T. Sturgeon's "More than Human"


นอกจากจะดีอย่างที่นิยายวิทยาศาสตร์สมควรจะดีแล้ว More than Human ยังมีโครงสร้างการเล่าเรื่องน่าสนใจ ชวนให้เรานึกถึงผลงานคลาสสิคอย่าง If on a Winter's Night a Traveler โดยในเล่มนั้น โจทย์ที่คาลวิโนตั้งไว้ให้กับตัวเองคือ ทำอย่างไรถึงจะเขียนนิยายสักเล่มให้อ่านแล้วได้อารมณ์ตื่นเต้น แปลกใหม่ ราวกับกำลังอ่านนิยายเล่มใหม่อยู่ตลอดเวลา More than Human คือนิยายอีกเล่มหนึ่งที่ตอบโจทย์ดังกล่าว โครงสร้างของมันลื่นไหล ไม่อาจเดาเรื่องได้ กระทั่งว่าใครเป็นพระเอก ผู้ร้าย คนดี คนชั่ว ยังเดาไม่ค่อยจะถูก จนกว่าจะถึงหน้าสุดท้าย ตัวละครที่ทำน่าเหมือนจะเป็นนางเอก พระเอกช่วงแรกของนิยาย พอถึงบทต่อไป อยู่ดีๆ ก็เดี้ยงไปเฉยๆ ส่วนตัวประกอบก็กลับกลายมาเป็นตัวเอกเสียได้

More than Human แบ่งเป็นสามบท โดยระหว่างบท มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย ดังนั้นเมื่อเริ่มบทใหม่ คนอ่านจะรู้สึกเหมือนกำลังอ่านนิยายอีกเล่มหนึ่ง ประกอบกับตัวเอกของทั้งสามบทนี้แตกต่างกันไปด้วย ถ้าใครไม่ตั้งใจอ่าน อาจงงเอาง่ายๆ วิธีการนำเสนอเช่นนี้เหมือนกับบทภาพยนตร์ I, Robot หรือนิยาย ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน หรือเปล่า เราว่าไม่ใช่ กรณีนั้น เหมือนเป็นเรื่องสั้นต่อๆ กันโดยใช้ตัวละครชุดเดียวเสียมากกว่า ความโดดเด่นของ More than Human อยู่ตรงการสร้างสมดุลระหว่างความโดดเดี่ยว และสัมพันธ์ระหว่างกันของแต่ละบท เป็นนิยายที่มีเสน่ห์ของรวมเรื่องสั้น แต่ก็ยังรักษาความเป็นนิยายเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน

พูดถึงเนื้อเรื่องเสียหน่อย More than Human เป็นเรื่องราวของมนุษย์พันธุ์ใหม่ ซึ่งนอกจากจะมีพลังจิตแล้ว ยังมีสมองที่สื่อสารระหว่างกันได้โดยอัตโนมัติ เชื่อมต่อ homo sapien ห้าหกคนเข้าเป็น homo gestalt คนเดียว ไอเดียนี้ก็เข้าท่าดีอยู่หรอก แต่เราอดรู้สึกไม่ได้ว่ามันพิกลๆ แค่เป็นมนุษย์พลังจิตอย่างเดียวก็เจ๋งไม่รู้จะเจ๋งอย่างไรแล้ว อย่างตัวเอกคนหนึ่ง เจอรี มีพลังอ่านจิตใจ ขโมยความทรงจำ และดัดแปลงความคิดของอีกฝ่าย ใครไม่ระวัง เผลอจ้องตาเจอรีแค่แวบเดียว อาจถูกขโมยความคิด และกลายเป็นบ้าได้ ถ้ามีความสามารถระดับนี้ (มหัศจรรย์ยิ่งกว่าศาสตราจารย์ซาเวียใน x-men อีก) เรื่องเชื่อมโยงอะไรนั่น ดูออกจะยิบย่อยไปหน่อยหรือเปล่า

คำถามหลักของ More than Human คือ สำหรับมนุษย์พันธุ์ใหม่ ควรใช้หลักศีลธรรมอะไรดี มาเป็นแนวทางกำหนดพฤติกรรม ในเมื่อหลักศีลธรรมต่างๆ ล้วนแต่ถูกเขียนมาโดยมนุษย์พันธ์เดิมทั้งสิ้น สเตอเจียนพยายามสร้างคำตอบง่ายๆ ฉลาดๆ ซึ่งถึงจะพอรับได้ แต่ออกจะตีหัวเกินไปหน่อย ความยอดเยี่ยมของนิยายเรื่องนี้จึงอยู่ที่โครงสร้างในการเล่าเรื่อง มากกว่าความเป็นไซไฟ หรือคำถามเชิงปรัชญาของมัน

No comments: