อุบัติการณ์ (วรภ วรภา)


ในทางทฤษฎีวรรณกรรม เข้าใจว่าการศึกษาอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องเพศมักใช้คำว่า Feminist Theory ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิง หรือชาย สาเหตุคงเป็นเพราะนักคิดตะวันตกนิยามเพศหญิงขึ้นมา แล้วใช้เป็นตัวเปรียบเทียบ สร้างอัตลักษณ์ความเป็นชายอีกที ถ้าสังเกตจะพบว่าทางตะวันตกไม่ค่อยมีค่านิยม "ลูกผู้ชาย" หรือแนวคิดแบบ "ผู้ช๊าย ผู้ชาย" นอกจากว่า "ไม่เป็นผู้หญิง" เท่านั้น จริงๆ มีเหมือนกันคือพวกคาวบอย กับอัศวิน ซึ่งถือเป็นของตกสมัยไปนานแล้ว

ในทางตรงข้ามชาวตะวันออกมักจะมีแนวคิดเรื่อง "ลูกผู้ชาย" หรือความเป็น "ผู้ชาย" สูงมาก ถ้าเอาเฉพาะคนไทย เผลอๆ มากกว่า "ความเป็นหญิง" เสียอีก แม้จะมีสุภาษิตสอนหญิง หรือพวกนางในวรรณคดีมาเป็นตัวบ่งชี้ว่าหญิงไท๊ยหญิงไทยควรประพฤติ ปฏิบัติยังไง แต่โดยรวมแล้ว คนไทยยังไงก็ให้ความสำคัญกับความเป็น "ลูกผู้ชาย" มากกว่า

เกริ่นมาแบบนี้เพราะรู้สึกว่าธีมหลักซึ่งครอบคลุมแต่ละเรื่องสั้นใน อุบัติการณ์ ก็คือแนวคิดลูกผู้ชายนี่เอง เรื่องสั้นส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการที่ตัวเอกผู้ชายตัดสินใจทำบางอย่าง โดยมีฝ่ายตรงข้าม (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็น "คนร้าย" เสมอไป) มาสร้าง threat อันยิ่งใหญ่คือเหยียดหยามศักดิ์ศรี ในโลกของคุณวรภ ความยากจน หิวโหย สูญเสียชีวิต หรือขาดทุน ไม่ใช่เรื่องใหญ่เท่าการโดนหมิ่นประมาท เป็นนิยายจีนกำลังภายในในรูปลักษณ์เรื่องสั้นเพื่อชีวิต

งานเขียนเพื่อชีวิต แต่ไหนแต่ไรมา ก็มีกลิ่นตัวผู้สูงอยู่แล้ว แต่ดูเหมือนคุณวรภเข้าใจจุดอ่อน และข้อเสียของความเป็นชาย เนื้อความระหว่างบรรทัดคล้ายจะตั้งคำถามว่า "ฆ่าได้ หยามไม่ได้" มันยังใช้กันได้หรือไม่กับสังคมสมัยนี้ โดยรวมน่าสนใจ ยังไม่ถึงกับชอบมาก แต่รู้สึกว่าถ้าผู้เขียนจับประเด็นเรื่องเพศ และพยายามล้วงลึกตรงนี้ ในที่สุดน่าจะผลิตผลงานชั้นเลิศ (ไม่ว่าจะเป็นนิยาย กลอน หรือเรื่องสั้น) ออกมาได้

J.M. Coetzee's "Foe"


Foe คือนิยายเล่มที่สองของโคเอทซีที่เราอ่าน แน่นอนว่าเล่มแรกต้องเป็น Disgrace ซึ่งไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ Foe น่าสนใจกว่า มีทั้งความเหมือนและความต่างเมื่อเทียบกับอีกเล่มหนึ่ง ทั้งคู่จับประเด็นความเถื่อน ข้อขัดแย้งระหว่างคนขาวในโลกศิวิไลซ์ และคนผิวสีในโลกใหม่ วิธีการที่ฝ่ายแรกปกครอง กดขี่ฝ่ายหลัง และวิธีการตอบโต้ของคนเถื่อน ถ้าพูดตามภาษาทฤษฎีวรรณกรรมก็เรียกว่า postcolonialism ส่วนจุดต่างคือขณะที่ Disgrace ตรงไปตรงมา Foe เล่นกับประเด็น meta-literature

เนื้อเรื่องคร่าวๆ คือเหตุการณ์หลัง The Adventure of Robinson Crusoe ซูซาน บาร์ตันเป็นผู้ติดเกาะอีกราย (ซึ่งไม่ปรากฏในนิยายเล่มนั้น) พอหนีรอดมาได้ และครูโซเสียชีวิต เธอกับฟรายเดย์เดินทางไปหาโฟซึ่งเป็นนักเขียนดัง บาร์ตันขอร้องให้โฟเปลี่ยนประสบการณ์ของเธอให้กลายเป็นนิยาย สาเหตุหนึ่งก็เพื่อรายได้ ค่าลิขสิทธิ์ บาร์ตันตั้งใจจะส่งฟรายเดย์กลับทวีปแอฟริกา นอกเหนือจากนี้เธอยังมีเหตุผลลึกๆ ซึ่งต้องไปอ่านกันเอาเอง

ช่วงแรกของนิยายพูดถึงเหตุการณ์บนเกาะร้าง เรื่องราวระหว่างครูโซ บาร์ตัน และฟรายเดย์ เป็นอีกมุมมองซึ่งแตกต่างจากที่เราๆ ท่านๆ เคยอ่านกัน ครูโซของบาร์ตันขี้เกียจ วันๆ ไม่ทำอะไรนอกจากเพ้อฝันสักวันคนแปลกหน้าจะมาเยือนเกาะ พร้อมทั้งเมล็ดพันธ์พืชสำหรับหว่านไถบนแปลงซึ่งเขาเตรียมไว้ ครูโซไม่มีความปรารถนาจะกลับสู่สังคมเมือง ชีวิตสิบห้าปีเปลี่ยนเขาให้กลายเป็นพระราชาแห่งแดนรกร้าง เมื่อมีสำเภาผ่านมาช่วยเหลือคนทั้งสาม นั่นคือจุดเริ่มต้นอาการป่วยที่คร่าชีวิตกะลาสี

ช่วงที่สองคือ "การติดเกาะ" ของบาร์ตันใจกลางเมือง โฟมีปัญหาเรื่องเงิน ต้องหลบหนีเจ้าหนี้ บาร์ตันใช้ชีวิตอยู่ในบ้านร้างของนักเขียน พยายามต่อเรื่องราวการผจญภัยบนเกาะร้างด้วยตัวเธอเอง ช่วงนี้ยังตรงไปตรงมา และในความเห็นเรา เป็นช่วงที่ดีที่สุดของนิยาย เราได้เห็นความขัดแย้งระหว่างหญิงชาวอังกฤษ และหนุ่มนิโกร ที่เธอเพิ่งมารู้ภายหลังว่าพูดไม่ได้เพราะถูกตัดลิ้น ความพิการของฟรายเดย์กลายเป็นปมปริศนา ถึงแม้ครูโซบอกว่าพ่อค้าทาสตัดลิ้นชายหนุ่มตั้งแต่เขายังเด็ก ในความเห็นเธอ บางทีครูโซเองนั่นแหละที่กระทำการทารุณนั้น โคเทอซีแสดงให้เห็นความสำคัญของภาษา การสื่อสาร และคุณค่าในแง่บันทึกความทรงจำ

พอถึงช่วงสุดท้าย บาร์ตันพบกับโฟ ทั้งคู่ถกปรัชญา ไล่มาตั้งแต่ postcolonialism, meta-physics, feminist theory, existentialism และทฤษฎีอื่นๆ เท่าที่โลกตะวันตกเคยค้นพบ โดยมีตัวละครอื่นๆ เช่นฟรายเดย์ เด็กหญิงซึ่งอาจจะเป็น หรือไม่เป็นลูกสาวของบาร์ตันเป็นน้ำจิ้มประกอบบทสนทนา อ่านทีแรกตกใจมาก เพราะสไตล์มันช่างต่างจากช่วงก่อนโดยสิ้นเชิง กำแพงที่สี่พังพินาศ ตัวละครยอมรับออกมาเลยว่าพวกเขาเป็นสิ่งประดิษฐ์ ถูกสร้างมาโดยน้ำมือ "เทพเจ้าแห่งความมืด" บางคน (ซึ่งจะใช่ใครอื่นนอกจากตัวโคเอทซี) ไม่ใช่ตอนจบที่คาดหวังไว้ หรืออยากให้เป็น แต่ความ absurd ของมันเกินอัตราจนกลายเป็นถูกใจเรา

เกร็ด: Robinson Crusoe ถือเป็นนิยายภาษาอังกฤษเล่มแรก เขียนช่วงประมาณต้นศตวรรษที่ 18 โฟแต่งนิยายเล่มนี้โดยสมมุติว่าเป็นเหตุการณ์จริงซึ่งเกิดกับกะลาสีคนหนึ่ง สมัยนั้นชาวตะวันตกยังไม่เข้าใจว่าอะไรคือนิยาย อะไรคือ "ศิลปะแห่งการโกหก" และเหตุใดถึงต้องมานั่งอ่าน "เรื่องแต่ง" นี่คงเป็นสาเหตุที่โคเอทซีหยิบยกนิยายเล่มนี้มาใช้เป็นหัวข้อปาฐกถา meta-literature

M. Moorcock's "Behold the Man"


Behold the Man เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ที่แตกต่างจากนิยายวิทยาศาสตร์ในความหมายคนทั่วไป ถึงจะมียานย้อนเวลา แต่เทคโนโลยีตัวนั้นเป็นแค่ส่วนประกอบของบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่า และน่าสนใจกว่านั้น ถ้าให้จำกัดความจะบอกว่า Behold the Man ออกแนวปรัชญาศาสนาที่มีประเด็นเรื่องการย้อนเวลาเป็นส่วนประกอบ

คาร์ลผ่านมรสุมชีวิตมากมาย ทั้งภายนอก และที่สำคัญกว่าคือภายใน ทันทีที่ชีวิตตกต่ำลงสุดขีด เขาโทรศัพท์ไปหาเพื่อนซึ่งกำลังสร้างยานย้อนเวลา เพื่อนผู้นี้หาอาสาสมัครทดลองใช้ยาน คาร์ลยื่นเงื่อนไขเป็นอาสาสมัครคนนั้น แต่มีข้อแม้ว่าเขาจะต้องเลือกวันเวลาในอดีตเอง คาร์ลตัดสินใจย้อนกลับไป A.D. 29 โดยมีเป้าหมายคือต้องการเป็นประจักษ์พยานการถูกตรึงไม้กางเขนของพระเยซู

อ่านแล้วนึกถึง The Power and the Glory คงเป็นด้วยธีมหลักของสองเล่มนี้กระมัง ซึ่งก็คือการเสียสละ ในทางคริสตศาสนาแล้ว คงจะถือว่าเป็นความดีระดับสูงสุด

จุดสำคัญของเรื่องนี้คือเหตุการณ์ใน New Testament เป็นแค่ตำนานที่คนปรุงแต่งเอง หรือว่าเกิดขึ้นจริง ถ้าเกิดขึ้นจริง เกิดในลักษณะไหน และที่สำคัญกว่านั้น จำเป็นหรือไม่ว่าพระเยซูต้องมีตัวตนจริงๆ คนรักของคาร์ล โมนิกา ไม่เชื่อเรื่องศาสนา เธอคิดว่าพระเจ้าตายไปตั้งแต่ปี 1945 (ปีสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง) และปัจจุบันวิทยาศาสตร์ได้มาแทนที่ทุกศรัทธา ความเชื่อ คาร์ลพยายามถกเถียงในเรื่องนี้ และเมื่อโมนิกาเดินออกจากชีวิตเขา ชายหนุ่มตัดสินใจหาข้อพิสูจน์บางอย่าง

Behold the Man ไม่ใช่นิยายที่คาดไม่ถึงขนาดนั้น ใครคุ้นเคยการ์ตูน หรือนิยายวิทยาศาสตร์มาบ้าง คงพอเดาตอนจบได้ตั้งแต่ต้น ช่วงแรกๆ ค่อนข้างน่าเบื่อด้วยซ้ำ ไม่ค่อยชอบวิธีที่มัวคอคเอาบทสนทนาโดดๆ มาใช้แสดงภาวะจิตใจตัวละคร ดูเหมือนสุ่มๆ ให้หนังสือมันหนาขึ้นมายังไงชอบกล เพิ่งมาช่วงสองนี่แหละ ที่ทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง โดยเฉพาะพอถึงช่วงสุดท้ายแล้ว ธีมหนังสือชัดเจน ลงตัวมากๆ เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ชั้นดีซึ่งอ่านแล้วชวนให้ขบคิดตั้งคำถาม

ช่อการะเกด 42 (หลายคนเขียน)


มาแรงมากๆ กับช่อการะเกด reloaded ชนิดที่ว่าในเวปไซต์วรรณกรรมถึงกับโหวตหาเรื่องสั้นดีเด่นประจำเล่มเลยทีเดียว จริงๆ เห็นคนอ่านหนังสือเราก็ชื่นใจ แต่อย่าให้กระแสนี้มันตายไปกับช่อการะเกด 43 44 ก็แล้วกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็คงขึ้นกับทีมงาน และที่สำคัญตัวผู้เขียนเองจะผลิตผลงานดีๆ ส่งไปให้ช่อฯ ส่วนผู้เขียนคงช่วยอะไรไม่ได้ แต่ส่วนทีมงาน ยอมรับเลยว่าสอบผ่านในระดับหนึ่ง แง่รูปเล่ม ปก เนื้อหา แล้วก็โลกหนังสือ ซึ่งเป็นสรุปข่าวแวดวงวรรณกรรมไทย เทศท้ายเล่ม ทำออกมาได้ดี จุดเดียวที่อยากเตะ เอ้ย! อยากติคือรูปประกอบ ให้เดานะ บางรูปไม่ได้วาดจำเพาะเรื่องใช่ไหม เพราะไม่เห็นมันจะเข้ากันกับเนื้อหาตรงไหน (นอกจากจะแถๆ ถูๆ ไถๆ กันจริงๆ )

เรื่องที่ชอบสุดในเล่มคือ ข้อได้เปรียบของการเป็นดาราอาวุโส เขียนดี เรื่องสั้นที่เอาความตายมาเป็นธีมแบบนี้หายากในเมืองไทย เรื่องนี้นอกจากจะพูดถึงความตายแล้ว ยังใช้ตัวละครเป็นนักแสดง คือผู้สวมบทบาทจริงๆ (ซึ่งต่างจากดารา หรือคนดัง) ไม่ค่อยได้อ่านเรื่องราวของอาชีพนี้เท่าไหร่ สงสัยมากว่าคุณวยากรเป็นใคร ทำอาชีพอะไร และอายุเท่าไหร่ ทำไมถึงได้เข้าใจสิ่งเหล่านี้ และถ่ายทอดมาได้ดี รองลงมา ใช่เพียงชื่อตัวละคร เป็นเรื่องสั้นชวนหัวที่ขำแตกใช้ได้ ภาษาผู้เขียนเรียบๆ แต่บทจะปล่อยหมัดฮา ก็กระทุ้งยอดอกคนอ่าน เรื่องสั้นขำขันที่มีบรรยากาศจริงจังเช่นนี้ไม่ค่อยมีให้เห็นในแวดวงวรรณกรรมไทย อีกเรื่องที่อาจจะไม่ถึงกับชอบมาก แต่น่าพูดถึงคือ ข่าว ชัด รัฐ นิวส์ ซึ่งด้วยวิธีนำเสนอเก๋ไก๋ (แม้จะไม่แปลกใหม่นัก) ก็ช่วยให้เรื่องนี้สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เรื่องที่เข้าขั้นชอบ และเกือบดีมากๆ คือ อิสตรี เป็นเรื่องสั้นสไตล์คุณเดือนวาด ทั้งวิธีเขียน และสาร ในเรื่องนี้มีสองเหตุการณ์เกิดพร้อมๆ กัน ซึ่งแม้แต่ละส่วนจะไม่แข็งนัก แต่พออยู่รวมกันแล้วช่วยส่งเสริมกันได้ดี ปัญหาคือยาวไป แทนที่จะได้เห็นธีม เป็นปมชัดๆ อาการเลยเหมือนอ่านไปต้องมานั่งตั้งคำถามไปว่าจะเล่าให้ฉันฟังทำไมเนี่ย อีกเรื่องที่ปัญหาคล้ายๆ กันคือ มือสังหาร ด้วยภาษาเข้มข้นถึงใจ ติดที่ตรงลำดับการเล่าเรื่อง อ่านแล้วยังไม่ถึงอารมณ์เท่าที่ควร

ที่สงสัยกว่าเพื่อนคือ ตับ รู้สึกว่าถ้าผู้อ่านตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับตัวละคร คงไม่มีใครยอมฝืนกล้ำกลืนเช่นนั้น ยิ่งถ้าวิธีแก้ไขง่ายนิดเดียว หากผู้เขียนวางหมากใหม่ ให้ "ผม" ในเรื่องได้มีโอกาสเปิดอกกับพ่อตาสักครั้ง คงช่วยให้การตัดสินใจตัวละครสมจริงสมจังกว่านี้ อีกเรื่องที่อ่อนกว่าเพื่อนคือ ปาฏิหาริย์แห่งประเทศโลกที่สาม แม้จะดีใจที่ได้เห็นพี่ประชาคมลองเรื่องสั้นแบบใหม่ๆ แต่เรื่องยังไม่ถึงในแง่เสียดสีสังคม นึกอยู่นานก็นึกไม่ออกว่าเสียดสีแง่ไหนกัน จะเล่นประเด็นจตุคาม หรือประเด็นหวย หรือจะเป็นเรื่องปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งก็ดูจะไม่ใช่อย่างนั้น เหมือนเป็นเรื่องสั้นพยายามเสียดสีสังคมที่ยังตอบโจทย์ไม่แตกมากกว่า

นอกนั้นแม้จะธรรมดา แต่พูดได้เต็มปากว่าช่อการะเกด 42 ไม่มีเรื่องไหนแย่

M. Puig's "Kiss of the Spider Woman and two other plays"


ไม่ใช่ครั้งแรกนะที่ได้อ่าน Kiss of the Spider Woman นี่คือหนังสือโปรดเรามาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว อาจไม่ค่อยพูดถึงบ่อยนัก เพราะไม่ได้อ่านเรื่องอื่นของผู้เขียน (เคยค้นๆ ดู ที่แปลมาเป็นภาษาอังกฤษก็มีอยู่ไม่กี่เล่ม) ยังจำความรู้สึกได้ดี เหมือนโดนฉุดกระชากลงห้วงเหวอารมณ์ ระหว่างอ่านแน่นหน้าอก ตีบตันไปหมด ร้องไห้ยังร้องไม่ออก ความรู้สึกคล้ายๆ ตอนอ่าน Lolita หรือ The Sea, the Sea หนังสือเหล่านี้สร้างความกดดันบางอย่าง ทั้งที่ถามว่าเศร้าไหม อย่างน้อยๆ กว่าจะถึงตอนจบก็ไม่ได้โศกาอะไรนักหนา ยิ่งในกรณี Kiss of the Spider Woman น่าจะเรียกว่าเป็นความเศร้าที่มาพร้อมกับความสวยงามมากกว่า

จุมพิตนางแมงมุมฉบับที่เพิ่งอ่านไปไม่ใช่นิยาย แต่เป็นละครเวที ดัดแปลงโดยตัวพูอิกเอง เข้าใจว่าเพิ่งมาทำเป็นละครเพลงทีหลัง โดยคู่หูในตำนาน เอบ และแคนเดอร์เป็นผู้ประพันธ์ดนตรี นึกภาพไม่ออกเหมือนกันว่าจะออกมาในรูปแบบไหน เคยเล่นที่ศูนย์วัฒนธรรมไทยด้วย มีคุณรัดเกล้าแสดง แต่ถามว่าแสดงเป็นอะไร ไม่รู้เหมือนกัน แต่คงไม่ใช่นางแมงมุม เพราะสำหรับคนที่คุ้นเคยกับเรื่องนี้ คงทราบว่านางแมงมุมเป็นนักโทษชายใจหญิง โมลินาถูกจับขังร่วมกับวาเลนติน นักโทษการเมือง ในคุกแห่งหนึ่งของประเทศอเมริกาใต้ ทั้งเรื่องมีคนเล่นอยู่แค่สองคนเท่านั้น

ถึงจะบอกว่าพูอิกดัดแปลงนิยายตัวเองให้เป็นบทละคร แต่เอาเข้าจริงๆ Kiss of the Spider Woman ฉบับดั้งเดิมมันก็แทบจะเป็นละครอยู่แล้ว เพราะทั้งเล่มไม่มีการบรรยายฉาก มีแต่บทสนทนาระหว่างตัวละครสลับไปมา ด้วยเหตุนี้กระมังมันถึงได้เป็นหนังสือสุดแสนงดงาม เพราะไม่มีการบรรยายความ คนดูถึงต้องจินตนาการทุกสิ่งล้วนๆ พูดแบบนี้อาจฟังดูแปลกๆ เนื่องจากขึ้นชื่อว่าเป็นหนังสือ มันก็ต้องใช้จินตนาการวันยังค่ำ อธิบายไม่ถูกเหมือนกัน เพียงแต่เทียบกับนิยายเรื่องอื่น ราวกับว่า Kiss of the Spider Woman เป็นนิยายที่ถูกเล่าด้วยเสียงกระซิบ ต้องค่อยๆ วาดภาพ จับความเอาเอง ประกอบกับธีมหนังสืออิงอยู่บนความฝัน และภาพลวงตา เลยกลายเป็นวิธีเล่าเรื่องที่ส่งเสริมเนื้อความอย่างสวยงาม

พอดัดแปลงเป็นบทละคร อ่านแล้วคิดภาพตาม กลับไม่ได้อารมณ์เท่าที่ควร ซึ่งคงช่วยอะไรไม่ได้ จริงๆ ฉากและเหตุการณ์สำคัญในนิยายบรรจุอยู่ในบทละครได้อย่างไม่มีตกหล่น ต่อให้ไม่นับอารมณ์ฝันๆ ของมันนี่ก็เป็นนิยายที่มีประเด็นพูดถึงได้ไม่รู้จบ การถ่ายทอดบทสนทนา ไดนามิกระหว่างโมลินา และวาเลนติน ตัวละครซึ่งต่างกันในทุกๆ ด้าน สื่อให้เห็นความขัดแย้งระหว่างเพศ การต่อสู้ทางการเมือง (เท่าที่อ่านดูพูอิกค่อนข้างเป็นกลาง ไม่เอียงซ้าย เอียงขวาไปทางใด) การใช้ชีวิตอย่างภาคภูมิใจ และไม่ยอมให้ใครดูถูก (ซึ่งถูกย้ำอีกครั้งใน Mystery of the Rose Bouquet) การที่คนสองคนช่วยเหลือและเติมเต็มซึ่งกันและกัน

นอกจาก Kiss of the Spider Woman เล่มนี้ยังมีบทละครอีกสองเรื่องคือ Under a Mantle of Stars และ Mystery of the Rose Bouquet ซึ่งก็เพิ่งเคยอ่านเหมือนกัน Under a Mantle of Stars เป็นบทละครเรื่องแรกของผู้เขียน เล่นประเด็นความฝัน และภาพลวงตาเต็มๆ สนุกดี อ่านแล้วเหมือนเดินท่องอยู่ในเขาวงกต ส่วน Mystery of the Rose Bouquet ค่อนข้างยาว และน่าเบื่อบางจังหวะ แต่มีตอนจบที่โดนใจพออภัยให้ทุกสิ่ง มีหลายส่วนคล้ายจุมพิตนางแมงมุม เปลี่ยนสองนักโทษชาย เป็นนางพยาบาล และคนไข้ พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างคู่คนขาดๆ หายๆ และท้ายที่สุด หนึ่งในบทเรียนที่พูอิกอยากฝากไว้คือการมีชีวิตอย่างไม่ยอมให้ผู้ใดดูถูก

happening vs modern dance


แฮะ แฮะ อาทิตย์ที่ผ่านมาอ่านหนังสือไม่จบเลยสักเล่ม พยายามอ่านเรื่องสั้นคนไทยเขียน ซึ่งก็ฮาๆ ดีเหมือนกัน แต่รู้สึกเหมือนเหมาะเอาไว้วางในห้องน้ำอ่านสนุกๆ มากกว่า ส่วนหนังสือรวมเรื่องสั้นฝรั่งอีกเล่ม ดีพอตัว แต่มันหนืดๆ ยังไงไม่ทราบ ก็เลยว่าจะดองเอาไว้สักพัก ตอนนี้กำลังอ่านรวมบทละครอยู่ คาดว่าเล่มนี้น่าจะจบในไม่ช้า ครั้นจะไม่อัพเดทบลอคเลย ก็ดูขี้เกียจไปหน่อย บังเอิญพอดีเมื่อวานไปดูงาน modern dance มา โดยคณะจากเยอรมัน ซึ่งบังเอิญมันตรงกับเรื่องที่เราอยากพูดถึงมานานแล้ว

หนึ่งในแดนซ์ที่ได้ดูเมื่อวานคือผู้หญิงมาเลียนแบบการดำน้ำ โดยผู้ชายคนหนึ่งคอยแบกเธอ เหวี่ยงไปเหวี่ยงมารอบๆ เวที ส่วนตัวผู้หญิงก็ตีขา เหวี่ยงแขน งดงามชวนฝันชนิดแทบลืมแรงโน้มถ่วงไปเลย นึกถึงว่าอาทิตย์ก่อน เห็นคลิปยูทูป happening ของคนไทย มีผู้ชายมาเลียนแบบการดำน้ำโดยสวมกู๊กเกิ้ลเดินไปเดินมา ก้มศีรษะ ทำท่าเหมือนแหวกน้ำ

บอกได้คำเดียวครับว่าอาย

ระยะหลังได้ยินคำว่า happening เยอะมากในเมืองไทย จริงๆ ศัพท์คำนี้ก็มีที่มาจากประเทศอเมริกา แต่เรากลับไม่ค่อยได้ยินฝรั่งเท่าไหร่ เหมือนกับว่าพอ happening ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงรูปกึ่งเต้น กึ่งบทพูด กึ่งอะไรก็ได้ เกิดขึ้นมา ไม่นานก็ถูกเอาไปรวมกับ modern dance ซึ่งก็เป็นการเต้นที่ "อะไรก็ได้" (จริงๆ งาน modern dance ที่ชมไปเมื่อวานก็มีโชว์ซึ่งเข้าข่าย happening อยู่เยอะเหมือนกัน)

ความ "อะไรก็ได้" ของ modern dance นี่จริงๆ แล้วยากโคตรๆ คนที่จะมาทำอะไรแบบนี้ต้องแข็งแรง เคยเต้นบัลเล่ห์ แจ๊ส ฮิปฮอบ หรือแอฟริกันแดนซ์ มากพอให้เคลื่อนไหวร่างกายได้ดังใจ หรือถ้าเป็นงานอิงบทสนทนา อย่างน้อยก็ต้องเข้าใจศาสตร์ ศิลป์การเขียน และแสดงละคร ถึงจะ "อะไรก็ได้" แต่ไม่ใช่ "ใครก็ได้" จะทำแล้วดูงาม

รู้สึกว่าคนไทยชอบคำว่า happening เพราะมันสื่อถึง "อะไรก็ได้" และ "ใครก็ได้" เรารู้สึกว่าเป็นค่านิยมที่ผิด ชนิดว่าอยากดำน้ำ ก็เอาแว่นมาสวม แล้วแหวกๆ ว่ายๆ หรือเคยดูคนพยายามเลียนแบบนก ก็เข้าทำนองเดียวกัน ที่น่าอายมากๆ คือแค่ให้นักแสดงไม่พูดอะไรบนเวที แล้วเรียกมันว่า "ละครใบ้" จริงๆ ไอ้เรื่องการแสดงท่าทางต้านแรงโน้มถ่วงก็เป็นเทคนิคที่นัก modern dance ถ่ายทอดกันมายาวนาน รวมไปถึง mime หรือละครใบ้ด้วย ถ้าขี้เกียจศึกษา ขี้เกียจฝึกซ้อม อย่าทำเลยดีกว่า

ไม่อย่างนั้น happening ของพี่ไทยก็ได้แค่ "ทำท่าทำทาง" แต่ไม่ถึงขั้น "การเต้น" ซึ่งเป็นงานศิลปะหรอก

K. Johnson's "The Magician and the Cardsharp"


ได้เวลาเปิดเผยความจริงอีกประการเกี่ยวกับตัวเราที่หลายคนอาจยังไม่รู้ นอกจากหนังสือ และลีลาศ มายากลคืออีกหนึ่งงานอดิเรกที่เราหลงใหล แต่ถ้าพูดถึงดีกรีความทุ่มเท ยังห่างชั้นกับสองอย่างนั้นอีกไกล ความสนใจมายากลเริ่มมาจากชอบเล่นไพ่ จำได้ว่าไปเข้าค่ายกับเพื่อน เล่นรัมมี่กันอยู่ดีๆ เพื่อนก็โชว์กลไพ่ให้ดูอย่างหนึ่ง ตั้งแต่นั้นก็สนใจ ศึกษา ฝึกฝน แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ทิ้งไปนานหลายปี เพิ่งมาเก็บตกช่วงปี สองปีให้หลังนี้เอง

วันหนึ่งพอเดินผ่านร้านหนังสือ เห็นกะบะลดราคามี The Magician and the Cardsharp ซื้อมาทันที หนังสือเล่มนี้คือชีวประวัติได เวอร์นอน ซึ่งถ้าฮูดินีคือไอนสไตน์แห่งโลกมายากล เวอร์นอนก็คือริชาร์ด ไฟยน์แมนนั่นเอง (อุปมาอุปมัยได้แย่มาก สรุปสั้นๆ ฮูดินีคือนักมายากลคลาสสิก ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ถ้าพูดถึงพ่อมดแห่งศตวรรษที่ยี่สิบจริงๆ ต้องเป็นเวอร์นอนเท่านั้น) เวอร์นอนได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิวัติวงการมายากล จากอดีตมายากลคือการแสดงอลังการ หลบหนีจากสถานที่อันตราย เสกนู้นเสกนี่ให้หายไปด้วยเครื่องกลไกซับซ้อน เวอร์นอนคือผู้บุกเบิกศิลปะการใช้มือ (slight of hand) เล่นกลระยะใกล้ (เพิ่งมาสิบ ยี่สิบปีให้หลังกับเดวิด คอปเปอฟิลนี่แหละ ที่การแสดงอลังการบนเวทีกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง)

ให้พูดอย่างตรงไปตรงมาว่า The Magician and the Cardsharp เป็นหนังสือที่ดีไหม ตอบเลยว่า "เกือบ" จอห์นสันพยายามผูกเรื่องราวชีวิตเวอร์นอนให้น่าสนใจขึ้น โดยใช้การไล่ตามหา "กลไพ่ในตำนาน" ซึ่งก็คือการแจกไพ่จากกลางกอง เป็นพลอตหลักของหนังสือ ทั้งนี้ทั้งนั้นยังผสาน และเปรียบเทียบชีวิตคนสองคน คนแรกคือเวอร์นอน อีกคนคืออลัน เคเนดี้ซึ่งเป็น cardshape หรือนักโก่งไพ่ เจ้าของเทคนิกนี้ ชีวิตของเคเนดี้วนเวียนอยู่กับโลกใต้ดิน มาเฟีย โสเพณี เหล้า และการพนัน แต่เอาเข้าจริงๆ ทั้งคู่กับมีส่วนเหมือนมากกว่าส่วนต่าง นั่นก็คือความหลงใหลในศิลปะแห่งไพ่

คิดออกเลยว่าถ้าเปลี่ยนจอห์นสันเป็นนักเขียนดังๆ อย่างพอล ออสเตอร์แล้วแต่งนิยายโดยยืนพื้นประเด็นนี้ The Magician and the Cardsharp จะเป็นหนังสือที่น่าอ่านมากๆ จอห์นสันเล่าเรื่องราวตรงไปตรงมา หนึ่งไปสอง ไปสาม ไปสี่ ทั้งที่จริงๆ มันมีอะไรหลายอย่างซุกซ่อนอยู่ ตั้งแต่การต่อสู้กับภาวะข้าวยากหมากแพงของเหล่านักมายากลในอเมริกายุค great depression ความขัดแย้งระหว่างเวอร์นอนและนักมายากลรุ่นเก่าเช่นฮูดินี หรือที่กล่าวไปแล้ว ความเหมือน และต่างระหว่างนักแสดง และโจรโกงไพ่ ทั้งหมดนี่คงเจ๋งมากๆ ถ้าได้มือชั้นดีมาจับ สำหรับเท่านี้ The Magician and the Cardsharp ก็พอใช้ได้ในแบบที่มันเป็น