P. Roth's "American Pastoral"


จะว่าบังเอิญก็บังเอิญ ระหว่างที่อ่าน American Postoral ได้มีโอกาสชมภาพยนตร์ Across the Universe ของจูเลียน เทมอร์ ซึ่งทั้งสองเรื่องพูดถึงสิ่งเดียวกัน นั่นคือการเคลื่อนไหวของฮิปปี้ยุคปีหกศูนย์ เจ็ดศูนย์เพื่อต่อต้านสงครามเวียดนาม เพียงแต่เป็นการมองจากสองมุมตรงข้ามกันสุดขั้ว Across the Universe วางบทบาทฮิปปี้ให้เป็นหนุ่มสาวผู้แสวงหา ล้มล้างระบบความเชื่อเก่า เพื่อนำไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า ขณะที่ American Postoral มองคนกลุ่มนี้เป็นผู้ก่อการร้าย นักวางระเบิด

ถอยหลังดีกว่า ให้พูดว่าฮิปปี้ของฟิลิบ รอธเป็นผู้ก่อการร้ายก็ดูเป็นการกล่าวเกินจริงไปบ้าง เพราะประเด็นของ American Postoral ไม่ได้อยู่ตรงฮิปปี้ แต่อยู่ที่จุดจบความฝันสไตล์อเมริกัน หรือที่รู้จักกันในนาม American Dream สวีดคือ American Dream ตัวเป็นๆ คุณปู่ของเขาคือชาวต่างชาติซึ่งย้ายมาอยู่ทวีปอเมริกา และทำธุรกิจถุงมือจนร่ำรวย เปิดโรงงาน และสร้างครอบครัว อาณาจักรเล็กๆ อันอบอุ่น สวีดเอง ตอนเด็กเป็นนักเบสบอลมือหนึ่ง ซึ่งในยุคนั้นเบสบอลคือกีฬาแห่งความฝันแบบอเมริกัน

แต่ความฝันของสวีดจบสิ้นลงในเงื้อมมือเมอรี่ ลูกสาวสุดที่รัก ตั้งแต่เด็กเธอมีอาการพูดติดอ่าง ซึ่งทั้งสวีด และภรรยาหาทางช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ ท้ายที่สุดนอกจากจะไม่อาจรักษาความผิดปกตินี้ ความรัก และความอบอุ่นในครอบครัวกลับสร้างปมบางอย่างในตัวเด็กหญิง ท้ายสุดเธอหนีออกจากบ้าน เข้าร่วมกลุ่มผู้ก่อการร้าย วางระเบิดเพื่อสั่งสอนชาวอเมริกันให้รู้จักคำว่าสงคราม

อย่างที่บอก ประเด็นของรอธไม่ใช่เพียงสร้างภาพลักษณ์ติดลบให้กับกลุ่มฮิปปี้ หรือพวกนักปฏิวัติที่มีใจฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ (ถึงแม้รอธจะสร้างตัวละครริต้า โคเฮนขึ้นมา ซึ่งคงไม่มีคำไหนนิยามเธอได้ดีไปกว่า "กะหรี่สวะหัวเอียงซ้าย") แต่อยู่ที่ความไม่เข้าใจโลกยุคใหม่ของสวีด เหตุใดทุกสิ่งที่ตัวเขา พ่อ และปู่เชื่อ ถึงกลายเป็นค่านิยมอันน่าเหยียดหยามในสายตาคนรุ่นใหม่ วัยเด็กของสวีดอยู่ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ซึ่งชาวอเมริกันสัมผัสลัทธิชาตินิยมอย่างเต็มเปี่ยม ตั้งแต่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ชัยชนะเหนือขบวนการฟาสซิสต์ และผู้นำทางเทคโนโลยี พอถึงปีหกศูนย์ เจ็ดศูนย์ หลังการสังหารเคนเนดี้ และจอห์นสันนำชาวอเมริกาเข้าสู่สงครามเวียดนาม จนกลายเป็นความผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ (จนถึงทุกวันนี้ผู้คนยังกล่าวขานกันว่าเคนเนดี้คือประธานาธิบดีที่เข้าท่าเข้าทางคนสุดท้ายของอเมริกา)

เนื้อหาน่าสนใจ แต่นี่คือหนังสือเยิ่นเย้อที่สุดเท่าที่เคยอ่านเล่มหนึ่ง ชนิดที่ว่าหลังๆ อ่านข้ามหน้า ข้ามเป็นบทๆ ยังรู้เรื่องไม่ตกหล่น สำหรับหนังสือยาวสี่ร้อยกว่าหน้าเล่มนี้ ตัดให้เลือสองร้อยนิดๆ เนื้อความก็คงไม่สูญหายไปไหน นี่คือผลงานเล่มที่สองของรอธที่เราเคยอ่าน และคงเป็นเล่มสุดท้าย ขนาดได้รางวัลพูลลิตเซอร์ยังขนาดนี้ แล้วถ้าไม่ได้จะขนาดไหนหนอ

2 comments:

Thosaeng said...

I've only read one work by Roth called Portnoy's Complaint. I think it's still one of his best known works, and I remember thinking it was quite good. But I too have been quite disappointed with award-winning books. After reading Atonement, I had high hopes for McEwan's Amsterdam, which won the Booker Prize. Sadly it did not quite live up to my expectations. I really like McEwan's style, though, and will probably pick up his other works when I get a chance.

Anonymous said...

ขอบคุณนะค่ะ