I. Murdoch's "The Unicorn"
เกซคาสเซิล หรือคฤหาสน์ตาลอย อันเป็นฉากในนิยายเรื่อง The Unicorn ทำให้นึกถึงซีการ์ด คฤหาสน์อีกหลังของเมอดอช ทั้งสองแห่งอยู่ติดทะเล ใช้เป็นเรือนจำคุมขัง "สัตว์ประหลาด" (ในเรื่องแรกคือม้ามีเขา ส่วนเรื่องหลังคือผู้วิเศษ) The Unicorn เขียนก่อนหน้า The Good Apprentice เกือบยี่สิบสองปี ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเมอดอชมองเล่มหลังว่าเป็น อัพเกรดเวอร์ชันของเล่มแรกหรือเปล่า
The Unicorn ถูกเขียนขึ้นหลัง An Unofficial Rose ซึ่งทั้งสองเล่มนี้มีส่วนคล้ายกันมาก ต่างว่าด้วยผู้หญิงที่มีชีวิตอยู่เพื่อไร้ความสุข และไม่มีพระเอก หรือผู้ร้ายตนใดจะช่วยเหลือพวกหล่อนจากชะตาชีวิตตรงนี้ได้ ความรู้สึกเราที่มีต่อสองเล่มนี้คล้ายๆ กันคือ "ดี แต่ไม่สุด อย่างน้อยๆ ก็ไม่ได้ยาวจนน่าเบื่อ" ในทางกลับกัน อาจพูดได้ว่าจุดด้อยสุดของ The Unicorn ก็คือมัน "สั้นเกินไป" นี่เอง
ใครที่ติดตามรักชวนหัวเป็นประจำ จะรู้ว่า "สั้นเกินไป" เป็นวลีที่เราไม่ค่อยนำมาใช้วิจารณ์หนังสือเล่มไหน โดยเฉพาะหนังสือของเมอดอช (เพราะเดมมีแนวโน้มเขียนหนังสือยาวเกินสี่สาห้าร้อยหน้า) ช่วงแรกของ The Unicorn น่าเบื่ออย่างเข้าใจได้ว่าเป็นการปูพื้นตัวละคร แต่พอถึงร้อยหน้าสุดท้าย (ทั้งเล่มยาว 269 หน้า) เหตุการณ์สำคัญถูกยิงปึกๆ ๆ เข้ามาชนิดคนอ่านไม่ทันได้เตรียมตัวว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร และส่งผลอย่างไรบ้างต่อตัวละคร ไม่เคยอ่านนิยายของเมอดอชเล่มไหนแล้วรู้สึกถูกกระชากออกจากหนังสือรุนแรงเท่านี้มาก่อน (ยกเว้น The Sacred and Profane Love Machine ซึ่งเล่มนั้นจงใจ)
ในทางกลับกัน ถ้ามันยาวกว่านี้ จะดีไหม อาจจะไม่ก็ได้ สูตรสำเร็จของเมอดอชที่จับเอาตัวละครหลายๆ ตัวมาคนรวมกันในหม้อเดียวไม่ออกมาอร่อยเท่าที่ควร ตัวเอกสองคนได้แก่เมเรียม และเอฟฟิง เปิดนิยายมา เมเรียมรับงานเป็นครูสอนพิเศษให้แฮนนา หรือม้ามีเขาแห่งคฤหาสน์ตาลอย เธอคือคนนอกที่โผล่เข้ามาในนิยาย และได้เรียนรู้เบื้องหลัง และความลับของคนที่อาศัยอยู่ในคฤหาสน์ แต่ละคน ถ้าไม่ได้มีบทบาทเป็นพัสดี คอยลงโทษ และกุมขังแฮนนา ก็คือผู้อยู่รายล้อมเธอ เพื่อช่วยเหลือหญิงสาวให้หลบหนีออกจากคฤหาสน์ ส่วนเอฟฟิงคือผู้ชายที่หลงรักแฮนนา และพยายามทำทุกวิธีทางที่จะลักพาเธอออกไปให้ได้ ศัตรูของทั้งสองคือเจอราล บุรุษปริศนา เพื่อนสนิทของปีเตอร์ สามีของแฮนนา ปีเตอร์คั่งแค้นหญิงสาว และกักขังเธอไว้ในคฤหาสน์ตาลอย โดยฝากกุญแจไว้กับเจอราล
ฟังอย่างนี้เหมือนจะสนุก จริงๆ แล้ว The Unicorn เป็นนิยายที่จะเขียนให้สนุกก็คงไม่ยาก มันคือตัวอย่างชั้นดีของ the fantastic uncanny เรื่องเหนือธรรมชาติที่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุและผลทางสามัญสำนึก เมอดอชต้องการเขียนนิยายเรื่องนี้ให้ออกมากึ่งแฟนตาซี เป็นสงครามระหว่างสองฝ่ายที่ต่อสู้กันด้วยเวทมนต์ทางจิตวิทยา
ในอนาคตข้างหน้า เมื่อเราหวนกลับมาอ่านนิยายของเมอดอชเป็นรอบสอง The Unicorn จะเป็นผลงานที่เราให้ความสนใจเป็นพิเศษ ว่าตรงไหนกันแน่ที่ทำให้มันล้มเหลว นี่คือเล่มที่เราชอบน้อยสุดรองมาจาก Jackson's Dilemma และ The Green Knight
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment