D. Du Maurier's "Don't Look Now"


เราไม่เคยเจอผี หรือมีประสบการณ์เหนือธรรมชาติ แต่ก็แอบอยากรู้นิดๆ ว่าถ้าเจอจะรู้สึกอย่างไร เปล่าๆ ไม่ได้สงสัยว่าจะกลัวหรือไม่กลัวหรอก (เพราะถ้าเป็นผีตัวพ่อตัวแม่ เชื่อว่าก็คงขี้แตกขี้แตนเหมือนคนอื่นเขา) อยากรู้มากกว่าว่าเราจะใช้เวลานานไหมกว่าจะตระหนักว่าตัวเอง “เจอดี” เข้าแล้ว หรือจะเหมือนอย่างตัวเอกเรื่อง Split Second ที่ดักดานได้ตั้งแต่ต้นเรื่องยันท้ายเรื่อง

มีกฏขำๆ ข้อหนึ่งในทางวรรณกรรมคือนอกจากเป็นเรื่องตลก ห้ามไม่ให้ตัวเอกโง่กว่าคนอ่าน หรือไม่ยอมรับรู้อะไรที่คนอ่านรู้ตั้งแต่ปีมะโว้ อย่างใน Split Second ซึ่งว่าด้วยหญิงวัยกลางคนที่จู่ๆ ก็กระโดดข้ามอนาคตไปอีกยี่สิบปี ความน่าหงุดหงิด (สำหรับคนอ่าน) อยู่ตรงตลอดห้าสิบกว่าหน้า แม่เล่นไม่รับรู้อะไรทั้งนั้นว่าตัวเองอยู่ในโลกอนาคต ยังคงยืนยันว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทฤษฎีสมคบคิดของตำรวจ แพทย์ และคนใกล้ตัวเธอ นี่คือเรื่องสั้นน่ารำคาญที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่เราเคยอ่าน เฉกเช่นเดียวกับ Blue Lenses ที่ตัวเอกไปผ่าตัดกระจกตามาแล้วพบว่าคนอื่นรอบตัวเธอกลายเป็นสัตว์ แทนที่จะตระหนักว่ามีอะไรผิดปรกติ เธอก็ยังคงเชื่อว่าทุกคนสวมหน้ากากเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง

หรือนี่อาจเป็นความตั้งใจของดูมอเรียก็ได้ รวมเรื่องสั้น Don’t Look Now เหมือนกับหลุดมาจากยุคสมัยประหลาดๆ ยุคหนึ่ง อังกฤษของดูมอเรียกำลังถูกคุกคามโดยภัยคอมมิวนิสต์ ดูมอเรียคงเป็นแม่บ้านอังกฤษ คล้ายๆ กับคริสตี ที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม ต่างแต่ว่า คอมมิวนิสต์สำหรับคริสตีคือนักปฏิบัติการคนเดียวซึ่งแฝงตัวเข้ามาเพื่อจุดหมายชั่วร้าย แต่สำหรับดูมอเรียคอมมิวนิสต์คือคนร้ายขโยงหนึ่งซึ่งสมคบคิดกันทำการใหญ่

พูดง่ายๆ ก็คือว่า ถ้าดูมอเรียตื่นขึ้นมาแล้วพบว่ามนุษย์ต่างดาวกำลังถล่มโลก เธอก็คงจะยืนกรานว่าเป็นชาวรัสเซียสวมหน้ากาก มากกว่าจะเชื่อว่าเป็นมนุษย์ต่างดาวจริงๆ

สองเรื่องที่ดังสุดในเล่มนี้คือ The Birds และ Don’t Look Now สำหรับเรื่องแรกนั้นอ่านแล้วก็อดขำไม่ได้กับความจงใจของผู้เขียนที่ให้นกเป็นสัญลักษณ์แทนกรรมกรและผู้ใช้แรงงาน (ไซมอน เพคเคยทำคลิปล้อเลียนภาพยนต์เรื่อง The Birds โดยเปลี่ยนเป็น The Proletariats) นึกถึงนิยาย กาเหว่าที่บางเพลง ของหม่อมคึกฤทธิ์ ที่จงใจจนฮาโดยไม่ได้ตั้งใจ (เสียดายว่า กาเหว่าที่บางเพลง เขียนประมาณปลายๆ ปี 28-29 ซึ่งค่อนข้างพ้นสมัยไปเยอะแล้ว และไม่ค่อยจริงใจเท่า The Birds)

จริงๆ เรื่องที่เราชอบสุดในเล่มคือ Blue Lenses ถ้าตัดความน่ารำคาญของตัวเอกออกไปแล้ว ถือว่ามีแนวคิดที่แปลกใหม่ไม่ซ้ำแบบใครดี และทฤษฎีสมคบคิดก็ไม่ได้ทำร้ายเรื่องนี้เท่าไหร่ด้วย เพราะมันดันไปตรงกับแก่นเรื่องเข้า แถมยังจบได้เปรี้ยวจี๊ดเข็ดฟัน

โดยรวมแล้วเฉยๆ กับดูมอเรีย เรื่องที่แย่ก็แย่ ส่วนเรื่องที่ดีก็แอบดีโดยคนเขียนไม่ได้ตั้งใจซะงั้น แต่ได้อ่านอะไรฮาๆ แปลกๆ ผิดบริบท ก็ถือว่าเพลิดเพลินอยู่เหมือนกัน

เดาะลูกเชย (ตอนที่ 2)

เดาะลูกเชยแบบเควนติน ตารันติโน: การรื้อสร้างความเชย

ข้อนี้ไม่ใช่การเล่นกับความเชย แต่เป็นการสร้างความไม่เชยจากความเชย ตารันติโต ฮิชคอก และชยามาลานคือตัวอย่างคนทำหนังที่พลิกแพลงความเชยให้กลายเป็นความแปลกใหม่ ตั้งแต่ฉากเปิด Inglourious Basterds เต็มไปด้วยแก๊กเผ็ด มันส์ คันๆ ตลอดทั้งเรื่อง ตารันติโนเริ่มต้นด้วยการให้เราเห็นคุณลุงคนหนึ่งท่าทางกร้านโลกกำลังเก็บผ้า (เข้าใจว่าฉากนี้ลอกมุมกล้องมาจากเซอจิโอ เลโอเน) ทันใดนั้นคุณลุงก็สังเกตเห็นรถสีดำกำลังมุ่งตรงมาที่บ้านแก คนดูถูกบิวด์ให้เข้าใจไปเองว่าคุณลุงจะต้องเป็นพระเอก ก่อนตารันติโนจะมาเฉลยว่านอกจากแกจะเป็นแค่ตัวประกอบแล้ว ยังแอบติดขี้ขลาดหน่อยๆ ด้วย กลวิธีแบบนี้นักวิจารณ์วรรณกรรมบางสายในบ้านเราเรียกว่า “การตบหน้าคนดูฉาดใหญ่”

ในทางวรรณคดี ตัวอย่างที่ชัดเจนสุดคือ มัทนะพาธา ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว วรรณคดีช่วงต้นรัตนโกสินทร์เน้นการขับร้อง ร่ายรำ และคำคล้องจอง เนื้อหาจึงวนเวียนอยู่แต่กับเรื่องเดิมๆ มัทนะพาธา เล่นกับประเด็นความซ้ำซากและเหยียดเพศของวรรณคดีไทย โดยเอามารื้อสร้างจนเป็นบทละครที่ เมื่อพิจารณาจากยุคสมัย แปลกใหม่ที่สุดบทหนึ่ง

ตัวอย่างจากวรรณกรรมสมัยใหม่เช่น นอกจากคริสตีจะพึ่งพิงและพลิกแพลงความเชย ราชินีนิยายสืบสวนสอบสวนยังถนัดการรื้อสร้างความเชย เดาความคาดหวังของคนอ่านและพลิกแพลงนิยายจนคนอ่านจับฆาตกรไม่เคยถูก งานเพื่อชีวิตยุคใหม่ (เช่นผลงานของคุณกนกพงศ์ คุณจำลอง คุณทัศนาวดี) ก็พยายามรื้อสร้างความเชยเพื่อถีบตัวเองออกจากหล่มเพื่อชีวิต

เดาะลูกเชยแบบวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง: การแอบอิงความเชย

การเดาะลูกเชยแบบสุดท้ายคือแบบที่เรานิยมสุด มันอยู่ระหว่างการโอบกอดและรื้อสร้างความเชย ผู้กำกับอย่างเจมส์ คาเมรอน หรือนักเขียนอย่างคุณงามพรรณเล่าเรื่องเชยๆ ด้วยความใสซื่อและเชื่อมั่นว่าเรื่องของฉันใหม่ ไม่เคยมีใครพูดถึงมาก่อน ดังนั้นคำวิจารณ์ว่า “เชย” จะแทงใจดำคนเหล่านี้ ในทางตรงกันข้าม ศิลปินที่แอบอิงความเชย นอกจากพวกเขาจะยินดีที่ถูกนำไปเปรียบเทียบกับผลงานเก่าๆ ซ้ำยังจะย้ำเตือนผู้เสพอยู่ตลอดเวลาว่า “นี่ไม่ใช่ของใหม่นะ มันเคยถูกทำมาแล้ว ฉันแค่เอามาสร้างใหม่เท่านั้น” ศิลปินกลุ่มนี้คือผู้ที่ภาคภูมิใจกับการบูชาครู

แต่การบูชาครูไม่ได้หมายถึงทำตามทุกขั้นตอนที่ครูเคยทำมาก่อน การแอบอิงความเชยมีบางอย่างคล้ายคลึงกับการรื้อสร้างความเชย ไม่ใช่การดักคอและตบหน้าคนดูฉาดใหญ่ แต่เป็นการหยิบเอาของที่อยู่ต่างบริบทมาใส่ในขนบเพื่อสร้างความย้อนแย้งและแง่มุมแปลกๆ ฟ้าทะลายโจร คือมหาอมตะภาพยนต์ที่แอบอิงความเชย จงใจเชยให้รู้ว่าเชย แต่ขณะเดียวกันก็เหยาะความผิดแผกบริบทลงไปน้อยๆ

นักเขียนไทยไม่ค่อยมีใคร “มือถึง” พอจะแอบอิงความเชย ส่วนนักเขียนฝรั่ง เช่น เอโค คัลวิโน หรือฆอเฆส แม้แต่กึ่งเรื่องสั้นชวนหัวของวูดดี อัลเลน หลายชิ้นก็เป็นการอ้างอิงต่างบริบทเพื่อให้ตัวสานส์น่าสนใจ งานเขียนลักษณะนี้จะรุ่มรวยอารมณ์ขันแบบพิสดารลุ่มลึกที่ยังหาสัมผัสได้ยากในแวดวงวรรณกรรมไทย

ความล่มจมของความเชย

พูดถึงการเดาะลูกเชยเป็นมามากแล้ว เราขอวิเคราะห์สั้นๆ ดูบ้างดีกว่าว่า ถ้าเดาะพลาดหรือเดาะผิด มันจะมีลักษณะยังไง ผลงานส่วนใหญ่ที่ “เชย” นั้นมักจะมีจุดร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งคือ ผู้เขียนไม่ทันตระหนักว่าตัวเองกำลังเชย เช่น คนที่หน้าชื่นตาบานเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับพนักงานบริษัทที่ตัดสินใจลาออกจากงานและปล่อยนกเลี้ยงในกรง ก่อนนกจะโดนแมวตะครุบ หรือเรื่องจำพวกคนรักจากไปต่างจังหวัด พอใกล้ตายก็ฝากให้บุรุษไปรษณีย์ส่งจดหมายมาหลอกอีกฝ่ายว่าตัวเองยังมีชีวิตอยู่ ถ้าผู้สร้างไม่ทันตระหนักว่า ไอ้พลอตเรื่องแบบนี้เขาทำกันมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหา (แล้วเฟ้ย!) ก็จะเผลอปล่อยความเชยออกมา

ก็น่าคิดอยู่เหมือนกันว่าแค่ “ตระหนัก” แล้วมันจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรือ ถ้าเป็นเจมส์ คาเมรอน ก็จะเก็บทุกรายละเอียดความเชยอย่างสมบูรณ์ ไม่มีข้อผิดตกบกพร่อง ถ้าเป็นลุค แบสซอง ก็จะ Razzle Dazzle คนดู ด้วยฉากร้องเล่นระบำที่ตระการตาจนไม่มีใครสนใจเนื้อเรื่อง ถ้าเป็นเอม ไนท์ ชยามาลานก็อาจพลิกผันด้วยการให้นกจับแมวกินแทน ถ้าเป็นวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยงก็อาจสร้างเรื่องให้พระเอกเป็นร้อยตำรวจปลอมตัวไปสืบราชการลับ ระหว่างสืบหาเครือข่ายยาเสพติด ก็เอาเวลาว่างมานั่งเขียนจดหมายหาคนรักที่เขาต้องปิดบังความจริง

ทั้งหมดนี่ก็อยากแสดงให้เห็นว่าการทำอะไรเดิมๆ เอาเหล้าขวดเก่ามาเปิด ไม่ใช่ว่าจะต้องด้อยคุณค่าเสมอไป ถ้าระวังดีๆ แล้วไซร้ ลูกเชยนี่แหละคือเครื่องมือหากินอย่างหนึ่งของศิลปิน

เดาะลูกเชย (ตอนที่ 1)


ในงาน workshop วรรณกรรม มีการพูดถึงความแตกต่างระหว่างสองเรื่องสั้น โดยเรื่องแรกถูกชมว่า “มีลูกเชย” ส่วนเรื่องหลังถูกตำหนิว่า “เชยไป” ซึ่งถ้าเราเป็นน้องเจ้าของเรื่องหลัง คงอดเซ็งนิดๆ ไม่ได้ว่า ตกลง “มีลูกเชย” มันต่างจาก “เชยไป” อย่างไร ซึ่งประเด็นความเชยนี่เราว่าน่าสนใจอยู่ เลยอยากพูดถึงในรักชวนหัว

อย่างแรกก็คือคำว่า “เชย” ที่ใช้ในทางวรรณกรรมนั้น ดูจะมีความหมายผิดเพี้ยนไปจาก “เชย” ในชีวิตประจำวัน ซึ่งน่าจะตรงกับ “out of fashion” หรือ “พ้นสมัย” พอพูดถึงคำว่า “เชย” คนไทยจะนึกถึง “หนุ่มบ้านนอกหน้าตาเชยๆ “ หรือ “นักวิชาการแต่งตัวเชยๆ ” ถ้าเอาคำคำนี้ไปใช้ขยายหนังสือหรือนิยายสักเรื่อง ก็คงพอคิดไปได้ว่าเป็นนิยายที่พ้นสมัยไปแล้ว เช่น นางเอกทำงานเป็นคนใช้ในคฤหาสน์หลังใหญ่ ถูกกลั่นแกล้งสารพัด แต่ตอบจบเฉลยว่าเพราะมีปานแดงเลยเป็นผู้รับมรดกที่แท้จริง และได้แต่งงานกับคนสวนที่เป็นร้อยตำรวจเอกปลอมตัวมา

แต่คำว่า “ลูกเชย” ที่ใช้ในงาน workshop วรรณกรรมน่าจะมีความหมายใกล้เคียงกับ “cliché” หมายถึงของที่ใช้กันเกร่อแล้วในอดีต เอามาใช้อีกก็ไม่ค่อยแปลกใหม่เท่าไหร่ ดังนั้นถ้าหนังสือเล่มไหนถูกหาว่า “เชย” น่าจะเป็นคำติเตียนมากกว่าคำชม ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ด้วยมายาคติที่ว่าเป็นหน้าที่ของนักเขียนต้องคอยหาอะไรแปลกใหม่มาบำเรอคนอ่าน ถ้าเอาของเก่ามาหากิน ก็จะถูกประณามว่า “เชย” แน่นอนเราไม่เห็นด้วยกับมายาคติดังกล่าว กรณีนี้ก็เลยอยากมานั่งวิเคราะห์ถึงวิธีการเดาะลูกเชยในรูปแบบต่างๆ ที่นอกจากจะไม่ทำให้เกิดโทษแล้ว ยังอาจจะเป็นคุณประโยชน์เลยด้วยซ้ำ

เดาะลูกเชยแบบเจมส์ คาเมรอน: การโอบกอดความเชย

เคยนั่งวิเคราะห์กับเพื่อนฝรั่งนักดูหนังถึงความสำเร็จของ Avatar ใครที่ไปดูคงปฏิเสธไม่ได้ถึงความซ้ำซากของเนื้อเรื่อง แต่ขณะเดียวกัน ถ้าจะบอกว่าภาพยนต์เรื่องนี้มีดีแต่ด้านเทคนิกเราก็ไม่ค่อยจะเห็นด้วย ในความเชยมีการเล่าเรื่องที่ชัดเจน อยู่หมัด ถึงคาเมรอนจะไม่ได้ใส่ลูกเล่นอะไร แต่สิ่งที่ควรทำ แกก็ทำได้อย่างไม่มีขาดตกบกพร่อง ในแง่หนึ่ง ความเชยที่ไม่ขาดตกบกพร่อง (คือหาเรื่องมาตำหนิไม่ได้ นอกจากว่ามันเชย) กลับกลายเป็นฐานส่งของภาพสามมิติวิริศมาหรานั้น (ซึ่งเป็นลักษณะเด่นคาเมรอน ไม่ว่าจะเป็นตอนกำกับ Titanic หรือ Terminator 2)

ตัวอย่างในทางวรรณกรรม เช่น ความสุขของกะทิ คุณงามพรรณโอบกอดความเป็นนิยายเด็กเชยๆ แต่มาใส่จุดเด่นตรงภาษาอันสวยงามแทน หรือกระทั่งเรื่องสั้นของบรมครูมนัส จรรยงค์ แท้ที่จริงก็เล่าเรื่องราวเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมา แต่ใช้ภาษาสร้างภาพพจน์ได้อย่างดีเยี่ยม ฟ้าบ่กั้น ของอาจารย์ลาว คำหอมก็มีความเชยแบบเพื่อชีวิต อันเป็นมาตรฐานให้เด็กรุ่นหลังศึกษา (และเลียนแบบ) มาได้จนถึงทุกวันนี้

ข้อแนะนำสำหรับนักเขียนหรือศิลปินที่ต้องการโอบกอดความเชยคือ ต้องปราศจากข้อติติงอย่างแท้จริง เพราะตัวเรื่องของคุณมันไม่มีอะไรแปลกใหม่อยู่แล้ว ถ้ายังมาก้าวพลาดเหยียบเท้าตัวเองอีก คุณจะสูญเสียใจของผู้อ่านไปทันที (แต่ก็แน่นอนแหละว่าการปราศจากหรือไม่ปราศจากที่ติ มันก็ขึ้นอยู่กับความเห็นส่วนบุคคลอีกนั่นแหละ)

เดาะลูกเชยแบบลุค แบสซอง: การพึ่งพิงหรือเพิกเฉยต่อความเชย

เราจัดพึ่งพิงและเพิกเฉยต่อความเชยอยู่ในหัวข้อเดียวกัน เพราะมันหมายถึงงานศิลปะที่ไม่สนใจความเชยของตัวเอง หนังและหนังสือบางเรื่องอาจจะเชยแบบไม่ได้ตั้งใจ หรือในความไม่ตั้งใจนั้น อาจมีความจำเป็นแฝงอยู่ก็เป็นได้ แม้ว่า Moulin Rouge จะเป็นภาพยนต์ในดวงใจเรา แต่ถ้าเอาเนื้อเรื่องมาตีแผ่จริงๆ ก็อดแหยงๆ ไม่ได้ทุกคราว หนังประเภทไหนกันที่ให้นางเอกไอคอกแคกๆ มาตั้งแต่ต้นเรื่อง แล้วไปล้มบ่อท่าเอาตอนจบ (เหมือนกับหนังไทยที่ถ้าตัวละครหญิงอาเจียนขึ้นมาเมื่อไหร่ รู้ได้เลยว่าอีนี่ท้องแน่ๆ ) ผู้กำกับเคยบอกเราว่าลุค แบสซองอาจจงใจ เพราะท่ามกลางเทคนิกด้านภาพและการตัดต่อที่เอิกเกริกตระการตา ถ้ายังมีเนื้อเรื่องสลับซับซ้อนเข้าไปอีก คนดูจะเสพย์ไม่หมด

ความเชยลักษณะนี้พบเห็นได้บ่อยๆ ในวรรณคดีไทย เพราะจุดเด่นของร้องกรองไม่ได้อยู่ที่การเล่าเรื่อง แต่อยู่ที่การสัมผัสคล้องจอง ดังนั้นเรื่องส่วนใหญ่ก็เลยลอกมาจากนิทานพื้นบ้านและวนเวียนอยู่แต่กับเหตุการณ์เดิมๆ ผู้แต่งไม่สนใจด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังเล่าเรื่องเชยๆ อยู่หรือเปล่า เพราะประเด็นมันไม่ได้อยู่ตรงนั้นตั้งแต่แรก ตัวอย่างที่ทันสมัยขึ้นมา เช่น อกาธา คริสตีหยิบๆ ตัวละครลงมาจากชั้นแล้วยัดๆ เข้าไปในนิยายนักสืบ เพื่อให้คนอ่านมุ่งความสนใจ และเห็นปริศนาได้อย่างแจ่มแจ้งขึ้น

สังเกตว่าความเชยแบบนี้มักจะมาในงานศิลปะที่ไม่ขายเนื้อเรื่องตั้งแต่แรก เช่น ภาพยนต์ซึ่งเน้นด้านภาพ ร้อยกรองที่เน้นด้านเสียง นิยายนักสืบที่เน้นปริศนา รวมไปถึงเพลงป๊อบทั้งไทยและเทศ ด้วยเหตุนี้จึงอยากเตือนนักเขียนว่า นอกจากคุณจะเขียนนิยายนักสืบหรือมีไม้เด็ดจริงๆ (เช่น ใช้ฟอนท์ประหลาดซึ่งดึงดูดความสนใจได้ตั้งแต่หน้าแรกยันหน้าสุดท้าย) อย่าพึ่งพิงหรือเพิกเฉยต่อความเชยเป็นดีที่สุด

T. Stoppard's "The Coast of Utopia"


ตอนที่เราแวะไปนิวยอร์กเมื่อปี 2007 ได้ทันเห็นปรากฏการณ์การละครที่น่าตื่นตาตื่นใจ นั่นก็คือการเปิดตัวพร้อมๆ กันของละครไตรภาค The Coast of Utopia ซึ่งประกอบไปด้วยละครสามเรื่องคือ Voyage Shipwreck และ Salvage ข้อย้ำอีกทีว่าละครสามเรื่องนี้ถูกนำมาเล่น “พร้อมๆ กัน” และทั้งหมดเป็นละครที่สตอพพาร์ดเขียนขึ้นใหม่ “พร้อมๆ กัน” ไม่ได้ทยอยๆ เขียน ทยอยๆ ออกเหมือนไตรภาคส่วนใหญ่ ถ้าจะบอกว่านี่คือมหาละครเรื่องยาวที่ต้องเสียเงินสามรอบเข้าไปดูก็ย่อมได้

ต้องตบมือให้กับความมักใหญ่ใฝ่สูงของโครงการณ์นี้ และถ้าประสบความสำเร็จขึ้นมา ก็ต้องถือว่าเป็นการปฏิวัติวงการละคร (รู้สึกว่าบางภาคของมันจะได้รางวัลเอมมีด้วย) แต่ยิ่งกว่าน่าชื่นชมก็คือน่าอิจฉา คงมีแต่นักเขียนบทละครระดับหัวแถวอย่างสตอพพาร์ดเท่านั้น จู่ๆ ถึงจะได้มีละครของตัวเองสามเรื่องลงเล่นในบรอดเวย์พร้อมกันได้ และก็คงมีแต่ในอเมริกาและอังกฤษ ประเทศที่มีพื้นฐานการละครอันเฟื่องฟูเท่านั้น นายทุนถึงจะกล้าทำแบบนี้

แต่ถ้าถามว่าคุณภาพของบทละครจริงๆ ไปกันได้ไหมกับความมักใหญ่ใฝ่สูง เราคงตอบได้แค่ “เอ๋…” แล้วก็ยักคิ้วนิดหนึ่ง จากสามเรื่อง ชอบสุดคือ Voyage ซึ่งแม้จะเป็นบทละครอันเต็มไปด้วยข้อผิดพลาด เช่น ความกระจัดกระจาย แต่ด้วยโครงสร้างแน่นปึก สุดท้ายก็ยังชนะใจเรา รองลงมาคือ Salvage ซึ่งต่างกับอีกสองเรื่องที่เหลือ ตรงที่มีการไหลของเนื้อเรื่องและเหตุการณ์อย่างชัดเจน แต่เพราะมันเป็นเรื่องสุดท้าย อะไรเด่นๆ ดีๆ ถูกสองเรื่องแรกแย่งไปจนหมด ส่วน Shipwreck เป็นละครที่เละเทะมากๆ (ดูจากชื่อแล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นความตั้งใจหรือเปล่า) ถ้าเอาแต่ละฉากมาสับๆ ๆ เหมือนสับไพ่ ก็เชื่อว่า ผลลัพท์ที่ได้คงจะไม่แตกต่างจากที่เป็นอยู่ตอนนี้นัก

ขอพูดถึงแค่ Voyage แล้วกัน จริงๆ นี่เป็นละครที่น่าสนใจมากๆ ครึ่งแรกของมันเหตุการณ์เกิดขึ้นในบ้านของครอบครัวชนชั้นสูงครอบครัวหนึ่งในรัสเซีย ลูกชายและลูกสาวของครอบครัวนี้ใฝ่ใจกับการเมือง และแนวคิดหัวก้าวหน้าซึ่งขณะนั้น (ปี 1830) กำลังระบาดอยู่ในยุโรป และลุกลามมาถึงรัสเซีย (ผิวเผินแล้วก็คล้ายๆ Buddenbrooks ของมานน์ที่ว่าด้วยการล่มสลายของครอบครัวชนชั้นสูง) เนื้อเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบดำเนินอยู่ในช่วงเวลาสิบปี โดยแต่ละฉากกระโดดข้ามทีละเดือนบ้าง ปีบ้าง สองปีบ้าง คนอ่าน (และดู) จะอ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง จู่ๆ ก็จะมีการพาดพิงถึงเหตุการณ์ ตัวละคร หรืออะไรที่เราไม่เคยรู้มาก่อน

พอถึงครึ่งหลัง จู่ๆ เวทมนต์ก็บังเกิดขึ้น เมื่อละครย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นปี 1830 อีกรอบ โดยคราวนี้เราได้เห็นเหตุการณ์ซึ่งอยู่ภายนอกบ้านหลังนั้น ได้พบกับตัวละคร เหตุการณ์ที่ถูกพาดพิงก่อนหน้า โครงสร้างละครแบบนี้เหมือนกับหวีที่สองส่วน (ระหว่างเนื้อหวีและความว่างเปล่า) แทรกซึม ส่งเสริมซึ่งกันและกัน เสียดายที่สตอพพาร์ดจงใจให้ครึ่งหลังกระจัดกระจายเกินไป

โดยรวมแล้วรู้สึกเสียดายกับโครงการณ์นี้ ถ้าตัด Shipwreck ออก แล้วกระจายเนื้อหาไปแผ่ให้อีกสองเรื่องที่เหลือ เราคงจะได้ละครดีๆ สองเรื่อง แต่ก็อย่างว่า ต่อให้มีละครดีๆ สองเรื่อง ก็ไม่ใช่ว่าจะช่วยวงการละครอันเงียบเหงาให้ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ สู้ไตรภาคที่เป็น Talk of the Town! แบบนี้ เปรี้ยวเข็ดฟันกว่ากันเยอะ

I. Rosenfield's "The Strange, Familiar and Forgotten"


The Strange, Familiar and Forgotten เป็นตำราจิตวิทยาที่ว่าด้วยจิตในสำนึก จิตวิทยาสมัยใหม่ ตั้งแต่ยุคของฟรอยด์เป็นต้นมา ให้ความสำคัญกับจิตใต้สำนึกจนเกินไป โรเซนฟีลด์จึงพยายามวิเคราะห์องค์ประกอบของจิตในสำนึก โดยเน้นไปที่บทบาทของความทรงจำ ภาษา และอัตลักษณ์ จอห์น ลอค นักปรัชญาชาวอังกฤษ บอกว่ามนุษย์คือองค์รวมของประสบการณ์ที่ผ่านเข้าออกชีวิตเขา ดังนั้นจิต ทั้งในและใต้สำนึก ก็คือความทรงจำมาประกอบเข้าหากันนั่นเอง

แต่จิตไม่ใช่องค์ประกอบอันหยุดนิ่ง สามารถแบ่งเป็นส่วนๆ แล้ว เอามาเขียนเป็นแผนที่สมองได้ จิตคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา (ความคิดตรงนี้คล้ายคลึงกับในทางพุทธศาสนา คุณกุหลาบก็เคยเขียนถึงอะไรทำนองนี้ใน อุดมธรรม ขณะเดียวกันก็มีส่วนคล้ายคลึงกับปริทรรศของความต่อเนื่องที่อองรี เบิร์สัน นักปรัชญารางวัลโนเบลวิเคราะห์เอาไว้) จิตคือโครงสร้าง คือปฏิสัมพัทธ์ระหว่างหน่วยความทรงจำ ดังนั้นถ้ามีความทรงจำตัวหนึ่งหายไป มันจะไม่ใช่แค่ว่าเราจำสิ่งนั้นไม่ได้ แต่รูโหว่ของความทรงจำจะส่งผลไปยังจิตทุกส่วน

ตัวอย่างที่โรเซนฟีลด์ยกมาเป็นกรณีผู้ป่วยด้วยอาการทางสมองชนิดต่างๆ ผู้ป่วยที่สูญเสียความสามารถในการจำแนกสีแดง ไม่ใช่เพียงแค่จะมองสีแดงไม่เห็นเท่านั้น แต่พอถูกบังคับให้ทำกิจกรรมอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับสีแดง ถ้าไม่แสดงอาการหงุดหงิด อารมณ์เสีย ก็จะเหมือนไม่ได้ยินคำสั่งหมอไปเสียอย่างนั้น ผู้ป่วยที่ “หลงลืม” แขนซ้ายของตัวเอง ถ้าถูกสั่งให้ยกแขนซ้าย จะไม่เข้าใจว่า “แขนซ้าย” หมายถึงอะไร ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่ความทรงจำของแขนซ้ายเท่านั้นที่หายไป แต่มันส่งผลไปถึงจิต ความคิด และกลไกทางสมองอื่นๆ ด้วย

โรเซนฟีลด์ให้เหตุผลว่าความเข้าใจ รับรู้โลกภายนอกของมนุษย์จะถูกเปรียบเทียบกับอัตตาของตัวเองเสมอ ผู้ป่วยที่สูญเสียอัตตา ไม่สามารถโยงใยความสัมพันธ์ระหว่างโลกภายนอกและภายใน ก็จะสูญเสียความสามารถในการจำแนกตำแหน่ง และเวลาไปด้วย พูดกันอย่างขำๆ คือเลโอนาร์ดพระเอกเรื่อง Memento ไม่มีทางจะออกมาล่าคนร้ายที่สังหารภรรยาตัวเองได้อย่างในหนัง เพราะเอาเข้าจริง การสูญเสียความทรงจำระยะสั้นก็คือการสูญเสียความสามารถในการบ่งชี้เวลานั่นเอง

รัฐกับศาสนา (พิพัฒน์ พสุธารชาติ)


คืนก่อนหลังจากเขียนบลอค 10 อันดับนักวิชาการในดวงใจ เสร็จ ระหว่างที่ปิดคอมพิวเตอร์ ก็กะไว้แล้วว่าต้องลืมใครสักคนไปแน่ๆ ทันทีที่หัวกระแทกหมอน ก็อุทานออกมาเลยว่า “ฉิบเผง! ลืมอาจารย์พิพัฒน์ไปได้อย่างไรหนอ”

ตอนที่เขียนถึงหนังสือของอาจารย์ไชยรัตน์ เราเคยกล่าวไว้ว่า เหตุการณ์รัฐประหารในปี 2549 และความขัดแย้งทางการเมืองบวกลบหนึ่งปีจากวันนั้น คือปรากฏการณ์อันผลิกโฉมหน้าสังคมไทย ขนาดที่ว่าหนังสือสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์เล่มใดก็ตามที่เขียน ตีพิมพ์ ก่อนหน้าปี 2549 ให้อ่านโดยหารสอง หารสามไว้ก่อนเลย แต่ถ้าจะมียกเว้นก็คงเป็น รัฐกับศาสนา ของอาจารย์พิพัฒน์ หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ในปี 2545 แต่เป็นตำรามหัศจรรย์ที่อ่านแล้วชวนขนลุกเพราะมันทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าในอีกสาม สี่ ห้าปีให้หลังได้อย่างตรงเผง

อาจารย์พิพัฒน์วิเคราะห์วิธีศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในเชิงการเมืองว่ามีอยู่สองแนวทาง สายแรกคือสายตะวันตก ซึ่งได้อิทธิพลมาจากการเรียนการสอนรัฐศาสตร์ตามแบบฉบับทฤษฎีเมืองนอก คนที่ยึดถือสายนี้ก็คือ “นักวิชาการหัวนอก” ที่อาจารย์สุจิตต์เคยกระทบกระทั่งว่าชอบ “ขากถุยเสมหะที่เรียกว่าวิชาการ” สายที่สองคือสายประเพณี ประเด็นหลักของสายนี้คือพิสูจน์ว่าประชาธิปไตยนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตั้งแต่ยุคพ่อขุน ยุคสุโขทัยแล้ว ถ้าบ้านเมืองจะเสื่อมลงจากวันนั้น ก็เป็นเพราะอิทธิพลอันชั่วร้ายของเขมร และตะวันตกที่เข้ามาในภายหลัง (เพื่อเป็นการเปรียบเทียบ นักวิชาการสายตะวันตก อย่างจิตร ภูมิศักดิ์พยายามพิสูจน์ว่าจริงๆ แล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย ประเทศไทยก็มีไพร่ มีทาสมาก่อน ไม่ได้ค้าขายเป็นอิสระเสรีเหมือนอย่าง “โฆษณาชวนเชื่อ” ของศิลาจารึกแต่อย่างใด)

จุดที่น่าขนลุกสำหรับเรามากๆ คือ ความเหมือนกันอย่างบังเอิญ (หรือเปล่า) ระหว่างแนวคิดประวัติศาสตร์สายประเพณี และหลายอุดมการณ์ของกลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตย ยกตัวอย่างเช่น นักวิชาการสายประเพณีจะชอบพูดว่าสังคมไทยสมัยก่อนนั้น นอกจากกษัตริย์แล้ว ที่เหลือมีความเท่าเทียมกันหมด ถ้าจะมีแบ่งชนชั้น ก็แบ่งแค่ กลุ่มที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และกลุ่มที่กระด้างกระเดื่อง ซึ่งสะท้อนออกมาเป็น “ความพยายาม” ของพันธมิตรที่จะคอยชี้หน้าอยู่ตลอดเวลาว่าใครบ้างไม่จงรักภักดี หรืออย่างคำว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ” ซึ่งเราได้ยินกันหนาหู เราก็เพิ่งรู้ว่ามันเป็นศัพท์ที่ถูกบัญญัติมาตั้งนานแล้ว เพราะใน รัฐกับศาสนา อาจารย์พิพัฒน์ก็เรียกประชาธิปไตยของนักประวัติศาสตร์สายประเพณีว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ” นั่นเอง

รัฐกับศาสนา ช่วยอธิบายปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งน่าพิศวงสำหรับเราเสมอมา นั่นคือทำไม “การเมืองใหม่” ของพันธมิตรถึงขายดิบขายดีและทรงพลังนักในสังคมไทย สาเหตุก็เพราะมันอิงอยู่บนรากฐานความเชื่อบางอย่างที่แพร่หลายในสังคมอยู่แล้วนั่นเอง อาจจะกล่าวได้ว่าวิกฤติการเมืองในปัจจุบันคือการตอบโต้อย่างเป็นจริงเป็นจังระหว่างปรัชญาประวัติศาสตร์การเมืองสายประเพณีและสายตะวันตกชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน

พูดมาตั้งเยอะ ยังไม่เกี่ยวอะไรกับ “ศาสนา” ในชื่อเล่มเลย เป้าประสงค์หลักของอาจารย์พิพัฒน์ก็คือการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลในอดีตและนโยบายทางศาสนา เป็นเป้าประสงค์น่าชื่นชม ตัวเราเองทุกครั้งที่อ่านนิยายของเอโค หรือนิยายที่มีฉากอยู่ในยุคกลาง ได้เห็นบาทหลวง สันตะปาปา พระราชา และขุนนางจิกกัด แย่งชิงอำนาจกันอย่างสำราญ ก็อดน้อยใจไม่ได้ว่าทำไมประวัติศาสตร์ไทยไม่มีแบบนี้บ้าง(วะ) ความพยายามของอาจารย์พิพัฒน์ส่วนหนึ่งก็คือการคืนมิติทางอำนาจของศาสนาให้กับประวัติศาสตร์การเมือง

แต่เป็นความพยายามที่ (เราเองก็เสียดาย) ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก ส่วนหนึ่งก็เพราะอย่างที่อาจารย์บอก ในอดีต ศาสนาและวัดไทยอิงอยู่กับท้องถิ่นมากกว่าส่วนกลาง จึงไม่ค่อยมีบทบาทอะไรนักกับการเมือง “ระดับประเทศ” (แต่อันนี้เราก็แอบสงสัยว่า “ประเทศ” ในอดีตนั้นก็แค่ท้องถิ่นหลายๆ ท้องถิ่นมารวมตัวกันเฉยๆ ไม่ใช่หรือ ถ้าวัดมีอิทธิพลระดับท้องถิ่น ก็หมายความว่าวัดเองก็น่าจะมีบทบาททางการเมืองอยู่ไม่น้อย) กว่าจะมาถึงยุคที่ศูนย์กลางรวมอำนาจเบ็ดเสร็จได้ วัดก็กลายเป็นแค่เครื่องมืออุดมการณ์อย่างหนึ่งของรัฐไปเรียบร้อยแล้ว

จะอย่างไรก็ตาม นี่เป็นหนังสือสังคมศาสตร์อีกเล่มที่สุดยอดมากๆ ถ้าให้ใส่ชื่ออาจารย์พิพัฒน์ลงในสิบอันดับนักวิชาการ รับรองว่าคงได้อยู่คู่คี่กันกับอาจารย์ไชยรัตน์ (แม้จะเสียดายอาจารย์อภิชาตเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหลังจากบทอาเศียรวาท)

สิบอันดับนักวิชาการไทยในดวงใจ (ขณะนี้)

ปีใหม่ (สักพัก) ทั้งที ก็ต้องมีจัดอันดับอะไรกันหน่อย คนอื่นเขาจัดอันดับหนังสือ อันดับเพลงกัน แต่รักชวนหัวอยากลองทำอะไรแปลกๆ แตกต่างดูบ้าง ปีนี้รักชวนหัวก็เลยจะขอจัดอันดับนักวิชาการไทยในดวงใจขณะที่เขียนบลอคตัวนี้ อันดับนักวิชาการนั้นจะจัดยังไงดี ก็ไม่มีอะไรมากหรอก เอาตามความรู้สึกนั่นแหละ ขณะนี้คลิ้กกับใครที่สุด ก็จะยกคนนั้นขึ้นมาพูดถึง แต่ขอเน้นเฉพาะนักวิชาการสายสังคมศาสตร์ก็แล้วกันนะครับ ส่วนบางคนที่เราชื่นชอบ แต่ว่าช่วงนี้อาจจะไม่ได้อ่านงานอะไรของท่านที่โดนใจเป็นพิเศษ เช่น อาจารย์เกษียร ก็จะขอละไว้ไม่พูดถึงวันนี้แล้วกันนะครับ


10. อาจารย์ อภิชาต สถิตนิรามัย
ขอบคุณอาจารย์ที่เขียน ข้ามพ้นสองนคราประชาธิปไตย ซึ่งสมควรอย่างยิ่งที่คนไทยทุกคนจะต้องอ่านในตอนนี้


9. อาจารย์ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
นักวิจารณ์วรรณกรรมสายทฤษฎี ซึ่งเราคิดว่าหายากยิ่งนักในสังคมไทยขณะนี้ ยอมรับว่ายังอ่านงานของอาจารย์ค่อนข้างน้อย แต่จะติดตามต่อไปครับ


8. อาจารย์ ธงชัย วินิจจะกุล
อาจารย์ธงชัยนั้นเป็นฮีโร่ตลอดกาลของเรา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะบทบาทในฐานะนักวิชาการเท่านั้น แต่รวมไปถึงบทบาทในฐานะบุคคลสาธารณะ ที่ลุกขึ้นมาต่อต้าน ผลักดัน หรืออะไรต่อมิอะไรด้วย


7. พระพรหมคุณาภรณ์
อีกท่านหนึ่งที่เราอ่านงานค่อนข้างน้อย แต่ทุกชิ้นที่อ่าน แม้จะไม่เห็นด้วยหมด แต่ก็รู้สึกได้ถึงคุณค่า และอยากศึกษางานของท่านเพิ่มเติมต่อไปเรื่อยๆ


6. อาจารย์ แพทริค โจรี
ติดมาง่ายๆ กับบทความเดียวใน อ่าน ซึ่งวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรและแนวคิดมาร์กซิส ซึ่งแม้อาจารย์เก่งกิจจะออกมาตอบโต้ในภายหลัง แต่เราเห็นด้วยกับอาจารย์โจรีมากกว่า


5. อาจารย์ ประจักษ์ ก้องกีรติ
ติดด้วยบทสัมภาษณ์ใน ฅ คน ล้วนๆ ยังไม่ค่อยได้อ่านงานของอาจารย์ แต่เชื่อว่าถ้าได้อ่าน จะต้องมองเห็นอะไรดีๆ แน่ๆ ครับ


4. อาจารย์ ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร
เป็นคนเดียวในรายชื่อนี้ที่ติดมาทั้งๆ ที่เรายังไม่ค่อยเห็นด้วยกับความคิดของอาจารย์เท่าไหร่ (อาจจะเพราะอ่านหนังสือเก่า) แต่การวางรากฐานการวิเคราะห์ภาคทฤษฎีของอาจารย์ น่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากแก่สังคมไทย


3. อาจารย์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
“จิบเดียวก็ซึ้ง” กับงานเขียนวิเคราะห์สถานการณ์เขาพระวิหาร


2. อาจารย์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
ไร้เหตุผลยิ่งกว่าของอาจารย์ประจักษ์อีก คือติดมาจากคำพูดสั้นๆ ในบทสัมภาษณ์ของ ประชาไท ที่ตักเตือนให้นักวิชาการชาวไทยเลิกบ้าข่าวลือ หรือทฤษฎีสมคบคิดกันเสียที โดนมากๆ ครับอาจารย์


1. อาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์
คนนี้ต้องคอมเมนต์ไหมเนี่ย ถ้าอาจารย์เปลี่ยนความคิดเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ รับรองว่าติดอันดับหนึ่งตลอดกาลแน่ๆ

ความอับอายของเรา


มีเรื่องหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกอับอายมากๆ อยากหยิบมาเล่าให้ฟัง เมื่อสองสามวันก่อน เราได้ไปพบกับชาวเยอรมันซึ่งเดินทางมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อจัดงานสังสรรค์วรรณกรรม ระหว่างคุยกัน เขาก็พูดถึงนักเขียนชาวสิงคโปร์คนหนึ่ง แล้วก็บอกว่า "แต่แน่นอนละว่าคุณคงรู้จักซุยเจง (ชื่อสมมุติ) ดีกว่าผม" หลังจากนั้นเขาก็พูดถึงนักเขียนเวียดนาม นักเขียนลาว หรือใครก็ตามแต่ที่เขาไปพบมาระหว่างการทัวร์นี้ ลงเอยเขาบอกว่าก่อนกลับเยอรมัน จะได้พบซุยเจงอีกรอบ เดี๋ยวเขาจะบอกว่ามาเมืองไทยแล้วได้แวะมาเจอเราด้วย

พระเจ้าช่วยกล้วยทอด! เราก็ได้แต่ทำหน้าแหยๆ อย่าว่าแต่ซุยจงซุยเจงอะไรนี่จะรู้จักเราเลย ต่อให้เป็นโคตรพ่อซุยเจง เป็นเทพอักษรแห่งสิงคโปร์ เวียดนาม ลาว อวตารลงมาเขียนหนังสือ กูก็ไม่รู้จักมันหรอก

และไม่ใช่แค่ตัวเราเท่านั้น เรากล้าเอาหัวเป็นประกันว่าคนไทยทุกคน รู้จักอะไรเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านน้อยมากๆ ไม่ว่าในเชิงวรรณกรรม สังคม ประวัติศาสตร์ หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งก็เป็นเรื่องปรกติ ทำไมคนเยอรมันถึงเข้าใจผิด ที่ยุโรป เขาถือว่าประเทศเขาไม่ได้อยู่เดี่ยวๆ แต่เป็นยุโรปทั้งประเทศ และเป็นหน้าที่ของคนเยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน อังกฤษ ที่จะต้องรับรู้ว่าบ้านใกล้เมืองเคียงเขามี เขาเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ก็น่าคิดว่าทำไมคนไทยถึงรู้เรื่องประเทศเพื่อนบ้านน้อยเรา อันนี้เราก็มี "อคติ" ที่คาดเดามาและอยากนำเสนอ 1) คนไทยรู้ภาษาเวียดนาม พม่า เขมร หรือมลายูน้อย ถึงจะเป็นสาเหตุหลัก แต่น่าจะเป็นผลมาจากข้ออื่นๆ มากกว่า 2) คนไทยไม่สนใจจะค้าขายกับประเทศเหล่านั้น ก็เลยไม่มีใครคิดเรียนภาษา เรามองว่าเศรษฐกิจของเราดีเกือบที่สุดแล้วในแถบเอเชียอาคเนย์ 3) คนไทยไม่สนใจวัฒนธรรมประเทศเพื่อนบ้าน 4) ความขัดแย้งทางข้อมูลประวัติศาสตร์ทำให้เราไม่กล้าเข้าไปสัมผัสพวกเขา (เคยอ่านอัตชีวประวัติของนายกรัฐมนตรีลาว ซึ่งพูดถึงความโหดร้ายของทหารไทยที่โยนจับเด็กทารกชาวลาวทิ้งลงแม่น้ำ)

กล่าวโดยรวมก็คือเรามองว่าตัวเองเหนือกว่าประเทศอื่นๆ ไม่ว่าในด้านวัฒนธรรมหรือเศรษฐกิจ ก็เลยไม่มีเหตุผลอะไรที่เราต้องไปเปิดรับพวกเขา ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดในหลายๆ แง่ อย่างเรื่องเศรษฐกิจ ไม่จำเป็นว่าเราต้องขายของให้คนที่ร่ำรวยกว่าเราเท่านั้น เราถึงจะดูดซับเอาความร่ำรวยของเขามาได้ ทุนนิยมคือระบบที่เปิดให้ทั้งสองฝ่ายคู่ค้าได้รับผลประโยชน์ ตัวอย่างค้าน ไม่ต้องดูที่ไหนไกล เกาหลีปีหนึ่งๆ ไม่รู้ว่าดูดรายได้จากเมืองไทยไปเท่าไหร่ (รุ่นพี่เราคนหนึ่งเขาบินไปสอนภาษาไทยถึงที่เกาหลีเลย เขาบอกว่าคนเกาหลีเรียนภาษาไทยกันเยอะมาก) ส่วนอคติเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมก็รู้ๆ กันอยู่

ถ้าดูจากแนวโน้มตอนนี้ อีกไม่กี่สิบปี ความเป็นเจ้าโลกของอเมริกาอาจสิ้นสุดลง หลายคนก็คาดเดากันว่าจะเป็นจีน เป็นอินเดียที่ขึ้นมาแทน กว่าจะถึงตอนนั้น คนไทยน่าจะทบทวนบทบาทตัวเอง ทำไมเราไม่เปิดตัวเองกับประเทศเพื่อนบ้านให้มากกว่านี้

พิพิทธภัณฑ์แสง (กิตติพล สรัคคานนท์)


ไม่ผิดหวังเลยกับ 5 เรื่องสั้นของคุณกิตติพลที่บรรจุอยู่ใน พิพิทธภัณฑ์แสง ถ้า “ความตาย” คือธีมหลักร่วมกันของเรื่องสั้นใน ที่อื่น สำหรับเล่มนี้ก็คงเป็น “ภาวะหลงทาง” หรือการวนเวียนอยู่ในสถานที่ ความสัมพันธ์ หรือวิถีชีวิตที่ไม่มีทางออก ตัวเอกของเรื่องสั้นก็ยังคงเป็นบุรุษนิรนาม “เขา” แม้ว่าด้วยวิธีการเขียน คุณกิตติพลจะพาเราไปใกล้ชิดกับบุรุษที่สามคนนี้จนราวกับว่าเป็น “ผม” ต่างหากที่เล่าเรื่อง

หลายเรื่องสั้นใน พิพิทธภัณฑ์แสง เดินอยู่บนเส้นคาบเกี่ยวระหว่างบทความ บทรำพึง และเรื่องแต่ง ในแง่หนึ่งก็เป็นกลวิธีการเขียนที่แปลกใหม่ น่าสนใจ แต่น่าเป็นห่วงว่าคนไทยอาจจะยังตามเรื่องลักษณะนี้ไม่ค่อยทัน ที่สำคัญก็คือมันทำให้หลายเรื่องออกมาคล้ายคลึงกันเกินไป อย่าง รังสีวิทยา และ ลืม เป็นสองเรื่องที่เหมือนกัน แถมยังเอามาอยู่ติดกันเสียด้วย พออ่านทั้งเล่มจบ แทบแยกไม่ออกว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องไหน

สองเรื่องที่ดีที่สุดในเล่มก็คือ ภาพประกอบ และ พิพิธภัณฑ์แสง ในเรื่องแรกใช้ตัวละคร “เขา” สามตัว หยิบทั้งสามเหตุการณ์มาเรียงร้อยกันอย่างสวยงาม มิหนำซ้ำยังสรุปความทั้งเล่มได้เป็นอย่างดี ส่วนเรื่องหลังอาศัยความคิดง่ายๆ คือพาผู้อ่านเดินชมสถานที่ตามตัวละครไปเรื่อยๆ แต่เพราะมันน่าสนใจ เรื่องง่ายๆ แบบนี้จึงออกมาดีได้ และเช่นเดียวกับใน ที่อื่น เรื่องสั้นที่อ่อนที่สุดก็คือ ของขวัญ โดยเป็นเรื่องที่ผู้เขียนจงใจเน้นและสร้างเนื่อเรื่องมากกว่าปกติ ผลงานของคุณกิตติพลจะดีที่สุดก็ต่อเมื่อมันไม่มีเนื้อเรื่อง แต่ปล่อยให้คนอ่านอ่านไปเรื่อยๆ

เราใช้เวลาอ่านหนังสือเล่มนี้จากสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อไปลงหัวลำโพงพอดิบพอดี ใครที่ขี้เกียจอ่านอะไรยาวๆ ขอแนะนำ