H. Hesse's "Klingsor's Last Summer"

เฮสเสอะเข้าใจอะไรบางอย่างที่เราไม่เข้าใจ เราไม่รู้แม้กระทั่งว่าสิ่งที่เขาเข้าใจนั้นคืออะไร หนทางสู่การดับทุกข์ พระผู้เป็นเจ้า ศาสนาหนึ่งเดียว หรือการสิ้นสูญของเวลา งานเขียนของเฮสเสอะแตะลึกลงไปถึงจิตวิญญาณ และชวนให้เราตั้งคำถามถึงตัวตนของมนุษย์

ไม่ได้ค้นมาละเอียดว่า Klingsor's Last Summer คืออะไรกันแน่ รวมเรื่องสั้นสามเรื่องของเฮสเสอะชิ้นนี้ ถูกตีพิมพ์โดยใช้เรื่องสุดท้ายเป็นชื่อปก แต่นี่คือเรื่องที่เราชอบน้อยที่สุด อีกสองเรื่องคือ A Child's Heart และ Klein and Wagner ล้วนมีความโดดเด่นกว่ามาก

A Child's Heart เป็นการมองโลกแบบที่มีแต่เด็กเท่านั้นที่จะมองเห็น แต่ขณะเดียว วิธีนำเสนอของมัน มีแต่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่จะนำเสนอออกมาได้ เราเข้าใจสิ่งที่ตัวเอกของเรื่องต้องเผชิญ ความรู้สึกผิดกับเรื่องไร้สาระ การเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และความเชื่อว่าไม่มีมนุษย์คนใดสามารถทนทานความเจ็บปวดนี้ ขณะเดียวกัน ต้นเหตุของความรู้สึกนี้ช่างแสนไร้สาระ มีแต่เด็กเท่านั้นที่จะมองอะไรแบบนี้ แต่เฮสเสอะก็ช่างบรรยายทุกเม็ดความรู้สึกละเอียดยิบ จนไม่หลงเหลือน้ำเสียงความเป็นเด็กในตัวละคร ความขัดแย้งตรงนี้ทำให้เรื่องสั้น A Child's Heart น่ามหัศจรรย์เอามากๆ

ในทางตรงกันข้าม เราไม่เข้าใจสิ่งที่ตัวเอก ไคลน์ ใน Klein and Wagner ต้องเผชิญ ชีวิตของเขากลับไปกลับมาระหว่างสองขั้วสุดโต่ง บางช่วงขณะไคลน์อยู่กับปัจจุบันอย่างถึงที่สุด จิตใจของเขาพิสุทธิ์ใส พร้อมเปิดรับทุกอย่างในโลก (ไม่เกินเลยนัก ถ้าจะเรียกประสบการณ์ของไคลน์ช่วงนี้ว่าการ "ตรัสรู้") แต่ในวินาทีถัดมา ไคลน์กระโดดกลับลงมาภาวะจิตใจที่ตกต่ำยิ่งกว่าสามัญชนเสียอีก ทุกครั้งที่เขาพบพานความสุข หรือหยิบยื่นความสุขให้แก่ผู้อื่น ไคลน์วิ่งหนีออกจากห้องพักกลางค่ำคืน หนหนึ่งเขานอนค้างกลางป่าอยู่ท่ามกลางทุ่งเบอรี อีกหนหนึ่งเขาต้องตัดสินใจว่าจะจบชีวิตตัวเองดีหรือเปล่า

เราไม่เข้าใจไคลน์ แต่เฮสเสอะบรรยายความรู้สึกตัวละครได้อย่างงดงาม ชวนติดตาม Klein and Wagner เต็มไปด้วยความฉงนอันแสนหฤหรรษ์ แม้เราจะเข้าใจตัวละครน้อยลง แต่เหมือนระหว่างที่อ่าน เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น

Klingsor's Last Summer เป็นบันทึกช่วงสุดท้ายของจิตกรคลิงซอร์ผู้โด่งดัง เสียชีวิตขณะอายุเพียง 42 ปี ไม่ชอบเรื่องนี้ ดูเป็นอีกด้านของเฮสเสอะที่สนุกกับความแรนดอม เหมือนใน Journey to the East

No comments: