G. Greene's "The Human Factor"

ได้ข้อสรุปเศร้าๆ นิดหนึ่งว่า ไม่ว่าเราจะอ่านนิยายของกรีนสักกี่เล่ม (และแทบทุกเล่ม คุณภาพระดับดีถึงดีเลิศ) สุดท้ายคงยากที่กรีนจะขึ้นแท่นนักเขียนในดวงใจ นิยายของกรีน กล่าวโดยรวมแล้วก็คือ "glorified spy novel" หรือ "เจม บอนด์ที่เขียนดีๆ " นั่นเอง ต่อให้อ่านสนุกแค่ไหน แต่เราจะรู้สึกเสมอถึงระยะห่างระหว่างตัวเราและนิยายประเภทนี้ (ง่ายๆ นี่เป็นนิยายแบบที่เราไม่เคยคิดจะเขียนเอง)

The Human Factor เปิดมาอย่างสนุก เหตุเกิดในหน่วยงานหนึ่งของ MI6 (หน่วยสืบราชการลับของอังกฤษ ที่เจม บอนด์สังกัดอยู่นั่นเอง) ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับทวีปแอฟริกาโดยเฉพาะ มีข่าวสารรั่วออกมา ดังนั้นจึงพยายามสาวกันยกใหญ่ว่ารั่วออกมาจากใครกันแน่ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเมื่อสืบพบแล้ว จะหาหลักฐานยังไง ถ้าหาได้ควรทำไงต่อ หรือถ้าหาไม่ได้ จะมีวิธี "จัดการ" ยังไงบ้าง

ชื่อนิยาย "ปัจจัยความเป็นมนุษย์" หมายถึงต่อให้เป็นหน่วยงานที่วางแผนรับมือกับทุกสถานการณ์ดีแค่ไหน สุดท้ายไอ้ปัจจัยความเป็นมนุษย์นี่แหละ ที่ไม่มีใครหยั่งรู้ คาดการณ์ได้ล่วงหน้า ขณะเดียวกันไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่า เหมือนกรีนพยายามกัดเอียน เฟลมมิ่งหน่อยๆ โดยบอกกลายๆ ว่า "นี่ นี่ต่างหาก โลกสืบราชการลับน่ะเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ผู้ชายสวมชุดสูทเท่ห์ๆ เดินทางไปนอนกับผู้หญิงทั่วโลกหรอก และสเปคเตอร์ โบลเฟลน่ะ มีอยู่จริงที่ไหน โลกแห่งความจริง มันแบ่งขาวและดำชัดเจนไม่ได้ขนาดนั้นหรอก" (ใน The Human Factor มีการกล่าวอ้างถึงเจม บอนด์บ่อยๆ โดยตัวละครบ่นซ้ำไปซ้ำมาว่า "ทำไมชีวิตจริงมันไม่หมือนนิยายเลยวะ")

The Human Factor เป็นนิยายที่เราจัดลำดับความชอบลำบาก ทั้งเรื่องสนุก ตื่นเต้นมาตลอด จนมาช่วงท้ายที่เหมือนอยู่ๆ กรีนก็หมดไฟไปงั้น เอาตอนจบแบบขอไปทีมาให้คนอ่าน ก็เลยอดเสียดายที่อุตส่าห์ปูมาตั้งแต่ต้นไม่ได้ (นึกถึง The Sacred and Profane Love Machine ของไอริช เมอดอกที่เราก็ชอบมากๆ ตั้งแต่ต้นเรื่อง แต่สุดท้ายอยู่ๆ ก็เหมือนคนเขียนขี้เกียจเขียนต่อ จบเอาดื้อๆ )

นิยายเรื่องนี้มีอะไรตลกอย่างหนึ่ง สายลับพยายามใช้อัลฟาทอกซินแทนยาพิษฆ่าคนตาย สมัยนั้นนักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบสารก่อมะเร็งตัวนี้ กรีนก็เลยคงเข้าใจผิดว่ามันจะออกฤทธิ์เฉียบพลัน ถ้าอัลฟาทอกซินฆ่าคนได้จริงแบบในนิยาย คนชอบกินถั่วลิสงคงเดี้ยงหมดโลกไปนานแล้ว

สุดท้ายก็ไม่ได้สมจริงสมจังขนาดนั้นเนอะ กรีน เนอะ (ฮา)

No comments: