D. Lessing's "The Grandmothers"


ตอนที่ดอริส เลซซิ่งได้รางวัลโนเบล เราทั้งดีใจ และแปลกใจ ดีใจเพราะเคยอ่านหนังสือของหล่อน "โดยบังเอิญ" (หยิบๆ มาจากกะบะลดราคา) และแปลกใจเพราะรู้สึกว่าเลสซิ่งมีผลงานน้อยมาก ถ้าไม่บอกมาก่อน จะไม่รู้เลยว่าเป็นนักเขียนดัง ตอนที่พยายามศึกษาอัตถิภาวนิยม เคยได้ยินคนพูดชื่อหล่อนในฐานะนักอัตถิภาวะนิยมหญิงแห่งศตวรรษที่ 20 แต่ทั้ง The Grandmothers และ The Fifth Child ไม่ได้มีแนวคิดอัตถิภาวนิยมเด่นชัดอะไร กลับรู้สึกว่าเลซซิ่งสนใจนิยามของความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวมากกว่า (ว่ากันว่าถ้าอยากสััมผัสแง่มุมด้านอัตถิภาวนิยมของหล่อนต้องอ่าน The Golden Notebook อันเป็นผลงานที่มีชื่อเสียง และหนาสุดของเธอ)

The Grandmothers คือนิยายขนาดสั้นสี่เรื่องรวมกัน ทั้งสี่เรื่องมีจุดร่วมคร่าวๆ คือพูดถึงตัวละครที่ "ติดกับ" ค่านิยมของสังคม ว่าครอบครัวควรจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะสองเรื่องแรกเด่นชัดมาก ตัวละครของเลซซิ่ง ในฐานะ แม่ ลูกสาว พ่อ สามี พี่ หรือน้อง ต้องถามตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าเหตุใดสิ่งที่ตนต้องการ กับสิ่งที่สังคมคาดหวังถึงได้ต่างกันนัก The Grandmothers พูดถึงผู้หญิงสองคนที่เป็นเพื่อนรักกัน และสุดท้ายต่างฝ่ายต่างตกหลุมรัก และมีสัมพันธ์กับลูกชายของอีกฝ่ายหนึ่ง เลซซิ่งสร้างสองครอบครัวที่เหยียบเส้นบางๆ ของศีลธรรม ถ้าลูกมีเพศสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทของแม่ที่เติบโตมาด้วยกัน จะถือว่าเป็น incest หรือเปล่า ถ้าผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์กับลูกชายของเพื่อนที่ตนรักที่สุด จะถือว่าเป็นรักร่วมเพศได้ไหม The Grandmothers เปิดเรื่องได้งดงาม ด้วยการเล่าเรื่องเสมือนหนึ่งวาดภาพ จากมุมมองของตัวละครบุคคลที่สาม (ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับเนื้อเรื่องหลักเลย) เลซซิ่งระบายภาพครอบครัวชนชั้นกลางชาวอังกฤษสองครอบครัว ซึ่งเหมือนจะสมบูรณ์ แต่ก็แฝงแรงสั่นสะเทือนไว้

Victoria and the Staveneys มาได้ถูกจังหวะจริงๆ ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา นี่คือเรื่องของครอบครัวผู้หญิงผิวดำ ที่ต้องเผชิญหน้ากับความยากจน และความแตกต่างระหว่างเพศ และชนชั้น วิคตอเรียมีสัมพันธ์กับชายหนุ่มผิวขาว ลูกสาวของหล่อนจึงได้รับสิทธิพิเศษให้เป็นส่วนหนึ่งในโลกที่แตกต่างจากโลกที่หล่อนถือกำเนิดมา สำหรับคนเป็นแม่ควรจะดีใจหรือไม่ ควรจะทำเช่นไร และในฐานะลูกสาวเล่า Victoria and the Staveneys เล่นประเด็นเดียวกันกับหนังฮอลลีวูด Spanglish ซึ่งตอบคำถามเดียวกันนี้ได้อย่างตอหลดตอแหลมากๆ

ระหว่างที่อ่านThe Reason for It รู้สึกว่าเชื่องช้า และร่ำๆ ว่าจะเลิกอ่านอยู่ แต่พอถึงตอนจบ ชอบขึ้นมาหน่อย ความแปลกของตัวเรื่องก็นับว่าน่าสนใจแล้ว เป็นนิยายสั้นกึ่งแฟนตาซี กึ่งประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการล่มสลายของอารยธรรมสมมติ อันมีต้นเหตุมาจากผู้นำไม่ดี ชอบตอนจบมากๆ เมื่อผู้เขียนเปิดเผย "สาเหตุของมัน" ในที่นี้คือเหตุใดผู้นำถึงได้ทำลายสิ่งสวยงามบรรพบุรุษอุตส่าห์สร้างมา เป็นคำตอบง่ายๆ ที่เล่นเอาเราอึ้งไปพักใหญ่เหมือนกัน (แต่อดคิดไม่ได้ว่านักเขียนรูปหล่อชาวไทยคนหนึ่งเคยเขียนเรื่องสั้นคล้ายๆ กันกับเรื่องนี้แล้วเขียนได้ดีกว่าอีก :P:D)

A Love Child ยาวสุด และไม่ดีสุดในเล่ม ว่าด้วยเจมส์ นายทหารในสงครามโลกครั้งที่สอง เขาถูกส่งไปประจำการในประเทศอินเดีย เหมือนเลซซิ่งตั้งใจจะเขียนนิยายขนาดยาวมากกว่า เพราะมันมีรายละเอียด และธีมมากมายที่สุดท้ายไม่ได้พัฒนาไปไหน A Love Child พูดถึงความเบื่อหน่ายว่าเป็นศัตรูตัวร้ายในสงคราม พูดถึงลัทธิจักรวรรดินิยม และพูดถึงเรื่องชู้สาวระหว่างเจมส์ และแดฟเน ซึ่งเรื่องย่อท้ายปกพยายามชูเป็นประเด็นใหญ่ แต่เอาเข้าจริง ก็ไม่ได้มีบทบาทมากมายขนาดนั้น โดยรวมเป็นนิยายจับฉ่ายที่ไม่เวิร์ค

แต่ชอบประโยคหนึ่งตอนท้าย เมื่อเจมส์ตระหนักความเปล่าดายของชีวิตตัวเอง เขาคร่่ำครวญออกมาว่า "I'm not living my own life. It's not my real life. I shouldn't be living the way I do." ซึ่งโดน โดนมั่กๆ

กลับมาที่เกริ่นไว้ตอนแรกว่าเหมือนเลซซิ่งจะมีผลงานน้อย แต่จริงๆ แล้วไม่เลย พอดูประวัติ ชีเขียนนิยายออกมาเยอะมาก ก็หวังว่าการได้รางวัลโนเบล จะกระตุ้นให้สำนักพิมพ์ออกผลงานของเธอมาอีกเยอะๆ เพราะอ่านไปสองเล่มแล้ว เราชอบ

No comments: