K. J. Arrow's "The Limits of Organization"


คำถามศูนย์กลางของ The Limits of Organization คือทำไมประชาชน พนักงาน หรือปัจเจคบุคคลต้องทำตามคำสั่ง หรือกฎเกณฑ์ขององค์อธิปัตย์ หรืออำนาจในสังคม บริษัท หรือหน่วยงานใดๆ ก็ตามที่ปัจเจคผู้นั้นเป็นส่วนหนึ่งด้วย The Limits of Organization ถอดความมาจากเลคเชอร์ของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เคนเนธ แอโรว์ จริงๆ แล้วต้นเล่มแอโรว์พูดถึงข้อดีข้อด้อยของกลไกตลาดด้วย แต่พักเรื่องนั้นไว้ก่อนชั่วคราวก็แล้วกัน

แอโรว์วิเคราะห์ความสัมพันธ์ในองค์กรโดยอ้างทฤษฎีข้อมูล อุปมาซึ่งเราชอบมาก และน่าจะนำไปสู่คำถามอื่นที่น่าขบคิดได้คือ แอผู้นำองค์กรเสมือนระบบสัญญาณไฟจราจร ไฟเขียวไฟแดงนั้นไม่ได้เปิดปิดกันมั่วๆ แต่มีหลักการซึ่งตอบสนองกับความหนาแน่นของเขตจราจร และสี่แยกต่างๆ ถ้าคนกรุงเทพทุกคนมีพลังจิตสื่อสารกันได้ เราก็ไม่ต้องใช้สัญญาณไฟจราจร เพราะนั่นเท่ากับคนกรุงเทพทุกคนรู้ว่าเขตการจราจรทุกเขตเป็นอย่างไร และตัดสินใจได้ว่าฉันควรจะขับรถไปข้างหน้า หรือหยุดรอตรงสี่แยกนี้อีกสักพักหนึ่ง แต่เนื่องจากคนกรุงเทพไม่มีพลังจิต ระบบการจราจรถึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ 1) รวบรวมข้อมูลการจราจรของทุกสี่แยกในกรุงเทพ และ 2) นำข้อมูลเหล่านั้นมาตัดสินใจผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

อีกนัยหนึ่งคือ ผู้นำ หรือองค์อธิปัตย์มีอำนาจการตัดสินใจแทนปัจเจคในองค์กรเนื่องจากเขา หรือพวกเขาทราบข้อมูลทุกอย่าง ทุกแง่มุม ซึ่งปัจเจคไม่ทราบนั่นเอง

การเข้าใจระบบการจราจรน่าจะช่วยให้เราเข้าใจพื้นฐานของระบบอื่นๆ ในสังคม ตั้งแต่เศรษฐกิจ ถึงการเมืองด้วย ยกตัวอย่างเช่น ศูนย์การจราจรคงไม่ได้เปิดไฟเขียวไฟแดงเพื่อให้ทุกเขตหนาแน่น หรือเบาบางเท่าๆ กันหมดแน่ ถ้ามีบุคคลสำคัญอยู่บนถนนสุขุมวิท แน่นอนว่าการจราจรบนถนนสุขุมวิทก็จะว่างขึ้นมาอย่างกะทันหัน หรือต่อให้ไม่มีใครอยู่ที่นั่น สุขุมวิท เพชรบุรี ราชดำเนิน ในฐานะที่เป็นถนนสายหลัก ก็ต้องได้รับความสำคัญเหนือถนนสายอื่น ถ้าสุขุมวิทติดบรรลัย สายอื่น สายเล็กสายน้อยก็จะติดตามไปด้วย ดังนั้นต้องระบายสุขุมวิทให้ได้ก่อน

อีกปัญหาที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เป็นปัญหาทางจิตวิทยา ทำไมคนกรุงเทพถึงได้เชื่อฟังสัญญาณไฟจราจรนัก แน่นอนว่าไม่ใช่เพราะเรากลัวตำรวจจราจร ทำไมคนกรุงเทพที่ชอบคิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าคนอื่นถึงไม่ขับรถฝ่าไฟแดง แสดงว่าต้องมีสัญลักษณ์ของอำนาจบางอย่างในสัญญาณไฟจราจร (อย่าอ้างว่าการจราจรเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะอย่างที่รู้ๆ กัน "เวลา" นั้นเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด สำคัญเสียยิ่งกว่าเงินทอง หรืออิสรเสรีภาพเสียอีก)

สำหรับคนกรุงเทพที่บ่นเรื่องรถติดกระปอดกระแปดมาตั้งแต่สิบยี่สิบปีที่แล้ว เรารู้อะไรเกี่ยวกับกับการจราจรน้อยมากๆ !

ชาติเสือไว้ลาย (พีรศักดิ์ ชัยได้สุข)


วู้! ในที่สุดเราก็ได้ดู องค์บาก 2 ต้องขอบคุณกระทรวงวัฒนธรรมที่เอาภาพยนตร์ไทยมาเผื่อแผ่ชาวแอลเอ แต่จะขอบคุณมากกว่านี้ถ้าเอาหนังดีๆ เรื่องอื่นมาฉายด้วย (ไม่ใช่...) องค์บาก 2 นั้นรู้ๆ กันอยู่ว่ากำกับโดยจา และจาก็ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่านอกจากจะอยู่เบื้องหน้าความสำเร็จของภาพยนตร์ เขายังสามารถอยู่เบื้องหลังได้ด้วย อย่างไรก็ตามผู้กำกับอีกคนของ องค์บาก 2 คือคุณพันนา ฤทธิ์ไกร ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังหนังไทยแอคชั่นที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งคือ คนไฟบิน

โดยผิวเผิน ทั้ง องค์บาก 2 และ คนไฟบิน ก็มีส่วนคล้ายคลึงกันอยู่ไม่น้อย ทั้งสองเรื่องมีฉากย้อนยุค (องค์บาก 2 ย้อนไปไกลกว่า) เกิดเหตุแถวๆ ภาคอีสาน และทั้งสองเรื่องนี้มีพระเอกเป็นโจร แต่เอาเข้าจริง คนไฟบิน เป็นหนังที่ผู้สร้างเปิดพงศาวดาร แล้วนำมาดัดแปลงเป็นเรื่องราวแฟนตาซีอย่างหลักแหลม ขณะที่ องค์บาก 2 ฉีกตำราประวัติศาสตร์กันซึ่งๆ หน้า (มีกษัตริย์ศรันยูมาเป็นต้นราชวงศ์ครุฑาเทวา วุ้ย! มาจากไหนเนี่ย) ยิ่งได้อ่าน ชาติเสือไว้ลาย ก็ยิ่งทึ่ง คนไฟบิน ภาพยนตร์แอคชั่น (ที่สมควรจะ) โง่ๆ กลับสะท้อนความซับซ้อนของสังคมสมัยก่อน ตั้งแต่สัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ (ขุนลีโอพุฒ) โจร ทั้งฝ่ายดี ฝ่ายร้าย และชาวบ้าน รวมไปถึงแง่มุมทางไสยศาสตร์ ความสำคัญของนายฮ้อย และควาย อันเป็นปัจจัยหลักทางเศรษฐกิจในสมัยโบราณ ล้ำเลิศ ล้ำเลิศ (ตบเข่าฉาด!)

จริงๆ หนังสือ ชาติเสือไว้ลาย ก็เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่ดีมากเช่นกัน อ่านสนุก ได้ความรู้ ถ้าจะมีติหน่อย ก็ตรงควรอัดภาพประกอบเยอะกว่านี้ อาจารย์พีรศักดิ์เล่าถึง "เสือ" หรือ "โจร" หรือ "นักเลง" ในอดีต และความสำคัญของบุคคลเหล่านี้ต่อโครงสร้างสังคม ก่อน และหลังปฏิรูปการปกครอง (ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงการปกครองนะ ปฏิรูปการปกครองหมายถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยรวบรวมหัวเมือง และแว่น แคว้นต่างๆ สร้างเป็นรัฐชาติ)

สาเหตุที่เราชอบหนังสือเล่มนี้นัก เพราะ ชาติเสือไว้ลาย วาดภาพสังคมไทยในช่วงปีพ.ศ. 2430-2450 ได้อย่างน่าสนใจ (ในยุคเดียวกันนี้บิสมาร์คกำลังแผ่อำนาจไปทั่วยุโรป พร้อมๆ กับอเมริกาเลียแผลจากสงครามกลางเมือง) สังคม(ชนบท)ไทยในสมัยนั้นเผื่อแผ่เกื้อกูลกัน ระหว่างชนชั้น แต่ก็ห่างไกลจากความสวยงามแบบอุดมคติที่นักคิดอนุรักษ์นิยมหลายคนชอบวาดภาพกัน ประเทศไทยสมัยก่อนมีกฎเกณฑ์กฎระเบียบที่ยุ่งยากไม่แพ้สมัยนี้ ยกตัวอย่างเช่นการจัดการดูแลควาย การโยกย้ายควายข้ามท้องถิ่นหรืออำเภอ ซึ่งถ้าเทียบกับสมัยนี้แล้ว การจัดการรถไถนาท่าจะง่ายกว่าเยอะ หรือความสัมพัมธ์ระหว่าง "อิทธิพล" (ซึ่งก็คือโจร) และ "รัฐ" (ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่) เราได้เห็นเมล็ดพันธุ์ของการคอรัปชั่น ซึ่งก็เติบโตมาจาก และอยู่ในสังคมไทยตั้งต้นตั้งแต่แรก ไม่ได้รับเอามาจากชาติตะวันตก หรือทุนนิยงนิยมที่ไหน

ชาติเสือไว้ลาย เป็นหนังสือที่ไม่อยากให้ใครพลาดจริงๆ อ่านจบแล้วอย่าลืมหา คนไฟบิน มาดูด้วยนะ

I. Murdoch's "The Italian Girl"


ว่ากันตามเนื้อผ้าแล้ว The Italian Girl อาจไม่ใช่นิยายที่ดีเด่นอะไรนัก แต่มีบางอย่างดึงดูดเรา และทำให้อ่านแล้วไม่ผิดหวัง (หลังจากอ่านนิยายของเมอดอชมายี่สิบกว่าเล่ม "ไม่ผิดหวัง" นี่ต้องถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างมหาศาล) บางอย่างที่ว่านี้คือความ "เล็กน้อยถ่อมตน" ของมัน The Italian Girl ยาวแค่ 210 หน้า ถ้าจำไม่ผิด นี่อาจเป็นนิยายที่สั้นสุดของเมอดอชที่เราเคยอ่านก็ได้ ภายในจำนวนหน้าบางๆ มันบรรจุความเป็นเมอดอชเข้าไปอย่างครบถ้วน เหมือนภาพวาดของมอนเดรียน ที่ไม่ขาดไม่เกิน กำลังพอดี

แน่นอนว่าเมื่อมันเป็นนิยายแบบเมอดอช ก็แสดงว่าหนีไม่พ้นเรื่องชู้สาวผิดศีลธรรม ออตโต เป็นช่างปั้นขี้เหล้า ซ้อมภรรยา และมีสัมพันธ์สวาทกับเอลซา หญิงสาวสติไม่ดี น้องสาวของเดวิด ผู้เป็นลูกศิษย์ของออตโต ขณะเดียวกันฟลอรา ลูกสาวของออตโตต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรดีกับเด็กในครรภ์ ภายหลังจากที่ลิเดีย แม่ของออตโตเสียชีวิต เอ็ดมุน น้องชายของออตโตเดินทางมาร่วมงานศพ เอ็ดมุนคนนี้แหละที่เป็น "ผม" หรือตัวเอก ผู้เล่าเรื่องในนิยาย อ๋อ...แล้วที่ขาดไม่ได้คือ "หญิงสาวชาวอิตาลี" หรือ มาเรีย คนรับใช้ และผู้ดูแลลิเดียในช่วงปั้นปลายชีวิต

ถึงโดยผิวเผิน The Italian Girl จะเป็นนิยายสูตรๆ ของเมอดอช แต่ตัวละครเอ็ดมุนช่วยให้นิยายเรื่องนี้มีเอกลักษณ์ขึ้นมา The Italian Girl เริ่มเรื่องด้วยเอ็ดมุน มาถึงบ้านของออตโตกลางดึก เราไม่รู้อะไรทั้งนั้น ไม่รู้ว่า "ผม" คือใคร บ้านหลังนี้คือบ้านของใคร ตั้งอยู่ที่ไหน ตั้งแต่ต้นจนจบนิยาย เอ็ดมุนคือบุรุษปริศนา ปราศจากที่มาที่ไป เราพอรู้คร่าวๆ ว่าเขาเป็นนักลงรัก อาศัยอยู่คนเดียว ไม่มีเพื่อนสาว หรือเพื่อนชาย ชีวิตของเอ็ดมุนตรงข้ามกับความยุ่งเหยิงในครอบครัวของออตโตอย่างสิ้นเชิง เอ็ดมุนเหมือนกับคนแปลกหน้าที่จู่ๆ ก็เดินเข้ามาในนิยายของเมอดอช ต้องมาเป็นสักขีพยานในละครน้ำเน่าของพี่ชาย พี่สะใภ้ และหลานสาว

ถ้าจะตินิยายเล่มนี้ก็คือตอนจบที่ลากยาวเกิน แต่จะมองว่านั่นเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเมอดอชก็ได้ ปัญหาอื่นๆ เช่นอาการเอะอะโวยวายชนิดละครกันตนายังอาย (ใน The Italian Girl มีกระทั่งโมทีฟมรดกลึกลับ) และขนบที่ว่าต่อให้สัมพันธ์ระหว่างตัวละครพันตูยุ่งเหยิงแค่ไหน เมื่อได้มีการระเบิดอารมณ์ มีอุบัติเหตุ และโศกนาฏกรรม คนที่รอดชีวิตมาได้จะพบหนทางสว่างในการแก้ปัญหา ถ้านิยายเล่มนี้มีแต่เรื่องของครอบครัวออตโต มันก็คงเป็นนิยายสูตรๆ ของเมอดอช แต่เมื่อถูกเล่าผ่านสายตา "คนแปลกหน้า" มันกลายเป็นนิยายที่มีชั้นเชิงขึ้นมาในทันที

ถ้าแบ่งนิยายของเมอดอชเป็นสองประเภทคร่าวๆ คือ ที่เกิดในเมือง และเกิดในชนบท The Italian Girl จัดอยู่ในประเภทหลัง แต่มันต่างจากนิยายชนบทเล่มๆ อื่นของเมอดอชคือ ไม่ได้มีการเน้นฉากนัก ทั่วไปแล้วนิยายชนบทของเมอดอชจะเล่นกับเวทมนต์คาถาในธรรมชาติ โดยเฉพาะ The Unicorn ซึ่งเป็นเล่มก่อนหน้า The Italian Girl ด้วยซ้ำ แต่ในสองร้อยหน้าสั้นๆ ของ The Italian Girl มีการบรรยายฉากน้อยมาก ซึ่งเราชอบ

ด้วยเหตุนี้เราจึงอยากเรียกมันว่านิยาย "เล็กน้อยถ่อมตน" สั้นๆ เล็กๆ กำลังพอดี นี่คือนิยายที่เรานึกภาพตัวเองเขียนได้เลย ใครจะไปรู้ บางทีมันอาจจะกลายเป็นหนังสือที่มีบทบาทกับอนาคตอันใกล้นี้ก็ได้

R. Williams's "Marxism and Literature"


ชายคนหนึ่งอาศัยอยู่ในห้อง เราแบ่งส่วนประกอบต่างๆ ของห้องได้เป็นสองประเภทใหญ่คือ สิ่งจำเป็นต่อการอยู่อาศัย เช่นพื้นห้อง ผนัง เก้าอี้ เครื่องครัว ตู้เย็น และสิ่งที่มีไว้เพื่อความสบายใจ สบายตา เช่นหน้าต่าง ทีวี หลังคา กระถางต้นไม้ โซฟา และเตาไมโครเวฟ เราขอเรียกประเภทแรกว่า "พื้นฐาน" และประเภทหลังว่า "อุดมคติ" แล้วกัน พื้นฐานของห้องคือสิ่งที่มาพร้อมกับห้อง ตั้งแต่วันแรกที่ชายคนนี้ย้ายเข้ามาอยู่ ส่วนอุดมคติคือสิ่งที่เขาหาซื้อมาประดับเพิ่มเติม ตามรสนิยม และความสนใจ

พื้นฐานของห้องกำหนดความเป็นอยู่ของเขา รวมไปถึงวิถีชีวิต และหน้าที่การงาน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ย่อมนำไปสู่รายได้ กำลังซื้อ เพื่อนฝูง และรสนิยม ซึ่งส่งผลต่อไปว่าอุดมคติประเภทไหนที่เขาหาซื้อมาประดับห้อง ในทางกลับกัน การที่ชายคนนั้นถูกรายล้อมด้วยอุดมคติทุกวันๆ ย่อมส่งผลสะท้อนกลับไปยังวิถีชีวิต เช่นถ้าเขาเห็นกระถางต้นไม้บ่อยๆ เข้า อาจเกิดความต้องการจะเปิดร้านขายดอกไม้ และในบางกรณี อาจสุดโต่งกระทั่งว่าทุบผนัง (อันเป็นพื้นฐาน) เพื่อจะได้มองเห็นสวน

ถ้าเปลี่ยนห้องเป็นสังคม และชายคนนั้น เป็นคนหลายๆ คน เราก็จะได้โครงสร้างสังคมตามปรัชญามาร์กซิส ซึ่งมองว่าสังคมคือความสัมพันธ์ระหว่างผู้อยู่อาศัย พื้นฐาน และอุดมคติ ถึงโดยส่วนใหญ่แล้วพื้นฐาน (ได้แก่สภาพเศรษฐกิจ การเมือง รวมไปถึงภูมิศาสตร์) กำหนดความเป็นอยู่ของผู้คน ซึ่งจะทำให้พวกเขาร่วมกันสร้างอุดมคติขึ้นมา (ได้แก่ศิลปะ ศาสนา วัฒนธรรม) ในบางครั้งอุดมคติก็สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และถึงขั้นพลิกพื้นฐานสังคมได้เลยทีเดียว (กรณีนั้นเรียกว่าการปฏิวัติสังคม)

อัลทัสเซอร์ นักปรัชญามาร์กซิสเชื่อว่ารัฐจะพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อควบคุม และใช้อุดมคติเป็นเครื่องมือ สำหรับอัลทัสเซอร์ สังคมแบบทุนนิยม ก็จะมีวัฒนธรรมแบบทุนนิยม สังคมแบบสังคมนิยม ก็จะมีวัฒนธรรมแบบสังคมนิยม ทั้งเรา และวิลเลียมส์ไม่เห็นด้วยกับอัลทัสเซอร์

ในบทความหนึ่งของ Turning Back the Clock อีโคพูดว่า ถ้าใครศึกษาวรรณกรรม นิตยสาร หรือบทความที่ถูกตีพิมพ์ในอิตาลีช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จะต้องเข้าใจแน่ๆ ว่าอิตาลีเป็นรัฐสังคมนิยม ทั้งที่จริงๆ แล้ว รัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลคาทอลิก ช่วงแปดปีประธานาธิบดีบุช ก็ไม่ค่อยจะเคยเห็นสังคมอเมริกาผลิตอุดมคติซึ่งสนองลัทธิอนุรักษ์นิยม ส่วนใหญ่จะตรงข้ามกันเสียมากกว่า หรือในประเทศไทยเอง ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม กลับมีหนังสือ และนิยายเพื่อชีวิตเกลื่อนตลาด

ใน Marxism and Literature วิลเลียมส์พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างพื้นฐาน และอุดมคติ ซึ่งซับซ้อนกว่าที่นักปรัชญารุ่นอัลทัสเซอร์เคยเชื่อกัน บางครั้งพื้นฐาน และอุดมคติก็ไปกันได้คนละทาง

ขณะที่มาร์กซิสแบบดั้งเดิมคือการศึกษาโครงสร้างสังคมโดยเน้นที่พื้นฐาน (ระบบเศรษฐกิจ และการเมือง) แต่มาร์กซิสสามารถนำมาดัดแปลงเพื่อศึกษาวรรณกรรม ศิลปะ และอุดมคติอื่นๆ ได้เช่นกัน ชอบไม่ชอบคอมมิวนิสต์ก็เรื่องหนึ่ง แต่ยอมรับในความเจ๋งของปรัชญานี้เลย

...ตราบเท่าที่ยังไม่มีทฤษฎีวรรณกรรมทุนนิยมนะ

U. Eco's "Turning Back the Clock"


พอมานั่งนับนิ้วไล่รายชื่อนักเขียนในดวงใจเราแล้ว ตกใจมากเมื่อตระหนักว่าซี้แหงแก๋กันเกือบทั้งหมด ที่ยังมีชีวิตอยู่เหลือแค่มิลาน กุนเดระ และอัมเบอโต เอโค กุนเดระนั้นเลิกเขียนหนังสือไปเรียบร้อย (หรือถ้ายังเขียนอยู่ ก็นานๆ ออกที) ยังโชคดีหน่อยที่เอโคยังคงผลิตผลงานต่อเนื่อง แม้จะเน้นหนักที่บทความ มากกว่าเรื่องแต่งก็ตาม (กระนั้นเอโคก็จะแปดสิบอยู่รอมร่อ คงอยู่เขียนหนังสือให้เราอ่านได้อีกไม่นานหรอก)

Turning Back the Clock รวมบทความของเอโค ซึ่งส่วนใหญ่เขียนลงหนังสือพิมพ์อิตาลี เก่าสุดในเล่มนี้คือบทความปี 1999 เฉลิมฉลองครบรอบพันปีสงครามครูเสดครั้งที่ 1 เป็นบทความที่ทั้งฮา และบ้าเลือดไปพร้อมๆ กัน ส่วนใหม่สุดเขียนประมาณปี 2004 ซึ่งก็หมายความว่าใน Turning Back the Clock เราจะได้รับทราบความคิดเห็นของผู้แต่งนิยาย The Name of the Rose ว่านักเขียนในตำนานท่านนี้คิดอย่างไรกับจอร์จ บุช สงครามอิรัก 9/11 แฮรี พอตเตอร์ รวมไปถึง รหัสลับดาวินชี (จริงๆ ประเด็นหลังน่าสนใจมากๆ เพราะรหัสลับดาวินชี ก็มีส่วนคล้ายคลึงกับ Foucault's Pendulum นิยายเรื่องเอกอีกเล่มของแก)

ในบทความที่โดนใจเราสุด เอโคพูดถึงสตีเฟน ฮอว์คกิง และหลุมดำ ฮอว์คกิงออกมาประกาศว่าทฤษฎีหลุมดำที่เขาเคยร่างขึ้นมานั้นมีจุดบอด และตอนนี้เขากำลังศึกษาเพิ่มเติม เพื่อแก้ไข และพัฒนาทฤษฎีดังกล่าว เอโคตื่นเต้นกับคำประกาศตรงนี้มาก เขาชี้ให้เห็นว่านี่แหละคือจิตวิญญาณของวิทยาศาสตร์ provando e riprovando ซึ่งเป็นคำขวัญของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งอิตาลีในยุคแรกๆ แปลว่า "พิสูจน์ แก้ไข และปรับปรุงอย่างไม่หยุดยั้ง"

ในฐานะที่เราเองก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ โคตรเห็นด้วยกับความคิดนี้เลย วิทยาศาสตร์ไม่ได้สอนให้เราค้นหา "ความจริง" วิทยาศาสตร์คือการค้นหา "ความเท็จ" ซึ่งสามารถใช้อธิบายหลักฐาน และสนับสนุนเหตุผล ซึ่งตระหนักรู้อยู่ในช่วงเวลาหนึ่งๆ เมื่อมีเหตุผลใหม่ หรือหลักฐานเพิ่่มเติม ความเท็จนั้นก็จะถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นความเท็จอื่นๆ ระหว่างนั้นเอง "วิทยาการ" (เอโคย้ำความแตกต่างระหว่าง "วิทยาศาสตร์" และ "วิทยาการ") ก็นำเอาความเท็จไปแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งประดิษฐ์ซึ่งมีทั้งคุณ และโทษ

จริงๆ แล้วฮอว์คกิงก็เป็นอาจารย์สอนอยู่มหาวิทยาลัยที่เราเรียนนี่แหละ ตอนที่แกออกมาประกาศความผิดพลาดของตัวเองนั้น เราจำได้ว่าเป็นประเด็นชวนถกเถียงอยู่เหมือนกัน มีนักเทศน์อนุรักษ์นิยมออกมาพูดทำนองว่า "เห็นไหม สุดท้ายนักวิทยาศาสตร์ก็ยอมรับว่าตัวเองผิด แล้วแบบนี้พวกเราจะเชื่อพวกเขาได้สักแค่ไหนกันเชียว" นักเทศน์คนนี้มองง่ายๆ ว่าเมื่อวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งผิด สิ่งที่ถูกเขียนในไบเบิ้ล (ซึ่งตรงข้ามกับวิทยาศาสตร์) ก็ต้องเป็นสิ่งถูก

ในบริบทแบบนี้ เราอาจจะมองนักเทศน์อย่างดูถูกดูแคลนนิดๆ ว่า "เอาอะไรที่ไหนมาพูด" แต่ในความจริง มีบริบทมากมายที่ทำให้ความคิดง่ายๆ ซึ่งแบ่งโลกเป็นสองขั้วของนักเทศน์คนนี้ได้รับการยอมรับ เราอยากขยับขยายออกไปอีกด้วยว่า ไม่ใช่แค่วิทยาศาสตร์เท่านั้นที่เป็นการศึกษา "ความเท็จ" แต่วิชาความรู้ทุกแขนง เศรษฐศาสตร์ การเมือง จิตวิทยา แพทศาสตร์ ล้วนแล้วแต่เป็นความเท็จที่ต้อง "พิสูจน์ แก้ไข และปรับปรุงอย่างไม่หยุดยั้ง" (ไม่ใช่การโยนทิ้งแล้วบอกว่าอะไรที่ตรงข้ามกับ "ความเท็จ" เป็น "ความจริง")

การพบว่ายาสมัยใหม่มีผลข้างเคียง และเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ ไม่ได้หมายความว่าเราต้องกลับไปหาสมุนไพรทั้งหมด อย่างเราก็เป็นคนที่มีปัญหาร้อนใน และยาสมัยใหม่ชนิดไหนก็ไม่เคยใช้ได้ผล (เคยมีอยู่ตัวหนึ่งชื่อว่า "ทีเจลเจล" แต่บริษัทที่ผลิตยาตัวนี้เจ๊งไปแล้ว) กระทั่งเมื่อได้ค้นพบเสลดพังพอน (ตามรูปข้างบน) ตั้งแต่นั้นเราก็หันมาใช้สมุนไพรชนิดนี้รักษาอาการร้อนในแทน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเลิกกินพารา อาติเฟต คลาริติน หรือหันกลับไปหาสมุนไพรทุกประเภท

ถ้าใครที่ไม่เห็นด้วยกับทั้งหมดที่พูดมานี้ ก็สามารถอ่านอีกบทความหนึ่งใน Turning Back the Clock ได้ ชื่อว่า A Dream ซึ่งเอโคเล่าความฝันเก๊ๆ ของตัวเองว่า เกิดสงครามปรมาณู ทั้งโลกถูกทำลาย เหลือแค่เขา ครอบครัว และเพื่อนสนิทกลุ่มเล็กๆ ทั้งหมดอาศัยอยู่ในโลกเปี่ยมสุขที่ปราศจากวิทยาการ และความรู้ ทำไร่ไถนาปลูกผักปลูกสวน และอ่านหนังสือกันทั้งวันทั้งคืน (เพราะในโลกนี้ไม่มีโทรทัศน์ให้ดู)

ใครจะจับน้ำเสียง irony ใน A Dream ได้มากน้อยเพียงใด ก็เป็นเรื่องต้องที่ไปหามาอ่านพิสูจน์กันเองเอง

N. Frye's "The Educated Imagination"


in medias res เลยก็คือ ฟรายเชื่อว่าวรรณกรรมทุกเล่มมีต้นกำเนิดมาจาก "ขนบธรรมเนียมประเพณี" ไม่ว่าจะหลังสมัยใหม่ รื้อสร้างกันสักเท่าไหร่ ท้ายสุดของวรรณกรรมต้องโยงกลับไปหา "วรรณคดี" "ตำนาน" หรือ "คัมภีร์ทางศาสนา" ให้ได้ ฟรายจึงเห็นว่าสมควรแล้วที่วิชาวรรณกรรม สำหรับโลกตะวันตก ต้องเริ่มมาจากคัมภีร์ไบเบิ้ล ซึ่งถือเป็นแม่แบบของหนังสือทั้งปวง

เพื่อความสนุก วันนี้ก็เลยจะมาลองวิเคราะห์ สุดเสน่หา ตามแนวทางของฟรายดู ทำไมต้องเป็น สุดเสน่หา ด้วย มันเป็นหนังสือหรือเปล่ายังไม่ใช่เลย เรา obsess อะไรกับพี่เจ้ยนักหนา (คราวก่อนก็เคยเขียนถึง สัตว์ประหลาด และ แสงศตวรรษ ไปแล้ว) ส่วนหนึ่งเพราะหนังของพี่เจ้ยนั้น เคยได้ยินหลายคนบ่นว่า "ดูยาก" หรือ "ดูไม่รู้เรื่อง" เราเองก็ไม่ได้คิดเช่นนั้นหรอก แต่พี่เจ้ยถูกมองว่าเป็นนักทำหนัง "รุ่นใหม่" ประกอบกับความพยายามถีบตัวเองให้พ้นจาก "ขนบธรรมเนียมประเพณี" เราจึงถือว่าการมอง สุดเสน่หา ในกรอบของวรรณคดีไทย น่าจะเป็นเรื่องท้าทายดี

ก่ายหน้าผากอยู่นาน เราก็สรุปได้ว่า สุดเสน่หา นั้นคือภาคต่อของวรรณคดีไทยเรื่อง รามเกียรติ ชัดเจนสุดก็คือฉากจบที่มีการจับเอาตัวละครคนพม่าไปลอยน้ำ พิธีกรรมลอยน้ำ หรืออะไรศักดิ์สิทธิ์ๆ ที่เกี่ยวกับน้ำ ชวนให้คนไทยนึกถึงศาสนาพราหมณ์ และประเทศอินเดีย (พิธีลอยกระทง พิธีลอยศพในแม่น้ำคงคา) ใน รามเกียรติ นั้น ยักษ์กุมภกรรม ทำพิธีเสกหอกโมกขศักดิ์ซึ่งเป็นสุดยอดอาวุธ ถ้าเสกสำเร็จ จะมีอิทธิฤทธิ์ล้นฟ้า ความสัมพันธ์ระหว่างศาสตราวุธ และน้ำ ก็เป็นโมทีฟที่พบเห็นได้ในตำนานกษัตริย์อาเธอร์เช่นกัน กล่าวคือเอกคาลิเบอร์ ดาบของกษัตริย์อาเธอร์ก็ปักอยู่ในหินที่ขึ้นกลางแม่น้ำ

อาวุธไปเกี่ยวอะไรกับน้ำด้วย อาวุธเป็นของที่ใช้เข่นฆ่า ธรรมดาแล้วต้องอาบไปด้วยเลือด การเอาอาวุธไปจุ่มน้ำก็เพื่อล้างเลือด และขณะเดียวกันก็ทำอาวุธนั้นให้บริสุทธิ์ กลายเป็นสุดยอดอาวุธของกษัตริย์ผู้ทรงธรรม ใน สุดเสน่หา ภายหลังจากที่นางเอกเอาแฟนหนุ่มชาวพม่าไปลอยน้ำ จะมีฉากที่หล่อนเคล้นคลึงองคชาติของฝ่ายชาย คงไม่ต้องอธิบายให้มาก เพราะ "อาวุธ" และ "องคชาติ" เป็นโมทีฟที่อยู่เคียงคู่กันมาแต่ไหนแต่ไร องคชาติที่ผ่านการชำระล้างในแม่น้ำมาแล้ว คือองคชาติที่สะอาด บริสุทธิ์ และหมายถึงรักแท้

ทำไมถึงต้องมีการล้าง "ความรัก" ให้สะอาดด้วย ฉากที่เราชอบใน สุดเสน่หา คือก่อนหน้านี้เมื่อทั้งคู่จูบกันอย่างดูดดื่มกลางต้นไม้ทึบ บรรยากาศดิบๆ บวกกับพระเอกเป็นคนพม่า พูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ ทำให้เราได้อารมณ์ดิบ และป่าเถื่อน ย้อนกลับไปหารามเกียรติ ครั้งแรกที่พระรามเจอกับกระบี่วานร หรือพลทหารลิง พวกนี้เป็นลิงป่า ถูกขับไล่ออกจากอาศรมพระฤษี เพราะเป็นสักขีพยานสัมพันธ์ชู้สาวระหว่างเมียฤษี และทวยเทพ ดังนั้น "ลิงป่า" จึงเท่ากับ "ความรักที่ประพฤติผิดในกาม"

ในกรอบนี้เราจึงมองว่า สุดเสน่หา คือภาพยนตร์ของการชำระล้างความรัก จากรักโลกีย์ (พระเอกชาวพม่า = ลิงป่า = ผิดศีลข้อสาม) ไปยังรักบริสุทธิ์ (การชำระพระเอกในแม่น้ำ = หอกวิเศษ/ดาบเอกคาลิเบอร์ = รักบริสุทธิ์)

ต้องบอกเลยว่า นี่ไม่ใช่ "คำเฉลย" ของภาพยนตร์ ไม่ใช่วิธีการเดียวที่จะอ่าน สุดเสน่หา เราเชื่อด้วยซ้ำว่าทั้งหมดที่พูดมานี้ คงไม่ได้ผ่านเข้าหัวศิลปินระหว่างการถ่ายทำเลย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการมองลักษณะนี้จะเป็นสิ่งเหลวไหล ถ้าเอาบลอคนี้ไปให้พี่เจ้ยอ่าน แกคงหัวเราะก๊ากหนึ่ง แล้วก็ยิ้มๆ คงไม่ปฏิเสธออกมาหรอกว่า "มันไม่ใช่เลยนะ!"

หรือแกอาจจะพูดก็ได้ (ฮา)

R. Chandler's "The Simple Art of Murder"


ถ้าพูดถึงอุบัติเหตุเครื่องบินตก ช่วงนี้คงไม่มีข่าวไหนดังเท่ากัปตันเรือบินยูเอสแอร์เวย์ นำเครื่องขัดข้องร่อนลงแม่น้ำ รักษาชีวิตผู้โดยสารได้ทุกคน แต่ "อุบัติเหตุ" ที่เราอยากหยิบยกมาพูดถึงในวันนี้เป็นอีกข่าวหนึ่ง เรื่องของนักต้มตุ๋นการเงิน ซึ่งพอถูกตำรวจไต่สวน ก็แกล้งทำเป็นเครื่องบินตก แต่ดีดตัวเองออกมาก่อนที่เครื่องจะกระแทกพื้น ตั้งใจจะเปลี่ยนชื่อ นามสกุล หายเข้ากลีบเมฆ แต่กลายเป็นว่า ไม่ถึงสองวันดีตำรวจก็สามารถรวบตัวหัวขโมยสมองใส (หรือเปล่า) คนนี้ได้

เรารู้สึกว่าในชีวิตจริง พวกฆาตกรรมอำพราง หรือนักวางแผนคดีเช่นนี้จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ตำรวจปัจจุบันเก่งมาก มีเทคโนโลยีทันสมัยมายมาย เลยไม่ค่อยจะมีอาชญากรคนไหนรอดพ้นเงื้อมมือกฎหมายไปได้

แต่ในทางตรงกันข้าม ผ่านไปปีหนึ่ง คดีการเสียชีวิตของนักแสดงหนุ่ม ฮีด เลจเจอร์ก็ยังไม่ได้รับการคลี่คลายให้เป็นที่พึงพอใจของสาธารณชน ว่าเป็นอุบัติเหตุจากการใช้ยาเกินขนาด ฆ่าตัวตาย หรือว่ามีมือที่สอง เป็นไปได้ว่าความจริงอาจปรากฎแล้วล่ะ แต่ญาติๆ และทางสตูดิโอต้องการปิดข่าว เพื่อรักษาชื่อเสียงของผู้เกี่ยวข้อง

เกริ่นมายาวเหยียดเพราะต้องการจะบอกว่า การตายเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่มีใครหลีกเลี่ยง หรือปฏิเสธมันได้ แต่การฆาตกรรม หรืออำพรางคดีไม่ใช่เรื่องธรรมชาติแม้แต่น้อย คนทั่วไปรู้อะไรเกี่ยวกับมันน้อยมากๆ เราไม่รู้ด้วยซ้ำกระทั่งว่าเรารู้มาก (กรณีหนุ่มนักต้มตุ๋น) หรือรู้น้อย (กรณีฮีด เลดเจอร์)

เพราะฉะนั้นการที่แชนเลอร์จะมาอ้างเอ่ยว่านิยายนัวร์ "สมจริงสมจัง" กว่านิยายนักสืบยุคทอง เราถือว่าเป็นเรื่องเหลวไหล

จริงๆ การจิกกัดกันระหว่างนักเขียนนิยายนัวร์ และนิยายนักสืบยุคทองก็เป็นเรื่องปกติ และพออ่านแล้ว ก็เพลินเพลินอยู่ไม่น้อย แน่นอนว่าเราเชียร์ฝ่ายหลัง แต่พอถึงตอนนี้ก็ใช่ว่าเราจะไม่เข้าใจนัวร์เลย นัวร์เกิดมาในยุคที่อเมริกาเผชิญกับความแร้นแค้นทางเศรษฐกิจ ความรุนแรงในนัวร์ ส่วนหนึ่งก็คือการตอบสนองความต้องการของคนอ่าน ที่อยากเป็นอย่างนักสืบตัวเอก แข็งแกร่งยิ่งกว่าทุกคน ฉลาดหลักแหลม และยืดอกได้อย่างผ่าผายในสังคมที่ล้มสลายทางศีลธรรม

ตอนที่แชนเลอร์เขียน The Simple Art of Murder ซึ่งเป็นบทความเปิดรวมเรื่องสั้นชุดนี้ นัวร์คงเป็นแนวเรื่องที่ยังไม่ค่อยมีใครเขียนกัน แชนเลอร์พูดถึงความ "แปลกใหม่" ของนัวร์ได้ เพราะเขาไม่ทันยุคที่นิยายนัวร์ถูกพิมพ์ และถูกเขียนออกมาเป็นจำนวนมาก เพราะมันเขียนง่าย หรืออย่างน้อยก็ง่ายกว่านิยายนักสืบยุคทอง (แชนเลอร์เองก็ตระหนักตรงจุดนี้ แกถึงบอกว่านิยายนักสืบที่ดี กับนิยายนักสืบห่วยๆ นั่น เอาเข้าจริงแล้วก็แทบจะไม่ต่างกันเลย)

บางทีการฆาตกรรมอาจเป็นเรื่องน่าเบื่อที่สุดในโลกก็ได้ สามีทะเลาะกับภรรยา ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ เลยพลั้งมือใช้ขวดเหล้าฟาดศีรษะภรรยาเต็มแรง เสร็จแล้วก็นั่งร้องไห้ รอให้ตำรวจมาลากคอไปเข้าคุก นี่ต่างหากคือ "ความสมจริงสมจัง" ที่ไม่อาจเอามาเขียนเป็นนิยาย ไม่ว่าจะตลกขบขันแบบนิยายนักสืบยุคทอง หรือซีเรียสจริงจังแบบนัวร์ ถ้ารักจะเขียนนิยายฆาตกรรมสืบสวนสอบสวน สิ่งแรกที่นักเขียนต้องทำคือเอา "ความสมจริงสมจัง" โยนทิ้งหน้าต่างเสีย

O. Pamuk's "Snow"


(ถอนหายใจ)...นึกถึงคำพูดอมตะของนักแกะสลักท่านหนึ่ง (คิดว่าเป็นไมเคิล แองเจโล) ที่บอกว่าเขาไม่ได้แกะหินให้เป็นรูปเป็นร่าง แต่เขาปลดปล่อยรูปสลักนั้นออกจากก้อนหินต่างหาก นี่คือความรู้สึกของเราทันทีที่วาง Snow ลง อยากจะมีลิ่ม และค้อน เอามาตอก ๆ ๆ ๆ ๆ นิยายเล่มนี้ออกไปสักร้อยหน้า ที่เหลืออยู่จะเป็นนิยายที่ดีมากๆ อาจจะถึงขั้นสมบูรณ์แบบเสียด้วยซ้ำ

เราชอบ "ผู้ร้าย" ในนิยายเรื่องนี้มาก ซูเนย์เป็นนักแสดงละครหัวก้าวหน้า เขาและภรรยาเคยตกระกำลำบาก เดินทางไปทั่วตุรกี เพื่อแสดงละครต่อต้านลัทธิคลั่งศาสนา/อนุรักษ์นิยม Snow เปิดเรื่องสมัยที่กลุ่มหัวก้าวหน้าขึ้นมามีอำนาจ ซูเนย์เริ่มมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมากขึ้น เมื่อเขาและภรรยาเดินทางมาถึงคาร์สเพื่อแสดงละคร ซูเนย์เกิดความคิดแผลงๆ ที่จะเล่น "ละครปฏิวัติ" (coup de theatre) ซึ่งออกมาสมจริงสมจังเกินกว่าที่หลายคนคาด

ประเด็นนี้เจ๋งมากๆ เป็นการผสานผสานกันระหว่างการเมือง และศาสนา บนเส้นบางๆ ที่กั้นระหว่างละคร และโลกแห่งความจริง เท่าที่อ่านเรื่องย่อนิยายเล่มอื่นของปามุก เหมือนกับผู้เขียนจะชอบเล่นประเด็นนี้อยู่เหมือนกัน

ตัวเอกของนิยายคือคาร์ กวีผู้เกิดในคาร์ส ก่อนย้ายไปอยู่เยอรมัน คาร์เดินทางกลับไปที่คาร์สเพื่อทำข่าวการเลือกตั้งท้องถิ่น และการฆ่าตัวตายของหญิงสาวชาวอิสลาม รวมถึงสานต่อความรักระหว่างตัวเขาและอิเพค หญิงงามท้องถิ่น คาร์เข้าไปพัวพันกับ "ละครปฏิวัติ" ของซูเนย์ และกลายมาเป็นตัวแปรสำคัญในชะตาชีวิตของชาวเมืองหลายๆ คน

อย่างที่กล่าวไปแล้ว มีนิยายสมบูรณ์แบบเล่มหนึ่งซ่อนอยู่ใน Snow ปัญหาของมันคือความมั่วสุ่ม เดี๋ยวก็มีคนนู้นคนนี้ผ่านเข้ามา "สนทนา" กับคาร์ Snow เป็นนิยายที่มีบทสนทนาเยอะมาก กระทั่งว่าตัวละครถูกสร้างมาเพื่อนำเสนอความคิดของปามุกเท่านั้น มีอยู่คราวหนึ่งคาร์ถึงกับบ่นออกมาเลยว่า "นี่ผมต้องมานั่งคุยกับคนเพี้ยนๆ ให้หมดทั้งเมืองนี้เลยหรือไง" ตรงนี้ก็ไม่เสียหายหรอก ถ้าปามุกจะจัดลำดับเหตุการณ์ให้ชัดเจนกว่านี้

ความมั่วสุ่มของปามุกสะท้อนออกมาบทสนทนาด้วย สำหรับนักเขียนผู้ชื่นชอบบทสนทนาแล้ว ปามุกมี "หูสำหรับใช้ฟังบทสทนา" (conversation ears) ที่พิลึกมากๆ อยู่ดีๆ ตัวละครก็จะตั้งคำถาม หรือโยงไปหาปรัชญา ศาสนา หรือการเมืองอะไรก็แล้วแต่ที่ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาพูดมาก่อนหน้านั้น จะว่าเป็น absurd แบบเบคเกตก็ไม่เชิง น่าจะมาจากความจงใจยัดคำพูดความคิดเข้าปากตัวละครมากกว่า ตัวละครหลายตัวในเรื่องนี้เลยออกมาไม่ค่อยมีชีวิตจิตใจ เหมือนหุ่นกระบอก ที่คนอ่านไม่สนใจว่าจะเป็นตายร้ายหรือดี

เรายอมรับว่าปามุกเป็นนักเขียนที่ชาญฉลาดมากๆ แค่อ่านความคิด (กระจัดกระจาย) ก็พอรู้ว่าสมกับที่ได้รางวัลโนเบล ถึงตอนนี้ก็ยังอยากให้โอกาสปามุกอีกสักเล่มหนึ่ง อาจจะหานิยายสั้นๆ ของเขาอ่าน หรือถ้าเป็นรวมบทความก็คงไม่เลวเหมือนกัน

E. H. Gombrich's "Art and Illusion"


จะโทษเขาก็ไม่ได้ ในเมื่อชื่อหนังสือมันฟ้องอยู่ทนโท่แล้วว่า Art and Illusion หรือ "ศิลปะ และภาพลวงตา" การเอาภาพวาดของมากริต หนึ่งในศิลปินโปรดเรามาขึ้นปก ก็เป็นภาพลวงตาอย่างหนึ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะพูดถึงศิลปะสมัยใหม่แขนงต่างๆ แต่เอาเข้าจริง กอมบริชให้ความสำคัญกับศิลปะโรแมนติก (ศตวรรษที่ 18-19) โดยเน้นภาพวาดทิวทัศน์ ซึ่งมีพระเอกคือจอห์น คอนสเตเบิล (ที่จริงๆ แล้วก็เป็นศิลปินโปรดอีกคนของเราเหมือนกัน)

ก็ต้องยอมรับว่าที่กอมบริชจะเน้นศิลปะแบบโรแมนติกคาบเกี่ยวอิมเพรชชันนั้นก็มีเหตุมีผลอยู่ ในเมื่อประเด็นที่เขาต้องการนำเสนอคือ "ศิลปะทุกชนิดเป็นภาพลวงตา" ดังนั้นจึงจำเป็นต้องวิเคราะห์ศิลปะแบบโรแมนติกที่ใกล้เคียง "ความจริง" มากกว่าศิลปะแขนงอื่นๆ ว่าสุดท้ายแล้ว "ความจริง" ที่เราเห็นนั้นก็คือ "ภาพลวงตา" ชนิดหนึ่ง

ถึงอย่างไรก็ยังอดเสียดายไม่ได้ กอมบริชเขียนหนังสือเล่มนี้ได้ดีมาก นอกจากจะวิเคราะห์ได้อย่างหลักแหลมแล้ว ยังมีตัวอย่างภาพประกอบอัดแน่นเกือบสามร้อยรูป เสียดายที่ส่วนใหญ่เป็นขาวดำ (นี่คือหนังสือแบบที่จอร์จ บุชชอบ เพราะมันมีภาพประกอบเต็มไปหมด) ในไม่กี่หน้าที่กอมบริชพูดถึงศิลปะสมัยใหม่เช่นคิวบิสซึม หรือเอกเพรชชันนิส ได้ความรู้ใหม่ๆ มากมายที่คงช่วยให้เราเข้าใจภาพวาดของปิกัสโซได้ดีขึ้น (แต่ตลกมากที่จากหน้าแรกยันหน้าสุดท้าย ไม่มีการกล่าวถึงมากริต หรือเดลีเลย) Art and Illusion ยังช่วยให้เรารู้จักศิลปินโปรดเพิ่มมาอีกสองคนคือดอเมียน (รูปข้างบน) และเซอเวรินิ ศิลปินแนวฟิวเจอริส ที่ผนวกท่วงทำนองของดนตรี การเต้นรำ เข้าไปยังผืนผ้าใบได้อย่างโดนใจ

อยากพูดถึงงานของดอเมียน ซึ่งเน้นการแสดงออกของสีหน้า และอารมณ์ ที่น่าสนใจคือดอเมียนไม่ได้วาดคนจากนายแบบ หรือนางแบบ แต่ใช้การ "ทดลอง" ของลายเส้น กล่าวคือเอาปาก ตา จมูก และศีรษะแบบต่างๆ มาผสมกันจนเกิดเป็นโครงหน้าที่ให้อารมณ์สมจริงสุด กอมบริชพูดได้โดนใจมากว่า ศิลปินแบบดอเมียน ไม่จำเป็นต้องออกไปพบเจอผู้คนจริงก็ได้ แค่เก็บตัวเองอยู่ในกระท่อมหลังเขา และทำการทดลองไปเรื่อยๆ ก็สามารถสร้างอารมณ์ออกมาได้ดียิ่งกว่า ศิลปินที่วาดภาพจากต้นแบบอีก (เป็นการ แอนไทร์ดาวินชี อย่างสุดโต่ง)

ดอเมียนนั้นได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งศิลปะยุคใหม่ แม้ว่ากอมบริชจะเถียงว่างานของดอเมียนไม่สัมพันธ์กับศิลปะแนวอิมเพรชชันนิส (ซึ่งพยายามลอกเลียนแบบความจริง) แต่เป็นต้นกำเนิดของเอกเพรชชันนัส (ศิลปะที่พยายาม "ลอกเลียน" แบบอารมณ์) มากกว่า เอกเพรชชันนิสที่ดังๆ ก็ได้แก่เอดเวิร์ด มุนช์ โดยส่วนตัว เราผูกพันกับศิลปินประเภทนี้นะ ถ้าให้พูดจากมุมมองของ "คนหนังสือ" สิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยตระหนักกันคือความเปลืองเปล่า ของ "ประสบการณ์" และ "โลกแห่งความจริง"

"making before matching" คือคำขวัญสั้นๆ ของกอมบริช ศิลปะนั้น ไม่ว่าจะแขนงใดๆ ก็ตาม ถูกสร้างขึ้นมาในฐานะความเป็นงานศิลปะ ก่อนที่จะถูกใส่ความหมายในกรอบของโลกแห่งความจริง

M. Levitt's "Hamas"


ลังเลอยู่นานว่าจะเขียนถึงหนังสือเล่มนี้ดีหรือเปล่า กระทั่งได้อ่านบทความนี้จากเวปประชาไท เลยตัดสินใจว่าการมองต่างมุมตรงนี้น่าจะเป็นประโยชน์ ต่อความเข้าใจปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ณ ปัจจุบัน

เราเองก็ไม่รู้ว่าแมททิว เลวิตเป็นใคร นอกจากเป็นศาสตราจารย์วิชาการศึกษาขบวนการก่อการร้ายแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เคยรับตำแหน่งสำคัญๆ ใน FBI และ กระทรวงการคลังของอเมริกา พูดแบบนี้ก็เหมือนจะรู้เยอะ แต่ประเด็นสำคัญคือเราไม่รู้ว่า Hamas ถูกเขียนจากมุมมองที่เป็นกลางและเชื่อถือได้แค่ไหน เช่นเดียวกับที่เราไม่รู้จักนักวิชาการในบทความที่อ้างถึง แต่อย่างไรก็ขออนุญาติโต้ผ่านทางหนังสือ Hamas เล่มนี้ก็แล้วกัน

เลวิตวิเคราะห์โครงสร้างของกลุ่มฮามาส ซึ่งเคยเป็นขบวนการก่อการร้ายเลื่องชื่อในตะวันออกกลาง โดยมีจุดกำเนิดมาจากประเทศอียิปต์ ฮามาสเขย่าโลกด้วยการชนะการเลือกตั้งของปาเลสไตน์ในปี 2006 และจากนั้นดำเนินกิจการก่อการร้ายควบคู่ไปกับกิจการการเมือง ประเด็นสำคัญที่เลวิทต้องการพูดถึงคือ เราไม่อาจแยกกิจการเพื่อสาธารณะประโยชน์ของฮามาส ออกจากกิจการก่อการร้ายของกลุ่มได้ หัวหอกสำคัญในการบริจาค ช่วยเหลือคนยากคนจนของฮามาส ก็คือบุคคลเดียวกันกับที่วางแผนระเบิดฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลของฮามาสคือสถานที่เดียวกับที่ใช้เก็บอาวุธสงคราม เพราะกิจการเพื่อสาธารณะประโยชน์ตรงนี้เอง ช่วยให้ฮามาสสามารถชนะการเลือกตั้งในปี 2006 และกลายเป็นรัฐบาลที่ปกครองปาเลสไตน์อย่างออกนอกหน้า เลวิทวิเคราะห์ยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของฮามาสว่าส่วนหนึ่งก็คือการ "ซื้อเสียง" โดยนำข้าวปลาอาหารไปแจกให้กับราษฎร

ในความเห็นเรา และเลวิท ความเข้าใจสภาพ "สองหน้า" ของฮามาสตรงนี้สำคัญมาก (และเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างแตกต่างจากขั้วศีลธรรมทางตะวันตก หรือกระทั่งศาสนาพุทธในประเทศไทยเอง) สาเหตุหนึ่งที่กลุ่มฮามาสขึ้นมามีอำนาจอยู่ได้ในปัจจุบัน ก็เพราะช่องโหว่ในนโยบายของอิสราเอลที่สนับสนุนองค์กรอิสลามเพื่อสันติภาพ ฮามาสซึ่งมีใบหน้าด้านหนึ่งเป็นองค์กรเพื่อสาธารณะประโยชน์จึงดำเนินการ และเติบโตได้ในระยะแรกๆ และปัจจุบันนี้การใช้กำลังทหารของอิสราเอลเพื่อล้มล้าง สังหาร "หัวหน้าขบวนการก่อการร้าย" ก็เป็นการฆ่า ทำลาย "นักสังคมสงเคราะห์" ที่ช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ผู้ยากจนด้วย ส่วนหนึ่งเราจึงไม่แปลกใจที่ทั่วโลกหันมาประนามการกระทำของอิสราเอล และขณะเดียวกันเราก็รู้สึกว่าการกระทำดังกล่าวมีแง่มุมให้ขบคิด และ "ยอมรับได้" มากไปกว่าแค่การ "สร้างกำแพงความหวาดกลัว"

แต่จะมีไหม อย่างน้อยสักวันหนึ่งที่คนไทยจะสามารถมองอะไรซับซ้อนไปกว่าขั้วบวก ขั้วลบ ดำ ขาว ที่ชัดเจนได้

I. Murdoch's "The Flight from the Enchanter"


เราชอบ Under the Net นิยายเล่มแรกของเมอดอชมากๆ นอกจากมันจะไม่เหมือนผลงานชิ้นอื่นๆ แล้ว เรายังเห็น "เมล็ดพันธุ์" ที่จะเติบใหญ่ไปเป็นเมอดอชแบบที่เรารู้จัก ตอนนี้ก็เกือบสามปีพอดีหลังจากอ่านนิยายเล่มนั้น เรารู้เพิ่มเติมว่าอิทธิพลสำคัญของนักเขียนในดวงใจเราคนนี้คือ P. G. Wodehouse โมทีฟแบบวูดเฮาส์เด่นชัดมากใน Under the Net ความเป็นนิยายขบขัน ตัวเอกที่กระโจนจากสถานการณ์คับขันสถานการณ์หนึ่ง ไปยังอีกสถานการณ์หนึ่ง (ไม่นับคู่หูคนรับใช้ ที่ถอดแบบมาจากจีฟเห็นๆ ) เมอดอชเป็นวูดเฮาส์ในแบบที่ลึกซึ้ง แฝงปรัชญา และโศกากว่าวูดเฮาส์

The Flight from the Enchanter คือนิยายเล่มสองของเมอดอช อิทธิพลของวูดเฮาส์ยังมีให้เห็น แต่ขณะเดียวกันเราก็เริ่มสัมผัสความเป็นเมอดอชยุคหลังมากขึ้น เช่นตัวละครมหาศาล ทุกๆ บทใหม่จะต้องมีตัวละครเพิ่มขึ้นตัวหนึ่ง เคยเขียนไปแล้วว่า An Accidental Man คือนิยายของเมอดอชที่มีตัวละครเยอะสุด เราก็ยังยืนยันเช่นนั้น The Flight from the Enchanter อาจจะมีจำนวนผู้เล่นมากกว่าก็จริง แต่เมอดอชในปี 1955 (่ก่อนหน้า The Accidental Man สิบหกปี) ยังไม่สามารถจัดการจับตัวละครของตัวเองได้ ผู้เล่นมากมายเหมือนกับจะมาเป็นตัวประกอบประดับหนังสือเสียมากกว่า บางคนก็อุตส่าห์มีอรัมภบทเสียยาว แต่เอาเข้าจริง ก็หายสาบสูญไปจากนิยายเสียครึ่งค่อนเล่ม

แต่ปัญหาหลักเลยที่ทำให้ The Flight from the Enchanter เป็นนิยายที่ล้มเหลวคือ ถ้ามองว่านี่คือนิยายขบขันตามขนบของวูดเฮาส์ อย่างน้อยๆ คนอ่านจะต้องรัก ชอบ หรือรู้สึกดีกับตัวละคร เคยเขียนไปอีกเหมือนกันว่า A Word Child คือนิยายเมอดอชที่ตัวเอกมีพฤติกรรมน่ารังเกียจที่สุด อันนี้ต้องขอถอนคำพูด ไม่ใช่แค่เฉพาะตัวเอกเท่านั้น แต่ The Flight from the Enchanter เต็มไปด้วยตัวละครที่ทั้งโง่ หยิ่ง เงี่ยน เพี้ยน หรือเลวอย่างไม่มีเหตุผล ตัวเอกของ A Word Child อาจจะเป็นคนน่ารังเกียจ แต่อย่างน้อยนิยายเล่มนั้นก็เป็นโศกนาฏกรรม ไม่มีอะไรอีกแล้ว น่าหงุดหงิดไปกว่านิยายสุขนาฏกรรมที่เราเกลียดตัวละครเอก

เราควรหัวเราะอย่างนั้นหรือ เมื่อบรรดาผู้หญิงแก่สติไม่ดีขี้หลงขี้ลืม มาช่วยโรซา ผู้หญิงที่ทั้งโง่ และควบคุมตัวเองไม่ได้ จากเงื้อมมือของจอมบงการ ซึ่งมุ่งร้ายต่อเธอ และน้องชายโดยปราศจากเหตุผล เราควรหัวเราะอย่างนั้นหรือเมื่อแอนเนต ผู้หญิงที่ทั้งโง่ และหยิ่งยะโสกระโดดเข้าใส่โรซา หลังจากโรซ่าขัดขวางการเต้นรำอย่างโรแมนติกระหว่างเธอ และเศรษฐีหนุ่ม อดีตสามีของโรซา ผู้ชอบทำตัวลึกลับ เราคนหนึ่งละที่ไม่ขำด้วย

The Flight from the Enchanter น่าจะติดสามสี่อันดับท้ายๆ นิยายของเมอดอช เมื่อเรียงตามความชอบ ถ้ามองว่า The Sandcastle หรือนิยายเล่มถัดไปของเดม เป็นนิยายที่สอบผ่านแล้ว ก็ยังน่ายกย่องที่เมอดอชได้เรียนรู้จากความล้มเหลวของตัวเอง

R. Barthes's "Writing Degree Zero"


ตอนที่เขียนถึง Ham on Rye ได้พูดไปแล้วว่านิยายสัจนิยม ไม่เหมือนนิยายเพื่อชีวิต (สัจนิยมสาธารณ์) แต่ไม่ได้พูดละเอียดว่าสองชนิดนี้แตกต่างกันอย่างไร เชื่อว่าคนรุ่นเก่า หรือใครที่ป๋าเพื่อชีวิตจัดๆ คงเถียงคอเป็นเอ็นแน่ๆ ว่านิยายเพื่อชีวิตมันไม่สมจริงสมจัง (ไม่สัจนิยม) อย่างไร สารภาพว่านับจากวันนั้นเราเองก็ครุ่นคิดประเด็นนี้อยู่นานมาก เผลอๆ อาจจะกลับคำพูดตัวเองไปแล้ว ถ้าไม่ได้อ่าน Writing Degree Zero ของโรแลนด์ บาร์ตส์

Writing Degree Zero เป็นหนึ่งในหนังสือที่นักเขียน นักวิจารณ์วรรณกรรมชาวไทยควรอ่านให้ได้สักครั้ง จริงๆ ประเด็นหลักของบาร์ตส์คือ "การสิ้นสูญวรรณกรรม" หรือ "เป้าหมายสูงสุดของวรรณกรรมคือวรรณกรรมที่เป็นศูนย์" ซึ่งบอกตรงๆ ยังงงๆ อยู่ดีว่าแกหมายความว่าอย่างไร แต่หนึ่งในประเด็นที่บาร์ตส์จับๆ แตะๆ ในหนังสือเล่มนี้คือการวิเคราะห์ "วรรณกรรมแนวปฏิวัติ" หรือวรรณกรรมที่อิงลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งก็คือวรรณกรรมเพื่อชีวิตอย่างที่คนไทยเรารู้จักกันนี่เอง โดยบาร์ตส์มาช่วยเถียงแทนเราเลยว่าวรรณกรรมเพื่อชีวิตนี่แหละ คือวรรณกรรมที่ไม่สมจริงสมจังที่สุด

ในชุมนุมวรรณกรรมล่าสุดก็เพิ่งคุยกัน เปรียบเทียบคุณค่าระหว่างวรรณกรรมเพื่อชีวิต และวรรณกรรมปัจเจก อะไร "ดี" กว่ากัน เราไม่ได้อยู่ด้วยหรอกนะ แต่ฟังหัวข้อสนทนาแล้วก็ขำๆ วรรณกรรมปัจเจกคืออะไร ขนาดเราบ้าการจัดหมวดหมู่วรรณกรรม (genre) เกิดมายังไม่เคยได้ยิน individualism literature เลย ขณะเดียวกัน พูดว่าวรรณกรรมแนวปัจเจกแตกตัวมาจากวรรณกรรมเพื่อชีวิตอีกที ยังกับว่าวรรณกรรมเพื่อชีวิต คือ genre ที่กว้างมากมายมหาศาล จนต้องมานั่งขบคิดกันว่า ติ่งที่แยกออกมานี้คือเนื้อร้าย หรือสมควรปล่อยให้มีชีวิตอยู่ต่อไป

สุดท้ายถ้าคนไทยจะหนีจากกรอบเพื่อชีวิตไม่พ้น และอยากเข้าใจวรรณกรรมเพื่อชีวิต (ไม่ว่าจะเข้าใจเพื่อนำมาเขียนเอง หรือเพื่อจะได้ติอย่างชัดถ้อยชัดคำ) Writing Degree Zero นี่แหละ พลาดไม่ได้

I. Calvino's "The Road to San Giovanni"


The Road to San Giovanni รวมห้าบทความว่าด้วยความทรงจำของคาลวิโน ตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น วัยหนุ่ม วัยผู้ใหญ่ และวัยแห่งความตาย วัยเด็กของคาลวิโน ประกอบด้วยตัวเขา บิดา และการเดินเท้าจากบ้านไปยังสวนในซานกิโอวานนี เป็นบทความที่ "ชมสวน" มากๆ (อ่านแล้วนึกถึงกามูส์ ซึ่งเป็นอีกคนที่ชอบเขียนในลักษณะนี้) ภายใต้ทิวทัศน์ความงามในวัยเด็ก ก็แฝงความแปลกแยกระหว่างคาลวิโน และบิดาเอาไว้ พ่อของคาลวิโนเป็นเกษตรกร เพื่อนบ้านเรียกเขาว่า "ศาสตราจารย์" ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเพราะเขามีอาชีพเป็นอาจารย์จริงๆ หรือเพราะเขามักจะหาวิธีการใหม่ๆ มาปรับปรุงพืชผลการเกษตรของตัวเอง คาลวิโนตั้งฉายาพ่อว่า "โรบินสัน ครูโซ" เพราะแกตั้งใจปลูก และเลี้ยงทุกอย่าง ซึ่งสวนทางกับระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ ที่เน้นให้แต่ละพื้นที่ปลูกพืชเพื่อการค้าขายแลกเปลี่ยน

คาลวิโนเล่าว่าพ่อเดินเร็วมาก ต่อให้เขา และน้องชายวิ่งตามไปเท่าใด ก็ไม่เคยทัน คาลวิโนมองตัวเองว่าเป็น "เด็กเมือง" ที่ทางของเขาอยู่ในโรงภาพยนตร์ ซึ่งสะท้อนออกมาในบทความช่วงวัยรุ่น ว่าด้วยคาลวิโน และภาพยนตร์ฮอลลีวูด โมทีฟเรื่องความแปลกแยก ถูกนำมาเล่นซ้ำใหม่ในบทความที่สอง โดยหนนี้เป็นความแปลกแยกระหว่างโลกแห่งความจริง (ชนบทอิตาลีภายใต้การปกครองของระบบเผด็จการ) และโลกแห่งภาพยนตร์ (ฮอลลีวูด อเมริกา ประเทศเสรีนิยม) บทความนี้ปิดท้ายด้วยการวิเคราะห์ภาพยนตร์ของเฟลลินี คาลวิโนอายุเท่าๆ กับผู้กำกับในตำนาน ทั้งคู่เติบโตมาในยุคเดียวกัน ดูภาพยนตร์ประเภทเดียวกัน มาจากเมืองชนบทชายทะเลเหมือนกัน (เฟลลินีชอบเล่นกับโมทีฟทะเล) และต่างรับรู้ถึงความแปลกแยกในโลกภาพยนตร์ ผลงานของเฟลลินีวนเวียนอยู่กับความแปลกแยก ระหว่างโลกแห่งความจริง และโลกภาพยนตร์ หรือโลกในละครสัตว์ คาลวิโนสรุปได้อย่างน่าคิดมากๆ ว่า สิ่งที่รบกวนจิตใจผู้ชมสุดคือ ของที่เราต้องการให้มันแปลกแยกออกไป กลับเป็นสันดาน เป็นพื้นฐานของมนุษย์ซึ่งไม่อาจแยกออกจากตัวเราได้

บทความวัยหนุ่มว่าด้วยการร่วมรบในขบวนการใต้ดินช่วงสงครามโลก เป็นบทความสั้นๆ และไม่น่าสนใจสุดในเล่ม อาจเพราะคาลวิโนเคยเขียนนิยายทั้งเล่ม (The Path to the Spiders' Nests) เกี่ยวกับประสบการณ์ช่วงนี้มาแล้ว ส่วนบทความวัยผู้ใหญ่พูดถึงหน้าที่ในครัวเรือนประการเดียวของคาลวิโนคือการเอาขยะไปทิ้ง หัวข้อน่ารักน่าชังแบบนี้ แต่ในบทความ อัดแน่นไปด้วยปรัชญาร้อยแปดตั้งแต่บรรทัดแรกยันบรรทัดสุดท้าย มีทั้งการตกผลึกของความเป็นปัจเจก โครงสร้างชนชั้นในสังคม จนถึงแอบจิกกัดทุนนิยม ทั้งหมดผ่านมุมมองของการเอาขยะไปทิ้ง

บทความสุดท้ายพูดถึงความตาย The Road to San Giovanni ตีพิมพ์ในปี 1990 ห้าปีภายหลังจากที่คาลวิโนเสียชีวิต ไม่รู้เหมือนกันว่ามันถูกเขียนขึ้นจริงๆ ตอนไหน ในย่อหน้าสุดท้าย คาลวิโนเขียนว่า "การเป็นอยู่ของมนุษย์คือการที่เรามองเห็นแสงสว่างเบื้องหน้า แต่ขณะเดียวกันก็ค่อยๆ ก้าวเท้าถอยหลัง หายเข้าไปสู่ความมืดมิด"

ใคร่รู้ยิ่งนักว่าคนที่เขียนประโยคนี้ช่วงบั้นท้ายปลายชีวิต เขาเขียนมันด้วยความรู้สึกเช่นไร