I. Murdoch's "A Word Child"
อ่าน A Word Child ไปได้ 150 หน้า เราถึงกับต้องถามตัวเองว่า หรือนี่แหละ จุดอิ่มตัวระหว่างเราและไอริช เมอดอช จากนิยาย 23 เล่มของเธอ ที่เราตั้งใจว่าต้องอ่านให้ครบ ตอนนี้ก็เกินครึ่งทางมาได้สักสิบห้า สิบหกเล่มแล้ว A Word Child อาจจะเป็นนิยายที่ทำให้เราต้องยอมรับเสียทีว่า พอได้แล้ว ต่อให้เมอดอชเป็นสุดยอดนักเขียนยังไง ก็คงไม่ถึงขนาดเขียนเรื่องเดิมๆ ซ้ำซากไปมา แล้วเรายังอ่านสนุกได้ A word Child นี่แหละ เดทครั้งสุดท้ายแล้วระหว่างเรา และเมอดอช
ปรากฏว่าไม่แฮะ
พูดถึงความเดิมๆ ของมันก่อน ขนาดจะเขียนเรื่องย่อ ยังแอบขี้เกียจเลย พื้นหลังของตัวละครในเล่มนี้แทบไม่ต่างจากสิบหกเล่มก่อนหน้านั้น พระเอกผู้มีตราบาปจากอดีต สามีภรรยาที่ชอบเสแสร้างความเอื้ออารี อัจฉริยะที่เป็นเกย์ และตัวละครผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ จับพวกเขาโยนลงหม้อ แล้วคน คน คน แค่นี้ก็ออกมาเป็นนิยายสูตรสำเร็จ แต่ที่ทำให้ A Word Child แตกต่าง และน่าอ่านน้อยกว่าเล่มอื่นๆ คือพระเอกของเรื่อง ฮิลลารี เป็นมนุษย์ที่น่ารังเกียจสุด เท่าที่เคยปรากฎในนิยายของผู้เขียน ซึ่งเมอดอชเองก็คงตระหนักจุดนี้ ครั้งหนึ่งฮิลลารีหันมาพูดกับคนอ่านว่า "ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงตอนนี้ คุณคงรู้แล้วว่าผมเป็นมนุษย์ที่เห็นแก่ตัวเพียงใด และตั้งแต่หน้านี้ไปจนจบ ผมก็ยังคงเป็นเช่นนี้" (นิยายเรื่องนี้เขียนด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง) ส่วนโธมัส คนรักของเขา ก็เป็นผู้หญิงที่สุดแสนจะน่ารำคาญ
ว่าจะเลิกอ่านอยู่รอมร่อ จนถึงหน้า 200 อยู่ดีๆ เราก็เริ่มสนุกไปกับตัวหนังสือ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นความสนุก "แบบเดิมๆ " ที่เราชอบ และคุ้นเคย หรือมีบางอย่างพิเศษในนิยายเล่มนี้ A word Child พีคสุดๆ ช่วงประมาณสามในสี่เล่ม เมื่อเราตระหนักว่า "ผู้ร้าย" คือใคร และ "เธอ" เป็นสัญลักษณ์ของอะไร กับอีกฉากหนึ่งที่ฮามากๆ เมื่อฮิลลารีตกกระไดพลอยโจน รับบทเด่นในรักสามเส้าซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้เกี่ยวข้องอันใดกับตัวเขาเลย ที่เด็ดดวงยิ่งกว่านั้นคือตอนท้ายๆ เล่ม ฮิลลารีต้องมารับบทเดิมอีก แต่หนนี้ในรักสามเส้าของเขาเอง แค่ซีนนี้ก็เรียกได้ว่าคุ้มค่าแล้วที่จะอ่านนิยายทั้งเล่ม (โชคดีด้วยว่ามันหนาแค่ 400 หน้า)
เรื่องสนุกระหว่างเราและ A Word Child คือ เล่มที่เราซื้อมาเป็นของมือสอง โดยเจ้าของคนก่อนขีดตรงนู้นตรงนี้ไว้ (น่าจะเพื่อเอาไปเขียนรายงานในชั้นเรียน) ในฐานะที่เราเป็นแฟนไอริช เมอดอช ระหว่างที่อ่านก็อดเถียงเจ้าของคนก่อนไม่ได้ว่า ตรงนี้ขีดเผื่ออะไร! นี่ต่างหากประโยคสำคัญ ทำไมไม่ขีด! ตกสถานเดียว ถ้าเขียนรายงานแบบนี้ออกมา! (ฮา) โดยเจ้าของคนก่อนให้ความสำคัญกับชื่อเรื่องมาก ชนิดว่าเจอคำว่า "word" ในประโยคไหนเป็นต้องขีด
"ลูกคำ" ในชื่อเรื่องเป็นการเล่นคำกับ "ลูกรัก" (a love child) หมายถึงฮิลลารี เนื่องด้วยเขาและน้องสาว เป็นเด็กกำพร้าผู้เติบโตมาโดยปราศจากความรัก มีแต่ความสามารถพิเศษด้านภาษาเท่านั้น ที่ช่วยให้ฮิลลารีเป็นมนุษย์มนาขึ้นมาได้ เรารู้สึกว่าประเด็นนี้ไม่สลักสำคัญเท่าไหร่ ฮิลลารีมีความเป็นตัวละครเมอดอช มากกว่าเป็นนักภาษาศาสตร์
แต่มีประโยคหนึ่งซึ่งเราเห็นตรงกันกับเจ้าของคนก่อนว่าสมควรขีดคือ "คนเราไม่ได้รู้สึกผิดจากสิ่งที่ตนกระทำ แต่จากการลงโทษ" ชวนให้นึกถึง The Sovereignty of Good การให้อภัยบางครั้งอาจไม่ได้มาจากการชดใช้ความผิด แต่มาจากความเข้าใจในสิ่งผิดที่เรากระทำเสียมากกว่า
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment