อไป

นี่แหละคือโศกนาฏกรรมที่แท้จริงของศตวรรษที่ 20 การจบสิ้นของโศกนาฏกรรม

(หมายเหตุ: Antigone ของกลุ่มกระจันทร์เสี้ยวที่เราเคยชม แม้ไม่ถึงขนาดเปลี่ยนครีออนเป็นทักษิณ ชินวัตร แต่ก็จับได้ว่านักแสดง และผู้กำกับตีความตัวละครตัวนี้สลับไปมา)

2

"ผม" ในเรื่องสั้นเล่าเหตุการณ์ที่ตัวเองเข้าร่วมชุมนุมประท้วงพฤษภาทมิฬให้เพื่อนชาวฝรั่งเศสฟังทางอินเตอร์เน็ต เหตุการณ์แสนเศร้าจบด้วยความตายของหญิงคนรัก กระนั้นมีอย่างหนึ่งที่เจ้าตัวลืมบอกไป ภายหลังจากคืนนั้น ขณะที่เขาร่วมรักอยู่กับรุ่นน้องในชมรม หญิงสาวคนนั้นก็ปรากฎตัวออกมา เธอรอดชีวิตจากการสังหารหมู่ และพบชายหนุ่มล่อนจ้อนอยู่กับผู้หญิงอื่น จากนิยายเพื่อชีวิตเปลี่ยนมาเป็นละครน้ำเน่าในชั่วพริบตา

กุนเดระเคยบอกว่า "Kitsch is the absolute denial of shit." แต่นิยามของเลกรานด์ที่ปรับปรุงมาจากกุนเดระอีกทีน่าจะตรงเป้ากว่า "Kitsch is the absolute forgetting of shit."

3

กุนเดระดัดแปลงปมอพอลโล และไดโอนิซุสของนิทเช่มาเป็นปมดอนฮวน และทริสแทม ดอนฮวนคือผู้ชายเจ้าชู้ โคจรจากเตียงหนึ่งไปยังอีกเตียงหนึ่ง ส่วนทริสแทมคือตัวแทนความรักยึดมั่นต่อสตรีนางเดียว (โศกนาฎกรรมระหว่างทริสแทม และไอโซดคือที่มาของโรเมโอ กับจูเลียต) นิยายของกุนเดระเล่าโศกนาฏกรรมของดอนฮวน ไม่ใช่โศกนาฏกรรมของรักแท้ที่สิ้นหวัง แต่เป็นโศกนาฏกรรมอันเกิดจากเหตุการณ์ซ้ำซาก และผู้หญิงคนแล้วคนเล่า

4

ความซ้ำในสไตล์การเขียนของกุนเดระแบ่งเป็นสองประเภทคือ variation และ polyphonic ซึ่งเป็นศัพท์ดนตรีทั้งคู่ (กุนเดระเริ่มต้นศึกษาทฤษฎีดนตรี ก่อนหันมาหาบทกวี และวรรณกรรม) โดย variation คือการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อย แต่คงธีมเดิมเอาไว้ ส่วน polyphonic คือการเล่าหลายเหตุการณ์ จากหลายมุมมองโดยสลับสับเปลี่ยนลำดับเวลา

ความซ้ำยังเป็นแก่นปรัชญาของกุนเดระ ตั้งแต่ที่ประวัติศาสตร์มักจะเกิดเหตุการณ์เดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนถึงการไล่ล่าผู้หญิงคนแล้วคนเล่าของดอนฮวน แม้เลกรานด์จะบอกว่าปมดอนฮวนคือการศึกษาหาความรู้ แต่ในความรู้สึกเรา ดอนฮวน น่าจะเป็นไดโอนิซุสมากกว่าอพอลโล (แม้นิทเช่จะพูดถึง "The Don Juan of knowledge" ก็ตาม แต่พออ่านข้อความนี้ใน The Dawn เต็มๆ รู้สึกเหมือนนิทเช่กำลังเสียดสีคนประเภทนี้มากกว่า)

5

ในบทบรรณาธิการหนังสือเล่มหนึ่ง ราษฎรอาวุโสแสดงความคิดเห็นต่อต้านหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ โดยเรียก สี่แผ่นดิน ว่าเป็นนิยายน้ำเน่าเต็มไปด้วยโฆษณาชวนเชื่อ อยากรู้นักว่านิยาย หรือบทกวีชิ้นไหนกันแน่ที่ท่านว่าไม่น้ำเน่า ต้องออกแนว socialist realism เท่านั้นหรือเปล่า ในโลกอันคับแคบของท่าน นักเขียนรัสเซียคงมีแต่แมกซิม กอกี้ ท่านคงไม่เคยได้ยินชื่อมายาคอฟสกี้ futurist ที่ถูกบีบบังคับให้ผลิตแต่งานรับใช้พรรคคอมมิวนิสต์ จนสุดท้ายทนความกดดันไม่ไหว ฆ่าตัวตาย หรือบูลกาคอฟ ผู้เขียน Master and Magarita นิยายเสียดสีสังคมโซเวียตซึ่งถูกห้ามตีพิมพ์

หรือถ้าท่านเคยได้ยินก็คงลืมนักเขียน และนิยายอุจจาระเหล่านั้นไปแล้ว

6

เลกรานด์วิเคราะห์ "ความบังเอิญทางเลขคณิต" ในนิยายทั้งเจ็ดเล่มของกุนเดระ (ไม่นับสามเล่มหลังซึ่งเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส) ทุกเล่มมีเจ็ดบท ตั้งแต่ Laughable Loves จนถึง Immortality (กระทั่ง The Art of Novel ซึ่งเป็นรวมบทความยังมีเจ็ดบทเลย) ยกเว้นแค่ Farwell Waltz มีห้าบท ซึ่งก็ยังถือเป็นเลขคี่อยู่ดี

เลกรานด์ให้ความสำคัญกับสิ่งนี้มาก แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องบังเอิญมากกว่า หรือถ้ากุนเดระตั้งใจจริง ก็คงแค่ขำๆ

7

ชีวิตเราเองก็ซ้ำซาก รู้จักผู้หญิงหลายคน หักอกไปบ้าง บางคนก็หักอกเรา คนเราคล้ายลูกเหล็กตู้เกม กระทบกระทั่งกันทั้งที่ไม่มีใครอยากเจ็บและไม่มีใครอยากทำให้ใครเจ็บ แต่เราไม่ใช่ทั้งดอนฮวน และทริสแทม โศกนาฏกรรมของเราคือการที่เรายังสามารถหัวเราะให้กับทุกสถานการณ์ ไม่ว่าโศกเศร้า หรือเจ็บปวดแค่ไหน

H. De Balzac's "Old Goriot"


Old Goriot อาจไม่ใช่นิยายที่โด่งดัง หรือดีสุดของบัลซัค แต่ก็คิดว่าตัวเองเลือกไม่ผิด ที่หยิบมันออกมาจากผลงานเก้าสิบกว่าชิ้น แม้ไม่ใช่เล่มแรกในชุด "Comedie Humaine" แต่ Old Goriot ก็เป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญ นี่คือการปรากฎโฉมครั้งแรกของยูจีน แรสทิแนค ตัวละครซึ่งนำแสดง หรือมีบทบาทในนิยายอีก 27 เล่ม และยิ่งกว่านั้น บัลซัคเพิ่งค้นพบเทคนิครีไซเคิลตัวละคร (วัลทริน ตัวละครสำคัญอีกตัวซึ่งมาจากบทละคร Vautrin ก็อยู่ในเล่มนี้เช่นกัน)

เรารู้สึกว่าการรีไซเคิลตัวละครจำเป็นอย่างมากกับนิยายแบบบัลซัค Old Goriot อาจล้มเหลวในเชิงวรรณกรรม มันเต็มไปด้วยเหตุบังเอิญ ตัวละครสำคัญอยู่ดีๆ หายไปเสียดื้อๆ และขาดตอนจบ แต่ถ้ามองมันเป็นส่วนหนึ่ง เป็นจุดเริ่มต้นของยูจีน แรสทิแนคในการ "ประกาศสงครามกับปารีส" ก็ถือว่าข้อเสียเหล่านี้เข้าใจได้ และเป็นเสนห่์ด้วยซ้ำ เพราะท้ายสุดสิ่งที่บัลซัคต้องการเขียนอาจไม่ใช่นิยายแต่เป็น "บทละครศีลธรรม" (morality play) หรือพูดให้ชัดเลยว่า "บทละครอศีลธรรม"

บัลซัคมีชีวิตอยู่ช่วงหลังปฏิวัติฝรั่งเศส และจักรวรรดินโปเลียน เป็นยุคที่ฝรั่งเศสก้าวเข้าสู่ "โลกสมัยใหม่" ครัวเรือนและแวดวงสังคมเริ่มแยกแยะกันอย่างชัดเจน ศีลธรรมในพื้นที่ส่วนตัวกลับล้มเหลวไม่เป็นท่าเมื่อนำมาปฏิบัติต่อหน้าสายตาผู้อื่น (แต่ที่ตลกคือ สังคมต่างหากที่ตัดสินเรื่องราวในครัวเรือน ไม่ใช่โบสถ์ หรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีส่วนบุคคล) Old Goriot แสดงสภาพขัดแย้งของ "โลกสมัยใหม่" ที่ความดีงามอย่างเดียวไม่อาจนำพาชายหนุ่มไปสู่จุดมุ่งหมายแห่งชีวิต (ตรงนี้ต่างกันลิบลับกับนิยายของชาร์ลส์ ดิกเกนส์ เพราะกว่า "โลกสมัยใหม่" จะไปถึงลอนดอนก็ใช้เวลาอีกพักใหญ่)

โกไรออทคือชายชราที่สงสัยไม่เคยอ่าน King Lear เพราะกระทำผิดเดียวกันกับกษัตริย์ของเชคสเปียร์ นั่นคือตามใจ และมอบมรดกทุกอย่างให้ลูกสาวสองคน เดลฟีน และอแนสเตเชีย จนตัวเองไม่หลงเหลืออะไร กระทั่งความรักของพวกหล่อน ตัวเอกของเรื่องคือแรสทิแนค ชายหนุ่มที่เพิ่งมาจากบ้านนอก พยายามเรียนรู้การใช้ชีิวิตในปารีส ปีนป่ายบันไดฐานะ โดยรักษาความซื่อสัตย์ และดีงามเอาไว้ให้มากสุดเท่าที่ตัวเขาจะทำได้

ไม่มีตัวละครใดดีเลวชัดเจน กระทั่งเดลฟีน และอแนสเตเชีย บางครั้งก็เหมือนลูกสาวอกตัญญูผู้ไม่นึกถึงหัวอกบิดา แต่บัลซัคได้นำเสนอความจำเป็นที่บีบบังคับให้แต่ละตัวละครกระทำสิ่งที่พวกเขากระทำ กระทั่งผู้เฒ่าโกไรออทเอง ตลอดทั้งเล่มเหมือนจะเป็นนักบุญ เสียสละทุกอย่างให้ลูกสาว พอเข้าช่วงลมหายใจสุดท้าย ความรักเปลี่ยนเป็นความแค้น ถึงกับประกาศกร้าวด่าทอความโง่เขลาของตัวเองในอดีตที่รักลูกสาวมากเกินไป

ความแตกต่างระหว่าง "โลกสมัยใหม่" และ "โลกหลังสมัยใหม่" คืออย่างหลังยอมรับสภาพไร้กฎเกณฑ์ และหาความสุขในสังคมอันวุ่นวายยุ่งเหยิง บัลซัคเหมือนยังพยายามค้นหาความดีงามบางอย่าง แม้สุดท้ายเท่าที่ตัวละครจะทำได้คือยึดติดปัญหาเฉพาะหน้า และแก้ไขไปทีละเรื่อง Old Goriot เป็นนิยายที่อ่านแล้วเหนื่อย เพราะหลายอย่างมันช่างสะท้อนภาพความจริง ความโหดร้ายในปัจจุบัน

ผู้หญิงอิสลาม


หลายคนคงไม่ทราบแต่ 8 มีนาคม คือวันผู้หญิงนานาชาตินะครับ เนื่องในโอกาสวันสำคัญ ที่นี่ก็เลยมีการจัดชุมนุมประท้วง (บ้านเราอยู่ติดสภาเมืองแอลเอ ก็เลยได้เห็นการ demonstration บ่อยๆ ) ปิดถนนกันวุ่นวาย ทั้งที่เอาเข้าจริง ผู้คนก็แค่หยิบมือ (เข้าใจว่าทางการกลัวก่อการร้ายอะไรทำนองนี้)

ที่ชุมนุมคราวนี้น่าสนใจ และอยากหยิบยกมาพูดถึงเพราะเป็นการชุมนุมของสตรีอิหร่าน และอัฟกานิสถานที่ไม่ได้แค่ต่อต้านการปกครองแบบเหยียดเพศของรัฐบาลสองประเทศนี้เท่านั้น แต่ยังต่อต้าน "การล่าอาณานิคม" ของจักรวรรดิอเมริกาอีกด้ว ซึ่งพิเศษมาก เพราะไม่ค่อยมีหรอก การประท้วงสองฝ่ายพร้อมๆ กัน

ถ้าให้ชม ก็รู้สึกว่าเป็นหัวข้อที่มองข้ามชอตดี หลายๆ ครั้ง คนเรายึดติดหลัก "ศัตรูของศัตรูคือเพื่อน" มากเกินไป เพื่อขับไล่ทรราชออกจากสังคม เราหันไปยกย่องคนโกงอีกกลุ่มที่ต่อต้านทรราชนั้น โดยหวังผนึกกำลังแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หารู้ไม่ว่าเมื่อคนกลุ่มนั้นขึ้นมาเถลิงอำนาจแล้ว อาจริยำตำบ่อนยิ่งกว่าทรราชคนเดิมก็ได้ ผู้หญิงเหล่านี้กำลังบอกว่า แม้ไม่ชอบรัฐบาลเผด็จการของบ้านตัวเอง ถ้าต้องมาสนับสนุนอเมริกาบ้าสงครามก็ไม่ไหวเหมือนกัน

ในทางทฤษฎีแล้วชอบครับ แต่สงสัยในทางปฏิบัติ หัวข้อชุมนุมแบบนี้จะหวังผลได้สักเท่าไหร่ มันเป็นกฎเกณฑ์แห่งการ demonstration ไปแล้วว่าถ้าของชิ้นหนึ่งไม่ดำ มันก็ต้องขาว ไม่ร้อน มันก็ต้องเย็น ทางเลือกสามแพร่ง แม้ในระดับปัจเจคจะเข้าใจได้ไม่ยาก แต่ไม่มีทางเลยจะเอามาพูดต่อหน้าคนหมู่มาก แล้วหวังปลุกอารมณ์ ให้คล้อยตาม คิดเล่นๆ ว่าถ้าหัวหน้ากลุ่มผู้ประท้วงพูดถึงการกดขี่ห่มเหงสตรีของรัฐบาลอิหร่าน แล้วมีใครสักคนอยากป่วน กวนตีนขึ้นมาว่า เช่นนั้นทำไมไม่โอบกอดสหรัฐอเมริกาเล่า ในเมื่อประเทศนี้ให้สิทธิทุกอย่างกับเพศแม่ (ไม่จริงนะครับ แต่จะเถียงกันยังไงดีล่ะ ต่อหน้าที่ชุมนุม)

แม้จะตั้งแง่สงสัย แต่ก็คิดว่าการรวมตัวคราวนี้เป็นนิมิตรหมายอันดีของการมองอะไรไกลๆ และหวังว่าคุณเธอทั้งหลายคงประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง

M. Kundera "The Curtain"


วิดวิ้ว! ในที่สุดก็มีหนังสือของกุนเดระในบลอครักชวนหัว!

เราเคยอธิบายประสบการณ์การอ่าน ไผ่แดง ว่าเหมือนโดนข่มขืน(ทางปัญญา)ในร้านดอกหญ้า เป็นการข่มขืนที่ใช้เวลาประมาณสองชั่วโมง รวดเดียวจบ (และไม่ยอมซื้อกลับบ้านเสียด้วยสิ) ได้รู้จักกุนเดระก็เหมือนโดนข่มขืนอีกเช่นกัน ตั้งแต่ครั้งแรกที่อ่าน The Unbearable Lightness of Being ต่างแต่ว่ากุนเดระข่มขืนเราแบบไม่รู้ตัว ตอนที่อ่านเล่มนั้นจบ นอกจากชอบ ชอบ ชอบก็ไม่รู้สึกว่ามันเปลี่ยนแปลงอะไรในตัว แต่พอถึง The Joke และเล่มอื่นๆ ที่ตามมา ค่อยๆ รู้สึกว่าโลกใบนี้ไม่เหมือนเดิม และกว่าจะตระหนักได้ เราก็ตกเป็น(สาวก)ของกุนเดระไปเสียแล้ว

(หมายเหตุ: ไม่รู้ทำไม เวลาพูดถึงกุนเดระต้องนึกถึงเรื่องเพศไปทุกที แต่อย่างว่าแหละ นี่คือนักเขียนที่บรรจุบทวิเคราะห์ทางจิตเวช และปรัชญาลงในนิยาย Slowness เพื่ออธิบายว่าทำไมการร่วมเพศทางทวารหนัก ถึงเป็นสุดยอดแห่งเซ็ก)

เคยคุยกับเพื่อนที่เป็นกุนเดเรียนเหมือนกัน เขาบอกว่า ถ้าหมอไม่มีหนังสือทุกเล่มเก็บสะสมในห้องสมุดส่วนตัว สามารถหยิบมาพลิกอ่าน หาข้อมูลเมื่อไหร่ก็ได้ หมอก็ต้องตรัสรู้แล้วเท่านั้น ถึงเขียนอะไรแบบนี้ออกมา ถึงเราจะชอบกุนเดระแค่ไหน แต่ยอมรับเลยว่ายังไงก็เขียนหนังสือแบบหมอไม่ได้ ในแง่ความเป็น "นักนิยาย" (กุนเดระชอบเรียกตัวเองว่า "novelist" มากกว่า "writer") หมออาจจัดอยู่แค่ระดับสอง ระดับสาม แต่ในแง่ความเป็นนักคิด นั่นต่างหากที่ทะลวงเราถึงไส้ถึงพุง

The Curtain พูดถึงที่ทางของวรรณกรรมใน "เวลา" และ "สถานที่" (space and time) ในแง่เวลา กุนเดระเปรียบเทียบประวัติศาสตร์ของศิลปะ กับวิทยาศาสตร์ ความรู้ที่ใหม่กว่าค่อยๆ มาทดแทนความรู้แบบเก่า แต่ในเชิงศิลปะ ถึงแม้จะมีแนวทางใหม่เข้ามา แต่มันไม่ได้ทดแทนของเก่า ประวัติศาสตร์แห่งศิลปะปรากฏเคียงคู่กันทั้งใหม่ และเก่าในช่วงเวลาปัจจุบัน เราไม่สามารถแยกงานศิลปะออกจากห้วงเวลา และประวัติศาสตร์ ถ้าซิมโฟนีหมายเลขเก้าไม่ได้แต่งโดยบีโธเฟน ผู้คนก็คงแค่ชื่นชมมันในระดับหนึ่ง เพราะกัวนิก้าถูกวาดโดยปิกัสโซ เพราะจอยซ์ได้รับอิทธิพลมาจากเซอวานเต้ และส่งอิทธิพลไปสู่ฟอล์คเนอร์ นี่ต่างหากถึงเป็นคุณค่าของงานศิลปะ

ในแง่สถานที่ นิยายทุกเรื่องไม่ว่าจะถูกเขียนที่ประเทศไหน โดยใคร ใช้ภาษาอะไร ควรเป็น "นิยายของโลก" (คำนี้เกอเธ่เป็นคนคิดคนแรก) อัจฉริยะภาพของนักเขียนมักเป็นที่ประจักษ์ภายนอกประเทศบ้านเกิด (เช่นคนอเมริกันไม่ยอมอ่านฟอล์คเนอร์ แต่เขาถูกยกย่องให้เป็นผู้มีอิทธิพลต่อวรรณกรรมฝรั่งเศสสมัยใหม่) จุดนี้น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับบ้านเรา ในแง่การแปลหนังสือไทยเป็นภาษาอังกฤษ แต่ที่สำคัญกว่า การแปลวรรณกรรมต่างชาติ มีอยู่ตอนหนึ่ง กุนเดระทุบโต๊ะปัง ประกาศอย่างไม่กลัวฟ้าดินว่า ช่างแม่งกำแพงภาษา! นิยายไม่ได้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อให้อ่านในภาษาดั้งเดิมเท่านั้น ณ วันนี้ เวลานี้ รักชวนหัวก็ขอทุบโต๊ะปัง อหังการ์ประกาศโครมเหมือนกันว่า สิบปี สิบห้าปีนับจากนี้ นักเขียนไทยที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษ (หรือภาษาที่สอง) และชีวิตนี้ไม่เคยอ่านวรรณกรรมแปล ก็ไม่มีคุณค่าให้ใครอ่านอีกต่อไปแล้ว!

E. L. Doctorow's "Ragtime"


โรเบิร์ต อัลแมนคือผู้กำกับในดวงใจเรา ถ้าถามว่าชอบหนังตัวละครเยอะ พูดพร้อมๆ กันที่ดูไม่ค่อยรู้เรื่องของเขาตรงไหน เราตอบได้ทันทีว่า ชอบตอนที่ระบบระเบียบค่อยๆ ปรากฎขึ้นมาจากความยุ่งเหยิง ซึ่งตอนแรกคนดูจับไม่ถูกด้วยซ้ำว่าตัวละครตัวใดคือตัวเด่น ตัวด้อย ตัวประกอบ (ไม่ต้องพูดเลยว่าใครเป็นพระเอก ผู้ร้าย) นอกเหนือจากภาพยนตร์ของอัลแมน ยังมีงานศิลปะชิ้นอื่นๆ ที่โดนใจเราด้วยเหตุผลคล้ายๆ กัน หนึ่งในนั้นคือดนตรีแจ๊ส

เพราะฉะนั้น เราจึงแปลกใจมากกับ Ragtime นี่เป็นนิยายเรื่องแรกเลยที่เราชอบมันน้อยลงทันทีที่ความมั่วซั่วค่อยๆ คลี่คลายออกให้เห็นโครงสร้าง ถ้าแบ่งนิยายเล่มนี้ออกเป็นความยุ่งเหยิง และระบบระเบียบ เราชอบทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับส่วนแรก ชอบที่ตัวละครอยู่ดีๆ ก็หายสาบสูญไปจากเนื้อเรื่อง หรือไม่แน่ใจว่าดอกโทโรลจะเอ่ยถึงขึ้นมาทำไมตั้งแต่แรก ชอบฮูดินี เนสบิต ทาเท และตัวประกอบทั้งหลายแหล่ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเนื้อเรื่องหลัก มากกว่าโคลเฮาส์ ซาราห์ และ "น้องชาย"

เสน่ห์ของ Ragtime คือมันเป็นนิยายที่ใช้ประวัติศาสตร์เป็นตัวเอก นำเหตุการณ์สำคัญในอเมริกาช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ตั้งแต่การแสดงมายากลของฮูดินี การสำรวจขั้วโลกเหนือ อุตสหกรรมรถยนตร์ และจุดเริ่มต้นธุรกิจภาพยนตร์มาเกี่ยวกระหวัดกัน อันที่จริงเนื้อเรื่องหลักซึ่งว่าด้วยการต่อสู้ของคนดำ และการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้าย และกลุ่มอนาธิปไตยก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น ซึ่งในช่วงแรก ตอนที่มันยังอยู่ในความยุ่งเหยิงก็ดูน่าสนใจดี แต่ทันทีที่มันกลายเป็นประเด็นหลักของหนังสือ กลับน่าติดตามน้อยลง พอดอกโทโรลพุ่งประเด็นไปที่เนื้อเรื่องหลัก เราก็เลยไม่ค่อยได้รับรู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับพวกตัวประกอบทั้งหลาย ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นต่างหากเป็นสีสันที่แท้จริง (ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าถ้าดอกโทโรลยกให้ฮูดินี หรือทาเทเป็นตัวเด่นในช่วงหลัง หนังสือเล่มนี้จะน่าสนใจน้อยกว่า หรือมากกว่านี้ เราอาจชอบมันก็ได้ เพราะก็ต้องยอมรับว่าเราไม่ได้สนใจ activist การเมือง มากเท่านักมายากล หรือผู้สร้างภาพยนตร์)

ถ้าให้เราจัดอันดับนิยายอเมริกัน จะไม่แปลกใจเลยถ้ามี Ragtime ติดอยู่หนึ่งในสิบ ชอบสไตล์การเขียนของดอกโทโรล ได้อารมณ์เหมือนฟังดนตรีแจ๊ส ถึง The Great Gatsby จะได้รับคำยกย่องว่าเป็นนิยายแจ๊ส เรากลับรู้สึกว่า Ragtime ต่างหากที่จับจังหวะจะโทนของดนตรีผิวสีเอาไว้ในภาษาไร้สำเนียงได้อย่างงดงาม นี่อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งก็ได้ พอระบบระเบียบมันโผล่ขึ้นมา นิยายเล่มนี้ก็กลายเป็นการเล่าเรื่องธรรมดา ความแจ๊สหายไปอย่างน่าเสียดาย

วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา


เปิดรับบทวิจารณ์ครับ!

ตอนนี้รักชวนหัวมีโครงการอยากทำเครือข่ายนักวิจารณ์หนังสือทางอินเตอร์เน็ต มีผู้ใดสนใจบ้างครับ คิดว่าตอนแรกคงทำกันแบบหลวมๆ ก่อน กล่าวคือมีบทวิจารณ์ก็เอามาแปะในบลอค (ซึ่งไม่ใช่บลอคนี้นะครับ) เป้าหมายของโครงการนี้คือก่อตั้งเครือข่ายปกป้องนักวิจารณ์ เพื่อให้พวกคุณสามารถพูดจา เสนอความชอบ ไม่ชอบหนังสือสักเล่ม โดยไม่สำคัญว่าผู้เขียนเป็นศิลปินแห่งชาติ นักเขียนใหม่ไฟแรง เจ้าของบลอค หรือเพื่อนสนิทชิดเชื้อ

ในความเห็นเรา สาเหตุหนึ่งที่วรรณกรรมไทยมันต้วมเตี้ยมกว่าภาพยนตร์ไทย (ซึ่งนับวันจะโกอินเตอร์ขึ้นทุกทีๆ ) เพราะขาดการวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ถ้ามีผู้สนใจ อยากเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือ ลองมาพบปะ พูดคุยกันดูดีไหมครับ

ติดต่อรักชวนหัวได้ที่ laughable-loves@hotmail.com ครับ หรือจะโพส comment ตรงนี้ก็ได้ครับ

(หมายเหตุ: เอนทรีบลอคตัวนี้จะขึ้นหน้าแรกต่อไปเรื่อยๆ นะครับ ไม่ได้แปลว่าไม่มีการอัพเดทบลอค ลองเลื่อนลงมาข้างล่างดูนะครับ ถ้าอยากอ่านเอนทรีใหม่)

ขออนุญาตเอา comment มาแปะไว้ข้างล่างนี้นะครับ

gninromyadsendew said...
เห็นด้วยครับ

น่าสนใจครับ
ชอบอ่านบทวิจารณ์ วิจารณ์ไม่เป็น
แต่อยากอ่าน
ทำเลยครับ

L. Hutcheon's "A Theory of Parody"


จั่วหัวไว้แบบนี้ แต่จริงๆ ที่อยากพูดถึงไม่ใช่ผลงานวิจัยของฮัชเชียนเสียทีเดียว A Theory of Parody พยายามทำสองอย่างคือขยับขยาย และจำกัดนิยามคำว่า parody ขยับขยายตรงที่ parody ไม่ได้จำเพาะผลงานตลก ล้อเลียน แต่ศิลปะใดที่เกี่ยวกับงานศิลปะด้วยกันเอง ฮัชเชียนจัดว่าเป็น parody หมด (ถ้ายึดตามนี้ นิยามของมันอาจกว้างขวางเกินไปบ้าง เพราะเอาเข้าจริงมีงานศิลปะใดที่ไม่ได้เอ่ยอ้างงานศิลปะชิ้นอื่นเลย นักทฤษฎีวรรณกรรมบางสายถึงกับบอกว่าการ parody ซ้ำไปซ้ำมาคือพัฒนาการของวรรณกรรมตั้งแต่ยุคโบราณ) อยากพูดถึงจุดประสงค์ข้อหลังมากกว่า คือการจำกัดนิยามของ parody ให้แยกออกจาก satire หรือเรื่องเสียดสี ขณะที่ parody คือศิลปะที่ลอกเลียนศิลปะด้วยกัน งานเสียดสีคือศิลปะที่ลอกเลียนชีวิต (นิยามตรงนี้ก็ไม่ค่อยดีอีกนั่นแหละ เพราะมีงานศิลปะใดบ้างที่ไม่ลอกเลียนชีวิต) สองอย่างนี้ใกล้กันมากจนผลงานบางชิ้นก็แบ่งกันไม่ถูกเลยว่าเป็น satiric parody หรือ parodic satire

ดำน้ำมายาวเหยียดเพราะอยากรีบๆ จบเรื่อง A Theory of Parody เสียที วันนี้ที่อยากพูดถึงจริงๆ คือเรื่องวรรณกรรมเสียดสีมากกว่า ประมาณเดือนก่อนได้สนทนากับผู้ใหญ่ในวงการ ซึ่งฝากข้อคิดแก่เราคือ เขาไม่เห็นว่าการเขียน fiction เสียดสีข่าวดัง กระแสสังคม หรือเรื่องที่ใครๆ พูดถึง มัน "จะสนุกตรงไหน" เราเองก็เห็นด้วยอย่างไม่รู้ตัวมาก่อน จริงสินะ นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งก็ได้ทำไมพักนี้อ่านเรื่องสั้น นิยายไทยแล้วไม่ค่อยถึงเลย ตอนนี้เรื่องเสียดสีกำลังมาแรง แต่ที่เขียนดีกลับมีน้อย นักเขียนรุ่นใหม่ชอบเขียนเรื่องเสียดสีเพราะเป็นทางลัดสร้าง "ความสำคัญ" ของผลงานตัวเองให้กับสังคม คืออ่านจบแล้วรู้ได้ทันทีว่าเรื่องนี้สอนอะไร ไม่สิ ถ้าบอกว่าสอนอะไร ก็หมายถึงเรื่องนั้นต้องมี "บทเรียน" (moral) แต่เรื่องเสียดสีไม่จำเป็นต้องมีบทเรียนด้วยซ้ำ เพราะเหมือนสังคมได้ใส่คุณค่า บทเรียนเข้ากับเหตุการณ์ที่เราเสียดสีแล้ว

ยกตัวอย่างคุณอาจเขียนนิยายสิบสลึง พระเอกเป็นร้อยตำรวจปลอมตัวไประเบิดภูเขา เผากระท่อมเพื่อช่วยนางเอกจากเงื้อมมือผู้ร้ายใจทราม ทันทีที่คุณใส่ประโยคหนึ่งให้ผู้ร้าย "มึงรู้ไหม พ่อกูเป็นใคร" ทันใดนั้น คุณค่านิยายคุณแพงกว่าสิบสลึงขึ้นมาทันที คุณไม่จำเป็นต้องมานั่งตีค้าตีความด้วยถึง moral ของการเกิดเป็นลูกคนรวย ผู้มีอิทธิพล เพราะสังคมได้นิยาม moral ตรงนั้นไว้สำเร็จรูป (เรานึกถึงนิยาย อะไรจะดีไปกว่านี้ ของคุณดำรงค์ซึ่งนอกจากจะเชิดหน้าใส่ขนบเชยๆ ของ "มึงรู้ไหม พ่อกูเป็นใคร" ยังเอาประเด็นตรงนี้มาตีแผ่ วิเคราะห์ตั้งคำถามกับสื่อมวลชนอีกต่างหาก)


จริงๆ แล้ว fiction เสียดสีดีๆ ก็มีเยอะนะครับ เท่าที่นึกออกตอนนี้ก็นิยาย ลูกสาวฤษี แล้วก็เรื่องสั้นของคุณไพโรจน์ บุญประกอบใน สนามหลวง เกี่ยวกับเมืองที่ผู้คนเห็นพระอินทร์เสด็จลงมา หรือจริงๆ คำพิพากษา ก็เป็นนิยายเสียดสีเหมือนกัน (เอาแล้วสิ fiction ตัวไหนบ้างหว่า ที่ไม่อาจจัดเป็นเสียดสีได้) แต่จะแยกความแตกต่างระหว่างเรื่องเสียดสีดีๆ กับที่ไม่เอาอ่าวยังไง เท่าที่สังเกตก็เช่น เรื่องเสียดสีควรดีได้ด้วยตัวมันเอง คือต่อให้คุณเป็นฝรั่ง หรือมนุษย์ต่างดาว ไม่เข้าใจอะไรเลยเกี่ยวกับสังคมไทย มาอ่าน คำพิพากษา คุณก็ต้องรู้สึกบ้างแหละ(วะ)ว่ามันเป็นนิยายที่ดี

อีกประการเรื่องที่คุณนำมาเสียดสีต้องมีแง่มุมทางสังคมที่ซับซ้อน และคุณต้องเข้าใจมันอย่างแท้จริง ไม่ใช่สักแต่ว่าหยิบเหตุการณ์ในข่าวมาปรุงแต่ง ใส่เสื้อผ้าใหม่ (ไม่เช่นนั้นก็ไม่ต่างอะไรเลยจากผู้สร้างภาพยนตร์ห่วยๆ อย่าง Epic Movie, Date Movie, หรือ Meet the Spartan) เสียดสีไม่ใช่แค่เอ่ยอ้างเรื่องนู้นเรื่องนี้ แต่ต้องวิเคราะห์ นำเสนอมุมมองใหม่ๆ ให้ผู้อ่านขบคิด และตีความเหตุการณ์ในชีวิตจริงผ่านเรื่องสมมติ เช่นคำถามว่าวัดคือสถานที่เผยแพร่วัฒนธรรม หรือปฏิบัติธรรม ซึ่งคุณปริทรรศน์ตั้งประเด็นไว้อย่างแหลมคมใน ลูกสาวฤษี

เริ่มเขียนมายาวและไร้สาระขึ้นทุกที จบด้วยการพูดถึงชีวิตจริงที่เสียดสีนิยายดีกว่า (Life Imitates Art.) เช่นการกราบพื้นของอดีตนายกรัฐมนตรีก็คือการเสียดสีนิยาย (ตำนาน) โรบินฮูดนั่นเอง ผู้ใหญ่คนที่ผมคุยด้วยยังเอ่ยต่อว่า เมื่อสังคมบ้านเรามัน ridiculous ได้ถึงขนาดนี้แล้ว นักเขียนยังจะต้องมาแต่งเรื่องเสียดสีหาสวรรค์วิมานอีกทำไม