G. Greene's "The Quiet American"


ประโยคหนึ่งที่เราชอบมากจาก The Quiet American คือ
Sooner or later...one has to take side. If one is to remain human.

ชวนให้นึกถึงอีกคำพูดคลาสสิก
If you don't stand for something, you'll fall for anything.

มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่เลือกข้าง การตระหนักรู้ในทางเลือกของตน มีคุณค่ายิ่งกว่าการปฏิเสธที่จะไม่เลือกทางใดเลย

หยิบ The Quiet American ขึ้นมาอ่านแบบลังเลนิดหน่อย เราชอบหนังปี 2002 ของฟิลิป นอยซ์มาก กลัวว่าถ้าไม่ใช่หนังสือเทียบไม่ติด ก็จะดีเกินไปจนเราชอบหนังน้อยลง อ่านจบแล้วก็โล่งอก เพราะสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าทั้งหนังและหนังสือดีกันคนละแบบ ต้องชื่นชมฟิลิป นอยซ์ที่เลือกเฉพาะบางแง่มุมของหนังสือมาตีความ (ชวนให้นึกถึง ไอ้ฟัก ที่ผู้กำกับเลือกนำเสนอเรื่องราวซึ่งคุ้นเคยกันดีออกมาในอีกรูปแบบที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน)

The Quiet American ฉบับภาพยนตร์โรแมนติกแบบเศร้าๆ ความสัมพันธ์รักสามเส้าระหว่างฟาวเลอร์ ไพล์ (ชาวอเมริกันผู้เงียบขรึม) และฟุง (นวลอนงค์ในรูปถ่ายข้างบน) ถูกขับให้เด่นชัดกว่าในนิยาย ฟาวเลอร์ที่รับบทโดยไมเคิล เคนดูแก่ชรามากๆ จำไม่ได้แล้วว่าบทพูดนี้มีในหนังหรือเปล่า แต่ที่ประทับใจเราสุดๆ คือ ขณะที่ไพล์ตำหนิฟาวเลอร์ว่าต้องการเก็บฟุงเอาไว้ปรนเปรอความสุขส่วนตัว โดยไม่เคยคิดเชิดชู ตบแต่งหญิงสาวให้สมน้ำสมเนื้อ ฟาวเลอร์สวนกลับว่า รอให้ไพล์แก่ชราเท่าตัวเขาก่อน แล้วจะรู้ว่าความรักที่เกิดจากความเห็นแก่ตัว เกิดจากความปรารถนาไม่ต้องการใช้ชีวิตอย่างเดียวดายมันลึกล้ำสักเพียงใด

ฉบับหนังสือจะเน้นไปที่ประเด็นการเมืองมากกว่าในหนัง ฟาวเลอร์คือตัวแทนของสหราชอาณาจักร ไพล์คือตัวแทนของสหรัฐอเมริกา ฝ่ายแรกแก่ชรา ผ่านบทเรียนชีวิตมามากมาย ถ้าเลือกได้ ขอไม่ยุ่งเกี่ยวกับสงครามใดๆ ส่วนฝ่ายหลังเป็นชาติเจ้าอาณานิคมน้องใหม่ เพิ่งประกาศความเป็นเจ้าโลกในสงครามโลกครั้งที่สอง และเชื่อว่าตัวเองจะไม่ทำความผิดแบบเดียวกับรุ่นพี่ คนอเมริกาปฏิบัติการล่าอาณานิคมภายใต้สโลแกนแผยแพร่ประชาธิปไตยไปยังประเทศโลกที่สาม เพราะหนังสือเน้นไปที่ฟาวเลอร์และไพล์ ฟุงเลยเหมือนเป็นแค่ตัวประกอบ ฟาวเลอร์ในหนังสือเองก็ดูไม่แก่ชราเท่าไมเคิล เคนด้วย เคนดูเหนื่อยล้าอยู่ตลอดเวลา แต่ฟาวเลอร์ในหนังสือช่างเจ๊าะแจ๊ะเจรจา

ที่สำคัญกรีนวาดภาพไพล์ออกมาเป็นตัวร้ายกว่าในหนัง (นอยซ์ฉลาดมากที่เลือกแบรนดอน เฟรเซอร์มารับบทไพล์ ช่วยให้ตัวละครตัวนี้มีเสน่ห์แปลกๆ และไม่ดูร้ายเกินไปนัก) ความร้ายกาจของไพล์เป็นความร้ายกาจอันเกิดจากความบริสุทธิ์ การที่เรามีความปรารถนาดี และไม่รู้ตัวว่ากำลังทำร้ายคนอื่น ไม่ใช่ข้อแก้ต่างให้กับการกระทำนั้น กรีนเหมือนจะ "ให้อภัย" กับการตัดสินใจของฟาวเลอร์มากกว่านอยซ์ ด้วยเหตุนี้เอง ขณะที่หนังสือจบแบบสุขสันต์ ภาพพี่สาวฟุงมองฟาวเลอร์เต้นรำอยู่กับน้องสาวอย่างคับแค้นในตอนจบของภาพยนตร์ดูแสนเศร้าอย่างบอกไม่ถูก

No comments: