S. Lewis's "Babbitt"
สารภาพว่าไม่ค่อยชอบหนังสือแบบนี้ ทั้งที่จริงๆ มันน่าสนใจมากในวิธีการนำเสนอ Babbitt น่าจะเป็นนิยายที่ใกล้เคียงความเป็นสารคดีที่สุด เลวิสจำลองภาพชนชั้นกลางในอเมริกายุคหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ก่อนความพังพินาศทางเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ เป็นยุคที่ชีวิตของชาวอเมริกันเต็มไปด้วยความว่างเปล่าอันมั่งคั่ง ผู้คนแหวกว่ายอยู่ในอุดมการณ์อนุรักษนิยม อยู่ในความโง่งมอันไร้ขอบเขต
เลวิสนำเสนอภาพเหล่านี้ออกมาในรูปแบบสารคดี นิยายแทบทั้งเล่มไม่มีเนื้อเรื่อง เป็นเหตุการณ์ในแต่ละยี่สิบสี่ชั่วโมงของแบบบิทมาต่อๆ กัน แต่ละฉากแต่ละช่วงอาจมีธีมการนำเสนอ เช่น ชีวิตครอบครัวของชนชั้นกลาง ชีวิตในที่ทำงาน ชีวิตช่วงวันหยุดพักผ่อน เป็นต้น คนอ่านสัมผัสได้ถึงความน่าเบื่อหน่อย ตัวละครแต่ละตัวเป็นปากที่ขยับไปมา แต่ไม่มีความคิดหลุดมาพร้อมกับเสียง แบบบิทเองก็รู้ตัวอยู่ลึกๆ ว่ากำลังโดนกักขังโดยบางสิ่งบางอย่างที่เขาอธิบายไม่ถูก เขาไม่พอใจกับชีวิตแบบนี้ แต่ก็ไม่สามารถหนีออกมาได้ ไม่สามารถจินตนาการถึงชีวิตแบบอื่น
เรารู้สึกว่านี่คือนิยายแบบกามูส์ ในยุคที่ยังไม่มีกามูส์ (และเช่นเดียวกับกามูส์ เลวิสได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม) แบบบิทน่าจะเป็นพระเอกอัตถิภาวนิยมคนที่สองถัดจากราสโคนิคอฟ แต่เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีขนบนิยายที่ตัวเอกตั้งคำถามกับจารีตประเพณี และพยายามฉีกตัวเองจากสภาพแวดล้อม เลวิสจึงเลือกนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ในรูปแบบสารคดี และนั่นกลายเป็นสิ่งที่เก๋ไก๋ที่สุดของนิยายเรื่องนี้
แต่ถามว่าอ่านสนุกไหม ตอบได้เลยว่าเพราะความไม่มีเนื้อไม่มีเรื่องของมัน Babbitt จึงเป็นนิยายที่เราต้องใช้ความอดทนกับมันมากทีเดียว
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment