M. D. Russel's "The Sparrow"
ฝรั่งมีคำพังเพยตลกๆ ว่า "หากคุณขับรถไปตามท้องถนนแล้วเห็นเต่าตัวหนึ่งขึ้นไปดอกแดกอยู่บนเสารั้ว คุณมั่นใจได้เลยว่าเต่าตัวนี้ไม่ได้ปีนขึ้นไปเองแน่ๆ " ซึ่งบริบทที่ใช้ก็แตกต่างกันออกไป พวกรีพับลิกันบางคนเปรียบเทียบโอบามาว่าเป็นเต่าบนรั้ว คือถูกจับยัดลงสถานที่และตำแหน่งซึ่งไม่เหมาะสมกับตัวเอง จากบริบทที่รัสเซลใช้นิยาย The Sparrow "เต่าบนรั้ว" หมายถึงเหตุการณ์ที่เหมือนจะเกิดโดยบังเอิญอย่างน่ามหัศจรรย์ จริงๆ แล้วไม่ใช่ความบังเอิญหรอก แต่พระผู้เป็นเจ้าต่างหากทรงใช้หัตถ์ที่มองไม่เห็นหยิบจับขยับเคลื่อนไหวให้มันเป็นเช่นนั้น
โดยผิวเผิน The Sparrow เหมือนจะเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ แต่รัสเซลเน้นนัยยะทางคริสตศาสนาออกมาอย่างเด่นชัดมาก เมื่อนักวิทยาศาสตร์ค้นพบอารยธรรมบนดาวเคราะห์ราแคทที่อยู่ใกล้ๆ ระบบสุริยะ ขณะรัฐบาลและองค์กรใหญ่ๆ กำลังถกเถียงกันอยู่ว่าควรทำเช่นไร โบสถ์เจซุส (ซึ่งเป็นนิกายหนึ่งในศาสนาคริสต์) ก็ส่งนักบวชของนิกายตัวเองรวมถึงนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งเพื่อทำการติดต่อกับสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงนั้น
นิยายเปิดฉากภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจนั้น ทุกคนตายหมด เหลือนักบวชเพียงรูปเดียวกลับมาในสภาพย่ำแย่ ร่างกายบาดเจ็บ สติฟั่นเฟือนเพราะเหตุการณ์เลวร้ายที่ตัวเขาประสบมา (บนดาวราแคทเอง ก็เกิดสงครามกลางเมืองอันเนื่องมาจากผู้มาเยือน) คำถามซึ่งทุกคนบนโลกสงสัย (รวมถึงคนอ่านด้วย) คือ “มันเกิดอะไรกับคณะสำรวจกันแน่” แต่นั่นไม่ใช่คำถามของรัสเซล ประโยคหนึ่งจากนิยายเล่มนี้คือ “วิทยาศาสตร์จะถามว่าอะไร แต่ศาสนาถามว่าทำไม” (วินเซนต์ ไพรซ์เคยเล่นเป็นผู้ร้ายเจม บอนด์ เจ้าพ่อสื่อสิ่งพิมพ์พูดอะไรทำนองนี้ว่า “หน้าที่ของหนังสือพิมพ์คือบอกคนอ่านว่าเกิดอะไรขึ้น ทั้งที่จริงๆ คนอ่านอยากรู้ต่างหากว่าทำไมจึงเกิดขึ้น”) สิ่งที่เกิดกับมนุษย์บนดาวราแคทนั้นไม่น่าสนใจเท่า “ทำไม” และไม่ใช่แค่ “ทำไม” แต่เป็น “ทำไมพระผู้เป็นเจ้าซึ่งอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมด ตั้งแต่การค้นพบอารยธรรมบนดาวราแคท การส่งนักบินอวกาศไปยังสถานที่แห่งนั้น ถึงได้ปล่อยให้มีโศกนาฏกรรมเช่นนี้” (นกกระจอกในชื่อเรื่องมาจากคัมภีร์ไบเบิลบทหนึ่งที่บอกว่า “พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้มองข้ามแม้กระทั่งนกกระจอกตัวเดียวซึ่งร่วงหล่นลงมาจากกลางอากาศ”)
ซึ่งพูดกันตรงๆ นี่เป็นคำถามที่ชาวพุทธอย่างเรา “ช่างแม่ง” ไปตั้งแต่แรกแล้ว ฝรั่งเอ๋ย ไม่รู้จึกปฏิจสมุปบาทหรืออย่างไร
ค่อนข้างผิดหวังกับนิยายเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะตั้งความหวังเอาไว้มาก (The Sparrow ถูกจัดว่าเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ระดับคลาสสิค) รัสเซลให้รายละเอียดตัวละครนักสำรวจไว้เยอะ ชนิดที่กว่าจะไปถึงดาวราแคทก็ปาเข้าไปครึ่งเล่มแล้ว และถามว่ารายละเอียดเหล่านี้จำเป็นไหม ตอบเลยว่าไม่ ตอนแรกนึกว่าเธอจะเล่นกับความสัมพันธ์ของผู้คนที่ถูกจำกัดให้อยู่ด้วยกันนานๆ (เพราะแอบมีหยอดประเด็นชู้สาวเข้ามาเป็นระยะ) แต่เอาเข้าจริงๆ ไม่เกี่ยวกันเลย โศกนาฏกรรมบนดาวราแคทต่อให้เป็นนักสำรวจนิรนามเจ็ดแปดคนก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ นี่เป็นนิยายที่เยิ่นเย้อในตอนต้น และมาขมวดปมอย่างเร่งรีบในตอนท้าย จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีเล่มสองออกมา
บางที Children of God อาจจะตอบบางคำถามที่ค้างคา แต่เราขอผ่านดีกว่า
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment