J. Fowles's "The French Lieutenant's Woman"
ตอนที่วิจารณ์ Wild Sargasso Sea ได้พูดไปแล้วว่าเราไม่ใช่แฟนของวรรณกรรมคลาสสิค กี่เล่มๆ ที่เคยอ่านก็แทบจะนับนิ้วได้ และส่วนใหญ่ อ่านเพราะถูกบังคับในวิชาเรียน กระนั้นถ้าถามว่าเกลียด หรือต่อต้านไหม ก็คงไม่ใช่อีกนั่นแหละ เพราะพอฝืนใจหยิบมันขึ้นมาอ่านทีไร ก็มักจบลงด้วยความรู้สึกชื่นชมเสียด้วยซ้ำ
ดังนั้นความไม่ชอบวรรณกรรมศตวรรษที่ 19 น่าจะมาจากบรรยากาศ หรือกลิ่นบางอย่างที่มันช่างไม่ดึงดูดเราเอาเสียเลย
The French Lieutenant's Woman เหมือนแขกบางคนในงานเลี้ยงที่กลิ่นตัวสุดจะทนทาน แต่กลับแต่งตัวด้วยเสื้อผ้า หน้า ผมที่ต้องตาต้องใจเราเหลือเกิน นิยายเล่มนี้คือวรรณกรรมศตวรรษที่ 19 ซึ่งถูกเขียนและตีพิมพ์ในปี 1969 ผู้หญิงของทหารฝรั่งเศสในชื่อเรื่องคือซาราห์ ในอดีตเธอหลงรักทหารฝรั่งเศสที่มาเรือแตกบนชายฝั่งประเทศอังกฤษช่วงสมัยวิคตอเรียน ซาราห์หนีตามผู้ชายคนนั้น ก่อนถูกทิ้งอย่างไม่ใยดี ความปวดร้าวในหนนั้นทำให้หญิงสาวเป็นโรคซึมเศร้า เธอมาเป็นคนรับใช้ในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งชื่อว่าไลม์ หลายคนในเมืองรังเกียจเธอเพราะบาปในอดีต เจ้านายของเธอเองก็เป็นแม่ม่ายจอมเผด็จการ คลั่งศาสนา แต่พยายามทุกวิถีทางเพื่อจะเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น พระเอกของเรื่องคือชาร์ลส์ ขุนนางนักชีววิทยา ผู้หมั้นหมายกับเออเนสตินา ลูกสาวพ่อค้ามหาเศรษฐี ทั้งคู่มาพักตากอากาศที่เมืองไลม์ ได้เจอกับ "โศกนาฏกรรม" อันเป็นชื่อเล่นที่ชาวเมืองใช้เรียกซาราห์
ขนาดเล่ามาแค่นี้ ยังได้กลิ่นวรรณกรรมวิคตอเรียนโชยหึ่งเลย จุดหนึ่งที่เราไม่ชอบในนิยายจำพวกนี้คือเนื้อเรื่องที่คาดเดาได้ง่าย จนอ่านแค่เรื่องย่อ ก็บอกได้เลยว่ามันจะจบอย่างไร
แต่ความมหัศจรรย์ของนิยายเล่มนี้คือ น้ำเสียงที่ใช้เล่าเรื่องในศตวรรษที่ 19 กลับเป็นน้ำเสียงที่ทันสมัย แบบศตวรรษที่ 20 ล้วนๆ ฟาวเลสงัดเทคนิควรรณกรรมแบบหลังสมัยใหม่ ตั้งแต่การแทรก "ผม" ตัวตนของคนเขียนเข้าไปในนิยาย การหยุดดำเนินเนื้อเรื่อง เพื่อมาวิเคราะห์เชิงปรัชญา และจิตวิทยา (ชอบมากเวลาฟาวเลสพูดว่าคนปัจจุบันเช่นเราไม่อาจเข้าใจการกระทำของตัวละครด้วยความแตกต่างของยุคสมัย ซึ่งจำได้ว่าคำพูดลักษณะนี้แหละที่ได้ยินบ่อยๆ ระหว่างวิเคราะห์ถกวรรณกรรมคลาสสิคกับเพื่อน กับอาจารย์ในชั้นเรียน) การเตือนผู้อ่านว่านี่คือนิยายไม่ใช่เรื่องจริง การใส่ตัวเองเข้าไปในนิยาย (ฉากที่โดดเด่นสุดคือการพบกันระหว่างชาร์ลส์และฟาวเลสบนรถไฟ) กระทั่งการแต่งตอนจบขึ้นมาสองแบบ
โดยเนื้อแท้แล้ว ฟาวเลสรักษาขนบวรรณกรรมศตวรรษที่ 19 ได้เป็นอย่างดี แก่นแท้ของ The French Lieutenant's Woman คือข้อขัดแย้งระหว่างหัวใจ และสมอง (sense and sensibility) ซึ่งใครจะตีความอย่างไร ขึ้นกับเชื่อว่าตอบจบแบบไหนของนิยายที่เป็นตอนจบ "จริงๆ " (ไม่ต้องพูดว่าอะไรคือ "จริงๆ " ในเรื่อง "ปลอมๆ " อย่างนิยายกันแน่) ส่วนตัวเราชอบตอบจบแบบที่สองมากกว่า บทเรียนที่เราเลือกจะสรุปจากนิยายเล่มนี้คือ ความสุขเป็นหน้าที่ส่วนบุคคล และมนุษย์เราไม่มีหน้าที่ต้องไปรับผิดชอบความสุขของใคร หรือมีสิทธิเรียกร้องมันจากใคร
สั้นๆ ก็คือ "สมองเหนือหัวใจ" ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ไม่วิคตอเรียนเอาเสียเลย
ระหว่างเล่มนี้กับ Wild Sargasso Sea มีส่วนคล้ายคลึงกันไม่น้อย เราชอบมันทั้งคู่ แต่ขณะที่ Wild Sargasso Sea ทำให้เราอยากอ่าน Jane Eyre ในทางตรงกันข้าม The French Lieutenant's Woman เตือนให้รู้ว่าทำไมเราถึงเลือกจะไม่อ่านวรรณกรรมคลาสสิค
เพราะเราเองก็เป็นคนจากศตวรรษที่ 20 ซึ่งเสพติดน้ำเสียงแบบศตวรรษที่ 20 ไปเรียบร้อยแล้ว
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment