U. Eco's "A Theory of Semiotics"


เพิ่งอ่านเดริดาจบ ก็ต่อด้วยอีโคกันเลย พักนี้เหมือนชีวิตจะวนเวียนอยู่กับสัญศาสตร์จริงๆ นะเรา

A Theory of Semiotics อันเป็นตำราสัญศาสตร์เล่มสำคัญของอีโค ถูกเขียนขึ้นมาปีหนึ่งก่อน The Name of the Rose ถ้ามองจากนิยายเล่มนั้น และเล่มอื่นๆ บวกกับว่าอาชีพของโรเบิร์ต แลงดอน พระเอกเรื่องรหัสลับดาวินชีก็คือศาสตราจารย์วิชาสัญศาสตร์ อาจทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าวิชาสัญศาสตร์ จะต้องสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ หรืออะไรที่เก่าแก่ แต่ปรากฎว่าไม่ใช่เลย A Theory of Semiotics เป็นตำราที่แอบสแตรกมากๆ เหมือนอ่านเทกคณิตศาสตร์มากกว่า มันว่าด้วยสัญศาสตร์ล้วนๆ แทบไม่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนา ปรัชญา หรือการเมืองแต่อย่างใด

หัวใจของสัญศาสตร์ฉบับอีโคคือการให้ความสำคัญกับสัญลักษณ์เหนือความหมาย หรือสิ่งที่มันต้องการสื่อ ย้อนกลับไปหาเซอซัว เซอซัวบอกว่าสัญลักษณ์คือสิ่งที่มาใช้แทนความหมาย เช่น <<แมว>> (ที่เป็นสัตว์) คือความหมาย มีสัญลักษณ์เป็นภาพวาดแมว สระพยัชญามาประกอบกันเป็น /แมว/ หรือการอ่านออกเสียงคำว่า "แมว" อีโคมองกลับกัน เขาบอกว่าสิ่งรายล้อมรอบตัวเราไม่ใช่ <<แมว>> ที่เป็นสัตว์ แต่มนุษย์เราเรียนรู้จัก /แมว/ ที่เป็นสัญลักษณ์ ก่อนหน้าจะรู้จัก <<แมว>> เสียอีก กรณีนี้อาจไม่ชัดเจน แต่ถ้าเป็นอย่าง <<วอลรัส>> หรือ <<เสือดาว>> นี่ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สิ่งที่อีโคพูดนั้นเป็นจริงแน่ๆ

ดังนั้นคำถามคือ ถ้า /แมว/ เป็นสิ่งที่มีมาก่อน สิ่งที่มันต้องการสื่อ หรือ <<แมว>> ในที่นี้คืออะไรกัน อีโคบอกว่า <<แมว>> ไม่ใช่สัตว์ แต่เป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ ฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่ยกตัวอย่างเช่นประโยค /แมวเป็นสัตว์สี่เท้า/ สัญลักษณ์ /แมว/ ที่อยู่ในประโยคนี้หมายถึงอะไร แน่นอนว่ามันไม่ได้หมายถึงแมวตัวใดตัวหนึ่ง มันหมายถึงแมวทุกตัวที่อยู่ในโลก เคยมีอยู่ในประวัติศาสตร์ และจะคลอดออกมาอีกในอนาคต ซึ่งความเป็น <<แมว>> นี้เราไม่สามารถจับต้องได้ จึงเป็นนามธรรมนั่นเอง

ลึกซึ้งไหม? ลึกซึ้งเนอะ

ยิ่งกว่านี้อีก A Theory of Semiotics เตือนให้เรานึกถึงประโยคเด็ดของอาจารย์นิธิ ที่คุณเรณูชอบเอามาแซวเล่นคือ "วัฒนธรรมสำคัญกว่าความรู้" อีโคเรียกว่า <<แมว>> ที่เป็นนามธรรม และเป็นความหมายของสัญลักษณ์ /แมว/ ว่า "หน่วยทางวัฒนธรรม" กล่าวคือความเข้าใจ /แมว/ ของคนเรานั้นเกิดมาจากว่าเรามาจากวัฒนธรรมไหน และในวัฒนธรรมนั้นมันพูดถึงแมวว่าอะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่นในบ้านเรา /แมว/ สื่อถึงความ <<สะอาด>> <<หยิ่งผยอง>> <<สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม>> <<ขี้อ้อน>> <<ขอฝน>> <<จะให้ไปรักแมวที่ไหน>> <<ทำแมวอะไร!>> และอีกมากมาย ซึ่งหน่วยทางวัฒนธรรมเหล่านี้ล้วนแต่บรรจุอยู่ใน /แมว/ ทั้งหมดทั้งสิ้น ถ้าการศึกษา หรือถ่ายทอดความรู้กระทำกันโดยอาศัยสัญลักษณ์ จึงเป็นไปไม่ได้เลย ที่คนไทยจะศึกษาชีววิทยาของแมว โดยที่ <<สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม>> ไม่ได้อยู่ในหน่วยทางวัฒนธรรมของ /แมว/

สามารถคิดต่อไปไกลกว่านี้ได้ด้วยว่า อัตลักษณ์ที่แต่ละบุคคลสร้างขึ้น จริงๆ แล้วเริ่มมาจากสัญลักษณ์ก่อน (เช่นเงาในกระจก ภาพถ่ายตัวเรา หรือสิ่งที่คนนู้นคนนี้บอกว่าตัวเราเป็น) ดังนั้นความหมายของตัวเรา <<ฉัน>> จึงขึ้นอยู่กับสังคม และอิทธิพลภายนอก ในทางศาสนา เราถึงต้องพยายามค้นหาตัวเอง โดยตัด "หน่วยทางวัฒนธรรม" ออกไปให้มากที่สุด (ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าในความเห็นของอีโคแล้ว มันจะเป็นไปได้หรือเปล่า) ใน A Theory of Semiotics มีหลายอย่างน่าขบคิดมากๆ แต่มันเป็นตำราสัญศาสตร์ที่ฮาร์ดคอร์ไปหน่อย คงเหมาะกับนักวิชาการ มากกว่าคนปรกติธรรมดา หรือผู้สนใจ ขนาดเราอ่านยังเบื่อๆ เลย

ลับแลแก่งคอย (บทวิจารณ์รับเชิญ)


หมายเหตุ: บทวิจารณ์ต่อไปนี้เป็นของคุณนฆ ปักษนาวินครับ ใครที่อ่านหนังสือเล่มไหน สนใจอยากให้รักชวนหัวเอามาแปะไว้ที่บลอคนี้ ก็ติดต่อมาได้เลยครับ

ตอนที่นิยายเรื่องนี้ออกใหม่ๆ นับว่าหายากมากในภูเก็ต แล้วในที่สุดผมก็เจอที่ร้านหนังสือที่เมืองบางกอกโน่นเชียว อ่านบทแรกในโรงแรม อ่านบทที่สองบนรถไฟ แล้วก็ค้างเอาไว้ เมื่อรถไฟไปถึงเชียงใหม่ หลังจากนั้นก็วุ่นวายจนกลับมาภูเก็ตแล้วจึงได้อ่านต่อ แล้วผมก็อ่านต่อจนรวดเดียวจบ ความสนุกตื่นเต้น(ในแบบของผม)เริ่มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อมาถึงหน้าสุดท้ายก็พบว่านวนิยายเรื่องนี้ได้เอาหัวใจผมไปแล้ว

โครงเรื่องคร่าวๆ - เด็กชายคนหนึ่งถูกแม่กับพ่อบุญธรรมนำไปที่วัด พวกเขาคิดว่าเหตุที่เด็กชายมีนิสัยผิดแปลก เพราะถูกผีเข้า เพื่อฝากให้พระช่วยดูแลปัดเป่าเหตุร้ายทั้งมวลออกไปจากตัวเด็กชาย หลังจากนั้นเรื่องเล่าทั้งหลายจะเกิดขึ้นผ่านถ้อยคำบอกเล่าของเด็กชาย (และมีการป้องปากพูดคุยกับคนอ่านเป็นระยะๆ)

เรื่องเล่าของเด็กชายย้อนไปยังอดีตรุ่นปู่ย่าตายาย รุ่นพ่อรุ่นแม่ เรื่อยมาจนคนรุ่นเขาเกิดขึ้น มาถึงปี2535 (ปีที่เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬขึ้น) เด็กชายเติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่นพอดี

นวนิยายแบ่งเรื่องเล่าออกเป็นห้าภาค จากภาคแรก กำเนิดจากเรื่องเล่า/ประวัติศาสตร์ที่เริ่มสร้าง/ในป่าหิมพานต์/ฌาปนกิจความจริง/เถ้าอังคารของความลวง

ต้องบอกด้วยว่าในภาคแรกๆ กำเนิดจากเรื่องเล่า-ประวัติศาสตร์ที่เริ่มสร้าง ผมอาจจะค่อนข้างมีปัญหากับการเล่าเรื่องนิดนึง ไม่ใช่ว่าไม่ดีนะครับ แต่ว่าไม่ชินมากกว่า ในภาคแรกๆ จะมีการใช้ภาษาที่ดูค่อนข้างห่างไกลจากตัวเรื่องเล่าในภาคต่อๆมาไปนิดนึง มีการใช้ภาษาแบบเรียงความอยู่เป็นระยะๆ

แต่พอพ้นจากนี้ไปแล้ว ในภาคที่สาม นวนิยายเรื่องนี้ก็ดึงดูดผมให้ติดกับดักของเรื่องเล่าได้อย่างลึกซึ้ง ลึกซึ้งและใจสลาย ยิ่งตอนท้ายๆ ผู้เขียนให้เค้าลางกับเงื่อนงำ (ต้องใช้คำนี้ครับ คือ ทั้งมีเงื่อนงำที่อาจเป็นกูญแจ พาผู้อ่านคาดเดาไปยังจุดจบ กับทั้งให้เค้าลาง ของความอับอายและความเสื่อมของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของตัวละครเด็กชายเป็นอย่างดี)

การที่ผู้เขียนใช้วงเล็บเพื่อป้องปากพูดคุยกับคนดูเป็นระยะๆ ทำให้เราค่อนข้างผูกพันกับตัวละครคนนี้มากเป็นพิเศษ (แหงหละ บวกกับในเมื่อเขาเป็นเจ้าของเรื่องเล่านี่นา)

เสน่ห์ของเรื่องนี้อาจจะอยู่ตรงนี้ครับ คือในเมื่อเด็กชายทำให้เรารู้สึกร่วมเอาใจไปกับเขาแล้ว เขาก็ไม่ได้ทำให้เราพึงใจมากหรอกครับ เขากลับไปเล่าเรื่องพี่ชายของเขาจนเรารู้สึกอินและบางครั้งก็นอกใจไปเชียร์พี่ชายที่ชื่อแก่งคอยของเขา แต่พอสุดท้ายแล้วเด็กชายก็ทำเรื่องบางอย่างจนเรารู้สึกจงชังจงแค้นการกระทำของเขาเสียเหลือเกิน แล้วเรื่องเล่าก็พลิกไปจนความลึกซึ้งใจสลายเกิดขึ้นในตัวเราอีกระลอก หลังจากจุดพลิกผันอ่อนแรงลงไปแล้ว (หลังจากนี้เล่าไม่ได้แล้วครับ มันจะสปอยด์ ใครอ่านจบแล้วก็คงรู้นะครับว่ามันเป็นยังไง เราถูกเรื่องเล่าโบยตี แล้วเราก็อยากให้มันโบยตีอีกครั้งเพราะมันยังไม่สาแกใจ (เหมือนนางเอกเรื่องจำเลยรักเลยครับ 55) แล้วเรื่องเล่าก็ให้เราได้อีกครั้ง

ความดีอีกอย่างก็คือ การใช้ความเปรียบของเขาครับ เห็นได้ชัดในภาคสามภาคสี่ที่เรื่องเล่าไม่ได้ "เล่าความจริง"แบบภาคหนึ่งภาคสองแล้ว แต่การใช้ความเปรียบของเรื่องเล่าในภาคนี้ ได้ "สร้างความจริง" ขึ้นมา ตัวภาษาของผู้เขียนในภาคนี้นั้น ไม่ได้ใช้เพื่อรองรับการเล่า"ความจริง" แต่ได้ใช้เพื่อการสร้างความจริงขึ้นมาใหม่ ตรงนี้แหละครับ ผู้เขียนเหมือนเป็นพระเจ้าที่คอยบงการให้สรรพสิ่งเกิดขึ้นและสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอธิบายได้ด้วยภาษาของพระเจ้าเท่านั้น ผมอาจจะยกตัวอย่างหน่อยนะครับ

การละเล่นประหลาดเปิดเผยตัวมันอย่างหมดเปลือกแล้ว ภูตผีสองตนในป่าร้างชื้นเย็น อุบัติเหตุหนึ่งของการหายใจออกเพียงเฮือกเดียวกำเนิดขึ้น ....

...ผมเหมือนเดินทางอยู่ในป่าหิมพานต์ ลอบมองเทพารักษ์สององค์อาศัยจังหวะลับตาคนออกมาร่ายรำ สิ่งที่เห็นไม่ใช่กิจของมนุษย์ควรกระทำ เป็นเรื่องของภูตผีหรือไม่ก็เทวดา เพราะพวกนั้นไม่มีเพศ


แล้วก็มีอีกหลายตอนนะครับ ที่ผู้เขียนดึงความรู้สึกตะลึงพรึงเพริดของผู้อ่านออกมาได้ ด้วยการใช้ความเปรียบแบบ "พระเจ้าแห่งความเปรียบ" แบบนี้ เขียนได้ยังไงพี่ (ผมอยากกราบที่ตักซักทีจริงๆ)

สิ่งที่อาจทำให้เห็นชัดว่าผู้เขียนมีอำนาจเหนือต่อเรื่องเล่าของเขาเพียงใด (หรือพูดใหม่ว่า เรื่องเล่าของเขาไม่สยบยอมต่อความจริงได้อย่างไร) สังเกตให้จาก การใช้ภาษาพูดของตัวละคร แม่(พิทย์) สังเกตดูเถอะครับ ว่ามีบางตอนผู้เขียนให้แม่พูดภาษาอีสาน กับบางตอนที่แม่เปลี่ยนมาพูดภาษากลาง (ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญมาก) สำหรับบางคนอาจคิดว่านี่ไม่สมจริง แต่ตรงนี้แหละครับ ที่ชี้ว่า อำนาจในการเข้าถึงความจริง ไม่ใช่อยู่ที่การเข้าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงตามเนื้อเรื่อง แต่อยู่ที่่ตัวผู้เขียนต่างหาก และความสมจริงในโลกของภาษาและเรื่องเล่าในเรื่องนี้กำเนิดขึ้นมาจากจุดนี้ครับ

นวนิยายหนาเกือบห้าร้อยหน้า ผมคงอธิบายความดีของมันได้ไม่ละเอียดถี่ถ้วน นอกจากชี้ชวนให้คุณๆหามาอ่านกันนะครับ
ถ้าให้สรุปสั้นๆก็อย่างที่บอกครับ

นวนิยายเรื่องนี้ได้เอาหัวใจของผมไปแล้ว

J. Derrida's "Of Grammatology"


เอาเข้าจริง Of Grammatology ตำราเล่มเอกของเดริดา ก็ไม่ใช่หนังสือที่อ่านยากขนาดนั้น ในเล่มนี้เดริดาวิเคราะห์กำเนิดภาษาผ่านงานเขียนของนักคิดในประวัติศาสตร์สามคนหลักๆ ได้แก่เซอซัว รุสโซ และเลวี สเตราส์ เนื่องจากเรามีพื้นกับงานของทั้งเซอซัว และรุสโซ และค่อนข้างคุ้นเคยกับเลวี สเตราส์ดี ก็เลยปีนกระได ไต่ๆ ปรัชญาของเดริดาได้

ถ้าให้สรุปรวบยอดประเด็นสำคัญของ Of Grammatology คือกำเนิดของภาษา (ให้เจาะจงลงไปอีกคือภาษาเขียน) สอดคล้องกับการที่มนุษย์หลุดจากธรรมชาติ และเริ่มรับเอาความเลวร้ายต่างๆ เข้ามาสู่เผ่าพันธ์ ความคิดตรงนี้ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากทั้งรุสโซ และเลวี สเตราส์ (ซึ่งสืบทอดแนวคิดเชิงมานุษยวิทยามาจากรุสโซอีกทอดหนึ่ง) ความเลวร้ายที่ว่าเกิดจากมนุษย์ยกย่องสัญลักษณ์ โดยสับสนระหว่างชื่อ และตัวตนของวัตถุ

นี่คือจุดอ่อนของวิชาสัญศาสตร์ หรือพูดให้ถูกต้อง จุดอ่อนของสัญศาสตร์ในฐานะที่มันเป็นพื้นฐานของภาษาเขียน และวิทยาการแขนงต่างๆ สัญลักษณ์นั้นไม่ได้มีความหมายในตัวเอง แต่มีความหมายเนื่องว่ามันไม่ได้เป็นสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ตัวมัน ("แมว" หมายถึงสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่หมา กา ไก่ หมู ฯลฯ) ดังนั้นสัญศาสตร์จึงนำไปสู่การเปรียบเทียบ ความแตกต่าง และความขัดแย้งระหว่างเพื่อนมนุษย์ ตัวอย่างจากเลวี สเตราส์คือชนเผ่าพื้นเมืองเผ่าหนึ่งไม่มีการใช้วิสามนยนาม พวกเขาจึงไม่เกิดอัตตาที่แยกตัวตนของปัจเจกออกจากหมู่คณะ ซึ่งนำไปสู่ความสงบสุขในหมู่บ้าน

Of Grammatology เปิดด้วยเซอซัว ก่อนจะต่อมายังรุสโซ และเลวี สเตราส์ แต่ในความเห็นเรา เดริดาน่าจะสลับเนื้อหาตรงนี้ เพราะบทแรกที่พูดถึงเซอซัวนั้นเป็นบทที่น่าขบคิดสุด เซอซัวรังเกียจภาษาเขียน เพราะมันคือการสร้างสัญลักษณ์ให้กับสัญลักษณ์ หรือชื่อของวัตถุอีกทอดหนึ่ง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชื่อ และตัววัตถุนั้นด้อยค่าลง ยกตัวอย่าง "แมว" ที่เป็นสัตว์มีสัญลักษณ์อ่านได้ว่า "แมว" ซึ่งแค่นั้นก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่ความสัมพันธ์ตรงนี้ถูกทำให้อ่อนลงด้วยชุดอักขระ "แ - ม - ว" ที่ใช้แทนเสียงว่า "แมว" อีกที

พูดยากเหมือนกันว่าจริงๆ แล้วเดริดาคิดยังไงกันแน่กับประเด็นทางภาษาตรงนี้ เขาเห็นด้วยมากน้อยแค่ไหนกับนักคิดทั้งสามคนที่ยกขึ้นมาอ้าง ถ้าถามความเห็นเรา เดริดาไม่ได้เห็นด้วยขนาดนั้น เขาพยายามอ่านงานของรุสโซ ให้ลึกกว่าสิ่งที่รุสโซเขียน โดยบอกว่า จริงอยู่ ภาษา และตรรกะอาจเป็นความเสื่อมโทรมจากสภาวะธรรมชาติ แต่ในความเสื่อมโทรมนั้น ก็มีแรงขับไปสู่สภาวะดั้งเดิมตามธรรมชาติเหมือนกัน ยกตัวอย่างว่า แรกสุดมนุษย์อยู่แยกกันตัวใครตัวมัน ดังนั้นจึงไม่ต้องการภาษา เมื่อภัยธรรมชาติขับมนุษย์ให้มาอยู่รวมกันเป็นเผ่า ภาษาพูดจึงเกิดขึ้นมา แต่ขณะเดียวกัน วิวัฒนาการของภาษาพูดซึ่งนำไปสู่ภาษาเขียนนั้น ก็ช่วยให้มนุษย์เรากลับไปแยกกันอยู่ตัวใครตัวมันอีกครั้ง ถ้าให้พูดแบบเฮเกล ก็ต้องบอกว่านี่คือวิภาษวิธี (Dialectic) ระหว่างภาวะเสื่อมโทรม และภาวะธรรมชาติ

ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ อย่างไรเราก็ยังเป็นคนยึดติดกับภาษา และสัญลักษณ์ เลยอดน้อยใจไม่ได้ที่เดริดาไม่ยอมเปิดเผยตัวตน ออกมาปกป้องวิชาสัญศาสตร์ เดริดาคือนักปรัชญาที่ "อ่าน" งานคนอื่นจริงๆ น้ำเสียงของเขาใน Of Grammatology คือใบหน้าของเดริดาที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้หน้ากากของเซอซัว รุสโซ และเลวี สเตราส์

ซึ่งคิดแบบขำๆ แล้วก็แทบไม่แตกต่างอะไรจากที่รักชวนหัวกำลังทำอยู่นี่เอง

8 1/2 ริกเตอร์ (อนุสรณ์ ติปยานนท์)


อาจารย์ต้นก็ยังเขียนหนังสือได้เท่ห์เหมือนเดิม ไม่สิ ต้องบอกว่าเท่ห์ยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำ ความเท่ห์และความดีนั้นไม่เหมือนกัน ความดีของหนังสือสักเล่มขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์อันลื่นไหลมากมาย แต่ความเท่ห์ของนักเขียนคนหนึ่ง อยู่กับว่าในหนังสือแต่ละเล่มที่เขาเขียนขึ้นมานั้น เขาสามารถเจียระไนตัวเอง สร้างจุดเด่น และความเป็นตัวตนให้นักอ่านสัมผัสได้สักแค่ไหน ในฐานะที่เราอ่านหนังสืออาจารย์ต้นมาครบทุกเล่ม พูดได้เลยว่าอาจารย์ต้น "เท่ห์มากๆ " (ต้องบอกก่อนว่าการย้ำคิดย้ำทำ เขียนหนังสือแบบเดิมซ้ำซากไม่ใช่ความเท่ห์ ความเท่ห์มันต้องบวกพัฒนาการด้วย ไม่ใช่ลอกเลียนตัวเองมาหมด กระทั่งข้อด้อย)

8 1/2 ริกเตอร์ เต็มเปี่ยมไปด้วยลายมือของอาจารย์ต้น เนื้อเรื่องที่ข้องแวะกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น เหตุการณ์เหนือธรรมชาติ การค้นหาความจริง (หรือลวง) ในอดีต และที่ขาดไม่ได้คือผัสสะรสของอาหาร แต่ขณะเดียวกันถ้าเทียบกับ ลอนดอนกับความลับในรอยจูบ ก็เห็นพัฒนาการบางอย่างด้วย เช่นเส้นเรื่องที่ชัดเจนขึ้น 8 1/2 ริกเตอร์ จับตามองหนุ่มญี่ปุ่นที่มาค้นหาความจริงทางประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์ในประเทศไทย สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง หัวใจของ 8 1/2 ริกเตอร์ คือเรื่องของคลื่น หรือพลังที่มองไม่เห็น ซึ่งอยู่รอบตัวเรา และบางทีสามารถสื่อสารกับเราได้ ความที่มันเป็นเรื่องลึกลับ ไสยศาสตร์ บวกผจญภัยน้อยๆ นี้เอง ก็ช่วยสร้างอรรถรสให้อ่านสนุกขึ้น

เป็นธรรมเนียมของนักเขียนรุ่นใหม่กระมัง ที่ชอบอ้างศิลปิน ผู้กำกับ หรือนักเขียนระดับโลกเข้ามาในผลงาน ส่วนหนึ่งก็คงเพื่อปูภูมิ ความน่าเชื่อถือให้กับตัวผู้เขียน ซึ่งตรงนี้ผู้ใหญ๋ หรือคนรุ่นก่อนอาจจะรู้สึกว่าน่าหมั่นไส้ อย่างไรดีล่ะ เราไม่เกี่ยงนะ ในแง่หนึ่ง มันก็คือพัฒนาการของวรรณกรรมไทยซึ่งหลุดจาก "หล่มเพื่อชีวิต" จากตัวละครตาสีตาสาที่ "เขียน ก ไก่ ไม่ถึง ต เต่า อะอาอิอีไม่เอา" ในเมื่อปัจจุบันพระเอก นางเอกแปรเปลี่ยนมาเป็นชนชั้นกลางแล้ว จะให้เป็นชนชั้นกลางโดยสมบูรณ์แบบ ก็ต้องมีพื้นความรู้ทางศิลปะด้วย อีกแง่หนึ่ง การยืมชื่อศิลปินเหล่านั้นมาแปะในผลงาน ก็สามารถสร้างเนื้อหาเชิงลึก เราชอบมากที่พระเอกบรรยายว่าตัวเขาชอบหนังของ จุน อิชิกาวา แต่แฟนของเขาชอบ คิโยชิ คุโรซาวา แค่นี้ก็เปิดแง่มุมให้ตีความได้ร้อยแปดแล้ว แต่วิธีนี้ก็เป็นดาบสองคมเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น การอ้างมาเกวซ และคาฟคา กลับดูพิพักพิพ่วน ไม่ค่อยกลมกล่อมเท่าไหร่

ข้อเสียหลักข้อเดียวเลยของ 8 1/2 ริกเตอร์ คือเราไม่ชอบตอนจบ รู้สึกเป็นความพยายามมากเกินไปที่จะให้จบอย่างสุขสันต์ ขณะเดียวกันก็เป็นความสุขสันต์ที่ปะแล่มๆ ในสายตาเรา กับโทนเรื่องแบบนี้ ในนิยายขนาดสั้นแบบนี้ น่าจะปล่อยตอนจบให้คลุมเครือไปเลย คงจะเหมาะกว่า

G. Greene's "The Captain and the Enemy"


เคยได้ยินนักวิจารณ์รุ่นเก่าเขาพูดกันว่า Casablance เป็นภาพยนต์ที่ตื่นเต้นเอามากๆ เต็มไปด้วยการผจญภัย สายลับ หักหลัง และหักเหลี่ยมกัน ถ้าถามเรา คงมีแต่เฉพาะนักวิจารณ์รุ่นเก๋าเก่าจริงๆ ที่จะมีความเห็นแบบนี้ได้ (ขนาดแม่เราดู Casablanca ยังดูไปหาวไปเลย) ให้เราซึ่งเป็นคนปัจจุบันดู ก็มองไม่เห็นอะไรแล้วล่ะ นอกจากความรักอันหวานขมระหว่างคู่พระคู่นาง (ซึ่งก็ไม่ได้หมายถึงว่าหนังดี หรือไม่ดีในสายตาเรา) พูดแบบนี้อาจไม่ค่อยยุติธรรมกับหนังสักเท่าไหร่ เพราะใช่ว่าจะไม่มีการผจญภันใน Casablance เลย คงเป็นความต่างของยุคสมัยมากกว่า ที่ปัจจุบันหนังผจญภัย ต้องตื่นเต้นกันตั้งแต่ต้นเรื่องยันจบ จะมานั่งฟัง As Time Goes By เคล้าน้ำตานั่นก็ผิดสูตรไปหน่อย

เกรแฮม กรีนนอกจากจะเป็นนักเขียนนิยายแล้ว ยังมีเครดิตในฐานะคนเขียนบทให้กับภาพยนต์ฮอลลีวูดหลายเรื่อง นิยายหลายเล่มของแก เข้าใจว่าถูกเขียนเป็นบทภาพยนต์ก่อนด้วยซ้ำ แล้วถ้าหาผู้สร้างไม่ได้ ค่อยดัดแปลงเป็นนิยาย ตีพิมพ์ต่างหาก ภาพยนต์ของกรีน ก็คือภาพยนต์ผจญภัยแบบ Casablanca นี่เอง ตัวเอกของ The Captain and the Enemy คือจิม หนุ่มชาวอังกฤษ ผู้เดินทางมายังปานามา เพื่อตามหา "กัปตัน" พ่อบุญธรรมของเขา หลังจาก ลิซา ผู้หญิงที่เลี้ยงดูเขามา คนรักของกัปตันเสียชีวิต ในปานามา จิมพัวพันกับสายลับอเมริกัน การเมืองท้องถิ่น และกองโจรปฏิวัติในนิการากัว

เหมือนกับ Casablanca เอาเข้าจริง เรื่องราวผจญภัยๆ ที่เล่ามาตรงนี้เกิดขึ้นเฉพาะครึ่งหลังของเล่มเท่านั้น ครึ่งแรกพูดถึงชีวิตวัยเด็กของจิม เขาโตมากับลิซา โดยมีกัปตันโผล่มาเยี่ยมเป็นบางครั้งคราว และส่งเงินมาให้ทั้งคู่เป็นระยะ ทั้งจิม และลิซาไม่รู้อะไรทั้งสิ้นเกี่ยวกับชีวิตเบื้องหลังของบุรุษปริศนาผู้นี้ นอกจากว่าเขาอาจเกี่ยวข้องกับการโจรกรรมเพชรพลอย และธุรกิจผิดกฎหมายอื่นๆ

จิมเป็นตัวละครน่าสงสาร เขาไม่ได้มีชีวิตวัยเด็กที่ยากลำบากอะไร แต่ปมบางอย่างในตัวทำให้เขาไม่รู้จักความรัก ไม่ว่าจะกับหญิงสาวที่ผ่านเข้าออกชีวิต หรือยิ่งกว่านั้น กับผู้มีพระคุณอย่างลิซา และกัปตัน ปมตรงนี้เองที่ทำให้จิมทรยศกัปตัน และนำไปสู่โศกนาฏกรรมตอนท้ายของเรื่อง

น่าเสียดายที่กรีนไม่ได้ให้ความกระจ่างว่าเป็นอย่างไรมาอย่างไร จิมถึงได้มีปมตรงนี้ เพราะกัปตันโกหกมากเกินไป เพราะเขาไม่ได้อยู่ดูแลจิม และลิซา เพราะในจดหมายที่ทั้งคู่โต้ตอบกัน และจิมแอบอ่าน ไม่เคยกล่าวถึงคำว่ารัก ตอนใกล้จบของนิยาย คนอ่านซาบซึ้งถึงความรัก ความผูกพันระหว่างลิซา และกัปตัน ถ้าเช่นนั้น ไฉนจิมถึงไม่สามารถพัฒนาความรู้สึกตรงนี้ได้ ไม่ค่อยชอบบทสรุปของ The Captain and the Enemy เท่าใดนัก เหมือนกับมันมีคำถามที่แม้แต่กรีนเองก็ยังตอบไม่ได้ เขาก็เลยเล่นง่ายๆ โดยการล้างไพ่ทิ้ง แล้วแปรคำถามนั้นให้กลายเป็นมุกตลกแทน

M. Amis's "Other people"


ประโยคเด็ดจาก Other People ที่เอมิสย้ำคิดย้ำทำอยู่ตลอดทั้งเรื่องคือ "เวลาคือเงินตรา...การค้าขายอย่างเดียวที่มนุษย์เราค้ากันคือการค้าเวลา" ซึ่งก็จริงของเขา ในโลกนี้ไม่มีอะไรอีกแล้วที่มีค่าไปกว่าเวลา ถ้าใครรู้จักเอาเวลามาใช้ทำมาหากิน รับรองไม่มีวันอดตาย ขนาดเงินตราเองก็ยังไม่มีค่าเท่ากับเวลาเลย เพราะ "เราสามารถประหยัดเงินได้ด้วยการจับจ่ายใช้สอย" หากถ้าเราอยู่เฉยๆ เวลาก็มีแต่จะถูกใช้ให้หมดไปวันๆ ความคิดของเอมิสตรงนี้สะท้อนประโยคเด็ดของอัลแบร์ กามูส์จาก A Happy Death ว่า "ความสุขต้องอาศัยเวลา และถ้ามีเงินตราก็สามารถซื้อเวลาได้"

นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสอีกคนที่มีอิทธิพลกับนิยายเล่มนี้ไม่แพ้กามูส์คือซาร์ต ชื่อนิยายก็มาจากวจีอมตะของซาร์ตในบทละคร No Exit "นรกคือผู้อื่น" (Hell is other people.) เคยพูดถึงบทละครเรื่องนี้ไปแล้ว แต่ให้สรุปความคิดสั้นๆ มนุษย์เรานี่แหละ มีศักยภาพที่จะทรมานกันเองไม่ว่าจะจงใจ หรือโดยบริสุทธิ์ใจ ยิ่งเสียกว่าไฟนรก น้ำกรด หรือหอกหลาวใดๆ ทั้งนั้น

ตัวเอกของ Other People คือแมรี แลมป์ หญิงสาวผู้สูญเสียความทรงจำ เมื่อเปิดนิยายมา เธอเหมือนเด็กเพิ่งเกิด ผู้ไม่รับรู้ใดๆ ทั้งนั้น ไม่รู้จักอันตราย ไม่รู้จักความปลอดภัย ไม่รู้จักกระทั่งร่างกายของตัวเอง คนรอบข้างมองว่าเธอหัวทึบ คุณสมบัติเดียวของแมรีเลยคือ "ความสวยงาม" ซึ่งเป็นคุณสมบัติอันตราย ไม่ว่าแมรีจะไปแห่งหนใด เธอเหมือนเทพธิดามรณะที่นำพาความพินาศสู่คนรอบข้าง ทั้งแมรีและ “ผู้อื่น” ต่างทำร้ายกันอย่างน่าเศร้า

ทุกครั้งที่หายนะเกิดกับแมรี พรินซ์ นายตำรวจลึกลับจะปรากฎตัวขึ้นมา แมรีชิงชังพรินซ์ เพราะเธอมองเขาเป็นสัญลักษณ์ของความเจ็บปวด และล้มเหลวในชีวิตเธอ แต่ขณะเดียวกัน พรินซ์ก็เหมือนจะกุมความลับในอดีตของแมรีเอาไว้ เขาเหมือนจะรู้จักเอมี ซึ่งเป็นตัวตนของแมรี ก่อนที่เธอจะสูญเสียความทรงจำ แมรี เกรงกลัวเอมี เธอเชื่อว่าเอมีไม่ใช่ผู้หญิงที่ดีนัก และยิ่งสืบสาวหาต้นตอของตัวเองเท่าไหร่ ความเชื่อนี้ก็ยิ่งฝังใจหนักขึ้นๆ

ชอบตอนจบของบทรองสุดท้ายมาก เป็นการพบปะกันระหว่างเอมี และแมรี ซาร์ต และกามูส์ เวลา และเงินตราได้อย่างสมบูรณ์แบบ ในนรกที่เกิดจาก “ผู้อื่น” เสียดายที่ Other People ลากต่อไปอีกบทหนึ่ง ซึ่งจริงๆ ก็เปิ่นแปลกดี เหมือนภาพยนตร์ของเดวิด ลินซ์ แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้นิยายอ่อนลงไปด้วย (อาจเป็นความจงใจของเอมิสก็ได้)

สิ่งหนึ่งที่ชอบมากในเล่มนี้คือตัวตนของ “ผู้เล่าเรื่อง” หรือ “ผม” ที่ปรากฎขึ้นมาเป็นระยะ การใส่ “ผม” ลงไปในนิยายบุรุษที่สามไม่ใช่ของง่าย ถ้าใครสักแต่ว่าทำเอากิ๋บเก๋ แล้วออกมาไม่ดี จะแลดูเสร่อมากๆ เอมิสเล่นกับการทลายกำแพงที่สี่ได้อย่างชาญฉลาด เขาไม่ใช่นักพากย์ราคาถูก ที่พยายามกลบเกลื่อนจุดอ่อนในการเล่าเรื่อง หากใช้โอกาสนี้ พูดกับคนอ่าน เพื่อเสริมเติมแต่งนิยาย (ส่วนหนึ่งเพราะช่วงแรกแมรี แลมป์ไม่มีความทรงจำด้วย ทำให้เทคนิกตรงนี้ลื่นไหลไปกับเนื้อเรื่อง) ที่ชอบมากๆ คือ “ผม” ไม่เคยบอกคนอ่านโต้งๆ ว่าตัวเองเป็นคนเขียน และจวบจบหน้าสุดท้าย “ผม” กลายเป็นตัวละครตัวหนึ่ง ที่มีเนื้อหนัง ลมหายใจ และจับต้องได้ ไม่แพ้ทั้งแมรี และเอมี

R. Davies's "A Mixture of Frailties"


ยากจังแฮะ กับการถามตัวเองว่าชอบหรือเปล่า A Mixture of Frailties นิยายเล่มสุดท้ายในไตรภาคซัลเตอร์ตัน เราชอบสองเล่มก่อนหน้านี้มาก แต่กับ A Mixture of Frailties ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่ามันใกล้เคียงกับความเป็นโรเบิร์ตสัน เดวีส์ที่หลายต่อหลายคนรู้จัก Fifth Business นิยายที่โด่งดังสุดของแก ก็คือเล่มถัดจากเล่มนี้ไป โดย A Mixture of Frailties มีหลายอย่างคล้ายคลึงกับนิยายในไตรภาคเดปฟอร์ดมากกว่า Tempest Tost หรือ Leaven of Malice มันมีความอึมครึม และบรรยากาศชวนสะพรึงบางอย่าง

A Mixture of Frailties ว่าด้วยโมนิกา หญิงสาวยากจนในเมืองซัลเตอร์ตัน ผู้วันดีคืนดีได้รับเงินทุนมหาศาลให้ไปศึกษาต่อวิชาขับร้องในประเทศอังกฤษ นิยายทั้งเล่มนี้คือการผจญภัย และเติบโตของเธอในดินแดนแปลกถิ่น จุดนี้เองที่ A Mixture of Frailties คล้ายคลึงกับนิยายในไตรภาคเดปฟอร์ด เมืองซัลเตอร์ตันเป็นพื้นหลังของตัวละครมากกว่าสถานที่เกิดเหตุการณ์ในเรื่อง รวมไปถึงความเป็นนิยายชีวประวัติของมัน ซึ่งแตกต่างจากเล่มอื่นๆ ในไตรภาคซัลเตอร์ตัน

ชื่อนิยาย “ส่วนผสมของข้อเสียหาย” น่าจะหมายถึงความเป็นศิลปินที่ต้องมีนิสัยเสียบางอย่างอยู่ในตัว สิ่งที่โมนิกาเรียนรู้ในลอนดอนไม่ใช่เพียงเทคนิกการใช้เสียง วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ดนตรี แต่รวมไปถึงข้อเสียหาย และสิ่งเลวร้ายในตัวศิลปินผู้เป็นอาจารย์ และผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่รอบกายเธอ รวมไปถึงการยอมรับข้อเสียของตัวเองด้วย ขณะเดียวกัน “ส่วนผสมของข้อเสียหาย” ก็เป็นสิ่งที่เดวีส์ต้องการบอกคนอ่านว่า ในตัวมนุษย์เราทุกคนมีข้อเสีย บางครั้งก็ต้องแกล้งปิดตา มองข้ามข้อเสียหายเหล่านั้น เพื่อจะได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า

เรายอมรับบทเรียนตรงนี้ได้นะ และนั่นก็เป็นบางอย่างที่สรุปได้จากนิยายสองเล่มก่อนหน้านั้น ผิดแต่ข้อเสียของตัวละครใน A Mixture of Frailties อาจเป็นบางอย่างที่เรารับไม่ได้ เรารับได้กับความหยิ่งยะโสของตัวละครใน Tempest Tost และ Leaven of Malice แต่เรารับไม่ได้กับความโง่งายงมของหลายตัวละครในเล่มนี้ รวมไปถึงตัวโมนิกาเองด้วย โมนิกามีพื้นหลังมาจากครอบครัวที่ยากจน และคลั่งศาสนา และสุดท้ายแม่ของเธอก็จบชีวิตเพราะความงมงายดังกล่าว นั่นคือสิ่งที่เราควรจะมองข้ามไปให้ได้อย่างนั้นหรือ

หลังจากอ่านนิยายของเดวีส์มาแล้วเจ็ดเล่ม ยากยิ่งนักที่จะบอกว่าเดวีส์เชื่อ หรือไม่เชื่ออะไรบ้างที่เขาเขียน A Mixture of Frailties พูดถึงปรัชญาศิลปะแบบต่างๆ บางข้อก็ขัดแย้งกันเอง ไม่นับว่ามันขัดแย้งกับเล่มอื่นๆ ที่เดวีส์เคยเขียนไว้ และจะเขียนต่อไปในอนาคตบ้างหรือเปล่า ตรงนี้กระมังที่ทำให้ A Mixture of Frailties เป็นนิยายที่สลับซับซ้อน และตัวโรเบิร์ตสัน เดวีส์ เป็นนักเขียนที่มีอะไรให้น่าค้นหาอยู่ตลอดเวลา

G. Flaubert's "Madame Bovary"


โอ้ คนฝรั่งเศส!

Madame Bovary ทำให้เรานึกถึงพวกวรรณกรรมฝรั่งเศสที่เคยอ่านสมัยยังเป็นนักเรียน เพราะมันช่างเป็นนิยายที่ฝรั่งเศ๊ส ฝรั่งเศสอะไรจะปานนี้ อ่านแล้วก็ถึงบางอ้อเลยว่าทำไม ขณะที่เราคุ้นเคยกับวรรณกรรมอังกฤษ เยอรมัน อิตาลี รัสเซีย หรือกระทั่งยุโรปชาติอื่นๆ วรรณกรรมฝรั่งเศสเป็นบางอย่างที่เราไม่ค่อยแตะต้อง ถ้าให้จำกัดความกันแบบ stereotype สุดๆ วรรณกรรมฝรั่งเศสจะวนเวียนอยู่กับเรื่อง "รักใคร่" และ "ศีลธรรม" พลอตสุดฮิตคือเรื่องการนอกใจสามี หรือภรรยา โดยมุ่งประเด็นไปที่ทางเลือกของตัวละครระหว่าง "รักใคร่" และ "ศีลธรรม" ตั้งแต่ The Princess of Cleves จนถึง Dangerous Liaisons โดยต่างผู้เขียน ต่างยุคสมัยก็สนับสนุนทางเลือกที่ต่างกันไป

ขณะที่วรรณกรรมอังกฤษจะผูกเรื่องโดยเอาประเด็นเงินๆ ทองๆ มาเป็นเงื่อนไข (สมกับเป็นประเทศแห่งอดัม สมิธ บิดาแห่งระบบทุนนิยม) คนฝรั่งเศสดูจะรำคาญเรื่องเงินๆ ทองๆ อยู่ไม่น้อย ถ้าไม่แกล้งทำลืมๆ หรือไม่กล่าวถึงเสียเลย ก็จะมีทีท่าเช่นเดียวกับฟลอเบิร์ตใน Madame Bovary คือจงใจให้มันวุ่นวาย สับสน และน่ารำคาญ ทั้งที่เอาเข้าจริง ประเด็นเงินทองนี่แหละเป็นประเด็นหลักของ Madame Bovary ไม่แพ้เรื่องรักใคร่เลย สิ่งที่ผลักดันตัวละครไปสู่จุดไคลแม็กของเรื่องก็คือเงินทอง ไม่ใช่ความรัก

สังเกตว่าวรรณกรรมอังกฤษจะเน้นการโต้ตอบกันระหว่างตัวละคร วรรณกรรมเยอรมันเน้นปรัชญา โดยมีตัวละครเป็นกระบอกเสียง ส่วนวรรณกรรมฝรั่งเศสจะเน้นที่ความคิด และการเติบโตของตัวละคร มีบางอย่างคล้ายคลึงกับงานเขียนแนวชีวประวัติ อย่าง Madame Bovary ก็เป็นชีวิตของนางเอมมา โบวารี นี่แหละ ฟลอเบิร์ตบอกที่มาที่ไป ให้เรารู้ว่าทำไมเธอถึงเป็นตัวละครอย่างที่เธอเป็น ทำไมเธอถึงนอกใจสามี ทำไมเธอถึงใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่ค่อยแปลกใจเลยว่าทำไมนักอัตถิภาวนิยมในศตวรรษที่ 20 ถึงมักเป็นคนฝรั่งเศส

และจากที่กล่าวมาข้างต้น ก็ไม่แปลกใจอีกเช่นกัน ทำไมวรรณกรรมฝรั่งเศสถึงไม่ค่อยโดนจริตเรา

จริงๆ ก็ไม่ค่อยอยากใช้ Madame Bovary เป็นตัวตายตัวแทนของวรรณกรรมฝรั่งเศสทั้งหมดหรอก นี่เป็นนิยายน่าอ่าน และมีอะไรให้ขบคิดมากมาย หลายคนชอบเปรียบเทียบเอมมา โบวารี กับดอน คิโฮเต้ ซึ่งก็เป็นการเปรียบเทียบที่ไม่เลวนัก ทั้งคู่ชอบอ่านหนังสือ เป็นนักฝัน หลงอยู่ในโลกลวงตา และสุดท้ายชีวิตก็ถูกทำลายอันเนื่องมาจากว่าโลกแห่งความจริง ไม่ได้เป็นเช่นเดียวกับโลกในนิยายแล้ว โศกนาฏกรรมของพวกเขาคือการใช้ชีวิตในโลกที่ปราศจากทางเลือก และการผจญภัย ขณะที่ดอน คิโฮเต้หลอกตัวเอง มองกังหันลมเป้นมังกร เอมมา โบวารี หนีเข้าไปในเพศสัมพันธ์ และใช้การคบชู้สู่ชายเป็นทางออกของชีวิตเธอ

R. Davies's "Leaven of Malice"


เพิ่งค้นพบข้อมูลน่าสนใจ ปรากฎว่าไตรภาคซัลเตอร์ตันนี้เป็นไตรภาคแรกของโรเบิร์ดสัน เดวีส์ เท่ากับว่า Tempest Tost ก็เป็นนิยายเล่มแรกของเดวีส์เช่นกัน สารภาพว่าแปลกใจมาก Fifth Business ดูมีความเป็นนิยายเล่มแรกมากกว่าเป็นไหนๆ มันบรรจุความพลุ่งพล่านของนักเขียนหน้าใหม่ไฟแรง ขณะที่ Tempest Tost ดูเป็นนิยายเบาสมองของผู้ใหญ่ที่พึงพอใจกับสถานภาพชีวิตตัวเองแล้ว (ประกอบกับการที่ Fifth Business และไตรภาคเดปฟอร์ดคือชุดนิยายที่โด่งดังสุดของเดวีส์ด้วย ตรงนี้ยิ่งทำให้เราไขว้เขวเข้าไปใหญ่)

Leaven of Malice คือภาคต่อจาก Tempest Tost เช่นเดียวกัน เหตุเกิดในซัลเตอร์ตัน เมืองชนบทของประเทศแคนาดา ความแตกต่างประการหนึ่งระหว่างไตรภาคซัลเตอร์ตัน และไตรภาคเดปฟอร์ดคือ ขณะที่แต่ละเล่มของไตรภาคเดปฟอร์ดสามารถอ่านแยกๆ กันได้ ระหว่าง Leaven of Malice และ Tempest Tost เกี่ยวเนื่องกันอย่างชัดเจนกว่า ถ้าอ่านสลับลำดับกัน อาจไม่ได้อรรถรสเท่าที่ควร

เช่นเดียวกับภาคก่อนของมัน นี่ก็ยังเป็นนิยายเบาสมอง ที่วกวนอยู่กับความหยิ่งยะโสในเมืองเล็กๆ แห่งนี้ เหตุเกิดจากอยู่ดีๆ มีมือมืดไปลงประกาศในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นว่าหนุ่มสาวคู่หนึ่งกำลังจะแต่งงานกัน ปรากฎว่าเป็นเรื่องโอละพ่อ ตัวหนุ่มสาวทั้งคู่ ซอลลี และเพิร์ลแทบไม่เคยพูดจากันด้วยซ้ำ เรื่องตลกแบบนี้คงจบลงได้ง่ายๆ ถ้าเหตุไม่ได้เกิดมาจากศักดิ์ศรีของบรรดา “ผู้ยิ่งใหญ่” ที่ต้องการปกปักเกียรติยศจอมปลอมของตัวเอง ไปๆ มาๆ ศักดิ์ศรีกลับกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งรักษาเท่าไหร่ ก็ยิ่งสูญเสียไปง่ายดายเท่านั้น

ถ้า Tempest Tost พูดถึงคณะละครท้องถิ่น Leaven of Malice ก็เกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ริดลีย์ หนึ่งในตัวเอกของนิยายเป็นบรรณาธิการใหญ่ของหนังสือพิมพ์ซึ่งลงประกาศดังกล่าว เขาต้องทำสงครามกับผู้คนรอบข้าง ทั้งทางด้านกฎหมาย และสังคม เพื่อปกป้องหน้าที่การงานของตัวเอง และอิสรภาพของสื่อมวลชน มีหลายบทความใน Leaven of Malice ที่สะท้อนความคิดเรื่องสื่อได้เป็นอย่างดี

อ่านนิยายเรื่องนี้จบแล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่า นิยายแบบนี้สามารถมาเซ็ตในประเทศไทยได้ไหม ชนบทของไทยจะเป็นอย่างชนบทในแคนาดาได้หรือเปล่า ถ้าพูดถึงธรรมชาติของมนุษย์ ท้ายสุดความหยิ่งยะโสก็น่าจะเป็นพื้นฐานของทุกวัฒนธรรม ทุกภาษา ถ้าเรา และคนรอบข้างอาศัยอยู่ในสถานที่หนึ่งมาแทบทั้งชีวิต ต่อให้เป็นนางมี นายมา ไม่มีการศึกษา หรือเงินทอง แต่มันจะไม่เกิดศักดิ์ศรีในตัวเองบ้างหรืออย่างไร แล้วทำไมนักวรรณกรรมชนบทในเมืองไทยถึงชอบวาดภาพคนชนบทออกมาซื่อ โง่ จน เจ็บ จำยอมตกเป็นเหยื่อของคนฉลาด คนเมืองหลวง หรือนักการเมืองร่ำไป

เขียนกันแต่นิยายแบบนี้นี่ไม่ยุติธรรมกับทั้งชาวชนบท และชาวกรุงหรอกนะ...จะบอกให้...

"ธ์ส"


อยู่ฮัมบูรก์มาจะสองอาทิตย์แล้ว เพิ่งรู้สึกคิดถึงบ้าน และ lost in translation หนักๆ เอาก็วันนี้แหละ เหตุเกิดมาจากนั่งรถไฟใต้ดินผ่านสถานีหนึ่ง มีป้ายโฆษณาโรงเรียนสอนภาษาเอเชีย ซึ่งสอนตั้งแต่ญี่ปุ่น จีน เกาหลี มาเลย์ อินเดีย รวมไปถึงภาษาไทย ซึ่งคนเยอรมันเรียกว่า “Thailandisch” ป้ายโฆษณาเป็นรูปผู้หญิงเอเชียยิ้มแย้มแจ่มใส มีตัวอักษรภาษาเอเชียต่างๆ เขียนทับบนป้าย แลดูเสร่อตา เราเห็นตัวจีนที่แปลว่า “ไม้” และตัว “มุ” ในภาษาญี่ปุ่น

ด้วยความเคยชิน และกระหายอะไรที่คุ้นเคย ขณะที่กำลังกวาดสายตาหาอักษรไทย เราก็ไปสะดุดเอาคำนี้

“ธ์ส”

ความคิดแรกที่ผุดในสมองเราคือ “นี่มันเหี้ยอะไรเนี่ย” ธ์ส!!!!!!!!???????? อักษรไทยมีตั้งสี่สิบสี่ตัว จะหาตัวเดี่ยวๆ เท่ห์ๆ สักตัวมาใส่บนป้ายไม่ได้หรือไง ต่อให้ต้องผสมเป็นคำ เอาเป็นคำที่มันมีความหมายไม่ได้หรือไง หรือถ้าจะมั่วขึ้นมาจริงๆ อย่างน้อยเอาที่มันอ่านหน่อยได้ไหมวะ ธ์ส!!!!!????? ไม่รู้จะอ่านออกเสียงยังไงดี สอ ซึ ทด ทอส หรือ ทอส์ ที่สำคัญ ตกลงไอ้โรงเรียนสอนภาษาตะบักตะบวยอะไรนี่มันสามารถสอนภาษาไทยได้จริงหรือเปล่า ไม์ไช์ส์อนออ์กมาแล์วนัก์เรีย์นเข์ยนภาษาไท์ยแบบ์น์ห์มดน์ะมึง์!!!!!

ธ์ส….ทั้งขำก็ขำ ทั้งคิดถึงบ้านก็คิดถึงบ้าน

R. Davies's "Tempest Tost"


หลังจากฟัดกับจอยซ์มาเกือบสองสัปดาห์เต็ม มีความสุขจังเลยที่ได้อ่านอะไรที่เราคุ้นเคยอย่าง Tempest Tost นิยายเล่มสุดท้ายของเดวีส์ที่เราอ่านคือ The Rebel Angels ซึ่งเป็นเล่มแรกในไตรภาคคอร์นิช ต้องบอกก่อนว่า Tempest Tost ไม่ได้อยู่ในไตรภาคคอร์นิช แต่เป็นเล่มแรกของอีกไตรภาคหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวพันกับเมืองชนบทในประเทศแคนาดา ชื่อซัลเตอร์ตัน

ถ้าเทียบกับ The Rebel Angels หรือ Fifth Business ซึ่งเป็นเล่มแรกในไตรภาคเดปฟอร์ด Tempest Tost เป็นนิยายที่เบาโหวงกว่ามาก ไม่มีตัวละครตัวไหนตาย หรือเสียสติ (แค่เกือบ)ไม่มีเวทมนต์คาถา (นัก) เป็นเรื่องเบาๆ ของนักแสดงละครมือสมัครเล่นในเมืองซัลเตอร์ตันที่ดัดแปลงบทละครอมตะของเชคสเปียร์ The Tempest มาเป็นละครกลางแจ้ง เรื่องส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวพันกับการตกหลุมรัก และปีนหลุมรักในคณะละครเล็กๆ นี้

ก็สมชื่อนิยาย และบทละคร นี่คือเรื่องราวของความรัก ความรักประเภทต่างๆ โดยมีผู้ชายสามคนแย่งผู้หญิงคนเดียวกัน ทั้งสามได้แก่ซอลลี ลูกแหง่ที่ต้องคอยดูแลแม่จอมบงการ โรเจอร์ ทหารหนุ่มเจ้าชู้ ผู้ผ่านสตรีมามากมาย และเฮกเตอร์ อาจารย์คณิตศาสตร์อายุสี่สิบกว่าแล้ว แต่เพิ่งจะเคยถูกความรักโจมตีหนักๆ ก็หนนี้เป็นครั้งแรก ผู้หญิงที่ทั้งสามหมายปองคือกริซเซลดา ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว ก็ไม่ได้วิเศษวิโสอะไรเลย ประเด็นหนึ่งซึ่งเดวีส์เหมือนต้องการจะบอกคนอ่านก็คือ บางทีความรักมันไม่ได้ขึ้นกับวัตถุที่เรารักหรอก ดังนั้นจึงเป็นสิ่งง่ายมากๆ ที่ใครจะหลอกตัวเองว่าเรากำลังหลงรักใคร

เฮกเตอร์เหมือนจะเป็นตัวละครที่โดน “สั่งสอน” หนักสุดในเล่ม พระเจ้าของเฮกเตอร์คือ “สามัญสำนึก” เขาเป็นผู้ชายที่ใช้สามัญสำนึก เพื่อต่อสู้ ให้ได้มาซึ่งหลายอย่างในชีวิต แต่แน่นอนว่าในโลกเวทมนต์คาถาของเดวีส์ สามัญสำนึกคือสิ่งแรกที่จะต้องโยนทิ้ง ท้ายสุดแล้วคนอ่านอย่างเราก็อดสงสารเขาไม่ได้

นอกจากตัวละครสี่ตัวที่กล่าวมา ยังมีความรักแบบอื่นๆ อีก รวมไปถึงความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกด้วย ซึ่งเล่นบทบาทสำคัญในนิยาย มีตัวละครไม่น้อยเลยที่อยู่ในสภาพ "พ่อแม่รังแกฉัน"

เดวีส์เขียนนิยายเล่มนี้ได้อย่างรุ่มรวยอารมณ์ขัน เขาต้องการจิกกัดวัฒนธรรมชนบทของแคนาดา ที่ทุกคนต่างเทิดทูนบูชาเปลือกนอก คนที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไรนัก พออยู่ในเมืองเล็กๆ แห่งนี้ กลับกลายเป็นมหาเศรษฐี และต้องปฏิบัติตัวตามความคาดหวังของสังคม เช่นเดียวกัน ศาสตราจารย์บ้านนอก ซึ่งอาจไม่ได้ชาญฉลาดอะไรนัก พอมาอยู่เมืองแห่งนี้ ก็สามารถอวดรู้อวดฉลาดได้ ผู้คนต่างภาคภูมิใจ และถือดีไปกับความต้อยต่ำของตัวเอง แต่นี่กระมังคือเสน่ห์ที่ทำให้คนอ่านอดหลงรักพวกเขาไม่ได้

"ผมก็ไม่รู้จักเธอเหมือนกัน ที่แห่งนี้ เราต่างเป็นคนแปลกหน้า"


วันนี้ไปชมงานแสดงภาพวาดระบายสีของเอดเวิร์ด ฮอปเปอร์มาครับ ตลกใจอยู่เหมือนกันที่ฮอปเปอร์เป็นศิลปินชาวอเมริกันแท้ๆ แต่เราต้องมาชมงานเขาถึงที่ฮัมบูรก์ ล่าสุดถ้าใครได้ดูการ์ตูนเรื่อง Bolt งาน art direction ในการ์ตูนเรื่องนั้นก็ได้อิทธิพลจากภาพวาดของฮอปเปอร์นี่เอง

เรารู้จักงานของฮอปเปอร์ครั้งแรกจากละครเวทีเรื่อง Nighthawk ซึ่งสร้างมาจากภาพวาดที่โด่งดังสุดของเขา เป็นละครที่ล้มเหลวตั้งแต่วินาทีแรกที่เริ่มเล่นกันเลยทีเดียว ถามว่าทำไมถึงล้มเหลว ลองพิจารณารูปที่เรายกตัวอย่างมาข้างบน มองมันนานๆ มองให้เห็นถึงความสวยงาม และความเปลี่ยวเหงา แล้วจินตนาการดูว่า เกิดสามคนที่อยู่ในรูปนี้เป็นนักแสดงบทเวที และสิ่งแรกที่แม่สาวผมทองทำคือวางหนังสือลง เดินไปจิ๊จ๊ะๆ กับหญิงวัยกลางในชุดสีแดง จบ จบทันที

เราขอจำกัดนิยามภาพวาดของฮอปเปอร์ว่าเป็น "ผลงานของคนแปลกหน้า" ผู้คนที่ปรากฎในภาพต่างเป็นคนแปลกหน้าซึ่งกันและกัน เสน่ห์ของผลงานจึงอยู่ตรง ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลให้ต้องมาใช้เวลานั่งเบื่อในห้องลอบบี้ของโรงแรม ถ้าเกิดว่าทั้งสามรู้จักกัน ความแปลกหน้าก็ถูกทำลาย และเสน่ห์ของภาพก็หายไปเท่านั้น


ฮอปเปอร์เป็นศิลปินอเมริกันซึ่งโด่งดังในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ยุคเดียวกับที่อาเธอร์ มิลเลอร์ เขียน Death of the Saleman เป็นยุคที่ความฝันแบบอเมริกันมาได้ด้วยการเดินทาง ข้างบนนี่คือภาพวาดตัวเองของฮอปเปอร์ที่เราชอบมาก ไม่ว่าจะเป็นสีหน้า การแต่งตัว หรือฉากหลัง บ่งบอกให้รู้ว่าคนคนนี้กำลังจะไปที่ไหนสักแห่ง น่าจะเป็นการเดินทางไกลด้วย และนี่เป็นการมองมาทางพวกเราครั้งสุดท้าย ในชีวิตจริง ฮอปเปอร์เดินทางไปทั่วประเทศอเมริกาเพื่อสำรวจ หาสถานที่ใหม่ๆ มาบรรจุลงผืนผ้าใบ (และเพราะมี "การเดินทาง" เป็นธีมนี่ละมั้ง เขาถึงเหมาะเป็นแรงบันดาลใจให้ Bolt เรื่องของน้องหมาที่ถูกแยกจากเจ้าของ)

ภาพวาดของฮอปเปอร์จึงเต็มไปด้วยความรู้สึกแปลกหน้า และแปลกถิ่น ไม่ว่าจะเป็นระหว่างตัวศิลปินเอง กับสิ่งที่เขาวาด หรือกับผู้ชมที่มองภาพ ในภาพวาดทั่วไป ผู้ชมรู้สึกได้ถึงสายสัมพันธ์ระหว่างตัวศิลปิน และผู้ถูกวาด ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีแหละ เพราะภาพวาดไม่ใช่ภาพถ่ายที่กดฉับๆ แล้วจะมีรูปออกมาได้ บางทีก็ต้องยืนโพส นั่งโพส หรือแก้ผ้ากันเป็นวัน สิ่งเหล่านี้ไม่ปรากฎในผืนผ้าใบของฮอปเปอร์


ภาพข้างบนคือที่เราชอบสุดของวันนี้ สังเกตว่าตัวผู้หญิงเสื้อแดงไม่แม้แต่ออกมายืนบนระเบียง เธอหลบอยู่หลังประตู เหมือนจะบอกว่า เธอเองก็ไม่ไว้วางใจศิลปิน ซึ่งน่าจะเป็นคนแปลกหน้าที่ผ่านเข้ามาชั่ววูบ ทุ่งหญ้าลู่ลมไหวสีเหลืองจางๆ ที่อยู่เบื้องหลัง ชักชวนให้เรารู้สึกเหมือนนกไร้รังที่ต้องย่ำเท้าต่อไปเรื่อยๆ ตามถนนไม่มีสิ้นสุด

รูปเหงาๆ ของฮอปเปอร์เหมาะกับคนไกลบ้านอย่างเรามากๆ แต่ขณะเดียวกัน ระหว่างที่ชมก็รู้สึกอุ่นใจบางอย่าง เหมือนมีมือใหญ่ๆ มาตบบนบ่า พอหันไปมอง ฮอปเปอร์ยิ้มให้เราแล้วพูดว่า "I don't know her either. We're both strangers here."

J. Joyce's "Ulysses"


ถ้าเชื่อตามที่ซาร์ตบอก ความแตกต่างระหว่างงานเขียนประเภทร้อยแก้ว และร้อยกรองคือ ร้อยแก้วเป็นศิลปะที่สร้างมาจากคำ และร้อยกรองคือศิลปะที่สร้างมาจากความ แต่ก็มีงานเขียนอีกประเภทที่ไม่ได้สร้างมาจากทั้งคำ และความ นั่นคืองานเขียนแนวทดลอง งานเขียนแนวทดลอง ในความเห็นเรา คือศิลปะที่สร้างมาจากสไตล์ สไตล์คือวิธีนำเสนอ หรือรูปแบบการเขียนที่คนอ่านมักไปจับคู่กับสานส์ชนิดต่างๆ ในแง่หนึ่งก็เหมือนการโกงไพ่ หรือเล่นมายากล งานเขียนที่เล่นกับสไตล์จะอิงความคาดหวังของผู้อ่าน ผู้เขียนได้ตรึกตรองว่าคนอ่านคาดหวังอะไรจากสไตล์ หรือชุดความหนึ่งๆ แล้วเล่นกับความคาดหวังตรงนี้

ฉากหนึ่งซึ่งเราชอบมากใน Ulysses โคตรนิยายของเจม จอยซ์คือ ตอนที่ผู้เขียนเล่าเรื่องผ่านสายตาตัวประกอบสาว เกอตี้ ขณะที่หนังสือทั้งเล่มใช้ภาษาอ่านยาก ประโยคแตก ความไม่ครบถ้วน นี่คือช่วงที่อ่านเข้าใจรู้เรื่องสุด เกอตี้รู้สึกถึงสายตาของลีโอโพล บลูม ชายหนุ่มแปลกหน้า ตัวเอกของนิยาย ที่เฝ้ามองเธอ เธอรู้ว่าตัวเองเป็นคนสวย และขณะที่ถูกเฝ้ามอง เธอก็แอบส่งสายตาหยอกล้อชายหนุ่มไปด้วย ทันทีที่นิยายโยนกลับไปหามุมมองของบลูม พร้อมกับพลุบนฟ้าระเบิดเป้งป้าง ภาษาเปลี่ยนมาแตกกระจายอีกครั้ง และเราก็ได้รับรู้ข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับเกอตี้ ซึ่งมีแต่คนนอกเท่านั้นจะสังเกตเข้ามาได้ ฉากนี้เป็นฉากที่เจ๋งมาก เป็นการทดลองทางภาษา ที่เล่นกับความคาดหวังของคนอ่านได้อย่างอยู่หมัด

ตัวเอกหลักของ Ulysses คือลีโอโพล บลูม เป็นชาวยิวที่อาศัยอยู่ในไอร์แลนด์ บลูมเป็นผู้ชายมากปัญหานารี มีภรรยา และมีลูกสาวแล้ว แต่ก็ยังเจ้าชู้ ออกไปหาบ้านเล็กบ้านน้อย และสุดท้ายก็(เหมือนจะ) ถูกภรรยานอกใจ (ต้องใส่ เหมือนจะ ในวงเล็บ เพราะไม่แน่ใจว่าฉากดังกล่าวเป็นจินตนาการของเจ้าตัวเองหรือเปล่า) โคตรนิยายเล่มนี้ยาว 700 หน้า แต่เอาเข้าจริง ก็เหมือนเหตุการณ์ทั้งหมดจะเกิดขึ้นแค่ภายในวันเดียว ตั้งแต่บลูมเดินออกจากบ้านตอนเช้า พบกับสตีเฟน เดดาลัส ตัวเอกของ The Portrait of Artist as a Young Man และตัวละครเด่นอีกตัวในเรื่อง ก่อนจะกลับบ้านไปพบกับภรรยา

Ulysses แบ่งย่อยเป็นทั้งหมด 18 บท แต่ละบทก็มีการทดลองกับสไตล์ที่แตกต่างกัน อย่างเบสิคสุดก็คือเล่าเรื่องผ่านสายตาตัวประกอบหลายๆ ตัวที่เดินผ่านไปมา อีกบทหนึ่งเขียนเป็นละคร อีกบทเขียนเป็นถามตอบปัญหา อีกบทเขียนเป็นประโยคยาวๆ โดยไม่ใช้เครื่องหมายฟุลสตอป หรือคอมมาร์เลย ส่วนบางบทก็เขียนหอกอะไร อ่านไม่รู้เรื่อง ถ้าเปิดวิกิพีเดีย จะพบว่าแต่ละบทตั้งชื่อตามการผจญภัยของยูลิซิส ในมหากาพย์ของโฮเมอร์ คนอ่านจะสัมผัสได้ถึงอิทธิพลของวรรณกรรม และวัฒนธรรมคลาสสิค กรีก โรมัน ส่วนการเดินทางของบลูมจากบ้าน และกลับไปหาภรรยา ก็คล้ายๆ กับการเดินทางของยูลิซิส

บทที่เราชอบสุดคือ Circe เป็นบทที่ยาวสุด 200 หน้า แต่นั่นก็เพราะเขียนเป็นบทละคร เวลาก็ใช้เวลาไม่นาน ใน This Side of Paradise ฟิทเจอร์ราล์ดก็ทดลองเอาบทละครมาใช้เล่าเรื่องเหมือนกัน แต่ไม่สุดขีดเหมือนจอยซ์ Circe ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นบทละครด้วยซ้ำ เพราะมันไม่สามารถจับมาสร้างบทเวทีได้ ตัวละครผลุบๆ โผล่ๆ ฉากก็เปลี่ยนแปลงไปมาไม่แน่ไม่นอน ตัวละครเดี๋ยวก็สลับเพศชายหญิง มีตัวละครเพี้ยนๆ พวกนามธรรมออกมาเต็มไปหมด ขณะเดียวกัน การที่มันถูกเล่าในลักษณะบทละคร จึงเกิดบรรยากาศสมจริง หรือพยายามสมจริง บท Circe จึงออกมาย่ำกลางระหว่างมายา และสัจนิยมได้อย่างน่าสนใจ

พูดถึงการเมืองในนิยายเล่มนี้หน่อยก็แล้ว ไอร์แลนด์เป็นประเทศที่น่าสนใจมาก ก่อนอื่นเลย นี่ไม่ใช่ประเทศที่เจริญ หรือพัฒนาแล้ว เนื่องจากมันอยู่ติดอังกฤษ และตั้งแต่อดีต ประเทศอังกฤษก็เอารัดเอาเปรียบไอร์แลนด์อยู่เสมอ คนไอริชมีภาษาของตัวเอง แต่ไม่มีใครพูดกัน เดี๋ยวนี้ก็ใช้แต่ภาษาอังกฤษ ประเทศนี้เคยประสบปัญหาความอดอยากแร้นแค้น เนื่องจากอาหาร พืชพันธุ์ถูกส่งออกไปเลี้ยงประเทศอังกฤษเสียหมด ปมหนึ่งของชาวไอริชซึ่งจอยซ์สื่อออกมาได้ดีมากๆ ใน Ulysses คือความขัดแย้งระหว่างชาตินิยมไอร์แลนด์ และความนิยมมหาอำนาจที่เจริญกว่าอย่างอังกฤษ เช่นเชคสเปียร์เป็นหนึ่งในกวีที่ชาวไอริชศึกษา และรู้สึกภาคภูมิใจ แต่ขณะเดียวกันเชคสเปียร์ก็เป็นมหากวีของอังกฤษ ประเทศที่กดขี่ข่มเห่งไอร์แลนด์ตลอดมา มีความพยายามจะปลุกผีภาษาประจำชาติ แต่ขณะเดียวกัน ภาษาที่สมัยนี้ไม่มีใครพูดกันแล้ว จะปลุกขึ้นมาทำซากอะไร พวกนักคิดชาวไอริชพยายามสร้างทฤษฎีวรรณกรรม เศรษฐศาสตร์ การเมืองนานา แต่เอาเข้าจริงก็เหลวเป๋ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบการศึกษาไม่ได้เอื้อให้เกิดปราชญ์แบบประเทศอังกฤษ

หลายจุดตรงนี้คล้ายคลึงกับเมืองไทย ตั้งแต่เปิดประเทศ เปิดวัฒนธรรมกับชาติตะวันตกมาจะสอง สามร้อยปีแล้ว ประเทศเราก็ยังปลงไม่ตกว่าเราจะยอมรับความเจริญก้าวหน้าของตะวันตกสักแค่ไหน โดยไม่ "เสียหน้า" ไม่ขัดกับความรู้สึกชาตินิยมที่เราอยากๆ ปลูกฝังกัน คนไทยก็เลยออกมาทวิมาตรฐานตลกๆ เช่น ว่า ถ้าเราทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่ให้ฝรั่งยอมรับได้ จะปลื้มไปเจ็ดวัน เจ็ดคืน แต่เวลาฝรั่งเตือนอะไรเรามา จะชอบทำปิดหู ไม่ฟังเขาท่าเดียว

กลับมาเรื่องงานเขียนแนวทดลอง พักหนึ่งก็เหมือนคนไทยเราจะฮิตๆ กัน แต่เดี๋ยวนี้ก็ซาไปมากแล้ว น่าเสียดายเหมือนกัน งานเขียนแนวทดลอง ก็เหมือนคำว่า "post-modern" มันมีลึกซึ้งกว่าแค่ "แฟชั่น" แต่คนไทยดันไปรับมันเข้ามาเหมือนเป็นเสื้อสายเดี่ยว หรือชาไข่มุก ก็หวังว่า งานเขียนอย่าง Ulysses ในประเทศเราจะค่อยๆ หยั่งรากมันลงไปอย่างมั่นใจ สุดท้ายแล้วน่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรๆ ในแวดวงวรรณกรรมได้