R. Davies's "World of Wonders"

เวทีว่างเปล่า โรงละครเงียบกริบ ผู้ชายแต่งตัวภูมิฐานใบหน้าเคร่งขรึมเดินขึ้นเวที เขาวาดคทาไปมา ทันใดนั้นโลหะทองเหลืองรูปใบหน้าโอปปาติกะจากความว่างเปล่า ล่องลอยกลางอากาศ นี่ไม่ใช่เรื่องแปลก ใครๆ ก็รู้ว่านักมายากลเสกวัตถุให้ลอยได้โดยอาศัยลวดสลิง ทันใดนั้นศีรษะทองเหลืองเปิดปากเปล่งเสียง มันถามคนดู มีใครอยากรู้ความลับอะไร ขณะที่นักมายากลกำลังจะเลือกอาสาสมัคร ทันใดนั้นมีเสียงตะโกนจากชั้นสองเวที "ใครฆ่าบอย สตอตัน!"

บอย สตอตันผู้นี้คือว่าที่ตัวแทนกษัตริย์อังกฤษ รักษาการณ์มลรัฐในประเทศแคนาดา ตำแหน่งเทียบเท่านายกรัฐมนตรีดีๆ นี่เอง ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ สตอตันเสียชีวิตอย่างลึกลับ ขับรถตกทะเลสาบ รูปการณ์ประหนึ่งว่าเป็นอุบัติเหตุ ถ้าไม่นับในปากคาบหินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่ง ความตายของบอย สตอตันและเหตุการณ์ลึกลับในโรงละครที่กล่าวไปแล้วคือจุดร่วมกันของไตรภาคเดปฟอร์ดโดยโรเบิร์ตสัน เดวีส์ ซึ่งประกอบไปด้วย "ตัวละครที่ห้า" "แมนติคอร์" และ "โลกมหัศจรรย์"

ถึงไม่เคยเจอเหล่านักเขียนที่เราชื่นชอบ แต่เพราะอ่านงานพวกเขามาเยอะ ส่วนใหญ่เลยพอบอกได้ว่าคนนู้น คนนี้เป็นคนประเภทไหน จะมีก็แต่ตาโรเบิร์ตสัน เดวีส์นี่แหละที่เราจับต้นชนปลายแกไม่ถูก ไม่เฉพาะในแง่ตัวตน แม้แต่ในแง่ผลงาน ถ้าต้องอธิบายสั้นๆ ให้คนอื่นฟังกลับไม่ใช่เรื่องง่ายดาย ไตรภาคเดปฟอร์ดจะว่าเป็นนิยายประวัติศาสตร์ก็ไม่ผิด จิตวิเคราะห์ก็พอใช่ ปรัชญาก็ไม่เชิง กระทั่งแนวลึกลับเหนือธรรมชาติยังพอไหวด้วยซ้ำ ประหนึ่งหนังสือเล่มเดียวกันนี่แหละ หากมองจากแต่ละมุมกลับเห็นไม่ซ้ำแบบกัน

ให้สรุปง่ายๆ ทั้งสามเล่มของไตรภาคเดปฟอร์ดคือนิยายอัตชีวประวัติโดยมีตัวเอกคือแรมเซย์ (ตัวละครที่ห้า) เดวิด สตอตัน ลูกชายของบอย สตอตัน (แมนติคอร์) และพอล เดมสเตอร์ นักมายากลผู้เสกศีรษะทองเหลือง (โลกมหัศจรรย์)

ขอพูดเฉพาะโลกมหัศจรรย์ก็แล้วกัน (อ่านเกี่ยวกับแมนติคอร์ได้จากบลอคเก่า ส่วนตัวละครที่ห้าอ่านนานมากแล้ว) ถ้าโดยผิวเผิน โลกมหัศจรรย์ควรจะน่าสนใจที่สุดในสามเล่ม เพราะเป็นเรื่องของนักมายากล ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีสีสันกว่าทนายความ หรือครูใหญ่เปิ่นๆ ซึ่งในระดับหนึ่งก็จริงดังคาด เดมสเตอร์เล่าถึงชีวิตวัยเด็กที่ต้องปากกัดตีนถีบในคณะละครสัตว์ ประวัติเดมสเตอร์ถูกคั่นด้วยบทสนทนาระหว่างเพื่อนๆ ซึ่งมาฟังอดีตของนักมายากลผู้ยิ่งใหญ่ บทสนทนาส่วนใหญ่คือการถกเรื่องปีศาจ พระเจ้า และความเลวร้ายต่างๆ นานา การแทรกอัตชีวประวัติด้วยปรัชญาวิเคราะห์อย่างหน้าด้านๆ นี่แหละ คือสไตล์การเขียนของเดวีส์ แปลกคือแทนที่จะรู้สึกขัดเขิน กลับอ่านได้อย่างลื่นไหล และให้อภัยความจงใจของมันได้อย่างไม่ยากเย็น

หลังละครสัตว์ เดมสเตอร์เป็นสตันแมนให้กับคณะละครเวที ซึ่งพอเล่าถึงตรงนี้แอบมีหักมุมนิดๆ ให้คนดูผงะด้วย ชีวิตช่วงนี้ของเดมสเตอร์คือประเด็นหลักของหนังสือ แต่กลับเป็นช่วงที่เราไม่อินที่สุด นักมายากลเล่าให้ฟังถึงเซอร์จอห์น นักแสดงตกรุ่น ซึ่งยังหลงอยู่ในโลกการละครแห่งศตวรรษที่ 19 ขณะที่ศิลปินคนอื่นพัฒนาไปไหนต่อไหนแล้ว ชายหนุ่มชื่นชมความโรแมนติกของเซอร์จอห์น ระหว่างที่เล่าเรื่อง เขาพยายามชักชวนให้คนอื่นเห็นความสวยงามของการละครในอดีต ซึ่งตรงนี้เองที่เราไม่เข้าใจเดวีส์เชื่ออย่างที่นักมายากลบอกจริงๆ หรือแอบเสียดสีหยอกล้อเขาอยู่ ในยุคสมัยแห่งเทนเนสซี วิลเลียมส์ ยูจีน โอนีล และอาเธอร์ มิลเลอร์ รวมไปถึงศิลปินภาพยนตร์อย่างโกดา ทรุฟโฟ ศิลปะแบบเซอร์จอห์นดูตกยุคจนน่าอับอาย (ในนิยายเรื่องนี้มี "ลินด์" ตัวละครซึ่งถอดแบบมาจากเบิร์กแมน ปรมาจารย์ภาพยนตร์ชาวสวีเดนอยู่ด้วย) เดวีส์ก็เหมือนไม่ได้พยายามปกป้องความโรแมนติกแบบศตวรรษที่ 19 มากไปกว่าให้ตัวละครย้ำนักย้ำหนาว่านี่คือช่วงชีวิตซึ่งเขามีความสุขที่สุด

อาการจับต้นชนปลายไม่ถูกยังคงดำเนินต่อไป จะมองว่าโลกมหัศจรรย์คือนิยายต่อต้านการศึกษาก็ได้ เดมสเตอร์คือผู้ชายที่ครูพักลักจำวิชามายากลของตัวเอง เรียนรู้โลกจากความโหดร้ายบนท้องถนน เหยียดหยามคนที่จบการศึกษาสูง หนหนึ่งเขาพูดออกมาตรงๆ ว่า "อัจฉริยะคือคนที่ทำทุกวิธีทางเพื่อหลีกเลี่ยงการศึกษา หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องพยายามอย่างหนักหน่วงเพื่อจะลืมทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาได้จากในโรงเรียน" แต่แล้วไม่ถึงสิบหน้าถัดไป ลีสเซล ตัวละครอีกตัวพูดว่าการศึกษาต่างหากซึ่งทำให้ผู้หญิงอัปลักษณ์อย่างเธอเชิดหน้าชูตาได้ในสังคม มิหนำซ้ำยังอ้างงานปรัชญา วรรณคดีชิ้นนู้นชิ้นนี้ประกอบการให้เหตุผลอย่างงดงาม

ถ้ามองว่านี่คืออัตชีวประวัตินักมายากล นิยายเล่มนี้พูดถึงมายากลน้อยมาก หลังออกจากคณะละคร ชายหนุ่มทำงานเป็นช่างซ่อมนาฬิกา ได้รับว่าจ้างจากมหาเศรษฐีให้ซ่อมของเล่นไขลาน และได้พบกับลิสเซลเป็นครั้งแรก นี่คือจุดเริ่มต้นของมิตรภาพชั่วชีวิตระหว่างทั้งคู่ และจุดกำเนิดของแมคนัส ไอเซนกริม นักมายากลผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ (ไอเซนกริมคือชื่อหมาป่าในตำนาน ซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของพอล เดมสเตอร์)

ถ้าให้สารภาพอย่างตรงไปตรงมา ต้องบอกว่าผิดหวังนิดหนึ่งกับโลกมหัศจรรย์ ตั้งแต่อ่านสองภาคแรก ตัวละครที่เราชื่นชอบที่สุดคือลิสเซล และอดคิดไม่ได้ว่าการร่วมมือกันระหว่างลิสเซล และไอเซนกริม/เดมสเตอร์เพื่อก่อตั้งคณะมายากลน่าสนใจกว่าชีวิตสตันแมนในคณะละครของเซอร์จอห์นเป็นไหนๆ แต่เดวีส์กลับเล่าถึงช่วงนี้แค่พอผิวเผิน

โลกมหัศจรรย์ปิดท้ายด้วยการเฉลยปริศนาฆาตกรรมบอย สตอตัน ซึ่งก็ไม่ใช่การเฉลยที่น่าตื่นตกใจอะไร เพราะเกริ่นนำไว้ตั้งแต่แมนติคอร์แล้ว ถึงจะผิดหวังกับหนังสือโดยรวม แต่ก็รู้สึกดีใจที่ได้อ่าน ได้ติดตามชีวิตของเหล่าตัวละครแห่งไตรภาคเดปฟอร์ดจนถึงที่สุด (สองปีพอดี นับตั้งแต่ตอนอ่านตัวละครที่ห้าครั้งแรก)

No comments: