S. Saltzman's "Portrait of Dr. Gachet"


เป็นที่รับรู้กันว่าในแวดวงศิลปะ จะเก่งอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องเฮงด้วย คือโอกาสดี และรู้จักโฆษณาตัวเอง ถ้าเช่นนั้นก็ต้องถือว่าแวนโก๊ะ เป็นศิลปินที่โชคดีที่สุดในวงการคนหนึ่งเลยก็ได้

เชื่อว่าหลายคนคงร้อง หา! พออ่านมาถึงตรงนี้ ไม่ใช่ว่าแวนโก๊ะคือสัญลัษณ์ของศิลปินอับโชค ที่ตอนอยู่ยากจนข้นแค้น แต่พอตายแล้ว รูปภาพขายได้ราคาสิบๆ ล้านหรอก Portrait of Dr. Gachet พูดถึงเรื่องราวของภาพวาดชื่อเดียวกันนี้ ภายหลังจากแวนโก๊ะตาย มันถูกซื้อขายเปลี่ยนมือโดยใครต่อใคร จนได้เป็นภาพเขียนที่ราคาแพงที่สุดในโลกช่วงระยะเวลาหนึ่งได้อย่างไร

หนังสือเล่มนี้ "รื้อสร้าง" ความคิดดั้งเดิมของเราว่า หลังจากแวนโก๊ะตาย จู่ๆ ผู้คนก็ค่อยๆ เห็นคุณค่าภาพวาดของเขา จนราคาเพิ่มสูงขึ้นๆ ไม่ใช่เลย ถ้าสมัยแวนโก๊ะมีชีวิตอยู่ การขายภาพของเขายากลำบากเพียงใด หลังแวนโก๊ะตาย มันก็ครือๆ กันนั่นเอง เหตุกึ่งบังเอิญร้อยละอันพันละนิดค่อยๆ เสริมเติมแต่งจนชื่อของแวนโก๊ะขึ้นหม้อในแวดวงศิลปะ ทั้งหมดนี้ก็อาศัยการ "โฆษณา" ด้วย โดยน้องสะใภ้ของแวนโก๊ะ โจฮันนา คนที่ตีพิมพ์จดหมายแลกเปลี่ยนระหว่างวินเซนต์และธีโออันโด่งดัง

โจฮันนาตัดสินใจถูกมากๆ ที่ย้ายถิ่นฐานกลับไปอยู่เนเธอแลนด์ (แวนโก๊ะและธีโอก็เฉกเช่นเดียวกับศิลปินช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ทั้งหลาย คือเลือกที่จะทำงานในเมกกะแห่งศิลปะ ปาริส) ที่บ้านเกิดเมืองนอน แวนโก๊ะได้รับการยกย่องในฐานะศิลปิน "ท้องถิ่น" จากจุดนั้นชื่อเสียงของแวนโก๊ะ (หลังความตาย) ก็ค่อยๆ ถูกสั่งสมขึ้น ก่อนจะไปโด่งดังเป็นพลุแตกในเยอรมัน พร้อมกับลัทธิเอกเพรสชันนิสต์โดยกลุ่ม "นักขี่สีฟ้า" ของคาดินสกี ซึ่งนักวิจารณ์ศิลปะหลายคนให้เกียรติแวนโก๊ะในฐานะผู้สร้างแรงบันดาลใจหลักของกลุ่ม

มันก็ชวนคิดแบบขื่นๆ ดีเหมือนกันว่า ไม่ว่าศิลปินจะอยู่หรือจะตาย ถ้าไม่รู้จักสถานการณ์ ไม่รู้จักตาม้าตาเรือ ก็คงยากที่จะเติบโตต่อไปได้

P. Virilio's "Art and Fear"


Cinema disturbs one's vision. The speed of the movements and the rapid change of images force you to look continuously from one to the next. Your sight does not master the pictures, it is the pictures that master your sight. They flood your consciousness. The cinema involves putting your eyes into uniform, when before they were naked.

คาฟกาเป็นคนพูดประโยคข้างบนนี้ เอามาแปะให้ผู้กำกับเฉยๆ คิดว่าคงชอบ

ใน Art and Fear วิริลิโอให้เหตุผลว่าพัฒนาการของภาพยนตร์เสียงได้ทำลายวัฒนธรรมทางศิลปะทั้งหมด รวมถึงวัฒนธรรมอื่นๆ และอาจจะเป็นสาเหตุของความโหดเหี้ยมทารุณในศตวรรษที่ 20 ตั้งแต่ค่ายกักกันของนาซีจนถึงการสังหารหมู่ของเขมรแดง

ว่าเข้าไปนั่น แต่เหตุผลของวิริลิโอก็เข้าทีเข้าท่าอยู่ไม่น้อย แกบอกว่าศิลปะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นศิลปะแห่งความเงียบ ในรูปข้างบน ขนาดจะวาดภาพคนเป่าขลุ่ย อัลมาทัลเดมายังไม่กล้าวาดตอนกำลังเป่าเลย แต่เลี่ยงไปวาดภาพที่เข้ากันได้ดีกับความเงียบแทน ตั้งแต่มุนช์เป็นต้นมา จนถึงคาดินสกี้ ศิลปินก็เริ่มค่อยๆ ใส่ "เสียง" ลงไปในจิตรกรรมของตัวเอง (ไม่เกี่ยวเท่าไหร่แต่ The Scream อันโด่งดังของมุนช์ วาดขึ้นสองปีก่อนที่พี่น้องลูเมียร์จะประดิษฐ์ภาพเคลื่อนไหว) และที่สุดของพัฒนาการดังกล่าวก็คือ The Jazz Singer ภาพยนตร์เสียงเรื่องแรกของโลก

เมื่อ "ศิลปะแขนงที่เจ็ด" ​ถูกพัฒนาจนเป็นผลสำเร็จโดยผสานเอาศิลปะทั้งหมดตั้งแต่วรรณกรรม จิตรกรรม จนถึงคีตกาลเข้ามาอยู่ในตัวมัน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เราก็ไม่สามารถมองภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวโดยไม่ใส่เสียงบรรยายในหัวได้อีกแล้ว วิริลิโออธิบายตรงนี้ได้เท่มากคือ "ความเงียบถูกทำให้เป็นใบ้" สังคมมนุษย์พัฒนาไปเป็นสังคมแห่งการพูด การตะโกน ศิลปินไม่สามารถสร้างงานศิลปะที่ไม่มี "ข้อความ" ไม่ตะโกนเรียกร้องอะไรสักอย่าง ("Art that does not help in the fight diverts attention from it.")

ในทางกลับกันการไม่พูดเลยก็เกิดความหมายใหม่ในตัวมันเอง เหมือนที่พูดกันติดปากว่า "ไม่พูดแปลว่าไม่ปฏิเสธ" ซึ่งก็เป็นที่มาของการยินยอมให้เกิดความรุนแรงขึ้นโดยไม่ออกมาต่อต้าน (ประเด็นนี้ถูกวิเคราะห์เยอะมาก โดยนักปรัชญาและนักสังคมศาสตร์ที่ศึกษาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดดเด่นสุดน่าจะเป็น Eichmann in Jerusalem ของอาร์เรนท์)

Art and Fear เล่มนี้อ่านเพลินดี แต่ก็เหมือนวิริลิโอจะทำตัวเป็นตาแก่ขี้บ่นไปหน่อย แกกัดไม่เลือกเลยตั้งแต่มุนช์จนถึงศิลปินไซเบอร์ แล้วบทที่พูดถึงโคลนนิ่ง โฮมุนครูส อ่านแล้วก็แอบฮาๆ นึกว่ากำลังอ่าน Full Metal Alchemist

M. Foucault's "The Archaeology of Knowledge"


มรดกทางวิชาการชิ้นสำคัญที่อาจารย์นพพรหลงเหลือไว้ให้พวกเราคือการนำพาแวดวงวิจารณ์ออกจากกรอบ "เทวาลัยซาบซึ้ง" แต่ขณะเดียวกัน เราอดไม่ได้ที่จะรู้สึกเขอะเขินกับแนวทางสัญศาสตร์ของอาจารย์ เหมือนมันยังมีปมยอกแย้งบางอย่าง ขณะที่อาจารย์ต้องการให้เราหลุดจากกรอบคิดแบบปฏิฐานนิยม (positivism) แล้วมองตัวบท (text) เป็นที่สุดในตัวมันเอง แต่ผลสรุปจากการวิเคราะห์เชิงสัญศาสตร์ ถ้าไม่เอาไปจับกับสภาพแวดล้อมเลย มันจะมีคุณค่าอะไร (และสุดท้ายก็เป็นนักสัญศาสตร์เองที่อิงบทวิเคราะห์ของเขากับบริบทของชิ้นงาน)

The Archaeology of Knowledge เตือนให้เรานึกถึงประเด็นข้างต้น สิ่งที่ฟูโกต์พยายามทำ แท้ที่จริงก็มีความยอกแย้งบางอย่าง (ซึ่งตัวฟูโกต์เองก็ยอมรับในจุดนี้) เขาพยายามดึงเอาตัวบทออกจากสภาพแวดล้อม โดยบอกว่าแม้จะเป็นงานของนักเขียนคนเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าหนังสือทุกเล่มจะต้องเกี่ยวข้อง สัมพันธ์ หรือไปทางเดียวกัน ขนาดว่าแต่ละข้อความที่ปรากฏในหนังสือเล่มเดียวกัน ฟูโกต์โต้แย้งว่าเราควรมองมันเป็นแต่ละส่วนที่แตกกระจายออกมา ณ จุดนี้จึงเหมือนเขาพยายามทำลายความเป็นเอกภาพแบบปลอมๆ ซึ่งเชื่อมโยงระหว่างตัวบท เหมือนจะคล้ายคลึงกับสิ่งที่อาจารย์นพพรทำ คือดึงตัวบทออกจากความเป็นเอกภาพของนักเขียน

กระนั้นก็ตาม ที่สุดของ The Archaeology of Knowledge กลับคือการสร้างเอกภาพแบบอื่นขึ้นมาแทน เป็นเอกภาพที่เราอยากเรียกว่าเอกภาพเชิงโครงสร้างนิยม (ตามแนวคิดของจูเลีย คริสเตวา) ฟูโกต์จริงๆ แล้วปฏิเสธโครงสร้างนิยมแบบสุดลิ่มทิ่มประตู สาเหตุคือนักโครงสร้างนิยมในสมัยของแกชอบหาความสัมพันธ์ที่อยู่นอกเหนือตัวบท ที่เชื่อมตัวบทเข้าด้วยกัน ฟูโกต์ไม่เชื่อในการอ่านระหว่างบรรทัด การค้นหาจุดประสงค์อันแท้จริงที่นักเขียนหรือประวัติศาสตร์ซุกซ่อนไว้ระหว่างชิ้นงาน

ฟูโกต์เรียกสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมาว่าปฏิฐานนิยมเชิงความรู้ (นี่คือสิ่งที่ฟูโกต์ต่างจากกลุ่มสัญศาสตร์ไทยคือเขาไม่ได้ปฏิเสธปฏิฐานนิยม) มันเป็นปฏิฐานนิยมอันเกิดจากแต่ละตัวบท ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาจากหนังสือเล่มเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องมาจากนักเขียนคนเดียวกัน หากพูดถึงประเด็นหรือหัวข้อเดียวกัน ย่อมส่งผลต่อการตีความตัวบทนั้นๆ ฟูโกต์ขยับขยายข้อสรุปตรงนี้ไปไกลถึงขนาดบอกว่า โลกนี้ไม่มีอะไรแท้จริงเลยสักอย่าง ทุกอย่างปรากฏขึ้นก็ต่อเมื่อมีการวิวาทะโดยใช้สิ่งนั้นเป็นประเด็น ด้วยเหตุนี้การจะเข้าใจสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราต้องเข้าใจมันในฐานะสิ่งที่ "ผุด" ขึ้นมาจากโครงสร้างหรือปฏิฐานนิยมเชิงความรู้

ยกตัวอย่างเช่น (อยากใช้ตัวอย่างเรื่องชายแดนไทยเขมร แต่ชักเบื่อๆ ที่จะเขียนเรื่องการเมืองในบลอคนี้แล้ว) ทฤษฎีสัมพันธภาพพิเศษของไอนสไตน์ จุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของมันมาจากบทความปี 1905 แต่ถ้าพูดถึงองค์ประกอบของตัววิชา มันเริ่มต้นก่อนหน้านั้นเป็นสิบๆ ปี และบางอย่างก็ต้องรออีกสิบปีกว่าจะได้องค์ประกอบที่ครบถ้วน สัมพันธภาพพิเศษไม่เหมือนทฤษฎีของนิวตัน ซึ่งจับต้องได้ อาศัยนักวิทยาศาสตร์เพียงไม่กี่คน คิดค้น ถ่ายทอดกันมา รวมถึงทำการทดลองเพื่อพิสูจน์ สัมพันธภาพพิเศษเหมือนความว่างเปล่าที่ค่อยๆ ประกอบสร้างจากวาทกรรมซึ่งโต้เถียงถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ในธรรมชาติ เช่น ความเร็วแสง การสังเกตดวงดาวที่อยู่ห่างไกล

The Archaeology of Knowledge เป็นหนังสือที่มีความคิดอันยอดเยี่ยม แต่ก็โคตรจะน่าเบื่อในการอ่านเลย นี่เป็นหนังสือของฟูโกต์ที่เราชอบน้อยสุด เหมือนกับแกพยายามวางแปลนเล่มนี้ให้เป็นกลวิธีการศึกษา (methodology) ประวัติศาสตร์ของความรู้ มากกว่าจะตั้งคำถามหรือโต้เถียงทฤษฎี ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ methodology เป็นส่วนที่ไม่น่าอ่านที่สุดแล้ว

M.R. James's "The Haunted Dolls' House and other Stories"


นานมาแล้ว สมัยเราเรียนอยู่ชั้นม. 6 ผู้กำกับเอาออดิโอบุ๊คส์ที่ยืมมาจากบริติชเคาซิลมาให้ดู มันเป็นหนังสือรวมเรื่องผีที่เราเองก็จำชื่อคนเขียนไม่ได้ ไม่ค่อยประทับใจกับเรื่องราวในหนังสือเล่มนั้นเท่าไหร่ ยกเว้นเรื่องแรกเรื่องเดียว เกี่ยวกับโรงแรมที่ไม่มีห้องหมายเลข 13

ด้วยความบังเอิญเราได้หนังสือ The Haunted Dolls' House and other Stories มา ซึ่งอ่านไปแรกๆ ก็ไม่ได้คิดอะไร กระทั่งเริ่มรู้สึกคุ้นเคยอย่างประหลาด จนมาเจอเรื่องสั้น Number 13 ถึงเพิ่งตระหนักได้ว่า อ๋อ ที่แท้คนเขียนออดิโอบุ๊คส์เล่มนั้นก็คือเอม อาร์ เจมส์นี่เอง ถือเป็นนักเขียนเรื่องผีชาวอังกฤษที่โด่งดังคนหนึ่งเลย แม้จะมีชื่อเสียงสู้เลิฟคาร์ฟซึ่งเป็นนักเขียนรุ่นเดียวกัน แนวเดียวกันไม่ได้ก็ตาม

การได้เจอข้าวของจากวัยเยาว์แบบนี้ ถือเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ที่เล่าเรื่องนี้ให้ฟังไม่ใช่เพราะจะเกริ่นนอกเรื่อง แต่เพราะเรื่องผีของเจมส์ก็มักเกี่ยวพันกับข้าวของเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ เช่น นกหวีดที่เจอโดยบังเอิญ หนังสือเก่าสักเล่ม ตุ๊กตาไม้แกะสลัก แผ่นกระดาษลึกลับ ภาพขูดโลหะ หรือบ้านตุ๊กตา ซึ่งมักจะนำโชคร้ายหรือเหตุการณ์เหนือธรรมชาติมายังเจ้าของ อย่างเรื่องสั้นที่เราชอบสุดในเล่มคือ The Diary of Mr Poynter ว่าด้วยผู้ชายคนหนึ่งเจอลวดลายพิสดารเสียบอยู่ในหนังสือ ทุกคนถูกอกถูกใจลวดลายนี้มาก แต่พอเอาลายนั้นมาถักทอเป็นผืนผ้าม่านก็เกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้น เรื่องนี้น่าสนใจเพราะมันหมายความว่าวิญญาณไม่ได้สิงอยู่แต่เฉพาะในตัววัตถุเท่านั้น แต่ยังสิงอยู่ใน "ศิลปะ" หรือลวดลายของวัตถุได้ด้วย อีกเรื่องที่เด็ดคือ Martin's Close รุ่นพี่คนหนึ่งเคยพยายามเขียนเรื่องสั้นโดยใช้เฉพาะคำตัดสินอย่างเป็นทางการของผู้พิพากษา เรารู้สึกว่าเรื่องสั้นของรุ่นพี่คนนั้นประสบความสำเร็จแค่กึ่งเดียว ขณะที่ Martin's close เล่าเรื่องผีผ่านคำให้การของพยานในชั้นศาลได้อย่างชาบู ๆ

เรื่องสั้นของเจมส์ ส่วนใหญ่มักเปิดเรื่องด้วยตัวเอกไปซื้อของมือสองมาโดยบังเอิญ หรือได้รับสืบทอดต่อๆ กันมาจากญาติห่างๆ พล็อตลักษณะนี้เป็นตะวันตกมากๆ เพราะเรื่องผีไทยไม่ค่อยมีหรอกที่เกี่ยวพันกับข้าวของเครื่องใช้ (สังเกตว่าขนาดตุ๊กตาผีของคุณวาณิชยังต้องเป็นตุ๊กตาฝรั่งเศสเลย หาใช่ตุ๊กตาลูกกรอกหัวจุกไม่) จะบอกว่าคนไทยไม่ใช้อะไรจนเก่าก็ไม่เชิง แต่เอาเข้าจริงๆ เราไม่มีวัฒนธรรมของเก่า ของมือสองเหมือนฝรั่ง ข้าวของเครื่องใช้ในบ้านเรา ถ้าไม่เก่าไปกับเจ้าของ ก็มักจะส่งต่อให้ลูกหลานคนใกล้ชิด ไอ้เรื่องที่ว่าอยู่ดีๆ จะมี "ผอบ" ลึกลับตกมาถึงมือเรา เช่น ไปเดินสวนจตุจักรแล้วซื้อมา ไอ้เป็นไปได้น่ะเป็นไปได้ แต่ให้คาดหวังว่าจะมีตัวอะไรสิงอยู่ในผอบนี่ ดูไม่ค่อยเป็นเรื่องผีแบบไทยๆ เลย

เราเป็นคนชอบเรื่องผี โดยเฉพาะเรื่องผีที่เขียนดีๆ ที่สุดของที่สุดแล้ว เรื่องผีนี่แหละคือตัวอย่างคลาสสิกของ "การเล่า" เพราะมันเป็นเรื่องประเภทเดียวที่คนอ่านรู้มากกว่าตัวละคร และเนื้อหาส่วนใหญ่ก็จะวนเวียนซ้ำซาก (แม้แต่ในหนังสือเล่มนี้ เจมส์ยังออกมายอมรับหนหนึ่งเลยว่า "เอ๋ะ! พลอตนี้ตูใช้แล้วนี่หว่า หวังว่าคนอ่านคงยังไม่เบื่อนะ") คนที่จะเขียนเรื่องผีได้ดี จึงต้องเป็นเซียนผู้เข้าถึงสูงสุดของศาสตร์และศิลป์แห่งการเล่าเรื่องเท่านั้น

G. Obeyesegere's "Imagining Karma"

ประเทศอินเดีย เมื่อ 2500 กว่าปีที่แล้ว เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่สองประการ หนึ่งคือเทรนด์ในหมู่ราชาและเศรษฐีที่จะสร้างอุทยานถวายเหล่านักพรต ผู้ทรงศีล ให้มาเปิดสำนัก บำเพ็ญเพียร และถ่ายทอดวิชา เหล่านักพรตเมื่อมารวมตัวกันอยู่ในที่แคบๆ (คือแคบกว่าป่าเขาลำเนาไพร แต่เข้าใจว่าอุทยานเหล่านี้ ก็คงมีขนาดมโหฬารอยู่ดี) ก็มีโอกาสพบปะ สังสรรค์ วาทะ-วิวาทะ กันมากขึ้น บังเกิดเป็นความรู้ใหม่ๆ สองคือการขยายตัวของชนชั้นพ่อค้า ซึ่งเหล่าวาณิชนี่เอง มีส่วนสำคัญในการเผยแพร่ศาสนาเกิดใหม่อย่างพุทธศาสนาในขณะนั้น

ภาพของสังคมอินเดียที่ Obeyesekere (สุดจะอ่านชื่อพี่เขาจริงๆ ) วาดขึ้นมาคือสังคมที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมฮินดูอันหลากหลาย ศาสนาพราหมณ์แม้จะเป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก หากดูราวแต่ละท้องถิ่นขึ้นตรงต่อแต่ละสำนัก มากกว่าจะมีคำสอนเป็นอันหนึ่งอันเดียว (ซัลแมน รัชดี เคยเขียนขำๆ ว่า เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์มีมากกว่าประชากรอินเดียเสียอีก) ความหลากหลายเช่นนี้ยังความลำบากลำบนให้เหล่าพ่อค้า ผู้ต้องเดินทางไปตามท้องถิ่นต่างๆ ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมอันหลากหลาย ด้วยเหตุนี้ ศาสนาที่เหล่าพ่อค้าต้องการคือศาสนาที่ประกาศความจริงสากล (universal truth) และคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ตรงตามฉลากดังกล่าว

การสร้างความเป็นสากลให้กับพุทธศาสนา -- จากคำอธิบายของ Obeyesekere -- นั้นน่าสนใจมาก และเรียกได้ว่า กลับหัวกลับหางกับสิ่งที่เราเคยเข้าใจมาเลย เราเคยเข้าใจว่าศาสนาคือเครื่องมือโบราณในการสร้างศีลธรรม เพื่อควบคุมความประพฤติ ให้แต่ละสมาชิกในสังคมอยู่กันอย่างสงบสุข Obeyesekere แสดงให้เห็นว่า ในทางตรงกันข้าม ชนเผ่าโบราณไม่มีแนวคิดเรื่องศีลธรรมอยู่ในศาสนาเลย ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่มีศีลธรรม แต่บทบัญญัติด้านความประพฤติถูกรวมอยู่ในกฏหมาย วิถีประชา และอื่นๆ ศาสนาจึงเป็นเรื่องของพิธีกรรมล้วนๆ

Obeyesekere บอกว่า ลัทธิต่างๆ ของศาสนาพราหมณ์ในยุคก่อนพุทธกาลมีคุณลักษณะดังกล่าว พระพุทธเจ้าเป็นคุรุท่านแรกที่นำเอาศีลธรรมเข้ามาผนวกกับความเชื่อเรื่องการหลุดพ้น (ซึ่งมีอยู่ในศาสนาพราหมณ์เหมือนกัน) กระบวนการนี้เรียกว่า ethicization พูดภาษาหรูๆ คือพุทธศาสนา เป็นศาสนาแรกในชมพูทวีปที่กอปรทั้งโลกียธรรมและโลกุตรธรรมนั่นเอง

ประเด็นที่กระทบใจเราเป็นพิเศษคือ ถ้าเชื่อตามที่ Obeyesekere บอก ก็หมายถึง by design แล้ว พุทธศาสนาคือศาสนาเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียว มากกว่าสนับสนุนความหลากหลาย เราจึงเห็นได้จากวาทกรรมที่ข้ามน้ำ ข้ามทะเล ข้ามกาลเวลา ติดมาจนทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น "ความจริงสูงสุด" "ความจริงหนึ่งเดียว" หรือ "ความจริงที่ไร้กาลเวลา" รวมไปถึงท่าทีทางจักรญาณวิทยาที่พยายาม "กลืนกิน" ความรู้แขนงอื่นๆ เข้ามา หรือไม่ก็ปฏิเสธมันเสีย (to be fair นี่อาจเป็นท่าทีสามัญของศาสนาใหญ่ๆ ทุกศาสนาในปัจจุบันก็ได้) ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจหากพุทธศาสนาจะถูกแปรเปลี่ยนเป็นเครื่องมือทางอำนาจ ไม่ผิดอะไรกับศาสนาคริสต์ หรืออิสลาม

ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าเราสมควรต่อต้านพุทธศาสนา และไม่ได้หมายความว่าอะไรที่แสดงออกถึงลัทธิชาตินิยมจะมีแต่ข้อเสีย หากการตระหนักรู้ธรรมชาติตรงนี้ น่าจะดีกว่า ที่สำคัญคือถ้าเราตามตรรกะคำอธิบายของ Obeyesekere ดีๆ เราจะพบว่า "ความจริงสูงสุด" นั้นหาใช่โลกุตรธรรมเพียงอย่างเดียวไม่ (เพราะเป็นแนวคิดที่ดัดแปลง พัฒนามาจากศาสนาพราหมณ์) หากต้องรวมเอาโลกียธรรม หรือธรรมที่เกี่ยวข้องกับสภาพสังคมเข้าไปด้วยต่างหาก ดังนั้นถ้าสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป เราจะยึดเหนี่ยวกับ "ความจริงที่ไร้กาลเวลา" นี้ได้สักแค่ไหนกัน

(หมายเหตุ: พยายามมองแบบละอคติว่าบางที "universal truth" ในสมัยพุทธกาล อาจถูกใช้ในความหมายที่ต่างจาก "ความจริงสูงสุด" ในสมัยนี้ กล่าวคือ พระพุทธเจ้าอาจต้องการแค่ rationalize หรือจัดระเบียบโครงสร้างของคำสอน ไม่ให้แตกออกมาเป็นลัทธิใหญ่น้อยแบบศาสนาฮินดู และเพราะเหตุนี้ด้วยหรือเปล่า เมื่อเปรียบเทียบกับศาสนาอื่นๆ ศาสนาพุทธเลยไม่ค่อยจะมีนิกายนัก

คุยกับอาจารย์คนหนึ่ง แกบอกว่าจริงๆ แล้ว ในช่วงห้าร้อยปีก่อนคริสตศักราช ไม่ว่านักคิดคนไหนๆ ก็ค้นหา universal truth ทั้งนั้น นอกจากพระพุทธเจ้า เพลโต อริสโตเติล หรือเล่าจื้อ "และอันที่จริงความจริงสากลก​็ไม่ใช่เรื่องรวมศูนย์อำนาจหรือการไม่ยอม​รับความหลากหลายเสียทีเดียว​ เช่นหลักสิทธิมนุษยชนก็อยู่​บนพื้นฐานของความจริงสากลขอ​งความเป็นมนุษย์บางอย่าง เช่นเสรีภาพ ความเสมอภาค ปรัชญาการเมืองโดยเฉพาะทฤษฎ​ีสัญญาประชาคมก็สร้างจากสมม​ติฐานที่ยอมรับความจริงสากล​ของมนุษย์ด้วยเช่นกัน")

G. Greene's "Monsignor Quixote"


Monsignor Quixote สนุกจังเลย นิยายแบบนี้ก็มีได้ด้วยวุ้ย ทั้งเล่มแทบไม่มีเหตุการณ์อะไรเลย นอกจากสาธุคุณฆีโฮเต พระในนิกายโรมันคาทอลิก ถกเถียงกับซานโช สหายคู่ใจ อดีตผู้ว่าการเมืองเล็กๆ และนักสังคมนิยม

ที่จริงจะว่าไม่มีเหตุการณ์อะไรเลยก็ไม่เชิง สมดังชื่อนิยาย Monsignor Quixote เป็นผลงานบูชาครูของเกรแฮม กรีน เขียนถึงมหาอมตะนิยายแห่งโลกตะวันตก Don Quixote สาธุคุณฆีโฮเตในเรื่องเป็นลูกหลานของท่านดอน ส่วนซานโชเป็นแค่คนชื่อเหมือน หลังจากสาธุคุณได้รับการแต่งตั้งเป็น "มองซิเออร์" ช่วงเวลาเดียวกับที่ซานโชเพิ่งแพ้การเลือกตั้งสมัยที่สอง ทั้งคู่ตัดสินใจออกเดินทางท่องสเปนโดยไร้จุดหมายบนรถอีแก่คู่ใจ โรซินันเต (แน่นอนว่านี่เป็นชื่อเดียวกับม้าของดอน) สุดท้ายสาธุคุณก็เจริญรอยตามบรรพบุรุษของตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจ

อย่างที่บอก จะเกิดอะไรในนิยายเล่มนี้ สำหรับเรา มันเป็นแค่เรื่องรอง ที่สนุกจริงๆ คืออ่านนักบวชนิกายแคทอลิกกัดกับนักบวชนิกายมาร์กซิส กรีนตั้งใจสะท้อนให้เห็นความเหมือนและความต่างระหว่างสองปรัชญานี้ที่อยู่คู่โลกตะวันตกมาเกือบสองศตวรรษ ไอเดียแบบนี้ไม่น่าเขียนออกมาได้ยาว แต่กรีนสามารถลากให้เป็นนิยายทั้งเล่มได้ ไม่ใช่เพียงเท่านั้น มันยังเป็นนิยายที่อ่านสนุกจนวางไม่ลง อ่านจบแล้วก็ได้อาหารสมองดีๆ ไปขบเคี้ยวต่อในภายหลัง

ประเด็นหลักในนิยายคือธรรมชาติของศรัทธา จำเป็นต้องมีความหวาดระแวงสงสัยปนอยู่ด้วย สาธุคุณฆีโฮเตเชื่อว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่มันได้ผ่านการพิสูจน์อย่างสิ้นข้อสงสัยแล้วว่าพระผู้เป็นเจ้ามีตัวตนอยู่จริง เมื่อนั้นคือจุดสิ้นสุดของศาสนาคริสต์ เช่นเดียวกัน ถ้ายูโธเปียของมาร์กเกิดขึ้นมาเมื่อไหร่ คอมมิวนิสต์ก็จะสิ้นสุดลงในวันนั้น การมีข้อสงสัยต่างหากคือคุณค่าอันแท้จริงของศรัทธา เหมือนที่ซิเซคพูดไว้ ในโลกนี้อะไรก็ตามที่ไม่ "เลี้ยง" ความขัดแย้งอยู่ในตัวเลยจักสูญสลายไปในที่สุด

อ่าน Monsignor Quixote แล้วก็นึกถึงนิยายพระปะทะคอมมิวนิสต์แบบไทยๆ เรื่อง ไผ่แดง ซึ่งเล่มนั้นเราก็ชอบมาก ทั้งที่ว่ากันตามตรงแล้วสอง "ลัทธิ" นี้เป็นคู่แข่งกันเอง แต่บางทีระหว่างศาสนาและสังคมนิยม อาจมีจุดร่วมกันบางอย่างให้เรารู้สึกเพลิดเพลินกับการได้เห็นคนสองประเภทนี้หยอกเอิน กัดกันไป กัดกันมา

J. Sartre's "Intimacy"


ต้องให้โล่ห์ซาร์ตเลยที่สามารถเขียน The Childhood of a Leader เรื่องสั้นหลักใน Intimacy ให้คนไม่ชอบอ่านอัตชีวประวัติอย่างเราสนุกสนานไปกับเรื่องนี้ได้ พูดกันอย่างแฟร์ๆ คือ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าลูเชียนและซาร์ตมีความเหมือนความต่างมากน้อยเพียงใด ไอ้เหมือนหมดนี่คงไม่เหมือนหมด (ลูเชียนเป็นพวกเกลียดชังชาวยิว) แต่ถ้าซาร์ตไม่ตั้งใจใส่บางอย่างของตัวเองเข้าไปในลูเชียน เจ้าหนูคนนี้คงไม่บอกตัวเองหรอกว่า สักวันหนึ่งฉันจะเขียนหนังสือชื่อ The Treaty on Nothingness

ดังนั้นคำถามที่น่าขบคิดสำหรับเราคือทำไมเราถึงเพลินเพลินกับอัตชีวประวัติชิ้นนี้นัก ส่วนหนึ่งคงเพราะว่ามันสั้น แค่ร้อยหน้ากว่าๆ แต่ถ้าให้อ่านแบบนี้อีกสักร้อยสองร้อยหน้า เราก็ยังพอไหว (ไม่เหมือนเวลาอ่านงานแนวอัตชีวประวัติเล่มอื่นๆ ที่แค่สามสิบหน้า ก็รู้สึกอยากวางเต็มแก่แล้ว) อย่างหนึ่งคือซาร์ตไม่ได้พยายามสร้างความโรแมนติกให้กับชีวิตของลูเชียน เจ้าหนูคนนี้เจอเหตุการณ์อะไร ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ที่เขาให้ความสำคัญมากกว่าคือพัฒนาการทางความคิดของลูเชียนในฐานะ "นักอัตถิภาวะนิยม" จุดนี้ก็เลยทำให้ The Childhood of a Leader ใกล้เคียงกับ "นิยายแห่งความคิด" (novel of idea) มากกว่างานเชิงอัตชีวประวัติทั่วไป

ซึ่งก็ตั้งคำถามต่อไปได้ว่า สมจริงแล้วหรือกับการที่เด็กสิบขวบ จะมาใคร่ครวญถึงความว่างเปล่าและความตาย เราตอบได้เลยว่า "สมจริง" เราคนหนึ่งล่ะที่พอจำได้ว่าสมัยเด็กก็เคยคิดอะไรแบบลูเชียน จุดเด่นสุดของผลงานชิ้นนี้คือซาร์ตสามารถแสดงความคิดที่ซื่อสมวัยแต่ก็ลึกซึ้งในขณะเดียวกัน อาจไม่ใช่ความลึกซึ้งในทางปรัชญา แต่ที่แน่ๆ คือเราเชื่อว่าเด็กมีศักยภาพในการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นอยู่และสิ่งรอบตัวแบบที่ผู้ใหญ่ทำไม่ได้

เราชอบสภาพสังคมฝรั่งเศสที่สื่อออกมาในนิยายเล่มนี้ มันมีความมั่วๆ โบฮีเมียนที่กำลังพอดีและไม่น่าหมั่นไส้จนเกินไป ความกำลังพอดีตรงนี้เองก็เป็นอีกเสน่ห์ ซาร์ตวางตัวละครลูเชียนให้เป็น "ผู้นำ" และ "นักปรัชญา" และเมื่อถึงตอนจบของนิยาย ลูเชียนทำท่าว่าจะได้พบปรัชญาบางอย่างที่อาจจะคล้ายๆ กับปรัชญาของซาร์ต แต่ขณะเดียวกัน ความเป็นนักต่อต้านชาวยิวของลูเชียนก็ค่อยๆ ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างพร้อมเพรียงกันด้วย คนอ่านเลยอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าผู้เขียนจะเอายังไงกัันแน่กับตัวละครตัวนี้

ส่วนเรื่องสั้นอื่นๆ ใน Intimacy พูดตรงๆ คือไม่ค่อยโดนเท่าไหร่ ใบนปกโฆษณาไว้ซะใหญ่โตว่า "Unlike anything you've ever read before” แต่ในความเห็นเรา “Been there done that many times before” น่าจะเหมาะสมกว่า